Thursday, 31 May 2012

สำหรับอิทธิบาท ๔

การเจริญพระกรรมฐาน ขอเอาพระธรรมอันหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส ว่าบุคคลใดปฏิบัติได้ครบถ้วน ท่านผู้นั้นจะเข้าถึงความเป็นผู้ สำเร็จทุกอย่างตามที่ตนประสงค์ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ว่าวันนี้ในที่นี้เราพูดกันเฉพาะธรรมเรื่องของโลกไม่เกี่ยว โลกจะดีโลกจะชั่วอย่างไรไม่มีความ สำคัญ เพราะคำว่าดีของโลกไม่มี โลกมีแต่เลว มันดีก็ดีแบบหลอกๆ โลกมันแปลว่ามีอันที่จะต้องฉิบหายไป ศัพท์นี้จงอย่าถือว่าเป็นคำหยาบเป็นศัพท์ปกติของ พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ของหยาบไม่ใช่ของโลน ไม่ใช่ของน่าเกลียด สำหรับอิทธิบาท ๔ นี้มีอย่างนี้ ฉันทะ ความพอใจ คือพอใจในการปฏิบัติความดี วิริยะ มีความเพียร จิตตะ มีใจจดจ่ออยู่ในสิ่งนั้น วิมังสา ใช้ปัญญาควบคุมอยู่เสมอ หมายความว่าใช้ปัญญาควบคุมอารมณ์อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าปัญญาในที่นี้ต้องใช้ใคร่ครวญเป็นตัวนำอยู่เสมอที่เรียกกันว่า สัมมาทิฏฐิ ทีนี้อิทธิบาท ๔ ข้อที่ 1.ฉันทะ พอใจอะไร พวกเราบวชเข้ามาเพื่ออะไร หรือว่าเข้ามาอยู่ในเขตพระพุธศาสนาเพื่ออะไร ผมก็จะขอนำถ้อยคำการขอ บรรพชา เอาสมัยก่อน แต่สมัยใหม่นี่ผมไม่ค่อยอยากจะคบนัก เพราะอะไรๆ มันใหม่ไปหมดนี่ผมไม่ค่อยชอบ ของใหม่ราคาถูก ของเก่าราคาแพง อย่างพระ พุทธรูป ของเก่าๆ ราคาแพงกว่าของใหม่มาก นี้การคำขอบรรพชาก็เหมือนกันของเก่าราคาแพงกว่าของใหม่ มีจุดหนึ่งที่ได้กล่าวว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา จึงแปลเป็นใจความว่าข้าพเจ้าขอรับกาสาวพัสตร์เพื่อจะทำให้แจ้งเสียซึ่งพระนิพพาน นี้เราขอบรรพชามาเรามีความมุ่งหมายอย่างนี้ เวลานี้ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังมีถ้อยคำว่าต้องการพระนิพพานอยู่เหมือนกัน นี้เป็นอันว่าคำปฏิญาณของเราที่เราจะบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเรา ต้องการอะไร เป็นอันว่าเราต้องการพระนิพพาน ในเมื่อเราต้องการพระนิพพานแล้ว เวลาเราพอใจอะไรอย่าพอใจอะไร ฉันทะความพอใจ เราก็ต้องพอใจใน พระนิพพาน ทีนี้การที่จะพอใจในพระนิพพานเนี่ยเขาทำยังไงกันถึงจะถึงพระนิพพาน ต่อนี้ไปเราก็ไปดูคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า บอกว่าคนที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้นี่ก็ต้องขุดรากขุดเหง้าของกรรมที่เป็นอกุศลทิ้งให้หมด ในขณะหนึ่งตัดโลภะความโลภออกจากจิต แม้นด้วยการให้ทาน สองขุดความโกรธความพยาบาทจองล้างจองผลาญออกจากจิตเสียให้หมด เมื่ออาศัยการทรงพรหมวิหาร ๔ สามตัดความหลงออกไปเสียให้หมดด้วยอำนาจ ของปัญญาที่พิจารณาเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกายและกายไม่มีในเรา เมื่อสรุปรวมง่ายๆ ได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเราก็พอใจในอริยสัจ ๔ เมื่อเห็น ว่าสภาวะของโลกทั้งหมดเป็นทุกข์ เอากันง่ายๆ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชะราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มะระณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกะปะริ เทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาส ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ และความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความจริงข้อนี้มันเป็นของไม่ยาก แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาดูสักนิดซิว่า ไอ้อะไรที่มันเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์มันเป็นทุกข์ยังไง ขณะที่เราจะเกิดเรา อาจจะไม่รู้ ขณะที่นอนอยู่ในท้องแม่ท้องพ่อเราอาจจะไม่รู้ แต่ความจริงมันทุกข์ อยู่ในท้องแม่อีตอนนั้นถ้าแม่กินของร้อนจัด ร้อน เดือดร้อนเป็นทุกข์ กินของ เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เดือดร้อน เป็นทุกข์ แม่ใช้กำลังกายเคลื่อนไหวมากเกินไปเป็นทุกข์ อยู่ข้างในมันเหนื่อยถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาแม่เดินแรง ๆ วิ่งแรง ๆ นี้ มันก็เป็นทุกข์ ต่อมาเมื่อร่างกายโตขึ้นมา เมื่อร่างกายโตขึ้นมาแล้วเหยียดขาเยียดแข้งเหยียดขาไม่ไหวนั่งคุดคู้อยู่ในท้องแม่เป็นทุกข์ มันจะเมื่อยก็เมื่อย มันจะปวดก็ ปวด มันก็เหยียดไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่เข้าใจว่ามันเป็นทุกข์ ว่างๆ ลองนั่งกอดเข่าเล่นโก้ๆ ซัก ๓ ชั่วโมง แบบคนที่อยู่ในท้องนั่งคุดคู้เอาเข่ายันเข้ามาถึงอก เอาแขนรัดเข้าไว้ อย่างนี้ลองนั่งพิจารณาดู แล้วอยู่ในท้องแม่เป็นเดือนๆ แบบนี้มันจะทุกข์ขนาดไหน เราจะมีทุกขเวทนาใดๆ ท่านผู้เป็นแม่ก็ไม่ทราบ เด็กที่ต้อง ตายในท้องเสียนับไม่ถ้วน ถึงว่ามารดาบิดามองไม่เห็นทุกข์ของลูกภายในว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้าง ในขณะที่เกิดมันข้างในมันเป็นทุกข์ ถ้ามองไม่เห็น ออกมาจากครรภ์มารดา ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดานี้มันก็ทุกข์ ออกมาแล้ว อยู่ในครรภ์มารดาแล้วความอบอุ่นจากไฟธาตุของร่างกายมารดา ออกมากระทบกับ อากาศใหม่ๆ เกิดการแสบตัวเสียงร้องจ้าปรากฏนั่นแสดงว่ามันทุกข์หนัก เจ็บแสบทั้งตัวมันก็เป็นทุกข์ พอออกมาเป็นเด็กขี้ตรงนั้น เยี่ยวตรงนั้น มันเลอะเทอะ ไปหมด เด็กก็มีความรู้สึกเหมือนกับคนธรรมดา ในการสกปรกโสโครกอย่างนั้นมันทนไม่ไหวถึงได้ร้องออกมา แสดงถึงความทุกข์ ถ้าจะหิวอาหาร ต้องการ จะกินอาหาร แม่ก็ยังไม่รู้จะต้องร้องออกมาแล้วเขาถึงจะรู้ว่าหิว มันหิวจนทนไม่ไหวจึงต้องร้อง นี่มันก็เป็นอาการของความทุกข์ รวมความว่าเกิดเป็นทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วหาอะไรเป็นสุขไม่ได้ บอกอารมณ์สั้นๆ ไปว่าความหิว ความกระหายทุกวันนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายทุกวันนี้ ปรากฏมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ บางครั้งมีความปรารถนาไม่สมหวังมันมีความสุขหรือความทุกข์ อาการปวดอุจจาระ ปัสสาวะมันสุขหรือมันทุกข์ นี่แหละทุกข์ ถ้ามันจะตายขึ้นมาล่ะ มันสุขหรือมันทุกข์ นี่แล้วก็นั่งคิดเอากันไปตามความเป็นจริง ใช้ปัญญานิดเดียวนี่มันก็เห็นว่าทุกข์ แต่คนมีตากะทู้ หูกระทะเท่านั้นเป็น พวกพหูรูดไม่ใช่พหูสูต ถ้าพหูสูตนั้นก็เขารู้ทุกข์กันมานานแล้ว นี้เมื่อทุกข์มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้จะนั่งภาวนาเวลานี้ให้มันหมดน่ะมันเกินเวลา แล้วก็ไม่มีความจำ เป็น ทุกคนมันมีทุกข์อยู่แล้วถ้าใช้ปัญญานิดเดียวก็มองเห็น ทีนี้ก็ไปนั่งว่าทุกข์มันมาจากไหน นี่เราพอใจมองความทุกข์ ฉันทะ ทุกข์มันก็มาจากความอยากที่เรียกกันว่าตัณหา อยากอะไรอยากรักในเพื่อนใน เพศตรงกันข้าม อยากรวย อยากโกรธ อยากหลงว่านั่นเป็นของกู นี่เป็นของกู มันทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของกูไปหมด นี่อาศัยความอยากที่กล่าวมานี้แล้วมันเป็น ปัจจัยให้เกิด เพราะว่ายังติดความอยากอยู่เพียงใดเราก็ต้องเกิดมาหาความทุกข์ ในเมื่อเรามีความอยากอยู่มันทุกข์ เรายังขืนอยากต่อไปเราก็หาความสุขไม่ได้ ตอนนี้ทำยังไงก็หาทางทำลายความทุกข์ ทำลายเหตุของความทุกข์คือความอยาก อันที่ ๑ อยากรัก แหมทำลายยากเหลือเกิน อยากรวยมันอยากมาเสียนานแล้ว ทำลายยาก เพราะงั้นอยากโกรธอยากพยาบาทก็ทำลายยาก อยากหลงว่านั่นเป็นของเรา นี่เป็นของเราทำลายยาก ทำไมจึงว่ายากก็เพราะว่ามันติดใจมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายนี่แหละสำคัญนัก ส่งเสริมให้ลูกหลานทั้งหลายสร้างความทุกข์อยู่ตลอดเวลา

10 comments:

  1. ทั้งนี้เพราะอะไรก็เพราะว่าพอลูกเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาเถอะ อยากจะหาคู่ครองให้ลูก มันจะได้เป็นฝั่งป็นฝาไปเสีย ถ้าไปถามตัวเองว่าไอ้การมีลูกมีหลานมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็โอ้ย ! ทุกข์เหลือเกินจ๊ะ แถมมันเดือดร้อนลูกแต่ละคนเลี้ยงมากว่าจะโตได้ก็เสียเงินเสียทองกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ บางคนลูกอกตัญญูไม่รู้คุณก็เสียอกเสียใจ และไอ้ความทุกข์อย่างนี้มันมีแก่ตัวแต่ตัวไม่ได้จับ พอลูกสาวลูกชายโตขึ้นอยากจะหาคู่ครองให้ คิดว่ามันจะได้เป็นฝั่งเป็นฝา มันจะได้มีความสุข แล้วไอ้ตัวเองเนี่ยสร้างภพกับความทุกข์มาแล้ว แล้วคนอื่นมันกระทบมันประสบเหตุทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามันจะเป็นความสุขตรงไหน นี่ๆ ครูใหญ่มันอยู่ไกล้แบบนี้มันจึงละยาก ใครล่ะ ก็พ่อก็แม่นั่นแหละเป็นตัวสำคัญมาก และไอ้ตัวโลภโมโทสันนี่มันก็เหมือนกันท่านพ่อท่านแม่นั่นแหละเป็นครูที่ดีที่สุด สั่งให้ตะเกียกตะกายโลภโมโทสันไม่มีจังหวะ ถ้าหากินด้วยสัมมาอาชีวะพระพุทธเจ้าไม่ว่า สอนให้โกงเขาบ้าง ให้ยื้อแย่งทรัพย์สินเขาบ้าง ให้ยักยอกเขาบ้าง นี่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่าเป็นความโลภ ข้อสำคัญก็อยู่ที่พ่อแม่เนี่ยสำคัญ ถ้าพ่อดีแม่ดีแล้วลูกมันเสียไม่ได้ ไอ้ลูกที่จะเสียได้เพราะพ่อไม่ดีแม่ไม่ดี ตอนเด็กๆ ตามใจกันเกินไป เอาลูกไว้ไม่ได้แล้วก็มานั่งเป็นทุกข์ และไอ้ความโกรธความพยาบาทนี่ก็เหมือนกัน คบค้าสมาคมกันมานาน ผู้ใหญ่มักจะสอนเด็กเสมอให้จำไว้ว่าใครเขาทำไม่ถูกใจ คิดแก้มือคิดหักล้างให้ได้ นี่ก็อาศัยผู้ใหญ่ไม่ดีสอนให้เด็กเสีย แต่นี้เราก็เลยเสียไปเลยถอนไม่ออก และไอ้การจำว่านั่นของเรานี่ของเรา โน่นของเรา คนแก่แสนจะแก่หนังเหี่ยวหนังย่นก็ไม่เคยคิดว่าตนจะตาย ยังคิดห่วงใยสอนลูกสอนหลานว่าโน่นของกู นี่ของกู นั่นของกู แบบนี้ไม่เป็นเรื่อง นี่แหละตัวอาจารย์ใหญ่มันอยู่ในบ้าน นี้เราจะมาต่อต้านกับอารมณ์แบบนี้มันก็ต้องหนักหน่อย ต้องมาตั้งสร้างอารมณ์กันใหม่

    ReplyDelete
  2. ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา จึงแนะนำว่าต้องใช้วิริยะความเพียรอย่างหนัก ใช้เหตุใช้ผลว่าทำไมหนอเราจึงจะตัดราคะความรักในเพศ
    เสียได้ ทำอย่างไรหนอเราจึงจะตัดโลภะความโลภไปได้ ทำอย่างไรหนอเราจะตัดความโกรธความพยาบาทเสียได้ ทำอย่างไรหนอเราจึงจะตัดความหลงเสียได้ แล้วไอ้ตัวทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นปัจจัยทำให้เกิดความทุกข์ในอริยสัจ ต่อมาเราก็นั่งพิจารณาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ ว่าท่านแนะนำว่ายังไง อ๋อ ! การจะตัดความรักในเพศน่ะหรือ ก็ต้องใช้กายคตานุสสติกรรมฐานกับอสุภกรรมฐานสิเข้าประหัตประหารมัน ไม่ช้าความรักในเพศมันก็สลายตัวไป เพราะปัญญามันเกิดรู้ความเป็นจริง เราจะตัดความโลภโมโทสันก็ใช้เมตตากรุณากุศลการ มีการให้ทานเป็นการผลักดันความโลภให้ออกไป เราจะทำลายความโกรธความพยาบาทก็ด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ เราจะเป็นผู้ไม่ยึดถือ เราจะเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริงว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พิจารณาดูร่างกายมันเชื่อเราบ้างไหม เราเลี้ยงมันเท่าไรแนะนำมันเท่าไรมันไม่เคยเชื่อ นี่ตัวนี้จะทำลายมันได้มันก็มีกำลังต่อต้านมาก ก็ต้องใช้วิริยะความเพียรค่อยเคาะไปทีละเล็กเคาะไปทีละน้อยไม่ใช่ว่าจะมาทำทีดียวหมด วันนี้ยังไม่เคาะนะสมมติว่าเริ่มต้นให้รู้จักใช้อิทธิบาท ๔ ต่อมาองค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่าจะให้มีผลจริง ๆ ต้องเอาใจเข้าไปจดจ่อในเรื่องนั้นไว้เสมอ คือจิตตะ แล้วก็ภาวนาไว้ พิจารณาไว้ มันก็จะทรงอารมณ์อยู่สบาย อารมณ์ก็จะทรงอยู่ เมื่ออารมณ์ทรงอยู่แล้ว การใช้คำภาวนาทำให้จิตทรงตัว มีสติสัมปชัญญะ การใช้พิจารณาเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เหตุทั้งสองประการนี้ต้องจิตตะคือเอาใจจดจ่อจ้องเข้าไว้เสมออย่าให้มันคลาดจากจิต

    ReplyDelete
  3. เมื่ออารมณ์จิตของเราสามารถจะทรงอารมณ์อย่างนี้ได้เป็นปกติ หมายความว่าอารมณ์ไม่ว่าง ว่างจากการคิดอย่างอื่นเมื่อไร คำภาวนาเกิดขึ้นกับใจทันทีหรือว่าอารมณ์พิจารณาเกิดขึ้นกับใจทันที คราวนี้ก็มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นปกติ ควรจะใช้ปฏิปทาพระอริยะคือพระโสดาบันกับบารมี ๑๐ ประการ ทบทวนกำลังใจ เมื่อมีอารมณ์ชินแล้วอารมณ์จิตมันจะเป็นอัตโนมัติของมันเอง พอว่างอารมณ์นิดหนึ่งมันจะจับอารมณ์นั้นขึ้นมาทันที แล้วหลังจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ใช้วิมังสา ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ก่อนที่จะภาวนา ก่อนที่จะพิจารณา ไม่ว่าจะใช้ฉันทะ ความรัก ความพอใจ วิริยะความเพียร จิตตะ เอาจิตใจไปจดจ่อ ตอนนี้ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา พิจารณาไว้เสมอว่าสิ่งที่เราจะทำอย่างนี้ การพอใจอย่างนี้ ถูกต้องตามบทบัญญัติที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้หรือเปล่า ถ้าถูกต้องตามนั้นใช้ได้ ถ้าไม่ตรงใช้ไม่ได้

    ReplyDelete
  4. ทีนี้เราจะใช้ความพากเพียรก็ต้องเพียรให้มันถูกจังหวะ เพียรอย่างไหนจะสังหารอะไรกันแน่ คำว่าสังหารนี้ไม่ใช่สังหารคน สังหารกิเลส แกจะจับจะเล่นจะสังหารข้อไหนกันแน่ มหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี จะใช้จิตตะก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญเสียให้ดี เป็นอันว่าวิมังสาข้อนี้เป็นตัวที่มีความสำคัญที่สุด ต้องใช้ประกอบอยู่ตลอดเวลา พยายามใคร่ครวญอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราจะควรทำมันจะถูกจะต้องจะผิดเป็นประการใด เราจะแก้จุดไหนมันจะถูกไหม พระพุทธเจ้าว่ายังไง ถ้าแก้แบบนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแนะนำหรือเปล่าว่ามันถูกหรือมันผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์จิตจงคิดไว้เสมอว่า เรามุ่งเป็นพระอริยเจ้ากัน คือพระโสดาบันก็ต้องการโดยเฉพาะ ๑ มรณานุสสติกรรมฐานคิดไว้ ๒ เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญา และ ๓ มีศีลบริสุทธิ์ ๔ มีอุปสมานุสสติกรรมฐานเป็นกำลังใจ คือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ การปฏิบัติของท่านจะนั่งอยู่ท่าไหนก็ได้ตามอัทธยาศัย จะยืนก็ได้ จะเดินแบบจงกรมก็ได้ จะนอนก็ได้ เวลาเลิกท่านจะเลิกเวลาไหนก็เป็นไปตามอัทธยาศัยของท่าน อิทธิบาท ๔ ต้องจำให้ได้แล้วก็ทำให้ได้นะ เรื่องบารมีต่อ มีอิทธิบาท ๔ เราต้องทำให้ครบถ้วน นอกจากนั้นก่อนที่จะเจริญพระกรรมฐานต้องปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วน นี่ถือเป็นกฎตายตัวอีกเหมือนกันต้องนำไปปฏิบัติทุกอย่าง คือ

    ReplyDelete
  5. ๑. ทาน การให้ เรามีอารมณ์อยู่เสมอว่าเราจะสงเคราะห์คนและสัตว์อื่นให้มีความสุขตามกำลังที่เราจะพึงให้ได้ ถ้าเราสามารถจะสงเคราะห์ได้ด้วยวัตถุเราก็ให้ด้วยวัตถุ ถ้าเราไม่มีวัตถุเราก็จะสงเคราะห์ด้วยกำลังทางกายเข้าช่วยเหลือ ถ้าไม่สามารถจะสงเคราะห์ด้วยกำลังทางกายได้เราก็จะสงเคราะห์ด้วยปัญญา แต่นี้สำหรับการให้เราเต็มใจอยู่เสมอเพื่อการให้ นี่มันตัดการสะสม บุคคลผู้ต้องการให้นี่ มันเป็นการตัดการสะสม ตัดความโลภ ไอ้การตัดความโลภด้วยการให้นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าดี เป็นกิจของภิกษุสามเณรทั้งหมด หรือท่านพระโยคาวจรทั้งหลายจะต้องทำ แต่ว่าการให้นี่ก็ต้องดูคน ไม่ใช่สักแต่ว่าคนเราก็ให้ ถ้าให้แล้วจะเป็นโทษย้อนมาภายหลังเราก็จงงดการให้เสีย ให้แล้วจะเดือดร้อน ให้แล้วจะมีภัยอันตราย งด ไม่ให้ ไม่ใช่ว่าจะให้ดะ ก็ต้องดูกาลควรให้ ไม่ควรให้ ทั้งนี้ก็ต้องดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะแสดงพระธรรมเทศนาโปรดใคร องค์สมเด็จพระจอมไตรต้องพิจารณาก่อนว่าการเทศนี้จะมีผลมั๊ย ถ้าหากว่าเทศน์ไปไม่มีผล องค์สมเด็จพระทศพลก็ไม่เทศน์ นี่การให้ทานของเราก็เหมือนกัน จิตเราพร้อมเพื่อการให้ มันเป็นการตัดโลภะความโลภ ไม่ใช่พร้อมเพื่อสะสม แต่ว่าทรัพย์สินของสงฆ์ที่เขาให้มา ชาวบ้านถวายมาต้องรักษาศรัทธาเขาไว้ ไม่ใช่ไปทิ้งไปขว้างไปทำลายทานกำลังใจของชาวบ้านให้เสียไป แต่ของมันมีมากเท่าไรก็ตาม จงมีความรู้สึกว่านี่เป็นของของพระพุทธศาสนาไม่ใช่ของเรา เราเป็นผู้อาศัยพระพุทธศาสนาใช้เท่านั้น เท่านี้จิตมันก็ไม่ติดในลาภสักการะ นี่ต้องทำอารมณ์ให้เต็ม

    ReplyDelete
  6. ๒. ศีลบารมี ก็หมายความว่ามีกำลังใจรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ศีลมีกี่สิกขาบท และอารมณ์ของตนจะต้องเป็นผู้เต็มไปด้วยศีล ที่เรียกว่าสีลาานุสสติกรรมฐาน สำหรับทานก็ได้แก่จาคานุสสติกรรมฐานนึกถึงการให้ทานการสงเคราะห์อยู่เสมอ ใคร่ครวญในศีลของตนระมัดระวังศีลให้บริสุทธิ์ให้มีกำลังใจเต็มอยู่เสมอไม่ท้อถอย

    ข้อต่อไปเรียกว่า เนกขัมมะบารมี เนกขัมมะแปลว่าการถือบวช คำว่าบวชในที่นี้ต้องหมายถึงว่าบวชใจ ไอ้บวชกายภายนอกเนี่ยเพียงแค่โกนหัวห่มผ้าเหลืองเขายังไม่ถือว่าเป็นการบวช ดีไม่ดีเไม่ประพฤติพระธรรมวินัย เนกขัมมะบารมีตัวนี้ก็ได้แก่การระงับจิตให้ชนะนิวรณ์ ๕ อยู่เสมอ คือ ๑ เราจะไม่มัวเมาในกามฉันทะ หรือไม่เมาในรูปสวย ในเสียงเพราะ ในกลิ่นหอม ในรสอร่อย ในการสัมผัสระหว่างเพศ เป็นอันว่าข้อนี้เราจะต้องใช้กายคตานุสสติ และอสุภกรรมฐานเข้าประหัตประหารไว้เป็นปกติ และก็เราจะต้องระงับความโกรธความพยาบาท ความโกรธความพยาบาทนี่จะต้องไม่มีในจิตของเรา บังเอิญมันจะมีก็ระงับเสียโดยเร็ว อย่าให้มันไหลมาทางวาจาหรือว่าไหลมาทางกาย วิธีระงับกิเลสตัวนี้ก็ได้แก่การเจริญพรหมวิหาร ๔ หรือว่าวรรณกสิณ ๔ ได้แก่กสิณสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว อันนี้ขอท่านทั้งหลายต้องมีกำลังใจเข้มข้นให้เต็มอยู่เสมอ การอยู่ด้วยกันที่บอกว่าเข้ากันไม่ได้นี่มันขาดตัวนี้ แล้วก็ขาดบารมี ก็ไม่ควรจะมีกาสาวพัสตร์อยู่ ไม่ควรจะอยู่ในร่มเงาของกาสาวพัส ในเมื่อเราบวชเข้ามาเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส มีศีลบริสุทธิ์ ถ้ามีศีลกันเป็นอธิศีล มีอิทธิบาท ๔ มีบารมีครบ อยู่กันยังไงก็อยู่ได้ ไอ้ที่บอกว่ารวมกับใครไม่ได้ก็แสดงว่าความเลวมันมาก ไม่ได้มีสภาวะหรืออารมณ์เป็นพระอยู่เลย นี่เนกขัมมะบารมีต่อไปก็ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ตัดความสงสัยด้วยกำลังของปัญญา ต้องเอาอย่างนี้นะ ให้มันได้นะ ต้องได้ต้องเตรียมพร้อมด้วยอิทธิบาท ๔ กับบารมี ๑๐ ต้องพร้อมไว้ก่อนเสมอ ไม่ใช่จะมานั่งหลับหูหลับตาภาวนาว่าอย่างโน้นว่าอย่างนี้ แต่คุณธรรมที่ดีจริงๆ เบื้องต้นไม่ทำ ไม่มีก็ไปทำไปอีกกี่โกฏิปีมันก็ไม่ได้อะไร ได้แต่....

    ทีนี้มาปัญญาบารมี คือต้องมีปัญญา มีกำลังใจทรงปัญญาให้เต็ม ปัญญานี่รู้อะไรมันดี รู้อะไรมันชั่ว ต้องใช้ปัญญา พวกเรานี้มันโตกันมากแล้วไม่ใช่เด็ก ปัญญาในขอบเขตของพระพุทธศาสนา

    ReplyDelete
  7. ๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณังเราไม่ทำความชั่วทั้งหมด ใช้ปัญญาค้นคว้าพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำส่วนใดชั่ว ทำส่วนใดดี ทำส่วนใดชั่วทำลายล้างให้หมดอย่าให้เกิดขึ้นกับจิต ถ้าใช้อภิญญาก็ระมัดระวังไว้
    ๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำแต่ความดีทุกอย่าง
    ๓. สะจิตตะปริโยทะปะนัง ทำใจผ่องใสด้วยอำนาจการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา นี้ปัญญานี่ต้องเต็มเป็นปกติอย่าให้มันบกพร่อง
    มาวิริยะบารมี ความเพียร การต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดกับอารมณ์ใจ เราจะทำดีแต่อารมณ์ใจมันชั่ว ดีตรงไหน ชั่วตรงไหน อารมณ์แก้ก็มีแล้วในพระกรรมฐาน ใช้ความพยายามค้นคว้าอารมณ์ในพระกรรมฐานอย่างใดอย่างไหนมันเกิด ใช้อารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งที่เป็นคู่ปรับกัน ดูตัวอย่างในจริต ๖ ถ้าอารมณ์ความชั่วเกิดกับราคะจริตรักสวยรักงาม ก็ใช้กายคตานุสสติ ๑ อสุภกรรมฐาน ๑๐ เข้าประหัดประหารทันที ถ้ามันมีอารมณ์หนักไปในโทสะจริตก็ใช้พรหมวิหาร ๔ ใช้พรหมวิหาร ๔ กับกสิณ ๔ ถ้ามีวิตกจริตหรือว่าโมหะจริตก็ใช้อานาปานุสสติ ถ้ามีศรัทธาจริตตัวนำดี ตัวนี้เราก็ใช้ อนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ ถ้ามีอารมณ์ผ่องใสฉลาดเราก็ใช้มรณานุสสติกรรมฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตววัตถาน ๔ อุปสมานุสสติกรรมฐาน นี่อารมณ์ชั่วที่เราจะรู้ตัวจะพึงแก้เนี่ยเขามีอยู่แล้วไม่จำเป็น ใช้กำลังใจเข้าต่อสู้กับมันความชั่ว อย่าคบมันไว้

    ทีนี้มาด้านขันติบารมี ความอดทน ความอดกลั้น ในขณะที่มันจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ชั่ว นี่อารมณ์ชั่วมันมีอยู่แล้วในกาลก่อน ต่อมาอารมณ์ชั่วมันเข้ามาขัดขวางความดีของเรา ก็ต้องใช้ขันติ ความอดทน ไม่ท้อแท้ ไม่ป้อแป้ ไม่เป็นคนที่ไร้กำลังของกำลังใจ

    มาสัจจะบารมีเราจะถือความจริงใจไว้อยู่เสมอว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา หากเรารับกาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันนี้จะต้องเอาจริงเอาจังกับมันอยู่เสมอ เราจะไม่ท้อถอยกับอุปสรรคใดๆ ทั้งหมด

    ReplyDelete
  8. ทีนี้ต่อไปในขั้นอธิษฐานบารมี คือความตั้งใจมั่น การทรงกำลังใจไว้เป็นปกติ ว่าเราคิดว่าในขณะนี้เราจะเอากำลังชนะอะไรกันแน่ เรามา
    ปฏิบัติกันแบบประเภทที่เรียกว่าลอยแพอะไรก็ได้ อย่างนี้มันก็ไม่ถูก อันดับต้นจับอารมณ์อันหนึ่งที่เราพอที่จะชนะได้ นั่นก็ได้แก่ อารมณ์ของพระโสดาบัน ศึกษาอารมณ์ของพระโสดาบันไว้ว่า

    ๑ พระโสดาบัน สักกายทิฐิละได้ถึงมีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายแน่ แต่ว่าไม่รู้เวลาตาย พร้อมอยู่เสมอว่าจะตาย แต่ก่อนจะตายเราจะทรงความดีในการมีพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐานเป็นประจำใจ เพื่อป้องกันความทุกข์ในวันหน้า และเราต้องการปิดอบายภูมิ ๔ ประการ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่ให้มีแก่เรา เราจะไม่ไปแดนนั้นด้วยการรักษาศีลบริสุทธิ์ ตั้งใจอธิษฐานเข้าไว้ให้อารมณ์นี้มันทรงตัว อารมณ์นี้ได้แล้วก็ก้าวไปสู่เป็นพระอนาคามีเลย สกิทาคามีไม่ต้องพูดกัน อนาคามีก็รวบรวมกำลังใจในกายคตานุสสติและอสุภกรรมฐานคู่กับปัญญามาประหัดประหารกามฉันทะให้พินาศไปจากจิตไม่ใช่ระงับ เนกขัมมะบารมีนี่ระงับ นี่ทำลายให้พินาศไป แล้วทำลายกำลังใจที่มีปฏิฆะที่มีอารมณ์ขัดข้องให้มันหมดไปด้วยอำนาจของพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ คู่กับปัญญา นี่อธิษฐานบารมีต้องตั้งจุดไว้อย่างนี้ว่าเป็นพระโสดาบันแล้วเราจะเป็นอนาคามีเลย เพราะสกิทาคามีก็มีกำลังเท่า ๆ กัน สังโยชน์มันสูงกว่ากันนิดหน่อย หรือมิฉะนั้นก็ตั้งใจมุ่งหวังว่าเราจะเอาอรหัตผล อันนี้ไม่ยากเพราะว่าการพิจารณาคือทำลายกิเลสคือสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ เราก็ละข้อเดียวคือข้อสักกายทิฏฐิ และไอ้การพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา จนกระทั่งอารมณ์จิตเราไม่เกาะอยู่ในขัน ๕ เราก็เป็นพระอรหันต์ อธิษฐานบารมีต้องตั้งมั่นไว้อย่างเลวที่สุด คุมอารมณ์ไว้ว่าเราจะต้องทรงความเป็นพระโสดาบันให้ได้ ถ้าบังเอิญมันยังไม่ได้เขาเรียกว่าผู้ปฏิบัติเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีความดีอยู่มาก ไม่ใช่ว่าเราจะทะเยอทะยาน เพราะว่าขอบเขตของพระพุทธศาสนาต้อง
    เป็นอย่างนั้น

    ReplyDelete
  9. ทีนี้เมตตาบารมี อารมณ์ความรัก ตัวนี้มีความสำคัญมาก ความรักนี่ก็หมายความว่าเราจะรักคนก็ดี เราจะรักสัตว์ก็ดี คนอื่นก็ตาม ตัวเราเองก็ตาม สัตว์อื่นก็ตามเราจะมีความเห็นอกเห็นใจ มีความรักสม่ำเสมอกัน ถือว่าเขากับเรานี่มีสภาวะเท่ากัน มีความปรารถนาเสมอกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน เราไม่ต้องการศัตรูฉันใด คนอื่นและสัตว์อื่นก็ไม่ต้องการศัตรูฉันนั้น เมื่อเราไม่ต้องการศัตรูเราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับบุคคลอื่น เราไม่ต้องการความทุกข์ที่บุคคลอื่นจะบันดาลให้กับเรา เราก็ไม่บันดาลความทุกข์ใหัแก่บุคคลอื่น เราต้องการความสุขด้วยการเกื้อกูลแก่คนอื่นเพื่อเราเพียงใด เราก็มีความปราถนาในการเกื้อกูลให้แก่บุคคลอื่นมีความสุขเหมือนกับเราที่ต้องการ อารมณ์เมตตามันก็จะสมบูรณ์ จัดเป็นเมตตาบารมีสมบูรณ์ นี้ต้องจำไว้แล้วก็นึกไว้แล้วก็ทรงไว้กันอยู่ในใจเสมอๆ

    มาบารมีสุดท้ายที่เรียกว่าอุเบกขาบารมี คือวางเฉย เฉยตัวนี้ไม่ใช่เฉยแบบในอุเบกขาต้นพรหมวิหาร ๔ เฉยตัวนี้ได้แก่สังขารูเปกขาญาณ คือเฉยในขันธ์ ๕ หรือว่าเฉยในกฎของกรรมต่างๆ เฉยในโลกธรรม หรือว่าไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่เร่าร้อนเมื่อลาภเสื่อมไป ยศเสื่อมไป นินทา แล้วก็ทุกข์เกิดขึ้น มีอารมณ์สบายถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่กฎของกรรมใดๆ ที่มันเกิดมาเป็นผลของความสุขหรือความทุกข์ ก็ถือว่านี่มันเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องคิดอะไร ธรรมดาของชาวโลกเกิดมามันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วต่อมาถ้าขันธ์ ๕ ของเรานี้มันถึงที่ต้องแตกสลายไปเราก็เฉยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แก่แล้วก็เชิญแก่ ป่วยแล้วก็เชิญป่วย จะตายก็เชิญตาย ฉันรู้แล้วว่านายจะเป็นอย่างนี้

    ReplyDelete
  10. เอาล่ะบรรดาท่านพระโยคาวจรและกัลยามิตรผู้ที่ได้อ่านทุกท่าน หากมีบารมี ๑๐ ประการก็ดี แล้วก็อิทธิบาท ๔ ก็ดี เป็นสภาวะที่มีความจำเป็นที่พวกท่านทั้งหลายจะต้องทรงไว้ในกำลังใจเสมอแล้วก็ปฏิบัติด้วย จึงจะช่วยให้บรรดาพวกท่านทั้งหลายพอจะเป็นพระขึ้นมาบ้างถ้ายังไม่ถึงพระโสดาบัน เอาล่ะสำหรับคืนนี้การแนะนำกันก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้ท่านทั้งหลายไปนั่งทบทวนด้วยกำลังใจว่าอิทธิบาท ๔ มีอะไร บารมี ๑๐ มีอะไร อันนี้ต้องทบทวนทุกวัน ตื่นขึ้นมาเช้าลืมตาใหม่ๆ ทบทวนถึงบารมี ๑๐ ประการและก็อิทธิบาท ๔ ว่าเราบกพร่องอะไรบ้าง วันทั้งวันเราต้องไม่ลืมอิทธิบาท ๔ และก็บารมี ๑๐ เวลาจะนอนใกล้จะหลับก็พิจารณาใหม่ว่าอิทธิบาท ๔ บารมี ๑๐ นี่เราบกพร่องข้อไหนบ้าง ถ้าบกพร่องก็รีบแก้เสีย แล้วสำหรับวันนี้เวลาก็เกินแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงพากันใช้เวลาของท่านให้เป็นประโยชน์ในการใคร่ครวญในบทพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า .........


    สวัสดี

    https://www.facebook.com/kdr.kritt
    https://www.facebook.com/pdr.linne
    http://www.hi5.com/krittkawinn
    http://twitter.com/#!/krittkawinn

    ReplyDelete