กสิณ มีอยู่ทั้งหมด 10 กองด้วยกัน ดังนี้
1.ปฐวีกสิณ เป็นกสิณเพ่งดิน
2.อาโปกสิณ เป็นกสิณเพ่งน้ำ
3.เตโชกสิณ เป็นกสิณเพ่งไฟ
4.วาโยกสิณ เป็นกสิณเพ่งลม
5.นีลกสิณ เป็นกสิณเพ่งสีเขียว
6.ปีตกสิณ เป็นกสิณเพ่งสีเหลือง
7.โลหิตกสิณ เป็นกสิณเพ่งสีแดง
8.โอทากสิณ เป็นกสิณเพ่งสีขาว
9.อาโลกกสิณ เป็นกสิณเพ่งแสงสว่าง
10.อากาสกสิณ เป็นกสิณเพ่งอากาศ
ปฐวีกสิณ
กสิณ นี้เป็นการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ปฐวี แปลว่า ดิน กสิณ แปลว่า เพ่ง รวมแล้วหมายถึง เพ่งดิน
อุปกรณ์กสิณ
ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปรณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียนสะอาด หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปมาได้ ดินที่จะเอามาทำเป็นดวงกสิณนั้น
ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ห้ามมีสีอื่นปน หรือถ้าหาไม่ได้มาก ก็เอาสีอื่นไว้ข้างล่างแล้วเอาสีอรุณวางทับไว้ข้างบน ดินสีอรุณนี้ท่านว่า หาได้จากดินขุยปู
เมื่อได้ดินแล้ว ก็ทำสะดึงทำเป็นลานติดพื้นดินมีขนาดเท่ากัน
ขนาดดวงกสิณ
วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่ง ท่านให้ไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 คืบ 4 นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกลกว่า 2 คืบ 4 นิ้ว ตั่งที่
วางวงกสิณ ให้สูงไม่เกิน 2 คืบ 4 นิ้ว ซึ่งเป็นระยะที่พอดี เวลาเพ่งกำหนดจดจำ ท่านให้มุ่งจำแต่สีดิน ไม่ต้องคำนึงถึงขอบและริ้วรอย
กิจก่อนการเพ่งกสิณ
เมื่อจัดอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ชำระล้างร่างกายให้สะอาด นั่งสมาธิ หลับตาพิจารณาโทษของกามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เมื่อพิจารณาโทษของ
กามคุณจิตสงบจากนิวรณ์แล้ว ก็ลืมตาขึ้นจ้องมองภาพกสิณ จำให้ดี หลับตากำหนดภาพกสิณไว้ในใจ ภาวนาไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อภาพเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่
แล้วหลับ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย จนกว่าอารมณ์ของใจจะจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี นึกเห็นภาพได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนาจะเห็นติดตาติดใจตลอด เรียกว่า
"อุคคหนิมิต" แปลว่า นิมิตติดตา เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตนี้แล้ว ท่านให้เร่งระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตไว้จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิต ซึ่งรูปและสี
ของกสิณจะเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำเป็นวงกลมด้วยดินแดงนั้น จะกลายเป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดคล้ายน้ำที่กลิ้งอยู่ในใบบัว จะกำหนดให้เล็กโต
สูงต่ำได้ตามประสงค์ อย่างนี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต" และต้องรักษาอารมณ์ให้อยู่ในขอบเขตของสมาธิ อย่าสนใจอารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อย เพราะจะทำให้
สมาธิที่จะเข้าสู่ฌานนี้สลายตัวโดยฉับพลัน
จิตเข้าสู่ระดับฌาน
เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เข้าระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง 10 มีดังนี้
ฌานในกสิณท่านเรียกฌาน 4 บ้างก็ฌาน 5 ซึ่งกล่าวไว้ดังนี้
ฌาน 4
ฌาน 4 ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน
1.ปฐมฌานมีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
2.ทุติยฌานมีองค์
3 คือ ละวิตกและวิจารเสียได้ ยังดำรงอยู่ในปีติ สุข เอกัคคตา
3.ตติยฌานมีองค์
2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ ยังดำรงสุขอยู่ในเอกัคคตา
4.จตุตถฌานมีองค์
2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา กับเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก
ฌาน 5
1.ปฐมฌานมีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
2.ทุติยฌานมีองค์ 4 คือละวิตก ยังทรงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
3.ตติยฌานมีองค์ 3 คือ ละวิตก วิจาร ยังทรง ปีติ สุข เอกัคคตา
4.จตุตถฌานมีองค์ 2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ ยังทรงสุขกับเอกัคคตา
5.ฌาน 5 หรือที่เรียกว่า ปัญจมฌาน มีองค์ 2 เหมือนกัน คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ ยังทรงอยู่ในเอกัคคตา และเพ่ิมอุเบกขาเข้ามาอีก
กสิณนี้ถ้าท่านปฏิบัติทำให้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 ซึ่งมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขารมณ์ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้นไม่เจริญในกสิณ เมื่อได้แล้วก็ต้อง
ฝึกการเข้าฌานออกฌานให้คล่อง เมื่อเข้าฌานคล่องแล้ว ต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจกสิณให้ได้คล่องแคล่ว จึงจะชื่อว่า ได้กสิณกองนั้น ๆ ถ้ายังทำไม่ได้ถึง ไม่
ควรย้ายไปปฏิบัติในกสิณกองอื่น ถ้าชำนาญในการนิรมิต อธิษฐานแล้วเพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการฝึกเหมือนกัน ต่างกันแต่สี
พยายามฝึกฝนจนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อน จึงค่อยย้ายกองต่อไป
องค์ฌานในกสิณทั้ง 10 กอง
ปฐมฌานมีองค์ 5 คือ
1.วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมตินั้นเป็นอารมณ์
2.วิจาร พิจารณาปฏิภาค คือ พิจารณาว่ารูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงาม คล้ายแว่นแก้ว บริสุทธิ์สะอาด
3.ปีติ มี 5 ประเภทคือ ?ขุททากาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล
- ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
- โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง บ้างก็โยกไปโยกมา
- อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยได้ไกล
- ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายสูงใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
4.สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต
5.เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติ
ทั้ง 5 อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่น ๆ แต่กสิณนี้มีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้า
สู่จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน
ทุติยฌาน มีองค์ 3 คือจะเว้นจากการภาวนาไปเอง
การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง เหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาค
นิมิตจะสวยวิจิตรมากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็นสุขปราณีต
ตติยฌาน มีองค์ 2 ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้ เหลือแต่สุขแบบเครียด ๆ มีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต ลมหายใจอ่อนระรวย ภาพนิมิตดูงามสง่า มีรัศมีผ่องใส
อารมณ์ของจิตไม่สนใจกับอาการทางกายเลย
จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตา กับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่ง ไม่มีอารมณ์รับความสุขและความทุกข์ใด ๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น ปล่อยวางต่ออารมณ์ มีจิต
สว่างคล้ายใครเอาประทีบที่สว่างมากมาวางไว้ ไม่มีอารมณ์รับเสียง ลมหายใจสงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ 4 เป็นฌานสำคัญชั้นยอด เมื่อมี
อารมณ์จิตถึงฌาน 4 จะไม่ปรากฎว่ามีลมหายใจ
ทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบของกสิณต้องถึงฌาน 4
*************************