Thursday, 31 May 2012
ศรีลังกา (สิงหล: ශ්රී ලංකා; ทมิฬ: இலங்கை)
ศรีลังกา (สิงหล: ශ්රී ලංකා; ทมิฬ: இலங்கை) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (อังกฤษ: ශ්රී ලංකා ප්රජාතාන්ත්රික සමාජවාදී ජනරජය; ทมิฬ: இலங்கை சனநாயக சோசலிசக் குடியரசு) เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียใกล้ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอนุทวีปอินเดีย ชื่อในอดีตได้แก่ ลงกา ลังกาทวีป สิงหลทวีป และ ซีลอน ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในสมัยอาณานิคมจนถึง พ.ศ. 2517 และเป็นชื่อที่ยังคงใช้ในบางโอกาส ซึ่งชื่อในปัจจุบันคือ ศรีลังกา ชีวิตบนเกาะนี้ ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ระหว่างรัฐบาล และกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ซึ่งได้มีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002)
ชาวสิงหลและชาวทมิฬเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในศรีลังกาประมาณ 500 ปี และ 300 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับ โดยต่างก็อพยพมาจากอินเดีย อาณาจักรสิงหลได้ก่อตั้งขึ้นในบริเวณที่ราบทางภาคเหนือของศรีลังกา โดยมีเมืองอนุราธปุระเป็นเมืองหลวงแห่งแรกยาวนานถึงประมาณ 1,200 ปี ต่อมาในศตวรรษที่ 13 จึงได้เสื่อมลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของอาณาจักรทมิฬ โดยมีเมือง'โปลอนนารุวะเป็นเมืองหลวงยาวนานประมาณ 200 ปี ชาวทมิฬจึงได้อพยพไปตั้งอาณาจักรจัฟฟ์นาทางคาบสมุทรจัฟฟ์นา ตอนเหนือของประเทศส่วนชาวสิงหลได้ถอยร่นลงไปตั้งรกรากอยู่ทางใต้ ก่อตั้งเป็นอาณาจักรแคนดี ซึ่งมีเมืองแคนดีเป็นเมืองหลวง นอกจากนี้ก็มีอาณาจักรโกฏเฏและอาณาจักรรุหุนะ โดยอาณาจักรแคนดีเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจมากที่สุดประมาณศตวรรษที่ 15 อิทธิพลของตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในศรีลังกา เริ่มจากโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ ตามลำดับ โดยมาทำการค้าตามเมืองท่าด้านตะวันตกของประเทศ และในปี พ.ศ. 2048 (ค.ศ. 1505) โปรตุเกสได้เข้ายึดครองพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลและปกครองประเทศก่อนที่ชาวดัตช์จะเข้าครอบครองดินแดนศรีลังกาในปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) และต่อมาอังกฤษสามารถครอบครองศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) ภายใต้อนุสัญญา Kandyan รวมเวลาที่ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติเกือบ 500 ปี และอังกฤษได้ใช้ศรีลังกาเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญแห่งหนึ่งในมหาสมุทรอินเดียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)
รูปแบบการปกครอง รัฐสภาเป็นระบบสภาเดียวโดยสมาชิกทั้งหมด 225 คน ได้รับเลือกจากประชาชนทุก ๆ 6 ปี ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ประธานาธิบดีมาจาก การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อยู่ในตำแหน่ง 6 ปี มีฐานะเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และมีอำนาจถอดถอนนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรี การปกครองท้องถิ่นแบ่งออกเป็น 24 เขตการปกครอง แต่ละเขตปกครองโดยผู้ว่าราชการ (Governor) ที่มาจากการแต่งตั้ง และแต่ละเขตมีสภาการพัฒนา(Development Council) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ประมุขของรัฐและหัวหน้า ประธานาธิบดีจันทริกา บันดารานัยเก กุมาราตุงคะ รัฐบาล (Mrs. Chandrika Bandaranaike Kumaratunga) เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2537 (ค.ศ.1994) และสมัยที่สองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 (ค.ศ. 1999) นายกรัฐมนตรี นายรัตนาสิริ วิเกรมานัยเก (Ratnasiri Wickremanayake) เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2543 (ค.ศ. 2000) สืบแทนนางสิริมาโว บันดารานัยเก (Sirimavo Bandaranaike) และได้รับการแต่งตั้งเป็น นรม. เป็นสมัยที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Lakshman Kadirgamar เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2537 (ค.ศ. 1994) คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยรัฐมนตรี 44 คน ประธานรัฐสภา นาย Anura Bandaranaike (น้องชายของประธานาธิบดี แต่สังกัดพรรคฝ่ายค้าน)
พรรคการเมือง ปัจจุบันมีพรรคการเมืองใหญ่น้อยประมาณ 30 พรรค มีพรรคการเมืองสำคัญ ๆ ได้แก่ - พรรค Sri Lanka Freedom Party (SLFP) - พรรค United National Party (UNP) - พรรค Tamil United Liberation Front (TULF) - พรรค Ceylon Workers’ Congress (CWC) - พรรค Sri Lanka Mahajana Party (SLMP) - พรรค Janatha Vimukti Peramuna (JVP) หรือ People’s Liberation - พรรค Sri Lanka Muslim Congress (SLMC)
การเมืองภายในของศรีลังกาปัจจุบัน ศรีลังกาเป็นประเทศที่ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ ศาสนา แต่การเมืองภายในมีพรรคการเมืองที่สำคัญเพียง 2 พรรคของชนชาติสิงหล คือ SLFP (Sri Lanka Freedom Party) และพรรค UNP (United National Party) ที่แข่งขันช่วงชิงอำนาจทางการเมือง พรรคการเมืองอื่น ๆ ซึ่งเป็นพรรคของชนเชื้อสายทมิฬและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เป็นพรรคย่อยและมีความสำคัญน้อย นับแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 (ค.ศ. 1948) จนถึงปัจจุบันพรรค SLFP และพรรค UNP ผลัดกันเป็นรัฐบาลมาโดยตลอด โดยทั้งสองพรรคดังกล่าวนิยมระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ต่างกันที่นโยบายเศรษฐกิจของพรรค SLFP มีลักษณะเป็นสังคมนิยม ในขณะที่พรรค UNP มีนโยบายเศรษฐกิจเสรี
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ศรีลังกาประกอบด้วย 8 จังหวัด (provinces) ดังนี้ (ชื่อเมืองหลวงอยู่ในวงเล็บ)
ReplyDelete• จังหวัดกลาง (แคนดี)
• จังหวัดซาบารากามูวา (รัตนปุระ)
• จังหวัดตะวันตก (โคลอมโบ)
• จังหวัดตะวันตกเฉียงเหนือ (กุรุเนกะละ)
• จังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือ (ตรินโคมะลี)
• จังหวัดใต้ (กอลล์)
• จังหวัดกลางตอนเหนือ (อนุราธปุระ)
• จังหวัดอูวา (บาดุลลา)
ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกคลื่น มีภูเขาสูง มีที่ราบเป็นบริเวณแคบ มีพรมแดนทางทะเลทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับประเทศอินเดีย อากาศช่วงพื้นที่ราบลุ่ม ภูมิอากาศของโคลัมโบจะอยู่ประมาณที่ 27 องศาเซลเซียส ในพื้นที่ราบสูงอากาศจะเย็น อุณหภูมิสามารถลงถึง 16 องศาเซลเซียส จากภูเขาที่มีความสูง 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แดดออกตลอดทั้งวัน ช่วงลมมรสุมอากาศของศรีลังกา ลมมรสุมทางตะวันออกเฉียงใต้จะพาฝนมาด้วยตั้งแต่เดือน พ.ค. ถึง ก.ค. และพัดต่อไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทางตอนใต้และทางภาคกลาง แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกจะได้รับอิทธิพลลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือน ธ.ค. ถึง ม.ค.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4 อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 9 อัตราการว่างงาน ร้อยละ 9 มีประชากร 19,742,439 คน (2546) อัตราการเพิ่มของประชากรร้อยละ 0.83 (2546) ประชาการเป็นชาว สิงหล ร้อยละ 74 ทมิฬ ร้อยละ 8 แขกมัวร์ (มุสลิมจากอินเดียและตะวันออกกลาง) ร้อยละ 7 และ ผลิตกาแฟ คือ พวกเชื้อชาติเบอร์เกอร์, เวดด้า, มาเลย์, จีน และกัฟฟีร์ (แอฟริกัน) มีอัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 92.3 (ปี2547) เพศชาย ร้อยละ 94.8 และเพศหญิง ร้อยละ 90
วัฒนธรรม / ศาสนา =พุทธศาสนาร้อยละ 70 ฮินดูร้อยละ 7 คริสเตียนร้อยละ 6 อิสลาม ร้อยละ 7 และอื่น ๆ ร้อยละ 10 ในอดีตลังกา และ สยามมีความสัมพันธไมตรีด้านพระพุทธศาสนาอันเกิดนิกาย สยามวงศ์ในดินแดนลังกา แต่ก่อนหน้านั้นลังกาก็ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสยามอันเกิดนิกาย ลังกาวงศ์ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในปี พ.ศ. 2515 มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Republic of Sri Lanka shall give to Buddhism the foremos place and accordingly it shall be the duty of The state to protect and foster Buddhism while assuring to all religions the rights secured by Section 18 (i) (d)" ปัจจุบันชาวศรีลังกานับถือพุทธศาสนา 80% ฮินดู 7% คริสต์ 6% อิสลาม 7%
ข้อมูลทั่วไป
ReplyDeleteที่ตั้งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กิโลเมตร
พื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร (ประมาณร้อยละ 12 ของประเทศไทย)
เมืองหลวง กรุงโคลัมโบ (Colombo)
เมืองสำคัญ เมืองแคนดี้ (Kandy) เป็นเมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางทางพุทธศาสนาตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ
ภูมิอากาศ มีอากาศแบบร้อนชื้น ฝนตกชุกในช่วงฤดูมรสุม
ประชากร 19.4 ล้านคน (2551) ประกอบด้วยชาวสิงหล ร้อยละ 74 ชาวทมิฬ ร้อยละ 18 ประชากรมุสลิม (แขกมัวร์และชาวมาเลย์) ร้อยละ 7 และอื่น ๆ ร้อยละ 1
ภาษา ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติ (ร้อยละ 74) ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการเช่นกัน (ร้อยละ 18) ภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ และประชากรประมาณร้อยละ 10 สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
ศาสนา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ร้อยละ 70 ศาสนาฮินดู ร้อยละ 15 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 8 และศาสนาอิสลาม ร้อยละ 7
ระบบการปกครอง ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐภายใต้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of State and Head of Government) และดำรงตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่ง คราวละ 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคน ปัจจุบัน คือ นายมาฮินดา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548
วันชาติ 4 กุมภาพันธ์ (วันประกาศเอกราช)
1. การเมืองการปกครอง
ReplyDelete1.1 การเมืองภายในประเทศ
ศรีลังกาเป็นประเทศที่ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ ศาสนา แต่การเมืองภายในมีพรรคการเมืองที่สำคัญเพียง 2 พรรคของชนชาติสิงหล คือ Sri Lanka Freedom Party (SLFP) และพรรค United National Party (UNP) ซึ่งแข่งขันช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ส่วนพรรคการเมืองอื่นเป็นพรรคเล็กๆ เช่น พรรคของชนเชื้อสายทมิฬ (Tamil National Alliance) พรรคทางพุทธศาสนา และพรรคของกลุ่มแรงงาน เป็นต้น นับแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 จนถึงปัจจุบันพรรค SLFP และพรรค UNP ผลัดกันเป็นรัฐบาลมาโดยตลอด โดยทั้งสองพรรคสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ต่างกันที่นโยบายเศรษฐกิจ โดยพรรค SLFP มีลักษณะค่อนไปทางสังคมนิยม ในขณะที่พรรค UNP มีนโยบายเศรษฐกิจเสรี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2548 นาย Mahinda Rajapaksa นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ผู้สมัครจากพรรค SLFP ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ได้เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของศรีลังกา โดยได้แถลงนโยบายว่าจะนำประเทศไปสู่ยุคใหม่ที่มีความเป็นธรรมในสังคม มีการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย และมี
ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวศรีลังกา
นาย Rajapaksa ได้แต่งตั้งให้ นายรัตนศิริ วิกรามานายากา (Ratanasiri Wickramanayaka) อายุ 74 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายWickramanayaka เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2543 – 2544 โดยนายมังคลา สมาราวีระ (Mangala Samaraweera) ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่าเรือและการบิน ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2550 นาย Rajapaksa ได้ปรับคณะรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งให้นายโรหิทา โบโกลากามา (Rohitha Bogollagama) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาวิสาหกิจและส่งเสริมการลงทุน ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ แทนนาย Samaraweera นาย Bogollagama มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นผู้ผลักดันให้มีการลงทุนจากต่างชาติอย่างแข็งขัน เป็นผู้ก่อตั้ง SME Bank และ National Enterprise Development Authority เพื่อดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีให้เป็นผู้แทนและโฆษกรัฐบาลในการเจรจากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Ealam -- LTTE) ถึงสองครั้ง
1.2 ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ
ReplyDeleteศรีลังกามีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมาเป็นเวลานับศตวรรษ โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็นมาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่ม LTTE เพื่อเป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ
และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล
นอร์เวย์ (ผู้ไกล่เกลี่ย) ได้เริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2543 นำไปสู่การลงนามความตกลงหยุดยิงในปี 2545 ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาสันติภาพที่มีการประชุมมาทั้งหมด 8 ครั้ง โดยการเจรจาฯ จัดขึ้นที่ไทย 3 ครั้ง (กันยายน/ตุลาคม 2545 และมกราคม 2546) การเจรจาฯ ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2549 ที่นครเจนีวา ก็ไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ อาจกล่าวได้ว่า การเจรจาฯ ที่ผ่านไม่สามารถบรรลุผลใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความจริงใจที่จะยุติปัญหาทาการเมืองอย่างถาวร แม้จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประเทศตะวันตก ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างละเมิดความตกลงการหยุดยิงอยู่เนือง ๆ รัฐบาลศรีลังกากล่าวหาว่ากลุ่ม LTTE มักจะใช้ช่วงเวลาหยุดยิงฟื้นฟูกำลังของตัวเอง
ประธานาธิบดี Rajapaksa คนปัจจุบันซึ่งได้รับการเลือกตั้งมีนโยบายปราบปรามกลุ่ม LTTE อย่างเด็ดขาด รัฐบาลศรีลังกาได้ยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนมกราคม 2551 และเปลี่ยนมาใช้มาตรการทางทหารจัดการกับกลุ่ม LTTE โดยตั้งเป้าหมายปราบปรามกลุ่ม LTTE ให้หมดสิ้นภายในกลางปี 2552 (เดิมภายในปี 2551) ส่งผลทำให้กลุ่ม LTTE อ่อนกำลังลงอย่างมาก แต่ระหว่างนั้นก็ยังคงใช้การก่อการร้ายตอบโต้รัฐบาลศรีลังกาอยู่บ่อยครั้ง เช่น การวางระเบิดบริเวณชุมชนใจกลางกรุงโคลัมโบหลายครั้ง ทั้งที่สถานีรถไฟ สวนสัตว์ รถประจำทาง และห้างสรรพสินค้า การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล อาทิ นาย D.M. Dassanayake รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสร้างชาติ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 และนาย J. Fernandopulle รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทางหลวงและการพัฒนาถนน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2551 เป็นต้น
สืบเนื่องจากเดือนกรกฎาคม 2550 ที่รัฐบาลศรีลังกาสามารถยึดเมือง Thoppigala (ห่างจากกรุงโคลัมโบประมาณ 320 ก.ม. ทางทิศตะวันออก) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของ LTTE ในภาคตะวันออกของประเทศ วันที่ 11 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลก็ประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคตะวันออกของประเทศ โดย United People’s Freedom Alliance (UPFA) ซึ่งเป็นกลุ่มพรรครัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรค SLFP ของประธานาธิบดีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยได้รับ 20 ที่นั่งจากทั้งหมด 37 ที่นั่ง
รัฐบาลพยายามช่วงชิงโอกาสที่กลุ่ม LTTE กำลังอยู่ในสถานะเสียเปรียบ ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่ม LTTE ให้ราบคาบ โดยเริ่มแผนปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 รัฐบาลศรีลังกาสามารถยึดคืนเมืองสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่ม LTTE ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมือง Kilinochchi ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของกลุ่ม LTTE และเมือง Mullaitivu ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2552 กลุ่ม LTTE จำเป็นต้องถอยร่นไปอยู่ในบริเวณแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และตกเป็นฝ่ายตั้งรับ
ภายหลังจากการโจมตีอย่างหนักหน่วงของกองทัพศรีลังกา กลุ่ม LTTE ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2552 ต่อมา รัฐบาลศรีลังกาประกาศชัยชนะเหนือกลุ่ม LTTE เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่กองทัพศรีลังกาสามารถสังหารนาย Velupillai Prabhakaran ผู้นำของกลุ่ม LTTE ได้สำเร็จ ถือเป็นการสิ้นสุดการสู้รบภายในประเทศ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬที่ดำเนินมาเกือบ 30 ปี
2. เศรษฐกิจและสังคม
ReplyDeleteประธานาธิบดี Rajapaksa ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมโดยอาศัยหลักการ Mahinda Chintana (Mahinda Vision) หรือวิสัยทัศน์แห่งมาฮินดา ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ 2549 - 2559 โดยเน้นการพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นแกนหลักของสังคม ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การขจัดความยากจนแบบยั่งยืน และมีแนวทางปฏิบัติ คือ การสร้างสังคมที่มีวินัย โดยการรักษาวัฒนธรรมและศีลธรรม ประชาชนทุกคนและทุกหน่วยงานต้องให้ความเคารพกฎหมาย มีธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายที่สามารถเข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมของประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชน สร้างองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้มแข็ง และสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน
ภายใต้หลักการ Mahinda Chintana ศรีลังกาจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคที่ให้ความเป็นธรรมต่อสังคม และเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งจะนำศรีลังกาไปสู่จุดที่แข็งแกร่งในระบบเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งเน้น (1) การลดความยากจน (2) การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล (3) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (4) การพัฒนาภาคการเกษตร และ (5) การขยายบริการสาธารณะ โดยรัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมถึงธนาคารของรัฐ สนามบิน และกิจการไฟฟ้า อีกทั้งยังมีนโยบายเข้าไปบริหารกิจการสำคัญต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
ศรีลังกาต้องการแหล่งเงินทุนในการพัฒนาประเทศอย่างมากตามหลักการ Mahinda Chintana ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้เงินช่วยเหลือให้เปล่าและเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา ศรีลังกาได้ขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank -- ADB) ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ โดยอิหร่านเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกามากที่สุด และจีนเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศรีลังกา เช่น ท่าเรือ โรงงานไฟฟ้า เป็นต้น
รัฐบาลศรีลังกาอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์ภายในประเทศสงบลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีลังกาตั้งเป้าหมายสำหรับเงินลงทุนจากต่างประเทศในปี 2552 ไว้ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment -- BOI) ของศรีลังกามีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยกเว้นภาษี 3-15 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการส่งเสริม การลงทุน ได้แก่ สิ่งทอ ซอฟท์แวร์ อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว ยางพารา และ outsourcing
ศรีลังกาได้ขอกู้เงินจาก IMF จำนวน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดย IMF ได้อนุมัติเงินกู้งวดแรกแก่ศรีลังกามูลค่า 322.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการทบทวนการจัดเงินกู้ของศรีลังกาเมื่อวันที่ 8-22 กันยายน 2552 นั้น IMF เห็นว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจของศรีลังกาที่มีความเข้มแข็งกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของศรีลังกายังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว
3. นโยบายต่างประเทศ
ReplyDeleteอินเดียมีความสำคัญลำดับต้น ๆ ต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศศรีลังกา ทั้งในด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ในช่วงการทำสงครามกับกลุ่ม LTTE ความร่วมมือด้านความมั่นคงจากอินเดียมีส่วนสำคัญต่อในการปราบปรามและสกัดกั้นกิจกรรมของกลุ่ม LTTE อินเดียถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งของศรีลังกา ทั้งนี้ ปัจจุบันศรีลังกาเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียใต้ที่อินเดียจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้น ศรีลังกาพึ่งพาญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนารายใหญ่ที่สุด รวมทั้ง ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับปากีสถานซึ่งเป็นแหล่งอาวุธที่สำคัญของรัฐบาลศรีลังกา
ศรีลังกาถูกประเทศตะวันตกประณามและโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่กองทัพศรีลังกาดำเนินการปราบปรามกลุ่ม LTTE ประเทศตะวันตกหลายประเทศพยายามเรียกร้องให้มีการสอบสวนการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยกองทัพและรัฐบาลศรีลังกา ภายใต้บริบทเช่นนี้ อาจทำให้ศรีลังกามีท่าทีโน้มเอียงเข้าหาประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มากขึ้น
ที่ผ่านมา ศรีลังกามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีน (ครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2550) เมื่อจีนเกิดแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน (12 พฤษภาคม 2551) รัฐบาลศรีลังกาได้จัดเที่ยวบินพิเศษขนส่งเวชภัณฑ์ เต็นท์ เสื้อผ้า และชา ไปให้ความช่วยเหลือแก่จีน คิดเป็นจำนวนเงิน 120 ล้านรูปีศรีลังกา (หรือประมาณ 110,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ประธานาธิบดี Rajapaksa ได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งด้วย (8 สิงหาคม 2551) ในขณะเดียวกัน ศรีลังกาได้เริ่มกระชับความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับอิหร่าน ประธานาธิบดี Mahmoud Ahmadinejad เยือนศรีลังกา เมื่อเดือนเมษายน 2551 โดยได้ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างระบบชลประทาน มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ อิหร่านยังเป็นผู้ให้เงินกู้รายใหญ่เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศรีลังกาอีกด้วย
ในอนาคต ศรีลังกายังคงต้องดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป โดยเฉพาะอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากยังคงมีความเป็นไปได้ที่สมาชิกที่เหลือของกลุ่ม LTTE อาจจะหลบหนีและใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการ รวมถึงโจมตีผลประโยชน์ของศรีลังกาในประเทศนั้น ๆ เพิ่มขึ้น
ศรีลังกามีบทบาทที่แข็งขันในสมาคมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation -- SAARC) และเป็นสมาชิกสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation -- IOR-ARC) กรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation -- BIMSTEC) กลุ่มประเทศในเครือจักรภพ และกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement -- NAM)
หน่วยเงินตรา เงินรูปีศรีลังกา (Sri Lankan Rupee) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับประมาณ 108 รูปีศรีลังกา หรือ 1 บาท ประมาณ 3.2 รูปีศรีลังกา
ReplyDeleteผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,210 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.8 (2551)
สินค้าส่งออกที่สำคัญ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ ชา ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สินค้านำเข้าที่สำคัญ สิ่งทอ แร่ธาตุ น้ำมัน อาหาร เครื่องจักรกล
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย สิงคโปร์ จีน
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ReplyDelete1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและศรีลังกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2498 และยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2504 ปัจจุบัน นายทินกร กรรณสูต ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ และศาสตราจารย์ชัยรัตนะ พันทะ ทิสานายกะ (Prof. Jayaratna Banda Disanayaka) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย
1.1ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยสนับสนุนสันติภาพให้เกิดขึ้นในศรีลังกา โดยให้การสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่ม LTTE และศรีลังกา และพร้อมให้การสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ เช่น การใช้ไทยเป็นสถานที่จัดการเจรจา ทั้งนี้ ไทยเคยรับเป็นสถานที่จัดการเจรจา ตามที่ผู้แทนของนอร์เวย์ได้ทาบทามทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยเป็นสถานที่จัดการเจรจาครั้งที่ 1 ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อเดือนกันยายน 2545 ครั้งที่ 2 ที่สวนสามพราน เมื่อเดือนตุลาคม 2545 และครั้งที่ 4 ที่สวนสามพราน เมื่อเดือนมกราคม 2546
ที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาเชื่อว่า ขบวนการก่อการร้าย LTTE มีความเคลื่อนไหวในประเทศไทย โดยมีการลักลอบขนส่งอาวุธและปัจจัยสงครามที่จัดซื้อจากกัมพูชาผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยไปบำรุงกำลังของกลุ่ม LTTE ที่คาบสมุทรจาฟนาทางตอนเหนือของศรีลังกา เพื่อใช้สู้รบกับกองทัพศรีลังกา แต่ฝ่ายไทยได้ตรวจสอบแล้ว และไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ถึงการใช้ดินแดนไทยเป็นที่จัดซื้ออาวุธสงคราม หรือใช้ไทยเป็นทางผ่านในการขนอาวุธ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงชี้แจงยืนยันนโยบายว่า ไทยไม่ยินยอมให้กลุ่มใด ๆ ใช้ดินแดนของไทยปฏิบัติการต่อต้านหรือบ่อนทำลายมิตรประเทศ และไม่สนับสนุนกระบวนการก่อการร้ายสากลใด ๆ ทั้งสิ้น โดยไทยได้ให้ความร่วมมือด้านข่าวกรองและความมั่นคงแก่ศรีลังกาเสมอมา
นอกจากนี้ แม้ว่าการสู้รบระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่ม LTTE จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ไทยยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลศรีลังกาต่อไป เพื่อสกัดกั้นกิจกรรมของสมาชิกกลุ่ม LTTE ที่อาจจะหลงเหลืออยู่และอาจเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทยในอนาคต
ในช่วงปี 2551 การค้าระหว่างไทยกับศรีลังกามีมูลค่า 411 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งสินค้าออกไปยังศรีลังกาเป็นมูลค่า 344.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากศรีลังกา 66.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ในระหว่างการเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในปี 2546 ได้มีความตกลงที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 3-5 ปี และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการค้า ภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมไทย-ศรีลังกา (Joint Commission -- JC) และสองฝ่ายเจรจาความตกลง Preferential Trade Agreement -- PTA เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการลงนาม อย่างไรก็ดี ไทยขอให้ชะลอการลงนามไว้ก่อนจนกว่าจะสร้างความเข้าใจกับผู้ปลูกชาของชาวไทยให้เรียบร้อยก่อน เนื่องจากผู้ปลูกชาของชาวไทยมีความกังวลว่า จะเสียประโยชน์หากไทยให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าชาแก่ศรีลังกา
ReplyDeleteสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน ปลาแห้ง เม็ดพลาสติก และน้ำตาลทราย ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ด้านการลงทุน ไทยลงทุนในศรีลังกาไม่มากนัก โดยศรีลังกาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2513 รวม 702.3 ล้านบาท ในสาขาอัญมณี ผลิตภัณฑ์ยาง และคาร์บอน ส่วนการลงทุนไทยในศรีลังกามีประมาณ 386 ล้านบาท ในสาขาผ้าลูกไม้และอัญมณี ทั้งนี้ สาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่างสองฝ่าย ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบในการผลิต อุตสาหกรรมเพชรพลอยและอัญมณี และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น
ทั้งสองประเทศมีโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะ
เมื่อสถานการณ์ภายในศรีลังกาได้เริ่มกลับมามีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการดึงดูดการค้าและการลงทุนต่างชาติ ได้แก่ (1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของศรีลังกามีแนวโน้มสูงขึ้น (เศรษฐกิจของศรีลังกาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี แม้ว่าจะมีการสู้รบในประเทศ) (2) ศรีลังกามีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูและบูรณะประเทศจากสงครามภายในกับกลุ่ม LTTE และ
(3) นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ศรีลังกามีกับอินเดีย
เมื่อวันที่ 22-23 มิย 2552 นาย Anura Priyadarshana Yapa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาวิสาหกิจและการส่งเสริมการลงทุนของศรีลังกา นำคณะผู้แทนจาก BOI ศรีลังกาและภาคธุรกิจของศรีลังกาเยือนไทย เพื่อชักจูงให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในศรีลังกามากขึ้น โดยรัฐบาลศรีลังกาพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการอำนวยความสะดวกและการให้มาตรการจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ
ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวศรีลังกาเดินทางมาประเทศไทย 44,239 คน และมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปศรีลังกา 5,744 คน ไทยและศรีลังกาเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเป็นในลักษณะ Combined Destination ทั้งนี้ สองฝ่ายมีความตกลงในเรื่อง Visit BIMSTEC Year และ Buddhist Trail ระหว่างประเทศที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา นอกจากนี้ ไทยยังให้ความร่วมมือแก่ศรีลังกาในการฝึกอบรมบุคลากรและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยวด้วย ถือเป็นอีกมิติของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและศรีลังกา
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูบูรณะประเทศ
ReplyDeleteภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ซึ่งได้คร่าชีวิตชาวศรีลังกากว่า 32,000 คน ก่อให้เกิดผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 443,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ศรีลังกากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลไทยได้มอบเงินให้รัฐบาลศรีลังกาเพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศจำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้บริจาคเงิน จำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โครงการอาหารโลก (United Nations World Food Programme: WFP) สำหรับสนับสนุนโครงการของ WFP ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในศรีลังกา
ล่าสุด ผลจากการสู้รบภายในประเทศศรีลังกาเมื่อกลางปี 2552 ยังผลทำให้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศศรีลังกาจำนวนกว่า 300,000 คน หลบหนีเข้ามาอยู่ในค่ายพักพิงที่รัฐบาลศรีลังกาสร้างขึ้นในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแสดงไมตรีจิตในฐานะมิตรประเทศต่อศรีลังกา รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้บริจาคยา เวชภัณฑ์ และเตรียมพยาบาล มูลค่ากว่า 1,300,000 บาท เพื่อนำไปบรรเทาปัญหาด้านการสาธารณสุขและสุขอนามัยในค่ายพักพิง โดยได้ส่งมอบผ่านกระทรวงสาธารณสุขและโภชนาการของศรีลังกาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้เปิดบัญชีเพื่อขอรับเงินบริจาคจากประชาชนชาวไทยที่มีจิตใจเป็นกุศล โดยจะนำไปจัดซื้อสิ่งของเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือศรีลังกาในการฟื้นฟูบูรณะประเทศต่อไป
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ReplyDeleteความร่วมมือด้านวัฒนธรรม - ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์พิเศษทางด้านพุทธศาสนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 (ราว 800 ปีที่แล้ว) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ส่งคณะผู้แทนไปศรีลังกา เพื่อนิมนต์พระภิกษุศรีลังกาจำนวน 3 รูปมาช่วยฟื้นฟูเผยแพร่พุทธศาสนาที่นครศรีธรรมราช ก่อนที่จะเผยแพร่ไปยังอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้น และเรียกว่านิกายลังกาวงศ์ แต่ต่อมา ปี 2296 ไทยได้ส่งคณะพระภิกษุ นำโดยพระอุบาลีมหาเถระเดินทางไปศรีลังกาตามคำร้องขอ เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกาอีกครั้ง และได้สถาปนาพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ขึ้นในศรีลังกาจนรุ่งเรืองตราบปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
อดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จฯ เยือนศรีลังกา เมื่อเดือนมกราคม 2482 และเสด็จฯ วัดทีปทุตตามารามอันเป็นวัดพุทธที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโคลัมโบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงปลูกต้นไม้มงคล คือ ต้นจันทน์ หลังจากนั้นในปี 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนที่วัดนี้อีกครั้ง และในเดือนสิงหาคม 2542 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนวัดนี้เช่นกัน ขณะนี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากร ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมยอดฉัตรรัตนเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่เจ้าอาวาสของวัดขอความช่วยเหลือผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ โดยอยู่ระหว่างการส่งกลับไปยังศรีลังกา ทั้งนี้ ยอดฉัตรดังกล่าว วัดทีปทุตตามารามได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศรีลังกาได้มอบหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ และจากวัดพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราชปุระในศรีลังกาเพื่อมาปลูกในไทย นอกจากนั้น ศรีลังกายังได้บริจาคเงินเพื่อร่วมบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรและหอระฆังวัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่พระอุบาลีมหาเถระเคยเป็นเจ้าอาวาสก่อนที่จะเดินทางไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา จำนวน 3,440,000 บาท และนายกรัฐมนตรีศรีลังกาได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดหอไตรและหอระฆังดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551
วัดพุทธในศรีลังกาได้รับผ้าพระกฐินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านกระทรวงการต่างประเทศเป็นประจำทุกปี สำหรับการขอพระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทานสำหรับวัดพุทธในศรีลังกาประจำปี 2552 นี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้เสนอชื่อวัดศรีปรมนันทะ (หรือวัดจุฬาลงกรณ์) ในเมือง Galle ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง “จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา” เมื่อครั้งเสด็จฯ ในครั้งแรก เมื่อปี 2440
ความร่วมมือด้านวิชาการ - ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยไทยให้ความสำคัญต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมอาชีพและสร้างรายได้ ในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเขตยึดครองของกลุ่ม LTTE และในด้านการเกษตร
ReplyDeleteการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการท่องเที่ยว ในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้ การเข้าไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ของกลุ่ม LTTE มีปัญหาที่สำคัญ คือ การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับ LTTE ไม่มีความคืบหน้า และฝ่ายรัฐบาลศรีลังกาไม่ประสงค์ให้ฝ่ายไทยสนับสนุนงบประมาณ หรือประสานงานกับกลุ่ม LTTE โดยตรง อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การสู้รบภายในศรีลังกาที่ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ฝ่ายไทยประสงค์ให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยสอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูบูรณะประเทศของศรีลังกา
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ศรีลังกาในรูปแบบของการให้ทุนการศึกษา หรือทุนฝึกอบรมประจำปีภายใต้กรอบต่าง ๆ เช่น ทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thai International Postgraduate Program – TIPP) ทุนหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses – AITC) ความร่วมมือไตรภาคี (Trilateral Cooperation) และโครงการฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Programme – TCTP) ในปี 2551 ศรีลังกาได้รับ 32 ทุน ในสาขา เช่น การเกษตร การศึกษา วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารธุรกิจ สิ่งแวดล้อม การแพทย์ สาธารณสุข การพัฒนาชนบท เศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับในปี 2552 นั้น ศรีลังกาได้รับการจัดสรรทุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 76 ทุน
ภาษาสิงหล (สิงหล: සිංහල) เป็นภาษาของชาวสิงหล ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศศรีลังกา เป็นภาษาในสาขาอินโด-อารยันของตระกูลอินโด-ยูโรเปียน มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัยภาษาดิเวฮิของประเทศมัลดีฟส์ มีคนพูดเป็นภาษาแม่ประมาณ 15 ล้านคน
ReplyDeleteเจ้าชายวิชายาและพรรคพวกนำชาวสิงหลอพยพเข้าสู่เกาะลังกาเมื่อราว 500 ปีก่อนพุทธศักราช วรรณคดีจำนวนมากในศรีลังกาได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา และวรรณคดีอินเดีย การติดต่อกับชาวทมิฬทำให้มีศัพท์ภาษาทมิฬปนอยู่ นอกจากนี้ยังมีคำยืมจากภาษาดัตช์ ภาษาโปรตุเกส และภาษาอังกฤษ เป็นจำนวนมากเพราะเคยถูกปกครองโดยชาติเหล่านี้ เขียนด้วยอักษรสิงหลที่พัฒนามาจากอักษรพราหมี
รัฐบาลศรีลังกาประกาศให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการเมื่อปี พ.ศ. 2499 และบังคับให้โรงเรียนทุกโรงเรียนสอนหนังสือด้วยภาษาสิงหล ทำให้ชาวทมิฬ ไม่พอใจ[1]
กลุ่มภาษาอินโด-อารยัน เป็นสาขาย่อยของกลุ่มภาษาอินโด-อิหร่าน ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน จากรายงานในพ.ศ. 2548 กลุ่มภาษาอินโด-อารยันมีความแตกต่างกันถึง 209 แบบ มีจำนวนผู้พูดเป็นภาษาแม่มาก ได้แก่ ภาษาฮินดูสถาน (ภาษาฮินดีและภาษาอูรดูรวม 540 ล้านคน) ภาษาเบงกาลี (ราว 200 ล้านคน) ภาษาปัญจาบ (ราว 100 ล้านคน) ภาษามราฐี (ราว 90 ล้านคน) ภาษาคุชราต (ราว 45 ล้านคน) ภาษาเนปาล (ราว 40 ล้านคน) ภาษาโอริยา (ราว 30 ล้านคน) ภาษาสินธี (ราว 20 ล้านคน) และ ภาษาอัสสัม (ราว 14 ล้านคน) รวมมีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากกว่า 900 ล้านคน
ประวัติ
หลักฐานเริ่มแรกของกลุ่มภาษานี้เริ่มจากภาษาพระเวทที่ใช้เขียนคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ในสมัยโบราณ เมื่อราว 3,457 ปีก่อนพุทธศักราช ภาษาสันสกฤตได้ถูกปรับปรุงและจัดมาตรฐานโดยปาณินี เรียกว่าภาษาสันสกฤตคลาสสิก ในแบบเดียวกับภาษาปรากฤตหลากหลายสำเนียงได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในยุคกลาง ภาษาปรากฤตได้เกิดความหลากหลายกลายเป็นสำเนียงต่างๆมากมาย ในอินเดียยุคกลางตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 11 - 18 บางสำเนียงได้มีการใช้ในวรรณกรรม
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อมาคือการรุกรานอินเดียของชาวมุสลิมในพุทธศตวรรษที่ 18-21 ในยุคจักรวรรดิโมกุล ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่มีอิทธิพลมาก ต่อมาจึงถูกแทนที่ด้วยภาษาอูรดู ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มอินโด-อารยัน ที่ใช้ศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย แต่ใช้ไวยากรณ์แบบภาษาท้องถิ่น ภาษาหลักๆที่เข้ามาแทนที่ภาษาในยุคกลางได้แก่ ภาษาเบงกาลีและภาษาฮินดี ภาษาอื่นๆได้แก่ ภาษาคุชราต ภาษาโอริยา ภาษามราฐี และภาษาปัญจาบ
ในหมู่ผู้พูดภาษาฮินดี รูปแบบหลักคือภาษาพรัชที่เคยใช้พูดในปัจจุบัน และถูกแทนที่ด้วยภาษาขาริโพลีในพุทธศตวรรษที่ 24 คำศัพท์ที่ในภาษาพูดของภาษาฮินดีส่วนใหญ่มาจากภาษาเปอร์เซียและภาษาอาหรับ จนกระทั่งการแบ่งแยกอินเดียใน พ.ศ. 2490 ภาษาฮินดูสถาน (อูรดู) ถูกแทนที่ด้วยภาษาฮินดีมาตรฐานซึ่งเป็นภาษาราชการของอินเดีย ศัพท์บางส่วนที่มาจากภาษาเปอร์เซียและภาษาอาหรับถูกแทนที่ด้วยศัพท์จากภาษาสันสกฤตเพื่อทำให้เป็นอินเดียมากขึ้น
ความแตกต่างระหว่างภาษาในกลุ่มนี้ไม่ชัดเจน จึงไม่มีการแบ่งแยกที่เป็นมาตรฐาน โดยทั่วไปนิยมจัดแบ่งดังนี้
• กลุ่มภาษาอินโด-อารยันเหนือหรือกลุ่มภาษาปาหารี เช่น ภาษาเนปาล
• กลุ่มภาษาอินโด-อารยันตะวันตกเฉียงเหนือเช่นภาษาปัญจาบ บางครั้งรวมกลุ่มภาษาดาร์ดิก เช่นภาษาแคชเมียร์เข้ามาด้วย
• กลุ่มภาษาอินโด-อารยันกลางได้แก่สำเนียงมาตรฐานของภาษาฮินดีและภาษาอูรดู รวมทั้งภาษากลลุ่มตะวันตกเช่น ภาษาคุชราต และอาจรวมภาษาโรมานีด้วย
• กลุ่มภาษาอินโด-อารยันตะวันออกเช่น ภาษาอัสสัม และภาษาเบงกาลี
• กลุ่มภาษาอินโด-อารยันใต้เช่น ภาษามราฐี กลุ่มภาษาอินโด-อารยันหมู่เกาะ เช่นภาษาสิงหล