Showing posts with label สิทธัตถะ โคตมะ सिद्धार्थ गौतम. Show all posts
Showing posts with label สิทธัตถะ โคตมะ सिद्धार्थ गौतम. Show all posts

Thursday, 31 May 2012

สิทธัตถะ โคตมะ सिद्धार्थ गौतम

สิทธัตถะ โคตมะ ในภาษาบาลี หรือ สิทฺธารฺถ เคาตมะ (/สิดทาด —/) ในภาษาสันสกฤต (เทวนาครี: सिद्धार्थ गौतम) หรือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือที่นิยมเรียกว่า พระพุทธเจ้า เป็นพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ และทรงเป็นผู้เผยแพร่พระธรรมวินัย ซึ่งต่อมาเรียกว่า "พุทธศาสนา" พุทธศาสนานิกายเถรวาทถือว่า การออกพระนามด้วยโคตรนั้นเป็นการไม่เคารพ เช่น เรียกว่า "พระสมณโคดม" เป็นต้น นิกายนี้จึงมักเรียกพระองค์ด้วยศัพท์ว่า "สตฺถา" แปลว่า "ศาสดา"
คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานบันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล พระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งศากยวงศ์ โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาแต่ช้านาน มีพระนามแต่แรกประสูติว่า สิทธัตถะ ในภาษาบาลี หรือ สิทธารถ ในภาษาสันสกฤต พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งแห่งมกุฏราชกุมารในครั้งนั้นด้วย เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงได้รับการถวายพระนามต่าง ๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม, พระโคดมพุทธเจ้า ฯลฯ แต่ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า "ตถาคต" แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้นคือ ทรงปฏิญาณว่าทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่สภาพเช่นนั้น อันได้แก่ การดับทุกข์ กล่าวคือสภาวะแห่งอรหัตผลแล้ว พระนางสิริมหามายาแห่งโกลิยวงศ์ พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งศากยวงศ์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นโกศล ในคืนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาได้ทรงพระสุบินนิมิตว่า ช้างเผือกมีงาสามคู่ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม สิบเดือนหลังจากนั้น ขณะทรงพระครรภ์แก่ได้ทรงขอพระราชานุญาติจากพระสวามีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะอันเป็นพระมาตุภูมิเพื่อให้การประสูติเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ระหว่างเสด็จกลับพระมาตุภูมิ พระพุทธมารดาได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละในสวนป่าชื่อ ลุมพินีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ได้ประสูติพระราชกุมารเมื่อดำเนินได้ 7 ก้าวทรงเปล่งอาสภิวาจา ว่า "เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว" ซึ่งต่อมาจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า อนึ่ง ทั้งสวนป่าลุมพินีและกรุงกบิลพัสดุ์ในปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล[4] หลังจากที่มีพระประสูติกาลแล้ว 7 วัน พระพุทธมารดาก็เสด็จสู่สวรรคาลัย ในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่า เป็นเพราะพระครรภ์ของพระพุทธมารดาไม่ควรจะเป็นที่เกิดของสัตว์ใดอีก และจึงจักต้องเสด็จสู่สวรรคาลัย หลังจากมีพระประสูติกาลแล้ว 3 วัน มีฤๅษีตนหนึ่งได้เข้าเยี่ยมพระราชกุมารมีนามว่า "อสิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส" และได้วางพระบาทเหนือศีรษะฤๅษีอสิตดาบสเพื่อให้ชมดูรอยตำหนิแห่งการกำเนิด เมื่อพบว่าพระราชกุมารมีมหาปุริสลักษณะ ฤๅษีจึงทำนายไว้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 2. ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกเป็นแน่ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระประสูติกาลเพื่อประกอบพิธีขนานพระนามพระราชกุมารในพระราชพิธี พราหมณ์ 8 นายซึ่งได้รับเชิญมา 7 นายในจำนวนนั้นทำนายเป็นเสียงเดียวกันอย่างคำประกาศของฤๅษีอสิตดาบส เว้นแต่พราหมณ์ชื่อโกณฑัญญะว่าจะเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น ฝ่ายพราหมณ์โกณฑัญญะเมื่อเชื่อมั่นในคำทำนายของตนแล้วก็ออกบวชล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวเป็นสาวกของพระราชกุมาร ในพระราชพิธีนี้ พระราชกุมารทรงได้รับขนานพระนามว่า "สิทธัตถะ" มีความหมายว่า ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว หรือ ผู้ปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงเจริญวัยด้วยความสุขยิ่ง เพราะกำเนิดในราชตระกูลภายใต้เศวตฉัตร และได้ทรงศึกษาในสำนักอาจารย์วิศวามิตร ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด เจ้าชายได้ทรงศึกษาอย่างรวดเร็ว และจบหลักสูตรสิ้นทุกประการ คือจบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 สาขาวิชา พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์หนุ่ม ที่ว่าเจ้าชายจะทรงออกผนวชแน่นอน จึงทรงจัดการเตรียมความพร้อมสำหรับการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์ พร้อมสร้างปราสาท 3 ฤดูให้อยู่ประทับ เมื่อพระชมน์ได้ 16 พรรษาได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติกรุงเทวทหนคร เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขกับพระนางตลอดมา จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา และมีพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง