Thursday, 31 May 2012
อิริยาบถของนักปฏิบััติ
อิริยาบถของนักปฏิบััติ
อิริยาบถที่ว่านี้ เป็นวิธีปฏิบัติในอิริยาบถ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านว่าได้ ทั้ง 4 อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน
การนั่ง
การนั่งนี้ท่านไม่จำกัด นั่งได้ตามสบาย ชอบขัดสมาธิหรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่งที่พอเห็นว่า เหมาะสม พอสบาย ทำได้ แต่ตามแบบที่พูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่ที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น การตั้งกายให้ตรงนั้น สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบาย ๆ ถ้าคนหลังงอหลังโกง บังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้
นอน
ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ถ้านอนไม่ได้เพราะเหตุใดก็ตาม จะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่จะเห็นว่าสบาย
ยืน
การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ก็แค่ยืนกันแบบสบาย ๆ
การเดิน
การเดินนี้มีความสำคัญมาก เดินนี้ท่านเรียกว่า "จงกรม" ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง
1.เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป
2.เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขนและยกขาว่า ก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้า หรือข้างหลัง เป็นต้น
3.เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดยเดินไปตามปกติธรรมดา
การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่า เดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือถอยกลับ ใหม่ ๆ ท่านให้ฝึกนับก้าว ว่าเดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดินด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเป็นกรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใด ได้สมาธิในขณะเดิน กรรมฐานกองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม
วิธีเดิน ตอนแรก ๆ ควรเดินช้า ๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อชินแล้ว ให้เดินตามปกติแล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อน และรักษาอารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึก หรือเดินในธุรกิจ ก็ชื่อว่าท่านเป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว
บังคับหยุด
การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรก ๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตา แล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือบังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้นจงแยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้อง ส่วนจิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามเส้นทาง หรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธีเดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ
อานิสงส์เดินจงกรม
การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ย และยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย
********************
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
กฎการปฏิบัติกรรมฐาน
ReplyDeleteการปฏิบัติพระกรรมฐานในพระพุทธศาสนา มีกฎของการปฏิบัติเพื่อผลของการบรรลุเป็นระดับไป ดังจะยกมาโดยย่อดังนี้
อธิศีลสิกขา
อธิ แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือล่วง ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน คำว่า ยิ่ง หมายถึง การปฏิบัติยิ่งกว่า หมายถึง การปฏิบัติเคร่งครัดกว่าปกติ หรือรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตนั่นเอง เกิน ก็หมายถึงปฏิบัติกเกินกว่าที่ปฏิบัติกันตามปกติ ล่วง ก็หมายถึงการปฏิบัติล่วง คือ เกินที่กระทำกันตามปกติ การปฏิบัติตามนี้จัดเป็นอธิศีล การปฏิบัติเป็นอธิศีล ท่านได้แนะนำไว้ดังนี้ จะรักษาศีลไว้ด้วยดี มิให้ขาด มิให้ทำลาย แม้แต่ศีลจะมัวหมอง ก็มิยอมให้เป็น คือ ไม่แนะนำให้คนอื่นทำลายศีล และไม่ยินดีต่อเมื่อเห็นผู้อื่นทำลายศีล การปฏิบัติพระกรรมฐาน ก่อนที่จะหวังให้ฌาณสมาบัติอุบัติแก่จิตใจนั้น ต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน เมื่อรักษาศีลได้แล้ว จนถึงขั้นไม่ต้องระวัง หมายความว่า ละเสียได้จนชินไม่มีการพลั้งเผลอแล้ว ขั้นต่อไปปฏิบัติดังนี้
ระงับนิวรณ์ 5
ReplyDelete1.เห็นโทษของกามฉันทะ
2.เห็นโทษของการจองล้างจองผลาญ
3.คอยกำจัดความง่วงเหงาหาวนอน
4.คอยควบคุมอารมณ์ไม่ให้ฟุ้งซ่าน
5.ตัดความสงสัยในมรรคผลเสีย
เจริญพรหมวิหาร 4 1.แผ่เมตตา แผ่ไปทั่วทุกทิศโดยคิดไว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเราจะเป็นมิตรแก่คนและสัตว์ทั่วโลก
2.กรุณา จะสงสารหวังสงเคราะห์สัตว์และมนุษย์ทั้งปวง
3.มุทิตา จะไม่อิจฉาริษยาคนและสัตว์ทั้งหลาย จะส่งเสริมและรู้สึกเมื่อผู้อื่นได้ดีมีโชค
4.อุเบกขา วางเฉยเมื่อผู้อื่นพลาดพลั้ง ไม่ซ้ำเติม และตั้งใจหวังสงเคราะห์เมื่อมีโอกาส
การรักษาศีลบริสุทธิ์ ด้วยการไม่ล่วงเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นล่วง และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วง และตัดความพอใจในนิวรณ์ 5 โดยระงับนิวรณ์ได้ เมื่อขณะปฏิบัติ และทรงพรหมวิหาร 4 ได้อย่างครบถ้วนอย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นฌาน และฌานจะไม่รู้จักเสื่อมเพราะพรหมวิหาร 4 อุ้มชู สมาธิตั้งมั่น วิปัสสนาผ่องใส เรียกว่า พรหมวิหาร 4 เป็นกำลังใหญ่ในการปฏิบัติสมณธรรมทุกระดับ
การรักษาศีลบริสุทธิ์ เป็นอธิศีลสิกขา การกำจัดนิวรณ์ และทรงพรหมวิหาร เป็นอธิจิตตสิกขา คือทรงฌานสมาบัติไว้ได้ เรียกว่า มีความดีในระดับเปลือกของความดีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ความดีระดับกระพี้
ReplyDeleteท่านมีศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ 5 ได้ ทรงพรหมวิหาร 4 แล้ว สร้างฌานพิเศษ มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่ล่วงมาแล้วได้โดยไม่จำกัดชาติ ทำได้อย่างนี้ท่านเรียกว่า มีความดีระดับกระพี้ของความดีในพระพุทธศาสนา
ความดีระดับแก่น
เมื่อท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ 5 ได้ ทรงพรหมวิหาร 4 ได้ปุพเพนิวาสสานุสสติญาณ และบรรลุทิพยจักษุญาณ สามารถรู้ว่าสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน อาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ นี้พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นความดีที่ทรงความเป็นสาระแก่นสาร ความดีระดับนี้เป็นความดีระดับวิชชาสาม ผู้ใดทรงความดีตามที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ครบถ้วนแล้ว ถ้าจะปฏิบัติเพื่อธรรมเบื้องสูงเพื่อพรหมจรรย์แล้ว อย่างช้าไม่เกิน 7 ปี อย่างกลางไม่เกิน 7 เดือน อย่างเร็วไม่เกิน 7 วัน ก็จะเข้าถึงอรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลระดับยอด ถ้าจะปฏิบัติเพื่อมรรคผลและพระนิพพาน มีการปฏิบัติดังต่อไปนี้
บารมี 10
ReplyDeleteบารมี แปลว่า ทำให้เต็มไม่บกพร่อง ไม่ละเลยเหินห่่างและบกพร่อง ประคับประคองไว้เป็นปกติ
1.ทาน ทาน แปลว่า การให้ ต้องมีจิตใจจดจ่อเพื่อการให้ด้วยจิตใจที่หวังการสงเคราะห์อยู่เป็นปกติ การมีให้ด้วยการสงเคราะห์มีแก่เราเมื่อใด เมื่อความความสบายสุขใจ การให้นี้ต้องไม่พิจารณาบุคคลถึงสุขภาพและฐานะ ถือเอาเพียงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา ก็ช่วยตามต้องการ และไม่หวังการตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
2.ศีล ศีลแปลว่า ปกติ การรักษาอาการตามความพอใจของปกติชนที่มีความปรารถนาอยู่เป็นสุข เราก็ไม่ทำลายปกติความปรารถนาความพอใจของชาวโลก ฉะนั้น ศีลท่านจึงแปลว่า ปกติ คือรักษาอารมณ์ปกติของจิตใจของคนและสัตว์ไม่ต้องการให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ทำให้ศีลขาด ไม่แนะนำให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นทำผิด รักษาได้ระดับนี้จึงจะเป็นศีลเพื่อมรรคผล
3.สัจจะ สัจจะแปลว่า ความตั้งใจจริง เราจะไม่ยอมเลิกละความตั้งใจเดิม แม้แต่จะต้องตายก็ตาม
4.วิริยะ วิริยะแปลว่า ความเพียร ถ้ามรรคผลนิพพานที่เราปรารถนานี้ยังไม่ปรากฎเพียงใด เราจะไม่ละความพยายามประพฤติปฏิบัติไป โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค
5.เนกขัมมะ เนกขัมมะแปลว่า การถือบวช หมายถึงการอดในกามารมณ์ โดยตัดใจไม่ไยดีในอารมณ์ยั่วเย้าด้วยอำนาจกามฉันทะ คือความพอใจในกามารมณ์
6.ปัญญา ปัญญาแปลว่า ความรู้ ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา แปลว่า ความเฉลียวฉลาดก็ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของ ความเกิด แก่ เจ็บ พลัดพราก ว่าเป็นทุกข์ จนเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายต่อการเกิดในชาติภพ จนกระทั่งได้สังขารุเปกขาญาณ คือไม่มีความหวั่นไหวในเมื่อความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นแก่สังขาร
7.ขันติ ขันติแปลว่า ความอดทนหรืออดกลั้น ไม่ยอมให้อารมณ์ฝ่ายชั่วเข้ามาล้างอารมณ์วิปัสสนาญาณได้
8.เมตตา เมตตาแปลว่า ความรักที่ปราศจากความใคร่ด้วยอำนาจกิเลส หมายถึง รักด้วยความปรานี ไม่มีอารมณ์ในส่วนของกิเลสเจือปน
9.อธิษฐาน อธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจมั่น ทั้งนี้หมายถึงตั้งใจไว้ถูกต้อง
10.อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย มายถึงเฉยต่ออารมณ์ที่เป็นทุกข์และสุขอันเป็นวิสัยของโลกีย์
บารมีทั้ง 10 อย่างนี้ นักวิปัสสนาญาณต้องมีครบถ้วน แล้วต้องปฏิบัติได้เป็นปกติ ตามความพอใจเป็นปกติ
********************
http://youtu.be/2xJ7SXl50AM
ReplyDeleteเมื่อครั้งที่มีการทำปฐมสังคายนากันครั้งแรกมีพระมหากัสสปเป็นประธาน แล้วก็มีพระอานนท์เป็นผู้ว่าการฝ่ายพระสูตรและพระอภิธรรม พระอานนท์ท่านได้กล่าวไว้ว่า
ReplyDeleteข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ ได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของชาวกุรุ ซึ่งมีชื่อว่ากัมมาสกัมมะนิคม ในแคว้นกุรุ ในที่นั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตักเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แล้วภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับคำว่า พระเจ้าข้า่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้โปรดประทานพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นทางระงับเสียซึ่งความเศร้าโศกและเสียใจ และความพิไรรำพัน เป็นทางให้เข้าถึงซึ่งความสิ้นทุกข์และโทมนัส เป็นทางให้ได้ซึ่งอรรถธรรมและความรู้ เป็นทางให้สำเร็จซึ่งพระนิิพพาน ทางเอกนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ คืออะไรบ้าง คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภิกษุในธรรมวินัยนี้ต้องเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ จึงจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้”
สติปัฏฐาน ๔ นี้มีอะไรบ้าง
ให้พิจารณากายในกาย
พิจารณาเวทนาในเวทนา
พิจารณาจิตในจิต
พิจารณาธรรมในธรรม
"พิจารณาเห็นกายในกายนั้น คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่าหรือว่า อยู่ที่โคนต้นไม้ หรือไปอยู่ที่ว่างบ้านเรือน แล้วก็นั่งตั้งกายให้ตรง ดำรงสติอันเป็นเครื่องกำหนดไว้ ภิกษุนั้นหายใจออกก็มีสติ หายใจเข้าก็มีสติ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น จะกำหนดกองลมทั้งปวง แล้วจึงหายใจออก เราจะกำหนดกองลมทั้งปวงแล้วจึงจะหายใจเข้า เราจะระงับกองลมแล้วจึงจะหายใจออก เราจะระงับกองลมแล้วจึงจะหายใจเข้า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึงผู้ฉลาดหรือว่าลูกมือช่างกลึง เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ว่าชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสัน ก็รู้ว่าเราชักเชือกกลึงสั้น ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น ภิกษุนั้นย่อมศึกษาว่า เราจะกำนหดรู้กองลมทั้งปวงแล้วจึงจะหายใจออก เราจะกำหนดรู้กองลมทั้งปวงแล้วจึงจะหายใจเข้า เราจะระงับกองลมแล้วจึงจะหายใจออก จะระงับกองลมแล้วจึงหายใจเข้า"
ReplyDeleteการพิจารณากายในกาย ในขั้นแรก ท่านถือเอากองลมเป็นสำคัญ อันนี้เขาเรียกว่า อานาปานบรรพ หรือว่า อานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งมีความสำคัญมาก สามารถทรงฌาน ๔ ได้แล้ว ถ้าเจริญตามแบบนี้ ท่านจะมีความสุขแบบสุขวิปัสสโก และมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ จะดัดแปลงขึ้นไปสู่วิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้
อานาปานาสติกรรมฐานตอนต้น ว่าเมื่อเราหายใจเข้าก็มีสติ หายใจออกก็มีสติ สตินีี่่แปลว่านึกได้รู้อยู่ คำว่ามีสตินี่ ตัวนึกเข้าไว้ ตัวไม่ลืม หมายถึง จงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเอาไว้ เวลาจะหายใจเข้าก็ตาม เวลาจะหายใจออกก็ตาม ต้องรู้เข้าไว้ รู้ลมเข้าไว้ เวลาลมเข้าให้รู็ว่าลมเข้า ลมออกก็ให้รู้ว่าลมออก เดินไปก็ในรู้ว่าลมเข้าลมออก นั่งอยู่รู้ลมเข้าลมออก นอนอยู่รู้ลมเข้าลมออก ยืนอยู่รู้ลมเข้าลมออก ทำได้ตลอดทุกอิริยาบท ทำอย่างนี้ให้ชินจนกระทั่งจิตไม่ต้องระวังเรื่องลมเข้าลมออก รู้ได้เป็นปกติ อย่าไปดัดแปลงลมหายใจ ร่างกายมันต้องการหายใจสั้นหรือยาวปล่อยมัน หายใจแรงหรือหายใจเบาเปล่อยมัน ไม่ต้องฝืน
ReplyDeleteจำไว้ว่าท่านจะเจริญมหาสติปฏิฐานสูตรในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในบทว่าอานาปานาบรรพเราจะรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกอยู่เสมอ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะอาบน้ำ จะดูหนังสือ จะเดินไปไหน ทำงานอย่างใดก็ตาม รู้ลมเข้ารู้ลมออก
********************
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายเธอจงเป็นผู้มีสติ หายใจเข้า จงรู้ว่าเป็นผู้หายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็จงรู้ว่าเป็นผู้หายใจออก" หมายความว่า การรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกนี่เราไม่ต้องระวังกัน ไม่ต้องตั้งท่า ไม่ต้องหาเวลา เป็นเวลาใดก็ตาม เวลาที่กินข้าวอยู่ก็ดี หรือว่าทำการงานก็ดี เวลาพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดี เดินไปก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ทุกอิริยาบทเราสามารถรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้อย่างสบาย อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงอานาปานาสติ มหาสติปัฏฐานสูตรข้อนี้แล้ว
ReplyDeleteเรื่องของพระกรรมฐานกับนิมิตเป็นของธรรมดา นิมิตของอานาปานาสติกรรมฐานก็มี เช่น สีเขียว สีแดง สีสว่างคล้าย ๆ แสงไฟฉาย หรือเหมือนแสงฟ้าแลบ การที่จะได้บุญ อยู่ตรงที่จิตเป็นสมาธิ ตัวบุญอยู่ที่จิตเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ตั้งมั่น ไม่ใช่อยู่ที่องค์ภาวนาอย่างเดียว การภาวนาด้วย ก็เพื่อจะใช้อารมณ์ยึด คือ สติ ให้รู้อยู่ว่าเรากำหนดลมหายใจเข้าออก หรือว่าเราภาวนาว่ายังไง แล้วก็ควบคุมอารมณ์อยู่เฉพาะอย่างนั้นอย่างเดียวให้เป็นเอกัคคตารมณ์ คำว่า เอกัคคตารมณ์ แปลว่า เป็นหนึ่ง ตัวบุญใหญ่คือ การทรงสมาธิจิต ถ้าสมาธิทรงได้สูงมากเพียงใด นิวรณ์ที่จะมากั้นความดีคืออารมณ์ของความชั่ว คำว่านิวรณ์ได้แก่ อารมณ์ของความชั่ว ถ้าขณะใดจิตทรงสมาธิที่เรียกกันว่าเป็นฌาน คำว่าฌานนี้ แปลว่า การเพ่ง การทรงอยู่ของจิต จิตเพ่งอยู่เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อันนี้เราเรียกกันว่า ฌาน
เมื่อเรามีสติสามารถจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ที่กระทบเข้าและกระทบออกที่จมูกได้ เข้าก็รู้ออกก็รู้ จิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิ สมาธิขั้นต้นเรียกว่า ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิเล็กน้อย เมื่อขณิกสมาธิละเอียดขึ้น จิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์ของที่เป็นทิพย์จะปรากฎ จิตเป็นทิพย์ คือ จิตย่อมว่าจากกิเลส จิตว่างจากนิวรณ์ทั้ง ๕ เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์ ๕ ประการแล้ว จิตก็สามารถจะเป็นทิพย์ แต่จะเป็นมากหรือเป็นน้อยขึ้นอยู่กับสมาธิจิต จะเห็นแสง เห็นภาพ แต่ภาพที่ปรากฎก็ดี แสงสีที่ปรากฎก็ดี จงอย่าเอาจิตเข้าไปเกาะ เพียงกำหนดว่า ถ้าหากว่าเราเห็นนานหรือเร็ว จงรู้ตัวว่า นี่จิตของเราเป็นทิพย์ เข้าสู่อุปจารสมาธิ
********************
ในการปฏิบัติทำได้ในทุกอิริยาบททั้ง ๔ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน เวลาหายใจเข้ายาวหรือสั้นก็รู้ หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้ หายใจเบาหรือหายใจแรงก็รู้ เรียกว่า เพิ่มสติให้มากกว่าเดิมอีกนิด ถ้าทำได้แล้วเป็นอุปจารสมาธิและปฐมฌานด้วย เมื่อสมาธิเริ่มมากขึ้น อารมณ์เริ่มละเอียดขึ้น อุปจารณสมาธิ มีปิติให้ปรากฎ มีความชุ่มชื่น มีขนพองสยองเกล้า มีน้ำตาไหล มีร่างกายโยกโคลง มีความอิ่มเิอิบใจ มีความปลาบปลื้มใจ ส่วนอาการของปฐมฌาน คือ อารมณ์ที่ไม่ข้องกับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ คือ
ReplyDeleteความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวลไม่มี อารมณ์นิ่ง พอใจในการภาวนาหรือพอใจในการกำหนดลมหายใจเข้าออก
ความโกรธความพยาบาทไม่ปรากฎ
ความง่วงเหงาหาวนอนไม่ปรากฎ
อารมณ์ภายนอก นอกจากากรกำหนดลมหายใจเข้าออกไม่ปรากฎ
ทรงอารมณ์หายใจเข้าออกไว้ หูได้ยินเสียงทุกอย่าง แต่จิตไม่สอดส่ายไปตามนั้น คงรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ได้อย่างสบาย ๆ ไม่เกิดความรำคาญ
อาการอย่างนี้คือ อาการของปฐมฌาน อานาปานุสสติเป็นกรรมฐานใหญ่ สามารถทรงได้ถึงฌาน ๔ ถ้าทรงได้ถึงฌาน ๔ แล้ว สามารถจะทรงวิชชาสามและอภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณด้วย หลักสูตรของวิชชาสาม เป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง เพราะสามารถพิสูจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ ที่บอกว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ตายแล้วไปเกิดที่ไหน เกิดมาจากไหน
ก่อนที่จะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราจะกำหนดกองลมเสียก่อน คำว่า กำหนดกองลม คือตั้งใจไว้ว่าเราจะหายใจเข้า ว่านี่เราจะหายใจเข้า แล้วหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้ไว้ แต่เราไม่ต้องไปกำหนดตอนหายใจ ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว ไม่ต้องไปกำหนดกองลม จากนั้นเราก็ทำสติให้ละเอียดเข้าไปอีก การรู้ว่าหายใจเข้าหรือออก ยาวหรือสั้น กำหนดรู้ได้ สามารถทรงอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ คือไม่ปล่อยให้อารมณ์อื่นเข้ามายุ่ง กำหนดได้อย่างนี้ ครั้งละ ๒-๓ นาที หรือ ๕ นาทีก็ตาม แสดงว่าอารมณ์จิตเข้าถึงฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓ ซึ่งตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นไป คำภาวนาจะหยุดไปเอง ลมหายใจเข้าออกยังรู้อยู่แต่ว่าเบาลงไป
สำหรับฌานที่ ๒ รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกเบาลงไป มีจิตชุ่มชื่น มีความเยือกเย็น มีความสบายมากขึ้น หูยังได้ยินเสียง แต่รู้สึกว่าเบากว่าปกตินิดหนึ่ง
ReplyDeleteสำหรับฌานที่ ๓ จะรู้สึกว่าทางกายมันเครียด เหมือนมีอาการเกร็งตัว มีอาการตึงเป๋ง ลมหายใจรู้สึกว่าน้อยลง เสียงที่ได้ยินเบาเข้า ถึงแม้จะเป็นเสียงที่ใครพูดแรง ๆ ก็รู้สึกว่าเบาลงมาก
ถ้าเมื่อกำหนดกองลมว่า ต่อไปเราจะหายใจเข้าแล้วเราก็หายใจเข้า เวลาหายใจเข้าสั้นหรือยาวเราก็รู้ เวลาจะหายใจออกก็นึกในใจว่านี่เราจะหายใจออก ไม่ต้องไปอั้นไว้ ปล่อยไปตามปกติ รู้ก่อนที่มันจะเข้า มันจะออกนิดหน่อย เรียกว่า กำหนดกองลมก่อนจะหายใจเข้าหรือหายออก ซึ่งเป็นอันดับที่สามของอานาปานาสติในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
ต่อมาอันดับที่ ๔ เป็นอาการของฌาน ๔ จะไม่กำหนดรู้ลม คือปล่อยกองลมเสียมันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตาม เราจะไม่ยอมรู้ เพราะว่าจิตละเอียดขึ้น จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีลมหายใจ จะเกิดความรู้สึกเหมือนไม่หายใจ แต่อารมณ์จิตภายในมีความโพลง มีความสว่าง มีการทรงตัวมาก มีอารมณ์เป็นเอกกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง มีความชุ่มชื่น มีความสุขสบายที่สุด ไม่รู้สึกในการสัมผัสภายนอก เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ จงรักษาไว้ หมั่นทำไว้เสมอให้จิตคล่อง จะสามารถนั่งยืนเมื่อไร เข้าฌาน ๔ ได้ทันที แล้วสามารถจะกำหนดเวลาออกได้ด้วย อานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ระงับสังขารมีคุณประโยชน์มาก เวลาป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนา ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตเป็นฌาน อาการปวดเมื่อยทั้งหลายเหล่านั้น มันจะสลายตัวไป ท่านที่ได้อานาปานสติกรรมฐานจนคล่อง สามารถจะกำหนดเวลาตายได้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ เรากำหนดเพื่อรู้ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไปหรือการสลายตัว ว่าร่างกายเรานี้ที่ชื่อว่าร่างกายของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นมันก็เสื่อมไป แล้วมันก็สลายตัว เราจะไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดในร่างกายนี้" ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ
********************
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ถ้ามีบารมีแก่กล้า หมายถึงมีกำลังใจสูง มีการระมัดระวังการปฏิบัติเป็นปกติไม่ขาดวรรคขาดตอน เรียกว่า วันทั้งวัน มีอารมณ์ครุ่นคิดอยู่ในมาหสติปัฏฐานสูตรทั้งสี่นี้ ท่านกล่าวว่า ท่านผู้นั้นบำเพ็ญบารมีเพียงแค่ไม่เกิน ๗ วัน จะเข้าถึงอรหัตตผล ถึงพระนิพพาน ถ้าหากว่ามีอารมณ์ย่อหย่อนไปนิดหนึ่งก็ไม่เกิน ๗ เดือน ถ้าหย่อนไปอีกก็เรียกว่า ไม่เกิน ๗ ปี
ReplyDeleteการดัดแปลงอารมณ์ของมหาสติปัฏฐานสูตร ความจริงมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขั้นสุขวิปัสสโก การบรรลุมี ๔ สายด้วยกัน คือ สุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต
สุขวิปัสสโก บรรลุแล้วไม่เห็นผี ไม่เห็นสวรรค์ ไม่เห็นนรก มีแต่จิตสบาย กิเลสแห้งเหือดไป
เตวิชโช มีทิพย์จักขญาณ สามารถรู้สัตว์และคนที่ตายไปแล้ว ไปเกิดที่ไหน คนและสัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน แล้วมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติของตนเองได้
ฉฬภิญโญ ก็ทรอภิญญา หมายความีฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด
ปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความรู้พิเศษ ทรงพระไตรปิฎก รู้ภาษาสัตว์ต่าง ๆ ภาษาคนภาษาสัตว์ไม่ต้องเรียน รู้ แล้วก็รู้อธิบายขยายความให้กว้างก็ได้ หรือเนื้อความที่กว้างก็ย่อลงให้สั้นให้เข้าใจได้ดีก็ได้
คนที่ชอบสงัดก็ศึกษาด้านสุขวิปัสสโก คนที่อยากรู้นั่นรู้นี่ อยากเห็นผี เห็นเทวดา ก็ศึกษาเตวิชโช เรียนวิชชาสาม ส่วนคนที่ชอบฤทธิ์ อยากแสดงฤทธิ์ ก็ต้องศึกษาฉฬภิญโญ
ReplyDeleteพื้นฐานของวิชชาสาม จะต้องกำจัดอุปกิเลสทิ้งเสีย อุปกิเลส คือการเข้าถึงความเศร้าหมองจองจิต คือการไม่ไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านเขา ไม่อวดดีอวดเ่ด่น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับนิโครธปริฺพฺพาชกว่า "นิโครธปริพพาชก อันนี้บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือยัง เป็นสาระเป็นแก่นสารไหม การไม่ไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านนี่ ใครจะด่าจะว่านินทายังไงก็ช่างเขา มันเป็นเรื่องของเขา เราไม่อวดดีอวดเด่นกับเขา ไม่เห็นว่าเขาเลวกว่า เขาเสมอเราหรือเขาดีกว่า ไม่โอ้อวดในข้อวัตรปฏิบัติที่ตนทำแล้ว ไม่เอาไปข่มขู่ชาวบ้าน ข้อนี้บริสุทธิ์เป็นแก่นสารหรือยัง"
นิโคธปริพพาชกตอบว่า "ข้อนี้เป็นสาระเป็นแก่นสารบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแล้วพระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนนิโครธ แค่นี้ยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ แค่นี้เป็นสะเก็ดของพระพุทธศาสนาเท่านั้น"
นิโครธปริพพาชกถามต่อว่า "ยังไงจึงจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นสาระแก่นสารล่ะพระเจ้าค่ะ"
พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า "นิโครธะ คนที่จะบริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ต้องปฏิบัติในยามสี่ ได้แก่ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลฆ่าสัตว์ และไม่ยินดีเมื่อเขาฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นลัก และไม่ยินดีเมื่อเขาลักมาแล้ว ไม่ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นประพฤติผิดในกาม และไม่ยินดีเมื่อเขาประพฤติผิดในกามแล้ว ไม่กล่าววาจามุสาวาทด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นกล่าววาจมุสาวาท และไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นกล่าวมุสาวาทแล้ว จากนั้นพยายามระงับนิวรณ์ ๕ ประการจากจิตเสีย คือ ไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ไม่พยาบาท ไม่ง่วงเหงาหาวนอนในเวลาที่ปฏิบัติความดี ไม่ทำจิตฟุ้งซ่านยึดถืออารมณ์ภายนอก ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า และก็แผ่เมตตาไปในทิศทั้ง ๔ คือทรงพรหมวิหาร ๔ คิดว่าบุคคลและสัตว์ทั้งหมดเป็นมิตรกับเรา เราไม่เป็นศัตรูกับใคร แล้วก็ทำใจให้สบาย นิโครธะ นี่บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือยัง"
"บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระเจ้าข้า"
"นิโครธะ นี่ยังไม่บริสุทธิ์ไม่บริบูรณ์ นี่แค่เปลือของความดีในพระศาสนาเท่านั้น"
"ทำยังไงจะเข้าถึงแก่นล่ะ พระเจ้าข้า"
"เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จำทำปุพเพนิวาสานุสติญาณให้ปรากฎ คือระลึกชาติหนหลังได้"
"แค่นี้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วหรือยัง พระเจ้าข้า"
"แค่นี้เพียงกระพี้ของความดีเท่านั้น"
"ถ้าจะให้เข้าถึงจุดของความดีจริง ๆ เป็นสาระแก่นสาร ก็ต้องทำทิพยจักขุญาณ คือสามารถรู้ว่าสัตว์ที่เกิดแล้ว เกิดมานี่ตายแล้วไปไหน เป็นอะไร สัตว์และคนที่เกิดมาในโลกนี้มาจากไหน ชาติก่อนเขาเป็นอะไรมา อย่างนี้แหละที่เรียกว่าถึงแก่นถึงสาระ"
การเจริญพระกรรมฐานเอาดี จะเป็นด้านสุขวิปัสสโกก็ดี เตวิชโชก็ดี ฉฬภิญโญก็ดี ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ดี ต้องวางภาคพื้นไว้ก่อนสำหรับภาคพื้นในด้านวิชชาสาม พื้นของวิชชาสามนี้ใช้ได้ทั้งอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณ หรือแม้คนที่เจริญสุขวิปัสสโกก็ใช้ได้ แต่ต้องตัดปุพเพนิวาสานุสติญาณออก แล้วก็ตัดทิพยจุกขุญาณออก ก็เป็นสุขวิปัสสโก สำหรับท่านที่เจริญวิชชาสามก็ต้องเจริญปุพเพนิวาสนุสติญาณ และทิพยจักขุญาณด้วย ส่วนในด้านอภิญญา ๖ ก็ต้องเจริญกสิณทั้ง ๑๐ ประการ และหัดเข้าฌานตามลำดับญาณและลำดับกสิณ สลับฌานสลับกสิณให้คล่อง หากว่าท่านจะเข้าถึงปฏิสัมภิทาญาณ ก็เอากสิณเป็นภาคพื้น แล้วก็เจริญอรูปฌานให้ได้ อรูปฌาน ๔ ทรงอยู่ในฌาน ๔ เหมือนกันเท่านี้ ต่อไปก็เป็นปฏิสัมภิทาญาณ
********************
ขั้นแรก ต้องวางพื้นใหญ่คือ อานาปานสติกรรมฐาน ประการที่สอง จิตอย่าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน ประการที่สาม รักษาศีล ๓ ชั้น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าววาจามุสาวาท ไม่ดื่มสุราเมรัยด้วยตนเอง และไม่ยุยงให้ชาวบ้านเขา่ทำ ไม่ยินดีเมื่อชาวบ้านเขาทำแล้ว และระงับนิวรณ์ ๕ ประการ ขณะที่กำลังภาวนาอยู่ก็ตาม กำหนดลมหายใจอยู่ก็ตาม อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับกามคุณ ๕ อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับความโกรธ ความพยาบาท อย่าสนใจกับความง่วง อย่าเอาอารมณ์อื่นนอกจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกมาใช้ อย่าสงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางอารมณ์นี้ไว้ แล้วก็แผ่เมตตาไปในทิศทั้ง ๔ ว่า เราจะมีเมตตา กรุณา มุทิต อุเบกขา แก่คนและสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดเท่ากับตัวของเรา ประเดี๋ยวก็ได้ฌาน และฌานก็จะสามารถทรงอยู่ได้ตลอด หากท่านทรงภาคพื้นนี้ได้ตลอด
ReplyDeleteขั้นต่อไป เป็นการดัดแปลง เอามหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาดัดแปลงเป็นวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ
การดัดแปลงสุขวิปัสโกมาเป็นเตวิชโช ขั้นแรกสุด เข้าฌาน ๔ ในอานาปานสติกรรมฐาน กำหนดลมหายใจแค่จมูกก่อนจนจิตสบาย เลื่อนเข้าไปรู้ลมเข้าออกยาวหรือสัน พอจิตสลาย กำหนดกองลมว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก พอจิตสบายตอนนั้นไม่สนใจกับกองลม วางอารมณ์เป็นเฉยเสีย จับอารมณ์เป็นดิ่ง พออารมณ์สบายแล้วลืมตาดูนิมิตกสิณ กสิณ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. สีขาว เรียกว่า โอทาตกสิณ 2. แสงสว่าง เรียกว่า อาโลกสิณ 3. แสงไฟ เรียกว่า เตโชกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดตั้งนิมิตเข้าไว้ ลืมตาดูภาพกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง พอจำได้แล้วหลับตา หากว่าดูไฟ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง หากว่าดูสีขาว ภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ถ้าดูแสงสว่าง ภาวนาว่า อาโลกกสิณัง แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น จิตเป็นฌานอยู่แล้ว นิมิตจับดิ่งเลย แต่หากว่านิมิตยังเป็นภาพเดิมอยู่ ก็ยังใช้ไม่ได้ รักษานิมิตและให้เคลื่อนเข้าไป ๆ ถ้าจิตถึงฌาน ๔ เข้าถึงฌานนิมิต จะเปลี่ยนสีเดิมไป เป็นสีประกายพรึกเหมือนกันหมด
พอภาพกสิณปรากฎเป็นประกายพรึก สีขาวแพรวพราว บังคับใหญ่ก็ได้ ก็ใหญ่ขึ้น นึกให้ภาพเล็กลงก็จะเล็ก ให้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ อยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ หัดให้คล่อง
เมื่อหัดจนคล่องนึกปั๊บจับภาพกสิณได้ แต่ที่สำคัญคือ อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก ยามปกติรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ จะทำอะไรก็ตามรักษานิมิตกสิณไว้ นิมิตกสิณที่เพ่งเห็นแล้วนั่นแหละ ให้ภาพกสิณปรากฎแก่ใจเป็นปกติ
เมื่อจะดูภาพนรกสวรรค์อย่าลืม 1. ยามปกติอย่าทิ้งอานาปานสติกรรมฐาน 2. อย่าทิ้งภาพกสิณ นิมิตกสิณต้องชำระให้ใสจริง ๆ เพราะเป็นเครื่องวัด ถ้าเราเห็นภาพกสิณเท่าไร เราก็จะเห็นภาพนรกสวรรค์ได้เท่านั้น
เมื่ออยากจะเห็นนรก ก็เพ่งภาพกสิณปั๊บ เห็นภาพกสิณแจ่มใส สบายใจดีแล้ว ก็อธิษฐานจิตว่า ขอภาพกสิณจงหายไป ภาพนรกจะปรากฎ ภาพสวรรค์ ภาพพรหม ก็เหมือนกัน
ถ้าจะเป็นฉฬภิญโญ เมื่อได้กสิณกองใดกองหนึ่งแล้ว อีก ๙ กองก็เหมือนกัน เปลี่ยนภาพเท่านั้น ส่วนปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ยกภาพกสิณขึ้นเป็นนิมิต แล้วก็เพิกกสิณทิ้งเสีย ยกอากาสนานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะมาแทน แทนแต่ละอย่างให้ถึงฌาน ๔ ก็จะได้ชื่อว่า ได้สมาบัติ ๘ แล้วต่อไปก็จะได้ปฏิสัมภิทาญาณ
********************
เรื่องทิพยจักขุญาณ ว่าไปเริ่มจับกันตอนที่ได้จตตุถฌาน คือฌาน ๔ นักเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร เจริญอานาปานสติกรรมฐาน มาถึงฌานที่ ๔ แล้วก็ทรงฌานที่ ๔ แล้ว แต่ความจริงการเจริญทิพยจักขุญาณ ถ้าเราทำกรรมฐาน ๔๐ เริ่มฝึกทิพยจักขุญาณกันตั้งแต่อุปจารสมาธิ คือยังไม่เข้าปฐมญาน พอถึงอุปจารสมาธิแล้วจับภาพกสิณขึ้นเพิกภาพกสิณ อธิษฐานให้ภาพกสิณหายไปขอภาพสวรรค์และนรกจงปรากฎ อย่างนี้จะเห็นได้เงา ๆ เห็นได้ดำ ๆ ต่อมาเมื่อฝึกฝนจิตเข้าถึงฌานก็เห็นใสขึ้น พอถึงฌาน ๔ ภาพก็นิ่งนาน เราดูภาพได้นาน เราสนทนาปราศรัยกันได้นาน นี่คือหลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าสอนไว้ แต่นักเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ก็เข้าถึงฌาน ๔ แล้วทุกท่านก็ไม่จำเป็นต้องไปตั้งต้นกันแค่อุปจารสมาธิ เราก็เข้ากันถึงจตุตถฌานเลย เพราะเป็นภาพนิ่งดีมาก แล้วก็สดใสดีมาก เมื่อถอยหลังจิตมาถึงอุปจารสมาธิอธิษฐานภาพกสิณให้หายไป แล้วอธิษฐานภาพสวรรค์ นรก พรหมโลก หรือบุคคลที่ตายไปแล้วจงปรากฎ ที่เราต้องการก็จะปรากฎเฉพาะหน้า นี่อาศัยกำลังจตุตถฌาน เป็นฌานที่ทรงสมาธิได้นาน แล้วก็มีความแจ่มใส ก็สามารถจะพูดจาปราศัยกันได้นาน ถ้าหากว่าท่านได้ฌาน ๔ แล้ว ได้ทิพยจักขุญาณแล้ว สามารถจะเห็นสวรรค์ เห็นนรกก็ได้ เห็นพรหมโลกก็ได้ ถ้ามีวิปัสสนาญาณพอสมควร จะรู้ภาวะพระนิพพานตามความเป็นจริง รู้ด้วยอำนาจของฌาน ถ้าอยากจะรู้จริง เห็นจริง ก็พยายามทำให้ปรากฎ ถ้าได้ทิพยจักขุญาณแล้ว ก็เจริญวิปัสสนาญาณพอสมควร พอจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ อันนี้แหละจะเห็นพระนิพพานได้ชัดเจนแจ่มใส
ReplyDeleteทิพยจักขุญาณที่ได้ ญาณที่ติดตามได้มาเป็นผลพลอยได้คือ จุตูปปาตญาณ เจโตปริยยญาณ อดีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปันนังสญาณ และยถากัมมุตาญาณ นี่รวมความว่า ถ้าได้ทิพยจักขุญาณแล้ว ญาณอีก ๗ อย่างได้มาโดยไม่ต้องหาใหม่ และอย่าลืมว่า คนที่เข้าถึงความดีได้ต้อง
ไม่เอาจิตไปกังวลกับเรื่องของชาวบ้าน เราควบคุมของเราเท่านั้นพอ
ทรงศีลห้า จะไม่ละเมิดศีลห้าด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอ่นละเมิดศีลห้า และไม่ยินเมื่อเขาละเมิดแล้ว
ระงับนิวรณ์ ๕ ประการ
ทรงพรหมวิหารสี่
พอจิตถึงจตุตฌาน ฌานที่ ๔ เมื่อเราได้ทิพยจุกขุญาณแล้ว คำว่าทิพยจักขุญาณ หมายความว่ามีความรู้คล้ายกับตาทิพย์ เห็นกันด้วยใจ ทิพยจักขุญาณเห็นสวรรค์ก็ได้ เห็นนรก เห็นพรหม เห็นใครตายไปแล้วก็ได้ คำว่าเห็นนี่เรียกกันว่า ทิพยจักขุญาณ
จุตูปปาตญาณ ก็ใช้ทิพยจักขุญาณนั่นเอง ดูคนที่ตายไปแล้วหรือสัตว์ที่ตายไปแล้วว่าไปเกิดที่ไหน หรือว่าดูคนที่มาเกิดนี้ สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน เราสามารถจะรู้ได้ด้วยญาณนี้ โดยวิธีใช้ดูภาพกสิณ เห็นภาพกสิณชัด แล้วอธิษฐานให้ภาพกสิณนั้นหายไป ขอภาพอดีตของคนและสัตว์จงปรากฎ หรือขอภาพในปัจจุบันของคนและสัตว์จงปรากฎ
ReplyDeleteญาณที่สาม เจโตปริยัติญาณ ญาณนี้รู้วาระจิตของคน หมายความว่ารู้ใจคน เจโตปริยัติญาณพระพุทธเจ้าสอนไว้ คือ
ในขั้นมีไว้ให้เปลื้องความสงสัยว่า กิเลสมีจริงไหม
รู้จิตของตนเองว่า เวลานี้กิเลสอะไรมันเข้ามาสิงอยู่ เราจะแก้อารมณ์ของกิเลสนันด้วยประการใด ไว้ดูใจตนเองนะ ส่วนใจของชาวบ้านเค้าไม่ต้องยุ่ง ยกเว้นจะเป็นบุคคลที่เราจะต้องสงเคราะห์จึงค่อยรู้เขา หรือเมื่อรู้แล้วก็นิ่งไว้ ถ้าเขาไม่ปรารถนาที่จะรับฟังก็อย่าพูด เขาไม่เลื่อมใสไม่ศรัทธาจงอย่าพูด
เจโตปริยญาณนี้ ก็เอาทิพยจักขุญาณนั่นเองดูจิตของตน ดูสีของใจโดยแบ่งออกเป็น ๖ สีด้วยกัน แต่ในที่นี้จะพูดแค่ ๓ สี คือ
ถ้าจิตมีความเดือดร้อน สีของอารมณ์จะดำ
ถ้าจิตมีความรื่ีนเริง มีความยินดี อารมณ์จิตจะมีสีแดง
ถ้าจิตมีความสุขมีความว่างเป็นอุเบกขา จิตจะมีสีใสเป็นแก้วใส จิตที่มีสีใสเป็นแก้วใสนี่ก็เป็นจิตของฌาน ๔
พยายามฝึกดูบ่อย ๆ นึกขึ้นได้ก็ดูเสีย ถ้าเห็นเป็นสีใดสีหนึ่ง แสดงว่าเรายังเลวอยู่ สภาวะของจิตจริง ๆ มันเป็นกายซ้อนกาย ที่พระพุทธเจ้าตรงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า เห็นกายในกาย เห็นกายในกายนั้น ในสภาพของสุขวิปัสสโกเห็นชิ้นเนื้อ เห็นอาการของกาย แต่ว่าในสภาพของนักวิชชาสามแล้ว เห็นกายทิพย์ที่ซ้ายกายอยู่ที่เข้ามาสิงในกาย ซึ่งจะบอกได้ว่า เวลาตายในระหว่างนี้จะเป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นสัตว์นรกเป็นเปรต อสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นมนุษย์ ภาพเทวดาหรือพรหมมันจะทรงเป็นกายทิพย์แพรวพราวมีเครื่องประดับเต็มที่ ถ้าจะเป็นสัตว์ประเภทไหน ก็จะมีสภาพเป็นรูปสัตว์ประเภทนั้น
********************
เจโตปริยัติญาณ เห็นอัตภาพร่างกายของตัว สภาวะการเห็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การที่ใช้ฌานโลกีย์ ถ้าจะเห็นอย่างดีเท่าไรก็ตาม ก็เป็นสภาพมัว ๆ สลัว ๆ เท่านั้น ฌานที่เราได้กัน เรียกว่า ฌานโลกีย์ ซึ่งมีสภาพเสื่อม และมีอุปาทานเข้ากันมาก เวลาจะดูอะไรจะรู้อะไรจริง ๆ ต้องเข้าฌานให้จิตใจแจ่มใสจริง ๆ ดูสภาพจิตของเราให้เป็นแก้วจริง ๆ ถ้ามัวไปนิดพยากรณ์อะไรจะผิดพลาดได้ เพราะกิเลสเข้ามาบังจิตเสีย ที่เรียกกันว่า นิวรณ์ ๕ เราก็ต้องดูว่า นิวรณ์ ๕ นั้น ข้อไหนที่มาสิงสู่ใจของเรา ข้อดีของทิพยจักขุญาณ รับรู้จิตของตัวเอง ทำให้บรรลุมรรคผลได้ง่าย
ReplyDeleteทิพยจักขุญาณ จะดูกันให้แจ่มใสจริง ๆ ต้องทำจิตให้เข้าสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ การได้ทิพยจักขุญาณใหม่ ๆ ทำให้มีอุปาทานกันมาก รู้ผิดรู้ถูก เพราะอุปาทานเห็น อุปาทานนี้ก็ได้แก่ความยึดมั่น แปลง่าย ๆ ก็คือ ความชั่วของจิตนั่นเอง เป็นการยึดถืออารมณ์ หมายความถึง ยึดถือสัญญาเดิม ความจำ ไว้มากเกินไป ไม่ใช่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ถ้าจิตยังเป็นอย่างนี้อยู่ พยายามเข้าฌาน ๔ ให้มาก ทรงฌาน ๔ ให้มาก เมื่อถอยหลังออกจากฌาน ๔ แล้ว ก็เข้าเจริญวิปัสสนาญาณ ชำระจิตให้ผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสดีแล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ ทำอย่างนี้สลับไปเรื่อย ๆ จนกว่าสภาพจิตจะแจ่มใส เมื่อจิตแจ่มใสดีแล้วก็คุมสภาวะไว้ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่ายุ่งเรื่องของชาวบ้าน ระวังนิวรณ์ ๕ ประการอย่าให้กวนใจ จิตทรงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ ไม่ช้าก็จะถึงความดี
ถ้าจิตของเราต้องดูให้แจ่มใส นี่คือ เจโตปริยญาณ ดูว่าสภาพของจิตเป็นยังไง สภาวะจริง ๆ เป็นคนอีกคนหนึ่ง เรียกว่า คนทิพย์ เป็นกายซ้อนกาย กายภายในเห็นกายในกายของพวกทิพยจักขุ ญาณวิชชาสาม เราอยากจะรู้เรื่องราวของคนอื่นบ้าง อยากจะรู้พอเห็นหน้าปั๊บ พอได้ยินชื่อปั๊บว่า คนคนนี้เขาดีหรือเขาไม่ดีตามเสียงที่ชาวบ้านว่า เราก็จงปลดอารมณ์นั้นเสีย กำหนดเห็นจิตของเขา รู้จิตของเขาเสียก่อน ถ้ารู้จิตของเราจนคล่องแล้วจิตของชาวบ้านก็รู้ไม่ยาก ง่ายกว่าจิตของเรา ดูจิตของเราผ่องใส ดูจิตของเขาปั๊บ นึกน้อมอารมณ์ให้เห็นจิตของเขา ถ้าเห็นจิตของเราได้ ก็เห็นจิตของเขาได้ เอาจิตของเราเป็นกสิณไปเลย ถ้าทำแบบนี้ก็เป็นวิญญานัญจายตนะฌานด้วย เป็นอรูปฌานไปในตัวเสร็จ เห็นจิตของเขาปั๊บ คนนี้มีกิเลสอะไร จิตสีอะไร กำลังดีใจ หรือมีความทุกข์ เขามีความทุกข์ ๆ เพราะอะไร ขอภาพนั้นจงปรากฎ
อยากรู้ตัวจิต ดวงจิตเราเห็นแล้ว สภาพของจิต คือกายที่ซ้อนกายของเขา ว่า คนนี้หากว่าเขาตายเวลานี้เขาจะไปไหน ก็ดูสภาพของเขาคือ กาย ในกายที่มันซ่อนอยู่กายอยู่ ถ้าเขาจะไปเกิดเป็นพรหม ภาพพรหมก็ปรากฎ ถ้าจะไปเกิดเป็นเทวดา ภาพเทวดาก็ปรากฎ ถ้าไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ภาพนั้น ๆ ก็ปรากฎ คนที่ได้ฌานเราจะรู้ได้ยังไง เราก็เอากำลังฌานของเราเป็นเครื่องวัด ว่าฌานของเราสูงกว่าหรือเสมอเขา ถ้าฌานของเราไม่แค่เขาเราก็รู้ของเรา เลยไปนั้นเรารู้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เป็นพระอริยเจ้า เราจะรู้เรื่องราวของพระอริยเจ้าไม่ได้เลย อย่าไปวัดกับท่านที่มีคุณธรรมสูงกว่า จะเป็นกรรมหนัก
ReplyDeleteปุพเพนิวาสนุสติญาณ การระลึกชาติได้ วิธีคือ เข้าฌาน ๔ แล้วก็ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เพ่งภาพกสิณแล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ แล้วถอยหลังออกมา แล้วก็ให้นึกถึงวันเวลาที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ เมื่อวานซืน เมื่อวันก่อน ปีก่อน ชาิตก่อน เป็นลำดับไป แล้วก็จะรู้เองระลึกชาติหนหลังได้ แต่ผู้ที่ได้ทิพยจักขุญาณแจ่มใส ทรงฌาน ๔ ได้แล้ว ไม่ต้องฝึก ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติได้มันปรากฎเอง
อดีตังสญาณ เรื่องราวในอดีต เรื่องราวในอดีตนี้ หมายความถึง คนอื่นและสถานที่ ว่าความเป็นมาเขายังไง ในชาตินี้และชาติก่อน ก็ใช้ทิพยจักขุญาณ
อนาคตัง ความเป็นไปในอนาคต ทั้งส่วนตัวของเราและบุคคลอื่น สัตว์และสถานที่
ปัจจุบันนังสญาณ เวลานี้ใครอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร อยู่ใกล้หรือไกล อยู่คนมากหรือน้อย มีความสุขหรือความทุกข์
ยถากัมมุตาญาณ รู้กฎของกรรม คนหรือสัตว์ในปัจจุบัน เพราะอาศัยกรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลอะไรในชาติก่อน หรือในชาตินี้ให้ผล คนที่ตายไปแล้วมีความสุขหรือความทุกข์อย่างใด อาศัยกรรมอะไรให้ผล
ญานต่าง ๆ เป็นเครือของทิพยจักขุญาณ โดยเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานข้อต้น เรียกว่า อานาปานบรรพ แล้วก็สามารถดัดแปลงให้เป็นวิชชาสามได้ ดูสิว่า ที่เรามา มีอะไรติดตัวมา เอาจิตมา จิตที่เป็นนามธรรมคือ กายที่เป็นนามธรรม มาสิงอยู่ในร่างกายในชาตินี้ ชาติก่อน ๆ เคยเป็นกษัตริย์ เป็นเศรษฐี เป็นยาจก ก็กลายมาเป็นยาจก มาเป็นเศรษฐีกันได้ ว่าเป็นอนัตตา เป็นอนุตตาจริงหรือไม่จริงเพียงใด ก็ถอยไปดูสภาพในชาติก่อน ๆ พิจารณาไปก็แลเห็นความจริง ว่าจริงไหม เราเกิดมาทิ้งร่างกายของเรามานับไม่ถ้วน เป็นคนเท่าไหร่ เป็นสัตว์เท่าไหร่ มีความสุขความทุกข์กันมาเท่าไหร่ เราทำอะไรก็ทำเพื่ออยู่แต่เราก็ไม่สามารถอยู่ได้ เมื่อเห็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตใจเลื่อมใสในคำสอน ปฏิบัิติเรื่อย ไป ในไม่ช้าสังโยชน์ ๓ สังโยชน์ ๕ สังโยชน์ ๑๐ ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้าก็สามารถกำจัดเสียได้
********************
การทำเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ยากจริง ๆ ก็คือ อานาปานสติกรรมฐานเท่านั้น ทำกันจนเข้าถึงฌาน เรื่องต่อไปนี้เป็นอารมณ์คิด ก่อนที่จะใช้อารมณ์คิดทุกครั้ง โปรดทำสมาธิจนถึงฌานให้เต็มที่ จะได้ระดับไหนก็ให้ถึงระดับนั้น แล้วปล่อยให้จิตสบายจึงค่อยใช้อารมณ์คิด ปัญญาจะเกิด นี่เป็นหลักการปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าใช้อารมณ์คิดแล้วจิตใจมักฟุ้งออกนอกลู่นอกทาง ก็ทิ้งอารมณ์คิดนั้นเสีย กลับมาจับอานาปานาสติใหม่ จนกระทั่งจิตสบายแล้วก็ใช้อารมณ์คิดต่อไป
ReplyDeleteกายานุปัสสนาสติปัฏฐานข้อนี้ ว่าด้วย อิริยาบถ คำว่าอิริยาบถ ก็คือ อิริยาบถ ๔ เรายืนอยู่ก็รู้ว่าเรายืน เดินอยู่ก็รู้ว่าเดิน นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่ง นอนอยู่ก็รู้ว่านอน เราทำกันอยู่เป็นปกติแต่เรามักจะไม่ได้เอาสติเข้าไปกำหนดรู้ ทีนี้เราต้องควบคุมสติให้มากขึ้น กำหนดรู้ว่านี่เรานั่ง นั่งท่าไหน เรานอน นอนท่าไหน เราเดิน เดินท่าไหน เรายืนยืนท่าไหน กายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานข้อต่อไป คือ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว ในตอนต้นตั้งแต่อานาปานสติ และอิริยาบถเป็นสติ คราวนี้ก็สัมปชัญญะ การรู้ตัว รู้ว่าเราตื่นหรือหลับ รู้ว่าเรากำลังเคี้ยว กำลังยืน กำลังเดิน คือทำความรู้ตัวไว้ทุกอิริยาบถ ทุกอาการ บางคนพูดแล้วก็ว่าไม่ได้พูด หรือจำไม่ได้ เรียกว่า ขาดสัมปชัญญะ
ต่อไปในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน คือ เรื่อง ปฏิกูล แปลว่า สกปรก โสโครก น่าเกลียด ไม่น่ารัก น่าสะอิดสะเอียน ได้กล่าวไว้ว่า ว่าข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุทั้งหลาย คือภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แหละ ตั้งแต่เบื้องบนลงมาถึงเบื้องเท้า ตั้งแต่เบื้องต่ำขึ้นไปถึงปลายผม ซึ่งหุ้มรอบไปด้วยหนังเต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาดต่าง ๆ ว่าในกายนี้มีดังนี้ คือ มีขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด น้ำ หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำมัน น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ว่าในร่างกายของเรามันมีอะไรบ้าง ที่เป็นตัวของเราขึ้นมา มีอะไรอยู่ในร่างกายเรา ที่มีหนังกำพร้าเป็นเครื่องหุ้มห่อ ตรงไหนที่สวย ตรงไหนที่น่ารักบ้าง ไม่มีเลย กายคตานุสติกรรมฐานที่เป็นการตัดราคจริต ถ้าใครพิจารณาได้จริง ๆ และเข้าถึงจริง ๆ เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายจริง ๆ เป็นเหตุให้เข้าถึงอนาคามีได้ง่าย เป็นกรรมฐานใหญ่ ค่อย ๆ พิจารณาไป ของที่ว่าสวยนั้น เมื่อมองไปที่ข้างในมีอะไรบ้างที่สวย เมื่อผ่าท้องออกมา มีอะไรบ้างที่งาม ของที่อยู่ในร่างกายเรา เมื่อออกมาข้างนอกมีใครต้องการบ้าง มีทั้งน้ำลาย ขี้ฟัน เสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะ ของทุกอย่างเหล่านี้อยู่ในร่างกายเราทั้งสิ้น แต่เมื่อออกมาแล้วไม่มีใครต้องการนำเข้าไปเลย ตัวเราเป็นแหล่งรวมของโสโครกต่าง ๆ อยู่ในร่างกายเราทั้งนั้น พิจารณาอย่างนี้ ชื่อว่าเห็นกายในกายตนเอง ส่วนกายของบุคคลอื่น ก็นึกดูว่า เขาเหมือนเราไม๊ สกปรกเหมือนเราไหม ของเราไม่ดี แล้วของเขาดีไหม ลองพิจารณาไปเรื่อย ๆ จิตไม่ค่อยดี ก็เข้าฌานเสีย หลับตาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาให้ใจสบาย แล้วหลังจากนั้นก็ถอยจิตมาคิดถึงปฏิกูลสัญญา หรือว่ากายคตานุสติกรรมฐาน จนจิตเข้าถึงความสังเวชสลดในใจในความรักในร่างกาย แล้วจะเกิดความเบื่อหน่าย จะเห็นความเป็นจริง ว่าร่างกายของเราก็ดี ของบุคลอื่นก็ดี มันเต็มไปด้วยความสกปรก เหมือนกับส้วมเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ ผู้หญิง ผู้ชาย ฆราวาส พระ มีสภาพเหมือนกัน จนกระทั่งอารมณ์เบื่อหน่ายปรากฎขึ้น เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้นิพพิทาญาณก็เกิด ความเบื่อหน่ายก็เกิด เกลียดการเกิดต่อไป อยากจะไปนิพพานเสียทันที
ReplyDelete********************
สำหรับกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานเหลืออยู่ ๒ ข้อ คือ ธาตุบรรพ ได้แก่ ธาตุ ๔ และนวสี ๙
ReplyDeleteธาตุบรรพ หรือว่าธาตุ ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุนี้อยู่ในกายของเราเอง มีธาตุรวมกัน คือ
ธาตุดิน ของแข็ง ได้แก่ หนัง เนื้อ กระดูก
ธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจ หรือว่าลมที่พัดไปมาในร่างกาย
ธาตุน้ำได้แก่ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ปัสสาวะ น้ำลาย
ธาตุไฟ ได้แก่ ความอบอุ่นในร่างกาย
ร่ายกายของเรามีธาตุ ๔ นี้เข้ามาประชุมกัน ธาตุบรรพนี้ตัดราคะจริตได้ คือตัดความเมาในธาตุ ๔ หรือรูปร่าง เราออกมาจากท้องมารดา ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งโสโครก เราเกิดมาจากเมือกตม อาการที่เราจะเกิดก็เกิดจากโสโครก ร่างกายเราจึงเต็มไปด้วยความโสโครก ธาตุที่มาประชุมกันนี้เป็นธาตุที่เต็มไปด้วยความโสโครก
ธาตุทั้งหลายถ้าสามัคคีกันดี ก็มีร่างกายที่ทรงอยู่ได้ ถ้าธาตุน้ำหย่อนไป ธาตุดิน ธาตุลม หรือธาตุไฟ หย่อนไป ก็เกิดการป่วย ไม่สบาย เพราะธาตุใดเสียไป แต่ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งดับไปสลายตัว ความอบอุ่นไม่มีก็ตาย ธาตุลมสลายตัว ความพัดไปมาไม่มี ธาตุน้ำสลายตัว ความชุ่มชื้นในร่างกายไม่มีก็ตาย ธาตุดินสลายตัวร่างกายถูกระเบิด หรือไฟไม้พังไปก็ตาย เรียกว่า ร่างกายเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกัน เมื่อเกิดขึ้น แล้วก็เสื่อมไป และสลายตัวไปในที่สุด อย่าเมาในธาตุทั้งสี่ ว่าทรงสภาพอยู่ และอย่าเมาว่าธาตุ ๔ ของเราและของคนอื่นว่าสวยสดงดงาม มีความแข็งแรง เพราะธาตุ ๔ มาประุชุมกันชั่วคราว แล้วก็มีการทรุดโทรมลงไปตามลำดับ แล้วมันก็พัง ถ้ามันพังแล้วเราจะไปหลงรักมันทำไม เตรียมกายเตรียมใจเพื่อพระนิพพาน
ReplyDeleteนวสีเก้า หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พิจารณาคนและสัตว์ที่ตายดีแบบ คือ ตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน เน่าอืดเฟ้อ เขียว หรือเป็นท่อนท่อนใหญ่ จนกระทั่งเหลือแต่กระดูก ในนวสี ๙ ในกรรมฐาน ๔๐ ท่านเรียกว่า อสุภกรรมฐาน เป็นการตัดราคะจริต ตัดตัวรักสวยรักงาม เรียกว่าตัดตัวเมาในร่างกายเหมือนกัน คนตายคนที่เรารักที่สุด ที่ต้องการมากที่สุด เมื่อตอนที่เขามีชีวิตอยู่ แต่พอเขาตายแล้วเรานึกรักไหม ตายแล้ว ๑ วัน ร่างกายเย็นเฉียบ ตาย ๒ วัน สีเขียวขึ้น มีกลิ่นตุ ๆ พอตายแล้ววันที่ ๓ ขึ้นอืด น้ำเหลืองเริ่มไหล พอตายแล้ววันที่ ๔ น้ำเหลืองไหลปรี่ วันที่ ๕ ที่ ๖ ลิ้นจุก ตาโปน วันที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ เละเลย น้ำเหลืองไหลทั่วตัว ร่างกายเละดูไม่ได้ น้ำเหลืองก็ไหลไป ๆ มีแต่ความเหือดแห้งแกร่งลง เหลือแต่น้ำเหลืองล้วน ๆ กระดูกเริ่มเรี่ยรายเป็นท่อน ๆ
ReplyDeleteศพเมื่อเดิมนั้น มีสภาพเหมือนเราหรือเปล่า แต่เมื่อตายไปแล้ว เรารังเกียจว่า สกปรก เพราะสิ่งโสโครก คืออาการ ๓๒ ที่ว่าในปฏิกูลบรรพ หรือกายคตานุสติกรรมฐาน หรือธาตุบรรพมันปรากฎ ของเขาเป็นยังไง ของเราเป็นยังไง ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในมรณานุสติกรรมฐาน ในกรรมฐาน ๔๐ ว่าเกิดแล้วมันตายทุกวัน ตายได้วันละหลายหมื่นครั้งหายใจออก ถ้าเราไม่หายใจเข้าก็ตาย หรือหายใจเข้าแล้ว ไม่หายใจออกก็ตาย ฉะนั้นเราหายใจเข้าทีหนึ่ง หายใจออกทีหนึ่ง เราก็ตายแต่ละครั้งตามลมหายใจ แต่เพราะการเกิดมันติดต่อกันไป เกิดดับ ๆ เป็นสันคติ คำว่า สันคติแปลว่า สืบเนื่องกัน เรียกว่า เราตายแบบปกปิด แต่เมื่อลมปราณมันไม่มี หายใจออกหรือหายใจเข้าก็ตาม หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า อันนี้ก็ตายอย่างสิ้นลมปราณ เรียกว่า ตายอย่างเปิดเผย เรียกว่า เราตายแน่ และถ้าเราตายแล้วจะเหมือนเขาไหม ร่างกายเราเหมือนเขาไหม ตายแล้วเหมือนเขาไหม น้ำเหลืองและสิ่งโสโครกออกมา ทางทวารบ้าง ข้างลำตัวบ้าง เมื่อตอนที่เรายังไม่ตายมันก็มีของมันอยู่ในร่างกาย ไหลออกมาตามช่อง ถ่ายเททีละเล็กทีละน้อย เพราะเรายังมีลมปราณ มีสติสัมปชัญญะ มีจิตเป็นเครื่องปกปิดบังคับบัญชาประสาท แต่พอตายแล้ว เมื่อจิตออกจากร่างกาย คนที่จะบังคับบัญชาประสาทต่าง ๆ ให้ปกปิดมันไม่มี คราวนี้มันก็ไหลตามสบาย
ReplyDeleteสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ นางศิริมาน้องสาวหมอชีวก โกมารทัตสวยมาก หาตัวจับไม่ได้ในเมืองราชคฤห์ เป็นคนรับแขกเมือง แขกเมืองมาจะเอาไปร่วมรักด้วย มีพระองค์หนึ่งเป็นพระบวชใหม่ ท่านไปบิณฑบาท ไปพบนางศิริมาใส่บาตรเข้าเกิดมีความรัก พอรักแ้วกินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดในใจว่าถ้าไม่ได้นางศิริมาเป็นคู่ครองเราก็จะตาย ยอมตายเสียดีกว่า แต่โอกาสที่จะได้นางศิริมาเป็นคู่ครองก็ไม่มี เลยไม่กินข้าว ๓ วัน อาหารที่บิณฑบาตได้ก็ไม่กิน ปล่อยให้บูดคาบาตร แล้วท่านเองก็อยู่ในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็รู้ แต่ก็ปล่อย ไม่ว่าอะไร ไม่ถึงเวลาจะว่า แต่ยังไม่ถึงเวลา ไม่ได้กินข้าวมา ๓ วัน นางศิริมาตาย พระเจ้าพิมพิสารส่งข่าวให้พระพุทธเจ้าทราบ ท่านบอกให้ปล่อยไว้อีก ๓ วัน ตถาคตจะไปเยี่ยมศพ พอถึง ๓ วัน ปรากฎว่าศพขึ้นอืด พระพุทธเจ้าก็บอกกับพระอานนท์ ว่าจะไปเยี่ยมนางศิริมา ไม่ได้บอกว่าจะไปเยี่ยมศพ พระยังไม่รู้ ให้ปิดข่าวไว้ ว่าใครจะไปกับเรา พระทังหมดจงไปกับเรา พระองค์นั้นพอได้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าจะไปเยี่ยมนางศิริมาก็ดีใจ ได้เห็นหญิงที่ตนรัก พอไปถึงนางศิริมาขึ้นอืด ตาปลิ้นแล้ว พระพุทธเจ้าให้พระเจ้าพิมพิสารประกาศแก่ประชาชนว่า เราจะยกศพให้แก่ประชาชน ใครจะรับบ้าง เพราะเป็นคนสวยอยู่ก่อน สมัยมีชีวิตมีแต่คนต้องการ แต่ตอนนี้หาคนต้องการไม่ได้ ก็ขึ้นราคา ว่าให้ศพด้วย และให้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะ ก็หาคนรับไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เท่านี้ เพื่อให้พระองค์นั้นทราบว่าร่างกายของคนที่เห็นว่าสวยสดงดงาม ความจริงมันไม่สวยจริง พอดีพระองค์นั้นได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัส และชี้เหตุผลให้ดูตัวบุคคลที่สวยแล้วกลับไม่สวย มีน้ำเหลืองเฟะอย่างนั้น ก็ปรากฎว่า เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย ได้สำเร็จอรหัตตผลในวันนั้น
ReplyDelete********************