Thursday, 31 May 2012
การปฏิบัติอยู่ในมรรคสัจ
การปฏิบัติอยู่ในมรรคสัจ คือ
ท่านต้องมีศีล
ท่านต้องมีสมาธิ
ท่านต้องมีปัญญา อย่างนี้ในมรรค 8 ก็รวมกันแล้วเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค 8 คือปฏิปทาให้เข้าถึงความดับทุกข์ คือเข้าถึงนิโรธ นิโรธสัจก็เหมือนกัน เป็นตัวผลนะขอรับ หมายความว่าคนกินข้าวอิ่มแล้วจะมาพูดกันเรื่องกินอะไรกันอีก มันกินอิ่มแล้วไม่ต้องพูดกัน นิโรธไม่มีอาการเป็นอย่างอื่น มันตัดเสียแล้ว กิเลสหมดแล้วก็หมดกันไป ว่าที่เราปฏิบัตินี่เพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อนิพพานกัน ไม่ใช่ทำเพียงอุปนิสัย อย่าคิดว่าพอบวชเข้ามาแล้ว ก็ทำเสียหน่อยหนึ่ง หรือบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทประกาศตัวเป็นพุทธสาวกเสียแล้ว ก็ทำเสียนิดหนึ่ง ไม่ถึงความดีอะไร เราจะไปพระนิพพาน กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดที่ทำให้คนเข้าถึงนิพพานไม่ได้มันมีอยู่ 10 อย่าง นี่เราปฏิบัติกันยังก็ตามนะครับ ถ้าไม่รู้ไอ้สิบตัวนี้แล้วเข้านิพพานไม่ได้ เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ก็เป็นไม่ได้สักอย่าง นั่นก็คือสังโยชน์ 10
การเจริญมหาสติปัฏฐานต้องทบทวนตลอดเวลา แล้วก็ใช้อารมณ์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เวลาไหนควรใช้อานาปานสติ เวลาไหนควรใช้อิริยาบถ เวลาไหนควรใช้สัมปชัญญะ เวลาไหนควรใช้ปฏิกูลสัญญาธาตุ 4 นวสี 9 หรือว่าเวทนา จิตตา ธรรมา ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นกิจประจำวันไป หมายความว่า ทำเป็นกิจประจำวันนะครับ วันหนึ่งจงอย่าว่าง ใช้อารมณ์ตามสมควร ถ้าความรักความเมามันเกิดขึ้นมาก็ใช้ปฏิกูลสัญญาบ้าง ธาตุ 4 บ้าง นวสี 9 บ้าง แล้วก็ดู ถ้ามันเกิดความกลุ้มขึ้นมา เกิดความดีใจขึ้นมา ก็ดูจิต ดูจิตนะขอรับ แล้วก็ดูเวทนา แล้วก็ละนิวรณ์ พิจารณาขันธ์ 5 แล้วก็ทรงโพชฌงค์ 7 ตลอดเวลานะขอรับ แล้วก็มาว่าอริยสัจนี่ก็ควรจะทรงตลอดเวลาเหมือนกัน
ทีนี้ มาจับจุดกัน ทำให้คล่องนะครับ นึกให้คล่อง ทำให้คล่องให้เป็นปกติ ต้องคล่องเสียก่อนนะครับ แค่จบยังไม่ได้อะไร ตอนนี้ก็มาจับจุดกันว่าสังโยชน์ 10 กิเลสเครื่องร้อยรัด ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมีอะไรบ้าง จับตัวมันให้ได้
ตัวที่ 1 ก็สักกายทิฏฐิ เป็นกิเลสตัวที่ 1 ที่เมามันเห็นว่าอัตภาพร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา เมาชีวิตคิดว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขาตัวหนึ่งละครับ
ตัวที่ 2 สงสัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างบรรดานักปราชญ์ทั้งหลายสงสัยพระสูตร และชาดกสมัยนี้
ประการที่ 3 สีลัพตปรามาส โกหกศีล โกหกพระ ไปรับศีลมาแล้วไม่ปฏิบัติเห็นศีลเป็นเครื่องเล่นไป ว่าส่งเดช
ประการที่ 4 เมาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เรียกว่ากามคุณนะขอรับ กามฉันทะ
ประการที่ 5 เมาในความโกรธ ความพยาบาท อยากจะเป็นคนเด่นในด้านความโกรธ ความพยาบาท อยากจะเป็นคนเก่ง
ประการที่ 6 รูปราคะ เมาในรูปฌาน
ข้อที่ 7 อรูปราคะ เมาในอรูปฌาน
ข้อที่ 8 มานะถือตัวถือตนว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา
ข้อที่ 9 มีอารมณ์ฟุ้งซ่านนอกรีดนอกรอย
ข้อที่ 10 ความรู้ไม่ครบ คือรู้ผิด รู้นอกลูกนอกทาง อวิชชานี้ไม่ใช่ไม่รู้นา คนและสัตว์ที่เกิดมาแล้วนี้รู้หมด ต่างคนต่างมีความรู้ ต่างคนต่างมีความคิด แต่ว่าจะรู้ตรงรู้ถูกตามที่พระพุทธเจ้าประสงค์หรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่ารู้ไม่ตรงความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่ารู้ผิด ผิดจากอะไร ผิดจากทางพระนิพพาน
นี่เป็น 10 ประการด้วยกันนะขอรับ ทีนี้ เราเป็นนักปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน จะเข้าถึงมรรคถึงผลก็อย่ากระโจนกลาง อย่ากินช้างทั้งตัว จงอย่าคิดว่าเราจะเอาอรหัตผลภายในวันนี้ ปฏิบัติทีเดียวจะเข้าถึงอหัตผล จงอย่าคิดอย่างนั้นนะขอรับ คิดอย่างนั้น มันกินช้างคำเดียวหมดตัว มันใช้ไม่ได้ แต่บังเอิญถ้าเราจะได้ละก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ท่านทำกันก็ได้อรหันต์เลย เรียกว่าผ่านโสดา สกิทาคา อนาคา เพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วได้อรหันต์เลยก็มีถมเถไป แต่ว่าท่านก็เริ่มต้นน้อยอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าอารมณ์เข้มข้นอารมณ์เข้มข้นมันก็ได้ของมันเอง แล้วก็การบรรลุอรหัตผลก็มีตั้งหลายแบบหลายแผนนะขอรับ ไม่ใช่ว่าต้องเฉพาะมหาสติปัฏฐาน 4 เสมอไป แบบแผนที่เขาได้อริยมรรค แต่ว่านี่เราว่ากันเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรนี่ขอรับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ขั้นแรก เราก็จับสังโยชน์สามก่อน เพื่อความเป็นพระโสดาและสกิทาคา สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส อันนี้ถ้าได้อย่างหยาบ เป็นพระโสดาบัน ถ้าได้อย่างละเอียดลงไป เป็นพระสกิทาคามี หนึ่งสักกายทิฏฐิ ความเมาในชีวิตเราก็ตัดเสีย ว่าอัตภาพร่างกายนี่มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของเรา ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ ฟันหรือเป็นของเรา หรือว่าตาเป็นของเรา เนื้อหรือว่ากระดูก เส้นเอ็นเป็นของเรา เป็นจริงหรือขอรับ เวลาฟันมันจะปวด ห้ามปวดได้หรือเปล่า เวลาฟันมันจะหัก ห้ามหักได้หรือเปล่า เวลาผิวมันจะคล้ำ ห้ามคล้ำได้หรือเปล่า เวลาความแก่มันเกิดขึ้น จะห้ามแก่ได้ไหม อารมณ์ของเราเวลาจะกลุ้ม ห้ามกลุ้มได้หรือเปล่า ผมเวลาจะหงอก ห้ามหงอกได้หรือเปล่า อะไรก็ตาม ผลที่สุดมันจะป่วยไข้ไม่สบาย ห้ามได้หรือเปล่า พระคุณเจ้าที่กำลังนั่งฟัง ใครห้ามได้บ้างขอรับ คนที่ฟังอยู่นี่ทั้งพระทั้งฆราวาสที่ฟันหลอ ๆ มีตั้งเยอะนั่นท่านเต็มใจให้มันหลุดไป หรือว่ามันหลุดของมันเองขอรับ หรือท่านที่กำลังผมหงอกก็มีเยอะ หรือหัวล้านอย่างผมนี่ก็มี คนผมหงอกคนหัวล้านน่ะ อยากให้มันหงอกอยากให้มันล้านหรือเปล่าขอรับ เปล่า ไม่มีใครอยากให้เป็นอย่างนั้น ในเมื่อไม่อยากให้เป็น มันก็เป็นของมันเอง แล้วมันจะเป็นของเราได้ยังไง ห้ามปรามมันไม่ได้ หากกฎอนิจจังไม่เที่ยงทุกขัง ในเมื่อผลมันเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าเราฝืนมันก็เป็นทุกข์ อนัตตา ในที่สุดเราก็ห้ามมันไม่ได้ ปลงใจเสีย นึกว่าอย่างน้อยที่สุดมันเป็นอย่างนี้ อย่างมากที่สุดมันต้องตาย แล้วอัตภาพร่างกายเราเป็นอย่างนี้ ทรงอย่างนี้มาทุกชาติทุกภพ ร่างกายแต่ละชาติ ๆ ที่มันมาเกิดนี่ มันไม่ตามเรามา แล้วยังจะคิดว่ามันเป็นพวกของเราอยู่หรือขอรับ ไม่ต้องทิ้งมันหรอก มันก็ทิ้งเราเอง ไม่ต้องฆ่ามัน มันก็ตายของมันเอง ไม่ต้องประทุษร้ายมัน มันก็เจ็บมันก็ปวดของมันเอง ไม่ต้องทรมานมันมันก็แก่ของมันเอง เห็นไหมขอรับ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็จะเป็น แล้วมันจะเป็นเราเป็นของเราได้ยังไง จะมัวเมาไปถึงไหนล่ะขอรับ ถ้าปลดความเมามัวตัวนี้เสียได้อย่างเบาๆ คิดว่าเรามันต้องตายแน่ อัตภาพร่างกายนี้เราไม่ห้าม ความเศร้าโศกเสียใจ ความเหือดแห้งใจย่อมไม่ใคร่จะมี มีเหมือนกัน ไม่ใคร่จะมีกับสังขาร และในเมื่อเราไม่เมาในสังขาร เชื่อพระพุทธเจ้าในข้อนี้แล้ว
ReplyDeleteก็เชื่อว่าสังโยชน์ข้อที่ 2 ได้ด้วย เรียกว่าไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะเห็นคล้อยตามแล้วสังโยชน์ตัวที่สองไม่ต้องหายไปไหน ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าเราจะตาย จะตายแล้วก็จิตกับว่างจะจากกัน ไอ้ความดีความชั่วเท่านั้นที่จะนำไป เมื่อเห็นสังโยชน์ตัวที่ 1 แล้ว สังโยชน์ตัวที่ 3 ก็พลอยได้ด้วย ในเมื่อเราจะตายแล้วจิตจะนำความดีหรือความชั่วไปด้วย เมื่อนำความชั่วไปก็มีแต่ความทุกข์ระทม เมื่อนำความดีไปมันก็มีแต่ความสุข เมื่อเชื่อตัวต้นแล้วตัวที่ 3 ก็เชื่อด้วย เพื่อพระพุทธเจ้าว่าการรักษาศีลเป็นของดี ก็เลยทรงอยู่ในศีลในธรรม ศีล 5 ประการ สำหรับฆราวาส ศีล 227 สำหรับพระ ศีล 10 สำหรับเณรเป็นของง่าย ก็เลยไม่อยากให้ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย นี่ถ้าเชื่อจริง ๆ นะ เป็นได้ขนาดนี้ มันได้ไปในตัว ได้สักกายทิฏฐิตัวเดียวก็ได้ พอเชื่อจริง ๆ ความมั่นปรากฏเห็นอัตภาพร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้แล้ว ความมั่นใจในการปฏิบัติก็ปรากฏ ความเยือกเย็นใจก็ปรากฏ อย่างนี้แล้วอารมณ์ก็จะเข้าถึงพระนิพพาน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องธรรมดาไปหมด ความแก่ก็ธรรมดา ความเจ็บไข้ไม่สบายก็ธรรมดา ความพลัดพรากจากของรักก็เป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ค่อยสะเทือน มันสะเทือนเหมือนกันแต่ก็สะเทือนน้อย เวลาร่างจะตายจริง ๆ ก็รู้สึกว่าเป็นธรรมดา ถูกชาวบ้านด่าก็นึก เออ เป็นธรรมดาของคนในโลก นัตถิ โลเก อนินทิโต คนที่เกิดมาในโลกแล้วไม่มีใครนินทา ไม่มีใครด่า ไม่มีใครว่าร้ายไม่มี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังถูกเขาด่า เป็นยังงั้น ตัวธรรมดาก็เข้ามาถึงแล้ว มีจิตใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ คิดว่านี่เราจะอยู่ เราจะเวียนว่ายตายเกิดไปในวัฏฏสงสารเพื่ออะไร ไม่เกิดประโยชน์ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ไปพระนิพพานดีกว่า
ReplyDeleteพระนิพพานเป็น เอกันตะ บรมสุข ตอนนี้ ท่านเรียกกันว่าโครตภูญาณ ชื่อว่าจิตอยู่ในระหว่างโลกีย์กับโลกุตตระ จะเข้าถึงความเป็นพระแล้วพระโสดากำลังมา นี่เรียกว่าแขนขวายึดพระโสดาไว้ แขนซ้ายยึดกฎของโลกไว้ อารมณ์ของโลกไว้ เมื่อทำไป ๆ ปลงจิตสักกายทิฏฐิตัวเดียวแหละ ในที่สุดมันก็ปล่อยมือไปกอดพระโสดาบันเข้าไว้ เราจะรู้ได้มันเป็นของไม่ยาก ที่เรียกกันว่าศีลห้าของเราไม่บกพร่อง เราไม่มีเจตนาจะฆ่าสัตว์ จะลักทรัพย์ จะประพฤติผิดในกาม จะกล่าวมุสาวาท จะดื่มสุราเมรัย ความมั่นคงปรากฏ อารมณ์ ถือมงคลตื่นข่าวไม่มี ใครเขาว่าดีที่นั่น ใครเขาว่าดีที่นี่ เที่ยวฮือไปที่นั่น ฮือมาที่นี่ไม่มี เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแล้ว เกาะพระพุทธเจ้าก็ได้ เกาะพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ เกาะพระอริยเจ้าก็ได้ ทีนี้เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบันแล้วก็พิจารณาสักกายทิฏฐินั่นแหละขอรับ ให้หนักขึ้น ให้อารมณ์ปลงมากขึ้น ปลงจนเห็นโทษจากกามคุณนะ เห็นโทษจากความโกรธ ความพยาบาท เห็นโทษจากการยึดมากขึ้น อารมณ์ก็จะเบาลง เบาลงจนกระทั่งความรู้สึกในกามเกือบจะไม่มี ผมใช้คำว่าเกือบจะไม่มีนะขอรับความจริงมันมีแต่มันก็เล็กนิดเดียว บางมาก เบามาก ถ้าจัดเป็นไม้ก็จัดว่าเป็นเยื่อไม้ ปกติที่เห็นวัตถุ เห็นคน เห็นสัตว์ ไม่เกิดความรัก ไม่เกิดความปรารถนา แต่ว่าเวลาจิตสงัดบางครั้งมันมีความปรารถนา อย่างนี้เรียกว่ากามารมณ์เป็นเพียงแค่อนุสัยนะขอรับ นิดหนึ่งเกิดขึ้นบางขณะก็เชื่อว่ายังมี ทีนี้ความโกรธความพยาบาทก็เหมือนกัน มันยังไม่สิ้นไป แต่มันเบาเกือบจะไม่มีอาการกระทบกระทั่งปรากฏ ไม่ชอบใจปรากฏ แต่ก็หายไปเอง ส่วนโมหะก็เหมือนกัน ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู มันเบาลง เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องจากกันทั้งนั้น มันต้องสลายตัวทั้งนั้น
ReplyDeleteแต่ความรักในวัตถุยังมีอยู่ แต่ไม่ถึงกับอาลัยหมายความว่ามันหมดไปก็หมดไปไม่เดือดร้อน มันมีอยู่ก็ใช้มันไป รักษามันไป จนกระทั่งเป็นเครื่องสังเกต ในด้านกามฉันทะสังเกตง่าย บางคราวจนเกือบจะคิดว่าเรานี่เป็นพระอนาคามี ความรู้สึกทางเพศมันไม่มี แต่บางมีพอเผลอ ๆ มันโผล่หน้า นาน ๆ มาที อาการอย่างนี้เป็นพระสกิทาคามีนะขอรับ ละสังโยชน์ได้สาม อันนี้ถ้าตายแล้วเกิดเป็นเทวดาก็นิพพานในเทวดา สำหรับพระโสดาบัน ถ้าอย่างอ่อนที่เรียกว่า สัตตะขัตตุง ก็ต้องเกิดอีก 7 ชาติเป็นอรหันต์ ถ้าอย่างกลางเป็น โกลังโกละ 3 ชาติเป็นอรหันต์ ถ้าอย่างเก่งก็เป็นเอกะพีซี เกิดอีกชาติเดียวเป็นอรหันต์ เกิดเป็นมนุษย์นะขอรับ แต่ว่าสำหรับพระสกิทาคมี ถ้าตายแล้วเป็นเทวดาก็ดี เป็นพระพรหมก็ดี ก็นิพพานบนโน้นเลยขอรับ ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานอีก พระโสดาก็เหมือนกัน ตั้งแต่โสดาบันขึ้นมาย่อมปิดอบายภูมิคือไม่เกิดในนรก ไม่เกิดเป็นเปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน นี่เป็นยังงี้นะขอรับ ไม่ยากนะขอรับ เวลาพิจารณาสักกายทิฏฐิก็อย่าลืมทุกข์ข้อในมหาสติปัฏฐานสูตร เอามาเป็นเครื่องประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพชฌงค์ 7 อย่าทิ้งนะขอรับ ถ้าทิ้งแล้วก็เสียท่า ทีนี้มาตอนเป็นพระอนาคามีทำยังไง กามฉันทะมันเหือดไปแล้วนี่ขอรับ ก็มาทำลายกามฉันทะด้วยการพิจารณาร่างกาย คือสักกายทิฏฐิว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราแล้ว ร่างกายคนอื่นทำไมจะมาถือว่าเป็นของเราอีก จะไปนิยมชมชอบอะไร หันไปพิจารณาในปฏิกูลบรรพและอสุภกรรมฐาน นวสี 9 นะขอรับ จะเห็นว่าภายในมันเละไปหมด พอตายแล้วก็เละใหญ่มันน่ารักน่าชมตรงไหน ในที่สุดจิตก็จะวางเสียได้เลย เพราะได้สกิทาคามีแล้วมันเหือดไปมากแล้วกระทบอีกนิดเดียวก็หมดไป
ReplyDeleteส่วนโทสะก็เหมือนกัน เพราะตอนอนาคามีมันเลาแล้วจับเมตตาบารมีขึ้นตั้งนะขอรับ จับเมตตาขึ้นตั้งไว้ความดีความชั่วที่เขาทำก็เพราะเขาปรารถนาดี ที่ทำไปไม่ถูกต้องก็เพราะการหลงผิด กิเลสเข้ามาสิงใจ จิตคิดเป็นอภัยทาน เพียงเท่านี้ก็ได้พระอนาคามี แต่ยึดสักกายทิฏฐินั่นแหละ เราจะตายอยู่แล้ว เราป่วยอยู่แล้ว เราเจ็บอยู่แล้ว เราทรุดโทรมอยู่แล้ว หัวล้านแล้ว หัวหงอกแล้ว ฟันหักแล้ว มันเป็นของมันเอง ไม่ใช่เขาด่า เขาว่า เขากระทบกระทั่ง เห็นแล้วไม่น่าจะโกรธเขา เขาจะโกรธเราขนาดไหนก็ตาม เขาจะว่าเราขนาดไหนก็ตาม เขาก็เหมือนเรา ในที่สุดเขาก็ตาย เขาก็ถูกทรมานจิตใจของเขาเอง เราจะไปยุ่งอะไร จิตมันก็วางได้ วางได้ขนาดนี้ก็เป็นพระอนาคามี พอถึงอนาคามีแล้ว ความเมาในรูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี มันก็น้อยลง เราก็เห็นแล้วว่าพระนิพพานมีความสำคัญ จิตมันก็ข้ามไปแล้ว มันไม่เมาแล้วนะขอรับ ที่นี้เหลือตัวถือตัวถือตน คือมานะที่คิดว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา มันยังมีอยู่บ้าง เราก็ตัดลงไปเสียว่ามันแค่ตายเหมือนกัน ไม่มีอะไร แค่ตายเหมือนกัน ใครแค่ไหนก็ตาม ไม่ดีไม่เลวกว่ากัน ต่างคนต่างตาย มันเป็นกฎของกรรม ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว เรื่องของกรรมไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัด มานะแล้วก็มาอุทธัจจะ คนที่คิดเป็นกุศลตอนนี้กุศลไม่มี แต่ว่ามันนอกทางพระนิพพานไป ก็หวนกลับเข้ามาจับสักกายทิฏฐิตามเดิม พอตัดตัวอุทธัจจะเสียได้แล้วอวิชชาไม่ต้องตัดนะขอรับ มันมีปัญญาขึ้นมาเอง ปัญญามันมีขึ้นตามลำดับแล้ว พอตัดอุทธัจจะได้หมดแล้ว ตัวปัญญาเต็มที่ก็ปรากฏ อวิชชาก็หายไป อย่างนี้ก็เป็นพระอรหัตผล
ReplyDelete********************
ในมหาสติปัฎฐานสูตรอันดับแรกที่องค์พระพุทธเจ้าทรงหยิบเอาอานาปานุสตติกรรมฐานขึ้นมาก่อน ถ้าไม่ดีแล้วก็คงไม่ยกนำมาเป็นอันดับแรกก่อนกรรมฐานกองอื่น สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน หมายถึงการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ ให้เอาใจกำหนดจับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปกติ จิตไม่มีเวลาว่างจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่มีอารมณ์เลวเกิดขึ้น ไม่มีอกุศลใด ๆ แทรกเข้ามาได้ ขณะใดที่ใจยังตื่นอยู่ แม้ตาจะหลับให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเสมอ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออกในด้านของสติปัฏฐานสี่ แม้เวลาพูดคุยกัน จิตใจก็กำหนดลมหายใจเข้าออกไปด้วย แม้ใหม่ ๆ อาจจะลืมบ้าง แต่ต้องตั้งใจไว้ทรงสติไว้ว่าเราจะหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวก็รู้อยู่ แม้พระอรหันต์ก็ไม่ทิ้งลมหายใจ แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า "สารีบุตรดูก่อน สารีบุตรเราเองก็เป็นผู้มากไปด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน" คำว่า "มาก" ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร คือเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดของจิตใจ และเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดทางร่างกาย มีทุกขเวทนา เป็นต้น เราทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ก็เหมือนกับคนฉีดมอร์ฟีน เป็นยาระงับ ระงับเวทนา อานาปานุสติกรรมฐานจงทำให้มาก จงอย่าละ ถ้าใครแสดงอาการเลว แสดงว่าคนนั้นทิ้งกำหนดลมหายใจเข้าออก
ReplyDeleteถ้าการกำหนดลมหายใจเข้าออกว่างเกินไป ก็ใช้คำภาวนาควบ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปกติ ทำให้เกิดฌานสมาบัติ ตั้งใจไว้เสมอไม่ว่า นั่ง นอน กิน เดิน คุย อย่างเลวที่สุดระยะต้นภายใน ๑ เดือนจะทรงฌาน ๔ การปฏิบัติก็จะเป็นผลโดยไม่ยุ่งกับอำนาจของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้ทรงฌานจะไม่มองดูความดีและความเลวของคนอื่น ไม่ติใคร จะมีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีคุณ
ReplyDeleteขอจงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบคู่กับการภาวนา "พุทโธ"
จะใช้กรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตามจงใช้กรรมฐานกองนั้นให้ถึงอรหัตตผล ขอเพียงให้มีกำลังใจเข้มแข็ง กำลังใจดูตัวอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งก็ตามที ชีวิตอินทรีย์ของเราจะสลายไปก็ตาม ถ้าไม่สำเร็จพระสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้"
ในการปฏิบัติในตอนแรกเราอาจจะรู้สึกว่ายาก คำว่า "ยาก" เพราะว่ากำลังใจของเรายังไม่เข้มแข็ง เพราะใจของเราหยาบมาก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน เพื่อดับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ต่อไปจะเจริญสมถะกองไหนก็ตาม หรือวิปัสสนากองใดก็ตาม จะเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ อันดับแรกของให้ทำอานาปานุสสติกรรมฐานถึงฌาน ๔ ความกลุ้มจะเกิดนิดหน่อยเพราะใหม่ ๆ จะทำให้ใจทรงอยู่ ก็คงจะคิดไปโน่นไปนี่ ก็อย่าเพิ่งตกใจว่าเราจะไม่ดี ถ้าบังเอิญเราทำกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบพุทธานุสสติกรรมฐาน ไปได้สัก 1-2 นาที จิตนี้เกิดอารมณ์พล่าน แล้วต่อมามีความรู้สึกตัว ว่า "โอหนอ นี่ใจเราออกไปแล้วหรือ" เราก็ดึงอารมณ์เข้ามาที่อานาปานุสสติกรรมฐานควบคู่กับพุทธานุสสติกรรมฐานใหม่ การทำอย่างนี้จงอย่าทำเฉพาะเวลา พยายามใช้เวลาตลอดวันไม่ว่าจะทำอะไรที่ไหน อย่างไร ใช้เวลาเป็นปกติ เวลาพูดรู้ลมหายใจเข้าออกได้หรือไม่ เวลาทำงานก็รู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย ลืมบ้างไม่ลืมบ้าง ขอให้มีความตั้งใจของจิต ควรจะตั้งเวลาทรงฌานไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในขณะที่จิตของท่านเข้าถึงฌานด้วยอำนาจของพุทธานุสสติกรรมฐาน หรือด้วยอำนาจของอานาปานุสสติกรรมฐาน
ReplyDeleteเวลาที่พอจะภาวนาได้ หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" ถ้าพูดไม่ได้ก็ใช้แต่อานาปานุสสติกรรมฐาน งานก็จะไม่เสีย เพราะอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ที่ละเอียด ขณะที่จะคิดงานก็วางอานาฯ ครู่หนึ่ง ใช้การคิดพิจารณา แต่ความจริงคนที่คล่องแล้วเค้าไม่ทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะขณะที่ใช้นั้นใช้ต่ำ ๆ แค่อุปจารสมาธิ ตอนนั้นอารมณ์เป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์จิตเป็นทิพย์ปัญญาก็เกิด เมื่อปัญญาเกิด งานที่ทำก็ไม่มีอะไรยาก
ReplyDeleteการตั้งเวลา จะใช้การนับก็ดี หายใจเข้าหายใจออก นับเป็นหนึ่ง ถึงสิบ และตั้งจิตไว้ว่า ตั้งแต่ 1-10 นี้จะไม่ยอมให้อารมณ์แวบไปสู่อารมณ์อื่น ถ้าไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อใดเราจะตั้งต้นใหม่ทันที และถ้า 1-10 แล้วอารมณ์จิตดี เราก็ไม่เลิก ตั้งต่อไปอีก 10 เมื่อถึง 10 ยังดีอยู่ เราก็ยังไม่เลิกต่อไปอีก 10 ในระยะใหม่ ๆ เรายังควบคุมไม่ได้ ก็ใช้กำลังใจของสมเด็จพระบรมครูมาใช้ เราก็จงคิดว่า ถ้า 1-10 นี้ไม่ได้ ก็จะให้มันตายไปซะเลย เมื่อนาน ๆ ไปไม่ถึงเดือนก็ต้องได้เลยสิบ
จิตทรงอารมณ์อานาปานุสสติกรรมฐานแล้ว อารมณ์อื่นก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ความหยาบในจิตใจหมดไป มีแต่ความละเอียด ก็จะมีความตั้งใจในการปฏิบัติงาน พยายามใช้กำลังใจให้อยู่ในขอบเขต ทำไม่ได้ถือว่าให้มันตายไป เวลานอนก่อนจะนอนก็จับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติแล้วก็หลับไป ตื่นใหม่ ๆ จะลุกหรือไม่ลุกก็ตาม ใช้อารมณ์ใจให้ถึงที่สุดทุกวัน
*************************