Sunday, 3 June 2012

อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5

อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5 1.สีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ 5วิมุตติญาณทัสสนาขันธ์ -------------------------------------------------------------------------------- คำว่า ธรรมขันธ์ อาจจะแปลว่า หมวดแห่งธรรม หรือกลุ่มแห่งธรรม ซึ่งในบางแห่ง ท่านเรียกอริยธรรม คือธรรมที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเน้นมากก่อนจะปรินิพพาน เป็นการสรุปธรรมะลงในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารธรรม ธรรมะที่เป็นแก่นสารที่แท้จริง การทำจิตของตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นเป้าหมายในการประพฤติปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา แต่กว่าจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ จำเป็นจะต้องประพฤติปฏิบัติไปตามขั้นตอนที่ทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เรื่องของไตรสิกขาซึ่งเป็นตัวเหตุใหญ่ 1.สีลขันธ์ คือหมวดของศีลนั้น ได้แก่การประพฤติปฏิบัติ เช่น การสำรวมในปาฏิโมกข์ คือ บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้ เว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต อินทรีย์สังวร การสังวรระวังในอินทรีย์ของตน เวลาตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง และแม้แต่ใจ จะเหนี่ยวนึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ปล่อยให้ความยินดียินร้ายครอบงำใจจนเกินไป โภชเน มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภคภัตตาหารไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป หรือว่าการเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบไม่หลอกลวงฉ้อโกงเขามาเลี้ยง นี้ก็จัดเข้าในหมวดของสีลขันธ์ หรือพูดโดยนัยหนึ่ง วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ จัดเป็นสีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ การบำเพ็ญเพียรทางใจ เช่น ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรเป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปจาการเจริญสมถกรรมฐานในชั้นต่าง ๆ ตามที่ทรงแสดงเอาไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติตามหลักของอริยมรรคคือ สัมมาวายามะ ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นในทางที่ชอบ ก็จัดเป็นสมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ หมายถึงการใช้ปัญญาเพ่งพินิจพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ธัมมวิจยะ การพิจารณาสอดส่องธรรมเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะเหล่านั้นตามความเป็นจริง วิปัสสนา การมองรูปนามให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จนสามารถถ่ายถอนบรรเทาความยึดติดว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเราลงไปได้ หรือแม้แต่ กัมมัสสกตาญาณ คือ ความรู้ถึงการที่สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของ ๆ ตน ต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ก็จัดเข้าในกลุ่มปัญญาขันธ์ อีกนัยหนึ่งคือ ความสมบูรณ์ของสัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เป็นปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ เมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือองค์อริยมรรคสมบูรณ์ก็เกิดญาณความรู้ในอริยสัจตามความเป็นจริงขึ้นมา คือรู้ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ซึ่งเรียกว่า สัจจญาณ รู้ว่าทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรเจริญ เรียกว่า กิจจญาณ รู้ว่าทุกข์ที่ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัย ที่ควรละ ได้ละแล้ว นิโรธที่ควรทำให้แจ้ง ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ควรเจริญ ก็ได้เจริญแล้ว เรียกว่า กตญาณ เมื่อญาณทั้ง 3 นี้สมบูรณ์ ก็เรียกว่า สัมมาญาณะ คือความรู้ในทางที่ชอบก็บังเกิดขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติก็จะเป็นสัมมาวิมุตติ คือ หลุดพ้นในทางที่ชอบ อันเป็นวิมุตติขันธ์ 5.วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือความรู้ความเห็นในวิมุตติ ที่ปรากฏเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ ดังที่ท่านแสดงเอาไว้ว่า เมื่อพระอริยบุคคลบำเพ็ญเพียรไปโดยลำดับ ก็จะเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็ก็จะวิมุตติ คือหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่า เราหลุดพ้นแล้วดังนี้ และรู้ต่อไปว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ คือ ความประพฤติปฏิบัติเพื่อละความชั่ว ประพฤติความดีก็สมบูรณ์แล้ว กิจที่จะต้องทำต่อไปก็ไม่มี กิจในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่มีเหมือนกัน ดังนั้นความรู้สึกที่เกิดผุดขึ้นในลักษณะนี้ เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ ธรรมหมวดนี้ บางครั้งก็อาจจะเรียกว่า สารธรรมทั้ง 5 หรือเรียกว่า อริยธรรม 5 ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะพระธรรมที่บุคคลจะต้องประพฤติทั้งหมด สรุปรวมลงที่ ศีล สมาธิ ปัญญา ผลแห่งการทำความดีทั้งหมดรวมลงในกลุ่มของวิมุตติ คือ จิตหลุดพ้นจาก กิเลส ทุกข์ ตามสมควรแก่ฐานะของตน ความรู้เห็นในความหลุดพ้นที่จิตของตนก็จะเกิดขึ้นแก่เขาได้โดยอัตโนมัติตามควรแก่ฐานะเช่นเดียวกัน ธรรมขันธ์ 5 จึงเป็นมรรคสัจกับนิโรธสัจ เมื่อเข้าถึงความสมบูรณ์ก็จะทำหน้าที่ดับ สมุทัยอริยสัจ กับทุกขสัจ เข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือนิพพาน

No comments:

Post a Comment