Sunday, 18 August 2013

มงคลสูตร๓๘ประการ




คำแปล ข้าพเจ้า (คือพระอานนทเถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มี พระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เชตวันวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้ เมืองสาวัตถีครั้งนั้นแลเทพดาองค์ใดองค์หนึ่ง ครั้งเมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้ว มี รัศมีอันงามยิ่งนัก ยังเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ โดยที่ใด ก็เข้าไปเฝ้าโดยที่นั้น ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค เจ้า แล้วได้ยืนอยู่ในท่ามกลางส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดานั้นยืนในที่สมควรส่วนข้าง หนึ่งแล้วแล ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถาว่า หมู่เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้คิดหามงคลทั้งหลาย ขอ พระองค์จงเทศนามงคลอันสูงสุด - ความไม่คบชนพาลทั้งหลาย ๑ ความคบบัณฑิตทั้งหลาย ๑ ความบูชาชนควร บูชาทั้งหลาย ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้วในกาลก่อน ๑ ความตั้งตนไว้ชอบ ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความได้ฟังแล้วมาก ๑ ศิลปศาสตร์ ๑ วินัยอันชนศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาอันชน กล่าวดีแล้ว ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความบำรุงมารดาและบิดา ๑ ความสงเคราะห์ลูกและเมีย ๑ การงานทั้งหลายไม่ อากูล ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความให้ ๑ ความประพฤติธรรม ๑ ความสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย ๑ กรรม ทั้งหลายไม่มีโทษ ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความงดเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทใน ธรรมทั้งหลาย ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความเคารพ ๑ ความไม่จองหอง ๑ ความยินดีด้วยของอันมีอยู่ ๑ ความเป็นผู้รู้ อุปการะอันท่านทำแล้วแก่ตน ๑ ความฟังธรรมโดยกาล ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอัน สูงสุด, - ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเห็นสมณะทั้งหลาย ๑ ความเจรจา ธรรมโดยกาล ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - ความเพียรเผากิเลส ๑ ความประพฤติอย่างพรหม ๑ ความเห็นอริยสัจทั้งหลาย ๑ ความทำพระนิพพานให้แจ้ง ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่มีโศก ปราศจากธุลีเกษม ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด, - เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลทั้งหลายเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุดของเทพดาและ มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นแล.------------------------------------------------ มงคลสูตร - มงคลชีวิต 38 ประการเหตุแห่งความเจริญทั้งหลาย ในสมัยพุทธกาล ณ พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งหนึ่งในยามเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนพระธรรมเทศนาแก่เหล่าเทวดา ก็มีเทวดาองค์หนึ่งมีรัศมีงดงามมาก ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ หลังจากได้ทำการอภิวาทถวายความเคารพแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ ยืนอยู่ข้างหนึ่งแล้วได้ถามคำถามกับสมเด็จพระภวควัน แปลเป็นไทยว่าใจความว่า "เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ผู้หวังหวังความสวัสดี ได้พากันคิดถึงซึ่งมงคล คือเหตุแห่งความเจริญทั้งหลาย ขอพระองค์ทรงตรัสบอกมงคลอันสูงสุดนั้นด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า" พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบ จำแนกเป็นข้อได้ ๓๘ ประการดังนี้ การไม่คบคนพาล คนพาลคือคนที่มีจิตใจหยาบช้า มีมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิด โดยรวมนั้นน่าจะหมายถึงคือคนชั่ว คนไม่ดี หรือคนจิตใจไม่ดีด้วย การคบคนประเภทนี้นานๆเข้าย่อมหล่อหลอมให้เรามีความคิดผิดไปด้วย คือเป็นอย่างเขาไป ดีไม่ดีเขาอาจจะพาไปทำสิ่งไม่ดีไปด้วย อันเป็นการที่ควรเลี่ยงให้ห่างจากคนพาลนี้ การคบบัณฑิต บัณทิตคือผู้ที่มีความรู้มาก บัณทิตในที่นี้นอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้แล้ว ต้องเป็นผู้ที่มีสัมมาทิฐิคือมีความเห็นถูกด้วย โบราณว่า "คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บันฑิตพาไปหาผล" การคบบัณฑิตย่อมหล่อหลอมให้เรามีสติปัญญาเพิ่มพูน มีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น การบูชาบุคคลที่ควรบูชา คนที่ควรบูชา คือใคร? คนที่ควรบูชาอันดับแรก ก็คือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ เป็นคนที่ควรบูชาในอันดับแรกอันดับต้น แต่บุคคลที่ควรบูชาอันสูง ก็คือ พระพุทธเจ้า เพราะการที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้นต้องบำเพ็ญบารมีมากมาก หลายกัล์ป อบรมสั่งสมบารมีความดีมายาวนาน จนได้เป็นพระพุทธเจ้านำพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านทรงค้นพบนั้นจำแนกแจกจ่ายแก่เหล่าสรรพสัตว์ ให้พ้นออกจากกองทุกข์แห่งวัฏะสงสาร และท่านยังมีบารมีสูงสุดทั้ง 3 โลกธาตุนี้ไม่มี บารมีของผู้ใดจะเกินบารมีของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเป็นบูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ควรเคารพบูชาสูงสุด รองลงมาก็ จะเป็นการบูชา พระอริยสงฆ์ คือสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เจริญวิปัสนากรรมฐานจนสามารถทำจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พระอริยเจ้านั้นมี 4 ลำดับคือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ จากนั้นคนที่ควรบูชาก็คือพระมหากษัตริย์ หรือผู้ทรงคุณความดี พระมหากษัตริย์ นั้นคือผู้ที่ปรารถนาโพธิญานคือ ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ท่านลงมาเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ ก็เพราะท่านต้องการมาสั่งสมความดีบารมี การบูชาท่านจึงเป็นมงคลเป็นอย่างมาก วิธีการปฏิบัติในข้อนี้ก็คือ การเลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ และผู้ที่บุญคุณ สวดมนต์ไหว้พระระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ คุณของพระมหากษัตริย์ และผู้ทรงคุณธรรมความดีทั้งหลาย การอยู่ในประเทศอันสมควร การอยู่ในประเทศอันสมควรหมายถึง การเลือกอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม สภาวะแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นมีอิทธิพลต่อ จิตใจคน หากเลือกอยู่สถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่นในเมืองประเทศ หรือสังคมที่ทีคนทำผิดศีลเยอะ หรือทำบาป ที่นั้นย่อมไม่เหมาะแก่การเจริญคุณงามความดี แต่หากไปอยู่ในที่ใดที่มีการทำแต่คุณงามความดี ที่นั้นย่อมเหมาะแก่การเจริญสิ่งที่ดีทั้งหลาย ดังนั้นหากหวังความเจริญแล้วควรเลือกถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่อยู่ให้เหมาะสม เคยทำบุญมาแต่กาลก่อน การที่เคยทำบุญมาแต่กาลก่อนนั้น หมายถึงว่าหากบุคคลเป็นผู้ที่เจริญ และมีมีความสุขอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นผลเนื่องมาจากบุญกุศลความดีที่เขาทำมาในอดีตชาติ ดังนั้นหากผู้ใดปรารถนาให้ตัวเองได้รับความสุขความเจริญในอนาคต ก็ควรทำบุญกุศล และทำความดีในวันนี้ บางคนอาจจะคิดว่า เราก็ทำบุญมาบ่อยชาตินี้ ทำไมถึงไม่มีความสุขมีความเจริญอย่างเขา ก็อย่าลืมว่า คนเรานั้นมีบุญมีบาปติดตัวมาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคราใดที่บุญให้ผลเราก็มีความสุข แต่คราใดที่บาปให้ผลก็มีความทุกข์เกิดขึ้นดังนั้น หากต้องการให้ตัวเองมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ก็ให้ละอกุศล ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวง และทำบุญกุศลทำความดี ในอนาคตข้างหน้าก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ การตั้งตนไว้โดยชอบธรรม การตั้งตนไว้โดยชอบธรรม หมายถึงการมีสติสัมปชัญญะ การระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดว่าทำอะไร อย่างไร ไม่เผลอตัวเผลอใจไปกับโลกหรือสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะโดยทั่วไปคนเรามันจะปล่อยใจไปกับสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ทางความคิดเสมอ ทำให้จิตใจจมไปความคิดนึก เป็นเหตุให้ไม่มีสติ ดังนั้นควรมีสติระลึกรู้ให้มากเสมอ การเป็นผู้เรียนรู้มาก ในข้อนี้หมายถึงการเป็นคนใฝ่เรียนรู้ การศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเสมอ ย่อมทำให้มีความเฉลียวฉลาดคิดอ่านประการใดก็จะดี มีประโยช์ต่อตัวเอง สังคมคนรอบข้าง และประเทศชาติบ้านเมือง การมีศิลปวิทยา หมายถึงการนำความรู้มาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเฉลียวฉลาด เหมาะสมแก่รูปแบบและสถานการณ์ การมีวินัยที่ดี ระเบียบวินัย เป็นแบบแผนข้อปฏิบัติ การมีระเบียบวินัยดีทำให้เกิดเพียร และความสำเร็จ การพูดแต่วาจาที่ดี การพูดวาจาที่ดี ย่อมเป็นที่น่าฟังต่อคนรอบข้างที่เสวนาด้วย ย่อมทำให้เกิดมิตร มีแต่คนรัก คนชม ไม่สร้างศัตรู การบำรุงบิดามารดา พ่อแม่เป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงสุดต่อลูก การจะทำสิ่งใด หากขาดความกตัญญูแล้วย่อมไม่มีความเจริญสำเร็จลงได้ การสงเคราะห์บุตร ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายเพราะคนมีลูกย่อมรู้ดี การสงเคราะห์ภรรยา การที่จะครองคู่ให้เป็นผลสำเร็จไปได้ด้วยดี จะต้องมีการครองตนให้ดีก่อน นั่นคือการมีศีลธรรมประจำใจ เพราะศีลคือความปกติของกาย วาจา ใจ ผู้ที่มีศีลจะไม่ทำร้ายกัน มีความจริงใจต่อกัน ไม่โป้ปดหลอกลวงกัน ไม่นอกใจกัน มีจิตใจเมตตาต่อกัน มองกันในมุมที่ดี จึงจะให้อภัยต่อกันได้ พระพุทธองค์ได้ให้หลักธรรมในการครองเรือนไว้ ๔ ข้อ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ทุกๆ ข้อ จึงจะบังเกิดผลได้สมบูรณ์ เพราะทุกๆ ข้อมีความหมายเฉพาะ และโยงไปสู่ข้ออื่นๆ ส่งเสริมต่อกันให้ปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งหลักธรรมในการครองเรือนประกอบด้วย - สัจจะ (ความจริง จริงใจต่อกัน) รักที่จริงใจ...ไขปัญหาทุกสิ่ง - ทมะ (รู้จักข่มใจ ฝึกฝน ปรับตัว) ปรับเข้าหากันเติมเต็มส่วนที่ขาด - ขันติ (อดทน เข้มแข็ง ทนทาน) เพราะรักเขา...เราจึงทนได้ - จาคะ (ความเสียสละ) เมื่อเขาสุข เราก็สุขด้วย ทำงานไม่ให้คั่งค้าง การทำงานให้เสร็จไปย่อมทำให้เกิดความสบายใจ ฝึกนิสัยให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ และขยันหมั่นเพียร การให้ทาน การให้ทานหมายถึง การแบ่งปัน การเสียสละด้วยใจที่เอื้อเฟื้อ การให้ทานเป็นการกำจัดความตะหนี่ขี้เหลียว ความยึดติดในทรัพย์ ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขความเจริญ หากให้ทานด้วยใจบริสุทธิ์ปรารถนาจะให้ด้วยความเต็มใจและไม่หวังผลตอบแทนย่อมมีอานิสงฆ์มาก การประพฤติธรรม คือการตั้งตัวเป็นคนดีตามกรอบของศีล ไม่ละเมิดศีล มีความสำรวมในกาย วาจา และจิตใจ ให้มีความปรกติ การสงเคราะห์ญาติ ญาติคือผู้ที่เป็นมิตรต่อเรา การสงเคาราะห์ช่วยเหลือญาติ ตามสมควร ก็เป็นการสร้างสมมิตรที่ดี ในอนาคตทำอะไรก็จะมีแต่คนช่วยเหลือสงเคราะห์ไม่โดดเดี่ยว ทำงานที่ปราศจากโทษ การทำงานที่ปราศโทษคือ งานที่ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม เพราะงานที่เป็นโทษเช่นงานที่ผิดกฏหมายย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตนได้ในภายหลัง หรือหากเป็นงานที่ผิดศีลธรรมก็ต้องเลี่ยงไม่พ้นในการที่ทำให้ตัวเองต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องรับผลกรรมไม่ว่าในชาตินี้ หรือหลังจากตายไปแล้วกรรมนั้นก็ติดตามไปให้ผลต่อ ละเว้นจากความชั่ว การละเว้นจากความชั่วก็คือการรักษาศีล ให้บริสุทธิ์นั่นเอง หากเป็นฆราวาสก็เป็นศีล ๕ หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ กายใจย่อมเป็นปรกติ นำพาซึ่งความสุขความเจริญ การไม่ดื่มน้ำเมา การดื่มน้ำเมา หรือการดื่มสุรา เครื่องมึนเมา ย่อมทำลายสติสัมปชัญญะ อาจเป็นเหตุให้ทำผิดในข้ออื่นๆอีกมากมาย นำพาซึ่งความเดือดร้อนมาให้กับตัวเอง นอกจากนั้นการดื่มน้ำเมา สุรา เมรัย ยังเป็นปัจจัย เป็นกรรมให้เป็นคนบ้า ขาดสติในอนาคต ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ก็หมายถึงการมีสติรู้ตัวไม่ให้จิตใจ ตกไปในอิทธิพลของความคิดที่ไม่ดี ทั้งหลายเพราะความคิดที่ไม่ดีย่อมชักนำให้ เกิดการไปทำสิ่งที่ไม่ดีตามไปด้วย การมีสติรู้ตัวอยู่เสมอย่อม รักษาจิตใจ และการกระทำได้ การมีสัมมาคารวะ การมีสัมมาคารวะ คือการเคารพผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่ถือตัว ถือตน ไม่ยกตนข่มท่าน มีความสันโดษ คือ ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่โลภมาก เป็นความโลภความปรารถในสิ่งที่เกินตน ย่อมนำพายึ่งความเดือดร้อนมาสู่ตนในภายหลังได้ มีความกตัญญู คือการปฏิบัติตามข้อ 11. นอกจากนั้นยังต้องกตัญญูต่อผู้ที่มีบุญคุญทุกคน ใครมีคุณก็ตอบแทนเขา กตัญญูต่ การฟังธรรมตามกาล คือ การสดับฟังพระธรรมเทศนา อันเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อาจจะเป็นการแสดงโดยพระอริยสงฆ์ เพื่อเจริญปัญญาทางจิตใจให้เจริญงอกงาม ปลุกคุณงามความดีในตัวให้ตื่น มีความอดทน การมีความอดทนนั้นมีความสำคัญมาก เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และผ่านปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง อย่างชาญฉลาด เกิดความสงบสุข ไม่เดือดร้อน อย่างแท้จริง ความอดทนเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนสร้างสมไว้ให้มาก เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง การได้เห็นสมณะ คือผู้ที่ประพฤติธรรม อันหมายถึงพระอริยเจ้าหรือ พระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรมวิเศษ และผู้ที่คุณวิเศษ การอยู่ใกล้บุคคลประเภทนี้ย่อมทำให้จิตใจของผู้นั้น เกิดความตั้งมั่นต่อความดีได้ง่าย เพราผู้ที่เป็นสมณะย่อมมีความพระพฤติและจิตใจที่ดีงามย่อม มีอิทธิพลต่อผู้ที่เข้าใกล้ได้โดยง่าย การสนทนาธรรมตามกาล ข้อนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องด้วยผู้นั้นต้องเจริญหรือปฏิบัติธรรมก่อน เมื่อปฏิบัติไปแล้ว หากพบกาลยาณมิตรธรรมก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอาจจะการสนทนากับผู้ที่รู้เห็นมากกว่าก็ได้ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์มากต่อนักปฏิบัติธรรม มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส คือการปฏิบัติธรรม เพื่อทำกิเลส เครื่องที่ทำให้จิตเศร้าหมอง หมดไป คือการบำเพ็ญปฏิบัติธรรมนั่นเอง การประพฤติพรหมจรรย์ คือการบวช การบวชคือการงดเว้นออกจากกาม กามนี้หมายถึง กามคุณ ๕ อันได้แก่ ความพอใจและติดใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และการความคิดทางใจ อันเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดา ปล่อยจิตใจให้หลงใหลไปในกามคุณนี้เสมอ เช่นเมื่อเห็นรูปสวยก็หลงไปในรูปนั้น ได้ยินเสียงเพราะก็ชอบใจหลงใหลไปในเสียงนั้น ได้กลิ่นหอมก็เพลิดเพลิน ได้สัมผัสรสอร่อยของอาหารก็มีจิตน้อมไป การประพฤติพรหมจรรย์ คือการดำริออกจากกามคุณ 5 นี้ ซึ่งเป็นการบวช เช่น ถ้าบวชพราห์มก็สวมชุดขาว รักษาศีล 8 หากบวชพระ ก็รักษาศีล 227 ข้อ แต่การประพฤติพรหมจรรย์นี้ไม่จำเป็นต้องบวชตามวิธีการก็ได้ หากเป็นคนมีกำลังใจเข้มแข็งก็สามารถบวชใจ คือใช้ใจรักษาพรหมจรรย์ก็ได้ ก็คือรักษาใจไม่ให้หลงใหลไปในกามคุณทั้ง 5 นี้ การเห็นอริยสัจ การจะเห็นอริยสัจได้ก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรม อย่างจริงจัง อริยสัจธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะรู้เห็นได้ด้วยการคิดนึก หรือการทึกทักเอาจากความคิดของคนธรรมดา ต้องเป็นการลงมือปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่าง ถูกต้อง ตามวิถีแห่งมรรค 8 จึงจะรู้เห็นได้ตามความเป็นจริง ผู้ที่เริ่มเห็นอริยสัจได้อย่างแท้จริงและเข้าสู่วิธีแห่งการพ้นทุกข์ได้นั้น เริ่มต้นที่พระอริยเจ้าในขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไปเท่านั้น การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน การจะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็ต้องมากจากการปฏิบัติในข้อที่ 33. จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม โลกธรรม 8 หมายถึง ธรรมดาของโลก เรื่องของโลก ธรรมชาติของโลกที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมดานี้ 8 ประการอันประกอบด้วย โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ พอใจของนุษย์ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา 1.ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้มาซึ่งทรัพย์ 2.ยศ หมายความว่า ได้รับฐานันดรสูงขึ้น ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต 3.สรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ เป็นที่น่าพอใจ 4.สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ความเบิกบาน บันเทิงใจเริงใจ โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ความไม่พอใจของมนุษย์ ไม่เป็นที่ปรารถนา 1.เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป ไม่อาจดำรงอยู่ได้ 2.เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่ 3.นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย 4.ทุกข์ คือ ได้รับความทุกขเวทนา ทรมานกาย ทรมานใจ รวมกันแล้วได้ 8 ข้อเรียกว่าโลกธรรม 8 ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และมนุษย์ก็มีความพอใจไม่พอใจ และเกิดความสุขทุกข์ขึ้น เมื่อโลกธรรม 8 นี้เกิดขึ้นเสมอ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้วางเฉยต่อโลกธรรม 8 นี้เสียเพราะเป็นของธรรมที่เกิดขึ้นกับโลก จิตไม่เศร้าโศก คือ การรักษาจิตไม่มีความเศร้าหมอง จิตหมดธุลี คือปราศจากกิเลส คือ รักษาจิตให้มีความผ่องใสอยู่เสมอ การทำจิตให้ผ่องใสนี้มีหลายระดับ หากเป็นปุถุชนคนธรรมดา การทำจิตให้ปราศจากกิเลสก็คือการ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และเจริญสมาธิภาวนาให้จิตใจสะอาดผ่องใสชั่วคราว พอออกจาสมาธิกิเลสก็จะจรเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจได้อีก ส่วนการทำจิตให้ปราศจากกิเลสของชั้นพระอริยเจ้าจะไม่เหมือนของปุถุชน หากกิเลสเกิดขึ้น จิตพระอริยเจ้าท่านก็จะฆ่ากิเลสนั้นทันที ฆ่าไปทีละนิด ละหน่อย หรือทีละมากตามกำลังบุญวาสนาของท่าน จนสุดท้ายกิเลสหมดไปสิ่้นจากจิตใจ นั่นคือพระอรหันต์ จิตถึงซึ่งความเกษม การจะมีจิตเกษมได้ก็คือจิตหลุดพ้นจากกิเลส และเครื่องพันธาการทั้งปวงได้หมดสิ้นนั่นคือพระอรหันต์ตามที่ได้กล่ามาในข้อ 37 นั่นเอง เมื่อพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ จิตย่อมเข้าถึงวิมุติสุข คือสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นเป็นสุขถาวรและเกิดขึ้นชั่วนิรันดร ไม่มีเสื่อมไปเหมือนสุขของปุถุชนธรรมดา เมื่อเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายได้พากันปฏิบัติมงคลธรรมให้ถึงความเจริญเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่แพ้แก่ข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสุขสวัสดี ในทุกสถานทุกกาลทุกเมื่อ ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้แล

มงคล แปลว่า เหตุนำความสุขความเจริญมาให้ คือสิ่งที่นำความโชคดี ความสวัสดี และความสุขมาให้ตามที่ปรารถนา มงคลมี 2 อย่างคือ มงคลทางโลก กับ มงคลทางธรรม
มงคลทางโลก คือสิ่งที่เป็นวัตถุซึ่งชาวโลกถือว่าเป็นมงคล ได้แก่สิ่งของ สัตว์ และต้นไม้บางชนิด เช่นมงคลแฝด ของขลัง ช้างเผือก ใบเงินใบทอง รวมถึงชื่อ อักษร กาลเวลาหรือฤกษ์ยามเป็นต้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มงคลนอก
มงคลทางธรรม คือมงคลที่เป็นข้อปฏิบัติ ต้องทำต้องปฏิบัติให้ได้จริงจึงจะเป็นมงคล มี 38 ประการ เช่นไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต การให้ทาน การประพฤติธรรม ความกตัญญู เป็นต้น เรียกอีกอย่างว่า มงคลใน หรือ มงคล 38 หรือ มงคลชีวิต

มงคลสูตร
เป็นพระสูตรสำคัญบทหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะมีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธ มงคลภายนอก ที่นับถือเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมงคลหรือมีมงคล โดยอธิบายว่าในทัศนะพระพุทธศาสนานั้น มงคลของมนุษย์และเทวดาย่อมเกิดจากการกระทำอันได้แก่ มงคลภายใน คือต้องกระทำความดี และความดีนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ามงคลเองโดยไม่ต้องไปอ้อนวอนกราบไหว้ขอมงคลจากนอกตัว เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในพระสูตรแล้ว ก็ได้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธมงคลภายนอกโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความโดยพิสดารถึงสาเหตุของการที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรไว้ว่า ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล กล่าวว่า บ้างก็ว่า วัตถุสิ่งของ เช่น ต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล[1] เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสุธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ หมวด นับเป็นรายการได้ 38 ประการ*

หมวดที่ ๑ : ไม่คบคนพาล,คบบัณฑิต,บูชาคนที่ควรบูชา
หมวดที่ ๒ : อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม,มีบุญวาสนามาก่อน,ตั้งตนชอบ
หมวดที่ ๓ : เป็นพหูสูต,มีศิลปะ,มีวินัย,มีวาจาสุภาษิต
หมวดที่ ๔ : บำรุงมารดาบิดา,เลี้ยงดูบุตร,สงเคราะห์ภรรยา(สามี),ทำงานไม่คั่งค้าง
หมวดที่ ๕ : บำเพ็ญทาน,ประพฤติธรรม,สงเคราะห์ญาติ,ทำงานไม่มีโทษ
หมวดที่ ๖ : งดเว้นจากบาป,สำรวมจากการดื่มน้ำเมา,ไม่ประมาทในธรรม
หมวดที่ ๗ : มีความเคารพ,มีความถ่อมตน,มีความสันโดษ,มีความกตัญญู,ฟังธรรมตามกาล
หมวดที่ ๘ : มีความอดทน,เป็นผู้ว่าง่าย,เห็นสมณะ,สนทนาธรรมตามกาล
หมวดที่ ๙ : บำเพ็ญตบะ,ประพฤติพรหมจรรย์,เห็นอริยสัจจ์,ทำพระนิพพานให้แจ้ง
หมวดที่ ๑๐ : จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม,จิตไม่โศก,จิตปราศจากธุลี,จิตเกษม

อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรมไว้ชัดเจนดีแล้ว ก็มีผู้ที่เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง จึงได้ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้ แนวทางการยึดถือความเป็นมงคล จึงมีอยู่ 2 แนวทาง คือ
1.มงคลจากการมีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้
2.มงคลจากการฝึกตัว




ขออัญเชิญพระสูตร มงคลสูตร คำสอนของพระพุทธเจ้า คำอธิบายความหมายของพระธรรมปิฎกและมงคลสูตรคำฉันท์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. ศ. ๑๓๐ ที่พิมพ์แจกในงานฉลิมพระชนมพรรษา ปี ร. ศ. ๑๓๐ บทขัดมงคลสูตร นะโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๑) ยัญจะ ทะวาทะสะ วัสสานิ จินตะยึสุ สะเทวะกา (๒) จิรัสสัง จินตะยันตาปิ เนวะ ชานึสุ มังคะลัง จักกะวาฬะสะหัสเสสุ ทะสะสุ เยนะ ตัตตะกัง กาลัง โกลาหะลัง ชาตัง ยาวะ พรหมนิเวสนา (๓) ยัง โลกะนาโถ เทเสสิ สัพพะปาปะวินาสะนัง (๔) ยัง สุตะวา สัพพะทุกเขหิ มุจจันตาสังขิยา นะรา (๕) เอวะ มาทิคุณูเปตัง มังคะลันตัมภะณามะ เส มงคลสูตร (๑) เอวัมเม สุตัง ฯ (๒) เอกัง สะมะยัง ภะคะวา (๓) สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม (๔) อะถะโข อัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา อภิกกันตะวัณณา (๕) อภิกกันตายะ รัตตติยา อะภิกกันตะวัณณา (๖) เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตะวา (๗) เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ (๘) อุปะสังกะมิตะวา ภะคะวันตัง อภิวาเทตะวา (๙) เอกะมันตัง อัฏฐาสิ (๑๐) เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา (๑๑) ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ พะหู เทวา มะนุสสา จะ มัคะลานิ อะจินตะยุง อากังขะมานา โสตถานัง พรูหิ มังคะละมุตตะมัง ๑. อะเสวะนา จะ พาลานัง(๑) ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา(๒) ปูชา จะ ปูชะนียานัง(๓) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๒. ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ(๔) ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา(๕) อัตตะสัมมาปะณิธิ(๖) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๓. พาหุสัจจัญจะ(๗) สิปปัญจะ(๘) วินะโย จะ สุสิกขิโต(๙) สุภาสิตา จะ ยา วาจา(๑๐) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๔. มาตาปิตุอุปัฏฐานัง(๑๑) ปุตตะ(๑๒) ทารัสสะ สังคะโห(๑๓) อะนากุลา จะ กัมมันตา(๑๔) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๕. ทานัญจะ(๑๕) ธัมมะจะริยา จะ(๑๖) ญาตะกานัญจะ สังคะโห(๑๗) อะนะวัชชานิ กัมมานิ(๑๘) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๖. อาระตี วิระติ ปาปา(๑๙) มัชชะปานา จะ สังยะโม(๒๐) อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ(๒๑) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๗. คาระโว จะ (๒๒) นิวาโต จะ(๒๓) สันตุฏฐิ จะ(๒๔) กะตัญญุตา(๒๕) กาเลนนะ ธัมมัสสะวะนัง(๒๖) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๘. ขันตี จะ(๒๗) โสวะจัสสะตา(๒๘) สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง(๒๙) กาเลนนะ ธัมมะสากัจฉา(๓๐) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๙. ตะโป จะ(๓๑) พรัหมะจะริยัญจะ( ๓๒) อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง(๓๓) นิพานะสัจฉิกิริยา จะ(๓๔) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๑๐. ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ(๓๕) อะโสกัง(๓๖) วิระชัง(๓๗) เขมัง(๓๘) เอตัมมังคะละมุตตะมัง ๑๑. เอตาทิสานิ กัตะวานะ สัพพัตถะมะปะราชิตา สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ คำอ่าน ภาษาบาลี ตามมงคลสูตร ฉบับมหาสังคายนาสากลนานชาติ เล่มที่ ๑๘ ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ [๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ จบมงคลสูตร

18 comments:

  1. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  2. มงคลที่ 1.ไม่คบคนพาล
    อย่าคบมิตร ที่พาล สันดานชั่ว
    จะพาตัว เน่าดิบ จนฉิบหาย
    แม้ความคิด ชั่วช้า อย่ากล้ำกราย
    เป็นมิตรร้าย ภายใน ทุกข์ใจครัน

    มงคลที่ 2.การคบบัณฑิต
    ควรคบหา บัณฑิต เป็นมิตรไว้
    จะช่วยให้ พ้นทุกข์ สบสุขสันต์
    ความคิดดี เลิศล้ำ ยิ่งสำคัญ
    ควรคบกัน อย่าเขว ทุกเวลา

    มงคลที่ 3.การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
    ควรบูชา ไตรรัตน์ ขัตติเยศร์
    ผู้วิเศษ ก่อเกื้อ เหนือเกศา
    ครูอาจารย์ เจดีย์ ที่สักการ์
    ด้วยบุปผา ปฏิบัติ สวัสดิ์การ

    มงคลที่ 4.การอยู่ในถิ่นอันสมควร
    เป็นเมืองกรุง ทุ่งนา หรือป่าใหญ่
    ทางมา-ไป ครบครัน ธัญญาหาร
    มีคนดี ที่ศึกษา พยาบาล
    ปลอดภัยพาล ควรอยู่กิน ถิ่นนั้นแล

    มงคลที่ 5.เคยทำบุญมาก่อน
    กุศลบุญ คุณล้ำ เคยทำไว้
    จะส่งให้ สวยเด่น เช่นดวงแข
    ทั้งทรัพย์ยศ ไมตรี มีเย็นแด
    เพราะกระแส บุญเลิศ ประเสริฐนัก

    ReplyDelete
  3. มงคลที่ 6 การตั้งตนชอบ
    ต้องตั้งตน กายใจ ในทางถูก
    เร่งฝังปลูก ตนไว้ ให้ถูกหลัก
    เมื่อตัวตน ยังมี เป็นที่รัก
    ควรพิทักษ์ ให้งาม ตามเวลา

    มงคลที่ 7 ความเป็นพหูสูต
    การสนใจ ใฝ่คว้า หาความรู้
    ให้เป็นผู้ แก่เรียน เพียรศึกษา
    มีศีลดี สติมั่น เกิดปัญญา
    ย่อมนำพา ตัวรอด เป็นยอดดี

    มงคลที่ 8 การรอบรู้ในศิลปะ
    ศิลปะ ต่างอย่าง ทางอาชีพ
    ควรเร่งรีบ เรียนรู้ ชูศักดิ์ศรี
    มีบางคน จนอับ กลับมั่งมี
    ฉลาดดี มีศิลป์ หากินพอ

    มงคลที่ 9 มีวินัยที่ดี
    อันวินัย นำระเบียบ สู่เรียบร้อย
    คนใหญ่น้อย เปรมปรีดิ์ ดีนักหนา
    วินัยสร้าง กระจ่างข้อ ก่อศรัทธา
    เพราะรักษา กติกา พาร่วมมือ

    ไม่พูดเท็จ พูดสอดเสียด และพูดมาก
    ละความยาก สร้างวิบาก ฝากยึดถือ
    คนหมู่มาก มักถางถาก ปากข่าวลือ
    ต้องสัตย์ซื่อ ถือวินัย ใช้ร่วมกัน

    มงคลที่ 10 กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
    เปล่งวจี สัจจะ นวลละม่อม
    กล่าวเลลี้ยกล่อม ไพเราะ กาลเหมาะสม
    เจือประโยชน์ เมตตา ค่านิยม
    รื่นอารมณ์ ผู้ฟัง ดังเสียงทอง

    มงคลที่ 11 การบำรุงบิดามารดา
    คนที่หา ได้ยาก มากไฉน
    เพราะว่าใน โลกนี้ มีเพียงสอง
    คือพ่อแม่ เกิดเกล้า เหล่าลูกต้อง
    ตอบสนอง พระคุณ ได้บุญแรง

    มงคลที่ 12 การสงเคราะห์บุตร
    เป็นมารดา บิดา ทำหน้าที่
    ให้บุตรมี พำนัก เป็นหลักแหล่ง
    ส่งเสริมบุตร ธิดาตน กุศลแรง
    ย่อมส่องแสง เพิ่มพูน ตระกูลวงศ์

    ReplyDelete
  4. มงคลที่ 25 มีความกตัญญู
    กตัญญู รู้บุญ คุณพ่อแม่
    คนเฒ่าแก่ แลอาจารย์ ท่านทรงศีล
    จอมมุนินทร์ ปิ่นเกล้า เจ้าธานี
    หาวิธี แทนคุณ สมดุลกัน

    มงคลที่ 26 การฟังธรรมตามกาล
    การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง
    ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน
    ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน
    ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร

    มงคลที่ 27 มีความอดทน
    ความอดทน ตรากตรำ ยามลำบาก
    เจ็บไข้มาก ทนได้ ไม่โหยหวน
    ถูกเขาด่า ให้ฟัง นั่งหน้านวล
    ยิ้มเสสรวล ด้วยขันติ งามวิไล

    มงคลที่ 28 เป็นผู้ว่าง่าย
    ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน
    ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน
    ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด
    เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา

    มงคลที่ 29 การได้เห็นสมณะ
    การพบเห็น สมณะ ผู้สงบ
    แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิกขา
    หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา
    ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี

    มงคลที่ 30 การสนทนาธรรมตามกาล
    ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย
    เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล
    เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล
    ควรจะสน- ทนาธรรม ตามที่ควร

    มงคลที่ 31 การบำเพ็ญตบะ
    พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส
    อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์
    มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์
    เข้าสู่ขั้น สุโข ฌาณโกลีย์

    ReplyDelete
  5. มงคลที่ 32 การประพฤติพรหมจรรย์
    เร่งประพฤติ พรหมจรรย์ อันประเสริฐ์
    เพื่อให้เกิด สุขล้วน โดยถ้วนถี่
    ตั้งแต่ทาน ถึงสิกขา บรรดามี
    สมบูรณ์ดี พรหมจรรย์ ย่อมมั่นคล

    มงคลที่ 33 การเห็นอริยสัจ
    การรู้เห็น ความจริง สิ่งเที่ยงแท้
    ไม่ผันแปร สี่ชนิด ไม่ผิดหลง
    ตัดตัณหา มูลราก พรากทุกข์ลง
    เป็นการส่ง ข้ามฟาก จากสาคร

    มงคลที่ 34 การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
    ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์
    ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน
    เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน
    ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก

    มงคลที่ 35 การมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
    ท่านผู้ใด ใจดำรง อยู่คงที่
    ในเมื่อมี โลกธรรม ครอบงำหนัก
    เช่น ลาภ ยศ สุข เศร้า เข้าง้างชัก
    มิอาจยัก โยกท่าน ให้หวั่นใจ

    มงคลที่ 36 การมีจิตไม่โศกเศร้า
    คราวพลักพราก จากญาติ ขาดชีวิต
    ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่
    มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป
    ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง

    มงคลที่ 37 มีจิตปราศจากกิเลส
    หมดราคะ โทสะ โมหะแล้ว
    จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง
    ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง
    เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม

    มงคลที่ 38 มีจิตเกษม
    จิตเกษม เปรมปรีดิ์ ดีตลอด
    เป็นจิตปลอด จากโอฆ ในโลกสาม
    เครื่องผูกมัด สลัดหมด แสนงดงาม
    เข้าถึงความ สุขสันต์ นิรันดร

    ReplyDelete
  6. ๑.มงคลสูตรในพระไตรปิฏก
    พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็น ๓ หมวดใหญ่ คือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฏก และพระอภิธรรมปิฏก
    พระสุตตันตปิฏก รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงแก่บุคคล และกลุ่มชนในกาลเทศะต่าง ๆ แบ่งเป็นส่วนย่อยเรียกว่า “นิกาย” มงคลสูตรเป็นสูตรสั้น ๆ อยู่ในสุตตันตปิฏก หมวดขุททกนิกาย ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวก ประวัติต่าง ๆ และชาดก
    ๒.มงคลสูตรกับพิธีทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
    ในการประกอบพิธีมงคลของพุทธศาสนิกชน เช่น พิธีแต่งงาน พิธีขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น จะนิมนต์พระภิกษุไปเจริญพระพุทธมนต์ มีการสวดพระปริตร คือสวดมนต์ป้องกันภัยพิบัติ ความทุกข์และโรคภัยต่าง ๆ และให้เกิดสิริมงคลเกิดความสุข ความเจริญ ในการสวดพระปริตรจึงมีมงคลสูตรอยู่ด้วย เมื่อพระภิกษุเจริญพระพุทธมนต์มาถึงบทมงคลสูตรพระที่เป็นประธานจะเริ่มหยดเทียนลงในขันน้ำพระพุทธมนต์สำหรบใช้ประพรม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสิริมงคล

    ReplyDelete
  7. ๓. พระนามของพระพุทธเจ้า
    ในมงคลสูตรคำฉันท์ใช้หลายคำที่หมายถึงพระพุทธเจ้าคือ
    ๓.๑ สมเด็จพระโลกนาถ หมายถึง เป็นที่พึ่งแห่งโลก คือ เป็นผู้ชี้ทางพ้นทุกข์ให้แก่ชาวโลกในวรรณคดีเรื่องอื่น เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย ใช้คำว่า “ตรีโลกนาถ” หมายถึง พระผู้เป็นที่พึ่งแห่งสามโลก หมายถึง โลกมนุษย์ โลกสวรรค์และโลกบาดาล
    ๓.๒ สมเด็จพระชินสีห์ “ชิน” หมายถึง ชนะ “ชินสีห์” หมายถึง ผู้ชนะกิเลส เหมือนราชสีห์ชนะสัตว์ทั้งปวงในป่า
    ๓.๓ สมเด็จพระทศพล หมายถึง พระผู้มีกำลังสิบเพราะพระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีครบ ๑๐ ประการ กำลังของพระพุทธเจ้า คือ บารมี หรือคุณความดี เพราะศัตรูของพระพุทธเจ้า คือความชั่ว
    ๓.๔ สมเด็จพระผู้มีพระภาค “ภาค” หมายถึง ส่วน หรือโชค พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ ถือว่าเป็นผู้มีโชค เพราะเห็นแจ้งซึ่งหนทางนิพพาน
    ๓.๕ สมเด็จพระภควันต์ “พระภัควันต์” หมายถึง พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้า ทรงเป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา
    ๓.๖ จอมธรรม์ พรพุทธเจ้าเป็นผู้บรรลุธรรมวิเศษ ตรัสรู้พระธรรมและเผยแพร่พระธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
    ในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ยังมีพระนามอื่น ๆ อีก เช่น พระสัพพัญญู พระสรรเพชญ หมายถึงพระผู้รู้ทั่ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ตรัสรู้โดยชอบแล้วด้วยพระองค์เองเป็นต้น

    ReplyDelete
  8. ๔. พระอานนท์
    เป็นพุทธอุปัฏฐากได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของพระภิกษุพหูสูต ในมงคลสูตรพระอานนท์มีบทบาทโดยเป็นผู้เล่าให้เราทราบว่าพระพุทธเจ้าตรัสเทศน์มงคลสูตรให้ใครฟัง ที่ไหน มีเนื้อความว่าอย่างไร
    ก่อนที่พระอานนท์จะรับเป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น ได้ทูลขอพร ๘ ประการ คือ
    ๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
    ๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
    ๓. อย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับกับด้วยพระองค์
    ๔. อย่าทรงพาข้าพระองค์ไปในทีนิมนต์
    ๕. ขอให้เสด็จไปที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
    ๖. ให้ข้าพระองค์นำบริษัทผู้มาไกลเข้าเฝ้าได้เสมอ
    ๗. ให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าถามความสงสัยได้ทุกเมื่อ
    ๘. เมื่อพระองค์เสด็จไปทรงแสดงธรรมเรื่องอะไร ที่ไหน ซึ่งข้าพระองค์มิได้ฟัง ขอพระองค์จงตรัสบอกพระธรรมเทศนาเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์เมื่อกลับมาแล้ว
    ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประทานพรให้พระอานนท์นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า “เห็นโทษอะไรใน ๔ ข้อข้างต้น และเห็นประโยชน์อะไรใน ๔ ข้อข้างปลาย จึงขอพรเช่นนี้” พระอานนท์จึงทูลตอบว่า “พร ๔ ข้อข้างต้นหากไม่ได้ก็จะมีคนพูดได้ว่า จะบำรุงพระศาสดาเพื่อประโยชน์อะไรเพราะพระองค์ได้ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้ และถ้าไม่ได้พร ๔ ข้อสุดท้าย จะมีผู้ถามทีหลังว่าธรรมนั้นธรรมนี้ พระพุทธองค์แสดงที่ไหน และถ้าบอกไม่ได้ เขาจะพูดได้ว่า ไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้ ตามเสด็จพระศาสดาอยู่เพราะเหตุอะไร”

    ReplyDelete
  9. ๕. อนาถบิณฑิตเศรษฐี
    เป็นมหาเศรษฐีในตระกูลสุทัตตะได้นามว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” เพราะเป็นผู้มีเมตตาให้ข้าวปลาอาหารแก่คนอนาถาอยู่เป็นนิจ อนาถบิณฑิก หมายถึง เป็นก้อนข้าวของผู้ไร้ที่พึ่ง อนาถบิณฑิกเป็นพ่อค้าที่สามารถในเชิงพาณิชย์ อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี มีกิจการค้าติดต่อกับเมืองอื่น ๆ ทั่วชมพูทวีป เป็นผู้ซื้อเชตวันจากเจ้าชายเชตะและสร้างเชตวันมหาวิหารถวายพระพุทธเจ้า

    ReplyDelete
  10. ๖. พระวิหารเชตะวัน
    เป็นวิหารที่มีความสำคัญมากในครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ชานเมืองสาวัตถีทางทิศใต้ เป็นอุทยานใหญ่ร่มรื่น เป็นวิหาร ๗ ชั้น มีกำแพงและคูเป็นขอบรอบบริเวณ ภายในวิหารยังแบ่งเป็นส่วน ๆ มีที่ประทับของพระพุทธเจ้า เรียกว่า คันธกุฎี มีสถานที่เจริญธรรมที่แสดงธรรม ที่ฉันอาหารและที่พักผ่อนครบถ้วน

    ReplyDelete
  11. ๗. สาวัตถี
    เป็นเมืองศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในแคว้นโกศล
    ๘. ยามบาลี
    บาลีแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง คือ
    ประถมยาม ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ – ๒๒.๐๐ น.
    มัชฌิมยาม คือ เวลา ๒๒.๐๐ – ๐๒.๐๐ น. และ
    ปัจฉิมยาม คือ เวลา ๐๒.๐๐ – ๐๖.๐๐ น.
    ยามไทยจะแบ่งกลางคืนเป็น ๔ ยาม ยามละ ๓ ชั่วโมง คือ
    ยามหนึ่งเวลา ๑๘.๐๐ – ๒๑.๐๐ น.
    ยามสองเวลา ๒๑.๐๐ – ๒๔.๐๐ น.
    ยามสามเวลา ๒๔.๐๐ – ๐๓.๐๐ น.
    ยามปลาย ๐๓.๐๐ – ๐๖.๐๐ น.

    ReplyDelete
  12. ๙. การใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา
    ในทางพระพุทธศาสนาใช้ โอฆ ห้วงน้ำใหญ่ มหรรณพ หรือทะเลวน เป็นสัญลักษณ์แทนการเวียนว่ายตายเกิด หรือสังสารวัฏ ใช้ฝั่ง หรือฟาก หรือเมืองแก้ว หรือมหาอมตนคร เป็นสัญลักษณ์แทนนิพพาน ใช้ธุลี ฝุ่น เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสและความไม่ดีทั้งหลาย
    ๑๐. โลกธรรม
    คือ สิ่งที่เป็นธรรมดาโลกมี ๘ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คืออิฏฐารมณ์ นำความพอใจมาให้ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และอนิฏฐารมณ์ นำความไม่พอใจมาให้ ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อยศ นินทา และทุกข์
    ๑๑. พรหมทางพระพุทธศาสนา
    หมายถึง ผู้บรรลุฌาน ตัดกามตัณหาได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความรักใคร่ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จึงหมายถึงผู้มีความประพฤติเหมือนพระพรหม

    ReplyDelete
  13. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  14. มงคลสูตรคำฉันท์

    ผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ร. ๖ )
    จุดประสงค์ ๑. เพื่อขยายความมงคลสูตรทั้ง ๓๘ ประการ ให้คนอ่านได้เข้าใจหลักธรรม แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามอย่างง่าย ๆ
    ๒. เพื่อให้ทราบเหตุหรือทางแห่งความเจริญก้าวหน้า
    ๓. เพื่อใช้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของบุคคล อันจะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ และความสำเร็จในสิ่งพึงประสงค์
    ๔. เพื่อให้เข้าใจสาระที่เป็นมงคลยิ่งขึ้น เพราะเดิมแต่งเป็นพระคาถาบาลี
    ความหมายของมงคล
    ๑. หมายถึง เหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ หรือสิ่งที่จะนำสิริและความเจริญมาสู่ตน และป้องกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายมากล้ำกราย
    ๒. หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญมี ๓๘ ประการ

    ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ฉบัง ๑๖ กับ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

    รูปแบบคำประพันธ์

    กาพย์ฉบัง ๑๖

    อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

    ReplyDelete
  15. กลวิธีในการแต่ง
    เริ่มด้วยพระคาถาบาลีเป็นตัวตั้ง (กระทู้) แล้วแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ถ้อยคำง่าย ๆ นำมาร้อยเรียงเป็นบทร้อยกรองอย่างประณีต ไพเราะ และมีความหมายลึกซึ้ง
    เนื้อหาสาระ
    มีกระทู้ภาษาบาลี ๑๐ พระคาถา ๓๘ มงคล ดังนี้
    พระคาถาที่ ๑ มีมงคลสูตรข้อที่ ๑ – ๓
    พระคาถาที่ ๒ มีมงคลสูตรข้อที่ ๔ - ๖
    พระคาถาที่ ๓ มีมงคลสูตรข้อที่ ๗ - ๑๐
    พระคาถาที่ ๔ มีมงคลสูตรข้อที่ ๑๑ - ๑๔
    พระคาถาที่ ๕ มีมงคลสูตรข้อที่ ๑๕ - ๑๘
    พระคาถาที่ ๖ มีมงคลสูตรข้อที่ ๑๙ - ๒๑
    พระคาถาที่ ๗ มีมงคลสูตรข้อที่ ๒๒ - ๒๖
    พระคาถาที่ ๘ มีมงคลสูตรข้อที่ ๒๗ - ๓๐
    พระคาถาที่ ๙ มีมงคลสูตรข้อที่ ๓๑ - ๓๔
    พระคาถาที่ ๑๐ มีมงคลสูตรข้อที่ ๓๕ – ๓๘

    ReplyDelete
  16. มงคลสูตร ๓๘ ประการ ให้หลักในการดำเนินชีวิตจากง่าย ไปสู่ข้อที่ปฏิบัติได้ยากขึ้น หรือความดีความเจริญขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงความเจริญขั้นสูงสุด แบ่งเป็น ๓ ช่วงดังนี้
    ช่วงปฐมวัย เป็นระยะเตรียมตัวที่จะดำเนินชีวิต
    มงคลสูตรข้อที่ ๑ – ๕ เป็นการวางรากฐานของชีวิต
    มงคลสูตรข้อที่ ๖ เป็นการวางนโยบายการดำเนินชีวิต
    มงคลสูตรข้อที่ ๗ – ๑๐ เป็นระยะที่ต้องศึกษาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ ฝึกฝนอาชีพ อบรมตนให้เป็น ผู้มีศักยภาพ พร้อมที่จะดำรงตนในสังคม
    ช่วงมัชฌิมวัย เป็นระยะที่ต้องรับผิดชอบตนเอง ครอบครัว และสังคม
    มงคลสูตรข้อที่ ๑๑ – ๑๘ เป็นช่วงประกอบอาชีพและมีครอบครัว
    มงคลสูตรข้อที่ ๑๙ – ๒๑ เป็นการป้องกันตนไม่ให้เข้าสู่อบายมุข
    มงคลสูตรข้อที่ ๒๒ – ๒๖ เป็นการอบรมจิตใจตนให้มีคุณธรรมสูงขึ้น
    มงคลสูตรข้อที่ ๒๗ – ๓๐ เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เป็นที่รองรับของธรรมชั้นสูง
    ช่วงปัจฉิมวัย เป็นระยะปฏิบัติตนสู่นิพพาน
    มงคลสูตรข้อที่ ๓๑ – ๓๔ เป็นหนทางการปฏิบัติธรรมเพื่อสู่นิพพาน
    มงคลสูตรข้อที่ ๓๕ – ๓๘ เป็นผลที่ได้รับจากการประพฤติปฏิบัติตนตามมงคลสูตร

    ***อานิสงส์ ผู้ประพฤติปฏิบัติตนตามมงคลสูตร ๓๘ ประการ จะเป็นผู้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าในทุกสถาน

    ReplyDelete
  17. แนวคิดสำคัญ
    เหตุแห่งความเจริญก้าวหน้าอยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติของตน และการฝึกอบรมจิตใจของตนให้ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม มิใช่อยู่ที่ผู้อื่น สิ่งอื่น หรือวัตถุโชคลางใดใดที่มาจากภายนอก
    มงคลสูตรข้อที่ ๑ – ๓๒ เป็นเรื่องทางโลกหรือความประพฤติปฏิบัติตนของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป เป็นแนวทางโลกียะ
    มงคลสูตรข้อที่ ๓๓ – ๓๘ เป็นเรื่องโลกุตระที่พ้นจากโลกียะ

    ค่านิยม
    มงคลทั้ง ๓๘ ประการ ล้วนเป็นค่านิยมทางพระพุทธศาสนา ค่านิยมสูงสุดทางพระพุทธศาสนาคือ นิพพาน การดับพร้อมไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป

    ReplyDelete
  18. http://cyrus-fb.blogspot.com/2012/06/38.html

    ReplyDelete