ตำนานฟ้าสมิงฅำหลวง
ลักษณะของจดหมายลูกโซ่ในอดีต มักจะกล่าวถึงเรื่องร้ายๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากผู้ที่ได้รับไม่ได้ปฏิบัติตามข้อความที่กล่าวไว้ในจดหมาย อย่างไรก็ดี ตำนานฟ้าสมิงฅำหลวงที่คัดลอกมานี้ มีคุณค่าในแง่ที่สอนให้ผู้ที่ได้รับอยู่ในศีลในธรรมตามอย่างพุทธศาสนิกชนที่ดี
โดยนำเอาความเชื่อเข้ามากระตุ้นให้เกิดการปฏิบัตินั่นเอง
ตำนานฟ้าสมิงฅำหลวง เป็นตำนานบันทึกไว้ในใบลาน จากต้นฉบับของวัดบ้านช่าง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ จารไว้เมื่อปีจุลศักราช ๑๒๘๓ (พ.ศ.๒๔๖๔) ปีร้วงเล้า เดือน ๑๒ ออก ๗ค่ำ วันพฤหัสบดี ยามเที่ยง
ผู้จารชื่อปัญญติกภิกขุ กาวิไชยวังโส วรรณกรรมเรื่องนี้มีลักษณะอย่าง "จดหมายลูกโซ่" ที่ชวนให้คนคัดลอกต่อ ๆ กันไปเพื่อเก็บไว้ในบ้านเรือน เนื่องจากกล่าวว่า อานุภาพของตำนานฟ้าสมิงฅำหลวง ซึ่งพระอินทร์ประทานมาให้นี้จะช่วงให้คนพ้นภัยพิบัติต่างๆ ได้
โดยที่คนที่ได้รับมาจะต้องคัดลอกไว้และขยายต่อไปยังผู้อื่นด้วย
...ไชยยะมังคลัง ศักราชะได้ ๑๒๗๐ ตัวปี เดือน ๕ เพ็ญ พระอินทร์ได้มาประพาสสวนและทรงเห็นว่าคนทั้งหลายจะเกิดภัยอุบาทว์มากนักก็สงสาร จึงได้ทำหนังสือใส่ไว้ในพับฅำแดง คือตำราอันเป็นคำสอนที่มีค่าดั่งทองคำสุกปลั่ง
แล้วหย่อนหนังสือนั้นลงมาที่ ธาตุทะโค่ง(เจดีย์ชะเวดากอง) ว่าในเดือน ๑๐ เพ็ญ ฝนจักตกในเมืองชุมพูทวีป จะเกิดอุบาทว์และโรคภัยทั่วไป ผู้คนจะล้มตายด้วยอหิวาตกโรคมากนัก สักราช ๑๒๕๐ คนทั้งหลายจะชิงทรัพย์กัน โลภเอาที่บ้านที่นา โกงตาชั่งขี้ขโมย ฆ่าฟันกัน และชอบดื่มเหล้าและยาเสพย์ติด ไม่รู้จักพระรัตนตรัย ไม่เคารพยำเกรงผู้มีอายุ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ภิกขุและสังฆะสามเณรทังหลายก็จักค้าขายกิน ไม่ปฏิบัติตามคลองธรรม จะล้มตายด้วยโรคต่างๆ ผู้หญิงก็จักตายเพราะตกเลือด หากลงน้ำเงือกก็จะกิน เข้าป่าก็จะถูกเสือกัด จะตกตายกันมากใน จ.ศ. ๑๒๕๕ เป็นต้นไปจะเกิดศึก ให้คนทั้งหลายหมั่นทำบุญรักษาศีลจึงจะพ้นภัยที่กล่าวมา
ศักราช ๑๒๔๐ จะเกิดโรคห่าระบาด สามีภรรยาจะทะเลาะกัน น้ำและดินก็ไม่สม่ำเสมอกันควรจะมีแดดก็กลับมีฝน ถึงยามควรมีฝนก็กลับมีแดด ทำการเกษตรลำบาก เกิดข้าวยากหมากแพง จะหาคนสืบศาสนาไม่ได้