Thursday 31 May 2012

สิทธัตถะ โคตมะ सिद्धार्थ गौतम

สิทธัตถะ โคตมะ ในภาษาบาลี หรือ สิทฺธารฺถ เคาตมะ (/สิดทาด —/) ในภาษาสันสกฤต (เทวนาครี: सिद्धार्थ गौतम) หรือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือที่นิยมเรียกว่า พระพุทธเจ้า เป็นพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ และทรงเป็นผู้เผยแพร่พระธรรมวินัย ซึ่งต่อมาเรียกว่า "พุทธศาสนา" พุทธศาสนานิกายเถรวาทถือว่า การออกพระนามด้วยโคตรนั้นเป็นการไม่เคารพ เช่น เรียกว่า "พระสมณโคดม" เป็นต้น นิกายนี้จึงมักเรียกพระองค์ด้วยศัพท์ว่า "สตฺถา" แปลว่า "ศาสดา"
คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานบันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล พระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งศากยวงศ์ โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาแต่ช้านาน มีพระนามแต่แรกประสูติว่า สิทธัตถะ ในภาษาบาลี หรือ สิทธารถ ในภาษาสันสกฤต พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งแห่งมกุฏราชกุมารในครั้งนั้นด้วย เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงได้รับการถวายพระนามต่าง ๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม, พระโคดมพุทธเจ้า ฯลฯ แต่ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า "ตถาคต" แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้นคือ ทรงปฏิญาณว่าทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่สภาพเช่นนั้น อันได้แก่ การดับทุกข์ กล่าวคือสภาวะแห่งอรหัตผลแล้ว พระนางสิริมหามายาแห่งโกลิยวงศ์ พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งศากยวงศ์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นโกศล ในคืนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาได้ทรงพระสุบินนิมิตว่า ช้างเผือกมีงาสามคู่ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม สิบเดือนหลังจากนั้น ขณะทรงพระครรภ์แก่ได้ทรงขอพระราชานุญาติจากพระสวามีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะอันเป็นพระมาตุภูมิเพื่อให้การประสูติเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ระหว่างเสด็จกลับพระมาตุภูมิ พระพุทธมารดาได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละในสวนป่าชื่อ ลุมพินีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ได้ประสูติพระราชกุมารเมื่อดำเนินได้ 7 ก้าวทรงเปล่งอาสภิวาจา ว่า "เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว" ซึ่งต่อมาจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า อนึ่ง ทั้งสวนป่าลุมพินีและกรุงกบิลพัสดุ์ในปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล[4] หลังจากที่มีพระประสูติกาลแล้ว 7 วัน พระพุทธมารดาก็เสด็จสู่สวรรคาลัย ในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่า เป็นเพราะพระครรภ์ของพระพุทธมารดาไม่ควรจะเป็นที่เกิดของสัตว์ใดอีก และจึงจักต้องเสด็จสู่สวรรคาลัย หลังจากมีพระประสูติกาลแล้ว 3 วัน มีฤๅษีตนหนึ่งได้เข้าเยี่ยมพระราชกุมารมีนามว่า "อสิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส" และได้วางพระบาทเหนือศีรษะฤๅษีอสิตดาบสเพื่อให้ชมดูรอยตำหนิแห่งการกำเนิด เมื่อพบว่าพระราชกุมารมีมหาปุริสลักษณะ ฤๅษีจึงทำนายไว้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 2. ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกเป็นแน่ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระประสูติกาลเพื่อประกอบพิธีขนานพระนามพระราชกุมารในพระราชพิธี พราหมณ์ 8 นายซึ่งได้รับเชิญมา 7 นายในจำนวนนั้นทำนายเป็นเสียงเดียวกันอย่างคำประกาศของฤๅษีอสิตดาบส เว้นแต่พราหมณ์ชื่อโกณฑัญญะว่าจะเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น ฝ่ายพราหมณ์โกณฑัญญะเมื่อเชื่อมั่นในคำทำนายของตนแล้วก็ออกบวชล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวเป็นสาวกของพระราชกุมาร ในพระราชพิธีนี้ พระราชกุมารทรงได้รับขนานพระนามว่า "สิทธัตถะ" มีความหมายว่า ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว หรือ ผู้ปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงเจริญวัยด้วยความสุขยิ่ง เพราะกำเนิดในราชตระกูลภายใต้เศวตฉัตร และได้ทรงศึกษาในสำนักอาจารย์วิศวามิตร ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด เจ้าชายได้ทรงศึกษาอย่างรวดเร็ว และจบหลักสูตรสิ้นทุกประการ คือจบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 สาขาวิชา พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์หนุ่ม ที่ว่าเจ้าชายจะทรงออกผนวชแน่นอน จึงทรงจัดการเตรียมความพร้อมสำหรับการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์ พร้อมสร้างปราสาท 3 ฤดูให้อยู่ประทับ เมื่อพระชมน์ได้ 16 พรรษาได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติกรุงเทวทหนคร เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขกับพระนางตลอดมา จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา และมีพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง

 

13 comments:

  1. เหตุการณ์ออกผนวชตามนัยอรรถกถา
    เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นอรรถกถา (หลักฐานชั้นรอง แต่งโดยคัมภีราจารย์รุ่นหลังพระไตรปิฎก) กล่าวว่า หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยและอภิเษกสมรสล่วงมาได้ 29 พรรษาแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเสพสุขอยู่บนปราสาท 3 ฤดู มีความสุขทางโลกบริบูรณ์ จนวันหนึ่งทรงปรารถนาจะผ่อนคลายความจำเจ จึงชวนสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นเทวดาได้เนรมิตเทวทูตทั้ง 4 อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงบังเกิดความสังเวชในพระราชหฤทัย ใคร่เสด็จออกผนวชเป็นสมณะ

    ReplyDelete
  2. เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นอรรถกถา (หลักฐานชั้นรอง แต่งโดยคัมภีราจารย์รุ่นหลังพระไตรปิฎก) กล่าวว่า หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยและอภิเษกสมรสล่วงมาได้ 29 พรรษาแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเสพสุขอยู่บนปราสาท 3 ฤดู มีความสุขทางโลกบริบูรณ์ จนวันหนึ่งทรงปรารถนาจะผ่อนคลายความจำเจ จึงชวนสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นเทวดาได้เนรมิตเทวทูตทั้ง 4 อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงบังเกิดความสังเวชในพระราชหฤทัย ใคร่เสด็จออกผนวชเป็นสมณะ
    ในวันที่เจ้าชายราหุลเกิดนั้น เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ด้วยทรงเบื่อในเพศฆราวาสอันเต็มไปด้วยกิเลส จึงทรงเห็นว่าเพศบรรพชาเท่านั้นที่ประเสริฐและเป็นเพศที่สามารถจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยากทั้งปวงได้ กระทั่งคืนที่เจ้าชายตัดสินพระทัยจะออกผนวช ได้เสด็จไปเยี่ยมพระโอรสและมเหสี เมื่อพระองค์เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทพระกรกอดโอรสอยู่ทรงดำริจะอุ้มพระโอรส ขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรสเสด็จออกจากห้อง เสด็จลงจากปราสาทพบกับนายฉันนะ สารถี ซึ่งเตรียมม้าพระที่นั่ง (ม้านามว่ากัณฑกะ) ไว้แล้ว เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ทรงเสด็จออกพ้นพระราชวัง เข้าเขตแดน แคว้นโกศลและแคว้นวัชชี ครั้นเวลาใกล้รุ่ง เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที พระองค์ทรงม้าข้ามฝั่งแม่น้ำ แล้วเสด็จลงไป ประทับนั่งบนกองทราย ทรงตัดพระเมาลี ด้วยพระขรรค์ เปลี่ยนชุดทรงกษัตริย์เป็นผ้ากาสาวพัตร์ แล้วทรงตั้งจิตอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จากนั้นทรงส่งนายฉันนะนำเครื่องทรงกษัตริย์กลับนคร แล้วเสด็จลำพังโดยพระองค์เดียว มุ่งพระพักตร์ ไปยังแคว้นมคธ
    เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1 มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า “...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริงแต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!" ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า"เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด" นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า"ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด"

    ReplyDelete
  3. ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช ซึ่งนักวิชาการพุทธศาสนาบางท่านอ้างว่าการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่ทรงเสด็จออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว โดยอ้างจากโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า "...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...” อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตามพุทธวจนะไม่ได้กล่าวว่าทรงผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดา เพียงแต่ตรัสว่าทรงผนวชขณะทั้งสองพระองค์กรรแสง ซึ่งอาจเป็นเพราะทรงหนีจากพระราชวังแล้วผนวชในตอนเช้า (สอดคล้องกับอรรถกถา) เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบในเช้านั้นจึงเสียพระทัย การผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะและการกรรแสงของพระราชบุพการีจึงเป็นเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่เหตุการณ์จากนี้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุตรงกันว่า เมื่อพระองค์ถือเพศบรรพชิตแล้ว ก็ทรงศึกษาในลัทธิคณาจารย์ต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นนิยมกัน ส่วนเจ้าชายสิทธํตถะเมื่อครองเพศบรรพชิตแล้ว ทรงถือวัตรปฏิบัติของสมณะ คือปลงผมนุ่งผ้า ย้อมน้ำฝาด (สีเหลืองแก่นขนุน) เลี้ยงชีพด้วย อาหารบิณฑบาต ที่ผู้ต้องการบุญถวายให้ ทรงมีมีนามเรียกขานว่า พระสมณโคดม (คำว่าโคดม มาจากคำว่าโคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราช วงศ์ศากยะ) ในเบื้องต้น พระสมณโคดม ได้ไปฝากตนเป็นศิษย์ ในสำนักอาฬารดาบส ได้ฝึกจิตบำเพ็ญธรรมจนบรรลุความรู้ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือบรรลุฌานขั้นที่ 7
    เมื่อหมดความรู้ของอาจารย์อาฬารดาบสจึงอำลาไป เป็นศิษย์ในสำนักอุทกดาบส ซึ่งมีความรู้สูงกว่าอาฬารดาบสหนึ่งขั้น คือเป็นผู้บรรลุฌานขั้นที่ 8 ซึ่งพระสมณโคดม ใช้เวลาศึกษาไม่นานก็สิ้นภูมิรู้ของอาจารย์ ในที่สุด จึงอำลาไปค้นหาวิมุตติธรรม ตามแนวทางของพระองค์ ด้วยทรงประจักษ์ว่า นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้
    พระองค์จึงได้ละทิ้งสำนักอาจารย์เหล่านั้นเสีย พระองค์ได้มุ่งหน้าสู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแคว้นมคธ โดยทรงเริ่มการบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤต ที่เรียกว่าทุกกรกิริยา ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน อาทิการกลั้นลมหายใจเข้าออก จนเหงื่อโทรมกายหูอื้อตาลาย การนั่งตากแดดจนผิวเกรียมไหม้ ครั้นฤดูหนาว ก็ลงไปแช่น้ำจนตัวแข็งพระองค์ได้ทดลองปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมทุกวิถีทาง ก็ยังไม่สามารถบรรลุแนวทางค้นพบสัจจธรรมได้
    ขณะนั้นมีฤๅษี 5 รูป ชื่อว่า โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ตามมาปฏิบัติตนเป็น ศิษย์ ด้วยคาดหวังว่า เมื่อพระสมณโคดม ค้นพบ วิโมกขธรรม จะได้สอนพวกตนให้บรรลุด้วย
    พระสมณโคดม เริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยาขั้นสุดท้าย คือเริ่มลดอาหารที่ละน้อย ๆ จนถึงขั้นอด อาหาร จนร่างกายซูบซีดผอมแห้ง เหลือแต่หนังและเอ็นหุ้มกระดูก ทรงอาตมาบำเพ็ญเพียรถึงขั้นอุกฤตขนาดนี้ นับเป็นเวลาภึง 6 พรรษา ก็ยังไม่สามารถบรรลุวิมุตติธรรม
    ความนี้ทราบถึงท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นจอมเทพแห่งดาวดึงส์สวรรค์ จึงทรงเสด็จมาเฝ้า และดีดพิณสามสายให้ทรงสดับ วาระแรกทรงดีดพิณสายที่ 1 ซึ่งขึ้นสายไว้ตึง พอลงมือดีดสายพิณก็ขาดผึงลง วาระที่ 2 ทรงดีดพิณสายที่สอง ซึ่งขึ้นสายไว้หย่อน ปรากฏเป็นเสียงที่ยืดยาดขาดความไพเราะ วาระที่ 3 ทรงดีดพิณสายสุดท้ายที่ขึ้นสายไว้พอดี เป็นบทเพลงที่ไพเราะกังวาน พร้อมกับถวายบังคมลากลับไป
    พระสมณโคดม ทรงสดับแล้วก็ทรงทราบถึงเหตุแห่งการมาของท้าวสักกเทวราช จึงได้แนวพระดำริว่า การบำเพ็ญทุกขกิริยานั้น เป็นการทรมาณตนให้ลำบากเปล่า เป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไปไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ การบำเพ็ญเพียรทางสมาธิจิตนั้น ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป น่าจะเป็นทางแห่งการตรัสรู้ได้ จึงเริ่มเสวยพระกระยาหารดังเดิมเพื่อให้ร่างกายคลายเวทนา มีสมาธิที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป ทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตรสู่เบื้องบูรพาทิศ ตั้งจิตแน่แน่วว่าตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาน จักไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์ พญาวัสสวดีมาร เข้าทำการขัดขวางการตรัสรู้ของพระมหาบุรุษ แต่พ่ายแพ้ไป ด้วยอำนาจบารมี ครั้นพญามารพ่ายแพ้กลับไปแล้ว พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้าฌาน เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ จนเวลาผ่านไปพระองค์ได้บรรลุถึงญาณต่างๆ ดังนี้
    • ยามต้น ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ การระลึกชาติในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
    • ยามสอง ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
    • ยามสาม ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือ รู้วิธีกำจัดกิเลส (มาร) ด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ReplyDelete
  4. พระองค์จึงพบกับความสุขสว่างอย่างแท้จริง ซึ่งเรียกกันว่าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ณ อุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ขณะมีพระชนม์ได้ 35 พรรษาเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้แสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ วันเพ็ญเดือน 8 คือวันอาสาฬหบูรณมี ซึ่งกล่าวถึงที่สุด 2อย่าง อันบรรพชิต ไม่ควรปฏิบัติ คือการลุ่มหลงมัวเมาในกาม 1 การทรมาณตนให้ลำบากเปล่า 1 มัฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนิน คืออริยสัจจสี่และมรรคมีองค์แปด 1ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้ “ธรรมจักษุ” คือดวงตาเห็นธรรม พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่าอัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ท่านโกณฑัญญะ จึงได้สมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกหลังจากโปรดปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรกแล้ว ก็มีผู้เลื่อมใสเข้ามาขอบวชจนได้พระสาวก 60 รูป พระองค์ทรงส่งพระสาวกเหล่านี้ออกไปประกาศพระศาสนาตามตำบลต่างๆ ส่วนพระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร 1,000 คน (อุรุเวลฯ 500 คน, นทีฯ 300 คน และคยาฯ 200 คน) ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิบูชาไฟและเป็นที่เคารพบูชาของชาวกรุงราชคฤห์ ในครั้งแรกพระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหารย์โดยการปราบพญานาคให้มีขนาดเล็ก ครั้งที่สองทรงแสดงพุทธานุภาพคือมีเทวดามาเข้าเฝ้า และครั้งสุดท้ายทรงแสดงนิมิตจงกรมกลางน้ำ แต่ถึงอย่างไรอุรุเวลกัสปะก็ไม่เลื่อมใสอยู่ดีจนพระพุทธองค์ต้องแสดงธรรมโปรด จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม อาทิตตปริยายสูตร แก่ชฎิลทั้ง 3 และบริวาร ทำให้พวกชฎิลทั้งหมดเกิดความเลื่อมใสขอบวชเป็นพระสาวก และได้บรรลุธรรมเป็นเวลาต่อมาทุกรูป พระองค์ทรงพาพระอรหันต์จำนวน 1,003 องค์ ไปยังกรุงราชคฤห์ และประทับ ณ สวนตาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปเข้าเฝ้า เมื่อเสด็จไปสวนตาล พระเจ้าพิมพิสารทรงนมัสการพระพุทธเจ้า ส่วนข้าราชบริพารบางส่วนยังทำเมินเฉยอยู่ พระพุทธองค์จึงทรงทำลายทิฐิมานะของข้าราชบริพารเหล่านั้นลง โดยถามพระอุรุเวลกัสสปะถึงเหตุที่เลิกศรัทธาลัทธิบูชาไฟ อุรุเวลฯ ตอบว่า ลัทธิเดิมของตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในประชาชนทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน พระพุทธเจ้าทรงสังเกตเห็นบรรดาข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ได้คลายทิฐิมานะลงแล้ว จึงทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ข้าราชบริพาร และประชาชนทั้งหลาย ผลที่ได้รับคือ พระเจ้าพิมพิสาร และข้าราชบริพารส่วนใหญ่ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วจึงทรงประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน นับถือพุทธศาสนาสืบไป
    พระอัครสาวกที่สำคัญของพระพุทธเจ้าคือ พระสารีบุตร และ พระมหาโมคคัลลานะ ในขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก เมื่อเห็นมาณพทั้งสองกำลังเดินมา จึงตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย มาณพทั้งสองคนนั้นจะเป็นอัครสาวกของเราตถาคต" มาณพทั้งสองได้ทูลของอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ พระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายการที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ เปรียบด้วยการเสด็จไปของพระราชาต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริวาร จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการไปของคนสามัญ
    ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิศดารเสมอพระองค์ เมื่อมีภิกษุมาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อจะเที่ยวจาริกไป พระพุทธเจ้ามักจะตรัสให้ภิกษุที่มาทูลลา ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อให้พระสารีบุตรได้สั่งสอน เช่นครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นจำนวนมากได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาไปชนบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระสารีบุตรได้รับการยกย่องมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" พระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่าธรรมเสนา เป็นกองทัพธรรมที่ประกาศเผยแผ่ธรรม เมื่อไปถึงที่ไหน ก็ทำให้เกิดประโยชน์และความสุขที่นั่น พระพุทธเจ้าเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่า "พระธรรมราชา" โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพฝ่ายธรรม

    ReplyDelete
  5. วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ
    1. พระอรหันต์สาวก 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
    2. พระอรหันต์สาวกหรือพระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูปนี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น เรียกว่าพิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
    3. พระอรหันต์สาวกทั้ง 1,250 รูปนี้ ต่างได้มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
    4. วันที่พระสงฆ์ 1,250 องค์มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมายนี้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือนสาม)
    ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "จาตุรงคสันนิบาต" (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช) พระองค์ก็ได้เที่ยวสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดระยะเวลา 45 พรรษา เพื่อให้ศาสนิกชนได้พบเห็นทางที่นำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคามใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ภายหลังพระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็ประชวรลงพระโลหิต[8] แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น ให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”จนกระทั่งถึงดับขันธุ์ปรินิพาน ระหว่างใต้ต้นสาละคู่ ณ แขวงเมืองกุสินารา ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน 6 ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา ประเทศกัมพูชาและพม่านับปีนี้เป็น พ.ศ. 1 แต่ในประเทศไทยนับ พ.ศ. 1 หนึ่งปีหลังจากการปรินิพพาน
    พระพุทธเจ้าทรงเทศนา สั่งสอนพุทธบริษัทเรียกว่า พระธรรมวินัย พระธรรม คือคำสอนในสิ่งที่เป็นจริงของชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน
    พระธรรมนั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ คำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับ ชีวิตประจำวันของ ผู้คนทั่วไป เรียกว่าพระสูตร และคำสอนที่เป็น หัวข้อธรรมล้วนๆ เช่น ขันธ์ 5 ปัจจยา การ 12 เป็นต้นเรียกว่าพระอภิธรรม ส่วนวินัยสำหรับพระ ภิกษุและภิกษุณี ได้แก่กฎระเบียบข้อปฏิบัติ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 7 วัน พุทธบริษัทได้ ร่วมกันรวบรวม พระสูตร พระอภิธรรมและพระวินัยจัดเข้าเป็น หมวดหมู่ได้ 84,000 หมวด รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก
    พุทธกิจ 5
    • ช่วงเช้า - ตอนเช้ามืดเสด็จออกไปบิณฑบาต เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญตักบาตร และเพื่อแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์
    • ช่วงเย็น - เสด็จออกแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น
    • ช่วงค่ำ - ทรงใช้เวลายามนี้ตอบปัญหาธรรมแสดงธรรม หรือให้คำปรึกษาแก่เหล่าภิกษุ
    • ช่วงเที่ยงคืน - ทรงใช้เวลายามนี้ตอบปัญหาธรรมแสดงธรรมแก่เทวดาที่มาเข้าเฝ้า
    • ช่วงใกล้รุ่ง - ทรงตรวจพิจารณาสอดส่องเลือกสรรบุคคลที่พระองค์ควรเสด็จไปโปรดในตอนเช้า

    ReplyDelete
  6. นักวิชาการบางส่วนยังลังเลใจในการอ้างอย่างไม่สันทัดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในพุทธประวัติ ส่วนใหญ่ยอมรับว่าพระองค์มีพระชนม์ ตรัสสอนและทรงจัดตั้งสำนักสงฆ์ แต่ไม่ยอมรับทุกรายละเอียดที่บรรจุในพุทธประวัติตามนักประพันธ์ มิเชล คาร์รัทเธอร์ (Michael Carrithers) ว่า แม้จะมีเหตุผลที่ดีในการสงสัยบันทึกดั้งเดิม แต่ "โครงร่างชีวิตนั้นจะต้องเป็นจริง การประสูติ การเจริญวัย การสละ การค้นหา การตรัสรู้และการหลุดพ้น การตรัสสอน และปรินิพพาน"ในงานเขียนพระพุทธประวัติของเธอ คาเรน อาร์มสตรอง เขียนว่า "ยากอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ในการเขียนพระพุทธประวัติเพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์สมัยใหม่ เพราะเรามีข้อมูลน้อยมากที่ถูกมองได้ว่าเหมาะสมทางประวัติศาสตร์ ... [แต่] เราสามารถมั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงมีตัวตนอยู่จริง และหลักคำสอนของพระองค์คงรักษาความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์"

    ReplyDelete
  7. หมายเหตุ
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระนามที่ใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่าเป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เชื่อว่าเป็นองค์พระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในลำดับที่ 4 คือพระโคตมพุทธเจ้า และกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่าฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในตำนานของฝ่ายเถรวาทแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาจากตำนานของเถรวาท
    ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธ ถือกันว่า พระพุทธเจ้า (พระโคตมพุทธเจ้า) พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปีก่อนคริสตกาลตามตำราไทยอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และ483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล
    ความหมายของคำว่าพุทธะในพระพุทธศาสนา พุทธะ (ภาษาบาลี พุทฺธ แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน") หมายถึงบุคคล ผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้วอย่างถ่องแท้ ในชั้นอรรถกถา จำแนกพุทธะออกเป็น 3 จำพวกด้วย กันได้แก่
    1.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีเรียกเพียง "พระพุทธเจ้า" คือบุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองและ สอนให้ผู้อื่นรู้ตาม ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ (พระโคตมพุทธเจ้า) เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
    2.พระปัจเจกพุทธะ,อีกอันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้า (อ่านว่า พระ-ปัด-เจก-กะ-พุด-ทะ-เจ้า) คือบุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเอง แต่มิได้สอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
    3.อนุพุทธะ คือบุคคลที่ตรัสรู้เนื่องด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะโดยทาง ตรงหรือทางอ้อม ผู้ที่ตรัสรู้ได้ด้วยเหตุนี้เรียกว่า พระสาวก
    ในอรรถกถาบางแห่งจำแนกเป็น 4 ดังนี้
    1.พระสัพพัญญูพุทธะ (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
    2.ปัจเจกพุทธะ
    3.จตุสัจจพุทธะ (สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล)
    4.สุตพุทธะ (ผู้เป็นพหูสูตร)

    ReplyDelete
  8. คำที่ใช้กล่าวเรียกพระพุทธเจ้ามีหลายคำดังจะกล่าวต่อไปนี้
    1.พระบรมโพธิสัตว์, พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่กำลังบำเพ็ญ บารมี 10 (โดยยิ่งยวด ๓๐ ทัศ) คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฐาน เมตตา อุเบกขา และ จะได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อังคีรส หมายถึง ท่านผู้มีรัศมีแผ่ออกมาจากพระกาย สิทธัตถะหมายถึง ท่านผู้ที่มีความเพียรพยายาม เมื่อต้องการสำเร็จ เป้าหมายที่ประสงค์จะทำ พระมหาบุรุษ เป็นคำที่ใช้เรียก พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อีกความหมายหนึ่งคือ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ตถาคต เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองมี ความหมาย 8 อย่างคือ 1.พระผู้เสด็จมา แล้วอย่างนั้น
    2.พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น
    3.พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ
    4.พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น
    5.พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น
    6.พระผู้ตรัสอย่างนั้น
    7.พระผู้ทำอย่างนั้น
    8.พระผู้เป็นเจ้า

    - ตถาคตโพธิสัทธา หมายถึง การเชื่อถือปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
    - ธรรมราชา หมายถึง ท่านผู้เป็นราชาแห่งธรรม
    - ธรรมสวามิศร, ธรรมสามิสร หมายถึง ท่านผู้เป็นใหญ่โดยเป็นเจ้าของธรรม
    - ธรรมสามี หมายถึง ท่านผู้เป็นเจ้าของธรรม
    - ธรรมิศราธิบดี หมายถึง ท่านผู้เป็นอธิปดีในธรรม เป็นคำกวีหมายถึงพระพุทธเจ้า
    - บรมศาสดา, พระบรมศาสดา หมายถึง ท่านผู้เป็น ศาสดาอันยอดยิ่ง พระผู้เป็นครูสูงสุด
    - พระบรมครู
    - พระผู้มีพระภาคเจ้า
    - พระพุทธเจ้าหมายถึง ท่านผู้รู้ดี รู้ชอบ ด้วยตนเองก่อนแล้ว สอนประชุมชนให้ประพฤติ ชอบด้วยกาย วาจา ใจ
    - พระศาสดา หมายถึง ท่านผู้ทรงสอนชนทั้งปวง
    - พระสัมพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, สมเด็จพระสัมมา
    - สัมพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
    - ภควา หมายถึง ท่านผู้เป็นผู้มีโชค หรือ ท่านผู้จำแนกแจกธรรม
    - มหาสมณะ โลกนาถ, พระโลกนาถ หมายถึง พระผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลก
    - สยัมภู, พระสัมภู หมายถึง ท่านผู้ตรัสรู้ได้โดยตนเอง ไม่มีใครมาสั่งสอน
    - สัพพัญญู, พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า หมายถึง ท่านผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
    - พระสุคต, พระสุคโต หมายถึง ท่านผู้เสด็จไปดีแล้ว

    ReplyDelete
  9. พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายเถรวาท ในพระไตรปิฏกกล่าวว่า ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว 4 พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 4 และพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปคือพระศรีอารยเมตไตรย ในทัศนะเถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ที่เหนือกว่าคนทั่วไปคือพระองค์พบทางดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง และเผยแพร่หนทางนั้นต่อสรรพสัตว์ ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เมื่อทรงดับขันธปรินิพพาน คือดับไปโดยไม่เหลือเชื้อใดๆ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องทำความดี (บารมี) มาในชาติก่อน ๆ นับชาติไม่ถ้วน (ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่า พระโพธิสัตว์)พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาเสด็จอุบัติเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะลง พระโพธิสัตว์จะทรงเลือก 5 อย่าง คือ
    1. กาล (อายุขัยของมนุษย์)
    อายุขัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสสังขารและการทำความดี หากทำดีมากขึ้นอายุก็จะเพิ่มขึ้น หากทำดีน้อยอายุขัยก็จะลดลง อายุขัยของมนุษย์อยู่ระหว่าง 10 ปีถึง 1 อสงไขยปี (1 × 10140 ปี) แต่พระโพธิสัตว์ทรงเลือกอายุขัยมนุษย์ระหว่าง 100-100,000 ปี ถ้าหากน้อยกว่า100 ปีมนุษย์จะมีจิตใจหยาบช้าเกินกว่าจะฟังธรรมให้แตกจนบรรลุพระนิพพานได้ ถ้าเกิน100,000 ปีมนุษย์จะเริ่มประมาทความแก่ ความเจ็บ ความตายเพราะอายุยืนความตายมาถึงช้า จะไม่เห็นอริยสัจ 4 หรือธรรมใดๆ
    2. ทวีป (ทวีปที่จะลงมาประสูติ)
    พระโพธิสัตว์เลือกชมพูทวีปเป็นทวีปที่จะจุติทุกครั้ง เพราะมนุษย์ในชมพูทวีปมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความเห็นทุกข์ เห็นสุข ได้ดีกว่ามนุษย์ในทวีปอื่นๆ
    สาเหตุอีกอย่างที่เลือกลงมามนุษยภูมิเพราะมนุษย์เห็นสุขทุกข์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ในอบายภูมิ
    4 มีแต่ความทุกข์ไม่เห็นสุขกระจ่าง เทวดาพรหมก็เห็นสุขมากกว่าทุกข์จนยากที่จะทำให้ เป็นพระอรหันต์ได้ อีกทั้งมนุษย์ทำบุญได้ จึงทรงเลือกมนุษย์
    3. ประเทศ (ประเทศที่จะประสูติ)
    พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น มีนักปราชญ์ เจ้าสำนัก เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยามากมาย มีผู้มีคุณธรรมมาก มาย จะสามารถเผยแพร่ธรรมให้รุ่งเรือง มีคนรู้มากได้
    4. ตระกูล (ตระกูลที่จะประสูติ)
    พระโพธิสัตว์ทรงเลือกได้ระหว่าง ตระกูลกษัตริย์ กับ ตระกูลพราหมณ์ ว่าในช่วงเวลานั้นตระกูลใดเจริญมากกว่ากัน ได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ใน 4 อสงไขยแสนมหากัปล่า สุดนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลกษัตริย์มากกว่า แต่ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลพราหมณ์มากกว่า (พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ และพระศรีอาริยเมตไตรย พุทธเจ้า) มีเพียงพระโคตมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์
    พระโพธิสัตว์ผู้ได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเลือกตระกูลศากยโคตมวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์นคร เพราะได้รับความนับถือมาก และบริสุทธิ์มา 7 รุ่นแล้ว ถ้าไม่ บริสุทธิ์แล้วลงมาจุติแล้วเป็นพระพุทธเจ้าก็ยากที่จะได้รับการนับถือ สาเหตุที่เลือกตระกูล กษัตริย์เพราะในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกัน และวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่ มีคนนับถือมากที่สุด จึงทรงเลือกวรรณะกษัตริย์
    5. มารดา (มารดาผู้ให้กำเนิดและกำหนดอายุของพระมารดาหลังประสูติ)
    พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกผู้หญิงจากตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ที่รักษาศีล รักษาธรรม ได้ดีที่สุด บริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลงในอบายมุข ไม่โลเลในบุรุษ และ ทรงกำหนดอายุของพระมารดาว่ามีประมาณเท่าใด เพราะพระครรภ์ที่ประทับแห่งพระโพธิสัตว์ผู้จะได้เสด็จอุบัติตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เปรียบประดุจพระคันธกุฎี แห่งพระบรมศาสดา ไม่สมควรแก่ผู้อื่น พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้นจะยากแก่การเผยแผ่ศาสนา เพราะจะถูกโจมตีว่ามารดาของพระศาสดาไม่บริสุทธิ์ พระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานเป็นพระพุทธมารดามาแต่อดีตกาล เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ 7 วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณี พระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพราะอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า

    ReplyDelete
  10. ประเภทของพระพุทธเจ้า
    ในพระไตรปิฎกจะแบ่งประเภทของพระพุทธเจ้าไว้ดังนี้ การแบ่งประเภทของพระพุทธเจ้าตามวิธีการสร้างบารมี
    1.ปัญญาธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี 20 อสงไขยกับอีก 100,000 มหากัป ตั้งความปารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้ในใจ 7 อสงไขย กล่าววาจาปารถนาเป็นพระพุทธเจ้า 9อสงไขย นับเวลาตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก 4 อสงไขยกัป กับอีก 100,000 มหากัป
    2.ศรัทธาธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี 40 อสงไขยกับอีก 100,000 มหากัป ตั้งความปารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้ในใจ 14 อสงไขย กล่าววาจาปารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
    18 อสงไขย นับเวลาตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก 8 อสงไขยกัป กับอีก 100,000 มหากัป
    3.วิริยะธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ความเพียรเป็นตัวนำ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี 80 อสงไขยกับอีก 100,000 มหากัป ตั้งความปารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้ในใจ 28 อสงไขย กล่าววาจาปารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
    36 อสงไขย นับเวลาตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก 16 อสงไขยกัป กับอีก 100,000 มหากัป

    ReplyDelete
  11. ในคัมภีร์อนาคตวงศ์นั้น ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอนาคต 10 พระองค์ที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนี้
    1. พระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระอชิตเถระ (เป็นคนละองค์กับชื่อที่ปรากฎในพระไตรปิฎก) ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนม์ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
    2.พระรามะสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคืออุตมรามราช ตรัสรู้ที่ไม้แก่นจันทน์แดง พระชนม์ 9 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
    3. พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนม์ 5 หมื่นพรรษา พระกายสูง 16 ศอก
    4. พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคืออภิภูเทวราช ตรัสรู้ที่ไม้รังใหญ่ พระชนม์ 1 แสนพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
    5. พระนารทะสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคืออสุรินทราหู ตรัสรู้ที่ไม้แก่นจันทน์แดง พระ ชนม์ 1 หมื่นพรรษา พระกายสูง 20 ศอก
    6. พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือจังกีพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้ดีปลีใหญ่หรือไม้ เลียบ พระชนม์ 5 พันพรรษา พระกายสูง 60 ศอก
    7. พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือสุภพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้จำปา พระชนม์ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
    8. พระนรสีหสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือโตเทยยพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้แคฝอย พระชนม์ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 60 ศอก
    9. พระติสสสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือช้างนาฬาคีรี ตรัสรู้ที่ไม้ไทร พระชนม์ 8 หมื่น พรรษา พระกายสูง 80 ศอก
    10. พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือช้างปาลิไลยกะ ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนม์ 1 แสนพรรษา พระกายสูง 60 ศอก

    ReplyDelete
  12. พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน
    นิกายมหายานยอมรับพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาททั้งหมดและยังสร้างพระพุทธเจ้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นมนุษย์และมีสถานะเหมือนเทพเจ้าในศาสนาฮินดู นิกายมหายานเชื่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ พุทธเกษตรซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามกว่าสวรรค์ พระพุทธเจ้าตามคติมหายานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
    1.อาทิพุทธะ ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติมาพร้อมกับโลกและประทับอยู่กับโลกเป็นนิรันดร์ มีบทบาทคล้ายพระพรหมในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล
    2.พระมานุสสพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่อวตารมาจากอาทิพุทธะมาเกิดในโลกมนุษย์และบำเพ็ญเพียรในฐานะพระโพธิสัตว์จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อปรินิพพานแล้วจะไปอยู่กับอาทิพุทธะ คล้ายกับคติของศาสนาฮินดูที่เมื่อทำความดีถึงขั้นสูงสุดจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาพรหม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจจุบัน ทางมหายานเรียกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระมานุสสพุทธะด้วยเช่นกัน
    3.พระธยานิพุทธะ เป็นพุทธะที่อวตารมาจากอาทิพุทธะเช่นกันแต่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจฌาน (ธยาน) ของอาทิพุทธะไม่ได้ผ่านการบำเพ็ญเพียรในโลกมนุษย์ พุทธะ เหล่านี้ประทับบนสวรรค์ ในสภาวะกายทิพย์ มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่มองเห็นได้
    4.พระพุทธเจ้าอื่นๆ เช่น พระสัทธรรมวิทยาตถาคต พระไภษัชยคุรุทั้ง 7 พระสหัส ประภาราชาศานติสถิตยตตถาคต พระประภูตรัตนะ

    จำนวนของพระพุทธเจ้า
    ในคัมภีร์ของทางมหายานนั้นได้ระบุนามของพระพุทะเจ้าไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธเจ้า 35 พระองค์ พระพุทธเจ้า 53 พระองค์ และที่มากที่สุดคือพระพุทธเจ้า 3,000 พระองค์ โดยแบ่งเป็น
    พระพุทธเจ้าในกัปอดีตซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์อดีตสมัยอลังการกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระปุณฑริกประภาพุทธเจ้าเป็นองค์แรกจนถึงพระเวศภูพุทธเจ้า เป็นองค์สุดท้าย พระพุทธเจ้าในกัปปัจจุบันซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์ปัจจุบันสมัยภัทรกัลป์สหัสพุทธนามสูตร1,000 พระองค์ เริ่มจากพระวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นองค์แรกจนถึงพระรุจิพุทธเจ้าเป็นองค์สุด ท้าย ซึ่งพระรุจิพุทธเจ้านี้ปัจจุบันคือพระเวทโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าในกัปอนาคตซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์อนาคตสมัยนักษัตรกัลป์สหัสพุทธนาม สูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระสูรยประภาพุทธเจ้าเป็นองค์แรกจนถึงพระสุเมรุลักษณ์ พุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย

    ReplyDelete
  13. พระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน
    ประเภทของพุทธะ อนุพุทธะ • ปัจเจกพุทธะ • สัมมาสัมพุทธะ
    พระพุทธเจ้าในอดีต (ตามคัมภีร์พุทธวงศ์)
    • พระตัณหังกรพุทธเจ้า • พระเมธังกรพุทธเจ้า • พระสรณังกรพุทธเจ้า • พระทีปังกรพุทธเจ้า • พระโกณฑัญญพุทธเจ้า • พระมังคลพุทธเจ้า • พระสุมนพุทธเจ้า • พระเรวตพุทธเจ้า • พระโสภิตพุทธเจ้า • พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า • พระปทุมพุทธเจ้า • พระนารทพุทธเจ้า • พระปทุมุตรพุทธเจ้า • พระสุเมธพุทธเจ้า • พระสุชาตพุทธเจ้า • พระปิยทัสสี • พระอัตถทัส • สีพุทธเจ้า • พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า • พระสิทธัตถพุทธเจ้า • พระติสสพุทธเจ้า • พระปุสสพุทธเจ้า • พระวิปัสสีพุทธเจ้า • พระสิขีพุทธเจ้า • พระเวสสภูพุทธเจ้า • พระกกุสันธพุทธเจ้า • พระโกนาคมนพุทธเจ้า • พระกัสสปพุทธเจ้า• พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน
    • พระโคตมพุทธเจ้า• พระพุทธเจ้าในอนาคต

    (ตามคัมภีร์อนาคตวงศ์)
    • พระศรีอริยเมตไตรย • พระรามะสัมพุทธเจ้า • พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า • พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า • พระนารทสัมพุทธเจ้า • พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า • พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า • พระนรสีหสัมพุทธเจ้า • พระติสสัมพุทธเจ้า • พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า • พระธยานิพุทธะ• พระไวโรจนพุทธะ • พระอักโษภยพุทธะ • พระอมิตาภพุทธะ • พระรัตนสัมภวพุทธะ • พระอโมฆสิทธิพุทธะ • พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ
    ตามคติมหายาน
    อาทิพุทธะ • พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต • พระสัทธรรมวิทยาตถาคต • พระสหัสประภาราชาศานติสถิตยตตถาคต • พระประภูตรัตนะ

    ReplyDelete