Showing posts with label อุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐาน. Show all posts
Showing posts with label อุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐาน. Show all posts

Thursday 31 May 2012

อุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐาน

อุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานมีมาก เรียกว่าเป็นกรรมฐานที่มีความละเอียด อานาปานุสสติกรรมฐานอาศัยลมเป็นสำคัญ ถ้าวันใดลมหายใจหยาบ แสดงว่าวันนั้นจะปรากฎว่าอาการคุมสมาธิไม่ดี จะมีอาการอึดอัด บางครั้งจะรู้สึกว่าแน่นที่หน้าอก หรือว่าหายใจไม่ทั่วท้อง ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น หรือเกรงว่าอาการอย่างนี้จะมี เมื่อเวลาเริ่มต้นที่จะกำหนดกรรมฐาน ให้เข้าชักลมหายใจยาว ๆ สัก 3-4 ครั้ง คือหายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ สัก 3-4 ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบออกไป จากกนั้นก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่าบังคับให้หนัก ๆ หรือเบา หรือยาว ๆ สั้น ๆ การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานต้องการสติสัมปชัญญะเป็นใหญ่ อาการของลมหายใจปล่อยไปตามสบาย ๆ แค่รู้ไว้เท่านั้น ว่าหายใจยาว หรือสั้น ก็รู้อยู่ และอีกแบบหนึ่งคือ กำหนด 3 ฐาน คือ เวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก ศูนย์เหนือสะดือ เวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือริมฝีปาก คนริมฝีปากเชิดจะกระทบริมฝีปาก ริมฝีปากงุ้มจะกระทบจมูก เป็นความรู้สึก จงอย่าบังคับลมหายใจให้แรง ปล่อยไปตามปกติ ความรู้สึกมีเพียงว่ากระทบจมูกอย่างเดียว ถ้ารู้ความสัมผัสจมูกก็แสดงว่า จิตทรงได้แค่อุปจารสมาธิ ถ้าสามารถรู้การสัมผัส 2 ฐาน คือหายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก และหายใจออกรู้กระทบหน้าอก กระทบจมูก 2 จุดนี้ แสดงว่า จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ถ้ารู้ถึง 3 ฐาน หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ และเวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูก รู้ได้ชัดเจน อย่างนี้แสดงว่าจิตเข้าถึงปฐมฌาน ถ้าอารมณ์จิตละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ฌานที่ 2 ที่ 3 อย่างนี้ลมหายใจเข้าหายใจออกจะเหมือนกระแสน้ำไหลเข้าไหลออก ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก อย่างนี้แสดงว่าจิตเข้าถึงปฐมฌานละเอียด หรือว่าฌานที่ 2 ที่ 3 สำหรับปฐมฌานลมยังหยาบอยู่ แต่รู้สึกว่าจะเบากว่าอุปจารสมาธิ พอถึงฌานที่ 2 จะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลงอีก ไปถึงฌานที่ 3 ลมหายใจที่กระทบรู้สึกว่าจะเบามาก เกือบจะไม่มีความรู้สึก ถ้าเข้าถึงฌานที่ 4 ก็จะมีความรู้สึกว่าไม่หายใจเลย แต่ความจริงร่างกายหายใจเป็นปกติ ที่ความรู้สึกน้อยลงไปก็เพราะจิตกับประสาทห่างกันออกมา ตั้งแต่ปฐมฌานจิตก็ห่างจากประสาทไปนิดหนึ่ง มาถึงฌานที่ 2 จิตก็ห่างจากประสาทมากอีกหน่อย พอถึงฌานที่ 3 จิตก็ห่างจากประสาทมากเกือบจะไม่มีความสัมผัสกันเลย ถึงฌานที่ 4 จิตปล่อยประสาท ไม่รับรู้การกระทบกระทั่งทางประสาททั้งหมด จึงไม่รู้สึกว่าเราหายใจ อาการที่เข้าถึงอุปจารสมาธิ เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จิตจะมีความสงบสงัดดีขึ้น ดีกว่าอุปจารสมาธิมีความชุ่มชื่นมีความสบาย แต่ทรงได้ไม่นาน อาจจะ 1 -2 - 3 นาทีในระยะต้น ๆ แต่บางวันก็ทรงได้นานหน่อย เมื่อจิตมีความสุข รื่นเริง อาการของปิติมี 5 อย่าง ที่จะเรียกว่า อุปจารสมาธิ จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิก็คือจิตมีปิติ และจิตเข้าถึงสุข ถ้าเข้าถึงสุขก็เรียกว่าเต็มอุปจารสมาธิ อาการของจิตที่ควรแก่การพิจารณา คือ มีขนลุกซู่ซ่า ขนพองสยองเกล้า จงอย่าสนใจกับร่างกาย พยายามสนใจกับอารมณ์ที่ทรงไว้ น้ำตาไหล เวลาเริ่มทำสมาธิน้ำตาไหล ใครพูดอะไรก็น้ำตาไหล บังคับไม่อยู่ อาการโยกโคลง โยกหน้าโยกหลัง มีอาการสั่นเคลิ้ม คล้ายเหมือนปลุกพระ บางคนมีอาการตัวลอย ไม่ใช่เหาะ เป็นปิติ อาการซาบซ่าน ซู่ซ่าในกาย ตัวกายเบาโปร่ง มีความรู้สึกเหมือนตัวใหญ่ หน้าใหญ่ ตัวสูง ปิติเมื่อเกิดขึ้น เราจะมีอารมณ์เป็นสุข ซึ่งเป็นความสุขที่อธิบายไม่ได้ เป็นความสุขสดชื่น ปราศจากอามิส อาการอย่างนี้จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิในอันดับขั้นสูงสุด เป็นการเต็มในขั้นกามาวจรสวรรค์ ขณิกสมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดในกามาวาจรสวรรค์ เมื่อเต็มขั้นกามาวจรแล้ว ถ้าเลยจากนี้ก็เป็นอาการของพรหม