Thursday 31 May 2012

ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต

จริต 6 จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตชอบท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี 6 ประการคือ 1.ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูด จาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ 2.โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส จะเป็นคนที่แก่เร็ว พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว 3.โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าจ่ายออก มีค่าหรือไม่มีค่าก็เก็บหมด นิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่ อยากให้ใคร ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล เรียกว่า เป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้ 4.วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น แก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ ยาก 5.สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุผล พวกนี้ถูกหลอกได้ง่าย ใครแนะนำก็เชื่อโดยไม่พิจารณา 6.พุทธิจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี อารมณ์ที่กล่าวมา 6 ประการนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในชาติอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต นักปฏิบัติควรรู้อาการของจริตที่จิตของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติ เพื่อการละด้วยการเจริญสมาธิก็ตาม พิจารณา วิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปััสสนาญาณอารมณ์จิตเกิด ฟุ้งซ่าน ก็จะได้น้อมนำเอาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือหักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อ ให้ได้ฌานสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมเพื่อผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีทั้งหมด 40 อย่าง •อสุภกรรมฐาน 10 •อนุสสติกรรมฐาน 10 •กสิณ 10 •อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 •จตุธาตุววัฏฐาน 1 •พรหมวิหาร 4 •อรูป 4 แบ่งกรรมฐาน 40 ให้เหมาะแก่จริต สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึง ความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ว่า เมื่อใดอารมณ์จิตของ ท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใด ก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป กรรมฐาน 40 กองที่ท่านได้จำแนกไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตมีดังนี้ 1. ราคจริต ราคจริตนี้ กรรมฐานที่เหมาะคือ อสุภกรรมฐาน 10 กับกายคตนานุสสติ 1 เมื่ออารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้นแก่อารมณ์จิต จิตข้องอยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็ เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์ เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุที่ชมชอบว่าสวยงดงาม กลายเป็นของน่าเกลียดโสโครก โดยกฎของธรรมดา จนจิตใจไม่มั่วสุมกับความงามแล้ว ก็พิจารณาวิปัสสนาญาณโดยยกเอาขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา 2. โทสจริต คนมักโกรธ หรือขณะนั้นมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้น ท่านให้เอากรรมฐาน 8 อย่าง คือ พรหมวิหาร 4 วัณณกสิณ 4 (วัณณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสี เขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว) ทั้ง 8 อย่างนี้เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ เลือกที่เหมาะสมมาเพ่งและใคร่ครวญ พิจารณา อารมณ์โทสะจะค่อย ๆ คลายตัวระงับไป 3. โมหะ และ วิตกจริต อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลง และครุ่นคิดตัดสินใจไม่ค่อยได้นั้น ท่านให้เจริญอานาปานานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว อารมณ์ความลุ่มหลง ฟุ้งซ่านก็จะสงบระงับไป 4. สัทธาจริต ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ ท่านให้เจริญกรรมฐาน 6 อย่าง คือ อนุสสติ 6 ประการ คือ 1.พุทธานุสสติกรรมฐาน 2.ธัมมานุสสติกรรมฐาน 3.สังฆานุสสติกรรมฐาน 4.สีลานุสสติกรรมฐาน 5.จาคานุสสติกรรมฐาน 6.เทวตานุสสติกรรมฐาน ทั้ง 6 อย่างนี้จะทำให้จิตใจของท่านที่ดำรงสัทธาผ่องใส 5. พุทธิจริต คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ มีปฏิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน 4 อย่าง 1.มรณานุสสติกรรมฐาน 2.อุปมานุสสติกรรมฐาน 3.อาหาเรปฏิกูลสัญญา 4.จตุธาตุววัฏฐาน กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง 6 ท่านจัดไว้เป็น 5 หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะแก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้น ๆ รวม 30 อย่าง หรือ 30 กอง ที่เหลืออีก 10 กอง คือ อรูป 4 ภูตกสิณ 4(ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ) และอาโลกกสิณ 1 อากาสกสิณ 1 รวมเป็น 10 อย่าง ซึ่งเป็นกรรมฐานเหมาะแก่จริตทุกอย่าง แต่ สำหรับอรูปนั้น ถ้าใครต้องการเจริญ ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ ฌาน 4 เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นผลสำหรับผู้ฝึกสมาธิใหม่ เพราะอรูปละเอียดเกินไป *************************

11 comments:

  1. สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

    ๑. จงทำใจตนเองให้สบาย ไม่ต้องกังวลกับอะไรทั้งหมด โดยอาศัยการแยกกาย-เวทนา-จิต (อารมณ์ของจิต) และธรรมว่ามันเกิด-ดับๆ เป็นสันตติภายนอก และสันตติภายในตลอดเวลา ผู้ที่ไปรู้ธรรมเหล่านั้นคือ จิต ซึ่งเป็นตัวเราที่แท้จริงผู้ใดปฏิบัติได้ ก็รู้เท่าทันกองสังขารแห่งกาย และกองสังขารแห่งกาย และกองสังขารแห่งจิตตลอดเวลา ธรรมจุดนี้ละเอียดมาก และทำให้ทรงตัวได้ยาก ต้องใช้ความเพียนขั้นสูงสุด ใครทำได้ก็เป็นพระอรหันต์

    ๒. อานาปาเป็นฐานใหญ่ในการทำจิตให้สงบ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ จงอย่าทิ้งอานาปา พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ และพระอรหันต์ทุกองค์ ท่านก็ไม่ทิ้งอานาปา เพราะอานาปาช่วยระงับกายสังขาร หรือทุกขเวทนาของกายได้ ทำจิตให้เป็นรูปฌาน และอรูปฌานได้ แต่ไม่หลงติดอยู่ อาศัยเพียงแค่ใช้ระงับเวทนาของกาย และใช้เป็นกำลังช่วยให้จิตพิจารณาตัดกิเลสให้หมดไปเพื่อเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้นหมดกายแล้วก็หมดความจำเป็นต้องใช้

    ๓. จงตัดความกังวลในเวทนาลงเสีย เพราะเวทนาอาศัยกายอยู่ เมื่อเราแยกร่างกายออกเป็นธาตุ ๔ ก็ดี เป็นอาการ ๓๒ ก็ดี ก็จะเหลือแต่จิตเท่านั้น จะเอาเวทนามาจากไหน จุดนี้จักต้องล้างสัญญาออกจากจิตไปเสียด้วย คือ เพิกหรือลืม หรือทิ้งสัญญาไปในบัดดล ไม่คิด-ไม่จำ ล้างทั้งสังขารซึ่งเป็นอารมณ์ปรุงแต่งธรรมไปด้วยปัญญา คิดว่าธรรมดาของมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ในเมื่อขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา เราจะไปยึดมันทำไม ล้างทั้งสัญญาคือ ความจำ ความจำที่ไม่ดีเป็นพิษ เหมือนยาพิษ จิตเราก็ดื่มยาพิษ หากไปยึดเอาสัญญาที่ไม่ดีไว้ ส่วนสังขารอารมณ์ปรุงแต่งธรรมที่เป็นอกุศล ก็มาทำร้านจิตตนเองอยู่เป็นประจำ ความจริงอารมณ์ปรุงแต่งก็คือ อุปาทานขันธ์ ๕ จิตหลงไปยึดเกาะขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ตัวเราจริงๆ ก็คือจิต เป็นอมตะ ไม่เคนตาย หากไม่เข้าใจธรรมจุดนี้ จิตก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน แล้วสร้างอกุศลกรรมมาทำร้ายจิตตนเองอยู่เสมอ

    ๔. เอกายโน ภิกขเว มรรคโค สัทธานัง วิสุทธิยา กายอื่นจิตอื่นไม่สามารถทำให้จิตใจของเราเป็นสุขสงบได้ มีแต่จิตใจของเราเองเท่านั้นที่เมื่อฝึกฝนดีแล้ว เป็นหนทางเดียว ที่จักยังความสุขสงบให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ดังนั้นในเมื่อคนอยู่รวมกัน ยังตัดกิเลสไม่ได้เสมอกัน ก็ย่อมหาความสุข-สงบไม่ได้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา คนโง่ที่คิดบังคับจิตผู้อื่นให้มีความเห็นคล้อยตามเรา ยิ่งพวกโลกียชนยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า จักให้คิดไปในทางเดียวกันไม่ได้

    ๕. อย่าไปคิดรบกับใคร ให้รบกับอารมณ์กิเลสของตนเองในจิตตนเอง ขอเพียงสักแต่ว่าให้รู้อารมณ์ของตนเองรบ ๑๐๐ ครั้ง ก็ชนะทั้ง ๑๐๐ ครา

    ReplyDelete
  2. ๖. จงใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ ทุกข์กาย หรือทุกขสัจ เป็นเรื่องธรรมดาของผู้มีร่างกาย ทุกคนจะต้องพบ คนโง่เท่านั้นที่เห็นทุกข์ของกายแล้วกอดทุกข์ เลยจมอยู่กับความทุกข์ เพราะขาดปัญญา แยกทุกข์กายกับทุกข์ใจออกจากกันไม่เป็น อาทิเช่น ปวดท้องขี้-ปวดท้องเยี่ยว และหิวเกิดกับคนทุกคน ซึ่งเป็นทุกข์ของกาย ฝืนไม่ได้ ยิ่งฝืนก็ยิ่งทุกข์เพิ่มขึ้น ส่วนทุกข์ของใจ ต้องฝืน เพราะใจเป็นเรา เป็นของเรา เช่นอยากกิน แต่กายไม่ได้หิว ใครกินเพราะอยากจึงเป็นกิเลสแต่ใครกินเพราะหิวเป็นพระธรรม

    ๗. การตำหนิผู้อื่น จะผิดหรือจะถูกก็เลวทั้งสิ้น เพราะเป็นการจุดไฟเผาใจตนเองโดยตรง หากใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี ๆ จะพบว่าผิดกรรมบถ ๑๐ หมวดวาจา ๔ ด้วย ผิดพรหมวิหาร ๔ ขาดเมตตาจิตตนเองด้วย บุคคลโดยทั่วไปยังติดคำพูด ติดถูก-ติดผิด ติดดี-ติดเลว อันเป็นอุปาทานตัวยึดมั่นถือมั่นของจิต เพราะยึดติดสมมติ สมมติแปลว่าไม่จริง จึงไปยึดเอาความไม่จริง-ความไม่เที่ยงเข้า จึงเท่ากัยยึดความทุกข์ พระธรรมในข้อนี้จึงยากยิ่งในการปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติได้จิตทรงตัว จึงเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

    ๘. การเจ็บ-ป่วยเป็นของธรรมดาของผู้มีร่างกาย ทั้งๆ ที่รู้ก็ยังอดเผลอ-บ่นทำจิตให้เศร้าหมองไม่ได้ หากจิตหยาบก็ใช้ปากบ่น ให้รำคาญหูผู้อื่น เบียดเบียนจิตตนเองไม่พอยังช่วยเบียดเบียนจิตผู้อื่นด้วย หากจิตละเอียดขึ้น ก็ใช้ใจบ่น โดยลืมไปว่าใจบ่นเมื่อไหร่ ผู้อื่นเขาก็ได้ยิน โดยเฉพาะเทวดา-นางฟ้า-พรหม และพระท่านได้ยินทุกครั้งที่ใจบ่น เพราะจิตเป็นภาษากลาง จิตคิด-นึกอะไรก็ถึงกันหมด

    ๙. ธรรมในพุทธศาสนา ต้องถูกกระทบก่อนจึงจักเป็นของจริง อุปสรรคของการปฏิบัติธรรม อยู่ที่กายเราคือ ขันธมาร และอยู่ที่จิตเราคือ กิเลสมาร ผู้มีปัญญาท่านใช้มารทั้ง ๒ เป็นเครื่องทดสอบอารมณ์จิตได้อย่างดี ธรรมเนียมของคนไทย เมื่อพบกันมักถามว่า สบายดีหรือ หากตอบว่า สบายดี ก็สอบตกทุกคน เพราะคนมีร่างกาย มันมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยเท่านั้น โดยเฉพาะโรคหิวกำเริบมีกันทุกคน พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ชิคัทฉา ปรมาโรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง (โรคะ แปลว่า เสียดแทง)

    ๑๐. โลกทั้งโลกไม่มีอะไรสุขจริง นี่คืออริยสัจ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต่างบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ ๔ และพระอรหันต์สาวกของพระองค์ทุกองค์ ก็บรรลุธรรมจบกิจเป็นพระอรหันต์ได้ก็ด้วยอริยสัจ มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี นักปฏิบัติธรรมจึงไม่มีใครทิ้งอริยสัจ

    ReplyDelete
  3. ๑๑. สุข-ทุกข์เกิด เพราะจิตเกาะยึดติดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา หากวางอุปาทานขันธ์ ๕ ได้จุดเดียว ก็จบกิจในพุทธศาสนา หรือละสักกายทิฏฐิได้เด็ดขาด ก็จบกิจในพุทธศาสนา สักกายทิฏฐิ แปลว่าทุกสิ่ง-ทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงทราบจริต-นิสัย และกรรมของแต่ละบุคคลได้สร้างกันมาไม่เสมอกัน และรู้วิธีสอนให้ตรงกับจริต-นิสัย และกรรมของแต่ละบุคคลได้ทุกคน โดยไม่มีคำว่าผิด-พลาด

    ๑๒. ทำใจให้สบาย จงอย่าไปกังวลกับพวกเล่นคุณไสย เพราะจักทำให้ยิ่งเป็นสื่อให้เขาโจมตีได้ง่าย โดยให้มีสติระลึกถึงอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่เรา-ไม่มีในเรา ให้พิจารณาและเพิกความรู้สึกลงเสีย โดยคิดว่าเป็นการขาดทุนในผลของการปฏิบัติธรรม และจงอย่าประมาท หมู่นี้พวกเล่นคุณไสยเข้ามาในวัดเยอะ ให้ระวังให้ดี คาถาป้องกันคุณไสยของสมเด็จองค์ปัจจุบันคือ อิติ-ติอิ สัมปติจฉามิ-สัมปจิตฉามิ คาถาป้องกันคุณไสยของสมเด็จองค์ปฐม คือ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ปัด-ตัด ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา แล้วภาวนา คำว่า อนัตตาเข้าไว้

    ๑๓. รักษากำลังใจเข้าไว้ จงอย่าท้อถอยกับอุปสรรคทั้งปวง อะไรจักเกิดมันก็ต้องเกิด ให้ยอมรับนับถือ และเคารพในกฎของกรรม ซึ่งเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย กรรมใดที่เราไม่เคยก่อไว้ในอดีต วิบากกรรมย่อมไม่เกิดกับเราในปัจจุบัน การกระทำทุกอย่างให้มุ่งหวังเพื่อพระนิพพานเป็นที่ไปเท่านั้น โดยเล็งเห็นว่าทุกสิ่ง-ทุกอย่างเป็นของธรรมดา

    ๑๔. ทำใจให้สงบ จงอย่าว้าวุ่นใจ แม้ว่าในขณะนี้อาการทางร่างกายจักไม่ดี ก็ต้องยอมรับนับถือว่ามันเป็นของธรรมดาของผู้มีร่างกาย ไม่มีใครจักหนีความแก่-ความป่วยไข้ไม่สบาย-ความตายไปได้ ในระหว่างที่ชีวิตของร่างกายยังอยู่ย่อมจักต้องกระทบกระทั่งกับอารมณืพอใจบ้าง-ไม่พอใจบ้างเป็นธรรมดา และต้องพบกับความปรารถนาไม่สมหวังบ้างเป็นธรรมดาด้วยกันทุกคน เพราะที่สุดของโลกแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือ จึงไม่มีใครสามารถเอาสมบัติของโลกไปได้ สมบัติของโลกที่เรารัก และหวงแหนที่สุดก็คือ ร่างกายที่จิตเราอาศัยอยู่ชั่วคราว เราก็เอาไปไม่ได้ ผู้มีปัญญาตถาคตตรัสสอนให้วางอุปาทานขันธ์ ๕ ตัวเดียว ก็ไปพระนิพพานได้ ให้ล้างใจเสียใหม่ ชำระความเกาะติดในร่างกาย และทุกขเวทนาของกายลงเสียให้หมด

    ๑๕. ทำใจให้สบาย เรื่องอื่นๆ ก็จักดีขึ้นเอง จงอย่าวิตกกังวลกับเรื่องอื่นใดทั้งปวง ให้รู้จักกำหนดปล่อยวางทุกเรื่อง-ทุกราวลงให้ได้ทุกขณะจิต ธรรมะมีแต่ปัจจุบันรักษาอารมณ์ปัจจุบันให้ดีๆ สุข-ทุกข์พ้นได้ตรงนี้ สุข-ทุกข์เกิดเพราะจิตเกาะติด หรืออิงขันธ์ ๕ หรืออิงอายตนะภายใน (ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ หรือสักกายทิฏฐินั่นเอง)

    ๑๖. ศัตรูของเราคือ อารมณ์จิตของเรา ทำร้ายจิตตนเอง ดังนั้นจงอย่าหาศัตรูนอกตัวเรา วันหนึ่งๆ ไม่มีใครมาทำร้านเราได้มากเท่า อารมณ์จิตตนเองทำร้ายจิตตนเอง การที่จักพ้นภัยตนเอง พ้นได้ยากที่จุดนี้ พรหมวิหาร ๔ จึงเป็นธรรมปฏิบัติที่ละเอียดลึกซึ้ง-ปราณีต ยากที่บุคคลธรรมดาๆ จักพึงเข้าถึงได้ เพราะผู้ที่พ้นภัยตนเองได้ก็คือ พระอรหันต์



    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ReplyDelete
  4. จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์เป็นที่ชอบท่องเที่ยวของ
    จิตนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้เป็น ๖ ประการด้วยกัน คือ
    ๑. ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ
    กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล รวมความว่าอารมณ์ที่ท่องเที่ยวไปในราคะ คือ ความกำหนัด
    ยินดีนี้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของจริต มีอารมณ์หนักไปในทางรักสวยรักงาม ชอบการมีระเบียบ สะอาด
    ประณีต มีกิริยาท่าทางละมุนละไมนิ่มนวล เครื่องของใช้สะอาดเรียบร้อย บ้านเรือนจัดไว้อย่างมี
    ระเบียบ พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะสกปรก การแต่งกายก็ประณีต ไม่มีของใหม่ก็
    ไม่เป็นไร แม้จะเก่าก็ต้องสะอาดเรียบร้อย ราคจริต มีอารมณ์จิตรักสวยรักงามเป็นสำคัญ อย่าตี
    ความหมายว่า ราคจริต มีจิตมักมากในกามารมณ์ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นพลาดถนัด
    ๒. โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธเป็นเจ้าเรือน เป็นคนขี้โมโหโทโส อะไรนิดก็โกรธ อะไร
    หน่อยก็โมโห เป็นคนบูชาความโกรธว่าเป็นของวิเศษ วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้โกรธเคือง โมโหโทโส
    ใครเสียบ้างแล้ว วันนั้นจะหาความสบายใจได้ยาก คนที่มีจริตหนักไปในโทสจริตนี้ แก่เร็ว พูด
    เสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ ไม่ใคร่ละเอียดถี่ถ้วน แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว
    ๓. โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าการจ่ายออก ไม่ว่า
    อะไรเก็บดะ ผ้าขาดกระดาษเก่า ข้าวของตั้งแต่ใดก็ตาม มีค่าควรเก็บหรือไม่ก็ตามเก็บดะไม่เลือก
    มีนิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ชอบเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน
    ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล รวมความว่าเป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้
    ๔. วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีเรื่องที่จะต้องพิจารณานิดหน่อย
    ก็ต้องคิดตรองอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าตัดสิน คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น
    ร่างกายแก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก
    ๕. สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุไร้ผล พวกที่
    ถูกหลอกลวงก็คนประเภทนี้ มีใครแนะนำอะไรตัดสินใจเชื่อโดยไม่ได้พิจารณา
    ๖. พุทธจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณไหวพริบดี
    การคิดอ่านหรือการทรงจำก็ดีทุกอย่าง
    อารมณ์ของชาวโลกทั่วไป สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลอารมณ์ว่า อยู่ในกฎ ๖
    ประการตามที่กล่าวมาแล้วนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อย
    ยิ่งหย่อนกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในการละในชาติที่เป็นอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้าย
    คลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกัน ทั้งนี้ก็เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ใครมีบารมี
    ที่มีอบรมมามาก บารมีในการละมีสูงอารมณ์จริตก็มีกำลังต่ำไม่รุนแรง ถ้าเป็นคนที่อบรมในการละ
    มีน้อย อารมณ์จริตก็รุนแรง จริตมีอารมณ์อย่างเดียวกันแต่อาการไม่สม่ำเสมอกันดังกล่าวแล้ว

    ReplyDelete
  5. นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการของจริตที่จิต
    ของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละด้วยการ
    เจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของ
    อารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณอารมณ์จิต
    เกิดฟุ้งซ่าน ไปปรารถนาความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ผูกพันในทรัพย์สมบัติบ้าง วิตกกังวลถึง
    เหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เกิดอารมณ์สัทธาหวังในการสงเคราะห์ หรือมุ่งบำเพ็ญธรรมบ้าง เกิด
    อารมณ์แจ่มใส น้อมไปในความเฉลียวฉลาดบ้าง เมื่อรู้ในอารมณ์อย่างนี้ ก็จะได้น้อมนำเอา
    พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือ
    หักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อผลให้ได้ญาณสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมที่
    พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีรวมทั้งหมด
    ๔๐ อย่างด้วยกัน ท่านแยกไว้เป็นหมวดเป็นกองดังนี้
    อสุภกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ กสิณ ๑๐ อาหาเรฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑
    พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ รวมเป็น ๔๐ กองพอดี

    ReplyDelete
  6. แบ่งกรรมฐาน ๔๐ ให้เหมาะแก่จริต

    เพราะอาศัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี มีมาเพื่อเป็นศาสดาทรงสั่งสอนบรรดา
    สรรพสัตว์เพื่อให้บรรลุมรรคผล ด้วยหวังจะให้พ้นจากทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
    ความเป็นสัพพัญญูของสมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ พระองค์ทรงทราบถึงความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ
    ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ด้วยตรัสเป็นพระพุทธฎีกาไว้ว่า เมื่อใดอารมณ์
    จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใดก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกัน
    เข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อ
    มรรคผลนิพพานต่อไป ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงสนใจเรียนรู้กรรมฐาน ๔๐ กอง และจริต ๖
    ประการ ตลอดจนกรรมฐานที่ท่านทรงจัดสรรไว้เพื่อความเหมาะสมแก่จริตนั้นๆ ท่องให้ขึ้นใจไว้
    และอ่านวิธีปฏิบัติให้เข้าใจ เพื่อสะดวก เมื่อเห็นว่าอารมณ์เช่นใดปรากฏ จะได้จัดสรรกรรมฐานที่
    พระพุทธองค์ทรงกำหนดว่าเหมาะสมมาหักล้างอารมณ์นั้นๆ ให้สงบระงับ ถ้านักปฏิบัติทุกท่านปฏิบัติ
    ตามพระพุทธฎีกาตามนี้ได้ ท่านจะเห็นว่า การเจริญสมถะเพื่อทรงฌานก็ดี การพิจารณาวิปัสสนาญาณ
    เพื่อมรรคผลนิพพานก็ดี ไม่มีอะไรหนักเกินไปเลย ตามที่ท่านคิดว่าหนักหรืออาจเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น
    ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจะเห็นว่าไม่หนักเกินวิสัยของคนเอาจริงเลย
    กับจะคิดว่าเบาเกินไปสำหรับท่านผู้มีความเพียรกล้าเสียอีก กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ท่านจำแนกแยก
    เป็นหมวดไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตนั้นๆ มีดังนี้ คือ

    ReplyDelete
  7. ๑. ราคจริต

    ราคจริตนี้ ท่านจัดกรรมฐานที่เหมาะสมไว้ ๑๑ อย่างคือ อสุภกรรมฐาน ๑๐ กับกายคตานุสสติ
    กรรมฐาน อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่างในเมื่ออารมณ์รักสวยรักงามปรากฏขึ้นแก่อารมณ์จิตจงนำกรรมฐาน
    นี้มาพิจารณา โดยนำมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งจากกรรมฐาน ๑๑ อย่างนี้ ตามแต่ท่านจะชอบใจ
    จิตใจท่านก็จะคลายความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ลงได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรเลย ถ้าจิตข้อง
    อยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์
    เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุทั้งหลายที่เคยนิยมชมชอบว่าสวยสดงดงาม กลายเป็นของ น่าเกลียด
    โสโครกโดยกฎของธรรมดา จนเห็นว่าจิตใจไม่มั่วสุมสังคมกับความงามแล้วก็พิจารณาวิปัสสนาญาณ
    โดยยกเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเราโดย
    เอาอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐานเป็นหลักชัยทำอย่างนี้ไม่นานเท่าใดก็จะเข้าถึงมรรคผล
    นิพพาน การทำถูกไม่เสียเวลานานอย่างนี้

    ReplyDelete
  8. ๒. โทสจริต

    คนมักโกรธ หรือขณะนั้นเกิดมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้นขวางอารมณ์ไม่สะดวกแก่
    การเจริญฌาน ท่านให้เอากรรมฐาน ๘ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ และ วัณณกสิณ ๔ วัณณกสิณ ๔
    ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
    กรรมฐานทั้งแปดอย่างนี้ เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ ท่านจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสม
    แก่ท่าน คือตามแต่ท่านจะพอใจเอามาเพ่งและใคร่ครวญพิจารณา อารมณ์โทสะก็จะค่อยๆ คลายตัว
    ระงับไป

    ๓. โมหะ และ วิตกจริต

    อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลงและครุ่นคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด ท่านให้เจริญ
    อานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว อารมณ์ความลุ่มหลงและความคิดฟุ้งซ่านจะสงบระงับไป

    4. สัทธาจริต

    ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ เชื่อโดยปกติ หรืออารมณ์แห่งความเชื่อเริ่มเข้าสิงใจก็ตาม
    ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๖ อย่าง คือ อนุสสติ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้ (๑) พุทธานุสสติกรรมฐาน
    (๒) ธัมมานุสสติกรรมฐาน (๓) สังฆานุสสติกรรมฐาน (๔) สีลานุสสติกรรมฐาน (๕) จาคา-
    นุสสติกรรมฐาน (๖) เทวตานุสสติกรรมฐาน อนุสสติทั้ง ๖ อย่างนี้ จะทำให้จิตใจของท่านที่
    ดำรงสัทธาผ่องใส

    ReplyDelete
  9. ๕. พุทธิจริต
    คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ และมีปฎิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๔
    อย่าง ดังต่อไปนี้ (๑) มรณานุสสติกรรมฐาน (๒) อุปสมานุสสติกรรมฐาน (๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา
    (๔) จตุธาตุววัฏฐาน รวม ๔ อย่างด้วยกัน
    กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ท่านจัดเป็นหมวดไว้ ๕ หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะ
    แก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้นๆ รวม ๓๐ อย่าง หรือในที่บางแห่งท่านเรียกว่า ๓๐ กอง กรรมฐาน
    ทั้งหมดด้วยกันมี ๔๐ กอง ที่เหลืออีก ๑๐ กอง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ได้แก่ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ
    วาโยกสิณ อาโปกสิณ ๔ อย่างนี้เรียกภูตกสิณ อาโลกสิณ ๑ และอากาศกสิณอีก ๑ รวมเป็น
    ๑๐ พอดี กรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านตรัสไว้เป็นกรรมฐานกลางเหมาะแก่จริตทุกอย่าง รวม
    ความว่าใครต้องการเจริญก็ได้เหมาะสมแก่คนทุกคน แต่สำหรับอรูปนั้นถ้าใครต้องการเจริญ
    ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ฌาน ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นถ้าเจริญอรูป
    เลยทีเดียวจะไม่มีอะไรเป็นผล เพราะอรูปละเอียดเกินไปสำหรับนักฝึกสมาธิใหม่

    ReplyDelete
  10. แนวคิดเกี่ยวกับ จริต ซึ่งเป็นทฤษฏีบุคลิกภาพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีการใช้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมานานกว่า 2,500 ปี ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฏก คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และเรื่องราวในพุทธประวัติหลายเหตุการณ์ ซึ่งเรื่องของจริตนั้นสังเคราะห์จากแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาจำแนกบุคคล เพื่อเลือกกิจกรรมในการพัฒนาปัญญาให้เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ ซึ่งทำให้การพัฒนาปัญญาดำเนินไปอย่างได้ผลรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง

    จีรังจริต 6 คือ ทฤษฎีบุคลิกภาพตามแนวพุทธปรัชญา ซึ่งพัฒนาประยุกต์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในวงกว้าง เพื่อสร้างเสริม โลกิยปัญญา (รู้แจ้งรู้จริงในความรู้ทางโลก) และโลกุตตรปัญญา (รู้แจ้งเห็นจริงในทางธรรม) โดยมีการพัฒนาโปรแกรมแบบสำรวจที่มีมาตรฐานและความเที่ยงตรงสูงเป็นเครื่องมือในการวัดบุคลิกภาพ

    จริต คือ ลักษณะนิสัยพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติ เป็นพฤติกรรมตามสภาพของจิตใจอันเป็นปกติของบุคคลนั้น โดยแบ่งออกเป็น 6 แบบ คือ


    1. ราคจริต (คุณรักงาม) มีลักษณะเป็นคนสุนทรีย์ในอารมณ์ รักสวยรักงาม พูดจาอ่อนหวาน สะอาด ประณีต
    2. โทสจริต (คุณเก่งเกณฑ์) มีลักษณะเป็นคนจริงจัง เจ้าระเบียบ ใจร้อน โมโหง่าย ชอบชี้นำ พูดดัง เดินเร็ว
    3. โมหจริต (คุณฝันซึ้ง) มีลักษณะเป็นคนชอบคิดฝัน ชอบสะสม ยิ้มง่าย พูดไม่เก่ง ไม่ค่อยมั่นใจตนเอง เชื่อคนง่าย
    4. วิตกจริต (คุณสลับใจ) มีลักษณะเป็นคนชอบคิดการณ์ไกล แต่เปลี่ยนใจบ่อย หน้าตาไม่ค่อยสดชื่น พูดเก่ง ละเอียดลออ
    5. ศรัทธาจริต (คุณเลิศหลง) มีลักษณะเป็นคนนับถือตนเอง เสียสละ มีหลักการ มีศรัทธาแรงกล้าในสิ่งที่เชื่อถือ
    6. พุทธิจริต (คุณปัญตา) มีลักษณะเป็นคนมีไหวพริบ จดจำเรียนรู้ได้ดี มีปัญญาดี ประนีประนอม สุภาพ มีเมตตาสูง

    เป็นธรรมชาติของบุคลิกภาพแต่ละคนที่จะมีจริตผสมอยู่ทุกแบบแต่สัดส่วนแตกต่างกันไป แต่มักจะมีจริตเด่นในสัดส่วนที่สูงอยู่ 1-2 แบบในคน ๆ เดียวกัน โดยทฤษฏีตามแนวพุทธปรัชญาเชื่อว่า เหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันเกิดจาก “กรรมในอดีต” และสัดส่วนองค์ประกอบของ “ธาตุทั้ง 4” ภายในร่างกายของแต่ละคน

    รู้จริตแล้วได้ประโยชน์อะไร

    ความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะด้านการศึกษา การงาน ครอบครัว หรือด้านอื่น ๆ มีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการทำหน้าที่และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องเข้าใจธรรมชาติของตนเองและผู้อื่นเป็นอย่างดี ว่ามีลักษณะนิสัยพื้นฐานเป็นอย่างไร รู้ข้อดีและข้อจำกัดของกันและกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในบทบาทของแต่ละคน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในองค์กรและสังคมประเทศ่ชาติ ซึ่งองค์ความรู้ด้านจริตนั้น จะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของตนเองและผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นบุคลิกภาพพื้นฐานตามที่เป็นจริงในปัจจุบัน

    ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการรู้จริตนั้น คือ ประโยชน์ด้านการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพเพื่อการประกอบอาชีพ และการพัฒนาด้านจิต (อารมณ์) และจิตวิญญาณ(ปัญญา) ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับจริต ถึงจะได้ผลดี การรู้จริตของตน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าจะต้องพัฒนาตนเองอย่างไร มีสิ่งใดที่เหมาะสมอยู่แล้ว มีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข

    ReplyDelete
  11. การวิเคราะห์จริตของบุคคลนั้นทำได้ค่อนข้างยาก วิธีแรกเป็นวิธีดั้งเดิมต้องอาศัยผู้มีญาณหยั่งรู้เป็นผู้พิจารณา วิธีที่สองต้องใช้ชีวิตใกล้ชิดกับผู้มีความรู้ความชำนาญเรื่องจริตระยะเวลาหนึ่งแล้วให้ช่วยพิจารณาให้ โดยจะพิจารณาจากการทำงาน การเดิน การนอน การนุ่งห่ม การรับประทานอาหาร และปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ รอบกาย วิธีที่สามต้องศึกษาและวิเคราะห์ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งสามวิธีนั้นเป็นวิธีที่ปฏิบัติได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดด้านต่าง ๆ

    ReplyDelete