Thursday 31 May 2012

อสุภกรรมฐาน

อสุภกรรมฐาน อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน รวมได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรก โสโครก น่าเกลียด กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐานมี 10 อย่าง มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถจะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้ เป็นกรรมฐานด้านพิจารณามากกว่าการเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายกับวิปัสสนาญาณมาก นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐานจนทรงปฐมฌานได้ดีแล้ว พิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์วิปัสสนาญาณได้ อสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัดราคจริตเหมือนกันทั้ง 10 กอง ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลได้ไม่ยากนัก อสุภกรรมฐาน 10 อย่าง 1.อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายขึ้นบวมพอง ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง 2.วินีลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว ปะปนคน สีแดงในที่มีเนื้อมาก สีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก สีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุม ร่างของผู้ตายส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยผ้า สีเขียวจึงมากกว่า ดังนั้นจึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว 3.วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ 4.วิฉิทททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาดออกจากกัน 5.วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน 6.วิขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย 7.หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ 8.โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลอออกเป็นปกติ 9.ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่ 10.อัฏฐกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก

9 comments:

  1. การพิจารณาอสุภ

    การพิจารณาอสุภทั้ง 10 อย่างนี้ ท่านให้พิจารณาเพื่อถือเอานิมิตโดยอาการ 6 อย่างต่อไปนี้

    1.พิจารณาโดยสีี คือกำหนดว่า ซากศพนี้เป็นร่างกายของคนดำหรือคนขาว หรือร่างกายผิวไม่เกลี้ยงเกลา
    2.พิจารณาโดยเพศ อย่ากำหนดว่าร่างกายนี้ชายหรือหญิง พึงพิจารณาว่า ซากศพนี้เป็นร่างกายของคนที่มีอายุน้อย กลางคนหรือคนแก่
    3.พิจารณาโดยสัณฐาน คือพิจารณาว่า นี่เป็นคอ เป็นศีรษะ เป็นท้อง เป็นขา เป็นเท้า เป็นแขน เป็นต้น
    4.กำหนดโดยทิศ ทิศนี้หมายเอาสองทิศ คือ ทิศเบื้องบน ได้แก่ทางด้านศีรษะ ทิศเบื้องต่ำ ได้แก่ทางด้านปลายเท้าของซากศพ มิได้หมายถึงทิศเหนือทิศใต้
    5.พิจารณาโดยที่ตั้ง ให้กำหนดว่า ซากศพนี้ศีรษะวางอยู่ตรงนี้ มือวางอยู่ตรงนี้ เท้าอยู่ตรงนี้ เวลาพิจารณาอสุภนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้
    6.พิจารณาโดยกำหนดรูู้้ หมายถึงการกำหนดรู้ว่า ร่างกายสัตว์และมนุษย์นี้มีอาการ 32 เป็นที่สุด ไม่มีอะไรสวยสดงดงามจริง ความจริงแล้วเป็นของน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็นคลุ้ง มีสภาพขึ้นอืดพอง มีน้ำเลือดน้ำหนองเต็มร่างกาย หาที่น่ารักไม่มีเลย ที่มองเห็นว่าดีหน่อยก็หนังกำพร้าที่ห่อหุ้มภายในอยู่ แต่หนังนี้ก็ใช่ว่าจะสวยสด ถ้าไม่คอยขัดถู ไม่นานก็เหม็นสาบ น่ารังเกียจ ตอนมีชีวิตอยู่ก็เอาดีไม่ได้ พอตายแล้วยิ่งโสโครกใหญ่ กลายเป็นซากศพขึ้นอืดพอง น้ำเหลืองไหลกลิ่นเหม็น เมื่อกำหนดพิจารณาทราบว่า ร่างกายของซากศพทั้งหลายนี้แล้ว ก็น้อมนึกถึงสิ่งที่ตนรัก ที่เห็นว่าเขาสวย เอาความจริงจากซากอสุภเข้าไปเปรียบเทียบดู ว่าที่เห็นว่าเขาสวยสดงดงามนั้น มีอะไรต่างกับซากศพนี้บ้าง ปากที่ชมว่าสวย เต็มไปด้วยเสลด น้ำลาย ของตัวเองพอกลืนได้ แต่รังเกียจของคนอื่นไม่กล้าแ้ม้แต่ที่จะแตะ

    ReplyDelete
  2. ซากศพนั้นมีสภาพอย่างไร เมื่อตายแล้วจากความเป็นคนหรือสัตว์ เราเรียกกันว่าผีตาย มีสภาพอย่างไรเมื่อตาย แม้ยังไม่ตายสิ่งเหล่านั้นก็มีครบ พิจารณาคนที่เรารักมีสภาพอย่างนั้น ใคร่ครวญให้เห็นติดอกติดใจจนกระทั่งเห็นสภาพของผู้ใดก็ตาม มีความรู้สึกว่าเป็นซากศพทันที เห็นคนหรือสัตว์มีสภาพเป็นซากศพไปหมด เต็มไปด้วยความรังเกียจ เห็นผิวภายนอกก็มองเห็นภายใน คือเห็นเป็นสภาพถุงน้ำเลือด ถุงอุจจาระ ปัสสาวะที่เคลื่อนที่ได้ ต่อไปเขาก็จะกลายเป็นซากศพที่มีร่างกายอืดพอง น้ำเหลืองไหล เราก็เช่นเดียวกัน เขามีสภาพเช่นไร เราก็มีสภาพเช่นนั้น กายนี้ล้วนแต่เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย เมื่อไม่เที่ยงอย่างนี้เป็นทุกขัง ความทุกข์อันเกิดแต่ความเคลื่อนไปหาความเสื่อมอย่างนี้ เป็นอนัตตา เพราะเราจะบังคับควบคุมไม่ให้เคลื่อนไปไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมดา
    พิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์อันเกิดแต่ร่างกาย เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเองและผู้อื่น เห็นเมื่อไหร่เบื่อหน่ายหมดความพอใจเมื่อนั้น เห็นคนมีสภาพเป็นศพทุกขณะที่เห็นอย่างนี้ เรียกว่า ได้้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนา

    ReplyDelete
  3. อารมณ์ ที่เห็นว่า ร่างกายนอกจากจะโสโครกน่าสะอิดสะเอียนแล้ว เบื่อหน่ายในการทรงสังขาร เบื่อที่จะเกิดต่อไป เพราะถ้าเกิดมีร่างกายในภาพใด ร่างกายก็จะมีสภาพโสโครกสกปรก เป็นซากศพและไม่เที่ยง เป็นทุกข์บังคับไม่ได้ เบื่อในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ ใคร่ครวญหากฎธรรมดาควบคู่กันไป วางใจเฉยเพราะนี่เป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดมาก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย มีลาภแล้วก็เสื่อมได้ มียศก็เสื่อมได้ มีสุขก็ทุกข์ได้ มีสรรเสริญก็มีนินทาได้ เกิดแล้วก็ต้องตายได้ ทุกอย่างมันธรรมดา จนจิตชินต่ออารมณ์ มีทุกข์ก็รู้สึกว่าเป็นปกติ ไม่หวั่นไหว เรียกว่า ได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้ความเป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว หมั่นคิดว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย มีจิตใจศรัทธาเชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จิตว่างจากกรรมชั่วครู่ คือรักษาศีล 5 ได้เป็นปกติ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ ใคร่ครวญปรารถนาแต่พระนิพพาน ไม่ต้องการเกิดต่อไป อย่างนี้ท่่านว่า ทรงคุณได้ในระดับพระโสดาบัน
    ฉะนั้น ขอให้ท่านที่ปฏิบัติในอสุภกรรมฐานจงพยายามกำหนดพิจารณาให้ขึ้นใจจนได้ปฏิภาคนิมิตในที่สุด และรักษานิมิตนั้นไว้อย่าให้เสื่อมไป ยกเอานิมิตนั้นขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ภายในไม่ช้าเลย การพิจารณาอย่างนี้เรียกว่า พิจารณากำหนดรูู้้
    *************************

    ReplyDelete
  4. นิมิตในอสุภกรรมฐาน
    อสุภกรรมฐานมีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดในการเข้าถึงเหมือนกสิณ แต่ต่างจากกสิณ ตรงที่เอารูปซากศพเป็นนิมิต นิมิตในอสุภนี้มี 2 ระดับ คือ

    อุคคหนิมิต ได้แก่ นิมิตติดตา คือรูปเดิมที่กำหนดจดจำไว้
    ปฏิภาคนิมิต ได้แก่ นิมิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ รูปต่างจากภาพเดิม ดังจะยกมาต่อไปนี้
    อุทธุมาตกอสุภ
    อสุภที่ร่างกายขึ้นอืดพอง เมื่อเห็นภาพอสุภที่เป็นนิมิต ท่านให้กำหนดรูปแล้วภาวนา "อุทธุมาตะกัง ปะฏิกุลัง" ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป เมื่อเพ่งพิจารณาจนจำรูปได้ชัดเจนแล้ว ก็ให้หลับตาภาวนาพร้อมกำหนดจำรูปไปด้วย จนรูปอสุภนั้นติดตาติดใจ นึกเมื่อไหร่ก็เห็นภาพนั้น ภาพนั้นเกิดขึ้นแก่จิต คือ อยู่ในความทรงจำ ไม่ใช่ภาพลอยมาให้เห็น เมื่อภาพนั้นติดใจจนชินตามที่กำหนดจดจำไว้ได้แล้ว ท่านเรียกว่า "อุคคหนิมิต" แปลว่า นิมิตติดตา
    สำหรับปฏิภาคนิมิตนี้ รูปที่ปรากฎนั้นผิดไปจากเดิม คือรูปเปลี่ยนไปเสมือนคนอ้วนพีผ่องใส ผิวสดสวย อารมรณ์จิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ท่านเรียกว่าเข้าถึงอัปปนาสมาธิ ได้ปฐมฌาน
    เมื่อทรงสมาธิได้ถึงอัปปนาสมาธิ มีนิมิตเข้าถึงปฏิภาค คือเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นิวรณ์ทั้ง 5 ก็จะระงับไปเอง
    วินีลกอสุภ
    อสุภนี้ ปกติพิจารณาสี มีสีแดง เขียว สีขาวปนกัน เมื่อขณะกำหนดภาวนา ว่า "วินีละกัง ปะฏิกุลัง" จนภาพนิมิตที่มีสี แดง ขาว เขียว เกิดติดตาติดใจคละกันอย่างนี้ ท่านเรียกว่า อุคคหนิมิต
    ถ้าในจำนวนสีสามสีนั้น สีใดสีหนึ่งแผ่ปกคลุมสีอีกสองสีนั้นจนหนาทึบ ปิดบังสีอื่นแล้ว ทรงสภาพอยู่ได้นาน ท่านเรียกนิมิตอย่างนี้ว่า ปฏิภาคนิมิต ทางสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ ทางฌานเรียกว่า ปฐมฌาน

    ReplyDelete
  5. วิปุพพกอสุภ
    อสุภนี้พิจารณาน้ำเหลืองน้ำหนองเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า "วิปุพพะกังปะฏิกุลัง" จนเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฎเห็นเป็นน้ำหนองไหลอยู่เป็นปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีสภาพเป็นนิมิตตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่มีอาการไหลออกเหมือนอุคคหนิมิต
    วิฉิททกอสุภ
    อสุภนี้ พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อย และท่อนใหญ่ ขณะพิจารณาให้ภาวนาว่า "วิฉิททะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปซากศพขาดเป็นท่อนน้อยและใหญ่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีรูปบริบูรณ์ เสมือนมีอวัยวะครบถ้วน
    วิกขายิตกอสุภ
    อสุภนี้ พิจารณาอสุภที่ถูกสัตว์กัดกินเป็นซากศพที่เว้าแหว่งด้านหน้าและด้านหลัง และในฐานต่าง ๆ ขณะพิจารณา ให้ภาวนาว่า "วิกขายิตตะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฎเป็นรูปซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฎเป็นรูปซากศพที่มีร่างกายบริบูรณ์
    วิกขิตตกอสุภ
    วิกขิตตอสุภนี้ ให้รวบรวมเอาซากศพที่กระจัดกระจายพลัดพรากกันในป่าช้ามาวางรวมเข้าแล้วพิจารณา ขณะพิจารณา ก็ภาวนาว่า "วิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปเป็นอสุภนั้นตามที่นำมาวางไว้ มีรูปอย่างไร ก็มีรูปร่างอย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปมีร่างกายบริบูรณ์ไม่บกพร่อง
    หตวิกขิตตกอสุภ
    ท่านให้พิจารณาศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อน ๆ แล้วเอามาวางห่างกันท่อนละ 1 นิ้ว แล้วเพ่งพิจารณา ขณะพิจารณา ก็ภาวนาว่า "หะตะวิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง" อุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฎเป็นปากแผลที่ถูกสับฟัน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์
    โลหิตกอสุภ
    อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกประหาร มีมือเท้าขาดเลือดไหล ขณะพิจารณาภาวนาว่า "โลหิตะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิตมิตในอสุภนี้ ปรากฏเหมือนผ้าแดงที่ถูกลมปลิวไสวอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นสีแดงนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหว
    ปุฬุวกอสุภ
    อสุภนี้ท่านให้พิจารณาซากศพที่ตายแล้วสองสามวัน มีหนอนคลานอยู่บนซากศพนั้น ขณะพิจารณาภาวนาว่า "ปุฬุวะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ แต่ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นภาพนิ่ง คล้ายกองสำลีที่กองอยู่เป็นปกติ
    อัฏฐิกอสุภ
    อัฏฐิกอสุภนี้ ท่านให้เอากระดูกของซากศพที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มีเนื้อ เลือด เส้น เอ็น รัดรึงอยู่ก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วนของร่างกายมีเพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม มาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา ภาวนาว่า "อัฏฐิกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ จะมีรูปเป็นกระดูกเคลื่อนไหวไปมา สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น จะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ



    *************************

    ReplyDelete
  6. การพิจารณา
    การเพ่ง
    เมื่อจะเพ่งดูซากศพ ท่านให้ยืนไม่ให้ห่างเกินไป และไม่ชิดเกินไป อย่ายืืนใต้ลม ถ้ายืนใต้ลมกลิ่นอสุภจะทำให้ไม่สบาย เช่น อาเจียน หรือทำให้เกิดโรคเพราะกลิ่นได้ และอย่ายืนเหนือลมเกินไป เพราะพวกอมนุษย์ที่กำลังกัดกินเนื้ออสุภนั้นจะโกรธ จงยืนเฉียงอสุภด้านเหนือลม ลืมตาเพ่งจดจำรูปอสุภนั้นด้วย สี สัณฐาน อากรที่วางอยู่ จำให้ได้ครบถ้วน แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น ถ้าภาพนั้นเลอะเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ เมื่อจำได้แล้วให้กลับมาที่อยู่ นั่งเพ่งรูปอสุภนั้นให้ติดตาติดใจจนภาพนั้นเกิดเป็นอุคคหนิมิต ต่ออารมรณ์ที่กำหนดนั้นมั่นคงแจ่มใสขึ้นชัดเจน คล้ายกับเห็นด้วยตา และภาพนั้นมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากรูปเดิม มีสภาพผุดผ่องเป็นร่างบริบูรณ์ เรียกว่าปฏิภาคนิมิต

    ReplyDelete
  7. พิจารณา
    การเจริญอสุภกรรมฐาน ต้องหนักไปทางพิจารณา เพราถ้าใช้แต่การเพ่งจำภาพเฉย ๆ จะกลายเป็นกสิณไป การเพ่งจำภาพนั้นให้พิจารณาไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยพิจารณาตามความรู้สึกที่แท้จริงว่า อสุภ คือซากศพนี้ เป็นของน่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน ร่างกายคนและสัตว์มีสภาพน่าเกลียดอย่างนี้ แล้วน้อมภาพนั้นไปเทียบกับคนที่มีชีวิตอยู่ โดยคิดแสวงหาความเป็นจริงว่า ร่างที่สวยงามนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวยงามเลย มีแต่ความสกปรกโสโครก มีกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณร่างกาย เมื่อเทียบกับร่างของผู้อื่นแล้ว ก็มาเทียบกับของตนเอง พิจารณาให้เห็นชัดว่า เราเองก็เป็นซากศพเคลื่อนที่ ซากศพนี้มีสภาพเช่นใด เราก็มีสภาพเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ เลือด เสลด น้ำหนอง เหงื่อไคล เราเองผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรารถนาจะแตะต้อง ฉะนั้น อสุภคือสิ่งที่น่าเกลียดนี้มีอยู่ในร่างกายของเราครบถ้วน สภาพที่แท้จริงจะปรากฎ เช่นซากศพที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ จงพยายามพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริง ก่อนพิจารณาต้องเพ่งรูปให้อารมณ์จิตมีสมาธิสมบูรณ์เสียก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่าตนของตนไม่สวยไม่งามแล้ว ก็เห็นว่าคนอื่นว่าไม่สวยไม่งามได้ง่าย พยายามฝึกฝนเสมอ ๆ อารมรณ์จะเคยชิน ตัดความกำหนัดยินดีในส่วนกามารมณ์เสียได้แล้ว ชื่อว่าท่านได้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนาแล้ว แต่การได้นี้ยังไม่แน่นอน เมื่ออารมณ์ความเบื่อหน่ายเสื่อมเมื่อไร ไปกระทบความยั่วยุเพียงเล็กน้อย อารมณ์ฌานเพียงแค่ปฐมฌานก็พลันสลายตัว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสื่อมเสียไป เมื่ออารมณ์จิต หมดความหวั่นไหวนี้ ท่านให้ใช้วิปัสสนาญาณเข้าสนับสนุน

    ReplyDelete
  8. ยกนิมิตอสุภเป็นวิปัสสนา
    ธรรมดาของนิมิตที่เกิดจากอารมณ์ของสมาธิ จะเป็นนิมิตของอุปจารฌาน หรือที่เรียกว่า อุคคหนิมิต หรือขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นอารมณ์ปฐมฌานก็ตาม จะมีสภาพตลอดกาลไม่ได้ ทั้งนี้เพราะจิตไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้นานมากนัก จิตจะเคลื่อนจากฌาน ตอนที่จิตเคลื่อนจากฌานนี่แหละ ภาพนิมิตก็จะเลือนหายไป ถ้าประสงค์จะเอานิมิตเป็นวิปัสสนา เมื่อเพ่งพินิจอยู่ พอนิมิตหายไป ก็ยกอารมณ์เข้าสู่ระดับวิปัสสนาโดยพิจารณาว่า นิมิตนี้ เราพยายามรักษาด้วยอารมณ์ใจ โดยควบคุมสมาธิจนเต็มกำลังอย่างนี้ แต่นิมิตจะอยู่กับเราก็หาไม่ กลับอันตรธานหายไป ทั้งที่เรายังต้องการ นิมิตนี้มีสภาพที่จะต้องเคลื่อนหายไปตามกฎของธรรมดาฉัน ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีอันตรธานไปในที่สุด ฉะนั้น ความไม่เที่ยงของชีวิตที่มีความเกิดขึ้นนี้ มีความตายเป็นที่สุด ขึ้นชื่อว่าความเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม ต่างมีความเที่ยงเสมอเหมือนกัน เอาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย เมื่อความไม่เที่ยงมีอยู่ ความทุกข์ก็ต้องมี เพราะต้องการให้คงอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น เช่น ทุกข์จากการแสวงหาอาหาร เครื่องอุปโภค เลี้ยงชีวิตและครอบครัว ทุกข์เพราะโรคภัย ทุกข์เพราะไม่อยากให้ของรักของชอบต้องแตกทำลาย หายไป ความปรารถนาที่ฝืนความจริงตามกฎธรรมดานี้เป็นเหตุของความทุกข์ แต่ที่สุดก็ฝืนไม่ไหว ต้องแตกทำลายอย่างนิมิตอสุภนี้เหมือนกัน เดิมทีก็มีปัญจขันธ์เช่นเรา บัดนี้เขาต้องกระจัดพลัดพรากแตกกายทำลายขันธ์ออกเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แม้จะฝืนอย่างไร ก็ฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องสลายไป ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า โลก เป็น อนัตตา คือไม่มีอะไรทรงสภาพ สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขทรงสภาพปกตินั้น มีพระนิพพานแห่งเดียว ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้ คือ ท่านเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเกลียด เห็นสังขารทั้งหลายเป็นแดนของความทุกข์ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความรู้ความคิด สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ท่านไม่ยึดมั่นในสังขาร เบื่อในสังขาร เกิดมามีสังขารต้องเป็นทุกข์ ไม่ปรารถนาการเกิดอีก ไม่ว่าชาติภพใด ๆ หวังนิพพานเป็นอารมณ์ คิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีอารมณ์รัก รักสมบัติ รักยศ รักสรรเสริญ ฯลฯ ตัดฉันทะ ความพอใจในโลกทั้งสิ้น ตัดราคะ ความกำหนัดยินดีในโลกทั้งสิ้น พอใจในพระนิพพาน เมื่อทรงชีวิตอยู่ก็มีเมตตาเป็นปกติ ไม่ติตโลกามิส คือสมบัติของโลก ท่านเข้าพระนิพพาน ท่านมีอารมณ์เป็นอย่างไร บัดนี้เราผู้เป็นพุทธสาวกก็กำลังทรงอารมณ์นั้น เราเห็นความไม่เที่ยงของสังขารแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราเห็นความทุกข์เพราะการเกิดแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราเห็นอนัตตาแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราจะพยายามตัดความไม่พอใจในโลกามิสทั้งหมด เพื่อให้ได้ถึงพระนิพพานเป็นที่สุด จงคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างเนือง ๆ ทุกวันทุกลมหายใจเข้าออก ท่านจะเข้าถึงนิพพานในชาติปัจจุบัน

    ReplyDelete
  9. ภาพประสาทหลอน
    นักปฏิบัติกรรมฐานในอสุภกรรมฐานนี้ มักจะถูกอารมรณ์อย่างหนึ่งที่คอยหลอกหลอนอยู่เสมอ นั่นคือ อารมณ์อุปาทาน อารมณ์อุปาทานนี้ จขะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า จะถูกอสุภคือซากศพนั้นคอยหลอกหลอน การที่ออกไปเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาอสุภก็ดี พิจารณาอสุภอยู่ที่วิหารก็ดี บางครั้งอารมณ์จะหลอนตนเองว่า เหมือนมีภาพซากศพที่พิจารณานั้นบ้าง แสดงอาการทำร้ายตน บางคนถึงกับตกใจกลายเป็นคนเสียสติไปก็มี ความจริงแล้วไม่มีปีศาจใด ๆ มาหลอกหลอน ที่เป็นดังนั้นก็อาศัยอุปาทาน การยึดถือเดิม ที่คนเรามีมาแต่อดีตว่า ผีทำร้ายหลอกหลอน
    เมื่อมีอารมณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว ท่านให้ตัดใจว่า นี่เราฝึกเพื่อมรรคผลความดี เพื่อพ้นจากทุกข์ ซากศพที่ตายแล้วไม่มีวันจะลุกมาทำร้ายได้ ปีศาจใดที่จะทำอันตรายแก่พระโยคาวจรอย่างเรานี้ไม่มี พระอริยเจ้าท่านก็สำเร็จมรรคผลด้วยผ่านการเจิรญอสุภกรรมฐานมาแล้วทั้งสิ้น ทุกท่านไม่มีอันตรายต่อชีวิตเพราะซากศพหรือปีศาจเลย ภาพที่ปรากฎนี้เป็นภาพประสาทหลอนเป็นอารมณ์อุปาทาน ไม่มีอะไรจริงจัง แล้วตัดใจปฏิบัติต่อไป ภาพหลอนก็จะอันตรธานหายไป บางรายก็ตัดสินใจด้วยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือ เมื่อเห็นภาพหรือเกิดอารมณ์กลัวขึ้นมา ก็ตัดสินใจ เชิญเถิดถ้าเราจะต้องตายเสียในระหว่างปฏิบัติความดีนี้ถ้าจะตายเพราะถูกปีศาจทำอันตราย ก็พร้อมที่จะตาย เพราะเราไม่ปรารถนาการเกิด และไม่ปรารถนาจะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ และไม่สนใจในภาพนั้น ภาพหลอนและอารมณ์กลัวก็จะหายไป ท่านก็กลับได้สมาธิตั้งมั่นอย่างคาดไม่ถึง และมีผลทางวิปัสสนาญาณอย่างเลิศ

    *************************

    ReplyDelete