Thursday 31 May 2012

การเจริญสมถะและวิปัสสนา

การเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน ซึ่งควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆ คือไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการดังต่อไปนี้ หากทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตของผู้นั้นไม่ห่างวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรค ผล นิพพาน" คือ ๑. มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า "มรณัสสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด" อันมรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ้งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ เพราะยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก" มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย "ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า" ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า "หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด" และกล่าวไว้อีกว่า "หลงยศลืมตาย หลงกายลืมเนา" และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแนนอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมา ก็ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระ ประโยชน์อันใดมิได้เลย มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า "อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตวจะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่าอย่าฉิบหายเลย ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้" และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า "อัปปมาทธรรม" สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

9 comments:

  1. ๒. มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐาน อสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือให้มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามี ภริยาและบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตสาห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออกจนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆมิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมูหนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย

    ReplyDelete
  2. ๒. มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐาน อสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือให้มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามี ภริยาและบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตสาห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออกจนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆมิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมูหนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย

    ReplyDelete
  3. ๓. มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐาน บางทีเรียกกันง่าย ๆ ว่า "กายคตาสติกรรมฐาน" เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มาก เพราะสามารถทำให้ละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นสังโยชน์ข้อต้นๆได้โดยง่าย และเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยะเจ้าทุกๆพระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตน์ผลได้จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้งสามกองนี้เสมอ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความหลง และความโกรธ ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอกยาววาและหนาคืบนี่เอง การพิจารณา ก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่ว่า อันร่างกายของคนและสัตว์ที่เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นพืชผักและบรรดาซากศพของสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ภายในกระเพาะนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไปก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลายก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น "ขี้" มีสารพัดขี้ ซึ้งแม้แต่จะเหลือบตาไปมองก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่ เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้นเอง แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอด คลึงเคล้า เฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ว่าเป็นของสวยงาม น่ารักน่าใคร่เสน่หายิ่งนัก

    ReplyDelete
  4. เมื่อมีการขับถ่ายออกมาจากทวารหูก็เรียกกันว่าขี้หู ขับถ่ายออกมาทางตาก็เรียกขี้ตา ที่ติดอยู่กับฟันก็เรียกขี้ฟัน ที่ออกมาทางจมูกก็เรียกว่าขี้มูก รวมความแล้วบรรดาสิ่งที่ขับออกมาพอพ้นร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายมาเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลัน กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หาเพราะว่าเป็นขี้ และก็ไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของด้วย เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่าขี้ของใครก็ไม่ทราบได้ นานมาก็กลายมาเป็น "ขี้ไคล" ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว แม้แต่สังขารร่างกายของคนเราเมื่อได้แยกแยะพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความจริงที่ว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่างๆที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น เนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนัง พังผืด เส้นเอ็น เส้นเลือด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมกันเรียกว่าอาการ ๓๒ ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะยางโตงเตงอยู่ภายใน เมื่อแยกหรือควักออกมาดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงามน่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่ารังเกียจ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่านี้ก็รวมประกอบอยู่ภายในร่างกายของเราทุกผู้ทุกคน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อและสามารถมองเห็นภายในได้แล้ว แม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาดขาดใจ ก็คงจะต้องเบือนหน้าหนีอกสั่นขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นทำพิธีปัดรังควาญเรียกขวัญกันอีก หากจะถือว่าน่ารักน่าเสน่หาอยู่ที่ผืนหนังหรือแผ่นหนังรอบกาย ก็ลองลอกออกมาดูก็จะเห็นว่าไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่องรักใคร่หลงใหลกันอยู่ ก็คือผิวหรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น

    ReplyDelete
  5. ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกมาให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆแล้ว แม้จะเป็นหนังสดสวยของนางงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวย คนงาม ก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หาที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกาย หาได้สวยงามน่ารักเข้าไปถึงตับ ไต ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือดน้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิวหรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดู ก็พยายามทาลิปสติก แต่งหน้าแต่งตา ทาสี พอกแป้งย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสันต่างๆแล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แต่ที่จริงแล้วก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้งและสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ผิวนอกเท่านั้น เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ ๕ ประการค่อยๆสงบระงับทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวายแส่ส่ายไปในอารมณ์รักๆใคร่ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลงจนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพอก็อาจถึงขั้นปฐมฌานได้

    ReplyDelete
  6. กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรมหรือสภาวธรรม ซึ่งหากได้พลิกการพิจารณาอาการ ๓๒ ดังกล่าวให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าอาการ ๓๒ ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อเกิดมีอาการ ๓๒ ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารักน่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆเข้า จิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ "นิพพิทาญาณ" จะเกิดขึ้น และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ "สังขารุเปกขาญาณ" ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่าจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน - ขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำไปสู่การละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาคือเป็น "พระโสดาบัน" สมจริงตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "การเจริญกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างมรรค ผล และนิพพาน"

    ReplyDelete
  7. ฉะนั้น กายคตานุสสติกรรมฐาน จึงเป็นกรรมฐานเครื่องที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้โดยง่าย ซึ่งในสมัยพระพุทธกาล ท่านที่บรรลุแล้วด้วยพระกรรมฐานกองนี้มีเป็นจำนวนมาก ในสมัยที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ใหม่ๆได้เสด็จไปพบพราหมณ์สองสามีภารยา ซึ่งมีบุตรที่สุดสวยชื่อว่า "นางมาคัณฑิยา" พราหมณ์ทั้งสองชอบใจในพระพุทธองค์ จึงได้ออกปากยกนางมาคัณฑิยาให้เป็นภรรยา พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้และมองเห็นนิสัยของพราหมณ์ทั้งสองที่จะได้บรรลุมรรคผล จึงได้ทรงแสดงพระธรรมให้ฟัง โดยยกเอากายคตานุสติกรรมฐานขึ้นมาเทศน์ ซึ่งได้ตรัสตำหนิโทษแห่งความสวยงามแห่งรูปกายของนางมาคัณฑิยาว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นของปฏิกูล มูตรคูถเน่าเหม็น หาความสวยงามใดๆมิได้เลย พราหมณ์ทั้งสองพิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วนนางมาคัณฑิยาผูกโกรธ ต่อมาเมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี ก็ได้จองล้างจองผลาญพระพุทธองค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะแรงพยาบาท อีกท่านหนึ่งก็คือนางอภิรูปนันทา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเขมกะศากยะ ก็จัดว่ามีรูปงามที่สุดในสมัยนั้น และพระนางทรงภาคภูมิหลงใหลในความงดงามของพระนางยิ่งนัก แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยได้สร้างสมอบรมมาแล้วเป็นอันมากในอดีตชาติ เป็นเหตุให้พระนางได้สดับพระธรรมของพระพุทธองค์จากพระโอษฐ์ ซึ่งได้ทรงเทศน์กายคตานุสติกรรมฐานควบคู่ไปกับมรณัสสติกรมมฐาน แล้วทรงเนรมิตรูปกายของสาวงามที่งามยิ่งกว่าพระนางให้ปรากฏขึ้น ให้พระนางได้มองเห็น แล้วบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อยๆเจริญวัย แก่ แล้วชราโทรมๆลงจนตายไปในที่สุด แล้วก็เน่าเปื่อยสลายไปต่อหน้า พระนางก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของพระนางจนเห็นว่าอันร่างกายอันงดงามของพระนางนั้นหาได้งามจริงไม่ ทั้งเป็นอนิจจังและอนัตตา หาสาระแก่นสารที่พึ่งอันถาวรอันใดมิได้เลย จนพระนางได้บรรลุพระอรหันต์ในขขณะนั้นเอง และพระนางเขมาเทวีที่ยิ่งด้วยรูปโฉม และเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในทำนองเดียวกันนี้เอง

    ReplyDelete
  8. ๔. มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน คือนอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อ (๓) แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเนื้อ กระดูด ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกัน ตัวตนของเราไม่มี ครั้นเมื่อแยกแยะอวัยวะย่อยๆดังกล่าวออกไปจากหน่วยย่อยๆของชีวิต คือเซลล์เล็กๆที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เองก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ ที่หลงกันอยู่ว่าตัวเราของเราหาที่ไหนมิได้เลย ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหา สะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย

    ReplyDelete
  9. แม้แต่เนื้อตัว ร่างกายที่ว่าเป็นของเราก็ยังเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้จักกันมานานนับล้านๆปีคนแล้วคนเล่า ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์อำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติในอดีตกาล จนเป็นถึงมหาจักรพรรดิมีสมบัติสร้างสมมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้อื่นจนค่อนโลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไปจนหาไม่พบว่าเนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านว่าอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อกำเนิดมาเป็นตัวของท่านเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เพียงเท่านี้มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆกันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวายสะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเราซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้ เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ์ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่ามีจริงดั่งที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอมรับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายไม่ขาดทุนหรอกหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องโมฆะเสียเปล่าก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น "โมฆะบุรุษ" โดยแท้


    *************************

    ReplyDelete