Thursday 31 May 2012

เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน อันเป็นการพิจารณาอารมณ์ คือ รู้ความสุข รู้ความทุกข์ หรือความไม่สุข ความไม่ทุกข์ของจิตเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี้ พระพุทธเจ้าให้ใช้อารมณ์คิด คือรู้อยู่ ตัวนี้เป็นสัมปชัญญะ ให้รู้อยู่ว่าเวลานี้เรามีทุกข์หรือเรามีสุข หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์ จำได้แล้วนะขอรับ ทีนี้คำว่าทุกข์หมายถึงว่าจำจะต้องทน สิ่งใดก็ตาม ถ้าจำจะต้องทนละก็ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นอาการฝืนอารมณ์อย่างเราหิวข้าวนี่มันทนหิว เพราะว่าต้องจำทนหิวจนกว่าจะกินอิ่ม อย่างนี้ก็ชื่อว่าทุกข์เพราะหิวข้าว เราป่วยไข้ไม่สบายอาการกายไม่ปกติ ปวดโน่นปวดนี่ เสียดโน่นเสียดนี่ นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ เขารักเรา จะเป็นผู้หญิงก็ตาม จะเป็นผู้ชายก็ตาม จะเป็นความรักเกี่ยวกับด้านกามารมณ์ หรือเป็นความรักเกี่ยวกับความเมตตาก็ตาม ถ้าเราใช้ความพยายามให้เขารัก ต้องเอาอกเอาใจเขา นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ทีนี้เมื่อเรามีคนรักแล้ว มีคนที่เรารักเขาแล้ว แต่เกรงว่าความรักของเขาจะคลาย ต้องพยายามปฏิบัติเอาอกเอาใจเขา มันก็เป็นการฝืน นี่เป็นความทุกข์ แล้วการปวดอุจจาระปวดปัสสวะมันก็ทุกข์ มีทรัพย์สินมาก เกรงว่าทรัพย์สินจะสลายไปอย่างนี้มันเป็นความทุกข์ ทีนี้ เราเป็นคนยากจนเข็ญใจ ทรัพย์สินไม่พอใช้ ต้องแสวงหาทรัพย์ แสวงหาอย่างนี้ก็เป็นอาการของความทุกข์ การทำไร่ไถนา การค้าขาย อยากจะได้ทรัพย์สินเข้ามาต้องใช้ร่างกายด้วยความเหนื่อยยาก ต้องใช้สติปัญญา นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ความเสื่อมไป ความเสื่อมไปทีละน้อย ๆ จากเด็กไปสู่ความเป็นหนุ่มสาวเป็นแก่ จากแก่ก็จะตาย อันนี้ ก็เป็นอาการของความทุกข์ ความทุกข์คือสิ่งใดที่จำจะต้องทนอะไรก็ตามจำที่จะต้องทน บางทีทนเสียจนชิน จนไม่รู้สึกว่ามันทน เห็นเป็นของธรรมดาอันนี้ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ทีนี้มาว่ากันถึงความสุขบ้าง อาการใด ๆ ก็ตามถ้ามันมีความพอใจเกิดขึ้น นี่ว่าถึงทางโลกีย์ ไม่ใช่ความสุขโลกุตตระ สิ่งใดก็ตาม ถ้าเป็นความปรารถนาสมหวัง ถ้าเราพอใจสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นอาการของความสุข เมื่อสิ่งใดก็ตามถ้าเราปรารถนาสมหวัง หรือว่าเราชอบใจ นั่นเป็นอาการของความสุข คือสุขใจ ทีนี้อาการของอทุกข์ กับอสุข คือความไม่ทุกข์ไม่สุข จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่ใช่ มันเฉย ๆ เป็นอารมณ์ว่างจากความสุขและความทุกข์ มีอารมณ์ปลอดโปร่ง นี่เรียกว่าอทุกข์กับอสุข เวทนาในมหาสติปัฏฐาน ท่านบอกให้มีความรู้อยู่ว่าในขณะนี้จิตเรามีความสุขหรือความทุกข์ หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี ความไม่ทุกข์ไม่สุขก็ดี มีอามิสสิงอยู่หรือเปล่า คำว่าอามิส หมายความว่าวัตถุหรือสิ่งของ หรือความสุขความทุกข์นั้น หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นั้นไม่มีอามิสสิงอยู่ด้วย เป็นสัมปชัญญะเพราะว่าให้เป็นคนไม่เผลอ คิดว่าเวลานี้เราหนาวหรือเราร้อนถ้าหนาวมันก็ทุกข์ ร้อนมันก็ทุกข์ ให้รู้ว่า ทุกข์ ๆ เพราะสิ่งใด ให้รู้ว่าสุข ๆ เพราะสิ่งใด กำหนดรู้ไว้เท่านั้น รู้อย่างนี้ก็เพื่อจะให้มีสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นความไม่ประมาทในชีวิต เป็นความไม่มัวเมาในชีวิต เป็นความไม่มัวเมาในชีวิตที่คิดว่าเป็นความสุขตลอดเวลา จัดว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนไม่ประมาท รู้ความเป็นจริงของขันธ์ห้า

11 comments:

  1. จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ให้รู้อารมณ์ของจิต ว่าจิตเป็นยังไง กำหนดรู้ไว้ มี 15 ข้อ คือว่า

    รู้อยู่ว่าจิตมีราคะ
    รู้อยู่ว่าเวลานี้จิตของเราปราศจากราคะ คือ ไม่ต้องการความสวยสดงดงามใด ๆ
    รู้อยู่ว่าจิตมีโทสะ คือความโกรธ ความไม่ชอบใจ
    รู้ว่าจิตของเราปราศจากโทสะ ว่าเวลานี้เราว่าง เราไม่ได้โกรธ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร
    รู้อยู่จิตมีโมหะ คือความหลงความชั่วยึดนั่นยึดนี่ว่าเป็นเราเป้นของเรา ร่างกายก็ของเรา ทรัพย์สินก็ของเรา ลูกเมีย ผัว ตัว เมีย ลูก หลาน เป็นของเรา โมหะเป็นความโง่
    รู้ว่าจิตของเราปราศจากโมหะ คือว่าเวลานี้จิตของเรามีปัญญารู้ว่าร่างกายเรามันจะตาย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันจะสลายตัว มันไม่มีอะไรทรงสภาพมันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงทุกขัง อนัตตา สลายไปในที่สุด เป็นคนฉลาด
    มารู้อยู่ว่าจิตของเราหดหู่ คือมันเหี่ยวมันแห้งไม่มีกำลังใจ
    รู้ว่าจิตของเราฟุ้งซ่าน คิดสร้างวิมานในอากาศ คิดส่งเดชหาเหตุหาผลไม่ได้ หาสิ่งที่เป็นสาระไม่ได้
    รู้อยู่ว่าจิตมีอารมณ์ใหญ่ จิตคิดสร้างบ้านสร้างเมือง อยากมีผัวมีเมีย อยากมีลูก อยากมีทรัพย์สิน อยากมีอำนาจวาสนาว่ากันจิปาถะ หาจุดจบไม่ได้คิดเรื่อยเปื่อยไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุมีผลที่จะเป็นไปได้
    รู้ว่าจิตไม่มีอารมณ์ใหญ่ หมายความว่าเวลานี้จิตของเราอยู่ในวงแคบคิดในวงของร่างกายอย่างเดียว
    รู้อยู่ว่าอารมณ์อย่างอื่นเยี่ยมกว่า มีอารมณ์อย่างอื่นเยี่ยมกว่า นี้หมายความว่าตามธรรมดา เราเป็นคนเฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เวลานี้ซิกลับมีความปรารถนาอยากจะเป็นคนดีมีศีล อยากจะเป็นคนมีสมาธิ อยากจะเป็นคนวิปัสสนาญาณแจ่มใส คิดว่าอัตตภาพร่างกายหรือความเป็นอยู่มันไม่คงทนถาวรต่อไป ไม่ช้ามันก็ตายไม่ช้ามันก็สลายตัวเราอยากจะไปพระนิพพานดีกว่า นี่เป็นอารมณ์ที่เยี่ยมกว่า อารมณ์ธรรมดา หวังพระนิพพานเป็นอารมณ์
    รู้อยู่ว่าเราไม่มีอารมณ์ที่เยี่ยมกว่า คือยามปกติมันเกิดอารมณ์ขึ้นอีกทางหนึ่งบอกอย่าไปมันเลยนิพพาน ไปทำไม อยู่ในโลกนี้ดีกว่า มีโขน มีละคร มีหนัง มีความรัก เรียกว่าไม่มีอารมณ์ที่เยี่ยมกว่าอามรณ์ปกติ
    มีจิตตั้งมั่น รู้อยู่ว่าเวลานี้มีจิตตั้งมั่น หมายความว่าอามรณ์ส่ายที่เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะมันไม่มี อารมณ์นอกเหนือจากสมาธิที่เราตั้งใจไว้ไม่มี คือเราตั้งใจไว้ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งคืออานาปานสติกรรมฐาน อารมณ์ตั้งอยู่โดยเฉพาะไม่สอดส่ายไปในอารมณ์อื่น ๆ ยิ่งไปกว่านี้ นี่เรียกว่าอารมณ์จิตตั้งมั่น
    รู้ว่าในขณะนี้เรามีอารมณ์จิตไม่ตั้งมั่น นี่ขณะใดที่จิตมันส่ายออกนอกลู่นอกทางนอกจากอารมณ์ของมหาสติปัฏฐานสูตรหรือความดีใด ๆ ที่เราตั้งใจจะทรงไว้ แต่มันก็แลบออกไปเสียแล้วอย่างนี้เรารู้อยู่ ท่านเรียกว่ารู้อยู่จิตไม่ตั้งมั่น
    ข้อสุดท้ายเรารู้อยู่ว่าเวลานี้จิตเราหลุดพ้น รู้อยู่จิตหลุดพ้น
    เรารู้อยู่ว่าจิตไม่หลุดพ้น

    ReplyDelete
  2. พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสัมปชัญญะ ว่าขณะนี้เรามีอารมณ์เป็นยังไง คือรู้อารมณ์ คุมอารมณ์เท่านั้น ว่าเรามีอารมณ์เป็นยังไง ถ้าจิตมีอารมณ์ราคะ ก็พยายามแก้ราคะเสียจิตมีโทสะก็แก้โทสะเสีย จิตมีโมหะก็แก้โมหะเสีย หากฎของความเป็นจริง จิตนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือว่าจิตมีอารมณ์ดีหรือว่าจิตมีอารมณ์ชั่ว ถ้าจิตมีอารมณ์ดีเนื่องในกุศลส่วนใดส่วนหนึ่ง อันนั้นควรส่งเสริมพยายามทำให้มากขึ้น รักษาอารมณ์นั้นให้แจ่มใส ถ้าอารมณ์ชั่วของจิตเกิดขึ้นเมื่อใดพยายามแก้ทันที แต่เรามักจะเผลอกัน เราไม่ค่อยได้สนใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของตัวเองไม่ค่อยมีใครสนใจ มักจะไปสนใจกับเรื่องขอบบุคคลอื่น อันนี้มันเป็นอุปกิเลสนะขอรับ รวมความว่าเข้าถึงความชั่ว อุป แปลว่าเข้าไป กิเลส แปลว่าความเศร้าหมอง และสำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐานสูตรในอานาปานสติกรรมฐานแล้ว แล้วก็ทรงวิชชาสามหรือได้ทิพยจักขุญาณ สามารถดูกระแสของจิต ว่าเวลานี้จิตของเรามีสีหรือไม่มีสี สีขาวธรรมดาสีขาวอยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ในเกณฑ์จิตผ่องใส อยู่ในเกณฑ์จิตสงบ แต่ว่าจิตสงบก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องเป็นสีใสเหมือนแก้วที่ขัดดีแล้ว ต้องขัดสีแก้วให้เป็นสีประกายพฤกษ์คล้าย ๆ กระจกเงาที่ตั้งไว้ทวนแสงพระอาทิตย์ มองดูแล้วแพรวพราว ถ้ามันเป็นประกายน้อยก็ขัดให้มันเป็นประกายมาก เป็นอาการระงับกิเลส จำกัดกิเลสให้สิ้นไป

    ********************

    ReplyDelete
  3. ธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐานตอนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องนิวรณ์ห้าว่า

    กามฉันทะ ความพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัส กามแปลว่าความใคร่ มีความใคร่ในรูปสวย ๆ ในเสียงเพราะ ๆ ในกลิ่นหอม ๆ ในรสอร่อย และสัมผัสที่นิ่มนวลที่เราต้องการ บางคนต้องการแข็ง ได้รับสัมผัสแข็ง บางคนต้องการนิ่มนวล ได้รับสัมผัสนิ่มนวล
    พยาบาท คือความโกรธแล้วก็คิดจองล้างจองผลาญคนอื่น คิดจะประทุษร้าย คิดจะด่าเขาบ้าง คิดจะตีเขาบ้าง คิดจะฆ่าเขาบ้าง คิดจะกลั่นแกล้งให้เขาเสียบ้าง นี่เป็นอารมณ์คิด
    อุทธัจจะกุกกุจจะ อารมณ์ที่คิดนอกลู่นอกทาง ฟุ้งซ่านไปหาเหตุหาผลไม่ได้ นอกเหตุนอกผล ตั้งใจไว้ว่าเจริญในอานาปานสติกรรมฐานก็ดี เราคิดไว้ว่า แต่ไปเอาเรื่องราวภายนอกคิดแทรกเข้ามานี้เป็นอาการของอุทธัจจะกุกกุจจะ
    ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน จะเจริญสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี หรือจะคิดสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลก็ดี ความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้ามาตัด
    ความสงสัย เรียกว่าวิจิกิจฉา สงสัยว่าผลที่เราทำนี้มันจะได้หรือไม่ได้ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่จริงหรือไม่จริง

    ReplyDelete
  4. อาการของนิวรณ์ 5 อย่างนี้ขอรับพระคุณเจ้าที่เคารพ เป็นอาการที่กันความดี เป็นอาการของ อวิชชา คือ ความโง่ หรือโมหะ ความหลง
    คำว่า นิวรณ์ มันก็มาจากอวิชชา ความโง่ คนที่ว่าสวยที่สุดในโลก มันทรงความสวยอยู่ได้บ้างหรือเปล่า สภาพของรูปมันไม่ทรงสภาพอย่างนี้ มีความเสื่อมไปแล้วก็มีการสลายตัว
    กามฉันทะ ตัวนี้มันมาสอนจิตให้เห็นว่ารูปสวย แล้วให้เข้าใจว่าสวยตลอดเวลา เป็นความโง่ เสียงที่ผ่านหูไปแล้วก็หายไป มันเป็นสภาพอนัตตาอยู่เสมอ มันไม่คงสภาพ ฟังเสียงเพราะๆ ชอบใจ เสียงนั้นหยุดแล้วก็ต้องหาฟังใหม่ กลิ่นนี่เป็นสภาพเหมือนกัน รสก็เหมือนกัน กลิ่นผ่านจมูกนิดแล้วก็หายไป รสผ่านลิ้นหน่อยแล้วก็หายไป แล้วการสัมผัสที่ต้องการก็เหมือนกัน ที่ถูกต้องขณะสัมผัสก็ชื่นใจ แต่พอเลิกสัมผัสแล้วก็เปล่า เหลว นี่มันไม่มีอะไรคงสภาพ
    ความพยาบาท ที่คิดจะไปพิฆาตเข่นฆ่าคนอื่น จะไปฆ่าเขาทำไม จะไปโกรธเขาทำไม จะไปเกลียดเขาทำไม คนเกิดมามันก็มีดีมีชั่วเหมือนกัน เพราะอาศัยมีความโง่เสมอกัน
    ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงเหงาหาวนอน จะหากินทางโลกก็ตามทางธรรมก็ตาม ถ้าง่วงเสียแล้วมันก็ไม่มีท่า
    อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านความคิดพล่านเกิดขึ้นแก่จิต นี่เราคิดว่าจะไถนา พอคิดเรื่องไถนาเข้าแล้วไม่เอาแล้ว ไปคิดเรื่องสุ่มปลามาแทน
    วิจิกิจฉา ความสงสัย ที่พระพุทธเจ้าเทศน์ไว้นี่จริงหรือไม่จริงแล้วคำสั่งสอนที่ในพระไตรปิฎกเป็นของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า อย่างพระสูตรก็ดี ชาดกก็ดี นี่จริงหรือเปล่า
    ตอนมหาสติปัฏฐานสูตรตอนธรรมานุปัสสนานี่ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสัมปชัญญะว่านี่กามฉันทะมันเกิดขึ้นกับใจเราแล้วหรือยัง กามฉันทะนิวรณ์ ถ้าไม่มีก็จงรู้ว่าไม่มี ถ้ามีก็จงรู้ว่ามี แล้วพยาบาทความโกรธ ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนหรือความฟุ้งซ่านในอารมณ์ของจิต ความสงสัยในพระรัตนตรัย มันเกิดมีในจิตหรือเปล่า ถ้ามันเกิดขึ้นจงรู้ว่ามันเกิดขึ้น แล้วหาทางระงับเสีย แล้วขณะใดถ้านิวรณ์มันว่างจากจิต เราก็มีอารมณ์รู้ว่านิวรณ์ว่างจากจิต อารมณ์ผ่องใสมีอาการจิตสบาย เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา เราไม่มีฉันทะความพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัสใด ๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้นิวรณ์ ทั้ง 5 ประการก็เพราะว่า เมื่อรู้อยู่ว่ามันจะเกิด ก็กันไม่ให้มันเกิด มันเกิดแล้วก็ทำลายมันเสีย เมื่อทำลายมันแล้วก็ทำลายให้มันสิ้นไป ไม่ให้มันเกิดอีก ถ้านิวรณ์ 5 ประการไม่เกิดกับจิต อารมณ์ของจิตว่างจากนิวรณ์เมื่อไหร่ ก็ชื่อว่าจิตของท่านทรงปฐมฌานเป็นอย่างต่ำ
    ********************

    ReplyDelete
  5. เรื่องขันธ์ มหาสติปัฏฐานสูตรในกายานุปัสสนาก็ดี เวทนานุปัสสนาหรือว่าจิตตานุปัสสนาถึงข้อนิวรณ์ 5 อันนี้ เป็นสมถกรรมฐาน ตอนที่ว่าด้วยขันธ์นี่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ขันธ์ก็แปลว่ากอง ขันธ์ 5 แปลว่า มีอยู่ 5 กอง คือ 1 รูป 2 เวทนา 3 สัญญา 4 สังขาร 5 วิญญาณ คำว่าวิญญาณตัวนี้ไม่ใช่จิต เป็นวิญญาณที่เกาะอยู่กับขันธ์ 5 เรียกว่าประสาท การพิจารณาขันธ์ 5 นี่เป็นปัจจัยให้ได้โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ในอริยสัจ 4 ก็เหมือนกัน อริยสัจ 4 ก็เป็นการพิจารณาขันธ์ 5 คือทุกข์หรือว่าสมุทัยที่เกิดกับขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน คือคนที่จะบรรลุพระโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ อาศัยขันธ์ 5 เป็นปัจจัย

    ReplyDelete
  6. มีพระสูตรหนึ่ง สูตรนี้ก็มีอยู่ในพระธรรมบทขุททกนิกาย หรือว่ามาจากพระไตรปิฎก เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนึ่งบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายที่บวชใหม่ เข้าไปกราบทูลลาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งใจจะไปเจริญพระกรรมฐานในป่า หวังให้บรรลุมรรคผล ตอนนั้นองค์สมเด็จพระทศพลจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า "ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไปลาพระสารีบุตรแล้วหรือยัง" บรรดาพระทั้งหลายเหล่านั้นจึงกราบทูลว่ายังพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธจ้าจึงทรงมีพระบัญชาว่า อย่างนั้นก่อนที่เธอจะไปเธอจงไปลาพระสารีบุตรเสียก่อน พระเหล่านั้นก็รับคำแล้วก็ลาพระพุทธเจ้าออกไปจากพระมหาวิหารเข้าไปหาพระสารีบุตร พอเข้าไปถึงพระสารีบุตร พระสารีบุตรให้โอวาทอื่นพอสมควร แล้วพระทั้งหลายเหล่านั้นจึงได้ถามพระสารีบุตรว่า พวกกระผมเป็นปุถุชน ถ้าจะปฏิบัติตนให้เป็นพระโสดาบันจะทำยังไงขอรับ พระสารีบุตรก็บอกว่า ถ้าพวกเขาทั้งหลายปรารถนาเป็นพระโสดาบัน ก็จงพิจารณาขันธ์ 5 ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา ปลงให้ตกจนกว่าจะเลิกสังโยชน์ 3 ได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส เมื่อปลงขันธ์ 5 อย่างเดียวสังโยชน์ 3 มันจะขาดไปเอง เมื่อสังโยชน์ 3 ขาดลงไปแล้ว พวกเธอก็จะได้เป็นพระโสดาบัน พระพวกนั้นก็เลยถามต่อไปว่า เมื่อผมเป็นพระโสดาบันแล้วจะเป็นพระสกิทาคามีจะทำยังไง ท่านก็บอกว่าพิจารณาขันธ์ 5 ตามแบบนั้นแหละพิจารณาละเอียดลงไปก็จะเป็นพระสกิทาคามีเอง พระพวกนั้นก็ถามต่อไปว่า เมื่อพวกกระผมเป็นพระสกิทาคามีแล้ว จะเป็นพระอนาคามีจะทำยังไง ท่านก็บอกว่าปลงขันธ์ 5 นั่นเองทำอย่างว่านั้นแหละ แล้วกามฉันทะกับปฏิฆะ คือการกระทบกระทั่งจิต การโกรธ ความพยาบาท มันก็จะสิ้นไปเอง ก็จะเป็นพระอนาคามี ท่านพวกนั้นก็ถามต่อไปว่า ถ้าผมเป็นพระอนาคามีแล้ว ผมจะเป็นอรหันต์จะต้องทำอย่างไร ท่านบอกว่าพิจารณาขันธ์ 5 ตามที่บอกมานั่นแหละก็เป็นพระอรหันต์ไปเอง สังโยชน์ 10 ก็จะขาดไป พระพวกนั้นก็จะถามว่า เมื่อเป้นพระอรหันต์ละสังโยชน์ 10 ได้แล้วการพิจารณาขันธ์ 5 ไม่ต้องทำต่อไปใช่ไหมขอรับ พระสารีบุตรตอบว่าไม่ใช่ พระอรหันต์นี่แหละทำหนัก ยิ่งพิจารณาหนักเพื่อความอยู่เป็นสุข ขันธ์ 5 ตัวเดียวเท่านั้นแหละเป็นเหตุละกิเลสได้ทุกตัว ในขันธวรรคแห่งพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมะส่วนหนึ่ง หรือธรรมะอย่างหนึ่ง กองหนึ่ง ที่สามารถทำลายกิเลสได้ทั้งหมด เรื่องขันธ์ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อีกข้อหนึ่งภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อันได้แก่อุปาทานขันธ์ 5 อย่างไรเล่า ภิกษุทั้งหลาย จึงชื่อว่าภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอันได้แก่อุปาทานขันธ์ 5 อย่างนี้คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่ารูปอย่างนี้ รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้

    ReplyDelete
  7. รูปนี่เราสามารถจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของธาตุ 4 มีอาการ 32 มหาสติปัฏฐานต้องมองย้อนไปย้อนมาว่า คือรูปมันก็มีหนังกำพร้ามีเนื้อมีรูป มีตับไตพังผืดไส้ปอด ไม่ต้องพรรณนาอาการ 32 ครบถ้วนเป็นรูป ทีนี้รูปร่างนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไงก็ต้องไปดูธาตุ 4 อาศัยธาตุ 4 มาประชุมกัน ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เล็กแล้วก็โตมาทีละน้อย ๆ อาศัยอาการเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตขึ้น การเจริญขึ้น ก็หมายถึงการเสื่อมลงนั่นเอง เดินไปหาความพังของมันแล้วในที่สุด ก็เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายเป็นโรคะนิทัง เป็นรังของโรค คำว่าโรคะหรือโรค แปลว่าอาการเสียดแทง ทำให้ไม่สบายกายไม่สบายใจ แล้วในที่สุดมันก็เสื่อมลง ๆ แล้วก็สลายตัว คือตาย
    ว่าด้วยเรื่องรูป ในอาการ 32 ที่ว่าด้วยปฏิกูลบรรพพิจารณาอาการ 32 มาแล้ว พิจารณาธาตุ 4 รูป คือกายคตานุสติกรรมฐาน คืออาการ 32 เป็น อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ อนัตตา มีความสลายตัวไปในที่สุด
    เวทนาก็คืออารมณ์ อารมณ์ที่เป็นสุข อารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ อาการเกิดของเวทนาเป็นยังไง ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย มันเป็นเวทนาทั้งนั้น เป็นทุกขเวทนา การอยากได้ของที่ชอบใจเป็นสุขเวทนา รู้ว่าเวทนามันเกิดขึ้นแล้วก็สลายตัวไป ไม่มีอะไรคงที่ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน
    สังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งจิต หมายความถึงอารมณ์ของจิต อารมณ์ที่เข้ามาแทรกจิต ท่านกล่าวว่า อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร สังขารมี 3 ปุญญาภิสังขาร คือ อารมณ์ที่มีความสุข อปุญญาภิสังขาร ได้แก่อารมณ์ที่มีความทุกข์ อารมณ์ที่มีความสุขก็คือบุญ อารมณ์ที่มีความทุกข์ก็คือบาป ความชั่ว และอเนญชาภิสังขาร คืออารมณ์ที่วางเฉยเป็นอารมณ์กลางได้แก่อุเบกขารมณ์ เป็นอารมณ์ว่างจากกิเลส ว่างจากความสุขหรือความทุกข์ อันนี้เป็นอารมณ์ที่ปรารถนาพระนิพพาน ถ้าเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศลก็มีความสุขใจ ถ้าเป็นอารมณ์ฝ่ายอกุศลก็มีความทุกข์ใจกลัดกลุ้มใจ ถ้าเป็นอารมณ์พระนิพพานก็มีแต่ความเยือกเย็น อารมณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันไม่คงสภาพ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ ไม่คงที่ เดี๋ยวมีอารมณ์อย่างนี้ เดี๋ยวมีอารมณ์อย่างนั้น ข้อนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ให้พิจารณาว่ามันเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรทรงตัว
    สัญญา คือความจำ จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง จำได้นิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็สลายไป ตั้งอยู่ไม่ได้นาน
    วิญญาณ ที่รับรู้สภาพของอากาศ ดินฟ้าอากาศ ความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความเจ็บ ความปวด ความอ่อน ความแข็ง นี่เป็นอาการของวิญญาณ คือประสาท สัมผัสรู้ว่าอ่อน รู้ว่าแข็ง รู้ว่าเย็น รู้ว่าร้อน แล้วก็เลิกสัมผัส ไม่มีอะไรแน่นอน
    การที่มาพิจารณาเรื่องขันธ์ 5 ก็เพื่อละ อุปาทานขันธ์ 5 อุปาทาน แปลว่าเข้าไปยึดถือ ขันธ์ 5 ว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา เรามีขันธ์ 5 ขันธ์ 5 มีในเรา การที่เราจะเป็นใคร มียศฐาบรรดาศักดิ์ใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่มีความมั่นคงแน่นอน เราต้องทุกข์เพราะขันธ์ 5 เป็นอย่างมาก ไม่ว่าในเรื่องของการปวดท้อง หิวข้าว มีเวทนาต่าง ๆ การปวดเมื่อย เราไปห้ามไม่ได้ และสิ่งต่าง ๆ ก็สลายไปในที่สุด ไปยึดถืออะไรไม่ได้ ไม่มีความจีรังยั่งยืน เราคือ จิต จิตเราชั่ว เราก็ต้องหาที่เกิดต่อไป นี้คือ วิปัสสนาญาณ และสมถะ ก็อย่าทิ้ง ถ้าทิ้งก็ตายเพราะเป็นลมหายใจเข้าออก เป็นการทรงสติสัมปชัญญะ

    ********************

    ReplyDelete
  8. ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อันได้แก่อายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6 อย่างนี้ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักจักษุ รู้จักรูป รู้จักสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุกับรูป รู้ความเกิดแห่งสังโยชน์ซึ่งยังไม่เกิด มีอยู่อย่างใด ก็รู้อย่างนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดแล้ว มีอยู่อย่างใดก็รู้อย่างนั้น ความไม่เกิดอีกต่อไปแห่งสังโยชน์ที่ละแล้ว มีอย่างไรก็รู้อย่างนั้น นี่เป็นถ้อยคำของพระพุทธเจ้าที่ตรัสกับภิกษุอายตนะมีอยู่ 2 อย่างทั้งภายใน และภายนอก คือ ภายในมี 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นะขอรับ ข้างนอก 6 ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ธรรมนี่มี 6 อย่างด้วยกัน
    สังโยชน์แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด เรียกว่ามันทั้งร้อยทั้งรัดเกาะแน่นเลย เพราะอะไร เพราะลูกตาเป็นสื่อสำคัญ ตาเห็นรูปชอบรูป หูได้ยินเสียงชอบเสียง จมูกได้กลิ่น ชอบกลิ่น ลิ้นได้รส ชอบรส กายกระทบกระทั่งชอบสัมผัส เมื่อตาเห็นรูปติดรูป สังโยชน์มันเกิดอย่างนี้ หูฟังเสียงติดเสียง เสียงอะไร เสียงชมก็ติด เสียงด่าก็ติด เสียงชมก็ติด ติดชื่นใจ เสียด่าติด ติดเจ็บใจ จมูกดมกลิ่น ชอบใจกลิ่น หรือติดกลิ่น ถ้ากลิ่นหอมชอบใจ ถ้ากลิ่นเหม็นก็รังเกียจ คิดไม่หาย ลิ้นกระทบของก็ติดรส แล้วกายกระทบกระทั่งก็ติดสัมผัส เมื่อสังโยชน์เป็นกิเลสมาร้อยรัดแล้ว จงรู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้เป็นสัมปชัญญะ เป็นสมถะ สมถะเป็นกำลัง วิปัสสนาเป็นอาวุธ นำมาฆ่ากิเลสให้ตาย สังโยชน์มันมีอยู่ 10

    ReplyDelete
  9. สักกายทิฏฐิ มีความหลงผิดเข้าใจว่าขันธ์ 5 คือร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เรามีขันธ์ 5 ขันธ์ 5 มีในเรา ก็คิดว่าร่างกายของเรานี่มันไม่ตายหรอก มันไม่ตาย มันไม่ยอมตาย มันไม่ยอมสลายตัว มันอยู่กับเราตลอดเวลา แล้วก็ร่างกายของบุคคลอื่นก็เหมือนกัน ที่เราชอบเรารัก คิดว่าเขาจะไม่ตาย คิดว่าเขาจะไม่เปลี่ยนแปลง เขาจะอยู่กับเราตลอดเวลา นี่เป็นความคิดของบุคคลผู้เป็นเหยื่อของวัฏฏะ หมายความว่าเป็นเหยื่อของกิเลส
    วิจิกิจฉา สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า
    สีลัพตปรามาส นี่ได้แก่การรักษาศีลไม่จริง
    กามฉันทะ มีความพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัสตามที่อายตนะกระทบกระทั่ง รักอยากได้มาเป็นผัวเป็นเมีย อยากเคล้าเคลียอยู่คู่ครอง
    ปฏิฆะความพยาบาท ความกระทบกระทั่งจิต ความไม่ชอบใจที่เขาทำไม่ถูกใจเรา หรือพยาบาทการจองล้างจองผลาญ นี่ถ้ามันไม่ถูกใจละก็คิดอาฆาต
    รูปราคะ หลงอยู่ในรูปฌาน คิดว่าฌานเป็นของวิเศษ
    อรูปราคะ หลงในอรูปฌาน
    มานะ การถือว่าเราเสมอเขา เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา
    อุทธัจจะ อารมณ์จิตฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
    อวิชชา ความโง่
    ตัดสังโยชน์ 10 นี้ ก็สามารถเข้าพระนิพพานได้

    ReplyDelete
  10. สักกายทิฏฐิ ตามที่พูดมาแล้วในขันธวรรค หรือขันธบรรพ ที่พระสารีบุตรบอกกับบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย ตัดสักกายทิฏฐิได้ตัวเดียวไปนิพพานได้ จะเป็นพระโสดาก็ได้ เป็นอานาคาก็ได้ สมมุติว่าตาเป็นรูป มันเกิดรักรูปเข้า ทีนี้รูปไหนล่ะที่เรารัก ไปยืนเปรียบเทียบดู มองดูว่าเรามีเท้าเขามีเท้าหรือเปล่า เรามีหนังเขามีหนังหรือเปล่า เรามีตามีหู มีจมูกมีฟัน มีเลือดมีเสลด มีน้ำเหลือง แล้วเขามีหรือเปล่า เมื่อมันเกิดมาใหม่แล้ว มันเก่าหรือเปล่า รูปคนรูปบ้านเราชอบใจเดี๋ยวเราก็ละ มันเก่าแล้วเราก็ไม่ชอบ เครื่องประดับประดา ประเดี๋ยวก็หยิบประเดี๋ยวก็วาง ไอ้ที่ติดมากนี่คือรูปคน รูปคนนี้ไม่ใช่ชอบรูปอย่างเดียว ชอบลูบชอบคลำเสียด้วย ชอบสัมผัสนี้มันชอบมาก ทีนี้ ตัวรูปตัวนี้แหละไปลองคลำ ๆ ดูว่าเขามีเหมือนเรา นึกเข้าไปในท้องดูว่าเขามีอะไรเหมือนเราไหม ถ้ามีแล้วก็ลองพิจารณาดูว่ารูปนี้สะอาดหรือสกปรก น่าประคับประคองหรือเปล่า แล้วก็ดูต่อไป รูปนี้มีอาการเปลี่ยนแปลงไหมนะ แล้วในที่สุดมันพังไหม เมื่อพังแล้วมันก็สะอาดหรือมันเก่า มันผุมันเปื่อย มันเหม็นหรือมันหอม หาความเป็นจริง นี่เรียกว่ารูปภายนอกที่เราชอบนะ รูปภายในคือร่างกายของเรา ว่ามันทรงสภาพไหม มันเปลี่ยนแปลงไหมแล้วมันจะตายไหม ถ้ารู้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลง มันจะตาย มันจะสกปรก แล้วก็มันไม่เป็นมิตรที่ดีสำหรับเรา จะชอบมันทำไมโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความตายมีอยู่ ทำไมจึงไม่ชอบ นั่นก็คือพระนิพพาน ทำใจยังไงจึงจะเห็นชัด นวสี 9 คือ อสุภกรรมฐานมา เอาธาตุ 4 มา เอาปฏิกูลสัญญามาช่วยประกอบ เวลาเจริญวิปัสสนาญาณต้องเอาสมถะมาช่วยประกอบ ถ้าตัดรูปไปได้ตัวเดียว เห็นแล้ว ว่าจะต้องเสื่อม ต้องตาย คิดบ่อย ๆ ให้ชิน พิจารณาให้เห็น หนัก ๆ เข้ามันก็จะมีความรังเกียจคล้าย ๆ รังเกียจสิ่งโสโครก คืออสุภกรรมฐาน ได้แก่คนเน่าคนเปื่อย สุนัขเน่าสุนัขเปื่อยนั่นเอง เมื่อเกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายแล้ว ต่อมาสังขารุเปกขาญาณ ความวางเฉยในสังขารมันก็ปรากฏ ในร่างกายนะ ก็เชิญป่วยซี มียาฉันก็รักษา หายก็หาย ไม่หายก็ตามใจนายซิ ตามใจ จะตายรึ? ก็ตามใจซี ฉันรู้แล้วนี่ ว่าแกจะตาย ไอ้แกกับฉันนี่ชาตินี่ชาติเดียว เป็นชาติสุดท้ายนะ ต่อไปเลิกคบกัน เราไม่ต้องการ ท่านโคทิกะบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา บวชมาแล้วได้แต่เพียงฌานโลกีย์ ไม่ได้อรหัตตผล พระโสดาก็ไม่ได้ เกิดความป่วยไข้ไม่สบายอย่างหนักบวมทั้งตัว ในที่สุดก็เกิดเบื่อสังขาร เบื่อขันธ์ 5 คิดว่าเกิดมาทันพระพุทธเจ้าแล้วขันธ์ 5 ยังเป็นโทษ เลยไม่ต้องการขันธ์ 5 อีก คิดว่าชาตินี้ชาติเดียว เราเป็นเหยื่อของขันธ์ 5 ชาติหน้าขันธ์ 5 ไม่มีสำหรับเรา เมื่อไม่ต้องการความเกิดอีกทั้งหมด ขึ้นเชื่อว่าขันธ์แล้วไม่ต้องการ เลยเอามีดโกนเชือดคอตาย ไปนิพพาน ในหลักสูตรนักธรรมโทนี่การไปนิพพานมีนิพทิทาญาณ สังขารุเปกขาญาณเสียหน่อยเดียว ก็ไปได้ ทีนี้เมื่อตัดสักกายทิฏฐิได้แล้ว เสียง กลิ่น รสสัมผัสก็เหมือนกัน ตัดได้หมด ให้ตัดรูปเสียงเถอะ ไอ้เสียงมันก็มาจากรูป ไอ้รสแห่งการสัมผัส รสกระทบลิ้นมันก็มาจากรูป ไอ้สัมผัสมันก็มาจากรูป ทำไมว่ารสมาจากรูป กินรูปเข้าไปได้รึ? ก็กินปลากินหมูนี่ไม่ใช่รึ กินผักกินน้ำพริกน่ะ มันรูปทั้งนั้นแหละ จะไปเอาแต่รูปคนยังไงเล่า นี่มันก็เป็นรูปด้วยกันหมดแหละ เมื่อตัดสักกายทิฏฐิได้แล้ว ต่อไปเมื่อมีความสงสัยในคำสอน ก็นึกว่านี่เราเห็นตามจริงพระพุทธเจ้าแล้วนี่ ท่านกล่าวว่า คนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ก็เลิกสงสัย ทีนี้ ถ้าเราจะเอาดีแล้ว เห็นดีแล้วตามพระพุทธเจ้าก็นึกว่า
    ศีลนี่แหละจะนำเราไปพระนิพพาน กำลังใจมันก็เกิด ก็รักษาศีลได้

    ReplyDelete
  11. กามฉันทะ เรากำจัดความพอใจในรูปเสียงได้แล้วกามฉันทะมันก็หมดไป ถ้ามีอารมณ์ที่เป็นอนุสัย ก็ค่อย ๆ คิด มันก็หายไป แล้วมาพยายาม โอ๊ มันจะเกิดมาได้ยังไงเล่าก็เรารู้ว่าเขาจะตาย เขาก็ต้องเจ็บเขาเอง มันก็หายไป ทีนี้ ถ้าอารมณ์จับพระนิพพานแล้วนี่ตอนนี้ เป็นพระอนาคามีแล้วนี่แหละ กำจัดพยาบาทได้เป็นพระอนาคามีแล้ว รูปราคะในปฐมฌานในรูปฌานก็ดีหรืออรูปราคะในอรูปฌานก็ดี อย่าคิดว่าฌานเป็นของเลิศประเสริฐไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า มันคิดไม่ได้แล้ว เพราะวิปัสสนาญาณที่มีกำลังสูงกว่ามีความบริสุทธิ์กว่าเข้าถึงแล้ว เหมือนกับเรียนมัธยมแล้วเห็นว่าชั้นประถมไม่สำคัญหมายความว่าชั้นประถมไม่ใช่ชั้นเลิศ ต้องเรียนชั้นอุดมต่อไป
    มานะ เมื่อรู้ว่าคนคนเหมือนกันแล้ว มานะมันจะเกิดที่ไหน อุทธัจจะความฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน ในเมื่ออารมณ์จับพระนิพพานแล้วความฟุ้งซ่านไม่มี มีอย่างเดียว คืออย่างที่อื่นไม่เห็นด้วย เห็นด้วยเฉพาะนิพพานเท่านั้น จับเฉพาะพระนิพพานจิตไม่คลาดจากพระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่าไม่มีอุทธัจจะ อวิชชาความโง่ เมื่อรู้มาแค่นี้แล้วมันจะโง่ยังไง ไม่มีการโง่หรอก ไม่ต้องไปตัดหรอก มันตัดหมดของมันเอง นี่เป็นอันว่าอายตนะทั้ง 6 ต้องตัดด้วยสักกายทิฏฐิ สังโยชน์ที่เกาะร้อยรัดจึงจะหมดไป
    ********************

    ReplyDelete