Sunday, 3 June 2012

อานาปานานุสสติกรรมฐาน

๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน อานาปานานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์ กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานใหญ่คลุมกรรมฐานกองอื่น ๆ เสียสิ้น เพราะจะปฏิบัติกรรมฐาน ๔๐ กองนี้ กองใดกองหนึ่งก็ตาม จะต้องกำหนดลมหายใจเสียก่อน หรือมิฉะนั้นก็ต้องกำหนดลมหายใจร่วมไปพร้อม ๆ กับกำหนดพิจารณากรรมฐานกองนั้น ๆ จึงจะได้ผล หากท่านผู้ใดเจริญกรรมฐานกองใดก็ตาม ถ้าละเว้นการกำหนด เสียแล้ว กรรมฐานที่ท่านเจริญ จะไม่ได้ผลรวดเร็วสมความมุ่งหมาย อานาปานุสสตินี้ มีผลถึงฌาน ๔สำหรับท่านที่มีบารมีเป็นพุทธสาวก ถ้าท่านที่มีบารมีในวิสัยพุทธภูมิ คือท่านที่เป็นพระโพธิสัตว์คือท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิ ท่านผู้นั้นจะทรงฌานในอานาปาน์นี้ถึงฌานที่ ๕ อานาปานุสสติระงับกายสังขาร เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นทางกาย ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสติ เข้าฌานในอานาปาน์จนถึงจตุตถฌานแล้ว ทุกขเวทนานั้นจะระงับไปทันที ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าเวทนาหายไป แต่เป็นเพราะเมื่อเข้าถึงฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จิตจะแยกออกจากขันธ์ ๕ ไม่รับรู้ทุกขเวทนาของขันธ์ทันที ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสตินี้ ท่านจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส เมื่อทุกข์ทางร่างกาย เกิดขึ้น เพราะท่านหนีทุกข์ได้ด้วยการเข้าฌาน แยกจิตกับขันธ์ ๕ ออกจากกันเป็นกรรมฐานที่ให้ผลสูงมาก รู้เวลาตายได้แน่นอน ท่านที่ได้ฌานอานาปานุสสตินี้ สามารถรู้กำหนดเวลาตายของท่านได้ตรงตามความจริงเสมอ โดยกำหนดล่วงหน้าได้เป็นเวลาแรมปี เมื่อจะตาย ท่านก็สามารถบอกได้ว่า เวลาเท่านั้นเท่านี้ ท่านจะตาย และตายด้วยอาการอย่างไร เพราะโรคอะไร ช่วยกรรมฐานกองอื่น ท่านที่ได้ฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จะปฏิบัติในกรรมฐานกองอื่น ๆ อีก ๓๙ กองนั้นท่านเข้าฌานในอานาปานน์ก่อน แล้วถอยหลังจิตมาดำรงอยู่แค่อุปจารสมาธิ แล้วกำหนดกรรมฐานกองนั้นๆ ท่านจะเข้าถึงจุดสูงสุดในกรรมฐานกองนั้น ๆ ได้ภายใน ๓ วัน เป็นอย่างช้า ส่วนมากได้ถึงจุดสูงสุดของกรรมฐานกองนั้น ๆ ภายในที่นั่งเดียว คือคราวเดียวเท่านั้นเอง จุดจบของอานาปานุสสติ จุดจบของอานาปานุสสตินี้ คือ ฌานที่ ๔ หรือที่ ๕ ก็ได้แก่การกำหนดลมหายใจจนไม่ปรากฏลมหายใจ ที่ท่านเรียกกันว่าลมหายใจขาด แต่ความจริงลมหายใจไม่ขาดหายไปไหน เพียงแต่ว่ากายกับจิตแยกกันเด็ดขาด จิตไม่รับทราบอาการทางกายเท่านั้น เมื่อจิตไม่รับรู้เสียแล้ว การหายใจ หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ ทางกาย จึงไม่ปรากฏแก่จิตตามความนิยม ท่านเรียกว่า ลมขาด วิธีปฏิบัติในอานาปานุสสติ การปฏิบัติในอานาปานุสสตินี้ ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นกรรมฐานที่ไม่มีในองค์ภาวนา และไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก เพียงแต่คอยกำหนดลมหายใจเข้าออกตามฐานที่กำหนดไว้ให้รู้อยู่หรือครบถ้วนเท่านั้น เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก พร้อมกับสังเกตลมกระทบฐาน ๓ ฐาน ดังจะกล่าวต่อไปให้ทราบ ฐานที่กำหนดรู้ของลม ฐานกำหนดรู้ที่ลมเดินผ่านมี ๓ ฐาน คือ ก. ฐานที่ ๑ ท่านให้กำหนดที่ริมฝีปาก และที่จมูก เมื่อหายใจเข้า ลมจะกระทบที่จมูกเมื่อหายใจออกลมจะกระทบที่ริมฝีปาก ข. ฐานที่ ๒ หน้าอก เมื่อลมผ่านเข้าหรือผ่านออกก็ตาม ลมจะต้องกระทบที่หน้าอก หมายเอาภายใน ไม่ใช่หน้าอกภายนอก ลมกระทบทั้งลมเข้าและลมออกเสมอ ค. ศูนย์ที่ท้องเหนือสะดือนิดหน่อย ลมหายใจเข้าหรือออกก็ตาม จะต้องกระทบที่ท้องเสมอทุกครั้ง ๓ ฐานนี้มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิต เพราะถ้าจิตกำหนดจับฐานใดฐานหนึ่งไม่ครบ ๓ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของจิตระงับอกุศลที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ ได้ แต่อารมณ์หยาบอารมณ์อกุศลที่เป็นอารมณ์กลางและละเอียดยังระงับไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้น อย่างสูงก็ได้เพียงขณิกสมาธิละเอียดเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงอุปจารสมาธิ ยังไกลต่อฌานที่ ๑ มาก ถ้าท่านผู้ปฏิบัติ กำหนดรู้ลมผ่านได้ ๒ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของท่านผู้นั้นดับอกุศล คือนิวรณ์ได้ในอารมณ์ปานกลาง ส่วนอารมณ์นิวรณ์ที่ละเอียดอันเป็นอนุสัย คือกำลังต่ำยังระงับไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้นอย่างสูงก็แค่อุปจารสมาธิ จวนจะเข้าถึงปฐมฌานแล้ว ถ้าผู้ใดกำหนดรู้ ลมผ่านกระทบได้ทั้ง ๓ ฐาน ท่านว่าท่านผู้นั้นระงับนิวรณ์ละเอียดได้แล้วสมาธิเข้าถึงปฐมฌาน ส่วนฌานต่าง ๆ อีกสามคือ ฌานที่ ๑, ๒, ๓, ๔ อยากทราบโปรดพลิกไปดูในข้อที่ว่าด้วยฌาน จะเข้าใจชัด นับลม การฝึกในอานาปาน์ จะว่าง่ายนั้น ก็ดูจะเป็นการยกเมฆเกินไป เพราะอานาปาน์เป็นกรรมฐานใหญ่ที่ครอบงำกรรมฐานทั้งหมด จะง่ายตามคิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่ ท่านที่ไม่เคยผ่านคงคิดว่าไม่น่ายากเลย เรื่องคิดแล้วไม่ทำ นำเอาไปพูดนั้น ที่ว่าไม่ยากก็ไม่เถียง เพราะพวกนี้มีความดีอยู่แค่ริมฝีปาก ส่วนอื่นทั้งตัวไม่มีอะไรดีเลย เลวเสีย ๙๙.๙๙ มีดีนิดเดียว ท่านจะคุยโม้อย่างไรก็ช่างท่านเถิด เรามาเอาดีทางปฏิบัติกันดีกว่า การกำหนดลมเป็นของยาก เพราะจิตของเราเคยท่องเที่ยวมานาน ตามใจเสียจนเคยจะมาบังคับกันปุบปับให้อยู่นั้นเมินเสียเถอะ ที่จิตจะยอมหมอบราบคาบแก้ว เมื่อระวังอยู่แกก็ทำท่าเหมือนจะยอมจำนน แต่พอเผลอเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แกก็ออกแน็บไปเหนือไปใต้ตามความต้องการของแก กว่าเจ้าของจะรู้ก็ไปไกลแล้ว อารมณ์ของจิตเป็นอย่างนี้ เมื่อทำไปถ้าเอาไม่อยู่ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ฝึกทีละน้อย ท่านสอนให้นับลมหายใจเข้า หายใจออก เข้าครั้ง ออกครั้ง นับเป็นหนึ่ง ท่านให้กำหนดนับดังต่อไปนี้ นับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ เอาแค่เข้าออก ๕ คู่ นับไปและกำหนดรู้ฐานทั้ง ๓ ไปด้วย กำหนดใจไว้ว่า เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกเพียง ๔ คู่ พร้อมด้วยรู้ฐานลมทั้ง ๓ ฐาน แล้วก็เริ่มกำหนดฐานและนับลม พอครบ ๕ คู่ ถ้าอารมณ์ยังสบาย ก็นับไป ๑ ถึง ๕ เอาแค่นั้น พอใจเริ่มพล่าน ถ้าเห็นท่าจะคลุมไม่ไหว ก็เลิกเสียหาความเพลิดเพลินตามความพอใจ เมื่ออารมณ์ดีแล้วกลับมานับกันใหม่ ไม่ต้องภาวนา เอากันแค่รู้เป็นพอ เมื่อนับเพียง ๕ จนอารมณ์ชินไม่หนีไม่ส่ายแล้ว ก็ค่อยเลื่อนไปเป็น๖ คู่ คือ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ถ้า ๖ คู่ สบายดีไม่มีอะไรรบกวน แล้วก็ค่อยเลื่อนไปเป็น ๗ คู่ ๘ คู่ ๙ คู่๑๐ คู่ จนกว่าอารมณ์จิตจะทรงเป็นฌานได้นานตามสมควร ผ่อนสั้นผ่อนยาว การเจริญอานาปานุสสตินี้ มีอาการสำคัญของนักปฏิบัติใหม่ ๆ อย่างหนึ่ง คืออารมณ์ซ่านเวลาที่จิตใจไม่สงบจริงมีอยู่ พอเริ่มต้น อารมณ์ฟุ้งซ่านก็เริ่มเล่นงานทันที บางรายวันนี้ทำได้เรียบร้อยอารมณ์สงัดเป็นพิเศษ จิตสงัดผ่องใส อารมณ์ปลอดโปร่งกายเบา อารมณ์อิ่มเอิบ พอรุ่งขึ้นอีกวัน คิดว่าจะดีกว่าวันแรก หรือเอาเพียงสม่ำเสมอแต่กลับผิดหวัง เพราะแทนที่จะสงัดเงียบ กลับฟุ้งซ่านจนระงับไม่อยู่ ก็ให้พยายามระงับ และนับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕,๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ ถ้านับก็ไม่เอาเรื่องด้วย ยิ่งฟุ้งใหญ่ท่านตรัสสอนไว้ในบทอานาปานุสสติว่า เมื่อเห็นว่าเอาไว้ไม่ได้จริง ๆ ท่านให้ปล่อยอารมณ์ แต่อย่าปล่อยเลย ให้คอยระวังไว้ด้วย คือปล่อยให้คิดในเมื่อมันอยากคิด มันจะคิดอะไรก็ปล่อยให้มันคิดไปตามสบาย ไม่นานนักอย่างมากไม่เกิน ๒๐ นาที อารมณ์ซ่านก็จะสงบระงับกลับเข้าสู่อารมณ์สมาธิ เมื่อเห็นว่าอารมณ์หายซ่านแล้วให้เริ่มกำหนดลมตามแบบ ๓ ฐานทันที ตอนนี้ปรากฏว่าอารมณ์สงัดเป็นอันดี มีอารมณ์เป็นฌานแจ่มใส อาการอย่างนี้มีแก่นักปฏิบัติอานาปานุสสติเป็นปกติ โปรดคอยระลึกไว้ และปฏิบัติตามนี้จะได้ผลดี อานาปาน์พระพุทธเจ้าทรงเป็นปกติ เพื่อความอยู่เป็นสุขในสมบัติ ไม่มีสมาบัติใดที่จะอยู่เป็นสุขเท่า อานาปานานุสสติ เพราะเป็นสมาบัติที่ระงับกายสังขาร คือดับเวทนาได้ดีกว่าสมาบัติอื่น แม้จะเป็นสมาบัติต้นก็ตาม พระอรหันต์ ทุกองค์ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงอยู่เป็นสุขด้วยอานาปานานุสสติดังพระปรารภของพระองค์ที่ทรงปรารภแด่พระอานนท์ว่า อานันทะดูก่อนอานนท์ ตถาคตก็มากไปด้วยอานาปานุสสติเป็นปกติประจำวัน เพราะอานาปานานุสสติระงับกายสังขารให้บรรเทาจากทุกขเวทนาได้ดีมากท่านที่ ได้อานาปานานุสสติแล้ว จงฝึกฝนให้ชำนาญและคล่องแคล่วฉับไวในการเข้าฌานที่ ๔ เพื่อผลในการระงับทุกขเวทนาอย่างยิ่ง และเพื่อผลในการช่วยฝึกฌานในกองอื่นอีกอย่างหนึ่ง

1 comment:

  1. อานาปานานุสสติเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ

    ผลกำไรใหญ่อีกอย่างหนึ่งของอานาปานานุสสติก็คือ เอาอานาปานานุสสติเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ เพราะฌานที่ ๔ ของอานาปาน์ เป็นฌานระงับกายสังขาร ดับทุกขเวทนาได้ดี เมื่อจะเจริญวิปัสสนาญาณต่อไป ท่านให้เข้าฌาน ๔ พอเป็นที่สบายแล้วถอยสมาธิมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ แล้วใคร่ครวญพิจารณาว่า ทุกขเวทนาที่เกิดแก่สังขาร เราจะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็เพราะจิตที่ยึดถือเอาสังขารเข้าไว้ ขณะที่เราเข้าฌาน ๔ จิตแยกจากสังขาร ทุกขเวทนาไม่ปรากฏแก่เราเลย ฉะนั้น ทุกข์ทั้งปวงที่เรารับอยู่ก็เพราะอาศัยสังขารเป็นเหตุ การยึดถือสังขารเป็นทุกข์อย่างนี้ เราจะปล่อยไม่รับรู้เรื่องสังขารต่อไป คือไม่ต้องการสังขารอีก การเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ก็กลับมามีสังขารอีกเมื่อหมดบุญ เราไม่ประสงค์การกลับมาเกิดอีก เทวดาหรือพรหม ยังมีปัจจัยให้มาเกิด เราไม่ต้องการ เราต้องการนิพพานเท่านั้นที่หมดปัจจัยในการเกิด เราทราบแล้ว เพราะการเข้าฌาน ๔ ที่ขาดจากปัจจัยในสังขาร เป็นสุข
    อย่างยิ่ง แต่ฌานที่เข้าไปสามารถจะทรงได้ตลอดกาล สิ่งที่ทรงการละทุกขเวทนาได้ตลอดกาลก็คือ การปล่อยอุปาทาน ได้แก่ไม่รับรู้รับทราบสมบัติของโลกีย์ คือตัดความใคร่ความยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และไม่เดือดร้อนเมื่อสิ้นลาภ สิ้นยศ มีคนนินทา และประสบกับความทุกข์ จัดว่าเป็นอารมณ์ขัดข้อง และเราจะปล่อยอารมณ์จากความต้องการในความรัก ความอยากได้ ความโกรธ และพยาบาทความเป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งปวง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุของความทุกข์ แล้วทำจิตให้ว่างจากอารมณ์นั้น ๆ พยายามเข้าฌานออกฌาน แล้วคิดอย่างนี้เป็นปกติ จิตจะหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้อย่างไม่ยากเลย

    ReplyDelete