Sunday, 3 June 2012

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ 1.สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง 2.ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม 3.วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร 4.ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ 5.ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ 6.สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ 7.อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง โพชฌงค์ 7 เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37 (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค อันได้แก่ สติปัฏฐาน4 สัมมัปปธาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7 และมรรคมีองค์ 8) โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ หมายถึง ธรรมหรือข้อปฏิบัติเพื่อยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ กล่าวคือ ถึงที่สุดแห่ง การดับทุกข์หรือการตรัสรู้ อันมี ๗ ประการ ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามก็ดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบันธรรม อันเป็นไปดังนี้ ๑. สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆในกิจ(สิ่งที่ควร)ที่ทำมาไว้แล้ว ความไม่เผลอเรอ ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ ดังเช่น การปฏิบัติธรรมวิจัย, การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต ที่หมายถึงจิตตสังขาร เช่นความคิดปรุงแต่งคืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรม อันสติจักเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังเช่น สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นการมีสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอานิสงส์ที่เนื่องสัมพันธ์กับโพชฌงค์ ๗ จึงเป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย)ให้มีสติไปน้อมกระทำการธัมมวิจยะ ๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธรรมวิจยะ) หรือธรรมวิจัย ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือการโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องอย่างแท้จริง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรม(สภาวธรรมชาติ โดยเฉพาะของทุกข์ ก็เพื่อใช้ในการดับทุกข์) กล่าวคือธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติรู้เท่าทัน พร้อมทั้งวิจัยค้นคว้าพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่สติเท่าทันนั้นๆ ย่อมยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงในสภาวธรรมหรือธรรมต่างๆขึ้นเป็นลำดับ จึงไม่ได้เห็นเป็นไปตามความอยาก,ความเชื่อ การอ่าน การฟังแต่อย่างเดียวดังเช่นแต่กาลก่อน, ดังเช่น การเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท พระไตรลักษณ์ อริยสัจ๔ ขันธ์๕ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ. เมื่อเกิดความเข้าใจจากการธัมมวิจยะ ปัญญาย่อมสว่างกระจ่าง จึงย่อมรู้คุณ จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมให้เกิดวิริยะ ๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่น สู้กิจ ไม่ย่อหย่อนท้อแท้ต่อการปฏิบัติและการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) ตลอดจนการเพียรยกจิตไม่ให้หดหู่ ท้อแท้, เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม ย่อมเป็นสุข เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ อุปาทานทุกข์น้อยลงหรือเบาบางลง จึงย่อมทำให้เกิดความเพียรขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อเห็นคุณย่อมปฏิบัติด้วยความเพียร เมื่อปฏิบัติด้วยความเพียร อย่างแน่วแน่ในระยะหนึ่ง ไม่ซัดส่ายสอดแส่ ย่อมเป็นปัจจัยครื่องสนับสนุนให้เกิดปีติ ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติพิจารณาในธรรม ด้วยความเพียรย่อมเกิดความอิ่มเอิบ อิ่มใจ ความดื่มดํ่า ใจฟู ความแช่มชื่น ความปลาบปลื้ม อันปราศจากอามิส(ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นรรมดา (จึงมิได้หมายถึง ปีติ ชนิดมีอามิส ความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่การปฏิบัติฌานสมาธิอันมีองค์ฌาน ชนิดที่เกิดแต่การติดเพลิน,ติดสุข ทั้งโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี อันมักแสดงออกโดยอาการจิตส่งใน เพราะปีติชนิดนี้ยังให้โทษในภายหน้าแต่อย่างเดียว)เมื่อวิริยะ อย่างแน่วแน่ในธรรมที่พิจารณา ไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปปรุงแต่งในสิ่งอื่นๆได้ระยะหนึ่ง ย่อมบังเกิดอาการปีติความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นขึ้นนั้นๆ ซึ่งเมื่อความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นจางคลายไป ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัสสัทธิ ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจ อันเกิดแต่ปีติสุขที่ระงับไป,เมื่อปีติความแช่มชื่น อิ่มเอิบแช่มชื่น อันเกิดแต่ความเข้าใจกระจ่างสว่างในธรรมสงบระงับลงแล้ว ย่อมยังผลให้เกิดการผ่อนคลาย กล่าวคือ เกิดความสงบกายสงบใจตามมา จึงไม่เครียด ไม่กระวนกระวายกายใจโปร่งเบาสบาย กล่าวคือ เมื่อกายสงบระงับย่อมเกิดความสุข จึงเกิดการเสวยสุข เมื่อกายสงบระงับแล้วย่อมเป็นสุข เมื่อเป็นสุขแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมนำให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์จิตตั้งมั่น ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีจิตตั้งมั่น เพราะเมื่อกายสงบ ย่อมพบสุข เมื่อพบสุข จิตย่อมตั้งมั่น เพราะย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่ง จึงมีจิตหรือสติตั้งมั่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทํา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ นั่นเอง เช่น มีสติอย่างต่อเนื่องกับธรรมที่พิจารณา หรือการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวก ดังเช่น มีสติเห็นเวทนา หรือมีสติระลึกรู้เท่าทันอาการของจิต เช่นรู้เท่าทันอาการปรุงแต่งหรือรู้เท่าทันว่าฟุ้งซ่านไปภายนอกอยู่เนืองๆและสมาธินั้นยังเป็นกําลังแห่งจิต ที่ทําให้จิตเข้มแข็งขึ้น ก็เนื่องเพราะความไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ให้เกิดทุกข์ในเรื่องอื่นๆอีกด้วยนั่นเอง จึงย่อมยังให้การปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นเป็นไปอย่างมีกําลัง ดังนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์จึงหมายถึง การมีจิตตั้งมั่น อยู่ได้อย่างต่อเนื่องหรือแนบแน่นในการปฏิบัตนั่นเอง เป็นจิตชนิดที่มีสติปราดเปรียวว่องไว ที่เมื่อระลึกรู้เท่าทันในสิ่งใดแล้ว ก็ปล่อยวางโดยการ อุเบกขาในสัมโพชฌงค์องค์สุดท้าย สมาธิในโพชฌงค์ จึงเป็นสมาธิเพื่อการวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่มีสติแนบแน่นหรือแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยเฉพาะเท่านั้น อย่างไม่ปล่อยวาง ที่เมื่อสติจางคลายหรือขาดไปแล้ว มีองค์ฌานหรือสมาธิเป็นผลให้เกิดความสุขสงบสบายขึ้น แต่ย่อมเป็นไปในขณะหรือระยะหนึ่งๆเท่านั้น จึงยังจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สมถสมาธิหรือฌานที่ปฏิบัติกันทั่วไป อันมีมาแต่โบราณนั้น ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เพื่อเป็นไป เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิในขั้นวิปัสสนาต่อๆไปเท่านั้น กล่าวคือ สมาธิในโพชฌงค์คือสมาธิชนิดสัมมาสมาธิในองค์มรรคที่มีจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย อย่างต่อเนื่อง เมื่อจิตตั้งมั่น แน่วแน่อย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างเนืองๆ ย่อมประกอบด้วยกำลัง และยังประกอบด้วยปัญญาที่เห็นเป็นไปตามจริงตามที่ได้สั่งสมมา จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการน้อมนำไปในการอุเบกขา ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย รู้ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง แล้วละเสียโดยการตั้งมั่นวางเฉย หรือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ,สมาธิและปัญญานั่นเอง วางเฉย ที่หมายถึง รู้สึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดาไม่ต้องฝืน แต่ตั้งใจกระทำหรือปฏิบัติ ด้วยการไม่(คิดนึก)ปรุงแต่ง ไม่สอดแส่ไปในเรื่องหรือกิจนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย) กล่าวคือไม่คิดเอนเอียง ไม่สอดแส่ ไม่ซัดส่าย ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด เช่น ไม่ไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต ในเวทนา(ความรู้สึกรับรู้เมื่อกระทบสัมผัสอันอาจชอบใจหรือไม่ชอบใจ) หรือสังขารขันธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น จิตฟุ้งซ่าน,จิตมีโทสะ ฯ. ถ้อยคิดหรือความคิดนึกที่เกิดขึ้น เช่น การคิดปรุงแต่งหรือการเอนเอียงไปคิดเห็นว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด, ไม่ปรุงแต่งทั้งในบุญหรือบาป,ไม่ปรุงแต่งไปทั้งดีหรือชั่ว, ไม่ปรุงแต่งว่าเราถูกหรือเขาผิด, เกิดความรู้สึกอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องเป็นธรรมดา เพียงวางจิตหรือสติหรือความคิดให้เป็นกลางด้วยการกระทำ วางทีเฉย เพราะการที่ไปปรุงแต่งแม้จะเป็นดีหรือสิ่งที่ถูกก็เป็นทุกข์ (แยกแยะให้เข้าใจความหมายถูกต้องด้วยมิได้หมายถึงไม่ทําความดี ไม่ทําบุญ แต่หมายถึงการไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วยึดว่าถูก ว่าดี อย่างนั้น อย่างนี้ อันล้วนยังให้เกิดเวทนา คือความคิดขึ้นใหม่ๆอันย่อมเกิดเวทนาขึ้นอีกทั้งสิ้น อันล้วนอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน ชาติอันเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด) ดังเช่น เรานั้นเป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือเกื้อหนุนบุคคลคนหนึ่งอย่างมากๆ เป็นความดีชนิดบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วบุคคลคนนั้นกลับกระทำการสิ่งที่ไม่ดีต่างๆนาๆต่อเรา เพียงแต่เราคิดปรุงแต่งหรือกระทำโดยอาการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญในความดีของเราหรือความชั่วของเขาในเรื่องนี้ขึ้นมา ที่แม้เป็นจริงอย่างที่สุดก็ตาม ท่านก็ย่อมต้องเสวยทุกข์ขึ้นทันที ความดีที่เรากระทำอยู่นั้นเราย่อมได้รับอยู่แล้วเพียงแต่อาจโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อใดที่เราไปคิดยึดมั่นในความดีด้วยกิเลส คือไปอยากให้ความดีนั้นตอบแทน ก็เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นทันที ด้วยเหตุฉะนี้ พระอริยเจ้าท่านจึงมีคำกล่าวอยู่เนืองๆว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว เป็นกลางวางทีเฉย อุเบกขา จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาขึ้นเท่านั้น จึงต้องหมั่นสั่งสมอบรมปฏิบัติ ไม่ใช่การวางใจเป็นกลางชนิดที่ต้องทําใจเป็นกลางเฉยๆ ชนิดจะไม่ให้รู้สึกรู้สาต่อทุกขเวทนา,สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ อยากจะไม่ให้มีทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจใดๆมากระทบได้ เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยอวิชชา อันอาจกระทําได้แค่เป็นครั้งคราวด้วยฌาน,สมาธิเท่านั้น อันยังเป็นเพียงโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่) เพราะตามความเป็นจริงแล้วทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่เป็นธรรมดาแม้ในองค์พระอริยเจ้าแต่ท่านเหล่านี้ไม่มีอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕, จึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวางหรือทําใจเป็นอุเบกขา กล่าวคือรู้ตามความเป็นจริงแล้ว รู้สึก(เวทนา)อย่างไร ก็เป็นเยี่ยงนั้นนั่นเอง แต่ต้องเข้มแข็ง ไม่คิดนึกปรุงแต่งด้วยการไม่เอนเอียงหรือแทรกแซงไปด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย), อุเบกขาจึงไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนาหรือที่บางทีเรียกกันว่าอุเบกขาเวทนาอันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไปยึดไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอุเบกขา,อันอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดการรับรู้ขึ้นจากการผัสสะเป็นธรรมดา กล่าวคือเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรม ส่วนการอุเบกขาหรือตัตรมัชฌัตตตาเป็นสังขารขันธ์จึงต้องมีสัญเจตนาหรือเจตนาขึ้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมด้วยความเพียรยิ่ง จนสามารถกระทำอุเบกขานั้นเป็นมหาสติ กล่าวคือ กระทำเองโดยอัติโนมัติ เป็นเฉกเช่นสังขารในปฏิจจสมุปบาท แต่ปราศจากเสียซึ่งอวิชชา
******************************************************************** คาถารักษาไข้ (โพชฌังโค) **************************************************************************** โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา วิริยัม ปิติ ปัสสัทธิ โพชณังคา จะ ตะถา ปะเร สะมาธุ เปกขะ โพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะ ทักขาตา ภาวิตา พะหุ ลีกะตา สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลา นัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสสะวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ เตจะตัง อะภินัน ทิตตะวา โรคา มุจจิงสุข ตังขะเณ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิเตโหตุ สัพพะทา เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคตัญเญ นาภิปิฬิโต จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตตะวานะ สาทะรัง สัมโมทิตตะวา จะ อาพาธา ตัมหาวุฏฐาสิ ฐานะโส เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ปะหีนาเต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติ ธัมมะตัง เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ******************************************************************** ถ้าหากผู้ใดเป็นไข้ ให้ใช้คาถาบทนี้ เสกปัดเป่า หรือจะทำน้ำมนต์ให้ดื่มกินก็ยิ่งจะเป็นการดี จะทำให้ไข้หายเร็ว ********************************************************************

5 comments:

  1. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  2. การสวดมนต์ให้เกิดอานุภาพรักษาความเจ็บไข้อาจทำได้ ๒ วิธี คือ ผู้ป่วยสวดด้วยตนเอง หรือ ให้ผู้อื่นสวดให้ฟัง โดยสามารถสวดได้ทุกที่ไม่จำกัด ขอเพียงแต่มีความตั้งใจที่จะสวด เนื่องจากคำสวดเป็นภาษาบาลีอาจสวดผิด-ถูกบ้างก็ไม่เป็นไร สวดบ่อยเข้าจะชินไปเอง จะสวดคำแปลด้วยหรือไม่สวดก็ได้ แต่ควรอ่านคำแปลเพื่อจะได้รู้ความหมายของบทสวด ทำให้เกิดความศรัทธามากขึ้น และการสวดไม่ใช่การบ่นในใจ จึงควรสวดออกเสียงให้ดังพอประมาณและไม่เร็วเกิน
    ไป โดยสวดตามลำดับดังนี้
    ๑. บทกราบพระรัตนตรัย
    ๒. บทนอบน้อมพระพุทธเจ้า
    ๓. บทไตรสรณคมน์
    ๔. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
    ๕. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
    ๖. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
    ๗. บทโพชฌังคปริตร
    ๘. บทสัพพมงคลคาถา
    ๙. ทำสมาธิ
    ๑๐. บทแผ่เมตตาแก่ตัวเอง
    ๑๑. บทแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์
    ๑๒. บทแผ่นส่วนกุศล
    ๑๓. บทอธิษฐานจิต
    ------------------------------------
    บทสวดโพชฌังคะปะริตตัง

    . โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา - โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์
    วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร - วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
    สะมาธุเปกขะโพชฌังคา - สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์
    สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา - ๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว
    ภาวิตา พะหุลีกะตา - อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว
    สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา - ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ - ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
    โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา - ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

    . เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา - ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก
    โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ - จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง
    เต จะ ตัง อะภินันทิตวา - ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม
    โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ โรคก็หายได้ในบัดดล
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ - ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
    โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา - ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

    . เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต - ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก
    จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง - รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ
    สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส - ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ - ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
    โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา - ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

    . ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง - ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก
    มัคคาหะตะกิเลสาวะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง - ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ - ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
    โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา - ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ.

    โพชฌังคปริตร ถือเป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ที่เชื่ออย่างนี้เพราะมีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยม พระมหากัสสปะ ที่อาพาธ พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พบว่าพระมหากัสสปะสามารถหายจากโรคได้
    อีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่ พระโมคคัลลานะ ซึ่งอาพาธ หลังจากนั้นพบว่า พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้ พระจุนทะเถระ แสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวรพุทธศาสนิกชนจึงพากันเชื่อว่า โพชฌงค์นั้น สวดแล้วช่วยให้หายโรคได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง ซึ่งเป็นความจริงในเรื่องการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับร่างกาย เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน จึงทำให้หายจากโรคได้

    ReplyDelete
  3. โพชฌงคบรรพ
    ปุนะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุ, ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม, สัตตะสุ โพชฌังเคสุ คือโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง), กะถัญจะ ภิกขะเว. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุ, ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม, สัตตะสุ โพชฌังเคสุ. คือโพชฌงค์ ๗,อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้, สันตัง วา อัชฌัตตัง สะติสัมโพชฌังคัง. อนึ่ง เมื่อสติสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือสติ) มี ณ ภายในจิต, อัตถิ เม อัชฌัตตัง สะติสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง สะติสัมโพชฌังคัง. หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต, นัตถิ เม อัชฌัตตัง สะติสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา,ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ สะติสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่สติสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ.ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะ สะติสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของสติสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,สันตัง วา อัชฌัตตัง ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌงคัง. อนึ่ง เมื่อธัมมะวิจยสัมโพชฌงค์(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือความเลือกเฟ้นธรรม) มี ณ ภายในจิต, อัตถิ เม อัชฌัตตัง ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌังคัง.หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต, นัตถิ เม อัชฌัตตัง ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมะวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา, ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการ ใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะ ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,สันตัง วา อัชฌัตตัง วิริยะสัมโพชฌงคัง. อนึ่ง เมื่อวิริยะสัมโพชฌงค์(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือความเพียร) มี ณ ภายในจิต, อัตถิ เม อัชฌัตตัง วิริยะสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง วิริยะสัมโพชฌังคัง. หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต,

    ReplyDelete
  4. นัตถิ เม อัชฌัตตัง วิริยะสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา, ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ วิริยะสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่วิริยสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะวิริยะสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของวิริยสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,สันตัง วา อัชฌัตตัง ปิติสัมโพชฌงคัง. อนึ่ง เมื่อปิติสัมโพชฌงค์(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือปิติความปลื้มกายปลื้มใจ) มี ณ ภายในจิต, อัตถิ เม อัชฌัตตังปิติสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า ปิติสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง ปิติสัมโพชฌังคัง. หรือเมื่อปิติสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณภายในจิต, นัตถิ เม อัชฌัตตัง ปิติสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า ปิติสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา,

    ReplyDelete
  5. ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ ปิติสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่ปิติสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะ ปิติสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของปิติสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,สันตัง วา อัชฌัตตัง ปัสสัทธิสัมโพชฌงคัง. อนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือปัสสัทธิ ความสงบกายสงบจิต) มี ณ ภายในจิต,อัตถิ เม อัชฌัตตัง ปัสสัทธิสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง ปัสสัทธิสัมโพชฌังคัง. หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต, นัตถิ เม อัชฌัตตัง ปัสสัทธิสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา, ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ ปัสสัทธิสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะ ปัสสัทธิสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่งความเจริญบริบูรณ์ของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,สันตัง วา อัชฌัตตัง สะมาธิสัมโพชฌงคัง. อนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือสมาธิ ความที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว) มี ณ ภายในจิต, อัตถิ เม อัชฌัตตัง สะมาธิสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง สะมาธิสัมโพชฌังคัง. หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต, นัตถิ เม อัชฌัตตัง สะมาธิสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา, ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ สมาธิสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่สมาธิสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ.ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะ สะมาธิสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของสมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,สันตัง วา อัชฌัตตัง อุเปกขาสัมโพชฌงคัง. อนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา ความที่จิตมัธยัสถ์เป็นกลาง) มี ณ ภายในจิต, อัตถิ เม อัชฌัตตัง อุเปกขาสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา, อะสันตัง วา อัชฌัตตัง อุเปกขาสัมโพชฌังคัง.
    หรือเมื่ออุเบขาสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต, นัตถิ เม อัชฌัตตัง อุเปกขาสัมโพชฌังโคติ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา, ยะถา จะ อะนุปปันนัสสะ อุเปกขาสัมโพชฌงคัสสะ อุปปาโท โหติ. อนึ่ง ความที่อุเบกขาสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย, ยะถา จะ อุปปันนัสสะ อุเปกขาสัมโพชฌังคัสสะ ภาวะนาปาริปูริ โหติ. อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วยประการใด, ตัญจะ ปะชานาติ. ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย,อิติ อัชฌัตตัง วา ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง, พะหิทธา วา ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง, อัชฌัตตะพะหิทธา วา ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง,สะมุทะยะธัมมานุปัสสี วา ธัมเมสุ วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง, วะยะธัมมานุปัสสี วา ธัมเมสุ วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเสื่อมไปในธรรมบ้าง, สะมุทะยะวะยะธัมมานุปัสสี วา ธัมเมสุ วิหะระติ. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง,อัตถิ ธัมมาติ วา ปะนัสสะ สะติปัจจุปัฏฐิตา โหติ. ก็หรือสติว่าธรรมมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าแก่เธอนั้น, ยาวะเทวะ ญาณะมัตตายะ. แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้, ปะติสสะติมัตตายะ. แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก, อะนิสสิโต จะ วิหะระติ. เธอย่อมไม่ติดอยู่ด้วย, นะ จะ กิญจิ โลเก อุปาทิยะติ. ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย, เอวัมปิ โข ภิกขะเว ภิกขุ ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ. สัตตะสุ โพชฌังเคสุ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล,ฯ

    ------------------
    โพชฌังคะปัพพัง จบข้อกำหนดด้วยโพชฌงค์

    ReplyDelete