Sunday, 3 June 2012

อุปสมานุสสติกรรมฐาน

๑๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติ แปลว่า ระลึกคุณพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามศัพท์ท่านน่าจะแปลว่าระลึกถึงคุณของความเข้าไปสงบระงับจิตจากกิเลสและตัณหา ก็คือการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเองท่านแปลเอาความหมายว่า ระลึกถึงคุณพระนิพพานนั้น เป็นการแปลโดยอรรถ ท่านแปลของท่านถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ที่เขียนถึงคำว่าสงบระงับไว้ด้วยก็เพื่อให้เต็มความประสงค์ของนักคิดเท่านั้นเอง ระลึกตามแบบ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี ๘ ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก ดังจะนำมา เขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึกดังต่อไปนี้ บาลีปรารภพระนิพพาน ๘ ๑. มทนิมฺมทโน แปลว่า พระนิพพานย่ำยีเสียซึ่งความเมา มีความเมาในความเป็นคนหนุ่ม และเมาในชีวิต โดยคิดว่าตนจะไม่ตายเป็นต้น ให้สิ้นไปจากอารมณ์ คือคิดเป็นปกติเสมอว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โลกนี้ทั้งสิ้น มีความฉิบหายเป็นที่สุด ๒. ปิปาสวินโย แปลว่า พระนิพพาน บรรเทาซึ่งความกระหาย คือความใคร่กำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และการถูกต้องสัมผัส ๓. อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า พระนิพพาน ถอนเสียซึ่งอาลัยในกามคุณ ๕ หมายความว่า ท่านที่เข้าถึงพระนิพพาน คือมีกิเลสสิ้นแล้ว ย่อมไม่ผูกพันในกามคุณ ๕ เห็นกามคุณ ๕ เสมือนเห็นซากศพ ๔. วัฏฏปัจเฉโท แปลว่า พระนิพพาน ตัดเสียซึ่งวนสาม คือ กิเลสวัฏได้แก่ ตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ไม่มีความมัวเมาในกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย กรรมวัฏ ตัดกรรม อันเป็นบาปอกุศล วิปากวัฏ คือตัดผลกรรมที่เป็นอกุศลได้สิ้นเชิง ๕. ตัณหักขโย, วิราโค, นิโรโธ แปลว่า นิพพานธรรมนั้น ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหา ตัณหาไม่กำเริบอีก มีความหน่ายในตัณหา ไม่มีความพอใจในตัณหาอีก ดับตัณหาเสียได้สนิทตัณหาไม่กำเริบขึ้นอีกได้แม้แต่น้อย ๖. นิพพานัง แปลว่า ดับสนิทแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรมอำนาจทั้ง ๔ นี้ ไม่มีโอกาสจะให้ผลแก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงพระนิพพานแล้วได้อีก ตามข้อปรากฏว่ามีเพียง ๖ ข้อ ความจริงข้อที่ ๕ ท่านรวมไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหักขโย ๑วิราโค ๑ นิโรโธ ๑ ข้อนี้รวมกันไว้เสีย ๓ ข้อแล้ว ทั้งหมดจึงเป็น ๘ ข้อพอดี ท่านลงในแบบว่า ๘ ก็เขียนว่า ๘ ตามท่าน ความจริงเมื่อท่านจะรวมกัน ท่านน่าจะเขียนว่า ๖ ข้อก็จะสิ้นเรื่อง เมื่อท่านเขียนเป็นแบบมาอย่างนี้ ก็เขียนตามท่าน ท่านสอนให้ตั้งจิตกำหนดความดีของพระนิพพานตามในบาลีทั้ง ๘ แม้ข้อใด ข้อหนึ่งก็ได้ตามความพอใจ แต่ท่านก็แนะไว้ในที่เดียวกันว่า บริกรรมภาวนาว่า "นิพพานัง" นั่นแหละดีอย่างยิ่ง ภาวนาไปจนกว่าจิตจะเข้าสู่อุปจารฌาน โดยที่จิตระงับนิวรณ์ ๕ ได้สงบแล้วเข้าถึงอุปจารฌานเป็นที่สุด กรรมฐานนี้ ที่ท่านกล่าวว่าได้ถึงที่สุดเพียงอุปจารฌานก็เพราะเป็นกรรมฐานละเอียดสุขุม และใช้อารมณ์ใคร่ครวญเป็นปกติ กรรมฐานนี้จึงมีกำลังไม่ถึงฌาน อานิสงส์ อานิสงส์ที่ใช้อารมณ์ใคร่ครวญถึงพระนิพพานนี้มีผลมาก เป็นปัจจัยให้ละอารมณ์ที่คลุกเคล้าด้วยอำนาจกิเลสและตัณหา เห็นโทษในวัฏฏะ เป็นปัจจัยให้แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันเป็นปฏิปทาไปสู่พระนิพพาน เป็นกรรมฐานที่นักปฏิบัติได้ผลเป็นกำไร เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างสบาย ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจกรรมฐานกองนี้ให้มาก ๆ และแสวงหาแนวปฏิบัติ ที่เข้าตรงต่อพระนิพพานมาปฏิบัติ ท่านมีโอกาสจะเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างไม่ยากนักเพราะระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นี้ เป็นองค์หนึ่งในองค์สามของพระโสดาบัน ชื่อว่าท่านก้าวเข้าไปเป็นพระโสดาบันหนึ่งในสามขององค์พระโสดาบันแล้ว เหลืออีกสองต้องควรแสวงหาให้ ครบถ้วน พระนิพพานไม่สูญ ท่านนักปฏิบัติได้กำหนดกรรมฐานในอุปสมานุสสตินี้แล้ว ท่านอาจจะต้องประสบกับปัญหายุ่งสมองในเรื่องพระนิพพานอีกตอนหนึ่ง เพราะบรรดานักคิดนักแต่งทั้งหลาย ได้พากันโฆษณามาหลายร้อยปีแล้วว่า พระนิพพานเป็นสภาพสูญ แต่พอมาอ่านหนังสือของพระอรหันต์ท่านเขียน คือหนังสือวิสุทธิ-มรรค ท่านกลับยืนยันว่า พระนิพพานไม่สูญ ดังท่านจะเห็นตามบาลีทั้ง ๘ ที่ท่านยกมาเป็นองค์ภาวนานั้น คือ มทนิมฺมทโน พระนิพพานตัดความเมาในชีวิต ปิปาสวินโย นิพพานบรรเทาความกระหายในกามคุณ ๕ อาลยสมุคฺฆาโต พระนิพพานถอนอาลัยในกามคุณ วัฏฏปัจเฉโท พระนิพพานตัดวนสามให้ขาด ตัณหักขโย พระนิพพานมีตัณหาสิ้นแล้ว หรือสิ้นตัณหาแล้วเข้าสู่นิพพาน วิราโค มีความเบื่อหน่ายในตัณหา นิโรโธ ดับตัณหาได้สนิทแล้ว โดยตัณหาไม่กำเริบอีก นิพพานัง มีความดับสนิทแล้วจากกิเลส ตัณหา อุปาทานกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดอีกในวัฏสงสาร

1 comment:

  1. วัฏสงสารหรือ สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ คือภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาในตามหลักของพุทธศาสนาซึ่งบัญญัติไว้ว่ามีทั้งสิ้น 31 ภูมิด้วยกัน
    สังสาร หรือ สงสาร แปลว่า ความท่องเที่ยวไป ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด มิใช่หมายถึงความรู้สึกหวั่นไหวด้วยความกรุณาเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความทุกข์
    สังสารวัฏ แปลว่า ความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ การหมุนวนอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร
    สงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้

    ReplyDelete