Thursday, 31 May 2012

สักกายทิฏฐิ ท่านแปลว่า ให้รู้สึกในอารมณ์

สักกายทิฏฐิ ท่านแปลว่า ให้รู้สึกในอารมณ์ของเราว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายนี้ไม่มีในเรา หรือตามศัพท์ที่เรียกว่า ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันไม่ใช่ของเรา เราไม่่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา อารมณ์ขั้นต้นของพระโสดาบัน กับสกิทาคามี ท่านมีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย เราต้องคิดว่า ร่างกายนี้ต้องตายแน่ ร่างกายนี้น่าเกลียดโสโครก ต้องเกลียดจริง ๆ เราไม่ต้องการทั้งร่างกายเรา และร่างกายของคนอื่น หรือวัตถุธาตุใด อย่างนี้เป็นกำลังใจของพระอนาคามี และถ้ามีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา อย่างนี้เป็นกำลังใจของพระอรหันต์ ถ้าจะปฏิบัติกันตามลำดับแล้ว ต้องใช้อารมณ์ตามลำดับ คือ อารมณ์ขั้นต้น ใช้อารมณ์แบบเบา ๆ คือมีความรู้สึกตามธรรมดาว่า ชีวิตนี้ต้องตาย ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่จะทรงชีวิตได้ตลอดกาล ในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกันหมด ใช้อารมณ์ให้สั้นเข้า คือมีความรู้สึกไว้เสมอว่า เราอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ จะได้ไม่ประมาทในชีวิต อารมณ์ขั้นกลาง ท่านให้ทำความรู้สึกเป็นปกติว่า ร่างกายของคนและสัตว์ ตลอดจนวัตถุทุกชนิดเป็นของสกปรกทั้งหมด มีทั้ง อุจจาระ ปัสสวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เป็นต้น พยายามทำอารมณ์ให้ทรงจนเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งหมด อารมณ์สูงสุด มีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย และร่างกายไม่มีในเรา มีอาการวางเฉยในร่างกายทุกประเภท เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ วิจิกิจฉา แปลว่า สงสัย คือสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระธรรมคำสั่งสอน สังสัยในความดีของพระอริยสงฆ์ สงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ เมื่อสงสัยเข้าก็ไม่เชื่อ ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ ต้องลงอบายภูมิ เพราะฉะนั้นจงอย่ามีในใจ ใช้ปัญญาพิจารณานิดเดียว ก็จะเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าพูดถูก พูดจริง ยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระองค์ สีลัพพตปรามาส คือ ลูบคลำศีล รักษาศีลไม่จริงจัง อย่างนี้จงอย่ามีในเรา จงปฏิบัติให้ครบถ้วนด้วย 3 ประการ 1.มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้มันจะต้องตาย 2.ไม่สงสัยในคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมยอมรับปฏิบัติตาม 3.รักษาศีลครบถ้วนโดยเคร่งครัด ทำอย่างนี้ได้ ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน และพระสกิทาคามี กามฉันทะ คือมีความพอใจในกามคุณ คือ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เราต้องกำจัดในสิ่งเหล่านี้ ให้รู้ว่าสกปรก โสโครก เราไม่ต้องการ และกำจัด ปฏิฆะ คือ การกระทบกระทั่งความไม่พอใจออกจากจิต มีความเมตตา กรุณา เข้ามาแทน จิตมีความเบื่อหน่ายในร่างกายเป็นที่สุด ท่านตรัสว่า เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี รูปราคะ และ อรูปราคะ เป็นการหลงในรูปฌาน และอรูปฌาน เราต้องไม่หลงติด ไม่มัวเมาใน รูปฌาน และอรูปฌาน แต่จะรักษาไว้เพื่อประโยชน์แก่จิตใจ แล้วใช้่ปัญญาพิจารณาขันธ์ 5 ว่ามีแต่ความทุกข์ มีการสลายตัวไปในที่สุด เมื่อขันธ์ 5 ไม่ทรงตัวแบบนี้แล้ว มานะ การถือตัวถือตนว่าเราดีกว่าเขา วางอารมณ์แห่งการถือตัวถือตนเสีย มีเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง ตัดอุทธัจจะ คืออารมณ์ฟุ้งซ่าน การถือตัวถือตน เป็นปัจจัยของความทุกข์ เราควรวางใจแต่เพียงว่า ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกะปริเทวะทุกขะ โทมะสัส อุปยาส ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากการเกิด แล้วเกิดนี่มาจากไหน การเกิดมาจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม เราควรวางใจเป็นกลาง การถือตัวถือตนเป็นปัจจัยของความทุกข์ จิตใจเราพร้อมในการเมตตาปรานี ไม่ถือตน เขาจะมีฐานะเช่นใดก็ช่าง ถือว่า เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันหมด ถ้ากำหนดอารมณ์อย่างนี้ได้ เราก็สามารถจะกำจัดตัวมานะของตนได้

สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจ

สังโยชน์ 10 สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฎฎะ มี 10 อย่าง 1.สักกายทิฏฐิ เห็นว่า ร่า่งกายเป็นเรา เป็นของเรา (คำว่าร่างกายนี้หมายถึง ขันธ์ 5) 2.วิจิกิจฉา ความลังเลสังสัย ในคุณพระรัตนตรัย 3.สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง 4.กามฉันทะ มีจิตมั่วสุมหมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์ 5.พยาบาท มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ 6.รูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในรูปฌาน 7.อรูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในอรูปฌาน คิดว่าเป็นคุณพิเศษที่ทำให้พ้นจากวัฎฎะ 8.มานะ มีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี 9.อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล 10.อวิชชา มีความคิดเห็นว่า โลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพ นักปฏิบัติที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอา สังโยชน์ เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบจิตกับ สังโยชน์ ว่า เราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติอารมณ์ที่ละนั้นเอง สังโยชน์ทั้ง 10 ข้อนี้ ถ้าพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ปลดอารมณ์ที่ยึดถือได้ครอบ 10 อย่าง โดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่า ท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผล

บารมี แปลว่า กำลังใจเต็ม

บารมี แปลว่า กำลังใจเต็ม บารมี 10 ทัศ มีดังนี้ 1.ทานบารมีี จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ 2.ศีลบารมี จิตของเราพร้อมในการทรงศีล 3.เนกขัมมบารมี จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะ แปลว่า การถือบวช แต่ไม่ใช่ว่าต้องโกนหัวไม่จำเป็น 4.ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารให้พินาศไป 5.วิริยบารมี วิิริยะ มีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ 6.ขันติบารมี ขันติ มีทั้งอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ 7.สัจจะบารมี สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลา ว่าเราจะจริงทุกอย่าง ในด้านของการทำความดี 8.อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ 9.เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น 10.อุเบกขาบารมี วางเฉยเข้าไว้ เมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว ใช้คำว่า "ช่างมัน" ไว้ในใจ บารมี ที่องค์สมเด็จทรงให้เราสร้างให้เต็ม ก็คือ สร้างกำลังใจปลูกฝังกำลังใจให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์สมบูรณ์ บารมีในขั้นต้นกระทำด้วยจิตอย่างอ่อนเป็นขั้นพระบารมี เมื่อจิตดำรงบารมีขั้นกลางได้ เรียกว่า พระอุปบารมี และเมื่อจิตดำรงบารมีขึ้นไปถึงที่สุดเลย เรียกว่า พระปรมัตถบารมี หรือบารมี 30 ทัศ หรือมีศัพท์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระสมติงสบารมี หมายถึง พระบารมีสามสิบถ้วน ซึ่งเป็นธรรมพิเศษหมวดหนึ่ง มีชื่อว่า พุทธกรณธรรม เป็นธรรมพิเศษที่กระทำให้ได้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้่า พระโพธิสัตว์ที่ต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญธรรมหมวดนี้ หรือมีชื่อหนึ่งเรียกว่า โพธิปริปาจนธรรม คือธรรมสำหรับพระพุทธภูมิ หรือชาวพุทธเราทั่วไปเรียกว่า พระบารมี หมายถึง ธรรมที่นำไปให้ถึงฝั่งโน้น คือ พระนิพพาน

นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5 อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดี ก็มีนิวรณ์ 5 คือ 1.กามฉันทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันเป็นวิสัยของกามารมณ์ 2.พยาบาท ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ 3.ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม 4.อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิด 5.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิดไว้หรือไม่เพียงใด *************************

อสุภกรรมฐาน

อสุภกรรมฐาน อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน รวมได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรก โสโครก น่าเกลียด กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐานมี 10 อย่าง มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถจะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้ เป็นกรรมฐานด้านพิจารณามากกว่าการเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายกับวิปัสสนาญาณมาก นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐานจนทรงปฐมฌานได้ดีแล้ว พิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์วิปัสสนาญาณได้ อสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัดราคจริตเหมือนกันทั้ง 10 กอง ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลได้ไม่ยากนัก อสุภกรรมฐาน 10 อย่าง 1.อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายขึ้นบวมพอง ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง 2.วินีลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว ปะปนคน สีแดงในที่มีเนื้อมาก สีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก สีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุม ร่างของผู้ตายส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยผ้า สีเขียวจึงมากกว่า ดังนั้นจึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว 3.วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ 4.วิฉิทททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาดออกจากกัน 5.วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน 6.วิขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย 7.หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ 8.โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลอออกเป็นปกติ 9.ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่ 10.อัฏฐกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก

การเจริญสมถะและวิปัสสนา

การเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน ซึ่งควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆ คือไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการดังต่อไปนี้ หากทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตของผู้นั้นไม่ห่างวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรค ผล นิพพาน" คือ ๑. มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า "มรณัสสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด" อันมรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ้งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ เพราะยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก" มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย "ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า" ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า "หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด" และกล่าวไว้อีกว่า "หลงยศลืมตาย หลงกายลืมเนา" และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแนนอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมา ก็ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระ ประโยชน์อันใดมิได้เลย มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า "อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตวจะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่าอย่าฉิบหายเลย ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้" และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า "อัปปมาทธรรม" สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่างคือ "สมถภาวนา (การทำสมาธิ)"และ "วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)" แยกอธิบายดังนี้ คือ ๑. สมถภาวนา (การทำสมาธิ) สมถภาวนาได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า "กรรมฐาน ๔๐" ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่น ๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดปละด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากว่าศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน(เป็นกำลัง)ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่าวพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู" คำว่า "จิตสงบ" ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า "ขนิกสมาธิ" คือสมาธิเล็ก ๆน้อย ๆ สมาธิแบบเด็ก ๆที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดทรงจิตอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์(มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้นที่ ๒ คือ ดาวดึงส์) สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน(อัปปนาสมาธิ) ก็คือขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น แต่ยังไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ) รูปฌาน ๑ ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๓ สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน ๑ ส่วนอรูปฌานที่เรียกว่า "เนวสัญญา นาสัญญายตนะ" นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่า นิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุดเพราะไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ยังต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างเทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้ ๒. วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่นอยู่ในระดับฌานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ตาม แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้ อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าสมาธินั้นมุ่งแต่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียวโดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไร ๆ แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ "ขันธ์ ๕" ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "รูป - นาม" โดย รูปมี ๑ ส่วน นามนั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็น พระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย ๑. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่นคนและสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวและเฒ่าแก่จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหมและเทวดา ฯลฯ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่งที่เรียกว่าอุปาทานขั้นธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆมาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็กๆของชีวิตขึ้นมาก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองๆไม่เห็น เรียกกันว่า "เซลล์" แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้นก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆเหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโตและแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน ๒. ทุกขัง ได้แก่ "สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้" ทุกขัง ในที่นี้ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจที่จะทนตั้งอยู่ในสภาพนั้น ๆได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัวและต้องเปลี่ยนแปลงตลอดไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็ก ๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่นขันธ์ที่เรียกว่าเวทนา อันได้แก่ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้นหรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อยๆจางไปแล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน ๓. อนัตตา ได้แก่ "ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ" โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนแต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่าเซลล์ แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่าเป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า "ธาตุดิน" ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า "ธาตุน้ำ" ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า "ธาตุไฟ" ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า "ธาตุลม" (โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้มิได้หมายความอย่างเดียวกับคำว่า "ธาตุ" อันหมายถึงแร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์) ธาตุ ๔ หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันเป็นรูปกายของคน สัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ และส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่าเป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้ สมาธิย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนี่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้ ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง ขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมหรือสังขารธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็น พระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และเมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่าจิตตกระแสธรรมตัด กิเลสได้ ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า "ญาณทัสสนะ" เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า "สมาธิอบรมปัญญา" คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า "ปัญญาอบรมสมาธิ" ฉะนั้นทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกันจะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเสมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใด ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณจนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผลต่อไป ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม" ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวด และทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพานก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าว" กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น "โมฆะบุรุษ" คือบุรุษที่สูญเปล่า