Sunday 3 June 2012

วันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

วันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็น "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, วันหยุดราชการ ในหลายประเทศ และ วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก"วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตามและในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท วันวิสาขบูชานั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย, ประเทศไทย, ประเทศพม่า, ประเทศศรีลังกา, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day)" หรือ "วันสำคัญของโลก" ตามคำประกาศของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 54 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือความจริงของโลกแก่พหูชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งสิ้นนี้ ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน ความสำคัญ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ • เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ • เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย • หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)

14 comments:

  1. เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาในพุทธประวัติ วันประสูติ
    เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส โดยพระพุทธเจ้าหรือพระนามเดิม "เจ้าชายสิทธัตถะ" ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะศากยราชา ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และ พระนางสิริมหามายา ศากยราชเทวี ผู้ทรงเป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป
    จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
    เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.”
    คำแปล : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้
    โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้ทรงเป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน
    วันตรัสรู้เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล"

    ReplyDelete
  2. การออกผนวช เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1 มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า"...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
    แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา
    แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า ! ..."
    ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า"...เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด..."
    นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า"...ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด ..."
    ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่ทรงเสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า "...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว..."

    ReplyDelete
  3. ตรัสรู้
    แสวงหาอาจารย์ เมื่อทรงออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ เช่น สำนักอาฬารดาบส รามบุตรและสำนักอุทกดาบส รามโคตร ได้บรรลุสมาบัติ 8 สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง 8 นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้
    บำเพ็ญทุกกรกิริยา ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ "ทุกกรกิริยา"คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว 5 วันหลังจากประสูติ) ว่า "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก" เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
    วันตรัสรู้ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปีนางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา
    จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ) 8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า "...หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย..."
    จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาพจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง 3 คือ
    1. ปฐมยาม ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้
    2. มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์
    3. ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม 4 ประการ คือ
    • ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)
    • สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)
    • นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)
    • มรรค ทนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)
    แล้วพระองค์จึงทรงบรรลุซึ่ง "อาสวักขยญาณ" คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทานอันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ 3 แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช 45 ปี[

    ReplyDelete
  4. ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า "อรหํ" เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ "สมฺมาสมฺพุทฺโธ"เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า "สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า" สืบมา
    วันปรินิพพาน ทรงปลงพระชนมายุสังขาร พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา ทรงมีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ทรงตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า"...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้..."เสด็จไปเมืองกุสินารา จากนั้น พระองค์เสด็จไปบ้านภัณฑคาม บ้านหัตถิคาม[ จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ (ต่อจากนี้ พระองค์ประชวรด้วยโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้าจวบจนสิ้นพระชนมายุ) จากนั้น ได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา ในกลางทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า "....อานนท์! เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ “อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้..”

    ประทับสีหไสยาสน์ เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่ ขณะทรงประทับสีหเสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ได้เกิดอัศจรรย์ คือ ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์ไม้จันทร์ ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ

    ประทานพระปัจฉิมโอวาทจากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วทรงตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า"...อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว..."
    จากนั้นทรงตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดทรงตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า
    "..หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ...แปลว่า : ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด. ..."

    ReplyDelete
  5. ปรินิพพาน
    จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับ ถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกโดยลำดับจนถึงจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานนั้นจึง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน"
    พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า"...ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป..."กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก กิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน)
    เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป พระพุทธองค์ทรงจากไป ณ ยามสุดท้ายแห่งราตรี วันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศก (ตามการนับของไทย) 1 ปี
    พุทธสังเวชนียสถานเนื่องด้วยวันวิสาขบูชา เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดในวันวิสาขบูชา เกิดภายในบริเวณที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล หรือประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน โดยสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประสูติอยู่ที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาลในปัจจุบัน, สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่ พุทธคยา และสถานที่ปรินิพพานอยู่ที่ กุสินารา ประเทศอินเดียในปัจจุบัน โดย 2 ใน 3 ของพุทธสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก
    สถานที่เนื่องด้วยการประสูติ ลุมพินีวันเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ตัวลุมพินีวันอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดียตอนเหนือ ห่างจากสิทธารถนคร (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 22 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
    ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า "...ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเ ปฯ "แปลว่า: "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ..."

    ReplyDelete
  6. หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายหาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง
    ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน
    หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900 สมณะฟาเหียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร
    ต่อมา ในปี พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้ทำการการจดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอดจวบจน พ.ศ. 2438-2439 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมและคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - พ.ศ. 950) อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวันให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก
    ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ
    ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ
    ในปี พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี อีกด้วย

    ReplyDelete
  7. พุทธคยานับเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลากว่า 2,500 ปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายในการแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก พุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ:Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยามีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ต่อมา จึงเพี้ยนเป็น อุเรล ปัจจุบัน พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545พระสงฆ์ นมัสการพระมหาโพธิเจดีย์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ
    ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ได้ทรงตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า "...ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้...."
    เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะและภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นเทววาจิกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก
    หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่า "อานันทโพธิ์" และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน
    พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณียสถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช4 และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาประมาณ 871-891 ปี จนถูกทำลายในประมาณปี พ.ศ. 1143-1163 ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดูแห่งเบงกอลพระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้นปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258-1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423

    ReplyDelete
  8. สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (อังกฤษ: Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่าสองพันปี ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้ง แปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน
    โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2133 จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยาและได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่ 15 ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์) ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร
    สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากข้อความในบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่าเป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษที่มีความไพเราะ ละน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ได้เดินทางไปที่พุทธคยาและพบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความ "EAST and West ; A Splendid Opportunity" (ตะวันตกและตะวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์) ไว้ โดยกล่าวถึงสาเหตุของการที่พุทธสถานในอินเดียถูกทอดทิ้งเพราะความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้พรรณาถึงความเสื่อมโทรมอย่างหนักและการขาดการเอาใจใส่จากพราหมณ์มหันต์ซึ่งครอบครองพุทธคยาอยู่ ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่แห่งศรัทธาของตน ที่มีความสำคัญได้เช่นเดียวกับนครเมกกะและเยรูซาเล็ม (Mecca and Jeruzaiem)" ซึ่งบทความนี้ได้ตีพิมพ์ไปทั่วโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกเริ่มเข้ามาหาทางบูรณะพุทธสถานต่าง ๆ ในอินเดีย
    เซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ ผู้แต่งหนังสือ "ประทีปแห่งเอเชีย"
    ในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอุปราชแห่งอินเดียเพื่อขอทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงเริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ เมื่อคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2427
    ปี พ.ศ. 2434 ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกา ได้จัดตั้งสมาคมมหาโพธิ์และเริ่มดำเนินการเรียกร้องให้พุทธคยากลับมาเป็นของชาวพุทธ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ประเทศพระพุทธศาสนาทั่วโลกให้ความสนใจในการบูรณะและฟื้นฟูพุทธคยา
    จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2500 (วิสาขบูชากึ่งพุทธกาล) โดย ฯพณฯ เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ โดยรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน

    ReplyDelete
  9. จุดแสวงบุญและสภาพของพุทธคยาในปัจจุบัน
    พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติเหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ
    ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "พระมหาโพธิเจดีย์" อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก "พระแท่นวัชรอาสน" แปลว่า พระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ นอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น
    ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงพิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก ปัจจุบัน พุทธคยานับได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญนับล้านคนเดินทางมานมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของชาวพุทธ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา และสถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมมหาศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล
    สถานที่เนื่องด้วยการปรินิพพาน กุสินาราเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (โรมัน:Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา (โรมัน:Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฏ (โรมัน:Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ
    ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า "... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต.."

    ReplyDelete
  10. สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน
    การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม
    กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน
    หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆสถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น
    ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า "พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี"
    หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าศรีวิกรมาฑิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณนาไว้ว่า "เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"
    ในบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. 1300 ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า เมืองกุสินาราในสมัยนั้นยังคงมีซากเมือง ป้อมปราการ หอสูง และสังฆารามอยู่บ้าง แต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง ภายในเขตกำแพงเมืองยังพอมีคนอาศัยอยู่บ้างแต่น้อยมาก ท่านยังได้ทันพบบ่อน้ำและซากสถูปบ้านของนายจุนทะ และได้เห็นความร่มรื่นของสาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพาน และมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงฯ [42]
    จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"

    ReplyDelete
  11. ในปี พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ
    จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนียสถานแห่งนี้เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่าที่พึ่งได้รับการบูรณะสร้างใหม่ไม่นานออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศาสนิกชนได้ ในปี พ.ศ. 2499 จนในปี พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2518 และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
    จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน
    ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี
    ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่ ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน
    ในวันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อถึงวันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เช่น สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวร มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการะบูชา เป็นต้น[
    สำหรับในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเข้าวัดบำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังนิยมปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

    ReplyDelete
  12. วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
    โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันวิสาขบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
    1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
    2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
    3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
    4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
    5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
    6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
    7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
    8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
    9. บทสวดบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข ฯลฯ) จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี
    หลักธรรมในวันวิสาขบูชา
    วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ คือ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ หรืออนิจจลักษณะ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฏเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้

    ReplyDelete
  13. สำหรับหลักธรรมคติเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทั้ง 3 ที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้ 3 อย่าง คือ
    ความกตัญญู
    หลักคติธรรมอุปมาที่ได้จากเหตุการณ์ในวันวิสาขบูชา ทั้ง 3 เหตุการณ์ คือ ความกตัญญู, อริยสัจ 4, และ สติ
    ในเหตุการณ์วันประสูติ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติได้เพียง 7 วัน แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเองซึ่งในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้มีอุปการะก่อนนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายพระสูตรด้วยกัน เช่นใน หลักทิศ 6 เป็นต้น ซึ่งความกตัญญูนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปแม้กระทั่งต้นไม้ที่ให้ร่มเงาด้วย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า"บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม"
    ความกตัญญู จึงนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงยกย่องผู้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น เรื่องพระภิกษุเลี้ยงบิดามารดาในมหานิบาต เป็นต้น ซึ่งทำให้พระพุทธองค์ตรัสว่า"นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา" แปลว่า: "ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี"
    กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ประสูตินี้เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ทุกคนควรมีในตนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
    อริยสัจ 4 ในเหตุการณ์วันตรัสรู้ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "อริยสัจ 4" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ คือ
    1."ทุกข์" ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย (ปัญหา)
    2."สมุทัย" ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา (ต้นเหตุของปัญหา)
    3."นิโรธ" จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน (วางเป้าหมาย)
    4."มรรค" แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ลงมือแก้ไข

    ความไม่ประมาท ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ โดยพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า"...อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."แปลว่า: "พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วย ความไม่ประมาท เถิด"

    ReplyDelete
  14. ประวัติความเป็นมาของการประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
    ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน การจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏหลักฐานจากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงการพิธีวิสาขบูชาไว้ว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว1 โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ว่างานวิสาขบูชาเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่สำหรับอาณาจักร ทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรทั้งปวงจะมาร่วมกันประกอบพิธีนี้ โดยมีการพร้อมใจกันทำความสะอาดและตกแต่งประดับประดาดอกไม้โคมไฟเพื่อเฉลิมฉลอง และพร้อมใจกันบำเพ็ญบุญกุศลและทานต่าง ๆ เช่น เข้าวัดทำบุญ รักษาศีล 5 ฟังพระธรรมเทศนา และการสาธารณะสงเคราะห์สาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ตั้งโรงทานเลี้ยงดูคนยากจนเป็นต้น เป็นเวลาถึงสามวันสามคืน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อถึงวันวิสาขบูชา เวลาเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบสถูปเจดีย์
    ความจากหนังสือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ดังกล่าวมานี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่ามีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัยจริง แต่รายละเอียดบางส่วนอาจจะมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ดี จากหลักฐานดังกล่าว (แม้จะไม่แน่ชัด) การพิธีวิสาขบูชา ย่อมเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย เพราะในสมัยนั้นกรุงสุโขทัยได้สืบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากลังกาประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และขนาดของการจัดพิธีบูชาเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของชาวศรีลังกานั้น นับเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมากของอาณาจักรมาตั้งแต่แรกรับพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของประเทศศรีลังกานั้นมีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อประเทศพุทธศาสนาอื่นเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรสุโขทัยที่รับสืบพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกาโดยตรง และหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย จนถึงในสมัยอยุธยาก็สันนิษฐานว่าคงมีการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาอยู่ แต่ลดความสำคัญลงไปมาก จนไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารหรือจารึกใด จนมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีวิสาขบูชาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากความเสื่อมของพระพุทธศาสนาหลังยุคสุโขทัยล่มสลาย เพราะหลังจากสิ้นยุคอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยาได้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางคติพราหมณ์ซึ่งได้รับจากการซึมซับวัฒนธรรมฮินดูแบบขอม (นครวัด) [53] จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้มีพระราชประสงค์ให้ทำการฟื้นฟูการประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น พระองค์ได้ทรงปรึกษากับ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ให้วางแนวปฏิบัติการพระราชพิธีวิสาขบูชา และพระราชพิธีวันวิสาขบูชาครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้จัดขึ้นเป็นการพระราชพิธีใหญ่ 3 วัน 3 คืน นับตั้งแต่วันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ ถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1179 (พ.ศ. 2360) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงเพิ่มจัดให้มีการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชาด้วย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน และหน่วยราชการต่าง ๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถาน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีการจัดพิธีวิสาขบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
    จากความเป็นมาของการจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทยจากสมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันดังกล่าว กล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันการพิธีวิสาขบูชาก็ได้แพร่หลายในประเทศไทยและได้รับการปฏิบัติสืบมาอย่างเข้มแข็ง วันวิสาขบูชากลายเป็นวันหยุดราชการโดยพฤตินัยมาแต่โบราณ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนประชาชนและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพร้อม ๆ กับชาวพุทธทั่วทั้งโลก และเป็นการช่วยกันสนับสนุนในการรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกทางหนึ่ง อีเต้หีเคียว

    ReplyDelete