Saturday 2 June 2012

นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5 นิวรณ์ 5 หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ 1.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น) 2. พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ 3. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง) 4. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ 5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน ---------------- จิตที่เป็นเดิมๆ ของมนุษย์นั้นมีลักษณะเป็นประภัสสร ประดุจน้ำใสบริสุทธิ์ แต่ได้สูญเสียความใสกระจ่างไป นำมาซึ่งความเป็นปุถุชน เพราะสิ่งภายนอก คือ นิวรณ์ แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องกั้นจิตใจมิให้บรรลุถึงธรรมที่สูงขึ้นไปนิวรณ์ ได้เข้าไปแทรกแซงปรุงแต่งใน 5 สถานะ อันได้แก่ 1.กามฉันทะ หมายถึง ความกลัดกลุ้มด้วยความพอใจกำหนัดในกาม จนมืดมัว ไม่แจ่มใส ไม่เห็นแจ้ง ในธรรมตามที่เป็นจริง ท่านเปรียบอุปมาเหมือน น้ำใสแต่มีสีต่างๆมาเจือปน จนหมดความใส 2.พยาบาท หมายถึง ความกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความไม่พอใจ โกรธแค้น เกลียดชัง ซึ่งทำความมืดมัว ในลักษณะหนึ่ง ซึ่งท่านเปรียบด้วยน้ำใสแต่ถูกทำให้เดือด พลุ่งพล่านอยู่ ไม่อาจทำให้ผู้มอง เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ภายใต้น้ำนั้นได้ 3.ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่ เคลิบเคลิ้ม ไม่ร่าเริง แจ่มใส ทำให้ จิต ไม่มีสมรรถภาพ ในการที่จะเห็นแจ้งในธรรม ท่านเปรียบเหมือน น้ำใสแต่มีตะไคร่เกิดอยู่เต็ม ก็ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆใต้น้ำได้เช่นเดียวกัน 4.อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย ในลักษณะที่ ตรงกันข้าม จากถีนมิทธะ ท่านเปรียบอุปมาไว้เหมือนน้ำใสแต่ถูกทำให้เป็นละลอกคลื่น หรือ กระเพื่อมอยู่เป็นนิจ ทำให้ไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งใต้น้ำ 5.วิจิกิจฉา ข้อสุดท้ายนั้น หมายถึง ความสงสัย เพราะไม่รู้ หรือ มีอะไร มารบกวน ความอยากรู้ ไม่มีความสงบลงได้ ทำให้เกิดความมืดมัวแก่จิต ไม่อาจจะเห็นแจ้ง ในสิ่งที่ควรเห็นแจ้ง ท่านเปรียบเหมือน น้ำใสแต่เกิดวังวน วกไปวนมาย่อมเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นสิ่งต่างๆ ในน้ำนั้นได้ -----------------------

3 comments:

  1. อุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจรวมกันว่าเป็น"ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น"ของตน" หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็คือยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น"ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด ๔ อย่างนี้ว่าเป็น"ของเรา" อุปาทาน 4 อย่าง
    1.กามุปาทาน ยึดติดในกาม
    2.ทิฏฐุปาทาน ยึดถือในทิฏฐิ
    3.สีลัพพัตตุปาทาน ติดยึดในศีลวัตรที่งมงาย
    4.อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในตัวกู ของกู
    พุทธภาษิตมีอยู่ว่า "เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์" ดังนั้น เบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้นหาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่าบริสุทธิ์หรือหลุดพ้นจึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า"ตัวเรา" ว่า"ของเรา"นี้โดยตรง ดังมีพุทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน"
    ----------------
    อุปาทาน 4 (attachment)
    อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น, ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดมั่นถือมั่นอันเนื่องมาแต่ตัณหา, ความผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ประกอบด้วย
    1. กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสิ่งที่น่ารักใคร่น่าพอใจ
    2. ทิฏฐุมาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี หมายถึงมีการยึดมั่นในความเห็นของตน ยึดมั่นในลัทธิหรือหลักคำสอนต่างๆ
    3. สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธีขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่าง ๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ โดยสักว่ากระทำสืบ ๆ กันมา หรือ ปฏิบัติตาม ๆกันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล

    4. อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็นจะมีจะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวง อันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วน ๆ (ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน)
    ------------------------------
    อุปาทาน 4
    -กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม
    -ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยทิฏฐิ
    -สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยศีลวัตร
    -อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน

    ReplyDelete
  2. อุปาทาน เป็นชื่อของกิเลสกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงออกมาในลักษณะที่ยึดมั่น ถือมั่น ด้วยอำนาจของกิเลสนั้น ๆ โดยความหมายทั่วไป อุปาทานก็คือ ความยึดมั่นถือมั่น ท่านแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
    1.กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือการที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันตนกำหนดว่าน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นมีความรู้สึกว่า "นั่นเป็นของเรา" เช่นเห็นรูปสวยงามเข้า ก็อยากได้มาเป็นของตนด้วย อำนาจตัณหา เมื่อได้มาไว้ในครอบครองแล้ว จะยึดมั่นถือมั่นว่า รูปนั่นของเรา ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตจะเกิดขึ้น เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง หรือพลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น
    2.ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เช่นยึดถือในลัทธิธรรมเนียม ความเชื่อถือต่าง ๆ ขาดการใช้ปัญญา พิจารณาหาเหตุผล เช่น ถือว่าการกระทำดี ชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งสิ้น ไม่มีบุญบาป บิดา มารดา พระอริยบุคคลเป็นต้น ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้อยากแล้ว ยังนำไปสู่การถกเถียง การแตกแยกกัน จนต้องประสบทุกข์ในอบายเพราะทิฏฐุปาทานบางอย่าง
    3.สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ตนประพฤติมาจนชินด้วยความเข้าใจว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถูกต้องเป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่าง พิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่าง ๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง โคบ้าง โดยเข้าใจว่าจากการทำเช่นนั้นทำให้ตนได้ประสบบุญ เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า จนถึงละสิ้นทุกข์เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นต้น
    4.อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน โดยความหมายทั่วไป หมายถึงยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นพวกเราพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ตนนั่นเองเป็นผู้มี ผู้รับ ผู้ไปในภพต่าง ๆ เสวยผลบุญบาปต่าง ๆ ที่ตนทำไว้ โดยขาดการมองตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการประชุมพร้อมแห่งปัจจัยทั้งหลายเท่านั้น

    ReplyDelete
  3. อุปาทานทั้ง 4 ประการนี้ ที่ทรงแสดงไว้ในปฏิจสมุปบาทนั้น อุปาทานอยู่ในฐานะเป็นปัจจุบันเหตุ ร่วมกับตัณหา และด้วยอำนาจแห่งอุปาทานนี้เอง ที่ทำให้ได้ประสบความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ต้องกล่าวถึงในช่วงยาวอย่างสังสารวัฏ แม้ในชีวิตประจำวันนี้เองจะพบว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น โดยสรุปแล้วเกิดจาก " การที่จิตคนไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่าของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา " กล่าวโดยสรุป ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
    อุปาทาน เป็นองค์ธรรมหนึ่งในปฏิจสมุปบาทเป็นเหตุปัจจัยที่บุคคลเพิ่มเชื้อเข้าไปให้กับตนต้องอุบัติในภพต่าง ๆ ตามอำนาจของกิเลสและกรรม และที่ไม่ควรลืมก็คือ อวิชชา ตัณหา กับอุปาทานนั้นเป็นพวกเดียวกัน คือเป็นกิเลสด้วยกัน เมื่อกล่าวถึงข้อหนึ่ง อีกสองข้อก็ชื่อว่าถูกกล่าวถึงด้วยเช่นกัน ตามสายปฏิจสมุปบาท อุปาทานเกิดสืบเนื่องมาจากตัณหา แต่ในขณะเดียวกันตัณหาก็เป็นผลสิบเนื่องมาจากอุปาทานได้ด้วย นอกจากนั้นอุปาทานยังเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ความเกี่ยวข้องถึงกันระหว่าง อวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น พึงเห็นการที่สัตว์ทั้งหลายไม่มีความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายเพราะอวิชชานั้นเอง ทำให้จิตของเขามีความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของตน เมื่ออยากได้และได้มาแล้ว ก็จะมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ๆ ตามอำนาจของกามุปาทานเป็นต้น บุคคลยิ่งอยากยิ่งยึดมากเท่าไรเหตุผลในเรื่องนั้น ๆ ก็จะอ่อนลงเพราะความอยากความยึดมั่นไปเพิ่มความเข้มข้นให้แก่อวิชชา
    ในฐานะที่อุปาทานเป็นข้อหนึ่งในปัจจุบันเหตุ ที่เป็นเหตุปัจจุบัน 5 ประการคือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ เมื่อยังมีอุปาทานอยู่ ชาติ ชรา มรณะเป็นต้นก็ต้องมีอยู่ หากบุคคลปรารถนาให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏแล้ว ต้องทำลายอวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ ลงให้ได้ อนาคตผลคือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรา มรณะ ก็จะไม่บังเกิดขึ้น
    โทษของอุปาทานที่กล่าวมานั้น เป็นโทษที่ไกลออกไป แต่จะพบว่าตามหลักความจริงแล้วจิตที่ยึดถือว่าของเรา ๆ ในอะไรก็ตาม ความทุกข์จะกระจายออกไป ตามปริมาณของสิ่งที่ตนยึดถือในด้านทิฏฐิ คือ ความเห็นเล่า หากไปยึดถือในสิ่งที่ผิดดังกล่าวแล้ว นอกจากจะต้องถกเถียงแตกแยกกันแล้ว ยังทำให้ตนเองต้องจมปลักด้วยมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น เป็นการสร้างความทุกข์ยากให้แก่ตน เช่นเดียวกับการที่บุคคลไปยึดถือด้วยอำนาจของสีลัพพตปรามาส ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หลงทางมากขึ้น ยิ่งการยึดถือด้วยอำนาจอัตตวาทุปาทานด้วยแล้ว โอกาสที่จะกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่าเที่ยง อันเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ อุปาทานจึงเป็นปหาตัพพธรรม คือธรรมที่ควรละ เช่นเดียวกับปัจจุบันอีก 4 ข้อ คือ อวิชชา ตัณหา สังขาร ภพ

    ReplyDelete