Sunday 3 June 2012

อริยกรธรรม เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ

ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ความที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา เป็นต้น (อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5คือ 1.สีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ 5.วิมุตติญาณทัสสนาขันธ์)
ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่ :- 1.อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์. 2.ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์. 3.อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิงไม่มีอำนาจกำลังอะไรต้องอาศัยพึงพิงสิ่งอื่นๆมากมายจึงมีขึ้นได้. ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดาหรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ" มีการวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้ :- ติ แปลว่า สาม, 3. ลกฺขณ แปลว่า เครื่องทำสัญลักษณ์, เครื่องกำหนด, เครื่องบันทึก, เครื่องทำจุดสังเกต, ตราประทับ เปรียบได้กับภาษาอังกฤษในคำว่า Marker. ติลกฺขณ จึงแปลว่า "เครื่องกำหนด 3 อย่าง" ในแง่ของความหมายแล้ว ตามคัมภีร์จะพบได้ว่า มีธรรมะที่อาจหมายถึงติลกฺขณอย่างน้อย 2 อย่าง คือ สามัญญลักษณะ 3 และ สังขตลักษณะ 3 . ในคัมภีร์ชั้นฏีกา พบว่ามีการอธิบายเพื่อแยก ลักษณะทั้ง 3 แบบนี้ออกจากกันอยู่ด้วยส่วนในที่นี้ก็คงหมายถึงสามัญญลักษณะตามศัพท์ว่า ติลกฺขณ นั่นเอง. อนึ่ง นักอภิธรรมชาวไทยนิยมเรียกคำว่า สังขตลักษณะ โดยใช้คำว่า "อนุขณะ 3" คำนี้มีที่มาไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่พบในอรรถกถาและฏีกาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระธรรมปาลาจารย์, และที่พบใช้ก็เป็นความหมายอื่น[2] อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาก็เป็นได้. อย่างไรก็ตาม โดยความหมายแล้วคำว่าอนุขณะนั้นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์รุ่นเก่าแต่อย่างใด. สามัญญลักษณะ 3 หมายถึง เครื่องกำหนดที่มีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งหมด ได้แก่ อนิจจลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่เที่ยงแท้, ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดความบีบคั้น, อนัตตลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่มีตัวตน. สามัญญลักษณะ ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ธรรมนิยาม คือกฎแห่งธรรม หรือ ข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร และบางอย่าง คือ อนัตตลักษณะยังเป็นข้อกำหนดของวิสังขาร (พระนิพพาน) เป็นต้นอีกด้วย. อนึ่ง ควรทราบว่า อนิจฺจํ กับ อนิจฺจตา เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ใช้คนละความหมายกัน ซึ่งจะได้อธิบายไว้ในตอนท้ายของบทความนี้ด้วย. อนิจจะ กับ อนิจจลักษณะ ไม่เหมือนกัน ตามคัมภีร์ฝ่ายศาสนาท่านให้ความหมายของขันธ์ กับ ไตรลักษณ์ไว้คู่กัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกันดังนี้ :- • อนิจจัง (อนิจฺจํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"อนิจจัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5. • อนิจจลักษณะ (อนิจฺจตา,อนิจฺจลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวอนิจจัง. อนิจจลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ อาการความเปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 เคยเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 เคยมีขึ้นแล้วก็ไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น. ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนิจจลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 25 แบบ เรียกว่า โต 25 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนิจจลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะอาการที่เปลี่ยนไป จะเป็นการกำหนดอนิจจลักษณะ). ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ ไม่เหมือนกัน • ทุกขัง (ทุกฺขํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกขัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5. •ทุกขลักษณะ (ทุกฺขตา,ทุกฺขลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง. ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น. ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 10 แบบ เรียกว่า โต 10 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ). อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ ไม่เหมือนกัน อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่มีตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น. ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนัตตลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ 5 แบบ เรียกว่า โต 5 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนัตตลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไรอำนาจบังคับตัวเองใหไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตขลักษณะ). หลักการกำหนดไตรลักษณ ไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะนี้ ไม่ได้แสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดทุกเวลา เพราะเมื่อใดที่จิตไม่ได้เข้าไปคิดถึงขันธ์ 5 เทียบเคียง สังเกต ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ ตามแบบที่ท่านวางไว้ให้ในพระไตรปิฎก เช่น "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไตรลักษณ์ก็จะไม่ปรากฏตัวขึ้น.โดยเฉพาะอนัตตลักษณะที่ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุไว้ในหลายแห่งว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทำความเข้าใจเองแล้วเอามาบอกสอนให้คนอื่นเข้าใจตามได้. สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาใคร่ครวญตามพระพุทธพจน์ แต่ไตรลักษณ์ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนได้เหมือนกันทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนิวรณ์อกุศลธรรมต่างๆเกิดกลุ้มรุม รุมเร้า, และอาจเป็นเพราะยังพิจารณาไม่มากพอจึงไม่มีความชำนาญ เหมือนเด็กเพิ่งท่องสูตรคูณยังไม่แม่นนั่นเอง. และนอกจากนี้ ในคัมภีร์ท่านยังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้พิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ชัดเจนไว้อีก 3 อย่าง คือ สันตติ อริยาบถ และฆนะ สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที, หรือรูป ๆ หนึ่งดับไป รูปใหม่ ๆ ก็เกิดต่อกันไปในทันที หรือบางทีรูปเก่ายังไม่ดับรูปใหม่ก็เกิดขึ้นมาสำทับกันเข้าไปอีก สันตติเป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิยามห้ามไม่ได้ เว้นแต่จะดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น สันตติจึงจะไม่เป็นไป, แม้ในอสัญญสัตตภพ และผู้เข้านิโรธสมาบัติท่านก็ยังจัดว่ามีสันตติของจิตอยู่นั่นเอง. สันตติที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสายนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่เกิดไม่ดับ ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดดับต่อกันวินาทีละนับครั้งไม่ได้. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า "สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่สืบต่อของขันธ์ 5 ที่มีขอบเขตของเวลาในการดำรงอยู่จำกัดมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับสันตติที่ต่อกันจนดูราวกับว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย. การที่ยังพิจารณาอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนิจจลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่สันตติจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนิจจลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง. สำหรับวิธีการจัดการกับสันตติไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนิจจลักษณะนั้นไม่มีวิธีจัดการกับสันตติโดยตรง เพราะสันตติเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของขันธ์ไปห้ามกันไม่ได้. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนิจจลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนิจจลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และสันตติแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนิจจลักษณะ หรือ ทำให้อนิจจลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป. อนึ่ง สันตติไม่ได้ปิดบังอนิจจัง เพราะอนิจจัง ก็คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้[13]. ดังนั้นแม้เราจะดูทีวีซึ่งมีการขยับเขยื้อน มีสีเปลี่ยนไปมาอยู่มากมายก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น เราก็จะไม่เห็นสามารถอนิจจลักษณะได้เลย และความจริงหากยังดูทีวีอยู่ก็คงจะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ดี หรือไม่ได้เลยด้วย เพราะอกุศลจิตนั่นเองจะเป็นตัวขัดขวางการพิจารณา ใคร่ครวญ ค้นคิดธรรมะ. อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ อิริยาบถ คือ รูปแบบกิริยาการกระทำต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การแล การเหลียว เป็นต้น.การเปลี่ยนอิริยาบถนั้นบางครั้งก็อาจทำเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่โดยมากแล้ว เราเปลี่ยนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่ยังไม่ต้องเกิดความทุกข์ความเจ็บปวดขึ้นมาก่อนก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น อิริยาบถเป็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคล้ายกับวิญญัตติรูป ดังนั้น ท่านจึงระบุไว้ในตอนท้ายของอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรและฏีกาว่า "ไม่พึงพิจารณาตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นกำหนด " ส่วนเหตุผลท่านก็ให้ไว้เหมือนกับอสัมมสนรูป นั่นคือ เพราะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของรูป ไม่ใช่สภาวะธรรมโดยตรงจึงไม่ควรกำหนดนั่นเอง. อิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดทั้งวันนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5ไม่ได้บีบคั้นบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้ว แม้ขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่โดยไม่ได้เป็นเพราะความเจ็บปวด เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น ตอนนั้นขันธ์ 5 ก็ล้วนบีบคั้นบังคับตนเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับเสื่อมสลายไปเป็นปกติทั้งสิ้น. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถปิดบังทุกลักษณะ" เพราะทุกขลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความบีบคั้นให้เปลี่ยนไปของขันธ์ 5 ที่ล้วนบีบคั้นบังคับตัวเองอยู่เป็นนิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับอิริยาบถที่เมื่อเปลี่ยนแล้ว ก็ทำให้สุขต่อกันไปจนไม่รู้ตัวเลยว่า ขันธ์ 5 กำลังบีบคั้นขันธ์เองวินาทีละนับครั้งไม่ได้. การที่ยังพิจารณาทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ ทุกขลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่อิริยาบถจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดทุกขลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง. สำหรับวิธีการจัดการกับอิริยาบถไม่ให้มีผลกับการกำหนดทุกขลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือ อิริยาบถไม่สม่ำเสมอก็อาจป่วยได้ ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำร้ายลงไปอีก ทั้งยังจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ไม่ว่าจะสังคมโยม หรือสังคมพระภิกษุก็อยู่ไม่ได้เหมือนๆกัน. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาทุกขลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า ทุกขลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และอิริยาบถแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดทุกขลักษณะ หรือ ทำให้ทุกขลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป. อนึ่ง อิริยาบถไม่ได้ปิดบังปิดบังทุกขัง เพราะทุกขัง คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้ดังนั้นไม่ว่าเราจะขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถหรือจะไม่กระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถใดๆเลยก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นทุกขลักษณะได้เลย. ฉะนั้นในวิสุทธิมรรคฏีกาท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถเหมือนปิดบังทุกข์"เท่านั้น ไม่กล่าวว่า "อิริยาบถปิดบังทุกข์" เพราะอิริยาบถทำให้สุขเวทนาเกิดต่อเนื่องจึงไม่ได้รับทุกขเวทนาเท่านั้น แต่อิริยาบถไม่ได้ปิดบังทุกข์คือขันธ์ 5 แต่อย่างใด ส่วนสิ่งที่ปิดบังทุกข์ คือ ขันธ์ 5นั้นก็คือ อวิชชานั่นเอง.

อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5

อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5 1.สีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ 5วิมุตติญาณทัสสนาขันธ์ -------------------------------------------------------------------------------- คำว่า ธรรมขันธ์ อาจจะแปลว่า หมวดแห่งธรรม หรือกลุ่มแห่งธรรม ซึ่งในบางแห่ง ท่านเรียกอริยธรรม คือธรรมที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเน้นมากก่อนจะปรินิพพาน เป็นการสรุปธรรมะลงในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารธรรม ธรรมะที่เป็นแก่นสารที่แท้จริง การทำจิตของตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นเป้าหมายในการประพฤติปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา แต่กว่าจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ จำเป็นจะต้องประพฤติปฏิบัติไปตามขั้นตอนที่ทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เรื่องของไตรสิกขาซึ่งเป็นตัวเหตุใหญ่ 1.สีลขันธ์ คือหมวดของศีลนั้น ได้แก่การประพฤติปฏิบัติ เช่น การสำรวมในปาฏิโมกข์ คือ บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้ เว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต อินทรีย์สังวร การสังวรระวังในอินทรีย์ของตน เวลาตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง และแม้แต่ใจ จะเหนี่ยวนึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ปล่อยให้ความยินดียินร้ายครอบงำใจจนเกินไป โภชเน มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภคภัตตาหารไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป หรือว่าการเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบไม่หลอกลวงฉ้อโกงเขามาเลี้ยง นี้ก็จัดเข้าในหมวดของสีลขันธ์ หรือพูดโดยนัยหนึ่ง วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ จัดเป็นสีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ การบำเพ็ญเพียรทางใจ เช่น ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรเป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปจาการเจริญสมถกรรมฐานในชั้นต่าง ๆ ตามที่ทรงแสดงเอาไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติตามหลักของอริยมรรคคือ สัมมาวายามะ ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นในทางที่ชอบ ก็จัดเป็นสมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ หมายถึงการใช้ปัญญาเพ่งพินิจพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ธัมมวิจยะ การพิจารณาสอดส่องธรรมเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะเหล่านั้นตามความเป็นจริง วิปัสสนา การมองรูปนามให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จนสามารถถ่ายถอนบรรเทาความยึดติดว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเราลงไปได้ หรือแม้แต่ กัมมัสสกตาญาณ คือ ความรู้ถึงการที่สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของ ๆ ตน ต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ก็จัดเข้าในกลุ่มปัญญาขันธ์ อีกนัยหนึ่งคือ ความสมบูรณ์ของสัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เป็นปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ เมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือองค์อริยมรรคสมบูรณ์ก็เกิดญาณความรู้ในอริยสัจตามความเป็นจริงขึ้นมา คือรู้ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ซึ่งเรียกว่า สัจจญาณ รู้ว่าทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรเจริญ เรียกว่า กิจจญาณ รู้ว่าทุกข์ที่ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัย ที่ควรละ ได้ละแล้ว นิโรธที่ควรทำให้แจ้ง ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ควรเจริญ ก็ได้เจริญแล้ว เรียกว่า กตญาณ เมื่อญาณทั้ง 3 นี้สมบูรณ์ ก็เรียกว่า สัมมาญาณะ คือความรู้ในทางที่ชอบก็บังเกิดขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติก็จะเป็นสัมมาวิมุตติ คือ หลุดพ้นในทางที่ชอบ อันเป็นวิมุตติขันธ์ 5.วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือความรู้ความเห็นในวิมุตติ ที่ปรากฏเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ ดังที่ท่านแสดงเอาไว้ว่า เมื่อพระอริยบุคคลบำเพ็ญเพียรไปโดยลำดับ ก็จะเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็ก็จะวิมุตติ คือหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่า เราหลุดพ้นแล้วดังนี้ และรู้ต่อไปว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ คือ ความประพฤติปฏิบัติเพื่อละความชั่ว ประพฤติความดีก็สมบูรณ์แล้ว กิจที่จะต้องทำต่อไปก็ไม่มี กิจในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่มีเหมือนกัน ดังนั้นความรู้สึกที่เกิดผุดขึ้นในลักษณะนี้ เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ ธรรมหมวดนี้ บางครั้งก็อาจจะเรียกว่า สารธรรมทั้ง 5 หรือเรียกว่า อริยธรรม 5 ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะพระธรรมที่บุคคลจะต้องประพฤติทั้งหมด สรุปรวมลงที่ ศีล สมาธิ ปัญญา ผลแห่งการทำความดีทั้งหมดรวมลงในกลุ่มของวิมุตติ คือ จิตหลุดพ้นจาก กิเลส ทุกข์ ตามสมควรแก่ฐานะของตน ความรู้เห็นในความหลุดพ้นที่จิตของตนก็จะเกิดขึ้นแก่เขาได้โดยอัตโนมัติตามควรแก่ฐานะเช่นเดียวกัน ธรรมขันธ์ 5 จึงเป็นมรรคสัจกับนิโรธสัจ เมื่อเข้าถึงความสมบูรณ์ก็จะทำหน้าที่ดับ สมุทัยอริยสัจ กับทุกขสัจ เข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือนิพพาน

วันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

วันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็น "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, วันหยุดราชการ ในหลายประเทศ และ วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก"วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตามและในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท วันวิสาขบูชานั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย, ประเทศไทย, ประเทศพม่า, ประเทศศรีลังกา, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day)" หรือ "วันสำคัญของโลก" ตามคำประกาศของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 54 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือความจริงของโลกแก่พหูชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งสิ้นนี้ ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน ความสำคัญ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ • เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ • เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย • หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)

วิสาขบูชา วันสำคัญสากลโลก

มงคลสูตร - มงคล 38 ประการ

มงคลสูตร เป็นพระสูตรหรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เหล่าเทวดา ที่มาทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อตอบข้อสงสัยของมนุษย์และเทวดา โดยพระสูตรบทนี้ถือว่าเป็นพระสูตรสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะมีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธ มงคลภายนอก ที่นับถือเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมงคล หรือมีมงคล โดยอธิบายว่าในทัศนะพระพุทธศาสนานั้น มงคลของมนุษย์และเทวดาย่อมเกิดจากการกระทำอันได้แก่ มงคลภายใน คือต้องกระทำความดี และความดีนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ามงคลเองโดยไม่ต้องไปอ้อนวอนกราบไหว้ขอมงคลจากนอกตัว เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในพระสูตรแล้วแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธมงคลภายนอกโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความโดยพิศดารถึงสาเหตุของการที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรไว้ว่า ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล กล่าวว่า บ้างก็ว่า การมีสิ่งของ เช่นต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวาดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสูธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของมนุษย์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น


เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประการดังกล่าว ตามเนื้อหาในพระสูตร มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง ซึ่งมีอยู่ 38 ประการ ดังนี้ 1.ไม่คบคนพาล 2.คบบัณฑิต 3.บูชาคนที่ควรบูชา 4.อยู่ในปฏิรูปเทศ อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี 5.ได้ทำความดีให้พร้อมไว้แต่ก่อน 6.ตั้งตนไว้ชอบ 7.เล่าเรียนศึกษามาก 8.มีศิลปวิทยา 9.มีระเบียบวินัย 10.วาจาสุภาษิต 11.บำรุงมารดาบิดา 12.สงเคราะห์บุตร 13.สงเคราะห์ภรรยา 14.การงานไม่อากูล 15.รู้จักให้ 16.ประพฤติธรรม 17.สงเคราะห์ญาติ 18.การงานไม่มีโทษ 19.เว้นจากความชั่ว 20.เว้นจากาการดื่มน้ำเมา 21.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย 22.ความเคารพ 23.ความสุภาพอ่อนน้อม 24.ความสันโดษ 25.มีความกตัญญู 26.ฟังธรรมตามกาล 27.ความอดทน 28.เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย 29.พบเห็นสมณะ 30.สนทนาธรรมตามกาล 31.มีความเพียรเผากิเลส 32.ประพฤติพรหมจรรย์ 33.เห็นอริยสัจจ์ 34.ทำพระนิพพานให้แจ้ง 35.ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว 36.จิตไร้เศร้า 37.จิตปราศจากธุลี 38.จิตเกษม

อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรมไว้ชัดเจนดีแล้ว ก็มีผู้ที่เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง จึงได้ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้ แนวทางการยึดถือความเป็นมงคล จึงมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.มงคลจากการมีนู่นมีนี่ 2.มงคลจากการฝึกตัว
มงคลสูตร - มงคล 38 ประการ (หันทะ มะยัง มังคะละสุตตะปาฐัง ภะณามะ) พะหู เทวา มะนุสสา จะ มังคะลานิ อะจินตะยุง, อากังขะ มานา โสตถานัง พฺรูหิ มังคะละมุตตะมัง, เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า, หมู่เทวดาและมนุษย์มากหลาย, มุ่งหมาย ความเจริญก้าวหน้า, ได้คิดถึงเรื่องมงคลแล้ว, ขอพระองค์ทรงบอกทางมงคลอันสูงสุดเถิด, สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสตอบดังนี้ว่า, --- อะเสวะนา จะ พาลานัง,การไม่คบคนพาล, ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา,การคบบัณฑิต, ปูชา จะ ปูชะนียานัง,การบูชาต่อบุคคลที่ควรบูชา, เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสามอย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, ---ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ,การอยู่ในประเทศอันสมควร,ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา,การเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ก่อนแล้ว,อัตตะ สัมมา ปะณิธิ จะ,การตั้งตนไว้ชอบ,เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสามอย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, พาหุสัจจัญจะ,การเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก,สิปปัญจะ,การมีศิลปวิทยา, วินะโย จะ สุสิกขิโต,วินัยที่ศึกษาดีแล้ว,สุภาสิตา จะ ยา วาจา,วาจาที่เป็นสุภาษิต, เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสี่อย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, --- มาตาปิตุอุปัฏฐานัง,การบำรุงเลี้ยงมารดาบิดา,ปุตตะทารัสสะ สังคะโห,การสงเคราะห์บุตรและภรรยา,อะนากุลา จะ กัมมันตา,การงานที่ไม่ยุ่งเหยิงสับสน, เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสามอย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, --- ทานัญจะ,การบำเพ็ญทาน, ธัมมะจะริยา จะ,การประพฤติธรรม, ญาตะกานัญจะ สังคะโห,การสงเคราะห์หมู่ญาติ,อะนะวัชชานิ กัมมานิ,การงานอันปราศจากโทษ, เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสี่อย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, --- อาระตี วิระตี ปาปา,การงดเว้นจากบาปกรรม,มัชชะปานา จะ สัญญะโม,การเหนี่ยวรั้งใจไว้ได้จากการดื่มน้ำเมา,อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ,การไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย,เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสามอย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, ---คาระโว จะ,ความเคารพอ่อนน้อม,นิวาโต จะ,ความถ่อมตัวไม่เย่อหยิ่ง,สันตุฏฐี จะ,ความสันโดษยินดีในของที่มีอยู่,กะตัญญุตา ความเป็นคนกตัญญู,กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง,การฟังธรรมตามกาล, เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจห้าอย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, ---ขันตี จะ,ความอดทน,โสวะจัสสะตา,ความเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย,สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง,การพบเห็นสมณะ ผู้สงบจากกิเลส,กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา, การสนทนาธรรมตามกาล,เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสี่อย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, ---ตะโป จะ,ความเพียรเผากิเลส, พรัหมะจะริยัญจะ,การประพฤติพรหมจรรย์,อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง,การเห็นอริยสัจ,นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ,การทำพระ นิพพานให้แจ้ง,เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสี่อย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, ---ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ,จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลาย ถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว,อะโสกัง,เป็นจิตไม่เศร้าโศก,วิระชัง,เป็นจิตไร้ ธุลีกิเลส,เขมัง,เป็นจิตอันเกษมศานต์,เอตัมมังคะละมุตตะมัง,กิจสี่อย่างนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด, ---เอตาทิสานิ กัตฺวานะ สัพพัตถะมะปะราชิตา, สัพพัตถะโสตถิง คัจฉันติ, ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ,หมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, ได้กระทำมงคลทั้งสาม สิบแปดประการเหล่านี้ให้มีในตนแล้ว, จึงเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง, ย่อมถึงความสวัสดีในทุกสถาน, ทั้งหมดนี้เป็นมงคล, คือเหตุให้ถึงความเจริญก้าวหน้าอันสูงสุด,ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นโดยแท้,

มงคลสูตร : Mangala sutta

อุดมมงคล

ปฏิรูปเทสวาโส จ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ อันนี้เป็นมงคลที่ ๔ การอยู่ในประเทศที่สมควร จัดว่าเป็นอุดมมงคล อัน นี้ เห็นจะว่ากันอย่างย่อ ๆ คำว่าประเทศอันสมควรนี่ ไม่ใช่ประเทศเจ๊ก ประเทศไทย ประเทศแขก ประเทศมอญ ประเทศลาว ไม่ใช่ยังงั้น ประเทศที่สมควรก็คือ ในสถานที่นั้นมีบัณฑิตอยู่นั่นเอง มีบุคคลที่เราควรบูชาอยู่นั่นเอง ถ้าเราอยู่ในที่นั้นได้ ควรอย่างยิ่ง เป็นที่อยู่ที่สมควรเพราะเราปราศจากโทษ คือว่าท่านผู้เป็นบัณฑิต ท่านผู้ทรงความดี ท่านจะไม่แนะนำให้เราทำความชั่ว เมื่อเราอยู่กับท่านอยู่ใกล้ท่าน เราปฏิบัติตามท่านเราก็มีความสุข ทีนี้ จะหาว่าที่ไหนเป็นประเทศที่สมควร ใครสมควรก็จะต้องไปพูดกันทำไมเพราะพูดกันมากแล้วนี่ ถึงบุคคลที่ควรบูชา ถึงบุคคลที่เป็นบัณฑิต ถ้าสถานที่ใดก็ตามมีบัณฑิตอยู่ที่ไหน สถานที่นั้นชื่อว่าเป็นประเทศอันสมควร มงคลข้อที่ ๔ นี่ ขอผ่านไป มงคลที่ ๕ "การทำบุญไว้ในกาลก่อน" ทีนี้มาถึงมงคลข้อที่ ๕ ปุพฺเพจกตปุญฺญตา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ การทำบุญไว้ในกาลก่อนเป็นอุดมมงคล ท่านว่ายังงั้นนะ นี่มงคลข้อที่ ๕ ท่านว่ายังงี้นี่ คนที่มีบุญที่ทำไว้แล้วในกาลก่อน จัดว่าเป็นอุดมมงคล เรามาว่ากันถึงคำว่าบุญเสียก่อน บุญแปลว่าอะไร อันนี้ก็คือจะพูดให้ฟัง บุญ แปลว่าเหตุของความสุขหรือปัจจัยของความสุข หรือว่าตัวของความสุขก็ได้ ถ้าเราทำอะไรก็ตาม ทำแล้วมันเกิด ความสุข สิ่งนั้นเราเรียกกันว่าบุญ อันนี้สมเด็จพระสังฆราชวัดบวร ฯ จะไม่ใช่กรมหลวงชินวรนะ ต่อมาอีกองค์ชื่ออะไรจำไม่ได้เสียแล้ว ท่านเคยแปลคำว่าบุญ แปลว่าจิตสะอาด แหม ท่านแปลสวยจริง ๆ สมเด็จพระสังฆราชองค์นี้ แต่ว่าองค์ไหนท่านจะแปลมาก่อนไม่ทราบ วันนั้นบังเอิญไปฟังวิทยุเข้า ท่านเทศน์ ท่านบอกว่าบุญนี่ก็คือจิตสะอาด ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าบุญ แปลว่าจิตสะอาด สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราเคยทำจิตสะอาดมาแล้วในกาลก่อน จัดว่าเป็นอุดมมงคล แหม นี่สำคัญมาก ๆ การทำจิตสะอาดทำยังไงล่ะ ถ้าทำสูงเกินไปยังไม่ได้ เพราะมงคลข้อนี้ยังเป็นมงคลชั้นต่ำ พระพุทธเจ้าให้ค่อย ๆ ก้าวขึ้นไป การทำจิตสะอาด จะไปนั่งซ้ำกับพรหมวิหาร ๔ ก็จะหาว่าตาเถรคนนี้ไม่เป็นเรื่องไม่มีแยกเสียบ้างมันมีแค่นั้นน่ะรึ เขาจะว่า ยังงั้น แต่ความจริงพรหมวิหาร ๔ นะดีที่สุดอยู่แล้ว ยอดของความดียอดของความสะอาดของจิต ตานี้ ไม่ใช่จะอวดเบ่ง เรามานั่งช่วยกันคิดว่า ปุพฺเพจกตปุญฺญตา การที่เราสร้างความดี ทำความสะอาด ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ในกาลก่อนที่จัดว่าเป็นอุดมมงคลมีความสุขมันเป็นยังไง มานั่งพูดให้ฟัง พูดให้ฟังสักนิดหนึ่งเรา มีจิตประกอบไปด้วยความเมตตา และกรุณา เรามีความรัก เรามีความสงสารเมื่อเรารักเราสงสาร ถ้าเห็นเขามีความทุกข์เราก็ให้ทานคือเอาของไปให้ เอาเงินไปให้สงเคราะห์ด้วยการช่วยเหลือเป็นแรงงาน หรือให้ความแนะนำกับบุคคลที่ได้รับความคับแค้น ให้เขามีความสุข ทีนี้การที่เราให้เขาอย่างนี้ การสงเคราะห์เขาอย่างนี้ ถามกันจริง ๆ เถอะมันเป็นความดีหรือความชั่ว เอ้า เราไปนั่งคิดถึงคนอื่น มันมองไม่เห็นก็มานั่งคิดถึงตัวเรา ว่าถ้าเราได้รับการสงเคราะห์แบบนั้นบ้าง เราจะเกลียดคนสงเคราะห์ หรือว่าเราจะรักคนสงเคราะห์ นี่ถ้าเราไม่พูดกับคนบ้าหรือคนเมาก็จะพากันตอบเหมือนกันว่า คนที่สงเคราะห์เรา เราเกลียดเขาไม่ได้หรอก เราต้องรัก เพราะว่าเรามีความสุข เรามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้เพราะเขาเป็นปัจจัย เขาเป็นผู้มีคุณอย่างนี้ ก็ชื่อว่าปุพฺเพจกตปุญฺญตา เอากันแค่นี้ก็แล้วกัน ไม่ต้องมาก ยกเป็นตัวอย่างแต่ความดีสั้น ๆ เพราะยังเป็นมงคลต่ำ ๆ เป็น อันว่าเราเป็นนักสงเคราะห์อย่างที่เขาตั้งนักสังคมสงเคราะห์กัน สังคมสงเคราะห์ ถ้าสงเคราะห์จริง ๆ ไม่หวังผลตอบแทน เป็นคุณหญิงคุณนายเป็นเจ้าคุณกันละก็ อย่างนี้จัดว่าเป็นปุพฺเพจกตปุญฺญตา หรือจัดว่าเป็นความดี ถ้าทำประเภทนี้หวังจะได้ผลตอบแทน หวังจะได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ รับการสรรเสริญเยินยอ ใช้ไม่ได้ หรือให้คะแนนไม่ได้ ถ้าจะให้คะแนนก็ให้สักห้าพันสูญ เพราะการทำประเภทนั้น ไม่ต้องการทำเพื่อความหวังดีกับคนอื่น ทำเพื่อหวังผลให้ตนเป็นผู้เลิศ ใช้ไม่ได้ ยังงี้เขาไม่ใช้กัน ตานี้ การสงเคราะห์ด้วยการไม่หวังผลในการตอบแทน สงเคราะห์ให้เขามีความสุขชื่อว่าการทำบุญไว้ในกาลก่อน หมายความว่าเมื่อวานนี้ก็แล้วกัน ไม่ต้องเอากาลก่อนชาติก่อนอะไรหรอก เมื่อวานนี้ เราให้ทานกับสุนัขไว้ เราให้ทานกับคนขอทานไว้ เราให้ทานกับชาวบ้านที่ขาดฟืนขาดไฟขาดอาหารบ้านใกล้เรือนเคียง นี่เป็นปุพฺเพจกตปุญฺญตา เราเคยยกมือไหว้บุคคลที่มีอายุแก่กว่า ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า มีคุณวุฒิสูงกว่า มีชาติวุฒิสูงกว่า เราเคยแสดงความเมตตาปรานีกับเด็กเมื่อวานนี้เอง เมื่อวานนี้ก็ถือว่าในกาลก่อนเหมือน กัน ตานี้พอมาวันนี้เข้า เราไปเจอะคนพวกนั้นเข้าไม่มีใครเขาประกาศตนเป็นศัตรูกับเรา เขาก็แสดงความเป็นมิตรยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความเคารพ แสดงความขอบใจ เราก็มีความสุขใจอย่างนี้ จัดว่าเป็นอุดมมงคล นี่ว่ากันง่าย ๆ แบบนี้ มันจะได้ไม่ยาว ฉะนั้น การสร้างความดีไว้ในกาลก่อน ที่เราเกิดมาเป็นคนได้ก็เพราะอาศัยการสร้างความดีไว้ในกาลก่อนคือว่าคนที่จะ เกิดเป็นคนขึ้นมาได้ ๑. เคยมีศีลห้า ต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ หรือเคยมีกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์ หรือบริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้าง เป็นจังหวะจะโคน เป็นครั้งเป็นคราว นี่เราจึงมาเกิดเป็น คน มีอาการ ๓๒ ครบถ้วนได้ ที่เรามามีผ้าผ่อนท่อนสไบมีทรัพย์สิน มีบ้านเรือนโรง มีข้าวกิน มีมากมีน้อยไม่สำคัญ พอมีอยู่บ้างก็เพราะอาศัยการทำความดีไว้ในชาติก่อน คือการให้ทาน คนไหนให้ทานมาก คนนั้นก็มีทรัพย์มาก คนไหนให้ทานน้อย คนนั้นก็มีทรัพย์น้อย คนไหนให้ทานกับท่านที่มีความบริสุทธิ์มาก คนนั้นก็มีทรัพย์มาก มีความสุขมาก คนไหนให้ทานแก่ท่านที่มีความบริสุทธิ์น้อย คนนั้นก็มีทรัพย์น้อย มีความบริสุทธิ์น้อย เอาไงกันแน่ ให้มาก แต่ให้กับคนเลวอานิสงส์มันก็น้อย ให้น้อยแต่ให้กับท่านที่เป็นคนดีก็มีความดี มีอานิสงส์มาก ทีนี้ ความดีที่ทำไว้ในกาลก่อน ความจริงจะปิดฉากเสียแล้วซี พูดไปพูดมา ก็นึกขึ้นมาได้ ว่าในพระธรรมบทขุททกนิกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาท่านตรัสว่า พระพุทธกัสสปท่านเคยเทศน์ ไว้อย่างนี้ว่า คนใดบริจาคทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนบุคคลอื่น คนนั้นเกิดไปในชาติต่อไป มีทรัพย์สินสมบัติมากแต่ไม่มีพวกพ้อง บุคคลใดชักชวนบุคคลอื่น แนะนำบุคคลอื่นให้ให้ทาน แต่ตนเองไม่ทำ เกิดในชาติต่อไปมีพวกมีพ้อง แต่ตนเองเป็นคนจน บุคคลใดให้ทาน ด้วยตนเองด้วย แล้วก็ชักชวนบุคคลอื่นให้ให้ทานด้วย บุคคลนั้นเกิดไปในชาติต่อไป มีทรัพย์สินมากด้วยแล้วก็มีพวกพ้อง พี่น้องบริวารมาก บุคคลใดไม่ให้ทานด้วยตนเองด้วย ไม่ชักชวนบุคคลอื่นด้วยในการให้ทาน เกิดในชาติต่อไปเป็นคนยากจนด้วย แล้วก็หาพวกพ้องไม่ได้ด้วยนี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง คือพระพุทธกัสสปท่านตรัสไว้อย่างนี้ แล้วองค์สมเด็จพระมหามุนีก็ทรงรับรองตามนั้นพวกเราที่เกิดมาในโลก ที่เป็นคนขึ้นมาได้อย่างนี้ก็เพราะอาศัยความดีในชาติก่อน เมื่อกี้นี้พูดแล้วนี่ ว่าความดีเมื่อวาน นี่ย่องเข้ามาเล่นชาติก่อนกันเสียหน่อยเป็นยังไงเพราะอาศัยมีศีลห้าและมี กรรมบถ ๑๐ เราจึงเป็นคน เป็นมนุษย์ เรามีทรัพย์สินได้ก็เพราะอาศัยการบริจาคทาน ที่เรามีเพื่อนฝูง เรา มีบริวารก็เพราะการชักชวนกันสร้างความดีที่เรามีปัญญาคิดอะไรต่ออะไร ออกอย่างนี้ก็เพราะเราเคยอาศัยใช้ปัญญายอมรับนับถือกฎของความดี นี่เป็นอันว่าพวกเราเข้ามาเจอะความสุข คือเป็นมนุษย์ได้บริบูรณ์สมบูรณ์ ตาไม่บอด หูไม่หนวก แขนไม่ขาด หูไม่แหว่ง ปากไม่แหว่ง หรืออวัยวะสมบูรณ์ ทุกอย่างก็เพราะอำนาจของศีล อำนาจของกรรมบถ ๑๐ เรามีกินมีใช้ก็เพราะอำนาจทานบารมี เรามีสติปัญญาดีเท่าที่เราจะพึงมี คือรู้จักภาษาคนได้ รู้จักคิดได้ รู้จักสร้างตัวได้ สั่งสมความดีมีได้ หาได้ ก็เพราะอาศัยการยอมรับนับถือกฎของความดีตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นอันว่าเรามีความสุขกัน แล้วความสุขตามอัตภาพเพราะอาศัยความดีประเภทนี้มีมาในกาลก่อนตานี้ มาถึงชาตินี้น่ะ เราจะทำลายความดีหรือจะสร้างความดีต่อ เพราะว่าถ้าเรายังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานเพียงใดแล้ว ท่านทั้งหลายมันยังต้องเกิด ถ้าเราจะเกิดไปข้างหน้าละ เราจะยอมเป็นคนจนหรือว่าเราจะอยากเป็นคนรวย เราจะเป็นคนหูแหว่งจมูกวิ่น เป็นคนอวัยวะไม่สมบูรณ์ หรือเราจะต้องการเป็นคนมีอวัยวะสมบูรณ์ เราอยากจะเป็นคนมีสติปัญญา หรืออยากเป็นคนโง่ เอาเลือกกัน ๓ อย่าง เลือกกันเอาตามชอบใจ ตานี้จะมีใครที่ไหนล่ะ ใครเขาอยากจะมานั่งเป็นคนจน ไม่มีหรอก หาไม่ได้ หรือจะย่องไปมีที่ไหนบ้างก็ไม่รู้นา คนพูดไม่ใช่สัพพัญญูวิสัย เอาแล้ว ย่องเข้ามาใช้ภาษาบาลีกันอีกแล้ว คำว่าสัพพัญญู แปลว่ารู้ทุกอย่างหรือว่ารู้หมด เช่น พระพุทธเจ้า นี่คนพูดนี่ไม่ได้รู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เลยเดา ๆ เอา ว่าคนทุกคนที่เกิดมาใน โลกไม่มีใครอยากเป็นคนจน ถ้าบังเอิญจะมีใครเขาอยากเป็นคนจนกันบ้างละขอโทษด้วยนะ ว่าเจ้าคนพูดนี่มันโง่เกินไป แล้วยอมรับว่าตัวนี่โง่ ตานี้ เมื่อเราไม่อยากจะจน ก็ถอยหลังลงไป ว่านี่เรามีกินมีใช้ได้เพราะการให้ทาน การสงเคราะห์ ทีนี้ต่อไปชาติหน้า ถ้าเราอยากจะรวยอีก เอาให้มันรวยกว่านี้รวยแค่นี้มันมีการบกพร่องอะไรบ้าง เราเห็นบุคคลอื่นเขามีความสุขมากกว่าเรา เพราะมีทรัพย์สินมากกว่าเรา มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ นี่แสดงว่าชาติก่อนเราเสียท่าเขานี่ เราทำอะไรไม่ได้ครบ มาชาตินี้เรารู้ตัวแล้วนี่ ไม่ได้การ ชาติหน้าต้องไม่ยอม แพ้ยายคนนั้น ตาคนนั้น ต้องเอามันให้ครบ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาให้ทาน แล้วก็การให้ทานนี่ให้แค่พอเหมาะพอดีนะ อย่าให้เพื่อเป็นการเบียดเบียนตัวเอง คืออย่าให้เป็นการเกินวิสัยเรียกว่าทำไปแล้วเราไม่เดือดร้อน ไม่ใช่เรามีบาทแล้วให้หมดบาท มีบาทไม่ใช่ให้ ๑ สลึง ต้องดูก่อนว่าความจำเป็นอะไรมันมีบ้าง ที่เราจะต้องใช้ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านั้น สิ่งที่เราให้ก็คือนอกเหนือจากความจำเป็น มันเป็นเงิน ปลอด นี่ การที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำพระพุทธเจ้าหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรืออีตาคนนี้พูด แต่พระพุทธเจ้าท่านพูดมานี่ก็พูดตามไป ท่านทรงแนะนำว่าเราช่วยกันให้ทาน นี่พวกบรรดาหัวนอกรีตนอกรอยก็ว่าเอ้อ ถ้าสอนกันแบบนี้ ก็สอนให้ชาวบ้านขี้เกียจละซี คนอื่นไม่ต้องทำมาหากินหรอก คอยรับทานจากบุคคลผู้ให้ทาน ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นการผิดถนัด การให้ทานน่ะเป็นการสร้างมิตรนะ ไม่ใช่เป็นการสร้างศัตรู แล้วจะไปรู้กันในตอนให้ทานเราให้ทานจัดเป็นสังคหวัตถุ เป็นการเชื่อมความรักซึ่งกันและกัน ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันให้มีความสุข อย่างนี้ ถ้าต่างคนต่างมีจิตคิดแบบนี้ ก็เป็นการช่วยกันสร้างชาตินั่นเอง เพราะคนทั้งชาติมีจิตใจเสมอกัน ชาติของเราก็จะเต็มไปด้วยความสุข เมื่อชาติทั้งชาติมีความสุข เราจะไปหาความทุกข์ตรงไหน หาความทุกข์ไม่ได้ เพราะไปไหนมีแต่มิตร มีแต่เพื่อน มีแต่คนยิ้มแย้มแจ่มใสเพราะผลของทานบารมีที่เราให้ นี่ว่ากันถึงชาตินี้นะ ถ้าชาติหน้ารวยใหญ่บอกไม่ถูก นี่ว่ากันย่อ ๆ ตรงนี้ก็แล้วกัน ตา นี้ ถ้าว่าเราเกิดมาในชาตินี้มันสวยไม่เท่าเขาเสียแล้วซี เขาประกวดหญิงงามชายงามกัน แหม เราจะเข้าไปประกวดกับเขาบ้าง ถ้าจะได้ที่ ๑ ก็น่ากลัวมันข้างท้าย ใครเดินมาท้ายแถวเจอะเราแน่ อย่างคนพูดนี่ สวยเหน่งเลย คนพูดนี่เวลานี้สวยเหน่ง ที่ไม่ใช้คำว่าสวยเช้งก็เพราะว่ามันไม่ตรงความหมาย สวยเหน่งก็คือหัวล้านเหน่ง สวยน่ะ นี่มันสวยสู้เขาไม่ได้ ถ้าเราอยากจะเป็นคนสวยทำยังไง เราก็ทำตัวเป็นคนมีเมตตาจิต ระงับการละเมิดศีลข้อที่ ๑ เข้าไว้ มีจิตใจประกอบไปด้วยเมตตา คนประเภทนี้เกิดไปทุกชาติ ๆ สวยบอกไม่ถูก สวยจริง ๆ คราวนี้ ถ้าเรามีทรัพย์สินไม่อยากจะให้ขโมยขโจรลัก ไม่อยากให้มีอันตราย เราก็ไม่ลักไม่ขโมยไม่ยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของใคร เกิดมาชาติต่อไปมีทรัพย์สมบูรณ์ ไม่ต้องระวังของหาย ไม่มีอันตราย ใครจะเอาไฟเข้ามาจุดมันก็ไม่ติด น้ำก็ไม่ท่วม ลมก็ไม่พัดให้พัง ตานี้ เราต้องการให้คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือว่าสามีภรรยาของเราอยู่ในโอวาท ไม่นอกเหนือใจ จะพูดอะไร จะสอนอะไร เชื่อฟังอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เราก็ระวังศีลข้อที่ ๓ กล่าวคือไม่ทำกาเมสุมิจฉาจาร ถ้าเราต้องการให้เราเป็นคนปากหวาน ปากหอม พูดกับใครใครก็ชอบ เราก็ไม่โกหกมดเท็จใคร ถ้าเราตั้งใจให้เป็น คนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความดี มีปัญญาดี เราก็ไม่ดื่มสุราและเมรัย และตั้งใจเคารพในความดี นี่ แหละ ท่านทั้งหลาย เพียงเท่านี้ ถ้าเราสร้างความดีไว้ให้ครบถ้วน ถ้าเราเกิดไปชาติหน้าเราก็จะมีความดี มีความสุขใจตามความประสงค์ เราก็จะเป็นคนสวยสดงดงามมีทรัพย์สมบัติ เยือกเย็น มีบุคคลใต้บังคับบัญชาว่านอนสอนง่ายอยู่ในโอวาท มีวาจาเป็นศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครคิดนอกเหนือคำสั่ง และมีสติสตังสมบูรณ์บริบูรณ์ นี่เราว่าชาติหน้านะแต่ความจริงถ้าเราทำความดีอย่างนี้ มันเริ่มให้ผลตั้งแต่ชาตินี้ เพราะว่าการให้ทานการสงเคราะห์นี่ ไป ที่ไหนก็มีคนยิ้มแล้ว มีคนชอบใจ มีคนรักแล้ว ตานี้ ถ้าเราเป็นคนมีความเมตตาปรานีไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ประทุษร้ายใคร ไม่กลั่นแกล้งใคร ถึงแม้ว่ารูปร่างไม่สวยเราก็เป็นคนสวย สวยเพราะอะไร สวยเพราะว่ามีคนรักเรามาก ไอ้คนสวยน่ะถ้ามีใครเขาเกลียด ความสวยก็ไม่มีความหมาย ทีนี้ ไปที่ไหนก็มีแต่คนชอบ เพราะเราเป็นคนใจดี ไม่ประทุษร้ายใคร ถ้าเราไม่ลักไม่ขโมยของใครนี่ แหม ท่านทั้งหลายไม่ต้องห่วง ไปที่ไหนมันก็มีแต่คนรักอีก เสน่ห์มันดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ละเมิดความรัก เป็นที่ไว้วางใจของคนอื่นในเรื่องกาเม จะไปนอนค้างอ้างแรมบ้านใครก็ได้ จะเดินไปกับลูกชายลูกสาวใครก็ไม่มีใครเขาว่า เพราะอะไร เพราะว่าความดีข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดเมตตาจากบุคคลอื่น ถ้าเราไม่เป็นคนโกหกมดเท็จ พูดแต่ความเป็นจริง ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เขาชอบฟังเราพูดอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าเราเป็นคนปากหอม มีเสียงเป็นเสน่ห์ ถ้าเราไม่กินเหล้าเมาสุรา เป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็เป็นคนดีของสังคมแห่งความดี นี่ ขึ้นชื่อว่าความดีที่เราทำไว้เพื่อชาติหน้า ก็ให้ผลความดีตั้งแต่ชาตินี้ ถ้าทุกคนในประเทศของเราสร้างความดีอย่างนี้ทั้งหมด ท่านทั้งหลายที่เห็นว่าคำสั่งสอนทั้งหมดขององค์สมเด็จพระบรมสุคตนะ บั่นทอนประเทศชาติให้ทรุดโทรม หรือทำประเทศชาติให้เจริญ นี่ว่ากันถึงว่าคนรักประเทศชาติ เอ้า ลองมานั่งนึกดูกันอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินท่านปล่อยฝนช่วยชาวบ้านน่ะ เสกน้ำเป็นน้ำมัน ทดลองอะไรต่อ ทดลองอะไรอย่างนี้น่ะ ทำให้ชาวบ้านที่ถูกความแล้งรบกวน ต้นพืชผักธัญญาหารตายวอดวายกันหมด แต่ว่าแทนที่จะปล่อยอย่างนั้น ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินเอาฝนไปให้ นี่พืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหลายงอกงาม เป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง อย่างนี้ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรม หรือว่าทำให้ประเทศชาติเจริญ พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้เปลืองเงินชาวบ้าน หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ช่วยเสริมชาวบ้านให้มีเงินมากขึ้น นี่เอากันจุดเดียว เอาตัวอย่างพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้เห็นชัด ตานี้ ถ้าหากว่าพวกเราเป็นพสกนิกรของพระมหากษัตริย์ ในเมื่อพระองค์ทำใหญ่ได้ เราก็ทำมั่ง แต่ว่าทำเล็ก ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ คนละจุด ๒ จุด ทุกคนต่างช่วยกันทำคนละเล็กละน้อย มันก็ใหญ่ขึ้นมาเอง เป็นอันว่าความสุขที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะพึงได้ในชาติหน้านั้น ความจริงเราได้ตั้งแต่ชาตินี้ และองค์สมเด็จพระมหามุนีเวลาเทศน์ก็เทศน์แบบนั้นเหมือนกัน ว่าการทำความดี ไม่ใช่ว่าเราจะต้องการผลในชาติหน้า ให้ต้องการผลจริง ๆ ในชาตินี้ แต่เมื่อชาตินี้มันมีความดีมีความสุขแล้ว ความสุขนี้ก็มีปัจจัยให้ได้รับความสุขในชาติหน้าต่อไป ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงตรัสว่า ปุพฺเพจกตปุญฺญตา การสร้างความดี คือว่าทำบุญไว้ในชาติก่อน จัดว่าเป็นอุดมมงคล