Sunday 3 June 2012

อุปสมานุสสติกรรมฐาน

๑๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติ แปลว่า ระลึกคุณพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามศัพท์ท่านน่าจะแปลว่าระลึกถึงคุณของความเข้าไปสงบระงับจิตจากกิเลสและตัณหา ก็คือการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเองท่านแปลเอาความหมายว่า ระลึกถึงคุณพระนิพพานนั้น เป็นการแปลโดยอรรถ ท่านแปลของท่านถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ที่เขียนถึงคำว่าสงบระงับไว้ด้วยก็เพื่อให้เต็มความประสงค์ของนักคิดเท่านั้นเอง ระลึกตามแบบ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี ๘ ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก ดังจะนำมา เขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึกดังต่อไปนี้ บาลีปรารภพระนิพพาน ๘ ๑. มทนิมฺมทโน แปลว่า พระนิพพานย่ำยีเสียซึ่งความเมา มีความเมาในความเป็นคนหนุ่ม และเมาในชีวิต โดยคิดว่าตนจะไม่ตายเป็นต้น ให้สิ้นไปจากอารมณ์ คือคิดเป็นปกติเสมอว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โลกนี้ทั้งสิ้น มีความฉิบหายเป็นที่สุด ๒. ปิปาสวินโย แปลว่า พระนิพพาน บรรเทาซึ่งความกระหาย คือความใคร่กำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และการถูกต้องสัมผัส ๓. อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า พระนิพพาน ถอนเสียซึ่งอาลัยในกามคุณ ๕ หมายความว่า ท่านที่เข้าถึงพระนิพพาน คือมีกิเลสสิ้นแล้ว ย่อมไม่ผูกพันในกามคุณ ๕ เห็นกามคุณ ๕ เสมือนเห็นซากศพ ๔. วัฏฏปัจเฉโท แปลว่า พระนิพพาน ตัดเสียซึ่งวนสาม คือ กิเลสวัฏได้แก่ ตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ไม่มีความมัวเมาในกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย กรรมวัฏ ตัดกรรม อันเป็นบาปอกุศล วิปากวัฏ คือตัดผลกรรมที่เป็นอกุศลได้สิ้นเชิง ๕. ตัณหักขโย, วิราโค, นิโรโธ แปลว่า นิพพานธรรมนั้น ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหา ตัณหาไม่กำเริบอีก มีความหน่ายในตัณหา ไม่มีความพอใจในตัณหาอีก ดับตัณหาเสียได้สนิทตัณหาไม่กำเริบขึ้นอีกได้แม้แต่น้อย ๖. นิพพานัง แปลว่า ดับสนิทแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรมอำนาจทั้ง ๔ นี้ ไม่มีโอกาสจะให้ผลแก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงพระนิพพานแล้วได้อีก ตามข้อปรากฏว่ามีเพียง ๖ ข้อ ความจริงข้อที่ ๕ ท่านรวมไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหักขโย ๑วิราโค ๑ นิโรโธ ๑ ข้อนี้รวมกันไว้เสีย ๓ ข้อแล้ว ทั้งหมดจึงเป็น ๘ ข้อพอดี ท่านลงในแบบว่า ๘ ก็เขียนว่า ๘ ตามท่าน ความจริงเมื่อท่านจะรวมกัน ท่านน่าจะเขียนว่า ๖ ข้อก็จะสิ้นเรื่อง เมื่อท่านเขียนเป็นแบบมาอย่างนี้ ก็เขียนตามท่าน ท่านสอนให้ตั้งจิตกำหนดความดีของพระนิพพานตามในบาลีทั้ง ๘ แม้ข้อใด ข้อหนึ่งก็ได้ตามความพอใจ แต่ท่านก็แนะไว้ในที่เดียวกันว่า บริกรรมภาวนาว่า "นิพพานัง" นั่นแหละดีอย่างยิ่ง ภาวนาไปจนกว่าจิตจะเข้าสู่อุปจารฌาน โดยที่จิตระงับนิวรณ์ ๕ ได้สงบแล้วเข้าถึงอุปจารฌานเป็นที่สุด กรรมฐานนี้ ที่ท่านกล่าวว่าได้ถึงที่สุดเพียงอุปจารฌานก็เพราะเป็นกรรมฐานละเอียดสุขุม และใช้อารมณ์ใคร่ครวญเป็นปกติ กรรมฐานนี้จึงมีกำลังไม่ถึงฌาน อานิสงส์ อานิสงส์ที่ใช้อารมณ์ใคร่ครวญถึงพระนิพพานนี้มีผลมาก เป็นปัจจัยให้ละอารมณ์ที่คลุกเคล้าด้วยอำนาจกิเลสและตัณหา เห็นโทษในวัฏฏะ เป็นปัจจัยให้แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันเป็นปฏิปทาไปสู่พระนิพพาน เป็นกรรมฐานที่นักปฏิบัติได้ผลเป็นกำไร เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างสบาย ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจกรรมฐานกองนี้ให้มาก ๆ และแสวงหาแนวปฏิบัติ ที่เข้าตรงต่อพระนิพพานมาปฏิบัติ ท่านมีโอกาสจะเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างไม่ยากนักเพราะระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นี้ เป็นองค์หนึ่งในองค์สามของพระโสดาบัน ชื่อว่าท่านก้าวเข้าไปเป็นพระโสดาบันหนึ่งในสามขององค์พระโสดาบันแล้ว เหลืออีกสองต้องควรแสวงหาให้ ครบถ้วน พระนิพพานไม่สูญ ท่านนักปฏิบัติได้กำหนดกรรมฐานในอุปสมานุสสตินี้แล้ว ท่านอาจจะต้องประสบกับปัญหายุ่งสมองในเรื่องพระนิพพานอีกตอนหนึ่ง เพราะบรรดานักคิดนักแต่งทั้งหลาย ได้พากันโฆษณามาหลายร้อยปีแล้วว่า พระนิพพานเป็นสภาพสูญ แต่พอมาอ่านหนังสือของพระอรหันต์ท่านเขียน คือหนังสือวิสุทธิ-มรรค ท่านกลับยืนยันว่า พระนิพพานไม่สูญ ดังท่านจะเห็นตามบาลีทั้ง ๘ ที่ท่านยกมาเป็นองค์ภาวนานั้น คือ มทนิมฺมทโน พระนิพพานตัดความเมาในชีวิต ปิปาสวินโย นิพพานบรรเทาความกระหายในกามคุณ ๕ อาลยสมุคฺฆาโต พระนิพพานถอนอาลัยในกามคุณ วัฏฏปัจเฉโท พระนิพพานตัดวนสามให้ขาด ตัณหักขโย พระนิพพานมีตัณหาสิ้นแล้ว หรือสิ้นตัณหาแล้วเข้าสู่นิพพาน วิราโค มีความเบื่อหน่ายในตัณหา นิโรโธ ดับตัณหาได้สนิทแล้ว โดยตัณหาไม่กำเริบอีก นิพพานัง มีความดับสนิทแล้วจากกิเลส ตัณหา อุปาทานกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดอีกในวัฏสงสาร

อานาปานานุสสติกรรมฐาน

๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน อานาปานานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์ กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานใหญ่คลุมกรรมฐานกองอื่น ๆ เสียสิ้น เพราะจะปฏิบัติกรรมฐาน ๔๐ กองนี้ กองใดกองหนึ่งก็ตาม จะต้องกำหนดลมหายใจเสียก่อน หรือมิฉะนั้นก็ต้องกำหนดลมหายใจร่วมไปพร้อม ๆ กับกำหนดพิจารณากรรมฐานกองนั้น ๆ จึงจะได้ผล หากท่านผู้ใดเจริญกรรมฐานกองใดก็ตาม ถ้าละเว้นการกำหนด เสียแล้ว กรรมฐานที่ท่านเจริญ จะไม่ได้ผลรวดเร็วสมความมุ่งหมาย อานาปานุสสตินี้ มีผลถึงฌาน ๔สำหรับท่านที่มีบารมีเป็นพุทธสาวก ถ้าท่านที่มีบารมีในวิสัยพุทธภูมิ คือท่านที่เป็นพระโพธิสัตว์คือท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิ ท่านผู้นั้นจะทรงฌานในอานาปาน์นี้ถึงฌานที่ ๕ อานาปานุสสติระงับกายสังขาร เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นทางกาย ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสติ เข้าฌานในอานาปาน์จนถึงจตุตถฌานแล้ว ทุกขเวทนานั้นจะระงับไปทันที ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าเวทนาหายไป แต่เป็นเพราะเมื่อเข้าถึงฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จิตจะแยกออกจากขันธ์ ๕ ไม่รับรู้ทุกขเวทนาของขันธ์ทันที ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสตินี้ ท่านจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส เมื่อทุกข์ทางร่างกาย เกิดขึ้น เพราะท่านหนีทุกข์ได้ด้วยการเข้าฌาน แยกจิตกับขันธ์ ๕ ออกจากกันเป็นกรรมฐานที่ให้ผลสูงมาก รู้เวลาตายได้แน่นอน ท่านที่ได้ฌานอานาปานุสสตินี้ สามารถรู้กำหนดเวลาตายของท่านได้ตรงตามความจริงเสมอ โดยกำหนดล่วงหน้าได้เป็นเวลาแรมปี เมื่อจะตาย ท่านก็สามารถบอกได้ว่า เวลาเท่านั้นเท่านี้ ท่านจะตาย และตายด้วยอาการอย่างไร เพราะโรคอะไร ช่วยกรรมฐานกองอื่น ท่านที่ได้ฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จะปฏิบัติในกรรมฐานกองอื่น ๆ อีก ๓๙ กองนั้นท่านเข้าฌานในอานาปานน์ก่อน แล้วถอยหลังจิตมาดำรงอยู่แค่อุปจารสมาธิ แล้วกำหนดกรรมฐานกองนั้นๆ ท่านจะเข้าถึงจุดสูงสุดในกรรมฐานกองนั้น ๆ ได้ภายใน ๓ วัน เป็นอย่างช้า ส่วนมากได้ถึงจุดสูงสุดของกรรมฐานกองนั้น ๆ ภายในที่นั่งเดียว คือคราวเดียวเท่านั้นเอง จุดจบของอานาปานุสสติ จุดจบของอานาปานุสสตินี้ คือ ฌานที่ ๔ หรือที่ ๕ ก็ได้แก่การกำหนดลมหายใจจนไม่ปรากฏลมหายใจ ที่ท่านเรียกกันว่าลมหายใจขาด แต่ความจริงลมหายใจไม่ขาดหายไปไหน เพียงแต่ว่ากายกับจิตแยกกันเด็ดขาด จิตไม่รับทราบอาการทางกายเท่านั้น เมื่อจิตไม่รับรู้เสียแล้ว การหายใจ หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ ทางกาย จึงไม่ปรากฏแก่จิตตามความนิยม ท่านเรียกว่า ลมขาด วิธีปฏิบัติในอานาปานุสสติ การปฏิบัติในอานาปานุสสตินี้ ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นกรรมฐานที่ไม่มีในองค์ภาวนา และไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก เพียงแต่คอยกำหนดลมหายใจเข้าออกตามฐานที่กำหนดไว้ให้รู้อยู่หรือครบถ้วนเท่านั้น เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก พร้อมกับสังเกตลมกระทบฐาน ๓ ฐาน ดังจะกล่าวต่อไปให้ทราบ ฐานที่กำหนดรู้ของลม ฐานกำหนดรู้ที่ลมเดินผ่านมี ๓ ฐาน คือ ก. ฐานที่ ๑ ท่านให้กำหนดที่ริมฝีปาก และที่จมูก เมื่อหายใจเข้า ลมจะกระทบที่จมูกเมื่อหายใจออกลมจะกระทบที่ริมฝีปาก ข. ฐานที่ ๒ หน้าอก เมื่อลมผ่านเข้าหรือผ่านออกก็ตาม ลมจะต้องกระทบที่หน้าอก หมายเอาภายใน ไม่ใช่หน้าอกภายนอก ลมกระทบทั้งลมเข้าและลมออกเสมอ ค. ศูนย์ที่ท้องเหนือสะดือนิดหน่อย ลมหายใจเข้าหรือออกก็ตาม จะต้องกระทบที่ท้องเสมอทุกครั้ง ๓ ฐานนี้มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิต เพราะถ้าจิตกำหนดจับฐานใดฐานหนึ่งไม่ครบ ๓ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของจิตระงับอกุศลที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ ได้ แต่อารมณ์หยาบอารมณ์อกุศลที่เป็นอารมณ์กลางและละเอียดยังระงับไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้น อย่างสูงก็ได้เพียงขณิกสมาธิละเอียดเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงอุปจารสมาธิ ยังไกลต่อฌานที่ ๑ มาก ถ้าท่านผู้ปฏิบัติ กำหนดรู้ลมผ่านได้ ๒ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของท่านผู้นั้นดับอกุศล คือนิวรณ์ได้ในอารมณ์ปานกลาง ส่วนอารมณ์นิวรณ์ที่ละเอียดอันเป็นอนุสัย คือกำลังต่ำยังระงับไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้นอย่างสูงก็แค่อุปจารสมาธิ จวนจะเข้าถึงปฐมฌานแล้ว ถ้าผู้ใดกำหนดรู้ ลมผ่านกระทบได้ทั้ง ๓ ฐาน ท่านว่าท่านผู้นั้นระงับนิวรณ์ละเอียดได้แล้วสมาธิเข้าถึงปฐมฌาน ส่วนฌานต่าง ๆ อีกสามคือ ฌานที่ ๑, ๒, ๓, ๔ อยากทราบโปรดพลิกไปดูในข้อที่ว่าด้วยฌาน จะเข้าใจชัด นับลม การฝึกในอานาปาน์ จะว่าง่ายนั้น ก็ดูจะเป็นการยกเมฆเกินไป เพราะอานาปาน์เป็นกรรมฐานใหญ่ที่ครอบงำกรรมฐานทั้งหมด จะง่ายตามคิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่ ท่านที่ไม่เคยผ่านคงคิดว่าไม่น่ายากเลย เรื่องคิดแล้วไม่ทำ นำเอาไปพูดนั้น ที่ว่าไม่ยากก็ไม่เถียง เพราะพวกนี้มีความดีอยู่แค่ริมฝีปาก ส่วนอื่นทั้งตัวไม่มีอะไรดีเลย เลวเสีย ๙๙.๙๙ มีดีนิดเดียว ท่านจะคุยโม้อย่างไรก็ช่างท่านเถิด เรามาเอาดีทางปฏิบัติกันดีกว่า การกำหนดลมเป็นของยาก เพราะจิตของเราเคยท่องเที่ยวมานาน ตามใจเสียจนเคยจะมาบังคับกันปุบปับให้อยู่นั้นเมินเสียเถอะ ที่จิตจะยอมหมอบราบคาบแก้ว เมื่อระวังอยู่แกก็ทำท่าเหมือนจะยอมจำนน แต่พอเผลอเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แกก็ออกแน็บไปเหนือไปใต้ตามความต้องการของแก กว่าเจ้าของจะรู้ก็ไปไกลแล้ว อารมณ์ของจิตเป็นอย่างนี้ เมื่อทำไปถ้าเอาไม่อยู่ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ฝึกทีละน้อย ท่านสอนให้นับลมหายใจเข้า หายใจออก เข้าครั้ง ออกครั้ง นับเป็นหนึ่ง ท่านให้กำหนดนับดังต่อไปนี้ นับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ เอาแค่เข้าออก ๕ คู่ นับไปและกำหนดรู้ฐานทั้ง ๓ ไปด้วย กำหนดใจไว้ว่า เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกเพียง ๔ คู่ พร้อมด้วยรู้ฐานลมทั้ง ๓ ฐาน แล้วก็เริ่มกำหนดฐานและนับลม พอครบ ๕ คู่ ถ้าอารมณ์ยังสบาย ก็นับไป ๑ ถึง ๕ เอาแค่นั้น พอใจเริ่มพล่าน ถ้าเห็นท่าจะคลุมไม่ไหว ก็เลิกเสียหาความเพลิดเพลินตามความพอใจ เมื่ออารมณ์ดีแล้วกลับมานับกันใหม่ ไม่ต้องภาวนา เอากันแค่รู้เป็นพอ เมื่อนับเพียง ๕ จนอารมณ์ชินไม่หนีไม่ส่ายแล้ว ก็ค่อยเลื่อนไปเป็น๖ คู่ คือ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ถ้า ๖ คู่ สบายดีไม่มีอะไรรบกวน แล้วก็ค่อยเลื่อนไปเป็น ๗ คู่ ๘ คู่ ๙ คู่๑๐ คู่ จนกว่าอารมณ์จิตจะทรงเป็นฌานได้นานตามสมควร ผ่อนสั้นผ่อนยาว การเจริญอานาปานุสสตินี้ มีอาการสำคัญของนักปฏิบัติใหม่ ๆ อย่างหนึ่ง คืออารมณ์ซ่านเวลาที่จิตใจไม่สงบจริงมีอยู่ พอเริ่มต้น อารมณ์ฟุ้งซ่านก็เริ่มเล่นงานทันที บางรายวันนี้ทำได้เรียบร้อยอารมณ์สงัดเป็นพิเศษ จิตสงัดผ่องใส อารมณ์ปลอดโปร่งกายเบา อารมณ์อิ่มเอิบ พอรุ่งขึ้นอีกวัน คิดว่าจะดีกว่าวันแรก หรือเอาเพียงสม่ำเสมอแต่กลับผิดหวัง เพราะแทนที่จะสงัดเงียบ กลับฟุ้งซ่านจนระงับไม่อยู่ ก็ให้พยายามระงับ และนับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕,๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ ถ้านับก็ไม่เอาเรื่องด้วย ยิ่งฟุ้งใหญ่ท่านตรัสสอนไว้ในบทอานาปานุสสติว่า เมื่อเห็นว่าเอาไว้ไม่ได้จริง ๆ ท่านให้ปล่อยอารมณ์ แต่อย่าปล่อยเลย ให้คอยระวังไว้ด้วย คือปล่อยให้คิดในเมื่อมันอยากคิด มันจะคิดอะไรก็ปล่อยให้มันคิดไปตามสบาย ไม่นานนักอย่างมากไม่เกิน ๒๐ นาที อารมณ์ซ่านก็จะสงบระงับกลับเข้าสู่อารมณ์สมาธิ เมื่อเห็นว่าอารมณ์หายซ่านแล้วให้เริ่มกำหนดลมตามแบบ ๓ ฐานทันที ตอนนี้ปรากฏว่าอารมณ์สงัดเป็นอันดี มีอารมณ์เป็นฌานแจ่มใส อาการอย่างนี้มีแก่นักปฏิบัติอานาปานุสสติเป็นปกติ โปรดคอยระลึกไว้ และปฏิบัติตามนี้จะได้ผลดี อานาปาน์พระพุทธเจ้าทรงเป็นปกติ เพื่อความอยู่เป็นสุขในสมบัติ ไม่มีสมาบัติใดที่จะอยู่เป็นสุขเท่า อานาปานานุสสติ เพราะเป็นสมาบัติที่ระงับกายสังขาร คือดับเวทนาได้ดีกว่าสมาบัติอื่น แม้จะเป็นสมาบัติต้นก็ตาม พระอรหันต์ ทุกองค์ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงอยู่เป็นสุขด้วยอานาปานานุสสติดังพระปรารภของพระองค์ที่ทรงปรารภแด่พระอานนท์ว่า อานันทะดูก่อนอานนท์ ตถาคตก็มากไปด้วยอานาปานุสสติเป็นปกติประจำวัน เพราะอานาปานานุสสติระงับกายสังขารให้บรรเทาจากทุกขเวทนาได้ดีมากท่านที่ ได้อานาปานานุสสติแล้ว จงฝึกฝนให้ชำนาญและคล่องแคล่วฉับไวในการเข้าฌานที่ ๔ เพื่อผลในการระงับทุกขเวทนาอย่างยิ่ง และเพื่อผลในการช่วยฝึกฌานในกองอื่นอีกอย่างหนึ่ง

กายคตานุสสติกรรมฐาน

๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน กายคตานุสสติ แปลว่า พิจารณากายให้เห็นว่า ไม่สวยไม่งาม มีความโสโครกตามกฎแห่งความเป็นจริงเป็นอารมณ์ กายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานสำคัญที่พระอริยเจ้าทุกองค์ไม่เคยเว้น เพราะพระอริยเจ้าก่อนแต่จะได้สำเร็จมรรคผล ทุกท่านนิยมพิจารณาให้เห็นว่าไม่สวยไม่น่ารัก น่ารังเกียจ เพราะมีสภาพน่าสะอิดสะเอียนตามปกติเป็นอารมณ์ และกายคตานุสสตินี้ เป็นกรรมฐานพิเศษกว่ากรรมฐานกองอื่น ๆ เพราะถ้าพระโยคาวจรพิจารณาตามกฎของกายคตานุสสติ ผลที่ได้รับจะเข้าถึงปฐมฌาน แต่ถ้ายึดสีต่าง ๆ ร่างกายที่ปรากฏมีสีแดงของเลือดเป็นต้น ยึดเป็นอารมณ์ในการเพ่งเป็นกสิณ กรรมฐานกองนี้ก็มีผลได้ฌาน ๔ ตามแบบของกสิณ การพิจารณาท่านเขียนไว้ในวิสุทธิมรรควิจิตรพิศดารมาก จะไม่ขอกล่าวตามจนละเอียดขอกล่าวแต่เพียงย่อ ๆ พอได้ความ หากท่านนักปฏิบัติมีความข้องใจ หรือสนใจในความละเอียดครบถ้วน ก็ขอให้หาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะเข้าใจละเอียดมากขึ้น ตามแนวสอนในวิสุทธิมรรคท่านให้พิจารณาอาการ ๓๒ คราวละ ๕ อย่าง เช่น พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ รวม ๕ อย่างเป็นหมวดหนึ่ง ท่านให้พิจารณาตามลำดับและย้อนกลับ เช่น พิจารณาว่า เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม ย้อนจากปลายมาต้น เรียกว่าปฏิโลม คือถอยกลับ ให้พิจารณาทั้งสีและสัณฐาน สภาพตามความเป็นจริงว่าไม่มีอะไรสวยงาม เพราะมีความสกปรกโสโครกอยู่เป็นปกติ ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณอยู่เสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่คอยประคับประคองอยู่เพียงใด สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะมีการแปดเปื้อนสกปรกอยู่เสมอ เช่น ผมต้องคอยหวี คอยสระชำระอยู่ทุกวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจเพียง ๓ วัน เหงื่อไคลก็จะจับทำให้เหม็นสาบ เหม็นสาง รวมกายทั้งกายนี้ ท่านแสวงหาความจริงจากกายทั้งมวลว่า มันสวยจริง สะอาดจริงหรือไม่ ค้นคว้าหาความจริงให้พบ กายทั้งกายที่ว่าสวยน่ารักนั้นมีอะไรเป็นความจริง ความสวยของร่างกายมีความจริงเป็นอย่างนี้ ร่างกายทั้งกายที่ว่าสวยนั้น ไม่มีอะไรสวยจริงตามที่คิด เพราะกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งโสโครกคืออวัยวะภายใน มีตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ กระเพาะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำดี อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล ที่หลั่งไหลออกมาภายนอกนั้น ความจริงขังอยู่ภายในของร่างกาย ที่มีหนังกำพร้าหุ้มห่ออยู่ ถ้าลอกหนังออก จะเห็นร่างนี้มีเลือดไหลโทรมทั่วกาย เนื้อที่ปราศจากผิวคือหนังหุ้มห่อ จะมองไม่เห็นความสวยสดงดงามเลย ยิ่งมีเลือดหลั่งไหลทั่วร่างแล้ว ยิ่งไม่น่าปรารถนาเลย แทนที่จะน่ารัก น่าประคับประคอง กลับกลายเป็นของน่าเกลียด ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ใกล้ ถ้าลอกเนื้อออก จะแลเห็นไส้ใหญ่ ไส้น้อย ปอด กระเพาะอุจจาระ กระเพาะปัสสาวะ และม้าม ไต น้ำเลือด น้ำเหลืองน้ำหนอง เสลด หลั่งไหลอยู่ทั่วร่างกาย มองแล้วอยากจะอาเจียนมากกว่าน่ารัก ถ้าจะฉีกกระเพาะออก ภายในกระเพาะจะพบอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ภายใน เป็นภาพที่อยากหนีมากกว่าเป็นภาพที่น่ารักถ้าเอาอวัยวะต่าง ๆ ออกหมด จะเห็นแต่ร่างโครงกระดูกที่มีสภาพเหมือนโครงบ้านเรือนตั้งตระหง่านอยู่ โครงกระดูกทั้งสองร้อยท่อนนี้ ปะติดปะต่อกันอยู่เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ มีเนื้อและเลือดติด เกรอะกรัง ท่านคิดตามไป ท่านเห็นหรือยังว่า ส่วนที่มีเปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า พอจะเป็นของสวยของงามมีนิดเดียวคือ ตอนหนังกำพร้าเท่านั้น หนังนี้ใช่ว่าจะเกลี้ยงเกลาเสมอไปก็หาไม่ ต้องคอยชำระล้าง ตลอดวันและเวลาเพราะสิ่งโสโครกภายในพากันหลั่งไหลมาลบเลือนความผุดผ่องของผิวตลอดวัน ถ้าไม่คอยชำระล้าง เจ้าตัวปฏิกูลนั้นก็จะพอกพูนเสียจนเลอะเทอะ แถมจะส่งกลิ่นเหม็นสาบเหม็นสางตลบไปทั่วบริเวณช่องทวาร อุจจาระ ปัสสาวะ ก็จะพากันหลั่งไหลออกมาตามกำหนดเวลาที่มันต้องออก สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้นิยมตนเองว่าสวย หรือเทิดทูนใครก็ตามว่าสวย ต่อเมื่อสิ่งโสโครกหลั่งไหลออกมาเขากลับไม่สนใจ ไม่พยายามมองหาความจริงจากของจริง กลับรอให้ชำระล้างสิ่งโสโครกเสียก่อน จึงใคร่ครวญและสนใจ ต่างคนต่างพยายามหลบหลีก ไม่รับรู้ความเป็นจริงของสังขารร่างกายในส่วนที่สกปรกโสโครก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้ ทั้งๆ ที่อุจจาระหลั่งไหลออกมาทุกวัน เหงื่อไคลมีเสมอ เสมหะน้ำลายออกไม่เว้นแต่ละนาที แต่เจ้ากิเลสและตัณหามันก็พยายามโกหกมดเท็จ ปัดเอาความจริงออกมาจากความรู้สึก หากทุกคนพยายามสอบสวน ทบทวนความรู้สึกค้นคว้าหาความจริง ยอมรับรู้ตามกฎของความจริงว่า สังขารร่างกายนี้ไม่มีอะไรน่ารัก มีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่ เพราะภายในมีสิ่งโสโครกต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารัก เราก็รักส้วม ถ้าเราประคับประคองเราก็ประคับประคองส้วม ถ้าเราเทิดทูน เราก็เทิดทูนส้วม จะว่าส้วมปกติเลวแล้วความจริงส้วมปกติดีกว่าส้วมเคลื่อนที่มาก เพราะส้วมปกติมันตั้งอยู่ตามที่ของมัน มันไม่ไปรบกวนใคร เราไม่เดินเข้าใกล้ มันก็ไม่มาหาเรา ไม่รบกวนไม่สร้างทุกข์ ไม่หลอกหลอน ไม่ยั่วเย้ายียวนชวนให้เกิดราคะ แต่เจ้าส้วมเคลื่อนที่นี่มันร้ายกาจ เราไม่ไปมันก็มา เราไม่มองดูมันก็พูดให้ได้ยิน เสแสร้งแกล้งตกแต่งปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดด้วยสีผ้าที่หลาก กลบกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นหอม หาอาภรณ์มาประดับ เพื่อปกปิดพรางตากันเห็นสิ่งที่ไม่น่าชม เพื่อตาจะได้หลงเหยื่อติดในอาภรณ์เครื่องประดับ ผู้เห็นที่ไร้การพิจารณา และมีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน เป็นส้วมที่ไร้ปัญญาเหมือนกัน ต่างส้วมต่างก็หลอกหลอนกัน ปกปิดสิ่งโสโครกมิให้กันและกันเห็นความจริงทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีครบถ้วนแทนที่จะเห็นตัว รู้ตัวว่า ข้านี้ก็เป็นผู้เลิศในความเหม็น เลิศในส่วนของความสกปรกเหมือนเธอแทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับปกปิดพยายามชมตนเองว่า ฉันนี่แหละยอดผู้ศิวิไลซ์ละ อนิจจา น่าสงสารสัตว์ผู้เมาไปด้วยกามราคะ มีอารมณ์หน้ามืดตามัวเพราะอำนาจกิเลสแท้ ๆ ถ้าเขาจะมองตัวเองสักนิดก็จะเห็นตัวเอง และจะมองเห็นผู้อื่นตามความเป็นจริง พระอริยเจ้าท่านนิยมความจริง รู้จริง เห็นจริง ค้นคว้าจริง ไม่หลอกหลอนตนเอง ท่านจึงได้บรรลุมรรคผล เพราะพิจารณาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ขอท่านนักปฏิบัติเพื่อความสุขของตัวทั้งหลาย จงพิจารณาตนเองให้เห็นชัด จนได้นิมิตเป็นปฏิภาคนิมิต สร้างสมาธิให้เป็นอัปปนาสมาธิ โดยพิจารณาสังขารให้เห็นว่าไม่สวยงามนี้ เมื่อถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จงยึดสีที่ปรากฏในร่างกายมีสีแดงเป็นต้นหรือจะเป็นสีอะไรก็ได้ยึดเอาเป็นอารมณ์กสิณ ท่านจะได้ฌานที่ ๔ ภายในเวลาเล็กน้อย ต่อไปก็ยึดสังขารที่ท่านเห็นว่าน่าเกลียดนี้ ให้เห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยงเพราะมีความเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมไปทุกวันเวลาเป็นปกติ ทุกขังเพราะอาศัยที่มันเคลื่อนไปสู่ความทำลายทุกวันเวลา มันนำความไม่สบายกายไม่สบายใจจากโรคภัยไข้เจ็บ และในการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ให้เกิดความเดือดร้อนทุกวันเวลา จึงจัดว่าสังขารร่างกายนี้เป็นรังของความทุกข์ ให้เห็นเป็นอนัตตา เพราะความเสื่อมความเคลื่อนและในที่สุดคือความทำลายขันธ์ เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มันจะต้องเป็นไปตามนั้นเพราะเป็นกฎธรรมดาของขันธ์ จะต้องเป็นอย่างห้ามไม่ได้ บังคับไม่อยู่ ยอมรับนับถือว่ามันเป็นอนัตตาจริง เพราะความเป็นอนัตตา คือ บังคับไม่ได้ของสังขารร่างกายนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึง สอนให้ปล่อยอารมณ์ในการยึดถือเสีย เพราะจะยึดจะถือเพียงใดก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ สังขารร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าที่มีใจครองหรือไม่มีใจครอง ตราบใดที่เรายังต้องการสังขาร เราต้องประสบความทุกข์ ความทรมาน เพราะสิ่งโสโครกที่เข้าประกอบเป็นขันธ์ เราเห็นสภาพความจริงของสังขารร่างกายนี้ว่า เป็นของโสโครก ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา ควรปลีกตัวออกให้พ้นจริง เรา เห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นทุกข์จริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนัตตาจริง ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็น ทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการความเกิดอีก เราไม่ปรารถนาชาติภพอีก เพราะชาติความเกิดเป็นแดนอาศัยของความทุกข์ โรคนิทธัง เรือนร่างของขันธ์ ๕ เป็นรังของโรค ถ้าร่างกายไม่มี โรคที่จะเบียดเบียนก็ ไม่มี เพราะไม่มีร่างกายให้โรคอาศัย ปภังคุนัง เรือนร่างมีสภาพต้องผุพังถ้าไม่มีเรือนร่าง เรื่องการผุพังอันเป็นเครื่องเสียดแทงใจให้เกิดทุกข์ก็ไม่มี เมื่อร่างไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นอนัตตา เราไม่ต้องการทุกข์ที่มีความเกิดเป็นสมุฏฐาน เราไม่ต้องการความเกิดในวัฏฏะอีก เราต้องการพระนิพพานที่ไม่มีความเกิดและความตายเป็นแดนเกษมที่หาความทุกข์มิได้ พระนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ท่านที่จะไปสู่พระนิพพานได้ไม่มีอะไรยาก ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายว่าโสโครก ถอนความรักความอาลัยในสังขารเสีย บัดนี้เราปฏิบัติครบแล้ว เราเห็นแล้ว เราตัดความเห็นว่าสวยงามในสังขารได้แล้วเราเชื่อแล้วว่า สังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์ยึดมั่นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เราคือร่างกาย ร่างกายคือเรา ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นของผู้มีอุปาทานเรารู้แล้ว เราเห็น ถูกแล้ว คือ เราเห็นว่าสังขารร่างกายไม่น่ารัก มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่มีสภาพไม่แก่ ไม่ตาย ไม่สลายตัวที่เข้ามาอาศัยร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันเป็นนามธรรม ๔ อย่าง เป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องจักรกลที่บริหารตนเองโดยอัตโนมัติ ร่างกายนี้ค่อยเจริญขึ้นและเสื่อมลง มีการสลายตัวไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ตัด ฉันทะ ความพอใจในสรรพสังขารทั้งหมดเสียให้ได้ และให้ตัด ราคะ คือความกำหนัดยินดีในสรรพสังขารทั้งหมด คือ ไม่ยึดอะไรเลยในโลกนี้ว่า เป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีอะไรในเรา เราไม่มีในอะไรทั้งสิ้น เราคือจิตที่มีคุณวิเศษดีกว่าอัตภาพทั้งปวง เราเกลียดสรรพวัตถุทั้งหมด เราไม่ยอมรับสรรพวัตถุ แม้แต่เรือนร่างที่เราอาศัยนี้ว่าเป็นของเราและเป็นเรา เราปล่อยแล้วในความยึดถือ แต่จะอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อสร้างสรรค์ความดี สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องของสังขาร สังขารร่างกายจะผุพังก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย เราไม่รับรู้รับทราบ เราว่างแล้วจากภาระในการยึดถือ เรามีความสุขแล้ว เรามีพระนิพพานเป็นที่ไปในกาลข้างหน้า สร้างอารมณ์ ความโปร่งใจให้มีเป็นปกติ ยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทำจนเป็นปกติ จิตยึดความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจนเป็นปกติ เห็นอะไร ได้อะไรมาคิดเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ของเราจริง เขาให้ก็รับ เพื่อเกื้อกูลแก่อัตภาพชั่วคราว ไม่ช้าก็ต่างคนต่างสลาย ทั้งของที่ได้มาและอัตภาพ ใครไปก่อนไปหลังกันเท่านั้น จนอารมณ์มีความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ จิตก็จะว่างจากอุปาทาน ในที่สุดก็จะถึงพระนิพพานสมความมุ่งหมาย

มรณานุสติกรรมฐาน

๗. มรณานุสติกรรมฐาน มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดาของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด ความตายนี้รู้สึกว่าเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ทั่วไป ท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เมื่อความตายเป็นของธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทราบว่าตัวจะต้องตาย แล้วพระพุทธเจ้ามาสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์อะไร ? ปัญหาข้อนี้ตอบไม่ยากเพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไป รู้ความตายว่าเป็นของธรรมดาจริง แต่ทว่าเห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนเองหรือญาติ คนที่รักของตนเข้า ก็ดิ้นรนเอะอะโวยวาย ไม่ต้องการให้ความตายมาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายามทุกทางที่จะไม่ยอมตายปกติของคนเป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใครจะหนีความตาย ไม่ได้ การดิ้นรน เอะอะโวยวาย ต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้ เป็นการดิ้นรนเหนือธรรมดา ไม่มีทางทำได้สำเร็จ จะทำอย่างไร ความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดา ไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น ความตายนี้แบ่งออกเป็นสามอย่างด้วยกัน คือ ๑. สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ ท่านเสร็จกิจ แห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับท่านให้เกิดอีกไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอน ไม่กลับมาเกิดอีก ๒. ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือ ความดับ หรือการเคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอด คือตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออก และเกิดต่อทุก ๆลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราว เมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่าร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทน แต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทดแทน ชีวิตก็จะต้องดับชีวิตที่ทรงอยู่ได้ ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหารเก่า ท่านถือว่าร่างกายต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระหนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลมหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันทีที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทนกันเข้าไป ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่า มีความตายเป็นปกติทุกวันเวลาอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แปลว่า ตายทีละเล็กละน้อย หรือตายเล็ก ๆ น้อย ๆ ๓. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลตามสมัยที่ชาวโลกนิยม เรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุ อย่างชนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย การตายประเภทหลังนี้พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมในอดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายตามแบบกาลมรณะ ตายไปแล้ว เสวยผลกรรมทันที แต่พวกที่ตายตามแบบอกาลมรณะนี้ ตายแล้วยังไม่ไปเสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหาที่เกิดก่อน คือ รอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้นั้น ต้องลำบากในเรื่องอาหารและที่อยู่ ท่องเที่ยวไปตามความต้องการ พวกตายแบบอกาลมรณะนี้ ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่าตายโหงนั่นเอง เช่น ถูกฆ่าตาย คลอดลูกตาย รถทับตาย ฟ้าผ่าตาย ฆ่าตัวตาย งูกัดตาย รวมความว่าตายแบบผิดปกติ ไม่ใช่ป่วยตายตามธรรมดาเรียกว่า อกาลมรณะ คือตายก่อนกำหนด ตายทั้งนั้น การตายแบบนี้ ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วยเหลือ สามารถช่วยให้พ้นตายได้ เช่น ที่นิยมเรียกกันว่า สะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุ การสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุนั้น ต้องทำโดยธรรมจริง ๆ และรู้จริงจึงใช้ได้แต่ถ้าต่อแบบหมอต่อยังมืดมนท์ด้วยกิเลสแล้วไม่มีทางสำเร็จผล ไม่ต่อดีกว่า ขืนต่อก็เท่ากับไปต่อชีวิตหมอให้มีความสุขส่วนผู้ต่อกลายเป็นผู้ต่อทุกข์ไป เรื่องต่ออายุนี้มีเรื่องมาในพระสูตรคือเรื่องของท่านอายุวัฒนสามเณร เรื่องย่อดังนี้ วันหนึ่ง บิดามารดาพาท่านเมื่อยังเกิดไม่กี่เดือนไปหาพระพุทธเจ้า (ขอเล่าลัด ๆ)เมื่อบิดาลาพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า "ทีฆายุโก โหตุ"แปลว่า ขอเธอจงมีอายุยืนนาน พอแม่เข้าลาท่าน ก็ว่าอย่างนั้น ตอนท้าย สองผัวเมียให้ลูกชายกราบลาท่าน ท่านไม่พูด คือท่านเฉยเสีย สองผัวเมียแปลกใจถามว่า เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันสองผัวเมียกราบลา พระองค์ให้พรว่า ขอเธอจงมีอายุยืนนาน แต่พอเกล้ากระหม่อมฉันให้ลูกชายลา พระองค์ทรงนิ่ง เหตุอะไรจะมีแก่บุตรชายเกล้ากระหม่อมฉันทั้งสองหรือพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ตรัสตอบว่า เพราะบุตรชายของเธอจะตายภายใน ๗ วันนี้ ตถาคตจึงไม่กล่าวอย่างนั้น สองผัวเมียฟังแล้วตกใจ ขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์สั่งให้ไปปลูกโรงพิธีกลางลานบ้านแล้วให้เอาพระไปนั่งล้อมเด็กสวดพระปริตครบ ๗ คืน ๗ วัน พอวันที่ ๗ เป็นวันตายของเด็ก เพราะยักษ์จะมาเอาชีวิตวันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเอง เมื่อพระองค์เสด็จ พรหมและเทวดาผู้ใหญ่มามาก ยักษ์เข้าไม่ถึง พอครบเวลาที่ยักษ์จะเอาชีวิต หมายความว่า ถ้าเลยเวลาเขาทำไม่ได้ เขาทำตามกฎของกรรมว่าจะให้ตายเวลาเท่าใดเวลาเท่านั้น เขาจะต้องทำให้ได้ ถ้าเลยเวลาแล้วเขาก็ไม่ทำ พอเลยเวลาที่เด็กจะต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านก็พาพระกลับ เลิกพิธี ก่อนกลับพระองค์ให้พรแก่เด็กว่า ทีฆายุโกโหตุ ต่อมาเด็กคนนั้นมาบวชเณรเมื่ออายุ ๗ ปี ได้สำเร็จพระอรหันต์ ท่านมีอายุครบ ๑๒๐ ปี จึงนิพพาน พวกอกาลมรณะนี้ ต่อได้อย่างนี้ แต่การต่อต้องเป็นผู้รู้จริง ทำถูกต้องจริง และการทำให้ต้องไม่ปรารภสินจ้างรางวัล ทำเพื่อการสงเคราะห์จริงๆ จึงเกิดผลว่า จะพูดเรื่องตายเป็นกรรมฐานแอบมาเป็น หมอต่ออายุเสียแล้ว ขอวกกลับไปเรื่องมรณานุสสติใหม่ นึกถึงความตายมีประโยชน์ ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายจะได้แสวงหาความดีใส่ตัว โดยรู้ตัวว่าชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่ยากจนอีก ก็พยายามให้ทานเสมอ ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอเหมาะพอดี ไม่เดือดร้อนภายหลังนั่นแหละจึงจะควรรู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอ ๆ ของหายบ่อย ๆ รูปร่างสวยน้อยไป คนในบังคับบัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์ อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ในชาติหน้า จะได้พยายามรักษาศีล ๕ให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็จะได้รับอานิสงฆ์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนทรัพย์สมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใครดื้อด้านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรเป็นนั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าเห็นว่า มีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานพอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ ถ้าเห็นว่า ความเกิดเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะการเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่งประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความเกิดอีกก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ซึ่งเป็นของไม่หนักเลยสำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่าเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เพราะกรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานหลักสำหรับเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านจะได้ดี เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอรหันต์ ก็ต้อง อาศัยการปรารภความตายเป็นปกติ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์แม้แต่จะเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายเป็นปกติเป็นของดี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตายรู้ตัวว่าจะตายแล้วย่อมไม่สั่งสมความชั่ว คอยปลีกตัวออกจากความ-วและมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่รู้อยู่เสมอแล้วว่า เราต้องตายแน่ ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้ กำหนดการเกิดหมอบอกได้ แต่กำหนดเวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอนสำหรับปุถุชนคนธรรมดา สำหรับพระอริยเจ้าหรือท่านที่ชำนาญในอานาปานุสสติกรรมฐานท่านสามารถบอกเวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ พระอริยาเจ้าที่จะบอกเวลาตายได้ ก็ต้องเป็นท่านที่ได้วิชชาสามเป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้น ท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกันท่านเปรียบชีวิตไว้คล้ายกับขีดเส้นบนผิวน้ำ ขีดพอปรากฏว่ามีเส้น แล้วในทันทีเส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไป ชีวิตของสัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกัน ความตายรออยู่แค่ปลายจมูก ถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไร ก็สิ้นภาวะเมื่อนั้นเอาความยั่งยืนไม่ได้เลย ท่านเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็นปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาพอสมควรแก่ความต้องการแล้ว ถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่า ความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจแล้ว ความเกิดต่อไปก็มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามเต็มไปด้วยความทุกข์ หนีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิดอันเป็นเหยื่อของวัฏฏะอีก แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหนยิ่ง จะต้องพังทลายเรายังไม่มีเยื่อใย ก็สมบัติอะไรในโลกีย์ที่เราต้องการ เราไม่ต้องการอะไรอีก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ สิ่งที่พอใจที่สุดก็คือ พระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันแน่นอน

เทวตานุสสติกรรมฐาน

เทวตานุสสติกรรมฐาน เทวตานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ ความจริงทางศาสนาเรานี้พระพุทธเจ้ายอมรับนับถือเรื่องเทวดา พระองค์เองทรงปรารภแก่บรรดาพุทธสาวกเรื่องเทวดาเสมอ ขอให้ดูตามพุทธประวัติจะพบว่า พุทธศาสนาไม่เคยห่างเทวดาเลยจะเขียนให้ละเอียด ในที่นี้ก็เกรงจะเฟ้อเกินไปขอย้ำว่า พระพุทธศาสนายอมรับนับถือว่าเทวดามีจริง และยอมรับนับถือความดี ของเทวดาด้วย พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสให้พุทธบริษัทที่มีบารมียังอ่อน ให้ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นปกติ เช่น กรรมฐานข้อที่ว่าด้วย เทวตานุสสติ ก็เป็นพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึง ความดีของเทวดา ความดีของเทวดา เทวดา แปลว่า ผู้ประเสริฐ ความประเสริฐของเทวดามีอย่างนี้ ถ้าพูดกันตามความนิยมแล้วท่านที่จะเป็นเทวดาก็ต้องเกิดเป็นคนก่อน เมื่อเป็นคนก็ต้องศึกษาหลักสูตรของเทวดาว่าจะเป็นเทวดานั้นต้องเรียนรู้และปฏิบัติอะไรบ้าง หลักสูตรที่ทำคนให้เป็นเทวดานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า มี ๒ แบบ คือ เทวดาประเภทที่ ๑ เทวดาแบบที่ ๑ เป็นเทวดาชั้นกามาวจร คือ ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิตชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี รวม ๖ ชั้นด้วยกัน ทั้ง ๖ ชั้นนี้ บวกภูมิเทวดาที่เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ และรุกขเทวดา พวกเทวดาที่มีวิมานอยู่ตามสาขาของต้นไม้ ที่เรียกว่านางไม้ เข้ากับเทวดาชั้นจาตุ-มหาราช เทวดา ๖ ชั้นนี้ ท่านว่าใครจะไปเกิดในที่นั้น ๆ เพื่อเป็นเทวดา ต้องศึกษาและปฏิบัติตามเทวดาหลักสูตรเสียก่อน คือท่านให้เรียนรู้เทวธรรมที่ทำตนให้เป็นเทวดา ได้แก่ ๑. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งนี้ก็หมายความว่าต้องเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานี ตลอดกาลตลอดสมัย ถึงแม้ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไร เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ มีจิตเมตตาปรานีใช้ได้ ท่านว่าใครศึกษาและปฏิบัติหลักสูตรนี้ได้ครบถ้วน เกิดเป็นเทวดาได้ ปฏิบัติได้อย่างเลิศ ก็เป็นเทวดาชั้นเลิศ ถ้าปฏิบัติได้อย่างกลางก็เป็นเทวดาปานกลาง ถ้าปฏิบัติได้ครบแต่หยาบ ก็เป็นเทวดาเล็ก ๆ เช่น ภูมิเทวดา หรือรุกขเทวดา พระพุทธเจ้าท่านตรัสหลักสูตรของเทวดาประเภทที่ ๑ ไว้อย่างนี้ ท่านผู้อ่านจงจำไว้ให้ขึ้นใจจะได้ไม่สงสัยเรื่องเทวดา เทวดาประเภทที่ ๒ เทวดาประเภทที่ ๒ นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "พรหม" ท่านจัดพรหมรวมหมด ๒๐ ชั้น ด้วยกัน ท่านแยกประเภทไว้ดังนี้ รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น รูปพรหม คือ พรหมที่มีรูปนี้ ท่านแบ่งไว้เป็น ๑๖ ชั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ พรหมที่ได้ฌานโลกีย์ ท่านจัดไว้ ๑๑ ชั้น กับพรหมที่เป็นพระอนาคามี และได้ฌาน ๔ ด้วย ๕ ชั้น รวมพรหมที่มี รูป ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น พรหมที่ไม่มีรูปนี้ เป็นโลกียพรหม มีหมดด้วยกัน ๔ ชั้น รวมพรหมทั้งหมด ๒๐ ชั้นพอดี หลักสูตรที่จะไปเป็นพรหม การที่จะเกิดเป็นพรหม ต้องศึกษาและฝึกตามหลักวิชชาให้ได้ครบถ้วนเสียก่อน ถ้าสอบตกเป็นไม่มีทางได้เกิดเป็นพรหม จะยัดเงินอุดทอง วิ่งเข้าหาเทวดาหรือพรหมองค์ใดให้ช่วยนั้นไม่มีหวังต้องใช้ความสามารถจริง ๆ จึงจะไปได้ การสอบเป็นเทวดาหรือพรหมไม่มีคอรัปชั่น ท่านสอนกันอย่างนี้เดี๋ยวก่อน ก่อนบอกวิธีสอบ ขอบอกไว้ด้วยว่า กรรมการตรวจสอบนั้นไม่มี ต้องตรวจเองสอบเอง ถ้าสอบได้ก็เป็นพรหมทันที ถ้าสอบไม่ได้อาจต้องเป็นคนอยู่ต่อไป หรือเป็นเทวดา หรือไม่ก็ลงนรกไปเลยสุดแล้วแต่ใครจะมีกรรมอะไรเป็นเครื่องส่ง ก่อนจะพูดถึงหลักสูตรพรหม ขอพูดถึงหลักสูตรต่ำไปหาพรหมก่อนเพราะจะได้รู้ไว้เป็นเครื่องประดับ หลักสูตรอบายภูมิ อบายภูมิหมายถึงดินแดน นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน ใครจบหลักสูตรนี้ จะได้ไปเกิดในที่ ๔ สถานนี้ หลักสูตรนี้มีดังนี้ คือไม่รักษาศีล ไม่ให้ทาน ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ เท่านี้ไป เกิดในอบายภูมิได้สบาย ไม่มีใครขัดคอ หลักสูตรเกิดเป็นมนุษย์ หลักสูตรมนุษย์นี้ ท่านเรียกมนุษยธรรม คือธรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์มี ๕ อย่าง คือ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ และไม่ทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วยเจตนา ๒. ไม่ถือเอาของของผู้อื่นที่เขาไม่อนุญาตให้ ด้วยเจตนาขโมย ๓. ไม่ละเมิดสิทธิในกามารมณ์ที่เจ้าของไม่อนุญาต คือไม่ละเมิดภรรยา สามี ลูก หลาน และคนในปกครอง ที่ผู้ปกครองไม่อนุญาต ๔. ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อ โดยไร้สาระ ๕. ไม่ดื่มสุราและเมรัย ที่ทำจิตใจให้มึนเมาไร้สติสัมปชัญญะ ตามหลักสูตรนี้ ถ้าใครสอบได้ คือปฏิบัติได้ครบถ้วนท่านว่าตายแล้วเกิดเป็นมนุษย์ได้ หลักสูตรรูปพรหม ๑. ได้ฌานที่ ๑ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑, ๒, ๓ ๒. ได้ฌานที่ ๒ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๔, ๕, ๖ ๓. ได้ฌานที่ ๓ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗, ๘, ๙ ๔. ได้ฌานที่ ๔ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐, และ ๑๑ ทั้งหมดนี้เป็นพรหมชั้นโลกีย์ หลักสูตรรูปพรหมอนาคามี พรหมอีก ๕ ชั้นคือชั้นที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖ รวม ๕ ชั้นนี้ ต้องได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามีได้ฌาน ๔ มาก่อน สำหรับอรูปพรหม ๔ ชั้น ท่านทั้ง ๔ ชั้นนี้ ท่านต้องเจริญฌานในกสิณแล้วเจริญอรูปฌาน ๔ ได้อีกจึงจะมาเกิดเป็นอรูปพรหมได้ แต่ท่านก็ได้เพียงฌานโลกีย์ ไม่ใช่พระอริยเจ้า หลักสูตรเทวดาและพรหมมีอย่างนี้ ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงความดี คือคุณธรรมที่เทวดาและพรหมปฏิบัติมาแล้ว จนเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมได้ ก็ชื่อว่าท่านได้รับผลความดีที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ถ้าเราปฏิบัติอย่างท่าน เราก็อาจจะมีผลความสุขเช่นท่าน เพราะเทวดาขนาดเลวนั้น ดีกว่ามนุษย์ชั้นดีอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะเทวดามีกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่เป็นทิพย์ ไปไหนก็เหาะไปได้ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเหมือนเรา ฉะนั้นความดีของเทวดานี้ ถึงจะยังไม่ถึงความดีในนิพพาน แต่ก็เป็นสะพานสำหรับปฏิบัติเพื่อผลในพระนิพพานได้เป็นอย่างดี ดีกว่ามาคิดว่าเทวดาไม่เป็นเรื่อง เทวดาไม่มี เราเป็นพุทธสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าท่านว่ามี เราก็ควรเชื่อไว้ก่อน แล้วสร้างสมาธิทำทิพยจักษุญาณให้เกิดตรวจสอบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าที่ท่านสอนว่า เทวดา พรหม นรก สวรรค์มีจริงนั้น ท่านสอนตรง ไม่ใช่สอนแบบยกเมฆ ท่านบูชาเทวดา ท่านอาจดีตามเทวดา แต่ท่านด่าเทวดาท่านอาจไม่ได้พบเทวดาเลย เทวตานุสสตินี้ ถ้าฝึกจนเกิดอุปจารฌานแล้ว ท่านเจริญวิปัสสนาญาณต่อ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลได้ไม่ยาก เพราะเป็นภูมิธรรมที่ละเอียด และมีแนวโน้มเข้าไปใกล้พระนิพพานมาก

Saturday 2 June 2012

นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5 นิวรณ์ 5 หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ 1.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น) 2. พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ 3. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง) 4. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ 5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน ---------------- จิตที่เป็นเดิมๆ ของมนุษย์นั้นมีลักษณะเป็นประภัสสร ประดุจน้ำใสบริสุทธิ์ แต่ได้สูญเสียความใสกระจ่างไป นำมาซึ่งความเป็นปุถุชน เพราะสิ่งภายนอก คือ นิวรณ์ แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องกั้นจิตใจมิให้บรรลุถึงธรรมที่สูงขึ้นไปนิวรณ์ ได้เข้าไปแทรกแซงปรุงแต่งใน 5 สถานะ อันได้แก่ 1.กามฉันทะ หมายถึง ความกลัดกลุ้มด้วยความพอใจกำหนัดในกาม จนมืดมัว ไม่แจ่มใส ไม่เห็นแจ้ง ในธรรมตามที่เป็นจริง ท่านเปรียบอุปมาเหมือน น้ำใสแต่มีสีต่างๆมาเจือปน จนหมดความใส 2.พยาบาท หมายถึง ความกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความไม่พอใจ โกรธแค้น เกลียดชัง ซึ่งทำความมืดมัว ในลักษณะหนึ่ง ซึ่งท่านเปรียบด้วยน้ำใสแต่ถูกทำให้เดือด พลุ่งพล่านอยู่ ไม่อาจทำให้ผู้มอง เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ภายใต้น้ำนั้นได้ 3.ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่ เคลิบเคลิ้ม ไม่ร่าเริง แจ่มใส ทำให้ จิต ไม่มีสมรรถภาพ ในการที่จะเห็นแจ้งในธรรม ท่านเปรียบเหมือน น้ำใสแต่มีตะไคร่เกิดอยู่เต็ม ก็ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆใต้น้ำได้เช่นเดียวกัน 4.อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย ในลักษณะที่ ตรงกันข้าม จากถีนมิทธะ ท่านเปรียบอุปมาไว้เหมือนน้ำใสแต่ถูกทำให้เป็นละลอกคลื่น หรือ กระเพื่อมอยู่เป็นนิจ ทำให้ไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งใต้น้ำ 5.วิจิกิจฉา ข้อสุดท้ายนั้น หมายถึง ความสงสัย เพราะไม่รู้ หรือ มีอะไร มารบกวน ความอยากรู้ ไม่มีความสงบลงได้ ทำให้เกิดความมืดมัวแก่จิต ไม่อาจจะเห็นแจ้ง ในสิ่งที่ควรเห็นแจ้ง ท่านเปรียบเหมือน น้ำใสแต่เกิดวังวน วกไปวนมาย่อมเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นสิ่งต่างๆ ในน้ำนั้นได้ -----------------------

ปาฏิหาริย์ยิ่งใหญjกว่า ใช้ในตัวตน