Thursday 31 May 2012

การปฏิบัติอยู่ในมรรคสัจ

การปฏิบัติอยู่ในมรรคสัจ คือ ท่านต้องมีศีล ท่านต้องมีสมาธิ ท่านต้องมีปัญญา อย่างนี้ในมรรค 8 ก็รวมกันแล้วเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค 8 คือปฏิปทาให้เข้าถึงความดับทุกข์ คือเข้าถึงนิโรธ นิโรธสัจก็เหมือนกัน เป็นตัวผลนะขอรับ หมายความว่าคนกินข้าวอิ่มแล้วจะมาพูดกันเรื่องกินอะไรกันอีก มันกินอิ่มแล้วไม่ต้องพูดกัน นิโรธไม่มีอาการเป็นอย่างอื่น มันตัดเสียแล้ว กิเลสหมดแล้วก็หมดกันไป ว่าที่เราปฏิบัตินี่เพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อนิพพานกัน ไม่ใช่ทำเพียงอุปนิสัย อย่าคิดว่าพอบวชเข้ามาแล้ว ก็ทำเสียหน่อยหนึ่ง หรือบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทประกาศตัวเป็นพุทธสาวกเสียแล้ว ก็ทำเสียนิดหนึ่ง ไม่ถึงความดีอะไร เราจะไปพระนิพพาน กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดที่ทำให้คนเข้าถึงนิพพานไม่ได้มันมีอยู่ 10 อย่าง นี่เราปฏิบัติกันยังก็ตามนะครับ ถ้าไม่รู้ไอ้สิบตัวนี้แล้วเข้านิพพานไม่ได้ เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ก็เป็นไม่ได้สักอย่าง นั่นก็คือสังโยชน์ 10 การเจริญมหาสติปัฏฐานต้องทบทวนตลอดเวลา แล้วก็ใช้อารมณ์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เวลาไหนควรใช้อานาปานสติ เวลาไหนควรใช้อิริยาบถ เวลาไหนควรใช้สัมปชัญญะ เวลาไหนควรใช้ปฏิกูลสัญญาธาตุ 4 นวสี 9 หรือว่าเวทนา จิตตา ธรรมา ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นกิจประจำวันไป หมายความว่า ทำเป็นกิจประจำวันนะครับ วันหนึ่งจงอย่าว่าง ใช้อารมณ์ตามสมควร ถ้าความรักความเมามันเกิดขึ้นมาก็ใช้ปฏิกูลสัญญาบ้าง ธาตุ 4 บ้าง นวสี 9 บ้าง แล้วก็ดู ถ้ามันเกิดความกลุ้มขึ้นมา เกิดความดีใจขึ้นมา ก็ดูจิต ดูจิตนะขอรับ แล้วก็ดูเวทนา แล้วก็ละนิวรณ์ พิจารณาขันธ์ 5 แล้วก็ทรงโพชฌงค์ 7 ตลอดเวลานะขอรับ แล้วก็มาว่าอริยสัจนี่ก็ควรจะทรงตลอดเวลาเหมือนกัน ทีนี้ มาจับจุดกัน ทำให้คล่องนะครับ นึกให้คล่อง ทำให้คล่องให้เป็นปกติ ต้องคล่องเสียก่อนนะครับ แค่จบยังไม่ได้อะไร ตอนนี้ก็มาจับจุดกันว่าสังโยชน์ 10 กิเลสเครื่องร้อยรัด ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมีอะไรบ้าง จับตัวมันให้ได้ ตัวที่ 1 ก็สักกายทิฏฐิ เป็นกิเลสตัวที่ 1 ที่เมามันเห็นว่าอัตภาพร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา เมาชีวิตคิดว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขาตัวหนึ่งละครับ ตัวที่ 2 สงสัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างบรรดานักปราชญ์ทั้งหลายสงสัยพระสูตร และชาดกสมัยนี้ ประการที่ 3 สีลัพตปรามาส โกหกศีล โกหกพระ ไปรับศีลมาแล้วไม่ปฏิบัติเห็นศีลเป็นเครื่องเล่นไป ว่าส่งเดช ประการที่ 4 เมาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เรียกว่ากามคุณนะขอรับ กามฉันทะ ประการที่ 5 เมาในความโกรธ ความพยาบาท อยากจะเป็นคนเด่นในด้านความโกรธ ความพยาบาท อยากจะเป็นคนเก่ง ประการที่ 6 รูปราคะ เมาในรูปฌาน ข้อที่ 7 อรูปราคะ เมาในอรูปฌาน ข้อที่ 8 มานะถือตัวถือตนว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา ข้อที่ 9 มีอารมณ์ฟุ้งซ่านนอกรีดนอกรอย ข้อที่ 10 ความรู้ไม่ครบ คือรู้ผิด รู้นอกลูกนอกทาง อวิชชานี้ไม่ใช่ไม่รู้นา คนและสัตว์ที่เกิดมาแล้วนี้รู้หมด ต่างคนต่างมีความรู้ ต่างคนต่างมีความคิด แต่ว่าจะรู้ตรงรู้ถูกตามที่พระพุทธเจ้าประสงค์หรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่ารู้ไม่ตรงความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่ารู้ผิด ผิดจากอะไร ผิดจากทางพระนิพพาน นี่เป็น 10 ประการด้วยกันนะขอรับ ทีนี้ เราเป็นนักปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน จะเข้าถึงมรรคถึงผลก็อย่ากระโจนกลาง อย่ากินช้างทั้งตัว จงอย่าคิดว่าเราจะเอาอรหัตผลภายในวันนี้ ปฏิบัติทีเดียวจะเข้าถึงอหัตผล จงอย่าคิดอย่างนั้นนะขอรับ คิดอย่างนั้น มันกินช้างคำเดียวหมดตัว มันใช้ไม่ได้ แต่บังเอิญถ้าเราจะได้ละก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ท่านทำกันก็ได้อรหันต์เลย เรียกว่าผ่านโสดา สกิทาคา อนาคา เพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วได้อรหันต์เลยก็มีถมเถไป แต่ว่าท่านก็เริ่มต้นน้อยอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าอารมณ์เข้มข้นอารมณ์เข้มข้นมันก็ได้ของมันเอง แล้วก็การบรรลุอรหัตผลก็มีตั้งหลายแบบหลายแผนนะขอรับ ไม่ใช่ว่าต้องเฉพาะมหาสติปัฏฐาน 4 เสมอไป แบบแผนที่เขาได้อริยมรรค แต่ว่านี่เราว่ากันเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรนี่ขอรับ

สมุทัย คือเหตุให้เกิดความทุกข์

สมุทัย คือเหตุให้เกิดความทุกข์ คำว่าเหตุให้เกิดความทุกข์หรือสมุทัย เป็นประเภทได้ 3 ประเภท กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คำว่า กาม แปลว่าความใคร่ หรือความต้องการ นี่ไม่ใช่หมายถึงกามารมณ์ คือว่าต้องการในเรื่องระหว่างเพศเสมอไปนะขอรับ ถ้าเราไปพูดกันว่าเจ้านี่บ้ากาม ก็จะมาโกรธหาว่าเป็นคนมักมากในกามารมณ์ อย่างนี้ไม่ใช่นะขอรับ ขึ้นชื่อว่าความใคร่ ความปรารถนา ความอยากได้ทั้งหมดจัดเป็นกาม เราอยากกินน้ำแข็ง เราอยากกินก๋วยเตี๋ยว เราอยากมีบ้านสวย ๆ เราอยากมีเสื้อมีกางเกงงาม ๆ นี่มันก็กามเหมือนกัน เราอยากจะไปเที่ยวก็กาม ความใคร่ ความอยาก อยากจะเที่ยว อยากจะกิน ก็เรียกว่าเรามีกาม ความใคร่ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีอยู่ 3 ขั้น คือ กามตัณหา อยากได้ของหรือวัตถุ หรือบุคคล หรืออารมณ์ ที่ยังไม่ปรากฏให้มีขึ้น ภวตัณหา สิ่งที่มีอยู่แล้ว อยากให้ตั้งอยู่ตามรูปนั้น ไม่ให้เคลื่อนอย่างคนที่รักอยู่แล้วก็อยากจะให้รักตลอดกาล ของที่มีอยู่แล้วสวยสดงดงาม มันเป็นของใหม่ ก็ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้พัง วิภวตัณหา อาการดิ้นรนอาการคัดค้าน แต่สิ่งเหล่านั้นมันจะหายไป มันจะเก่าไปมันจะพังไป มันจะเศร้าหมองไปซึ่งไม่ตรงกับอัธยาศัยที่เราต้องการ เพราะเราต้องการให้มันทรงสภาพก็หาทางต้านทาน เช่น คนจะตายก็ให้ไปหาหมอมาเป่าหู หาฤาษีมาชุบ หาใครต่อใครมาต่ออายุ ไม่อยากให้ตาย หรือว่าหาหมอมาสะเดาะเคราะห์อย่างนี้หมอรวยไปหลายรายแล้ว หรือเราจะแค่ไม่อยากแก่ หาทางป้องกันความแก่เราเป็นคนไม่อยากป่วย หาทางป้องกันความป่วย มันก็ยังป่วย พอป่วยแล้วก็ดิ้นรน นี่เป็นวิภวตัณหา หรือว่าบ้านจะพังเราก็ไม่อยากให้มันพัง ไม้มันเก่าแล้วเราอยากให้มันเป็นไหม้ใหม่ อย่างนี้เป็นอาการของวิภวตัณหา

อริยสัจที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ

อริยสัจที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ จัดว่าเป็นยอดของธรรม อริยสัจตัวนี้เป็นตัวบรรลุมรรคผล อริยะ แปลว่าประเสริฐ หรือสะอาดหมดจดบริสุทธิ์ สัจจะ แปลว่าความจริง ที่เข้าถึงความสะอาดหมดจด หรือความประเสริฐนี้ได้ หรือจะแปลว่าความจริงที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบก็ได้ หรือพระอริยเจ้าทรงเห็นแล้วก็ได้ ว่ายังไงก็ได้ คำแปลไม่สำคัญ สำคัญว่าเราเข้าถึงอริยสัจหรือเปล่า ตัวนี้สำคัญ อย่ามัวไปเถียงกันเรื่องคำแปล แปลว่ายังงั้นถูก แปลว่ายังงั้นผิด แต่ไอ้ใจของเรามันคิดถูกหรือคิดผิด มันปลงถูกหรือปลงผิด ดีกว่าไปเถียงกันเรื่องคำแปล อริยสัจนี้มีอยู่ 4 อย่าง คือ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ มี 4 อย่างด้วยกัน จะพูดถึงทุกขสัจ สัจจะ แปลว่าความจริง ทุกขะ แปลว่าทนได้ยาก อะไรก็ตามที่จำจะต้องทน สิ่งนั้นเป็นทุกข์ทั้งนั้น แล้วก็อย่ามานั่งเถียงกันนาว่า อะไรบ้างต้นทนอย่างที่กำลังนั่งอยู่ก็ดี กำลังนอนอยู่ก็ดี ฟังอยู่ก็ดี ถ้านั่งตามสบายยังไม่ทุกข์ ถ้าถึงกับต้องทนนั่งละก็เป็นทุกข์ละ ถ้ารู้สึกปวดโน่นเข้ามานิด ปวดนี่เขามาหน่อย เมื่อยโน้นเข้ามานิด เมื่อยเข้ามาหน่อย อันนี้ก็เป็นทุกข์ เพราะมันต้องทน หรือบางท่านที่กำลังนั่งฟังอยู่นี่ บางคนก็เป็นไข้หวัดลงคออย่างผม เสียงแหบเสียงแห้งมีเสมหะที่คอไม่หลุด อาการรำคาญเกิดขึ้น อย่างนี้มันเป็นทุกข์ นี่เป็นอาการของความทุกข์ ผมชี้ทุกข์กันเลยนะมันเป็นความจริง สัจจะแปลว่าความจริง มันทุกข์จริง ๆ ถ้าจะมาบอกว่านี่มันยังทนได้ไม่ชื่อความทุกข์ ถ้าหากท่านที่กำลังนั่งฟังอยู่นี่ หิวข้าวหิวน้ำขึ้นมาก็เกิดควาทุกข์ เห็นหรือยังว่ามันทุกข์ ทีนี้ถ้าปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะก็เป็นทุกข์ อย่าทนนะ ถึงทนก็ทนได้ยาก ทนได้ไม่นานก็ต้องไปปล่อยมัน ถ้าความหนาวปรากฏ ความร้อนปรากฏ ความกระสับกระส่ายปรากฏ นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์

โพชฌงค์แปลว่าธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้

โพชฌงค์แปลว่าธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ หมายความว่าคนที่เข้าถึงการบรรลุมรรคผล หรือว่าเข้าถึงความดีได้ต้องมีโพชฌงค์ 7 ประการ โพชฌงค์นี่มีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ สติ ความระลึกได้ ธรรมวิจยะ การวินิจฉัยธรรม วิริยะ ความเพียร ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบ สมาธิ จิตตั้งมั่น อุเบกขา ความวางเฉย จัดว่าเป็นโพชฌงค์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องและทรงรับรองว่า ถ้าใครมีคุณธรรม 7 ประการนี้ไว้ประจำใจแล้ว เรียกว่าประจำ ให้รู้อยู่ว่าเรามีโพชฌงค์ 7 หรือไม่ หรืออาการโพชฌงค์ 7 เกิดขึ้นได้อย่างไร ยังคงอยู่หรือว่าเสื่อม

เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน อันเป็นการพิจารณาอารมณ์ คือ รู้ความสุข รู้ความทุกข์ หรือความไม่สุข ความไม่ทุกข์ของจิตเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี้ พระพุทธเจ้าให้ใช้อารมณ์คิด คือรู้อยู่ ตัวนี้เป็นสัมปชัญญะ ให้รู้อยู่ว่าเวลานี้เรามีทุกข์หรือเรามีสุข หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์ จำได้แล้วนะขอรับ ทีนี้คำว่าทุกข์หมายถึงว่าจำจะต้องทน สิ่งใดก็ตาม ถ้าจำจะต้องทนละก็ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นอาการฝืนอารมณ์อย่างเราหิวข้าวนี่มันทนหิว เพราะว่าต้องจำทนหิวจนกว่าจะกินอิ่ม อย่างนี้ก็ชื่อว่าทุกข์เพราะหิวข้าว เราป่วยไข้ไม่สบายอาการกายไม่ปกติ ปวดโน่นปวดนี่ เสียดโน่นเสียดนี่ นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ เขารักเรา จะเป็นผู้หญิงก็ตาม จะเป็นผู้ชายก็ตาม จะเป็นความรักเกี่ยวกับด้านกามารมณ์ หรือเป็นความรักเกี่ยวกับความเมตตาก็ตาม ถ้าเราใช้ความพยายามให้เขารัก ต้องเอาอกเอาใจเขา นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ทีนี้เมื่อเรามีคนรักแล้ว มีคนที่เรารักเขาแล้ว แต่เกรงว่าความรักของเขาจะคลาย ต้องพยายามปฏิบัติเอาอกเอาใจเขา มันก็เป็นการฝืน นี่เป็นความทุกข์ แล้วการปวดอุจจาระปวดปัสสวะมันก็ทุกข์ มีทรัพย์สินมาก เกรงว่าทรัพย์สินจะสลายไปอย่างนี้มันเป็นความทุกข์ ทีนี้ เราเป็นคนยากจนเข็ญใจ ทรัพย์สินไม่พอใช้ ต้องแสวงหาทรัพย์ แสวงหาอย่างนี้ก็เป็นอาการของความทุกข์ การทำไร่ไถนา การค้าขาย อยากจะได้ทรัพย์สินเข้ามาต้องใช้ร่างกายด้วยความเหนื่อยยาก ต้องใช้สติปัญญา นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ความเสื่อมไป ความเสื่อมไปทีละน้อย ๆ จากเด็กไปสู่ความเป็นหนุ่มสาวเป็นแก่ จากแก่ก็จะตาย อันนี้ ก็เป็นอาการของความทุกข์ ความทุกข์คือสิ่งใดที่จำจะต้องทนอะไรก็ตามจำที่จะต้องทน บางทีทนเสียจนชิน จนไม่รู้สึกว่ามันทน เห็นเป็นของธรรมดาอันนี้ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ทีนี้มาว่ากันถึงความสุขบ้าง อาการใด ๆ ก็ตามถ้ามันมีความพอใจเกิดขึ้น นี่ว่าถึงทางโลกีย์ ไม่ใช่ความสุขโลกุตตระ สิ่งใดก็ตาม ถ้าเป็นความปรารถนาสมหวัง ถ้าเราพอใจสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นอาการของความสุข เมื่อสิ่งใดก็ตามถ้าเราปรารถนาสมหวัง หรือว่าเราชอบใจ นั่นเป็นอาการของความสุข คือสุขใจ ทีนี้อาการของอทุกข์ กับอสุข คือความไม่ทุกข์ไม่สุข จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่ใช่ มันเฉย ๆ เป็นอารมณ์ว่างจากความสุขและความทุกข์ มีอารมณ์ปลอดโปร่ง นี่เรียกว่าอทุกข์กับอสุข เวทนาในมหาสติปัฏฐาน ท่านบอกให้มีความรู้อยู่ว่าในขณะนี้จิตเรามีความสุขหรือความทุกข์ หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี ความไม่ทุกข์ไม่สุขก็ดี มีอามิสสิงอยู่หรือเปล่า คำว่าอามิส หมายความว่าวัตถุหรือสิ่งของ หรือความสุขความทุกข์นั้น หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นั้นไม่มีอามิสสิงอยู่ด้วย เป็นสัมปชัญญะเพราะว่าให้เป็นคนไม่เผลอ คิดว่าเวลานี้เราหนาวหรือเราร้อนถ้าหนาวมันก็ทุกข์ ร้อนมันก็ทุกข์ ให้รู้ว่า ทุกข์ ๆ เพราะสิ่งใด ให้รู้ว่าสุข ๆ เพราะสิ่งใด กำหนดรู้ไว้เท่านั้น รู้อย่างนี้ก็เพื่อจะให้มีสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นความไม่ประมาทในชีวิต เป็นความไม่มัวเมาในชีวิต เป็นความไม่มัวเมาในชีวิตที่คิดว่าเป็นความสุขตลอดเวลา จัดว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนไม่ประมาท รู้ความเป็นจริงของขันธ์ห้า

บทสวด บารมีสิบทัศ 10

อิริยาบถของนักปฏิบััติ

อิริยาบถของนักปฏิบััติ อิริยาบถที่ว่านี้ เป็นวิธีปฏิบัติในอิริยาบถ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านว่าได้ ทั้ง 4 อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน การนั่ง การนั่งนี้ท่านไม่จำกัด นั่งได้ตามสบาย ชอบขัดสมาธิหรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่งที่พอเห็นว่า เหมาะสม พอสบาย ทำได้ แต่ตามแบบที่พูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่ที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น การตั้งกายให้ตรงนั้น สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบาย ๆ ถ้าคนหลังงอหลังโกง บังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้ นอน ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ถ้านอนไม่ได้เพราะเหตุใดก็ตาม จะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่จะเห็นว่าสบาย ยืน การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ก็แค่ยืนกันแบบสบาย ๆ การเดิน การเดินนี้มีความสำคัญมาก เดินนี้ท่านเรียกว่า "จงกรม" ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง 1.เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป 2.เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขนและยกขาว่า ก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้า หรือข้างหลัง เป็นต้น 3.เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดยเดินไปตามปกติธรรมดา การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่า เดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือถอยกลับ ใหม่ ๆ ท่านให้ฝึกนับก้าว ว่าเดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดินด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเป็นกรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใด ได้สมาธิในขณะเดิน กรรมฐานกองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม วิธีเดิน ตอนแรก ๆ ควรเดินช้า ๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อชินแล้ว ให้เดินตามปกติแล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อน และรักษาอารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึก หรือเดินในธุรกิจ ก็ชื่อว่าท่านเป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว บังคับหยุด การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรก ๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตา แล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือบังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้นจงแยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้อง ส่วนจิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามเส้นทาง หรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธีเดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ อานิสงส์เดินจงกรม การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ย และยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย ********************