Friday 13 July 2012

พงศาวดาร


พงศาวดาร

พงศาวดาร คือ พงศาวดาร เป็นคำรวมระหว่าง พงศ กับ อวตาร ซึ่งหมายความว่า การอวตารของเผ่าพันธุ์ บางแห่งเขียนว่า พระราชพงศาวดาร ในที่นี้หมายความถึง การอวตารของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (พระนารายณ์) ดังนั้น พงศาวดารจึงเป็นเรื่องราวที่บันทึกเหตุการณพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศชาตินั้น หรือพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวกับประเทศชาติหรือศาสนาเป็นส่วนใหญ่

พงศาวดารในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันมีการถกเถียงกันเรื่องความน่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นหลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานชั้นรอง เพราะมีการเขียนพงศาวดารหลายฉบับในลักษณะที่คล้ายกันแต่แตกต่างกันในเนื้อหาและรายละเอียดประกอบ กับการใช้ศักราชในพงศาวดารไม่สอดคล้องกันบางใช้ มหาศักราช บางใช้จุลศักราช และพงศาวดารมีการเขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์ เช่น พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ (พ.ศ.2223) เขียนขึ้นใน สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่กล่าวถึงก่อนการสถาปนากรุงศรอยุธยา เป็นต้น

พงศาวดารหลักๆในเมืองไทยมีหลายเล่ม เล่มที่จัดได้ว่าเก่าที่สุดคือ พงศาวดารกรุงเก่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เหตุที่เรียกพงศาวดารฉบับนี้ว่าเป็นฉบับหลวงหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เพราะต้องการจะให้เกียรต์แก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์หรือ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเอกสารสำคัญชิ้นนี้ โดยเมื่อครั้งที่ยังคงเป็น หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปได้จากบ้านราษฎรแห่งหนึ่งแถบเพชรบุรีแล้วเอามามอบให้หอสมุดวชิรญาณ เมื่อ ณ วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450 หนังสือพงศาวดารฉบับนี้เป็นสมุดไทยเขียนตัวตรง ลายมือเขียนหนังสือเหมือนจะเป็นฝีมือครั้งกรุงเก่าตอนปลายหรือครั้งแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ของเดิมมี 2 เล่มจบ แต่ได้มาเล่ม 1 เล่ม กรรมการหอสมุดวชิราญาณได้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นหนังสือเก่าอย่างไม่มีเหตุผลอย่างใดควรสงสัย จึงได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่

หรืออย่างฉบับคำให้การของขุนหลวงหาวัด และฉบับคำให้การของชาวกรุงเก่า ก็เป็นเอกสารที่ได้มาจากฝั่งพม่า ในสมัยก่อนนั้นหากได้เมืองไหนแล้วก็จะนำตัวของคนในเมืองนั้นมาสอบถามถึงความเป็นมาและจารีตประเพณีต่างๆ เพื่อจดบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐาน

นอกจากตัวอย่างพงศาวดารที่ยกตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นแล้วยังคงมีปรากฏพงศาวดารอีกหลายๆฉบับที่มักถูกอ้างถึงเมื่อมีการพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ผู้จดบันทึก และช่วงเวลา เช่น








33 comments:

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเกี่ยวกับหนังสือประชุมพงศาวดารไว้ มีความว่า
    ที่จริง การศึกษาหาความรู้พงศาวดาร และตำนานเก่าย่อมถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่าง 1 ใน การศึกษาทั่วทุกประเทศ ในสยามประเทศแต่โบราณมา ท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินตั้งต้นแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน ๆ มา ก็ย่อมเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงความรู้พงศาวดารตลอดมาแทบทุกรัชกาล ยกตัวอย่างเพียงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้เป็นพระราชธุระชำระ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า และโปรดให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เมื่อครั้งดำรงพระเกียรติยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงรับหน้าที่ชำระ หนังสือพงศาวดารเหนือ อันเป็นเรื่องพงศาวดารก่อน สร้างกรุงศรีอยุธยา อีกเรื่อง 1
    มาในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูเหมือนจะได้โปรดให้ผู้ใดรวบรวมเรื่องราวเมืองสุโขทัย ครั้งเป็นราชธานี ที่ว่าเป็นหนังสือนางนพมาศ แต่งเรื่อง 1 และได้ทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร ต่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลก ได้ทรงไว้ คือ ตั้งแต่ตอนตั้งกรุงธนบุรี มาจนถึงปี ชวด จัตวาศก จุลศักราช 1154 พ.ศ.2335 ในรัชกาลที่ 1 หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับนี้มาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทชำระ แลทรงตรวจแก้ไขเองอีกครั้ง 1 คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ทรงพิมพ์เป็นครั้งแรกนั้น ต่อมาในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เอาพระทัยใส่เสาะแสวงหาหนังสือพงศาวดารรวบรวมไว้ ในหอหลวงหลายเรื่อง ที่ได้พบฉบับแล้วคือ เรื่องราวครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ที่อ่านและแปลจากศิลาจารึก ซึ่งเสด็จไปพบแต่ครั้งยังทรงผนวช แลโปรดให้เอามาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ก็ควรนับเป็นเรื่อง 1 หนังสือพงศาวดารกรุงเก่า แปลจากภาษารามัญที่เรียกกันว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด เรื่อง 1 หนังสือพงศาวดารเขมร มีรับสั่งให้แปลออกเป็นภาษาไทย เมื่อปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 พ.ศ.2398 เรื่อง 1 พงศาวดารพม่ารามัญโปรดให้แปลออกเป็นภาษาไทย เมื่อปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช 1219 พ.ศ.2400 ยัง ตำนานต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก็หลายเรื่อง
    มาถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อเรื่องที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงไว้ใน รัชกาลที่ 1 ลงมาจนสิ้นรัชกาลที่ 4 เรื่อง 1 ในส่วนพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เองก็มีหลายเรื่องคือ หนังสือพระราชวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ ยังโปรดให้พิมพ์หนังสือพงศาวดารต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อนให้ปรากฏแพร่หลายขึ้นในรัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก แลที่สุดเมื่อปีมะแม นพศก จุลศักราช 1219 พ.ศ.2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง โบราณคดีสโมสร แลเมื่อปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1267 พ.ศ.2448 ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้ง หอสมุดสำหรับพระนครขึ้น การศึกษาโบราณคดีจึงเป็นหลักฐานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

    ReplyDelete
  2. พระราชพงศาวดารเหนือ
    หนังสือพงศาวดารเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแต่ง แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีรับสั่งให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวมเรื่อง มาเรียบเรียง เมื่อปี พ.ศ.2350 โดยได้เรียบเรียงตั้งแต่ บาธรรมราชสร้าง เมืองสัชชนาไลย เมืองสวรรคโลก ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนาม พระเจ้าธรรมราชาธิราช เป็นลำดับมาจนถึง พระเจ้าอู่ทองสร้าง กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
    หนังสือที่รวมเรียกว่าพงศาวดารเหนือนี้ เป็นหนังสือหลายเรื่องที่มาแต่ครั้งกรุงเก่า เอามารวบรวมแต่งหัวต่อเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีรับสั่งให้พิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2412 มีเรื่องตำนานพระแก้วมรกตอยู่ด้วย
    พระราชพงศาวดารเหนือมีสาระโดยการเก็บความได้ดังนี้
    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ วันอังคาร เดือนหก ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะเส็ง สัมฤทธิศก พระอาจารย์เจ้าได้ตั้งปีมะเมีย เป็นเอกศก เมื่อล่วงแล้วสี่เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ชุมนุมพระอรหันต์ทำปฐมสังคายนา เมื่อล่วงไปได้ 100 ปี จุลศักราช 11 ปี พระเจ้ากาลาโสกราช ทำทุติยสังคายนา เมื่อล่วงไปแล้วได้ 218 ปี จุลศักราช 39 ปี พระเจ้าศรีธรรมาโสกราช ทำตติยสังคายนา เมื่อล่วงไปได้ 238 ปี จุลศักราช 113 ปี พระมหินทรเถรเจ้า ทำจตุตถสังคายนา เมื่อล่วงไปได้ 433 ปี พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย ในลังกาทวีปชุมนุมพระอรหันต์มากกว่า 1000 ทำปัญจมสังคายนา แล้วจารลงใบลานเป็นอักษรลังกา เมื่อล่วงไปได้ 956 ปี พระพุทธโฆษาจารย์ไปแปลธรรมในลังกาแล้วได้อาราธนาพระแก้วมรกต ซึ่งสถิตย์อยู่เมืองลังกา เข้ามาเรือซัดไปเข้าปากน้ำบันทายมาศ

    ReplyDelete
  3. เรื่องพระยาสักรตั้งจุลศักราช
    พ.ศ.306 กษัตริย์เมืองตักสิลา พระนามพระยาสักรดำมหาราชาธิราช มีพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายพระพุทธจักร จึงมีพระราชโองการแก่อดีตพราหมณ์ปุโรหิตว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนสิ้นพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ 5000 พรรษา ให้ตั้งจุลศักราชไว้สำหรับกรุงกษัตริย์สืบไปภายหน้า จึงให้ตั้ง ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมค่ำหนึ่ง จุลศักราช ปีชวด เอกศก เป็นมหาสงกรานต์ไปแล้ว จึงให้ยกเป็นจุลศักราชวันเดือนปีใหม่ ถ้ามหาสงกรานต์ยังมิไป ยังเอาเป็นปีใหม่ไม่ได้ด้วยเดือนนั้นยังไม่ครบ 360 วัน พระองค์ให้ตั้งพระราชกำหนดจุลศักราชแล้ว สวรรคตในปีนั้น เสวยราชสมบัติ 72 ปี จุลศักราชได้ ศก สร้างเมืองสวรรคโลก ยกบาธรรมราชขึ้นเป็นพระยาธรรมราชาครองเมืองสวรรคโลก
    ฤาษีสัชนาไลย และฤาษีสิทธิมงคล สองพี่น้องมีอายุได้ 100 ปี ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังดำรงราชสมบัติจนตรัสรู้ ณ บ้านนางสารีมารดาพระสารีบุตร มีพราหมณ์ทั้งสิบบ้านเป็นลูกหลานของฤาษีทั้งสองรูปดังกล่าว มีอายุยืน 300 ปี สูงสามวา อายุ 200 ปี สูงเก้าศอก เหตุเพราะกินบวช และทรงพรต ไม่ฆ่าสัตว์ จึงมีอายุยืน ฤาษีสัชนาไลยได้กล่าวกับฤาษีสิทธิมงคลว่า ตนจะเข้านิพพานแล้ว จึงได้ให้โอวาทไว้ในพระพุทธศาสนากำกับไสยศาสตร์ให้ไว้ด้วยกัน
    บาธรรมราชจึงให้หาชีพราหมณ์และนายบ้านมาพร้อมกัน แบ่งปันหน้าที่ให้ชีพราหมณ์กำหนดกฎหมาย เกณฑ์หน้าที่ให้ทำกำแพงหนา 8 ศอก สูง 4 วา กว้าง 50 เส้น ยาว 100 เส้น ตัดเอาแลงมาทำเป็นกำแพง โดยทำเป็นแผ่นก่อเป็นกำแพงใช้เวลาเจ็ดปีจึงเสร็จ สร้างวัดวาอาราม กุฎีสถานให้เป็นทานแก่สงฆ์ทั้งหลายอันได้บรรลุโลกุตรธรรม แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ตั้งวิหารพระอิศวร และพระนารายณ์ เป็นที่ตั้งพิธี ชวนกันอดอาหารเจ็ดวัน กินบวชเจ็ดวันจึงสระเกล้า แล้วขึ้นโล้อัมพวายแก่พระอิศวร คอยท่าพระดาบสทั้งสองอยู่
    เมื่อพระฤาษีมาถึงบาธรรมราชจึงขอให้ตั้งชื่อเมือง ฤาษีสัชนาไลยจึงให้ชื่อเมืองว่า เมืองสวรรคโลก แล้วให้ประชุมชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย เพื่อหาว่าผู้ใดสมควรเป็นเจ้าเมืองแห่งนี้ พราหมณ์ก็ว่ามีแต่มาธรรมราช ซึ่งเป็นผู้มีอายุกว่าคนทั้งหลาย ฤาษีจึงกล่าวว่าในแผ่นดินนี้ผู้ที่จะเป็นพระยาได้มีอยู่สามตระกูลคือ กษัตริย์ เศรษฐี และพราหมณ์ แล้วจึงตั้งบาธรรมราชให้เป็นพระยา ชื่อ พระยาธรรมราชา แล้วตั้งนางท้าวเทวี ผู้เป็นหลานสาวนางโมคคัลลี บุตรนายบ้านหริภุญไชยมาเป็นอัครมเหสี แล้วแจ้งว่าให้ไปเอาพระธาตุพระพุทธเจ้าที่พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชแจกไว้มาประดิษฐานไว้ในเมือง
    พระยาธรรมราชา จึงให้ช่างก่อที่บรรจุพระธาตุโดยตัดเอาแลงมาทำเป็นแผ่นยาวสามศอก กว้างหนึ่งศอก ยาวห้าศอก กว้างสองศอกทำเป็นบัวหงาย หน้ากระดานและทรงมันทำให้งาม ขุดสระกรุด้วยแลงทำด้วยปูน แล้วตั้งฐานชั้นหนึ่ง จากนั้นได้พากันไปขุดเอาผะอบแก้วใหญ่ห้ากำที่ใส่พระธาตุมาบูชานมัสการด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แล้วเชิญพระธาตุมาที่เมือง ป่าวร้องให้แก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธาเอาทองมาประมวญกันได้ 2500 ตำลึงทอง ให้ช่างตีเป็นสำเภาเภตรา แล้วใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในน้ำบ่อ จากนั้นจึงก่อเป็นพระเจดีย์สรวมไว้ใช้เวลาหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จแต่ยังไม่มียอด บรรดาชีพราหมณ์ทั้งหลายที่อยู่ในปัญจมัชฌคามผู้เป็นหลานเหลนนางโมคคัลลี ผู้เป็นมารดาพระโมคคัลลาน์ และนางสารีผู้เป็นมารดาพระสารีบุตร ที่อยู่ในปัญจมคามก็กลายมาเป็นเมืองสวรรคโลก พระธาตุพระสารีบุตรก็บรรจุไว้ในเจดีย์พระธาตุข้างเหนือ พระธาตุโมคคัลลาน์บรรจุไว้ในบ้านนางโมคคัลลี และนางทั้งสองนี้เป็นญาติกัน
    เจ้าธรรมกุมารลูกพระธรรมราชา และเจ้าอุโลกกุมารเป็นเจ้าภิกษุทรงไตรปิฎก และออกจากศาสนาพระบิดามารดา และเผ่าพันธุ์ให้เป็นพระยาจะได้ช่วยกันป้องกันอันตรายจากศัตรู จากนั้นได้มีสาส์นไปแจ้งแก่ชาวบ้านปัญจมัชฌคามให้ทำกำแพงล้อมบ้าน แล้วให้ตั้งเรือนหลวง แล้วทำการราชาภิเษกเจ้าอุโลกกุมารให้เป็น พระยาศรีธรรมาโสกราช ใน เมืองหริภุญไชย ด้วยนางพราหมณีให้ชาวบ้านอุตรคามทำกำแพงล้อมบ้าน แล้วรับเอาธรรมกุมารไปราชาภิเษกนางพราหมณี ได้ชื่อว่า กัมโพชนคร คือ เมืองทุ่งยั้ง แล้วมีสาส์นไปถึงบ้านบุรพคาม ตกแต่งกำแพงและคูทำพระราชวังให้บริบูรณ์ แล้วรับเอาเจ้สีหกุมารไปราชาภิเษกด้วยนางพราหมณีให้ชื่อ เมืองบริบูรณ์นคร เมืองทั้งสี่นี้เป็นกษัตริย์ซื่อตรงต่อกัน และได้สืบต่อกันมาสามชั่วตระกูล

    ReplyDelete
  4. เรื่องพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก
    พ.ศ. 500 พระยาอภัยคามินีศีลาจารย์บริสุทธิอยู่ในเมืองหริภุญไชยนคร ได้เสพเมถุนกับนางนาค นางได้มาคลอดบุตรไว้ที่ภูเขียวซึ่งพระยาอภัยคามินี ฯ เคยไปจำศีลอยู่แล้วกลับไปเมืองนาค พรานป่าคนหนึ่งมาพบเข้าจึงนำไปให้ภรรยาของตนเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม
    เมื่อพระเจ้าอภัยคามินีให้สร้างพระมหาปราสาท ได้เกณฑ์ชาวบ้านมาถากไม้ตั้งเสาพระมหาปราสาท พรานป่าคนดังกล่าวก็ถูกเกณฑ์มาถากไม้ด้วย พรานได้เอากุมารมาไว้ในร่มพระมหาปราสาท ๆ ก็โอนไปเป็นหลายที พระยาอภัยคามินีเห็นเข้าก็หลากพระทัย จึงให้เอาพรานนั้นมาถามดูก็รู้ว่าเป็นบุตรของตน จึงรับเอากุมารมาเลี้ยงไว้ให้ชื่อว่า เจ้าอรุณราชกุมาร
    ยังมีกุมารผู้หนึ่งเกิดด้วยนางอัครมเหสีชื่อว่า เจ้าฤทธิกุมาร เป็นน้องเจ้าอรุณกุมาร พระยาอภัยคามินี เห็นว่าเมืองสัชนาไลยมีแต่พระราชธิดา จึงเอาเจ้าอรุณกุมารเป็นพระยาเมืองสัชนาไลย ได้นามว่า พระยาร่วง พระองค์จึงให้สร้างพระวิหารทั้งห้าทิศ สร้างพระจำลองไว้แทนพระองค์ติดพระมหาธาตุ และพระระเบียงสองชั้นแล้วเอาแลงทำเป็นค่าย และเสาโคมรอบพระวิหาร ให้เอาทองแดงมาทำเป็นลำพระขรรค์ ยาว 88 ศอกกึ่ง ต้นห้าศอกกึ่ง ปลายสามศอก และแก้วใส่ยอด 15 ใบ บัลลังแท่นรองยอดใหญ่เก้ากำ ตระกูลทองดีสิบชั้น หุ้มทองแดงขลิบขนุนลงมาถึงตีนคูหา สร้างอุโบสถให้เป็นทานแก่พระสงฆ์ และให้สร้างที่ต้นรังพระธาตุเป็นวิหาร และพระเจดีย์จึงได้ชื่อว่า วัดเขารังแร้ง ท้าวพระประเทศเมืองใด ๆ จะทนทานอานุภาพพระองค์มิได้ มาถวายบังคมทั่วสกลชมพูทวีป เพราะพระองค์ต้องพุทธทำนาย อายุพระองค์ได้ 50 ปี พอถึง ปี พ.ศ.1000 คนอันเป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายนำเอาช้างเผือกงาดำกับเขี้ยวงูมาถวาย และเมื่อพระองค์จะลบศักราชพระพุทธเจ้า จึงให้นิมนต์พระอธิตเถระ พระอุปคุตเถระ พระมหาเถรไลยลาย และพระอรหันต์ 500 องค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองสัชนาไลย บรรดาท้าวพระยาในชมพูทวีปคือ ไทย ลาว มอญ จีน พม่า ลังกา พราหมณ์เทศเพศต่าง พระองค์ให้ทำหนังสือไทยเฉียง มอญ พม่า ไทย และขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น
    พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิได้มาช่วยลบศักราช เราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้าเราให้ได้ จากนั้นจึงให้แต่งเรือสำเภาลำหนึ่งยาวแปดวา ปากกว้างสี่ศอก ครั้นได้ฤกษ์ก็เสด็จออกไปด้วยกำลังน้ำ พระองค์ทั้งสองมีแต่ธนูศิลป์ ไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงกรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนรู้แก่ใจด้วยมีพระพุทธทำนายไว้ว่า จะมีไทยสองคนพี่น้องข้ามทะเลมาแสวงหาเมีย และชายผู้หนึ่งจะเป็นจ้าวแก่ชาวชมพูทวีป และจะลบศักราชพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ดังนั้นแล้วจึงให้พลจีนออกไปรับพระองค์มาที่เรือนหลวงให้นั่งบนแท่นแก้ว ถวายบังคมแล้วจึงชวนเจรจา พระยาร่วงก็ทรงภาษาได้ทุกประการ พระเจ้ากรุงจีนจึงนำเอาพระธิดามาถวายให้เป็นพระอัครมเหสี พระยากรุงจีนจึงให้แต่งสำเภาเภตราลำหนึ่งกับเครื่องบรรณาการพระยาร่วงด้วย นางพสุจเทวี และเจ้าฤทธิกุมารจึงมาลงเรือสำเภาพร้อมทั้งจีนบริวาร 500 คน เดินทางมาหนึ่งเดือนจึงถึงเมืองสัชนาไลย ซึ่งขณะนั้นน้ำทะเลขึ้นมาถึงใช้สำเภาไปมาได้ บรรดาจีนทั้งหลายก็ทำถ้วยชามถวาย จึงเกิดมีถ้วยชามแต่นั้นมา พระองค์ได้พสุจกุมารผู้เป็นน้องตั้งพระราชวังอยู่นอกเมือง

    ReplyDelete
  5. กล่าวถึง เมืองพิไชยเชียงใหม่มีแต่พระราชธิดา จึงได้กราบทูลขอเจ้าฤทธิกุมารให้ไปเสวยราชสมบัติสืบตระกูลต่อไป พระเจ้าอรุณราชกับเจ้าฤทธิกุมารจึงเสด็จขึ้นไปด้วยกัน แล้วให้เจ้าพสุจกุมารอยู่รักษาเมืองกับนางพสุจเทวี เมื่อทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์เสนาเสด็จถึงต้นพนมใหญ่กึ่งกลางทาง พระองค์ได้เอาคนทีทองเต็มไปด้วยน้ำทรงอธิษฐาน ให้เป็นแดนแว่นแคว้นแห่งเจ้าฤทธิกุมารแต่วันนี้ไปแล้วเทน้ำในคนทีทองลงไปเป็นสำคัญ
    แล้วจึงเอาตะปูทองแดงใหญ่สามกำสามวา สามตัวปักไว้เป็นประธาน จากนั้นจึงเสด็จไปถึงเมือง นางมัลลิกาลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ มาต้อนรับเสด็จเข้าไปในเรือนหลวงแล้ว บรรดาท้าวพระยา อำมาตย์เสนาทั้งหลายก็กราบถวายบังคมแก่พระองค์ จากนั้นจึงได้มีการราชาภิเษกเจ้าฤทธิกุมารให้เป็น พระยาลือ กับด้วยนางมัลลิกาเทวี เมืองพิไชยเชียงใหม่จึงคิดกตัญญูแต่นั้นมา และผู้หญิงลาวจึงสู่ขอเอาผัวเป็นจารีตสืบมา พระยาร่วงก็กลับคืนเมืองของพระองค์
    พระยาร่วงเป็นคนคะนอง มักเล่นเบี้ย และเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวพระยา เสด็จไปไหนคนเดียวเป็นผู้รู้บังเหลื่อม รู้จักไตรเพททุกประการว่าให้ตายก็ตายเอง ดังเรื่องขอมผุดขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นหินแลง และขอมก็ขึ้นไม่ได้ด้วย วาจาสัจของพระองค์ วันหนึ่งพระองค์ทรงว่าวขาดลอยไปถึงเมืองตองอู และพระยาตองอูนั้นเป็นข้าพระยาร่วง พระยาร่วงตามไปถึงเมืองตองอู และได้เสียกับธิดาพระยาตองอู เมื่อได้ว่าวแล้วก็เสด็จกลับ ลูกสาวจึงบอกแก่พระยาตองอู ๆ จึงให้ไปตามพระยาร่วงคืนมา ครั้นพระยาร่วงมาถึงเมืองสัชนาไลยแล้วตรัสสั่งเจ้าพสุจิกุมารว่าจะไปอาบน้ำ ถ้าไม่เห็นกลับมาก็ขอให้เป็นพระยาแทนพระองค์ จากนั้นพระองค์ก็ไปอาบน้ำที่กลาง แก่งเมือง แล้วอันตรธานหายไป ในปี พ.ศ.1200 พระยาร่วงทิวงคต จ.ศ.158 เจ้าพสุจกุมารจึงให้ราชทูตถือข่าวสาส์น ขึ้นไปทูลพระยาลือกุมารยังนครเมืองพิไชยเชียงใหม่ผู้เป็นน้อง พระยาลือจึงได้ลงมาราชาภิเษกเจ้าพสุจกุมารให้เป็นพระยาสัชนาไลย
    มีเสนาคนหนึ่งชื่อ ไตรภพนารถ เป็นผู้คิดอ่านราชการรณรงค์สงครามได้รอบคอบ ได้ทูลพระยาพสุจกุมารว่า เมืองสัชนาไลยจะมีอันตรายในภายหน้า จึงขอให้แต่ง กำแพง และหอรบให้มั่นคง พระองค์จึงให้เสนาอำมาตย์ซ้ายขวา และตำรวจนอกในไพร่พลทั้งหลาย ให้ย่อกำแพงเข้าไปเป็นป้อมให้รอบเมือง และให้ย่อชาลาถมไว้ และถมที่นั้นให้ไว้ปืนใหญ่ทุกแห่งทุกตำบล ทั้งค่ายชั้นในและค่ายชั้นนอก และตั้งค่ายเชิงเรียงพนมแห่งหนึ่ง พนมหัวช้างแห่งหนึ่ง พนมบ่อนเบี้ยแห่งหนึ่ง ให้ตั้ง พระนครราชธานี แล้วตั้งป้อม และช่องปืนใหญ่ แล้วให้ตกแต่งหัวเมืองเอก ห้าหัวเมือง เมืองโท แปดหัวเมือง แต่งสรรพยุทธทั้งปวงไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึก แล้วแต่ง คนเร็วม้าใช้แล่นหากันจงฉับพลันทุกด้านหน้า แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกด้าน ให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมือง กัมโพชนคร เมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคีรี นครคีรี เมืองขอนคีรี และเมืองเหล็ก เมืองลิงเทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร และเมืองพิบูลย์นครอันขึ้นแก่เมืองหริภุญไชย และเมืองทั้งแปดหัวเมืองนั้น ให้แต่งเครื่องตรวจสาตราวุธ และตรวจด่านทาง ให้แต่งคนเร็วม้าใช้ไปฟังข่าวแก่กันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวทุกเมือง และให้พานิชพ่อค้าสำเภาลำหนึ่งถือราชสาส์นไปถึงเมืองกรุงจีน ถึงพระเจ้ากรุงจีนผู้เป็นตา ขอช่างหล่อปืนสิบคน ใช้เวลาเจ็ดเดือนมาถึงเมืองสัชนาไลย เจ้าพสุจกุมารจึงให้ช่างหล่อปืนใหญ่ 120 กระบอก ปืนนกสับ 500 กระบอก จึงเกิดมีช่างหล่อสัมฤทธิ์ถมปัดแต่นั้นมา พระองค์จึงให้คนทั้งหลายรักษาทั้งดิน และลูกเป็นอันมาก ลูกนั้นให้เอาดินปั้นเผาเป็นเฉลียงให้เป็นลูกปืน

    ReplyDelete
  6. เรื่องพระศรีธรรมไตรปิฎก
    ในเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าเชียงแสน ให้เสนาอำมาตย์และมหาอุปราช ตรวจจัดลี้พลโยธาช้างม้าเครื่องสาสตราวุธทุกท้าวพระยา ปืน หอก ดาบ โล่ธนู หน้าไม้ เกาะเหล็ก เกราะเขา แล้วจึงตั้ง พระยาเชียงราย พระยาเชียงลือ เป็นแม่ทัพน่า ตั้ง พระยาเชียงเงิน พระยาเชียงตุง เป็นปีกขวา ตั้งพระยาเชียงน่าน พระยาเชียงฝาง เป็นปีกซ้าย
    เจ้าพสุจกุมารให้อุปทูตขึ้นไปฟังข่าวได้รู้อาการทั้งปวงแล้ว พระยาพสุจราชจึงให้กฎหมายไปแก่ พระยาพิไชยเชียงใหม่ ผู้เป็นญาติ พระยาลือธิราชถึงทิวงคต ยังแต่บุตรชายผู้เป็นหลานชื่อ พระพรหมวิธีจึงให้ขับพล เมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน เข้าเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด แล้วให้ทหารอาสานั่งด่านทาง พระยาพสุจราช ให้รับครัวเข้า เมืองสัชนาลัยทั้งหมด แต่ครัวชายฉกรรจ์ให้อยู่ตั้งรบถอยหลังเข้ามาหาค่าย พระศรีธรรมปิฎกจึงให้ขับพลเข้าเมืองสัชนาไลย ให้ตั้งค่ายหลวงใกล้เมืองสัชนาลัยเป็นระยะทาง 50 เส้น แล้วให้พลทหารโยธาล้อมเมืองสัชนาไลยไว้ จะเข้าเมืองไม่ได้ด้วยข้างในเมืองมีปืนใหญ่ปืนน้อยมาก
    พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าวัดเขารังแร้งรู้เรื่องแล้ว จึงชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายว่า อย่าให้เรารบกัน แล้วไปถวายพระพรแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก แล้วเข้าไปห้ามพระยาพสุจกุมาร ทั้งสองพระยาก็ฟังคำพระอรหันต์เจ้า พระยาพสุจกุมารจึงเวนนางประทุมเทวีราชธิดาให้แก่พระยาศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ยินดีนัก ยกทัพกลับไป เมืองเชียงแสน ท้าวพระยาอื่น ๆ ต่างก็ยกกำลังกลับไปบ้านเมืองของตน
    พระยาศรีธรรมปิฎก มีพระราชกุมารกับนางประทุมเทวีสององค์ คือ เจ้าไกรสรราช และเจ้าชาติสาคร เจ้ากุมารทั้งสองมีอานุภาพ รูปงาม และมีใจเป็นกุศล
    พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรู้ในพระทัยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตทางตะวันตก ตะวันออก แล้วเสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ จึงควรไปสร้างเมืองไว้ในสถานที่นั้น จึงตรัสสั่งให้ จ่านกร้อง จ่าการบูรณ์ ให้ทำเป็นพ่อค้าเกวียน นำเกวียนไปคนละ 500 เล่ม จากเมืองเชียงแสนมาถึงเมืองน่าน เมืองลิหล่ม พักพลไหว้พระบาทธาตุพระพุทธเจ้าจึงข้าม แม่น้ำตรอมตนิม ข้าม แม่น้ำแควน้อยแล้วจึงถึงบ้านพราหมณ์ที่พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตบ้านพราหมณ์ข้างตะวันออก 150 เรือน ข้างตะวันตก 100 เรือนมีเศษ เรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก

    ReplyDelete
  7. จ่านกร้องกับจ่าการบูรณ์คิดอ่านกันเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวราบคาบทั้งสองฟาก มีบ้านพราหมณ์อยู่ทั้งสองฟากควรสร้างเมืองถวายแก่เจ้าของเรา ดังนั้นจึงให้พ่อค้าเกวียน 500 เล่ม ข้ามไปข้างตะวันตก ตั้งทับประกับเกวียนไว้แล้ว ต่างทำสารบาญชีชะพ่อพราหมณ์ และไพร่พลของตน รวมกันเป็นคนฝ่ายละ 1000 คนทำอิฐ ให้พราหมณ์ชักรอบทิศตั้งเมือง แล้วจึงเป็นหน้าที่ยาว 50 เส้น สะกัดสิบเส้นสิบวา ปันหน้าที่ไว้แก่พราหมณ์ จะได้เท่าใด ไทยจะได้เท่าใด ลาวจะได้เท่าใด พอได้ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง ปีฉลู นพศก เวลาเช้า ต้องกับเวลาเมื่อพระพุทธเจ้าฉันจังหันใต้ต้นสมอ แต่ก่อนเรียก พนมสมอ บัดนี้เรียก เขาสมอแครง จ่านกร้องสร้างข้างตะวันตก จากการบูรณ์สร้างข้างตะวันออก แข่งกันสร้าง ทำอยู่ปีเจ็ดเดือนจึงแล้วรอบบ้าน พราหมณ์ทั้งหลายฟังดูก็รอบ เมื่อทำเมืองแล้วทั้งสองฟาก จึงสั่งชีพ่อพรามหมณ์ให้รักษาเมือง แล้วนำเกวียน และคน 500 เล่ม ขึ้นไปเมืองเชียงแสนใช้เวลาเดินทางสองเดือน แล้วถวายรายงานให้พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงทราบ
    พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีความยินดียิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย ยกกำลังไปยังเมืองที่สร้างใหม่ดังกล่าว แล้วตรัสถามชะพ่อพราหมณ์ว่าจะให้ชื่อเมืองอันใดดี ก็ได้รับคำตอบว่า พระองค์เจ้ามาถึงวันนี้ใน ยามพิศณุ จึงได้ชื่อว่า เมืองพิศณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตก็ชื่อว่า โอฆบุรีตะวันออก ทางด้านตะวันตกชื่อ จันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลาย ชวนกันสร้างพระธาตุ และพระวิหารใหญ่ ตั้งพระวิหารทั้งสี่ทิศ

    ReplyDelete
  8. เรื่องสร้างพระชินสีห์ พระชินราช
    พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้หาช่างได้บาพิศณุ บาพรหม บาธรรม บาราชกุศล และได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลยห้าคน จากเมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง ให้ไพร่พลทั้งหลาย ขนดิน และแกลบให้แก่ช่าง ช่างประสมดินปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าสามรูปให้เหมือนพิมพ์เดียว และใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นปั้นเบ้าคุมพิมพ์แล้วก็หล่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก วันหล่อนั้นเป็นวันพฤหัสบดีเพ็ญเดือนสี่ ปีจอ ชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายมีพระอุบาลีฬี และพระศิริมานนท์เป็นประธาน หล่อให้พร้อมกันทั้งสามรูป รูป พระศรีศาสดา กับ พระชินสีห์ นั้นทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์ ยังแต่พระชินราชนั้นมิได้เป็นองค์เป็นรูป ช่างทำการหล่อถึงสามครั้งก็มิได้เป็นองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พร้อมทั้งเจ้าปทุมเทวีจึงได้ตั้งสัจอธิษฐาน ร้อนถึงพระอินทร ฯ จึงนฤมิตเป็นตาปะขาวมาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ปั้นเบ้า แล้วทำตรีศูลย์ไว้ในพระพักตร์เป็นสำคัญ ครั้นถึงเดือนหนึ่งพิมพ์พระพุทธรูปแห้งแล้ว จึงให้ช่างตั้งเตาจะหล่อพระชินราช แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีเถาะ ตรีศก เวลาเช้า พ.ศ.1500 ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระองค์จึงให้ช่างช่วยกันขุดเกศาพระพุทธรูปนั้น ก็เป็นรูปอันงามบริบูรณ์แล้วทั้งสามพระองค์ ให้เอาไปตั้งไว้ในสถานสามแห่งไว้เป็นที่เสี่ยงทาย ไว้ท่ามกลางเมืองพิษณุโลก แล้วจึงให้ตั้งพระราชวังฝ่ายตะวันตกเสร็จแล้วจึงให้เอาสุลเทวี ลูกพระยาสัชนาไลย ให้ราชาภิเษกด้วยเจ้าไกรสรราช ณ เมืองละโว้ แล้วพระองค์กับท้าวพระยาทั้งหลายช่วยกันฉลองวัดวาอาราม และพระพุทธรูปเจ็ดวัน แล้วให้ตั้งบ้านส่วยสัดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ตั้งจ่านกร้อง และจ่าการบูรณ์ให้เป็นมหาเสนาซ้ายขวา เสร็จแล้วจึงยกกำลังกลับ เสด็จไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงนครบุรีรมย์ สร้างเมืองเสนาราชนคร
    พระเจ้าไกรสรราช สั่งให้อำมาตย์เสนาในให้สร้างเมืองหนึ่งใกล้เมืองละโว้ ทาง 500 เส้น แต่งพระราชวังคูหอรบ เสาใต้เชิงเรียงเสร็จแล้วจึงให้อำมาตย์รับเอาดวงเกรียงกฤษณราชกับพระราชเทวีไปราชาภิเษกร่วม เมืองนั้น ชื่อว่าเสนาราชนครแต่นั้นมา แต่ พ.ศ.1500 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้แต่งเจ้าชาติสาครไปกินเมืองเชียงราย พระองค์มีพระชนม์ได้ 150 ทิวงคต เมื่อ พ.ศ.1500 แต่นั้นมาเมืองใคร ๆ อยู่มิได้ไปมาหากัน เจ้าชาติสาครเสวยราชสมบัติแทนสมเด็จพระราชบิดาเมืองพิไชยเชียงแสนมาได้เจ็ดชั่วกษัตริย์

    ReplyDelete
  9. เรื่องพระยากาฬวรรณดิสสร้างเมืองต่าง ๆ
    ปี พ.ศ.1002 พระยากาฬวรรณดิสได้เสวยราชสมบัติเมืองตักกะสิสามหานคร จึงให้พราหมณ์ทั้งหลายยกพลไปสร้างเมืองละโว้ ได้ 19 ปี เมื่อ พ.ศ.1011 แล้วให้พระยาทั้งหลายไปตั้งเมืองอยู่ทุกแห่ง ขุนนางขึ้นไปถึงเมืองทวารบุรี เมืองสันตนาหะ เมืองอเส และเมืองโกสัมพี แล้วมานมัสการที่พระพุทธเจ้าตั้งบาตรตำบลบ้านแม่ซ้องแม้ว แล้วลงมา เมืองสวางคบุรี ที่บรรจุพระรากขวัญของพระพุทธเจ้าไว้แต่ก่อนนั้น แล้วจึงอาราธนาพระรากขวัญกับพระบรมธาตุมาว่าจะบรรจุไว้เมืองละโว้ พระบรมธาตุทำอริยปาฏิหาริย์ลอยกลับขึ้นไปเหนือน้ำถึงเมืองสวางคบุรีเป็นเช่นนั้นอยู่เจ็ดครั้ง พระรากขวัญกับพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าจึงไม่อยู่ได้ในเมืองละโว้ จน พ.ศ.1015 พระยากาฬวรรณดิสขึ้นไปทำนุบำรุง เมืองนาเคนทรแล้วกลับมาเมืองสวางคบุรี จึงอาราธนาพระรากขวัญกับพระบรมธาตุกับข้อพระกรของพระพุทธเจ้าที่บรรจุไว้ในเจดีย์ แต่ครั้งพระอานนท์ และพระอนิรุทธเถรเจ้า กับพระยาศรีธรรมโสกราช ท่านชุมนุมกันบรรจุไว้แต่ครั้งก่อนนั้นลงมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์เมืองละโว้สองปี พระองค์สวรรคต เมื่อ พ.ศ.1043 เรื่องพระร่วงเมืองศุโขทัย
    บุตรพระยาร้อยเอ็ดเป็นนายส่วยน้ำถึงแก่พิราลัย ขณะนั้น นายคงเคราเป็น ส่วยน้ำเสวย เมืองละโว้ ไปส่งเมืองกัมพูชาธิบดี สามปีส่งทีหนึ่ง นายคงเคราคุมไพร่ 300 คนรักษาน้ำเสวยอยู่ในทุ่งทะเลชุบศร มีเรือเล็กร้อยหนึ่ง นายคงเครามีบุตรคนหนึ่งอายุได้ 11 ขวบ ชื่อ นายร่วง ครั้งอยู่มาน้ำมากเอาเรือพายเล่นในท้องพรหมมาศจนเหนื่อย จึงว่าน้ำลงเชียวนักให้ไหลกลับไปถึงเรือนเราเถิด พอตกคำลงน้ำก็ไหลกลับมาส่งถึงบ้าน นายร่วงเห็นดังนั้นก็นิ่งอยู่ต่อมานายคงเคราตาย ไพร่ทั้งปวงจึงยกนายร่วงเป็นนายกองบังคับไพร่ต่อมา
    ครั้นอยู่มาครบคำรบ นักคุ้มคุมเกวียน 50 เล่ม กับไพร่พันหนึ่งมาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์ ลุ้งน้ำเล่มละ 25 ใบ ครั้นมาถึงสระน้ำนั้นจึงให้นายกองเปิดประตูจะตักน้ำ นายร่วงก็มาพูดจากับนักคุ้มว่าลุ้งน้ำเอามาหนักเสียเปล่า ให้ไขว่ชะลอมใส่ไปเถิด นักคุ้มจึงเกณฑ์สานชะลอมเล่มละ 25 ใบ ครั้นกำหนดจะกลับสั่งเปิดประตูเอาชะลอมลงจุ้มน้ำยกขึ้นใส่เกวียน แล้วนักคุ้มก็เดินทางรอนแรมมาถึงแดนด่าน คนคุมน้ำมาสงสัยว่าชะลอมจะขังน้ำได้หรือ บันดาลให้น้ำในเล่มเกวียนนั้นไหลลงเห็นทั่วกันจึงสรรเสริญ จึงจารึกลงไว้ ที่นั้นจึงเรียกว่า ด่านพระจารึก จากนั้นยกไปทางตักโช ครั้นถึงเมืองแล้วผู้คนก็เล่าลือกันว่าเอาชะลอมบรรทุกมาไม่มีน้ำ พระเจ้ากัมพูชาจึงเอานักคุ้มไปถาม นักคุ้มก็ทูลเรื่องให้ทราบทุกประการ แล้วยกชะลอมน้ำเทลงในเพนียงจนไม่มีที่ใส่ พระเจ้ากรุงกัมพูชาตกพระทัยว่ามีผู้มีบุญมาเกิดแล้ว คิดจะจับตัวฆ่าเสีย บรรดาเสนาพระยา พระเขมรก็เห็นด้วย จึงเกณฑ์ทัพเมืองขอมไปตามจับ นายร่วงรู้ข่าวจึงหนีไปถึงแดน เมืองพิจิตร อาศัยอยู่ริมวัดขอข้าวชาวบ้านกิน ชาวบ้านเอาข้าวกับปลาหมอตับหนึ่งมาให้ นายร่วงหยิบปลาข้างละแถบแล้วโยนลงไปในสระให้ปลาเป็นว่ายไป จากนั้นนายร่วงก็หนีไปอาศัยอยู่วัด เมืองศุโขทัย แล้วอุปสมบทเป็นภิกษุจึงเรียก พระร่วง ฝ่ายขอมดำดินมาถึงเมืองละโว้ ถามนายร่วงจากชาวบ้าน ๆ บอกว่า นายร่วงขึ้นไปเมืองเหนือ ขอมขึ้นไปถึง เมืองสวรรคโลก ถามชาวบ้าน ๆ ก็บอกว่าไปอยู่เมืองศุโขทัย และบวชเป็นภิกษุอยู่ ขอมก็ตามไปเมืองศุโขทัยผุดขึ้นกลางวัด พอพระร่วงกวาดวัดอยู่ขอมจึงถามหาพระร่วง ๆ จึงบอกว่าอยู่ที่นี่เถิดจะบอกให้ ขอมก็อยู่ที่บ้านเป็นหินอยู่จนบัดนี้
    พ.ศ.1502 เจ้าเมืองศุโขทัยทิวงคต เสนาบดีประชุมกันว่าวงศานุวงศ์ไม่มีแล้วไม่เห็นมีผู้ใด เห็นแต่พระร่วงบวชอยู่ที่วัด จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระร่วงลาผนวช แล้วมาครองเมืองศุโขทัย พระร่วงอยู่ได้ 102 ปี ก็สวรรคต

    ReplyDelete
  10. เรื่องพระยาแกรก
    พระมหาพุทธสาครเป็นเชื้อมา ได้เสวยราชสมบัติอยู่ริม เกาะหนองโสน ที่วัดเดิมกันมีพระมหาเถรไสยลายองค์หนึ่งเป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพได้พระบรมธาตุ 650 พระองค์ กับพระศรีมหาโพธิสองต้น จากเมืองลังกาได้พาพระมหาสาครไปเมืองสาวัตถี ถ่ายเอาอย่างวัดเชตวนาราม มาสร้างไว้ต่อเมืองรอ แขวงบางทานนอก เมืองกำแพงเพ็ชร ชื่อวัดสังฆคณาวาศ แล้วเอาพระศรีมหาโพธิใส่อ่างทองคำมาปลูกไว้ริมหนองนากะเล นอกวัดเสมาปากน้ำแล้วเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ด้วย 36 พระองค์ จึงให้ชื่อว่าวัดพระศรีมหาโพธิลังกา แล้วจึงบรรจุไว้ในพระเจดีย์ข้างในพระพุทธรูปใหญ่บ้าง ในพระปรางค์บ้าง บรรจุไว้ในพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ในพระป่าเลไลยนอกเมืองพันธุมบุรี ในพระปรางค์วัดเดิมกัน เมืองหนองโสน ที่พระพุทธบาท ในถ้ำนครสวรรค์ ในถ้ำขุดคะสรรค์ ในเขาหินตั้งเมืองศุโขทัยในเขาคุ้มแก้ว ในเมืองชองแก้ว ในพระเจดีย์วัดเสนาศน์ แห่งละ 36 ปีพระองค์ ในพระเจดีย์วัดคณาทาราม ในพระมหาธาตุแห่งละ 30 พระองค์ พระองค์อยู่ได้ 97 ก็สวรรคต พระยาโคดมครองราชสมบัติอยู่ ณ วัดเดิม 30 ปี ก็สวรรคต มีพระราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ พระยาโคตรตะบอง ทรงอานุภาพยิ่งนัก
    อยู่มาโหรทำฎีกาถวายทำนายว่า ผู้มีบุญจะมาเกิดในเมืองนี้ พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสีย ต่อมาโหรกราบทูลว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้เอาทารกมาคลอกเสียให้สิ้น แต่ทารกผู้นั้น ไฟคลอกไม่พอง ครั้งเวลาเช้าสมณะไปบิณฑบาต พบทารกจึงเอามาเลี้ยงไว้
    อยู่ต่อมาราษฎรป่าวร้องกันว่า โหรทูลว่าผู้มีบุญจะมาก็ตื่นเต้นพากันไปดูผู้มีบุญ พระยาโคตรตะบองจึงตรัสแก่เสนาบดีว่าถ้าเดินมาจะสู้ ถ้าเหาะมาจะหนี ทารกนั้นอยู่ที่วัดโพธิผี อายุได้ 17 ปี ก็ถัดไปดูผู้มีบุญ พระอินทร์แปลงตัวเป็นคนชรา จูงม้ามาที่ทารกนั้นฝากม้าไว้ แล้วอนุญาตให้กินข้าวในแฟ้มได้ ทารกกินแล้วก็มีกำลังขึ้น เห็นน้ำมันในขวดก็เอาทาตัว แขนขาที่ไฟคลอกงออยู่นั้นก็เหยียดออกได้ หมอบาดแผลก็หายไปสิ้นแล้วแลเห็นเครื่องกกุธภัณฑ์ คิดในใจว่าตนคงเป็นผู้มีบุญ จึงเอาเครื่องกกุธภัณฑ์ใส่แล้วขึ้นหลังม้าขี่เหาะมาถึงที่พระตำหนัก พระยาโคตรตะบองเห็นเข้าก็หวาดหวั่นตกใจ จึงหยิบตะบองขว้างไปแต่ไม่ถูก ตะบองไปตกที่เมืองล้านช้าง พระยาโคตรตะบองเห็นดังนั้นก็หนีไป พระยาแกรกได้ขึ้นครองราชสมบัติ ได้รับถวายพระนามว่า พระเจ้าสินธพอำมรินทร์ ราษฎรอยู่เป็นสุขยิ่งนัก
    ฝ่ายพระยาโคตรตะบองตามตะบองไป เมืองล้านช้าง เจ้าเมืองสัจจะนาหะ กลัวบุญญาธิการพระยาโคตรบอง จึงยกพระราชบุตรีให้เป็นอัครมเหสี แล้วคิดในใจว่าต่อไปคงจะเป็นขบถต่อตนจึงคิดจะฆ่าเสีย จึงไปหารือกับลูกสาว ๆ ให้ความร่วมมือ โดยไปอ้อนวอนถามพระราชสามีว่าทำอย่างไรจึงจะตาย พระยาโคตรตะบองทนอ้อนวอนไม่ได้ จึงบอกว่าถ้าเอาไม้เสียบทวารหนักจึงจะตาย นางเอาความมาบอกพระราชบิดา ๆ จึงให้เสนาบดีทำกลไกไว้ที่พระบังคน พระยาโคตรตะบองต้องกลไกดังกล่าว ก็สำนึกได้ว่าเสียรู้ด้วยสตรี จึงหนีกลับไปแดนเกิด พอเข้าแดนพระนครแล้วก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสินธพมอำรินทร์ ทรงทราบจึงให้ทำการศพพระราชทานเพลิง แล้วสถาปนาที่นั้นให้เป็นพระอาราม ชื่อ วัดศพสวรรค์ มาจนถึงทุกวันนี้
    พ.ศ.1850 พระเจ้าสินธพอำมรินทร์ เสวยราชสมบัติได้สามปี ได้ให้ประชุมเจ้าพระยาและพระยา พระหลวงขุนหมื่นข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยมารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒนสัจจา ตามเมืองใกล้ไกล
    ยังมีพระไทรเถรองค์หนึ่งเป็นเชื้อมาแต่พระนาคเสน เอาเลข กหํ ปายา มาถวาย จึง ลบ พ.ศ.1857 เป็น จ.ศ.306 ปีมะโรง ฉศก เป็นจุลศักราชใหม่สำหรับอาณาจักรจะได้ใช้สืบไป แล้วสร้างวัดวิหารแกลบไว้ เป็นหลักพระพุทธศาสนา พระองค์เสวยราชสมบัติได้ 59 ปี ก็สวรรคต
    (ข้อความที่กล่าวถึงบุพกรรมแห่งพระยาสุทัศน์ - เว้น)
    (ข้อความอันเป็นประวัติของพระยาแกรกอีกสองเรื่อง - เว้น)

    ReplyDelete
  11. เรื่องพระนเรศวรหงษา
    จ.ศ.215 พระเจ้าจันทโชติกับเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ขึ้นไปครอง เมืองละโว้ พร้อมทั้งเจ้าฟ้าแก้วประพาฬผู้เป็นพระพี่นางได้ขึ้นไปด้วย พระยาจันทโชติเสวยราชสมบัติได้ 5 ปี สร้างวัดกุฎีทองถวายพระอาจารย์ ส่วนพระอัครมเหสีสร้างวัดคงคาวิหาร
    จ.ศ.220 พระเจ้าอโนรธามังฉ่อเจ้าเมืองสเทิม ปรึกษาเสนาบดีว่าจะยกไปตีเมืองละโว้ ในเดือนสิบสอง ให้เกณฑ์ช้างสามพัน ม้าห้าพัน พลแสนหนึ่ง ให้พระยาเริงจิตรตองเป็นทัพหน้า ช้างเครื่องร้อยหนึ่งม้าร้อยห้าสิบ พลหมื่นหนึ่ง นันทะกะยอซูเป็นปีกขวา นันทะกะยอทางปีกซ้าย มีช้างร้อยหนึ่ง ม้าร้อยห้าสิบ พลหมื่นหนึ่งในแต่ละปีก โปวิจารำ ช้างเจ็ดร้อย พลสองหมื่น ครั้งได้พิชัยฤกษ์ก็ยกทัพหลวงออกจากพระนครใช้เวลา 39 วัน ถึงเมืองละโว้ ให้ล้อมเมืองโว้ทั้งสี่ด้านถึงเจ็ดวัน ไม่มีผู้ใดออกมารับทัพ พระเจ้าจันทโชติจึงปรึกษาเสนาบดี แต่ไม่มีผู้ใดให้ความเห็น หมื่นจะสูจึงกราบทูลว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ควรคิดเป็นไมตรีด้วยทหารของเรายังไม่ชำนาญศึก พระองค์ก็เห็นด้วย จึงตรัสสั่งให้เสนาบดีแต่งวอกับนางกำนัลร้อยหนึ่ง แล้วเชิญ เจ้าฟ้าแก้วประพาฬ กับข้าสาวออกไปกับพระราชสาส์น ถวายพระพี่นางเป็นทางพระราชไมตรี พระเจ้าอโนรธามังฉ่อดีพระทัย และมีความปฏิพัทธในนางยิ่งนัก จึงให้จัดทองสิบชั่ง ช้างร้อย ม้าร้อย ให้เสนาบดีนำไปถวายพระเจ้าจันทโชติ แต่นั้นมาเมืองละโว้กับเมืองสเทิม ก็เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกัน มีพระราชสาส์นไปมาหากัน
    เมื่อกลับไปถึงพระนคร ก็แต่งการพิธีอภิเษกเจ้าแก้วประพาฬเป็นพระอัครมเหสีเอก ต่อมาเจ้าแก้วประพาฬประสูติพระราชกุมาร เมื่อจำเริญวัยขึ้น พระราชบิดาให้ช่างมาทำลูกขลุบให้พระราชกุมารเล่นเป็นนิจจนใหญ่ห้ากำ พระราชบิดาถวายพระนามพระราชกุมารชื่อ พระนเรศวร ทุกประเทศธานีเกรงบุญสมภารยิ่งนัก

    ReplyDelete
  12. ฝ่ายเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ มีพระราชกุมารองค์หนึ่ง ครั้งพระชนม์ได้สิบสี่ปีได้ลาพระราชบิดาไปเยี่ยมพระเจ้าป้า ณ เมืองสเทิม พระเจ้าอโนรธามังฉ่อก็รับพระราชนัดดาด้วยความชื่นชมโสมนัส พระกุมารทั้งสองรักใคร่กัน
    อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าอโนรธามังฉ่อเห็นพระราชนัดดาเป็นสี่กร จึงคิดในพระทัยว่ากุมารคนนี้จะเอามอญเป็นข้า ครั้นอยู่มาพี่น้องทั้งสองวิวาทกันด้วยขี่ม้าตีคลี พระนเรศวรแพ้ แพ้พระราชกุมาร หลายครั้งจึงคิดแค้นใคร่จะฆ่าพระราชกุมารนั้นเสีย พระราชกุมารรู้จึงคิดกับพี่เลี้ยงจะหนีไป แล้วให้เกลี้ยกล่อมมอญจะพามาด้วย พอได้ที่ก็ยกหนี พระนเรศวรของอาสาไปจับ ยกตามมาแดนไทยทัน เมื่อ จ.ศ.431 พระนเรศวรทรงช้างต้น พลายตุ่น จะเข้าชนพลายทองแดงของราชกุมาร พลายทองแดงเล็กกว่าทานไม่ได้ถอยมา พระนเรศวรได้ทียกลูกขลุบเงื้อขึ้น จะทิ้งเอาพระราชกุมาร ๆ ร้องว่าเจ้าพี่เล่นเป็นทารกหาควรไม่ พระนเรศวรได้ยินก็ละอายพระทัยวางลูกขลุบลงเสีย พอพลายทองแดงได้ต้นพุดซาที่มั่นยันถนัด หันรับช้างพระนเรศวรแปรไป พระราชกุมารบ่ายของ้าวจ้วงฟันเห็นเป็นสี่กร
    พระราชกุมารพาพวกพลมาพระนคร ถวายให้พระราชบิดาแล้วกราบทูลกิจจานุกิจทุกประการ พระราชบิดาจึงให้แต่งการสมโภชพระราชกุมารขนานนาม พระนารายณ์ แต่นั้นมา เมืองสเทิมกับเมืองละโว้ขาดทางพระราชไมตรี มอญซึ่งได้มานั้นอยู่ที่เมืองบ้าง อยู่บางขามโพชายบ้าง จนถึงบัดนี้
    จ.ศ.242 มหาอำมาตย์ครองราชสมบัติได้ 12 ปี ก็สวรรคต พระนารายณ์ สร้างวัดปีหนึ่ง จ.ศ.249 พระนเรศวรยกพลสี่สิบแสนมาล้อมกรุง ตั้งค่ายอยู่ตำบลนนตรี ทราบว่าพระนารายณ์ได้ราชสมบัติ ก็เกรงพระเดชานุภาพเป็นอันมาก จึงให้แต่งหนังสือว่าจะใคร่สร้างวัดพนันคนละวัด ถ้าตนแพ้จะยกทัพกลับ ถ้าฝ่ายพระนารายณ์แพ้ตนจะครองเมือง พระนารายณ์จึงตรัสว่าพระเจ้าพี่สร้างทางทิศพายัพ พระองค์จะอยู่ข้างทิศหรดี ฝ่ายพระนเรศวรได้สั่งนายทัพนายกองจัดการทำอิฐเป็นอันมาก ก่อพระเจดีย์กว้างสี่เส้น สูงเก้าเส้นสิบวา พระนารายณ์ก่อพระเจดีย์กว้างสามเส้น สูงเจ็ดเส้นสี่วาสองศอก พระนเรศวรก่อพระเจดีย์สิบห้าวันถึงบัวกลุ่ม ให้นาม วัดภูเขาทอง พระนารายณ์จะแพ้จึงคิดกลอุบาย ทำโครงผ้าขาวคาด พระนเรศวรเห็นดังนั้นก็คิดกลัว จึงเลิกทัพกลับไป พระนารายณ์ให้ก่อจนแล้วให้นาม วัดใหญ่ชัยมงคล
    แล้วพระนารายณ์ไปสร้างพระปรางค์เมืองละโว้ ขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่า เมืองลพบุรี เป็นเมืองลูกหลวง เมื่อพระนารายณ์สวรรคต อำมาตย์เก้าคนแย่งชิงราชสมบัติกัน ทำศึกกันอยู่สองปี จ.ศ.311 พระเจ้าหลวงได้ราชสมบัติได้เก้าปี จึงกำหนดพิกัดอากรขนอนตลาดไว้ทุกตำบล สั่งให้ยกวังเป็นวัด เรียกว่า วัดเดิม แต่นั้นมา จ.ศ.360 สร้างเมืองใหม่ สร้างตำหนักวังอยู่ท้ายเมือง สร้างวัดโปรดสัตว์ยังไม่เสร็จก็สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.373 พราหมณ์ปุโรหิตจึงคิดเสี่ยงเรือสุพรรณหงษ์กับเครื่องกกุธภัณฑ์ไป

    ReplyDelete
  13. เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง
    มีเด็กเลี้ยงโคอยู่กลางทุ่งนา 47 คน มีจอมปลวกสูงใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง มีได้ตั้งคนหนึ่งขึ้นว่าราชการบนจอมปลวกนั้น ตั้งป็น ขุนอินทรเทพ ขุนพิเรนทรเทพ เป็นที่ขุนนางผู้ใหญ่ ครั้งนั้น เมื่อพราหมณ์ปุโรหิตเสี่ยงเครื่องกกุธภัณฑ์กับเรือเอกชัยสุพรรณหงษ์ ไปตามชลมารค ไปถึงบ้านเด็กเล่น เรือก็หยุดอยู่ พราหมณ์จึงเป่าสังข์แตรงอนแตรฝรั่งขึ้นพร้อมกัน รับเอานายหมู่เด็กมาครองราชสมบัติ จึงเรียกว่า บ้านเด็กเล่นมาแต่นั้น ให้เอาพวกเด็กเพื่อนกันลงมาตั้งให้เป็นข้าราชการ อยู่ต่อมาวันหนึ่งเห็นมอญพ่อลูกมาขายผ้าลูก ได้เบญจลักษณ์ จึงให้แต่งเรือลงไปรับกับคานหาม แล้วรับนางขึ้นคานหามมาพระราชวัง จึงเรียกว่า บ้านคานหามมาแต่นั้น จากนั้นได้รับนางขึ้นราชาภิเษกเป็นเอกอัครมเหสี บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข
    ขณะนั้นเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรมในจั่นหมากจึงให้ชื่อว่า นางสร้อยดอกหมาก เมื่อเจริญวัยขึ้นจึงให้โหรทำนายว่า พระราชธิดาจะคู่ควรด้วยกษัตริย์เมืองใด โหรทำนายว่าเห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกกรุงไทย ที่ควรแก่พระราชธิดา พระเจ้ากรุงจีนจึงแต่งพระราชสาส์นให้ขุนแก้วการเวทถือเข้ามา ในสาส์นนั้นว่าพระเจ้ากรุงจีน ให้มาเป็นทางพระราชไมตรีถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และขอยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี เมื่อพระองค์ทราบแล้วก็ดีพระทัยตรัสว่าเดือนสิบสองจะออกไปรับ แล้วสั่งให้จัดเรือเอกชัยเป็นขบวนพยุห ออกไปรับเมื่อปี จ.ศ.395 เมื่อเสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลอง พอน้ำขึ้นจึงประทับพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน จึงขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร อธิษฐานว่าถ้ามีบุญจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทบกำแพงแก้วนั้นเถิด พอตกพระโอษฐ์ดังนั้น น้ำผึ้งก็ย้อยลงมากลั้วเรือพระที่นั่งรื้อขึ้นไปถึงที่ พระองค์จึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมา พระสงฆ์สมภารลงมาถวายชัยมงคลว่า มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จสมความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทิศ จึงถวายพระนามว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง

    ReplyDelete
  14. ครั้นน้ำหยุดจะลง พระองค์สั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลาย และเสนามนตรีกลับไปรักษาพระนคร พระองค์เสด็จไปทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยลำเดียว เสด็จไปจนถึงเขาไพ่ แล้วประทับที่อ่าวนาคคืนหนึ่ง อ่าวเสืออีกคืนหนึ่ง พระเจ้ากรุงจีนจึงแต่งกระบวนแห่มารับพระองค์เข้ามาพระราชวัง แล้วราชาภิเษกนางสร้อยดอกหมากเป็นพระอัครมเหสี พระเจ้ากรุงจีนแต่งสำเภาห้าลำกับเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก ให้จีนมีชื่อห้าร้อยคนเข้ามาด้วย สำเภาเดินทางสิบห้าวันก็ถึงแดนพระนคร ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะ ราษฎร แต่งการรับเสด็จ พระราชาคณะฐานานุกรม 150 รูปไปรับเสด็จที่เกาะจึงเรียก เกาะพระแต่นั้นมา แล้วเชิญเสด็จมาท้ายเมืองที่ปากน้ำแม่เบี้ย แล้วเชิญเสด็จเข้าวัง ให้จัดตำหนักซ้ายขวา ให้เฒ่าแก่กับเรือพระที่นั่ง ลงมารับนาง นางตอบว่าถ้าพระองค์ไม่ลงมารับแล้วไม่ไป พระองค์ทราบดังนั้นก็ว่าเป็นหยอกเล่น มาถึงนี่แล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด นางรู้ความคิดว่าจริงก็เศร้าพระทัย ครั้นรุ่งขึ้นจึงแต่งกระบวนมารับเสด็จมาด้วย นางตัดพ้อว่าไม่ไป พระองค์ก็สัพยอกว่าไม่ไปแล้วก็อยู่ที่นี่ พอตกพระโอษฐ์นางก็กลั้นใจตาย เมื่อปี จ.ศ.๔๐๖ จึงเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่ แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามว่าวัด พระเจ้าพระนางเชิง แต่นั้นมา
    พระเจ้าสายน้ำผึ้งได้ยกพลไปขุดบางเตยจะสร้างเมืองใหม่ พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้ จึงสร้าง วัดหน้าพระธาตุถวายพระอาจารย์ แล้วมาสร้าง วัดมงคลบพิตร พระองค์อยู่ในราชสมบัติได้ 42 ปี สวรรคตเมื่อปี จ.ศ.427
    พระยาธรรมิกราช พระราชบุตรพระเจ้าสายน้ำผึ้งได้เสวยราชสมบัติ สร้าง วัดมุขราช ทรงทศพิธราชธรรม บำรุงพระพุทธศาสนา ประเทศราชเกรงพระเดชานุภาพยิ่งนัก แต่ดอกไม้ทองเงินขึ้นเป็นอันมาก ขนอนอากร บ่อนเบี้ย ช่วงเรือลำละ 10 เบี้ย 40 เบี้ย มิให้เรียกแก่ราษฎรล้ำเหลือ ฝนตกตามฤดู น้ำงามตามฤดู เสวยราชย์ 42 ปี จ.ศ.458 ให้ ขุดคลองบางตะเคียนออกไปบางยิหน
    จ.ศ.671 พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง วัดกุฎีดาว พระอัครมเหสีสร้าง วัดมเหยงค์ พระองค์ครองราชย์ 97 ปี สวรรคต เมื่อปี จ.ศ.672

    ReplyDelete
  15. เรื่องพระมาลีเจดีย์
    พระยาเชียงทอง เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่ายังมีพระอาจารย์องค์หนึ่งมาถวายพระพรว่า พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า สืบไปเมื่อหน้าเมืองสาวัตถี จะกลายเป็นเมืองหงสาวดี จะมีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จะสร้างพระมาลีเจดีย์องค์หนึ่งในกลางพระนคร ทุกวันนี้ยังปรากฏมีอยู่ พระมาลีเจดีย์นั้นอยู่ทิศอุดร พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แจ้งพฤติเหตุแล้วก็มีพระทัยยินดีนัก ในปี จ.ศ.413 จึงตรัสสั่งให้ขุนการเวก และพระยาศรีธรรมราชา ภูดาษราชวัตรมเมืองอินทร์ ภูดาษกินเมืองพรหม ยกกระบัตรนายเพลิงกำจาย นายทำนององค์รักษ์ นายหาญใจเพชร นายเด็จสงครามข้าหลวงแปดนาย กับไพร่ห้าร้อยคุมเครื่องบูชาขึ้นไปถวายพระมาลีเจดีย์ คณะดังกล่าวเดินทางไป สุพรรณบุรีถึงบ้านชบา เมืองพระยาเจ็ดตน บ้านรังงาม ด่านทราง เจ้าปู่หิน ถึงแม่น้ำชุมเกลียว ณ ที่นั้นมีพระพุทธไสยาสน์องค์หนึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ ยาวห้าเส้น คณะทั้งหมดเข้าไปนมัสการ แล้วเดินทางต่อถึงเขาฝรั่งยางหิน ถึงตำบลเขาหลวง พอสิ้นแดนกรุงศรีอยุธยา ไปถึง ด่านทุ่งเขาหลวง สิ้นเขตแดนนับได้ 38 วัน จากนั้นขาดระยะบ้านไม่มีผู้คนเดินเลย บ่ายหน้าไปทิศอุดร เป็นป่าใหญ่ เดินไปไม่ต้องแดด เป็นทุ่งอยู่กลางเป็นป่าละเมาะ คนทั้งปวงสิ้นอาหารกินแต่ผลไม้ สิ้นหนทาง 30 วัน จึงเข้า เมืองหงสาวดี มีด่านบ้านพราหมณ์รายไปบ้าง สิ้นหนทางนั้น 30 วัน จึงถึงเมืองหงสาวดี สิ้นทาง ๒ เดือน กับ 21 วัน ทั้งหมดพากันไปพระอาราม เข้าไปนมัสการพระสังฆราชา
    วันรุ่งขึ้น พระสังฆราชาให้ปะขาวนำข้าหลวงทั้งปวงเข้าไปในพระอาราม ทำประทักษิณพระระเบียงรอบหนึ่ง พระระเบียงเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวยี่สิบเส้น ขื่อพระระเบียงยาวสองเส้นสิบวา มีพระพุทธรูปรายรอบ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งสิ้น เป็นพระพุทธรูปสูงสิบวา เสาพระระเบียงแปดเหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมวัดได้เก้าศอก สูงถึงท้องขื่อวัดได้ยี่สิบวา ก่ออิฐกระชับรักแล้วถือปูน หุ้มด้วยทองแดงหนาสามนิ้ว แปกลอนระแนงระเบียง ทำด้วยไม้แก่น พื้นพระระเบียงดาษด้วยดีบุกหนาสิบสองนิ้ว

    ReplyDelete
  16. วันรุ่งขึ้นปะขาวนำไปนมัสการพระมาลีเจดีย์ คือองค์พระมาลีเจดีย์ธาตุ เมื่อไปถึงตีนบันไดใต้พระมหาธาตุ วัดฐานได้สามสิบห้าเส้น ห้าวา ทั้งสี่ด้านยาว ร้อยสี่สิบเอ็ดเส้น บันไดขึ้นพระมาลีเจดีย์ทด้วยทองแดงตั้งลงกับอิฐ แม่บันไดใหญ่รอบสามกำ ประตูพระมหาธาตุกว้างสองเส้น สูงห้าเส้น มีหงส์ทองสี่ตัว ประชุมกันเป็นแท่นรอง พระพุทธรูปบนหลังหงส์สองร้อยองค์ แต่ล้วนทองคำทั้งแท่ง สูงสองศอก ข้อเท้าสงส์รอบสิบเอ็ดกำ ตัวหงส์สูง สิบหกศอก ทำด้วยทองคำทั้งแท่ง องค์พระมหาธาตุแผ่ทองคำเป็นแผ่นอิฐ หนาสามนิ้ว กว้างสามศอก ยาวห้าศอก ทองคำหุ้มองค์พระมหาธาตุขึ้นไปจนถึงยอด แล้วเอาลวดทองแดงร้อยหูกันเข้าเอาสายโซ่คล้องเข้าเป็นตาข่าย หุ้มรัดข้างหน่วงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ยอดพระมหาเจดีย์มีลูกแก้วใหญ่ได้ห้าอ้อมมัชฌิมบุรุษ ข้าหลวงทั้งปวงขึ้นแต่เชิงบันไดตั้งแต่เช้า ถึงประตูพระมหาเจดีย์ได้เวลาเที่ยงนมัสการแล้วกลับลงมาถึงเชิงบันไดก็พอค่ำ พื้นพระมาลีเจดีย์ซึ่งรองหงส์เหยียบอยู่นั้น ดาษด้วยแผ่นเงินหนาสามนิ้ว กว้างสามศอกเป็นสี่เหลี่ยม เหล็กกระดูกพระมาลีเจดีย์ที่ร้อยลูกแก้วใหญ่รอบสิบเอ็ดกำ พระมาลีเจดีย์สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.211 พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชเป็นผู้สร้างขึ้นไว้แต่เดิมก่อด้วยอิฐ แผ่นอิฐหน้าสี่ศอกหกนิ้ว กว้างห้าศอก ยาวห้าวาสองศอก
    วันรุ่งขึ้น ปะขาวนำไปนมัสการพระเชตุพนมหาวิหาร บันไดก่อด้วยอิฐกว้างได้สิบเจ็ดเส้นกับสิบวา แต่เชิงบันไดขึ้นไปบนถนนสิบห้าเส้น ถนนยาวได้สิบเจ็ดเส้นกับสิบวา ในพระเชตุพนชั้นในกว้างสามสิบเส้นกับสิบวา เสาก่อด้วยอิฐเป็นแปดเหลี่ยม แต่เหลี่ยมหนึ่งได้เจ็ดวา แต่ประตูพระเชตุพนเข้าไปจนถึงพระอาสนบัลลังก์ ที่ตรัสพระธรรมเทศนา วัดไว้ สิบเจ็ดเส้นกับสิบวา ด้านแปพระเชตุพนยาวได้ เจ็ดสิบห้าเส้น เสาสูงถึงท้องขื่อวัดได้ หนึ่งเส้นสิบวา พระรัตนบัลลังก์อยู่หว่างกลางห้อง พื้นบนดาษด้วยทองคำหนาสามนิ้ว มีพื้นลดลงมาอีกห้อง ดาษด้วยนากหนาสามนิ้ว พื้นลดลงมาอีกชั้นหนึ่งดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว รอบรัตนบัลลังก์ทั้งสี่ด้าน ที่อาสนสงฆ์กว้างสามเส้น พื้นดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว พื้นที่บริษัทนั่งดาษด้วยดีบุกหนาห้านิ้ว นับเสาพระเชตุพนได้ สามพันเสา มีกำแพงรอบพระเชตุพนสูงสิบวา จากพระเชตุพนมาถึงพระมาลีเจดีย์เป็นทางยี่สิบห้าเส้น
    พระสังฆราชาให้ปะขาวนำไปดูระฆังทองหล่อหนาสามสิบเอ็ดนิ้ว ปากกว้างห้าวาสองศอก สูงสิบเอ็ดวา ไม้ตีระฆังรอบสามกำ ยาวสามวา โรงระฆังสูงสิบห้าวา เสาไม้แก่น พระสงฆ์มีแต่อารามเดียวเท่านี้ มีบัญชีพระวรรณษาเป็นพระสงฆ์สองหมื่นกับสามองค์ พระสังฆราชาถามว่าพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยามีผ้าอันใด เป็นผ้าพระสมณสำรวม ขุนการเวกทูลว่าฝ่ายคันถธุระทรงผ้ารัตตกัมพลแดง ฝ่ายวิปัสนาทรงเหลือง พระสังฆราชาว่าในเมืองหงสาวดีนั้นทรงผ้าแดงทั้งสิ้น
    ขุนการเวกกับข้าหลวงอยู่ได้ประมาณยี่สิบห้าวันก็กลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแจ้งพฤติเหตุ ทรงพระราชทานรางวัล แล้วบรรดาผู้ที่มาด้วยกันทั้งสิ้นก็กราบถวายบังคมลาบวช

    ReplyDelete
  17. เรื่องพระยากง
    พระยากง ครองเมืองกาญจนบุรี อัครมเหสีทรงพระครรภ์ โหรทำนายว่าพระราชกุมารนี้มีบุญมาก ใจก็ฉกรรจ์จะฆ่าพระบิดาเสีย ตอนประสูติพระราชบิดาเอาพานรับพระราชกุมาร พระนลาฏกระทบของพานเป็นรอบอยู่เป็นสำคัญ พระยากงได้เอาพระราชกุมารไปฆ่าเสีย พระราชมารดาจึงลอบเอาพระราชกุมาร อายุสิบเอ็ดเดือนไปให้ ยายหอมเลี้ยงไว้ ครั้นเจริญวัยยายหอมเอากุมารไปให้พระยาราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมถามว่า เอาดอกไม้ทองเงินไปให้พระยากาญจนบุรีด้วยเหตุอันใด พระยาราชบุรีตอบว่าเพราะเป็นเมืองขึ้นของเขา ถ้าไม่ให้เขาจะว่าเป็นขบถ ต่อมาเมื่อถึงเวลาแล้วทางเมืองราชบุรี ไม่ส่งดอกไม้ทองเงินไปให้ พระยากงจึงเกณฑ์พลลงมาจะจับพระยาราชบุรีฆ่าเสีย พระยาราชบุรีให้บุตรบุญธรรมเป็นแม่ทัพ พระยากงก็ผูกช้างพลายมงคลเข้าโจมไ ล่ช้างพระกุมาร ช้างพระยากงเสียทีถูกพระราชกุมารจ้วงฟันตายกับคอช้าง พระราชกุมารขับพลรุกไล่ไปถึงเมืองกาญจนบุรีปล้นเอาเมืองได้ โหราปุโรหิตจึงยกพระราชกุมารขึ้นครองราชสมบัติ พระนาม พระยาพาน ครั้งเข้าปฐมยาม พระยาพานก็เข้าข้างใน ตั้งใจหมายจะสังวาสด้วยมารดา วิฬาร์แม่ลูก ลูกร้องจะกินนม แม่ห้ามไว้บอกว่า ดูลูกเขาจะเข้าหาแม่ พระยาพานก็สะดุดตกใจถอยออกมา ครั้นถึงทุติยยามก็กลับเข้าไปอีก ม้าแม่ลูกอยู่ที่ใต้ถุน ลูกร้องจะกินนม แม่ห้ามไว้บอกว่า ดูลูกเขาจะเข้าไปหาแม่ พระยาพานก็ตกใจถอยออกมา ครั้นถึงตติยยามก็กลับเข้าไปอีกถึงมารดา ๆ จึงถามว่า ท่านเป็นบุตรผู้ใด พระยาพานบอกว่า เป็นบุตรพระยาราชบุรี มารดาจึงบอกว่าเจ้านี้เป็นลูกของข้า เมื่อประสูติเอาพานรองรับ พระพักตร์กระทบพานเป็นรอยอยู่ บิดาให้เอาเจ้าไปฆ่าแม่จึงเอาไปฝากยายหอมไว้ พระยาพานได้สำคัญเป็นแน่ก็ทรงกันแสงว่า ได้ผิดแล้ว ตรัสว่ายายหอมหาได้บอกให้รู้ไม่ ก็ให้เอายายหอมไปฆ่าเสีย แร้งลงกินจึงเรียก ท่าแร้งมาจนบัดนี้
    เมื่อพระยาพานมีราชบุตร ทรงเสน่หาราชบุตรเป็นกำลังเมื่อคิดถึงที่ได้ฆ่าบิดาก็เสียพระทัยสลดลง ทรงพระดำริว่ายังเห็นอยู่แต่พระคิริมานนท์ พอจะส่องสว่างได้จึงได้อาราธนาพระคิริมานนท์กับพระองคุลิมาล ซึ่งได้พระอรหัต บรรลุธรรมพิเศษ มารับบิณฑบาตฉันในพระราชวังแล้วพระองค์ตรัสถามพระผู้เป็นเจ้าว่า พระองค์ได้ฆ่าบิดาเป็นความผิดนักหนา คิดจะหาความชอบจะเห็นเป็นประการใด พระมหาเถรทั้งสองถวายพระพรว่าเป็น ครุกรรมถึง ปิตุฆาต จะไปสู่มหาอเวจีช้านานนัก นี่หากว่ารู้สึกตัวว่าทำผิดคิดจะใคร่หาความชอบจะให้ตลอดไปนั้นมิได้ แต่ว่าจะบำบัดเบาลงสิบส่วนเท่า คงอยู่สักเท่าส่วนหนึ่ง ให้ก่อ พระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน จะค่อยคลายโทษลง พระยาพานจึงดำรัสสั่งเสนาบดีคิดการสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิน สร้างวัดเบื้องสูงท่าประธมพระวิหารสี่ทิศไว้พระจงกลมองค์หนึ่ง พระสมาธิทั้งสามด้าน ประตูแขวนฆ้องใหญ่ ปากกว้างสามศอกสี่ประตู ทำพระระเบียงรอบพระวิหาร แล้วบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วในพระเจดีย์ใหญ่เสร็จแล้ว ฉลองเล่นมหรสพครบเจ็ดวันเจ็ดคืน ให้ทานยาจกวรรณิพก แล้วให้บูรณะพระแท่นประสูติพระพุทธเจ้า ณ เมืองโกสินาราย
    จ.ศ.552 พระยาพานยกทัพขึ้นไป เมืองลำพูน ไปนมัสการพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าถึงสามปี แล้วยกทัพกลับ จึงปรายเงินทองต่างข้าวตอกดอกไม้ถวายพระบรมธาตุมาทุก ๆ ตำบล มาแต่เมืองลำพูน ลำปาง ลงมาทาง เดิมบางนางบวช จนถึง เมืองนครไชยศรีสิ้นเก้าปี รู้ทั่วกันว่าพระยาราชบุรีเป็นบิดาเลี้ยง จะมาจับ ก็ยกทัพหนีขึ้นไปยังประเทศราช เสนาบดีจึงเชิญขึ้นครองราชสมบัติสี่สิบปี สวรรคต จ.ศ.669
    มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง เสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลายยกพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติ ถวายพระนาม พระพรรษา ราษฎรเป็นสุขยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นมาได้เก้าสิบปี สร้าง วัดศรีสรรเพชญ์ วัดสวนหลวง เสด็จสวรรคต เมื่อ จ.ศ.906 พระรามบัณฑิตได้เสวยราชย์ ถวายพระนามสมเด็จพระรามพงษ์บัณฑิตย์อุดมราชาปิ่นเกล้าพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสแก่ขุนวิชาชำนาญธรรมเป็นนักปราชญ์ ว่าด้วยจุลศักราชนั้นมากำกับอยู่ด้วย พระพุทธศักราชนั้นหาควรไม่ไม่ พระพุทธจักรก็จะอยู่ในอำนาจอาณาจักร ประเพณีแปรปรวนไปทุกที จึงให้ยกจุลศักราชออกเสีย ให้ตั้งพระพุทธศักราชไว้เป็นกำหนดสืบไป พระพุทธศักราชล่วงได้ 955 พรรษา ศรีธนนไชยสร้าง วัดโลกสุธา พ.ศ.957 พระสังฆราชลงมาแต่เมืองหงสาวดีมาถามถึงอัตถกถาจะเสื่อมสูญหรือยังผู้ใดจะทรงไว้ได้ทั้งพระไตรปิฎก อยู่ วัดโพธิหอม
    ขณะนั้นองค์อินทร์เป็นเชื้อมาแต่พระยากาฬปักษ์ สร้าง วัดหน้าพระเมรุ ไว้เป็นหลักพระพุทธศาสนา จ.ศ.900 สวรรคต

    ReplyDelete
  18. เรื่องพระเจ้าอู่ทอง
    พระเจ้ากาแต เป็นเชื้อมาแต่นเรศว์หงษาวดี ได้มาบูรณะ วัดโปรดสัตว์ วัดภูเขาทอง วัดใหญ่ แล้วให้มอญน้อยออกไปสร้าง วัดสนามไชย แล้วมาบูรณะ วัดพระป่าเลไลย ในวัดลานมะขวิด แขวง เมืองพันธุมบุรี ขนานนามเมืองใหม่ว่า สองพันบุรี พระองค์อยู่ในราชสมบัติ 40 ปี จึงสวรรคต เมื่อปี จ.ศ.565
    พระยาอู่ทองกับพระเชษฐา พร้อมทั้งพระราชบุตรกับครอบครัวยกลงมาแต่เมือง ฉเชียงหลวง ลงมาถึงที่แห่งหนึ่งเห็นสงบเงียบ ก็ยกไปท้ายเมืองฝั่งใต้ ตั้งที่ประทับอยู่ที่นั้น ราษฎรนับถือว่าเป็นผู้มีบุญ ก็เข้ามาประชุมสโมสรพร้อมกัน แล้วยกขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงยกพระเชษฐาให้ครอง เมืองสุคันธคีรี พระเจ้าท้องลันเป็นปฐมกษัตริย์สืบมา พระยาสุคันธคีรีเจ้าเมืองเชียงใหม่ใคร่จะหาคู่ครองให้บุตร มีผู้บอกข่าวว่าบุตรพระยาอู่ทองคนหนึ่งงามดังนางสวรรค์ เจ้าไชยทัตใคร่จะได้นางมาเป็นคู่ครองจึงปลอมตัวลงมาพร้อมเข้าไชยเสน ผู้เป็นน้องลอบเข้าไปหานางถึงในวังหลวง แล้วลักลอบได้เสียกันจนนางมีครรภ์แก่ พระยาอู่ทองเห็นเหตุการณ์ผิดประหลาด จึงสั่งให้ทำลอบเหล็กดักไว้ที่ท่อน้ำ เจ้าไชยทัตไม่ทันรู้เลยติดลอบตาย พระยาอู่ทองเห็นเข้าก็เสียดาย ครั้นได้พบน้องชายที่มาด้วยสอบถามดูรู้ว่า เป็นราชบุตรพระเจ้าเชียงใหม่จึงให้ราชาภิเษกกับพระราชบุตรี
    ต่อมาพระยาอู่ทองให้หาชัยภูมิจะสร้างเมืองใหม่ จึงให้อำมาตย์ข้ามไปฝั่งที่เกาะตรงวังข้าม พบฤาษีรูปหนึ่งอยู่ในดงโสนริมหนองน้ำ ชื่อสัทธรรมโคดม ฤาษีจึงว่าเราอยู่ที่นี่นานมาแล้ว จะมาสร้างเมืองดีอยู่แล้ว ตนจะไปอยู่เขาแก้วบรรพต แต่ ณ ที่นี้เป็นกองกูณฑ์อัคคี หาเป็นที่ชัยภูมิไม่ ให้ไปข้างทิศหรดีเป็นชัยภูมิดี มีต้นหมันเป็นสำคัญอยู่ต้นหนึ่ง แล้วฤาษีว่าแก่เสนาบดีว่า จะมีกษัตริย์ไปภายหน้าเป็นอันมาก จะเป็นเมืองท่าสำเภา แต่จะเกิดยุทธนาการไม่รู้วาย (ต่อนี้เป็นเรื่องพระยาแกรก ที่กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น)
    เมื่อสิ้นบุญพระยาแกรกแล้ว กาลต่อมาอีกสามชั่วพระยา ยังแต่ผู้หญิงอันสืบตระกูล เศรษฐีสองคนคือ โชดกเศรษฐี กับ กาลเศรษฐี จึงคิดอ่านให้เอาท้าวอู่ทองลูกโชดกเศรษฐีประสมด้วยกันกับพระราชธิดาครองเมืองมาได้เจ็ดปี เกิดห่าลงเมือง ผู้คนล้มตายมาก พระองค์จึงอพยพออกจากพระนครไปทางด้านทิศทักษิณได้สิบห้าวัน ถึงแม่น้ำสายหนึ่ง และเห็นเกาะแห่งหนึ่งเป็นปริมณฑลงาม จะข้ามมิได้จึงให้ตั้งทัพตามริมน้ำ ครั้นได้เรือมาแล้วจึงข้ามไปที่เกาะ เห็นดาบสรูปหนึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ ดาบสแจ้งว่าอายุได้ 150 ปีแล้ว และอยู่ที่นี่มานาน เมื่อพระพุทธเจ้ามาถึงนี่ เราได้นิมนต์ให้นั่งบนตอตะเคียน แล้วถวายมะขามป้อม พระพุทธเจ้ามีพระพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่า ฐานที่นี้จะเป็นเมืองเรียกว่า ศรีอโยธยา พระยาทราบเรื่องแล้วยินดียิ่งนัก ไปเลียบดูที่จะตั้งพระราชวังกับเรือนหลวง และตั้งกำแพงกับค่ายคูไปรอบเมือง เสร็จแล้วจึงไปสู่เมืองพร้อมไพร่พล
    พระเจ้าอู่ทองครองเมืองศรีอโยธยาเป็นสุข มีพระราชบุตรสามองค์ ชื่อเจ้าอ้าย เจ้ายี่ และเจ้าสาม ท้าวพระยาทั้งหลายเกรงอานุภาพ เจ้าไปกิน เมืองนคร เจ้ายี่ไปกิน เมืองตะนาว เจ้าสามไปกิน เมืองเพชรบุรี

    ReplyDelete
  19. พระเจ้าอู่ทองมีพระราชบุตรองค์หนึ่ง พราหมณ์ทายว่าพระองค์จะได้บุตรเขยมาจากต่างเมืองข้างเหนือ
    เจ้าพัตตาสุจราช เสวยราชในเมืองสัชนาไลย มีพระราชกุมารสององค์ ชื่อเจ้าธรรมไตรโลก และบรมไตรโลก พระองค์มีพระชนมายุได้ 160 ปี ก็ทิวงคต เจ้าธรรมไตรโลกได้รับราชาภิเษกเป็นพระยาแทนบิดา ต่อมาพระองค์ได้ออกบรรพชาอุปสมบทที่ เมืองโอฆบุรี ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติ พระเจ้าโกรพราชสร้างอารามถวาย และสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศไว้ให้ชื่อว่า วัดจุฬามณี แต่นั้นมา
    พระยาสุคนธคีรีเจ้าเมืองพิชัยเชียงใหม่ มีพระราชบุตรสององค์ ชื่อเจ้าไชยทัตกุมาร และเจ้าไชยเสนกุมาร ทั้งสององค์ เป็นพระภิกษุขึ้นไปเรียนพระไตรปิฎกถึงเมืองพุกาม แล้วไปเรียนไตรเพทข้างไสยศาสตร์ จบแล้วกลับมาเมืองวิเท่ห์รื้อมาเมืองหงษา อาศัยอยู่อารามแห่งหนึ่งแล้วลองคุณความรู้ของตนลอบไปอุ้มพระราชธิดามาจากปราสาท ต่อมาพระเจ้าหงษาจับได้จะฆ่าเสีย ทั้งสองจึงได้ใช้วิชาที่เรียนมาหลบหนีเอาตัวรอดกลับมาได้ พระยาสุคนธคีรีอยากให้เจ้าไชยทัตมาเป็นพระยาแทน พระองค์จึงให้โหรมาทายรู้ว่าคู่อยู่ต่างเมือง และเขาเล่าลือกันว่าลูกสาวพระยาอู่ทองงามดังนางฟ้า เจ้าไชยทัตใคร่จะได้เป็นคู่ครอง ทั้งสองพี่น้องจึงเดินทางมาเมืองศรีอยุธยา โดยเจ้าไชยทัตบรรพชาเป็นสามเณร ส่วนเจ้าไชยเสนเป็นภิกษุอยู่แล้ว ทั้งสองมาอาศัยอยู่ในวัดใกล้พระราชวัง แล้วเจ้าไชยทัตลาเพศจากสามเณร แล้วลอบเข้าไปในวังเข้าหานางทุกวันจนนางทรงครรภ์แก่ พระเจ้าอู่ทองเห็นผิดสังเกต จึงให้ทำลอบเหล็กดักไว้ที่ท่อน้ำ
    เจ้าไชยทัตเคยประดาน้ำเข้าไปทุกวันก็ติดอยู่ในลอบเหล็กถึงแก่ความตาย พระเจ้าอู่ทองให้ค้นหาเพื่อนผู้ตาย ก็พบน้องชายเมื่อเอาตัวมาไต่ถามรู้ว่า เป็นราชบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ จึงให้เจ้าไชยเสนลาผนวช แล้วราชาภิเษกให้เป็นพระยา พระยาอู่ทองมีพระชนมายุได้ร้อยปีเศษก็ทิวงคต เมื่อปี พ.ศ.1600
    เจ้าไชยเสนได้เป็นพระยาในเมืองศรีอยุธยาราชธานีได้ 27 ปี พระราชกุมารเจริญวัย พระเจ้าไชยเสนผู้เป็นอาว์ จึงราชาภิเษกเจ้าสุวรรณกุมารเป็นพระยาแทนพระองค์ ส่วนพระองค์พร้อมราชเทวีพร้อมไพร่พลเป็นอันมากไปเมืองพิชัยเชียงใหม่ พระเจ้าสุคนธคีรีจึงราชาภิเษกเจ้าไชยเสนให้เป็นพระยาแทนพระองค์ ส่วนพระเจ้าสุวรรณราชามีพระราชธิดาสององค์ชื่อเจ้ากัลยาเทวี และเจ้าสุนันทาเทวี มีรูปงามดุจดังนางเทพธิดา

    ReplyDelete
  20. เรื่องพระบรมราชา
    พระเจ้าธรรมไตรโลกเสวยราชสมบัติ ณ เมืองสัชนาไลยราชธานี มีราชบุตรสามองค์ชื่อ พระธรรมราชา เจ้าบรมราชา และเจ้าราชาธิราช พระองค์ใคร่ที่จะให้พระธรรมราชาผู้เป็นพี่เป็นพระยา ต่อมาพระธรรมราชา กับพระบรมราชา ได้ร่วมกันไปขอพระราชธิดาพระเจ้าสุวรรณราชา ณ เมืองศรีอยุธยา พระองค์จึงพระราชทานนางทั้งสอง โดยให้นางกัลยาเทวีแก่พระธรรมราชา และนางสุนันทาเทวีแก่พระบรมราชา แล้วให้ทำกำแพงคนละครึ่งอยู่เป็นสุขในเรือนหลวง เมื่อพระเจ้าสุวรรณราชามีพระชนมายุได้ 98 ปี ก็ทิวงคต เจ้าธรรมราชาได้รับอภิเษกให้เป็นพระยา ครั้นสิ้นบุญพระเจ้าธรรมราชาผู้พี่แล้ว พระบรมราชาก็ได้รับราชาภิเษก เสวยราชสมบัติเมืองศรีอยุธยา พระอัครมเหสีประสูติราชบุตรคนหนึ่ง ได้พระนามว่า วรเชษฐกุมาร เมื่อพระชนม์ได้สิบหกปี พระองค์ใคร่มอบราชสมบัติให้แล้วพระองค์ออกผนวชที่วัดสมโณโกฏิ

    ReplyDelete
  21. ตำนานพระแก้วมรกต
    ยังมีพระอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งทรงนามว่า พระมหานาคเสน อันจบด้วยพระไตรปิฎก และมีปัญญาฉลาดลึกล้ำ รู้โวทนาแก้ปริศนาปัญหาทั้งปวง เป็นอาจารย์พระยามิลินทราช อยู่ที่ วัดอโสการาม ใน เมืองปาตลีบุตร เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงได้ ห้าร้อย พระวัสสา
    พระมหานาคเสนพิจารณาเห็นว่า เราควรจะสร้างพระพุทธรูปเจ้าไว้ให้เป็นที่นมัสการแก่มนุษย์ และเทพ แต่จะสร้างด้วยเงินหรือทองคำให้มั่นคงถึงห้าพันพระวัสสานั้นหาได้ไม่ ควรจะสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วลูกประเสริฐ
    สมเด็จพระอมรินทราธิราช คิดเห็นอัธยาศรัยแห่งพระมหานาคเสน จึงเสด็จมาพร้อมด้วยพระวิศณุกรรม เข้าไปไหว้พระมหานาคเสนแล้วว่า พระองค์จะช่วยสงเคราะห์ให้สมความปรารถนา โดยจะไปเอาแก้วอันมีในเขาเวมุลบรรพตมาถวาย แล้วพระองค์กัยพระวิศณุกรรมก็ไปที่เขาเวมุลบรรพต เห็นคนธรรพ์และกุมภัณฑ์ทั้งปวง จึงได้ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่าจะมาขอเอาแก้วลูกประเสริฐไปถวายพระนาคเสนเจ้าเพื่อสร้าง แปลงเป็นพระพุทธรูป พวกเขาเหล่านั้นจึงกราบทูลว่า แก้วลูกประเสริฐที่พวกเขารักษาไว้นี้เป็นแก้วมณีโชติ อันเป็นของพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ถ้าถวายแก้วนี้ไป ครั้นพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้ามาเกิด พวกตนก็จะหาแก้วลูกประเสริฐมาถวายท่านมิได้ แต่ว่าพวกตนจะถวายแก้วมรกตลูกหนึ่ง มีรัศมีอันเขียวงามบริสุทธิ์แก่พระองค์
    เมื่อพระองค์ได้แก้วมรกตมาแล้ว จึงนำไปถวายแก่พระมหานาคเสนเจ้า พระมหานาคเสนมาคำนึงในใจว่า เราจะได้ผู้ใดมาสร้างแปลงยังพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วมรกตลูกนี้ พระวิศณุกรรมรู้อัธยาศรัยแห่งพระมหานาคเสนเจ้าแล้วจึง จำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ อาสาทำงานนี้ พระมหานาคเสนเจ้าก็ยินดีให้ทำ พระวิศณุกรรมจำแลงก็สร้างแปลงพระพุทธรูป ด้วยแก้วมรกตลูกนั้นอยู่เจ็ดวันก็สำเร็จการ แล้วจึงนิมิตเป็นมหาวิหารอันใหญ่ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง มีแก้วเป็นประธาน ตั้งอยู่ในอโสการามนั้น ตั้งพระแก้วเหนือแท่นรัตนบัลลังก์กาญจน์ในท่ามกลางพระมหาวิหาร
    พระมหานาคเสนเจ้าจึงนำพระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์อันงามบริสุทธิ มีฉัพพรรณรังษีต่าง ๆ กัน ท่านจึงตั้งไว้ยังพานเงินเจ็ดพานซ้อนกัน ตั้งไว้ยังสุวรรณพานทองเจ็ดพานซ้อนกัน ตั้งยังพานแก้วเจ็ดพานซ้อนกันบนพานเงินพานทองนั้น แล้วจึงเชิญพระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์นั้นใส่ลงในผอบแก้วลูกหนึ่ง อันวิจิตรงามมาก ยกผอบแก้วขึ้นประดิษฐานไว้บนพานเงินพานทอง พานแก้วนั้น พระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์นั้นก็กระทำปาฏิหาริย์ เปล่งรัศมีหกประการ ให้รุ่งเรืองสว่างไปทั่วทิศทั้งสี่ ทิศทั้งแปด ก็ให้รุ่งขึ้นทั่วพื้นอากาศเวหาทั้งมวล

    ReplyDelete
  22. พระมหานาคเสนจึงตั้งสัตยาธิษฐานขออาราธนาเชิญพระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์นั้น ให้เสด็จเข้าไปในพระองค์พระแก้วเจ้านั้น พระบรมธาตุพระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระโมฬี พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าพระพักตร์ พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระหัตถ์กำขวา พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระหัตถ์กำซ้าย พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าข้างขวา พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าข้างซ้าย พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระชงฆ์แห่งพระแก้วเจ้า
    พระมหานาคเสนจึงเล็งอรหัตมรรคญาณไปแต่ข้างหน้านั้น จึงเห็นว่าพระแก้วนี้จะไม่ได้อยู่ในเมืองปาตลีบุตร ท่านจึงทำนายไว้ว่า พระแก้วเจ้าของเราองค์นี้ ท่านยังจะเสด็จไปโปรดสัตว์ในประเทศห้าแห่งคือ ลังกาทวีปเป็นกำโพชวิสัยแห่งหนึ่ง ศรีอยุธยาวิสัยแห่งหนึ่ง โยนกวิสัยแห่งหนึ่ง สุวรรณภูมิวิสัยแห่งหนึ่ง ปมหลวิสัยแห่งหนึ่ง
    ต่อมา ชาวเมืองปาตลีบุตร พร้อมใจกันปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วสืบมานานได้สามร้อยปี มาถึงพระเจ้าตะละกะได้ครองราชย์ในเมืองปาตลีบุตร มีราชโอรสนามเจ้าศิริกิตติกุมาร ได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แต่นั้นเกิดศึกสงครามในเมืองปาตลีบุตร คนทั้งปวงเห็นเหตุจะไม่ดีกลัวพระแก้วจะเสียหาย จึงเชิญเอาพระแก้วขึ้นสู่สำเภา พร้อมกับพระปิฎกธรรม พาหนีไปสู่ กัมโพชวิสัยคือ ลังกาทวีป พระแก้วอยู่ที่ลังกาได้สองร้อยปี พระพุทธศักราชได้หนึ่งพันวัสสา
    ครั้งนั้น กษัตริย์องค์หนึ่งพระนามพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ครองราชย์ที่เมืองพุกาม ท่านปฏิบัติรักษาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆเจ้าเป็นนิจ มีพระภิกษุเจ้าองค์หนึ่งนามว่าสีลขันธ์ มีปัญญาฉลาดนัก ต่อมาได้เดินทางไปสู่เมืองลังกาทวีปกับพระภิกษุแปดรูป พร้อมทั้งพระเจ้าอนิรุธราชาธิราช พระองค์ได้ขอเอาพระแก้วมรกตจากเจ้าพระนครลังกา ซึ่งเป็นพระสหาย ตอนเดินทางกลับสำเภาลำที่ใส่พระปิฎกธรรมของชาวลังกาไปถึงเมืองพุกามโดยสวัสดี แต่สำเภาลำใส่พระแก้วกับพระปิฎกธรรม อันชาวเมืองพุกามเขียนเองนั้น พลัดไปถึง เมืองอินทปัตมหานคร
    พระเจ้าอินทปัตมหานครได้พระแก้วมรกตแล้วก็ได้ทำการฉลองบูชาพระแก้วเป็นอันมาก แต่นั้นพระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองงามไปทั่วสกลชมพูทวีป ด้วยอานุภาพแห่งพระแก้วเจ้านั้น พระแก้วเจ้าตั้งอยู่ในเมืองอินทปัตมหานครนั้นได้หลายชั่วกษัตริย์ ต่อมาถึงกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามพระเจ้าเสนกราช ต่อมาพระองค์ได้ประพฤติไม่ชอบธรรม ให้ฆ่าบุตรของปุโรหิตผู้หนึ่งโดยผูกไปให้จมน้ำในสระแห่งหนึ่ง พระยานาคที่อาศัยอยู่ในสระนั้นเห็นเข้าก็โกรธจึงทำให้น้ำท่วมเมืองอินทปัต ผู้คนจมน้ำตายเป็นอันมาก พระเถรเจ้าองค์หนึ่งได้ยกเอาพระแก้วเจ้ากับพวกที่อยู่รักษาพระแก้วเจ้าขึ้นเรือสำเภาลำหนึ่ง หนีไปจากเมืองอินทปัตมหานคร ขึ้นไปสู่บ้านแห่งหนึ่งฝ่ายหนเหนือ

    ReplyDelete
  23. ยังมีกษัตริย์องค์หนึ่ง พระนามพระเจ้าอาทิตยราชได้ครองราชย์ใน กรุงศรีอยุธยา รู้ข่าวว่าเมืองอินทปัตมหานครน้ำท่วม ทรงกลัวว่าพระแก้วเจ้าจะเสียหาย พระองค์จึงเสด็จไปเมืองอินทปัตมหานคร พร้อมด้วยจัตุรงคเสนาเป็นอันมาก ครั้นไปถึงก็ให้สืบสวนได้พระแก้วเจ้าแล้ว ก็นำผู้คนที่สมัครกับพระแก้วเจ้าเป็นอันมาก เสด็จกลับพระนครศรีอยุธยา จัดการฉลองบูชาพระแก้วเจ้าได้เดือนหนึ่ง แล้วเชิญแห่เอาพระแก้วเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยเดชะอานุภาพพระแก้วเจ้า พระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองงามมากในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา พระแก้วเจ้าตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามาได้หลายชั้นพระมหากษัตริย์
    อยู่ต่อมาเจ้าพระยากำแพงเพชร ลงมาทูลขอพระแก้วเจ้าขึ้นไปไว้ใน เมืองกำแพงเพชร ต่อมาท่านก็ได้ราชบุตรคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยก็ตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองละโว้ อยากได้พระแก้วเจ้าไว้บูชา จึงมาสู่เมืองกำแพงเพชรขอพระแก้วเจ้าไปบูชา หลังจากได้นำไปบูชาได้ปีเก้าเดือนก็นำกลับมาส่งคืน
    ยังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาพรหมทัต ครองราชย์ในเมืองเชียงราย เป็นมิตรไมตรีกับพระเจ้ากำแพงเพชร อยากได้พระแก้วมรกตเจ้ามาบูชาในเมืองเชียงราย จึงมาขอจากเจ้าเมืองกำแพงเพชรผู้เป็นพระสหาย แล้วนำไปบูชาที่ เมืองเชียงราย อยู่ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นอาเกิด อริวิวาทกัน เจ้าเชียงใหม่ยกไปรบกับเมืองเชียงราย เมืองเชียงรายแพ้ ก็ให้เชิญพระแก้วเจ้ามาไว้ที่ เมืองเชียงใหม่ ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่าน แล้วเชิญพระแก้วเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทนั้น ในครั้งนั้นพระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองงามเป็นที่สุด ด้วยเดชานุภาพพระแก้วเจ้านั้น พระแก้วเจ้าอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2000
    อยู่ต่อมามีราชโอรสองค์หนึ่ง ของพระเจ้าวิชุนราช ครองราชย์ในเมืองศรีสันาคนหุต พระนามเจ้าโพธิสาร เมื่อเจริญวัยได้สิบห้าปี ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ได้ยินข่าวว่า พระเจ้าโพธิสารมีศักดานุภาพมาก มีพระราชโอรสสามองค์ พระนามเจ้าไชยเสษฐา เจ้าถินาวะ และเจ้าสีวละวงษา
    ฝ่ายเมืองเชียงใหม่หาตระกูลวงศาเจ้านายที่จะสืบแทนบ้านเมืองต่อไปไม่ได้ จึงพร้อมใจกันให้ราชทูตไปขอเจ้าไชยเสษฐา ให้มาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารก็ให้เจ้าไชยเชษฐา ซึ่งมีอายุได้สิบสองปีไปครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่ ทรงพระนามว่า พระไชยเสษฐาธิราช ต่อมาได้สามปีพระเจ้าโพธิสารก็ถึงแก่พิราลัยเมื่ออายุได้ สี่สิบสองปี เสนาอำมาตย์ราชบัณฑิตย์ และไพร่พลเมืองทั้งปวง พร้อมกันยกเอาเจ้ากิถนวะ ราชกุมารขึ้นครองราชย์ในเมืองศรีสัตนาคนหุต และยกเอาเจ้าศรีวรวงษาราชกุมารให้ไปเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรี แล้วแต่ทูตไปบอกข่าวพระเจ้าไชยเสษฐาในเมืองเชียงใหม่
    พระเจ้าไชยเสษฐา ฯ รับข่าวสารแล้วมาคิดวิตกว่า เมื่อพระองค์ไปแล้วไม่รู้ว่าจะกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่อีกช้านานเท่าใด จึงควรเชิญเอาพระแก้วเจ้าไปด้วย คิดได้ดังนั้นแล้วก็ให้ไปอาราธนาเชิญเอาพระแก้วเจ้า แล้วเสด็จมายังเมืองศรีสัตนาคนหุต เมืองถึงแล้วก็ให้เชิญเอาพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทที่พระแซกคำอยู่นั้น แล้วพระองค์ก็ประทับอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุตนานสามปี
    ฝ่ายทางเมืองเชียงใหม่ รออยู่สามปีเห็นพระเจ้าไชยเสษฐา ฯ ยังไม่กลับมาจึงสืบหาขัติยราชวงษา อันเป็นเนื่องแนวเชื้อสายกษัตริย์มาแต่ก่อน เห็นพระองค์องค์หนึ่งนาม พระเมกุฏิ อันเป็นราชวงษามาแต่ก่อน จึงอาราธนาให้ลาพรตแล้วทำพิธีขัติยราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัติริย์ครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่

    ReplyDelete
  24. ฝ่ายพระเจ้าไชยเสษฐา ฯ ทราบข่าวสารการขึ้นครองราชย์ของพระเมกุฏิก็ทรงกริ้วโกรธนัก จึงได้ยกทัพไปตีเอาเมืองเชียงแสนได้แล้ว ก็จะยกไปตีเมืองเชียงใหม่ต่อไป
    ฝ่ายพระเมกุฏิได้ยินข่าวดังกล่าวก็เกรงกลัว จึงยกเอาเมืองเชียงใหม่ไปถวายแก่เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองอังวะจึงยกทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเสษฐา ฯ ทราบเรื่องเกรงว่าศึกจะยืดเยื้อเป็นสงครามใหญ่ จึงให้ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนได้เก้าปี แล้วจึงเลิกทัพกลับลงมาเมืองศรีสัตนาคนหุต เห็นว่าเมืองคับแคบมีภูเขาไฟใหญ่น้อยอยู่มาก ควรไปสร้างแปลงที่อยู่ในที่อันกว้างขวาง พิจารณาดังนั้นแล้วจึงไปเอาพระแก้วเจ้า แล้วพาเอาเสนาบดีไพร่พลทั้งปวงไป เวียงจันทบุรี จัดการสร้างแปลงบ้านเมืองครองราชย์อยู่ ณ ที่นั้น ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่าน ประดับประดาด้วย แก้วและเงินดำเป็นอันงามบริสุทธิ์ แล้วให้เชิญเอาพระแก้วเจ้าและพระแซกดำเจ้า ขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทหลังนั้น แล้วพระองค์ให้สร้างพระเจดีย์ลูกหนึ่งไว้ฝ่ายตะวันออก ถัดเจดีย์พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชที่สร้างไว้แล้ว ให้กระทำพระเจดีย์น้อยสามสิบลูก ให้แวดวงเป็นบริวารทั่วทุกกำทุกพาย แล้วปลงพระนามพระมหาเจดีย์เจ้าว่า พระโลกจุฬามณีศรีเชียงใหม่

    ReplyDelete
  25. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
    พระราชพงศาวดารฉบับนี้ เดิมพระปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) แต่ยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ไปพบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่ง จึงขอมาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ.2450 กรรมการหอพระสมุดเห็นเป็นหนังสือพระราชพงศาวดารแปลกจากฉบับอื่น ๆ จึงให้เรียกชื่อว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐให้เป็นเกียรติยศแก่ผู้พบ
    หนังสือฉบับนี้ มีบานแพนกว่าเป็นหนังสือฉบับหลวง สมเด็จพระนารายณ์ ฯ มีรับสั่งให้แต่งขึ้นเมื่อปี จ.ศ.1042 กล่าวเนื้อความตั้งต้นแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพนัญเชิง เมื่อปี จ.ศ.686 ความค้างอยู่เพียง ปี จ.ศ.966 ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ เมื่อเตรียมทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ
    สมุดต้นฉบับที่ได้มาเป็นสมุดคำเขียนด้วยตังรง ฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่า ตัวหนังสือลบเลือนหลายแห่ง กรรมการหอสมุดให้พิมพ์พระราชพงศาวดารฉบับนี้ เมื่อปี พ.ศ.2450 เป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2456 หอสมุดได้หนังสือพระราชพงศาวดาร ความเดียวกับฉบับหลวงประเสริฐ ฯ มาอีกสองเล่มสมุดไทย เป็นฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นฉบับลอกจากเล่มของหลวงประเสริฐ ฯ เพราะที่สุดไปค้างอยู่คำต่อคำเหมือนฉบับหลวงประเสริฐ ฯ
    พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ฯ ความที่กล่าวเป็นอย่างย่อ ๆ แต่มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฎในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นออกไปอีกมาก ศักราชในฉบับนี้แม่นยำ และเชื่อได้แน่กว่าฉบับอื่น ๆ จึงเป็นหลักในการสอบหนังสือพงศาวดารได้เรื่องหนึ่ง

    ReplyDelete
  26. พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ
    ศุภมัสดุ 1042 ศก วอกนักษัตร (พ.ศ.2223) ณ วันพุธ ขึ้นสิบสองค่ำ เดือนห้า ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหรเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้น ให้คิดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้
    • จ.ศ.686 (พ.ศ.1867) แรกสถาปนา พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง
    • จ.ศ. 712 (พ.ศ.1893) วันศุกร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนห้า เพลารุ่งแล้ว สามนาฬิกา เก้าบาด แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุทธยา
    • จ.ศ.731 (พ.ศ1912) แรกสร้างวัดพระราม สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน พระราชกุมาร สมเด็จพระราเมศวรเจ้าราชสมบัติถิ จ.ศ.732 (พ.ศ.1913) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี
    • จ.ศ.733 (พ.ศ.1914) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเหนือ แลได้เมืองเหนือทั้งปวง
    • จ.ศ.734 (พ.ศ.1915) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า แลเมืองแสงเชราได้เมือง
    • จ.ศ.735 (พ.ศ.1916) เสด็จไปเมืองชากังราว พระยาใสแก้ว แลพระยารามคำแหงเจ้าเมืองชากังราว ออกรบต่อท่าน ๆ ได้ฆ่า พระยาไสแก้วตาย พระยารามคำแหงแลพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ แลทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา
    • จ.ศ.736 (พ.ศ.1917) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีมหาธาตุฝ่ายบูรพาทิศ หน้าบันสิงห์สูงเส้นสามวา
    • จ.ศ.737 (พ.ศ.1918) เสด็จไปเอาเมืองพิศณุโลก ได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัวอพยพมาครั้งนั้นมาก
    • จ.ศ.738 (พ.ศ.1919) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว พระยารามคำแหงแลท้าวผ่าดองคิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง และจะทำมิได้ ท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี จึงเสด็จยกทัพหลวงตาม ท้าวผ่าคองนั้นแตกจับได้ตัวท้าวพระยาแลเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก ทัพหลวงเสด็จกลับคืน
    • จ.ศ.740 (พ.ศ.1921) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว พระมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ เห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงออกถวายบังคม
    • จ.ศ.748 (พ.ศ1929) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ ให้ปล้นเข้าเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองลำภาง ๆ จึงออกมาถวายบังคม แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน
    • จ.ศ.750 (พ.ศ.1931) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว สมเด็จพระบรมราชาธิราชประชวรหนัก แลเสด็จกลับคืน ครั้งเถิงกลางทางสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน เจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาได้เจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ท่านจึงให้พิฆาตเจ้าทองลันเสีย
    • จ.ศ.757 (พ.ศ.1938) สมเด็จพระราเมศวรเจ้านฤพาน พระราชกุมารท่านเจ้าพระญาราม เสวยราชสมบัติ
    • จ.ศ.771 (พ.ศ.1952) สมเด็จพระยารามเจ้าพิโรธเจ้าเสนาบดี ให้จับกุมเจ้าเสนาบดี ๆ หนีรอด แลข้ามไปอยู่ฟากปท่าคูจาม เจ้าเสนาบดีจึงให้ไปเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้ามาแต่เมืองสุพรรณบุรี ว่าจะยกเข้ามาเอาพระนครศรีอยุธยาถวาย สมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาเถิง จึงให้เจ้าเสนาบดียกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครศรีอยุธยาได้ จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสวยราชสมบัติ ท่านจึงให้สมเด็จพญารามไปกินเมืองปท่าคูจาม
    • จ.ศ.781 (พ.ศ.1962) มีข่าวมาว่าพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล จึงเสด็จขึ้นเถิงเมืองพระบาง พญาบาลเมือง แลพญารามออกถวายบังคม
    • จ.ศ.786 (พ.ศ.1967) สมเด็จพระอินทราชาเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน เจ้าอ้ายพญา แลเจ้าญี่พญา พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สพานป่าถ่าน เถิงพิราลัยทั้งสองพระองค์ พระราชกุมารเจ้าสามพระยาได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สององค์ สวมที่เจ้าอ้ายพญา และเจ้าพญาญี่ชนช้างด้วยกัน เถิง อนิจภาพ ตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุณ
    • จ.ศ.793 (พ.ศ.1974) สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปเอาเมืองนครหลวงได้ จึงให้พระราชกุมารท่านพระนครอินทรเจ้า เสวยราชสมบัติเมืองนครหลวงนั้น จึงให้พญาแก้วพญาไทย แลรูปภาพทั้งปวงมายังพระนครศรีอยุธยา
    • จ.ศ.800 (พ.ศ.1981) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมเหยงคณ์ เสวยราชสมบัติ สมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เป็นพระราชกุมาร ท่านเสด็จไปเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้นเห็นน้ำพระเนตรพระพุทธเจ้าพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต
    • จ.ศ.802 (พ.ศ.1963) เกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร
    • จ.ศ.803 (พ.ศ.1984) เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข
    • จ.ศ.804 (พ.ศ.1985) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ เข้าปล้นเมืองมิได้ พอทรงพระประชวร ทัพหลวงเสด็จกลับคืน

    ReplyDelete
  27. • จ.ศ.806 (พ.ศ.1987) เสด็จไปปราบพรรค ตั้งทัพหลวงตำบลปะท้ายเขษม ได้เชลย 120000 ทัพหลวงเสด็จกลับคืน
    • จ.ศ.810 (พ.ศ.1991) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน พระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า
    • จ.ศ.813 (พ.ศ.1994) มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลิกทัพกลับคืน
    • จ.ศ.816 (พ.ศ.1997) คนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก
    • จ.ศ.818 (พ.ศ.1999) แต่งทัพไปเอาเมือง ลิสบทิน เสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโดน
    • จ.ศ.919 (พ.ศ.2000) ข้าวแพงเป็นทะนานละแปดร้อยเบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้อง และแปดร้อยนั้น เกียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งสิบบาท
    • จ.ศ.820 (พ.ศ.2001) ให้บุณพระสาสนาบริบุรณ์ หล่อรูปพระโพธิสัตว์ ห้าร้อยชาติ
    • จ.ศ.822 (พ.ศ.2002) เล่นการมหรศพฉลองพระ แลพระราชทานแก่สงฆ์ แลพราหมณ์ และพรรณิพกทั้งปวง ครั้งนั้นพระยาเชลียงคิดเป็นขบถ เอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช
    • จ.ศ.823 พระยาเชลียงนำมหาราชจะมาเอาเมืองพิศณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้เมือง จึงยกทัพเปรอไปเอาเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง มหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่
    • จ.ศ.824 (พ.ศ.2005) เมืองนครไทยพาเอาครัวอพยพหนีไปเมืองน่าน ให้พระยากลาโหมไปตามได้คืนมา แล้วพระยากลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า
    • จ.ศ.825 (พ.ศ.2006) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก ตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชา ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า แลสมเด็จพระอินทราชาเจ้า เสด็จไปกันเมือง และสมเด็จพระบรมราชาเจ้า ตีทัพพระยาเถียรแตก ทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร ท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร เป็นโกลาหลใหญ่ ข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียวนั้น ครั้งนั้นสมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์ แลทัพมหาราชเลิกกลับคืนไป
    • จ.ศ.826 (พ.ศ.2007) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี
    • จ.ศ.827 (พ.ศ.2008) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีได้แปดเดือน แล้วลาพระผนวช
    • จ.ศ.830 (พ.ศ.2011) พระมหาราชท้าวบุญชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก
    • จ.ศ.833 (พ.ศ.2014) ได้ช้างเผือก
    • จ.ศ.834 (พ.ศ.2015) พระราชสมภพ พระราชโอรสท่าน
    • จ.ศ.835 (พ.ศ.2016) หมื่นนครให้ลอกเอาทองพระเจ้ามาหุ้มดาบ
    • จ.ศ.836 (พ.ศ.2017) เสด็จไปเอาเมืองชเลียง
    • จ.ศ.837 (พ.ศ.2018) มหาราชขอมาเป็นไมตรี
    • จ.ศ.839 (พ.ศ.2020) แรกตั้งเมืองนครไทย
    • จ.ศ.341 (พ.ศ.2022) พระยาสีหราชเตโชถึงแก่กรรม
    • จ.ศ.842 (พ.ศ.2023) พญาล้านช้างเถิงแก่กรรม แลพระราชทานให้อภิเษกพญาซ้ายขาวเป็นพญาล้านช้างแทน
    • จ.ศ.844 (พ.ศ.2025) ท่านให้เล่นการมหรสพ ๑๕ วันฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์ มหาชาติคำหลวงจบบริบูรณ์
    • จ.ศ.845 (พ.ศ.2026) สมเด็จพระบรมราชเจ้าเสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย
    • จ.ศ.846 (พ.ศ.2027) สมเด็จพระเชษฐาธิราช แลสมเด็จพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ทรงพระผนวชทั้งสองพระองค์
    • จ.ศ.847 (พ.ศ.2028) พระราชโอรสท่านลาผนวช แลประดิษฐานพระองค์นั้นไว้ที่พระมหาอุปราช
    • จ.ศ.848 (พ.ศ.2029) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าไปวังช้าง ตำบลสัมฤทธิบูรณ
    • จ.ศ.849 (พ.ศ.2030) ท้าวมหาราชลูกพิราไลย
    • จ.ศ.850 (พ.ศ.2031) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย แลเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้น เกิดอุบาทว์หลายประการ.... นึ่งในปีเดียวกันนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกเสด็จนฤพาน ณ เมืองพิศณุโลก
    • จ.ศ.852 (พ.ศ.2033) แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิไชย
    • จ.ศ.853 (พ.ศ.2034) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จ พระรามาธิบดี

    ReplyDelete
  28. • จ.ศ.854 (พ.ศ.2035) ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุบรมธาตุ สมเด็จพระบรมไตรโลก แลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า
    • จ.ศ.858 (พ.ศ.2039) ท่านประพฤติการเบญจาพิศพระองค์ท่าน แลให้เล่นการดึกดำบรรพ์
    • จ.ศ.859 (พ.ศ.2040) ท่านให้ทำปฐมกรรม
    • จ.ศ.861 (พ.ศ.2042) แรกสร้างวิหาร วัดศรีสรรเพชญ์
    • จ.ศ.862 (พ.ศ.2043) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ์ ในวันอาทิตย์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนหก จ.ศ.865 (พ.ศ.2046) ฉลองพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ์ คณนาพระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดพระรัศมีนั้น สูงได้ แปดวา พระภักตร์นั้นยาวได้สี่ศอก กว้างสามศอก พระอุระกว้างสิบเจ็ดศอก พระหล่อหนักห้าหมื่นสามพันชั่ง ทองคำหุ้มหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง ข้างหน้านั้นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อหกน้ำสองขา
    • จ.ศ.877 (พ.ศ.2058) วันอังคาร ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จไปเมืองนครลำภาง ได้เมือง
    • จ.ศ.๘๘๐ (พ.ศ.๒๐๖๑) สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างพระศรีสรรเพชญ์ เสวยราชสมบัติแรกตำราพิชัยสงคราม แรกทำสารบาญชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง
    • จ.ศ.886 (พ.ศ.2067) ในเดือนเจ็ดนั้นคนทอดบาตรสนเทห์ ครั้งนั้นให้ฆ่าขุนนางเสียมาก
    • จ.ศ.887 (พ.ศ.2068) น้ำน้อย ข้าวเสียสิ้นทั้งปวง แผ่นดินไหวทุกเมือง เกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ รุ่งปี จ.ศ.888 (พ.ศ.2069) ข้างแพงเป็นสามทะนานต่อเฟื้อง เบี้ยแปดร้อย เกียนหนึ่งเป็นเงินชั่ง หกตำลึง ครั้งนั้นประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช ให้เสด็จไปครองเมืองพิศณุโลก
    • จ.ศ.891 (พ.ศ.2072)..... สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน สมเด็จพระอาทิตย์เจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จบรมราชาธิราชาหน่อพุทธางกูร ได้เสวยราชสมบัติ
    • จ.ศ.895 (พ.ศ.2076) สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านฤพาน สมเด็จพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัติ
    • จ.ศ.896 (พ.ศ.2077) พระราชกุมารท่านนั้นเป็นเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า
    • จ.ศ.900 (พ.ศ.2081) แรกให้พูนดิน ณ วัดชีเชียงในเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า แลพระเจดีย์เถิงเดือนสิบเอ็ดเสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน..... อนึ่งเมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพชรนั้นว่า พระญานารายณ์คิดเป็นขบถ ให้กุมเอาพระญานารายณ์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพชร
    • จ.ศ.907 (พ.ศ.2088) วันพุธขึ้นสี่ค่ำ เดือนเจ็ด สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่ ให้พญาพิศณุโลกเป็นทัพหน้า ตั้งทัพไชยตำบลบางบาน ณ วันเสาร์ ขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนเจ็ด จึงยกทัพหลวงไปกำแพงเพชร เถิงเมื่อวันอังคาร แรมเก้าค่ำ เดือนเจ็ด ตั้งทัพไชย ณ เมืองกำแพงเพชร ณ วันอาทิตย์ แรมสิบสี่ค่ำ เดือนเจ็ด ยกทัพไปตั้งเชียงทอง แล้วยกไปตั้ง ณ เมืองเชียงใหม่ เถิงวันอาทิตย์ขึ้นสี่ค่ำ เดือนเก้า ทัพหลวงเสด็จคืน จากเชียงใหม่ เถิงวันพฤหัสบดี ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเก้า ทัพหลวงเถิงเมืองกำแพงเพชร แล้วจึงเสด็จมายังพระนครศรีอยุธยา ฝ่ายพระนครศรีอยุธยา ในวันพุธ ขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสาม เกิดเพลิงไหม้อยู่สามวัน จึงดับได้ มีบาญเรือนเพลิงไหม้นั้น 10050 เรือน ณ วันอาทิตย์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระไชยราชา ฯ เสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ ให้พญาพิศณุโลกเป็นทัพหน้า ยกทัพหลวงเสด็จไปเมืองกำแพงเพชร แล้วยกไปเชียงใหม่ ได้เมืองลำพูนไชย เถิงวันจันทร์ แรมสิบห้าค่ำ เดือนสี่ยกทัพหลวงจากเมืองเชียงใหม่ มายังพระนครศรีอยุธยา
    • จ.ศ.908 (พ.ศ.2089) เดือนหก สมเด็จพระไชยราชานฤพาน สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาในปีนั้นแผ่นดินไหว

    ReplyDelete
  29. • จ.ศ.910 (พ.ศ.2091) ......เถิงวันอาทิตย์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนแปด สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ จึง ขุนชินราช ได้ราชสมบัติสี่สิบสองวัน ขุนชินราชและแม่ญั่ว ศรีสุดาจันทร์ เป็นเหตุ จึงเชิญ สมเด็จพระเธียรราชาธิราช เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เสวยราชสมบัติได้เจ็ดเดือน พระยาหงษาปังเสวกี ยกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือนสี่ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รบศึกหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ แลสมเด็จพระอรรคมเหษี และสมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าเศิก ถึงสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น เสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรไปแก่พญาหงษา แลจึงเอาพญาปราบ แลช้างต้นพญานุภาพ ตามไปส่งให้พระยาหงษาเถิงเมืองกำแพงเพชร แลพระยาหงษาจึงส่งพระมหาธรรมราชา ฯ สมเด็จพระราเมศวรเจ้า มายังพระนครศรีอยุธยา
    • จ.ศ.911 (พ.ศ2092) ......แรกให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยา
    • จ.ศ.912 (พ.ศ.2093) เดือนแปดขึ้นสองค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้า ตำบลท่าแดง พระกรรมวาจาเป็นพฤฒิบาศ พระพิเชฏฐ์เป็นอัษฎาจารย์ พระอินโทร เป็นกรรมการ
    • จ.ศ.914 (พ.ศ.2095) ให้แปลงเรือแซเป็นเรือไชยแลหัวสัตว์
    • จ.ศ.915 (พ.ศ.2096) เดือนเจ็ด แรกทำการพระราชพิธีมัธยมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ตำบลไชยนาทบุรี
    • จ.ศ.916 (พ.ศ.2097) เสด็จไปวังช้าง ตำบลบางลมุง ได้ช้างพลายพัง หกสิบช้าง ในเดือนสิบสองได้ช้างพลายเผือก ตำบลป่ากาญจนบุรี สูงสี่ศอกมีเศษ ชื่อพระคเชนโทรดม
    • จ.ศ.917 (พ.ศ.2098) ได้ช้างเผือกพลาย ตำบลป่าเพชรบุรี สูงสี่ศอกเศษ ชื่อพระแก้วพงบาศ
    • จ.ศ.918 (พ.ศ.2099) เดือนสิบสองแต่งทัพไปลแวก พญาองค์สวรรคโลก เป็นนายกอง ถือพลสามหมื่น ให้พระญามนตรี ถืออาชญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกียน ฝ่ายทัพเรือให้พญายาวเป็นนายกอง ครั้งนั้นลมพัดขัด ทัพเรือมิทันทัพบก และพญารามลักษณ์ ซึ่งเกณฑ์เข้าทัพบกนั้น เข้าบุกทัพในกลางคืน แตกมาประทัพใหญ่ ครั้งนั้นเสียพญาองค์สวรรคโลก นายกอง ช้างม้ารี้พลมาก
    • จ.ศ.919 (พ.ศ.2100) วันอาทิตย์ขึ้นค่ำ เดือนสี่ เกิดเพลิงไหม้พระราชวังมาก เดือนสามทำการพระราชพิธีอาจาริยาภิเศก แลทำการอินทราภิเศกในวังใหม่ เดือนสี่พระราชทานสัตสตกมหาทาน ให้ช้างเผือกพระราชทานมีกองเชิงเงินสี่เท้าช้างนั้นเป็นเงิน พันหกร้อยบาท พระราชทานรถเทียมด้วยม้า แลมีนางสำหรับรถนั้นเสมอรถเจ็ดนาง ในเดือนเจ็ดเสด็จไปวังช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพังหกสิบช้าง

    ReplyDelete
  30. • จ.ศ.921 (พ.ศ.2102) เสด็จไปวังช้างตำบลได้ช้างพลายพังสี่สิบช้าง
    • จ.ศ.922 (พ.ศ.2103) เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่ ได้ช้างพลายพังห้าสิบช้าง.....
    • จ.ศ.923 (พ.ศ.2104) พระศรีศิลป์บวชอยู่วัด แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลวังมดแดง พระสังฆราชวัดป่าแก้วให้พระศรีศิลป์ให้เข้ามาพระราชวัง ครั้งนั้นพญาสีหราชเดโชเป็นโทษรับพระราชอาชญาอยู่ จึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่าครั้นพ้นวันพระแล้วจะให้ลงพระราชอาชญาฆ่าพระญาสีหราชเดโชเสีย ขอให้เร่งยกเข้ามาให้ทันในวันพระนี้ พระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาในวันพฤหัสบดี แรมสิบสี่ค่ำ เดือนแปด เพลาเย็น ครั้นรุ่งขึ้นในวันพระ พระศรีศิลป์เข้าพระราชวังได้ ครั้งนั้นพระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น ครั้นรู้ว่าพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษแก่พระศรีศิลป์ ก็ให้เอาพระสังฆราชวัดป่าแก้วไปฆ่าเสีย
    • จ.ศ.924 (พ.ศ.2105) เสด็จไปวังช้าง ตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลายพังเจ็ดสิบช้าง
    • จ.ศ.925 (พ.ศ.2106) พระเจ้าหงษานิพัตรยกพลลงมาในเดือนสิบสอง ครั้งเถิงเดือนสองได้เมืองพิศณุโลก ครั้งนั้นเมืองพิศณุโลกข้าวแพงเป็นสามสัดต่อบาท คนทั้งปวงเกิดทรพิศน์ตายกันมาก พระเจ้าหงษาได้เมืองเหนือทั้งปวงแล้ว จึงยกพลลงมายังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุธยาออกเป็นพระราชไมตรี สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสองฝ่าย เสด็จมาทำสัตยาธิษฐาน หลั่งน้ำสิโนทก ตำบลวัดพระเมรุ พระเจ้าหงษาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรเจ้า แลช้างเผือกสี่ช้างไปเมืองหงษา ครั้งนั้นพญาศรีสุรต่าน พญาตานีมาช่วยรบศึก พญาตานีนั้นเป็นขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ ณ ท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไป ณ ทางตะแลงแกง ชาวพระนครเอาพวนขึงไว้รบด้วยชาวตานี ๆ นั้นตายมาก พญาตานีนั้นลงสำเภาหนีไปได้ ในปีเดียวนั้นพระเจ้าล้านช้างให้พระราชสาส์นมาถวาย ว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระเทพกษัตรเจ้า แลทรงพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระเทพกษัตรเจ้าทรงพระประชวร จึงพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีให้แก่พระเจ้าล้านช้าง
    • จ.ศ.926 (พ.ศ.2107) พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้า ฯ ลงมาส่งยังพระนครศรีอยุธยา แลจึงพระราชทาน สมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง พระเจ้าหงษารู้เนื้อความทั้งปวงจึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง ชิงเอาสมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าไปถวายพระเจ้าหงษา
    • จ.ศ.930 (พ.ศ.2111) ในเดือนสิบสองพระเจ้าหงษายกพลมาแต่เมืองหงษา ครั้นเถิงวันศุกร์ขึ้นค่ำ เดือนอ้าย พระเจ้าหงษามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ประชวรนฤพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการศึก แต่พระเจ้าลูกเธอศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระทัยใส่ เสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ไม่ไว้พระทัย ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม

    ReplyDelete
  31. ครั้งนั้น การเศิกซึ่งรักษาพระนครก็คลายลง ครั้น จ.ศ.931 (พ.ศ.2112) ณ วันอาทิตย์ แรมสิบเอ็ดค่ำ เดือนเก้า เพลารุ่งแล้ว ประมาณสามนาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงษา ครั้นถึงวันศุกร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ทำการปราบดาภิเษก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยา อนึ่ง เมื่อพระเจ้าหงษาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงษานั้น เอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าไปด้วย
    • จ.ศ.932 (พ.ศ.2113) พญาลแวกยกพลมายังพระนครศรีอยุธยา ยืนช้าง ตำบลสามพิหาร ได้รบพุ่งกัน ขางในเมืองพระนครยิงปืนออกไปต้อง พญาจัมปาธิราชตายกับคอช้าง พญาลแวกเลิกทัพกลับไป
    • จ.ศ.933 (พ.ศ.2114) สมเด็จพระนารายน์บพิตรเป็นเจ้าเสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก
    • จ.ศ.934 (พ.ศ.2115) น้ำน้อยนัก
    • จ.ศ.935 (พ.ศ.2116) น้ำน้อยเป็นมัธยม
    • จ.ศ.936 (พ.ศ.2117) น้ำมากนัก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระประชวรทรพิศม์
    • จ.ศ.937 (พ.ศ.2118) พญาลแวกยกทัพเรือมายังพระนคร ฯ ในวันเสาร์ขึ้นสิบค่ำ เดือนอ้าย ชาวเมืองลแวกตั้งทัพเรือ ตำบลพแนงเชิง ได้รับพุ่งกัน เศิกลแวกต้านมิได้ เลิกทัพกลับไป จับเอาคน ปากใต้ไปครั้งนั้นมาก ปีนั้นน้ำ ณ กรุงศรีอยุธยาน้อย
    • จ.ศ.940 (พ.ศ.2121) พญาลแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรีมิได้เมือง ครั้งนั้น พระยาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองลแวก มาสู่พระราชสมภาร อยู่มาก็หนีกลับคืนไปเมือง
    • จ.ศ.942 (พ.ศ.2123) รื้อกำแพงกรุงพระนครออกไปตั้งเถิงริมแม่น้ำ
    • จ.ศ.943 (พ.ศ.2124) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคม คิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก แลยกมาจากเมืองลพบุรี ยืนช้างอยู่ ตำบลหัวตรี บรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้น ยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง ในปีนั้นมีหนังสือมาแต่เมืองหงษา ว่าปีมะเส็งตรีนิศกนี้อธิกมาศมิได้ ฝ่ายกรุงพระนคร ฯ นี้มีอธิกมาศ อนึ่งในวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ เดือนยี่ ข่าวมาว่าพระเจ้าหงษานฤพาน อนึ่งในเดือนสามนั้น พญาลแวกยกพลมาเอาเมืองเพชรบุรี เสียเมืองเพชรบุรีแก่พญาลแวก
    • จ.ศ.944 (พ.ศ.2125) พญาลแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลาย ด่านตวันออก
    • จ.ศ.945 (พ.ศ.2126) เกิดเพลิงไหม้แต่จวนกลาโหม ลามไปเถิงในพระราชวัง ลามไหม้ไปเมืองท้ายเมือง ครั้งนั้นรู่ข่าวมาว่าข้างหงษาทำทางมาพระนคร ฯ
    • จ.ศ.946 (พ.ศ.2127) สมเด็จพระนารายณ์ เป็นเจ้าเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิศณุโลก รู้ข่าวมาว่าเจ้าหงษากับเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยเศิกพระเจ้าหงษา....ครั้นเถิง ณ วันพุธ แรมเก้าค่ำ เดือนห้า เสด็จออกตั้งทัพไชย ตำบลวัดยม เมืองกำแพงเพชร วันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปเถิงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนคร ฯ ....ในปีนั้นให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวงมายังกรุงพระนคร ฯ ในปีเดียวนั้น พระยาหงษาให้ พระเจ้าสาวถี แล พญาพสิมยกพลมายังกรุงพระนคร แลวันพุธ ขึ้นสองค่ำ เดือนยี่ เพลาเที่ยงคืนแล้ว สองนาฬิกาเก้าบาด เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพ ตำบลสามขนอน ครั้งนั้นเศิกหงษาแตกพ่ายหนีไป
    • จ.ศ.947 (พ.ศ.2128) พระเจ้าสาวถียกพลลงมา ตั้งทัพ ตำบลสะเกษ ตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนยี่ ถึงเดือนสี่ ครั้นเถิงวันพุธ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนห้า เวลารุ่งแล้วสี่นาฬิกาบาด เสด็จพยุหบาตราตั้งทัพไชย ตำบลหล่มพลี ณ วันเสาร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนห้า เสด็จจากทัพไชยโดยทางชลมารคไปทาง ป่าโมก ....ครั้นเถิงวัน พฤหัสบดี แรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีป ออกดาช้างม้าทั้งปวงอยู่ ณ ริมน้ำ แลพระอาทิตย์ทรงกลด รัศมีกลดนั้น ส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่ง ครั้งนั้นตีทัพเจ้าสาวถี ซึ่งตั้งอยู่ตำบลสะเกษแตกพ่ายไป ในปีเดียวนั้นมหาอุปราชยกพลมาโดยทางกำแพงเพชร ตั้งทำนาอยู่ที่นั่น

    ReplyDelete
  32. • จ.ศ.948 (พ.ศ.2129) วันจันทร์ แรมแปดค่ำ เดือนสิบสอง พระเจ้าหงษางาจีสยาง ยกพลลงมาเถิง กรุงพระนคร ฯ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนยี่ เข้าล้อมพระนคร ตั้งทัพ ตำบลขนอนปากคู แลทัพมหาอุปราชตั้ง ขนอนบางตนาว ทัพทั้งปวงตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พระเจ้าหงษาเลิกทัพคืนไปใน วัน จ.ศ.949 (พ.ศ.2130) วันจันทร์ แรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า เสด็จโดยทางชลมารค ไปตีทัพมหาอุปราชแตกพ่ายไปตั้งอยู่ ณ บางกระดาน วันศุกร์ แรมสิบเอ็ดค่ำ เดือนหก เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพมหาอุปราช แตกพ่ายไป วันพฤหัสบดี ขึ้นค่ำ เดือนเจ็ด เสด็จพระราชดำเนินพยุหบาตรา ออกตั้งทัพไชย ณ วัดเดชะ ตั้งค่ายขุดคูเป็นสามารถ วันพฤหัสบดี ขึ้นแปดค่ำ เดือนเจ็ด เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงษา ๆ ต้านมิได้ก็เลิกทัพไปตั้ง ณ ป่าโมกใหญ่ วันจันทร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนสี่ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพข้าเศิก ๆ นั้นแตกพ่าย และไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงษานั้น วันอังคาร แรมสิบค่ำ เดือนสี่ เสด็จพระราชดำเนินออกตั้งเป็นทัพซุ่ม ณ ทุ่งหล่มพลี ออกตีทัพข้าเศึก ได้รบพุ่งตลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง ทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย ข้าเศึกแตกพ่ายเข้าค่าย แลไล่แทงฟันข้าเศึกเข้าไปจนถึงน่าค่าย วันจันทร์ แรมสิบค่ำ เดือนสาม เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง เสด็จยกทัพเรือออกไปตีทัพพระยานคร ซึ่งตั้งอยู่ ณ ปากน้ำมุทเลา เข้าตีทัพเถิงในค่าย ข้าเศิกพ่ายหนีจากค่าย แลเผาค่ายข้าเศิกเสียสิ้น พระเจ้าหงษาก็เลิกทัพคืนไป พระญาลแวกมาตั้ง ณ บางซาย ครั้งนั้นเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวง ณ บางกระดาน วันพฤหัสบดี ขึ้นค่ำ เดือนสาม เพลาอุษาโยค เสด็จพยุหบาตรา จากบางกระดานไปตั้งทัพไชย ณ ซายเดือง แล้วเสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก
    • จ.ศ.950 (พ.ศ.2131) วันจันทร์ แรมแปดค่ำ เดือนสิบสอง แผ่นดินไหว
    • จ.ศ.951 (พ.ศ.2132) ข้าวแพงเป็นเกียนละสิบตำลึง ปิดตราพญานารายณ์กำชับ วันศุกร์ แรมเจ็ดค่ำ เดือนยี่ แผ่นดินไหว
    • จ.ศ.952 (พ.ศ.2133) วันอาทิตย์ แรมสิบสามค่ำ เดือนแปด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน วันอังคาร แรมสองค่ำ เดือนสิบสอง มหาอุปราชา ยกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพญาพสิม ตำบลจรเข้สามพัน
    • จ.ศ.954 (พ.ศ.2135) วันศุกร์ แรมสองค่ำ เดือนสิบสอง อุปราชายกมาแต่เมืองหงษา ณ วันเสาร์ แรมค่ำ เดือนอ้าย..... ครั้งเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาเถิง แดนเมืองสุพรรณบุรี ตั้งทัพตำบลพังตรุ วันอาทิตย์ขึ้นเก้าค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว สี่นาฬิกาสองบาด เสด็จพยุหบาตรา โดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลมะม่วงหวาน วันพุธขึ้นสิบสองค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว สองนาฬิกาเก้าบาด เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค เมื่อใกล้รุ่ง เห็นพระสารีริกธาตุ ปาฏิหารไปโดยทางที่จะเสด็จนั้น วันจันทร์แรมสองค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ห้านาฬิกา สามบาด เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยนุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชา ตำบลหนองสาหร่าย .....เมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน แลเอาขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้น พระยาไชยนุภาพ ..... พระราชทานชื่อเจ้าพระยาปราบหงษา
    • จ.ศ.955 (พ.ศ.2136) วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ เสด็จเถิงพระมหาปราสาท ทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เอามอญเผาเสียประมาณร้อย วันศุกร์ขึ้นสิบค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว สามนาฬิกา หกบาด เสด็จพยุหบาตราไปเอาเมืองละแวก ตั้งทัพไชยตำบลบางขวด เสด็จครั้งนั้นได้ตัวพญาศรีสุพรรณ ในวันพุธ แรมค่ำ เดือนสี่
    • จ.ศ.956 (พ.ศ.2137) ยกทัพไปเมืองสโตง
    • จ.ศ.957 (พ.ศ.2138) วันอาทิตย์ ขึ้นสามค่ำ เดือนอ้าย เพลารุ่งแล้ว สามนาฬิกา เก้าบาด เสด็พยุหบาตราไปเมืองหงษา ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลมะม่วงหวาน เถิงวันจันทร์ แรมสิบสามค่ำ เดือนสี่ เพลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นเมืองหงษามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา

    ReplyDelete
  33. • จ.ศ.958 (พ.ศ.2139) วันอังคาร ขึ้นสี่ค่ำ เดือนหก ลาวหนีขุนจ่าเมืองรบลาว ตำบลตะเคียนด้วน
    • จ.ศ.961 (พ.ศ.2142) วันพฤหัสบดี ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนสิบเอ็ด เพลารุ่งแล้ว สองนาฬิกา แปดบาด เสด็จพยุหบาตราไปอยู่เมืองตองอู ฟันไม้ข่มนาม ตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลวัดตาลวันพุธขึ้นสิบค่ำ เดือนสี่ เสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองตองอู ทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณสามสิบเส้น ตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเป็นอันมาก วันพุธ แรมหกค่ำ เดือนหก ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนคร ฯ
    • จ.ศ.963 (พ.ศ.2144) เดือนเจ็ดมีสุริยุปราคา ในปีนั้นรับพระอิศวร แลพระนารายน์เป็นเจ้า ไปถวายพระพรพร้อมกันวันเดียวกันทั้งสี่คานหาม
    • จ.ศ.964 (พ.ศ.2145) เสด็จไปประพาสลพบุรี
    • จ.ศ.965 (พ.ศ.2146) ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้
    • จ.ศ.966 (พ.ศ.2147) วันพฤหัสบดี แรมสามค่ำ เดือนยี่ เสด็จพยุหบาตรา จากป่าโมกโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพไชยตำบลพระหล่อ วันนั้นเป็นวัน อูน แลเป็นสงกรานต์ พระเสาร์ไปราษีธนูเป็นองษาหนึ่ง ครั้งนั้นครั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองหลวงตำบลทุ่งดอนแก้ว
    หมายเหตุ พงศาวดาร คือ การบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง ที่ทางราชสำนักเป็นผู้บันทึกขึ้นโดยจะไม่มีความคิดเห็นของผู้บันทึกสอดแทรกเข้าไปมากนัก ดังนั้นพงศาวดารจึงมักจะเป็นตัวตั้งเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในขณะที่หลักฐานอย่างอื่นมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถนนสายเดิมอาจจะกลับกลายเป็นป่ารกชัฏ เจดีย์ วิหาร และเมืองเก่าอาจจะเปลี่ยนรูปไปเป็นตึกสูงใหญ่ระฟ้าหรือศูนย์การค้ากลางเมืองไปแล้วก็ได้ แต่ข้อมูลในพงศาวดารยังมีปรากฏให้สืบค้นได้

    ReplyDelete