Friday 13 July 2012

พระสุบินนิมิต 16 ประการ

พุทธทำนาย พระสุบินนิมิต 16 ประการ
พุทธทำนายในที่นี้ จะกล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายพระสุบิน (ความฝัน) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล จำนวน 16 ข้อ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า เหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้น ในยุคสมัยที่ศาสนาได้เสื่อมลง ซึ่งหลายอย่างได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เนื้อความดังกล่าวปรากฏใน อรรถกถาพระไตรปิฎก มหาสุบินชาดก เอกนิบาตชาดก ขุททกนิกาย มีเนื้อความดังต่อไปนี้
1.โคอุสุภราชทั้งหลาย
2. ต้นไม้ทั้งหลาย
3. แม่โคทั้งหลาย
4.โคทั้งหลาย
5. ม้า
6. ถาดทอง ๑
7. สุนัขจิ้งจอก
8. หม้อน้ำ
9. สระโบกขรณี
10. ข้าวไม่สุก
11. แก่นจันทน์
12. น้ำเต้าจม
13. ศิลาลอย
14. เขียดหยอกงู
15. หงส์ทองล้อมกา
16. เสือกลัวแพะ

..........................................................................................
สุบินนิมิตข้อที่ 1 : ภัยธรรมชาติ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นโคล่ำสัน 4 ตัว วิ่งมาจากทิศทั้ง 4 มีลักษณะอาการเกรี้ยวกราด ประดุจจะชนกัน ด้วยความโกรธแค้นกันมานาน พอโคทั้ง 4 วิ่งเข้ามาใกล้กันแล้ว กลับถอยห่างออกจากกันไป ไม่ชนกันเลย
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น จะเกิดภัยธรรมชาติขึ้น คือ ฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล จะมีก้อนเมฆขนาดใหญ่ลอยมาจากทิศทั้ง 4 เหมือนกับฟ้าฝนจะตกลงมาในพื้นปฐพีอย่างหนัก เมื่อก้อนเมฆทั้ง 4 ลอยเข้ามาใกล้กันแล้ว ก็ลอยถอยห่างออกจากกันไป ไม่มีฝนตกลงมาในพื้นปฐพีเลย
สุบินนิมิตข้อที่ 2 : เยาวชนมั่วสุมเสพกาม
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นต้นไม้นานาชนิด ยังไม่ใหญ่โตพอที่จะมีดอกมีผล แต่ต้นไม้นั้นเต็มไปด้วยดอกและผล จนกิ่งก้านสาขาจะรอรับดอกผลนั้นไม่ไหว
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น กุมารีที่มีวัยยังไม่สมควรจะมีสามี แต่กุมารีนั้นอยากแต่งงานให้เป็นครอบครัว เพราะมีความกระสัน ใฝ่ฝันในราคะตัณหา ใจมีความกำเริบในกามคุณ มีความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอย่างมาก มีความอยากในกามารมณ์แห่งความรักความใคร่ จึงได้แต่งงานกันเมื่ออายุยังวัยเด็ก ถูกต้องตามประเพณีนิยม บางคนมั่วสุมกัน ไม่มีความละอาย เยี่ยงสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็หาวิธีฆ่าลูกในท้องของตัวเอง จึงเป็นบาปกรรมต่อไปในภายภาคหน้ายิ่งนัก เด็กบางคน ยังมีพ่อแม่เลี้ยงดูอยู่บ้าง เด็กบางคนพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ไหว จึงได้ปล่อยปละละเลยให้หาขอทานกินตามลำพัง เป็นเด็กเร่ร่อนจรจัด ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีตระกูล ไม่มีการศึกษา ไม่มีที่พึ่งพาอาศัยในบ้านเรือน ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น อดบ้าง อิ่มบ้าง น่าเวทนายิ่งนัก เหตุการณ์อย่างนี้ จะมีในภายภาคหน้าโน้นใครได้ไปเกิดในยุคนั้น สมัยนั้น ก็จะต้องเจอเหตุการณ์อย่างนี้แล
สุบินนิมิตข้อที่ 3 : พ่อแม่ต้องเอาใจลูก
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิต เห็นฝูงพ่อแม่โคทั้งหลายพากันดูดกิน นมลูกของตัวเอง
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น พ่อแม่ทั้งหลาย จะได้อาศัยกินหยาดเหงื่อแรงงานของลูก อาศัยข้าวปลาอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ลูกแสวงหามาเลี้ยงดู พร้อมทั้งเงินทอง ก็ต้องแบ่งปันให้พ่อแม่ได้จับจ่ายใช้สอย ในยุคนั้นสมัยนั้น พ่อแม่ก็ต้องเอาอกเอาใจลูกยิ่งนัก ต้องประจบประแจงปะเหลาะลูกอยู่เสมอ ถ้าพูดต่อลูกดีๆ ลูกก็แบ่งปันเงินทองให้ได้ใช้บ้าง ถ้าพ่อแม่พูดไม่ดี ก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งอะไรจากลูกนี้เลย เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
สุบินนิมิตข้อที่ 4 : ผู้อ่อนประสพการณ์บริหารประเทศ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นฝูงคนทั้งหลายพากันจับลูกโคตัวเล็กๆ เข้ามาเทียมแอกเพื่อลากล้อเกวียน เมื่อลากไปไม่ไหว ก็จะพากันเฆี่ยนตี
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนทั้งหลายจะพากันนิยมเอาเด็กที่จบปริญญามาใหม่ๆ ไปรับราชการแผ่นดิน บริหารการพัฒนาประเทศชาติ บ้านเมือง อันเป็นงานที่หนัก ถึงจะมีความรู้อยู่ก็ตาม แต่เด็กนั้นยังขาดประสบการณ์ ขาดความสามารถ ขาดความรอบรู้ ขาดความรอบคอบ ในการบริหารเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม จึงเกิดความผิดพลาด ล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ขาดความรับผิดชอบ ขาดดุลการค้า ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทำให้ถ่วงความเจริญของประเทศชาติ ทำให้คนดุด่าว่ากล่าวนานาประการ เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น

สุบินนิมิตข้อที่ 5 : ความไม่เป็นธรรมในการตัดสินความ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นม้าตัวเดียว หัวเดียว มีสองปาก กินหญ้าได้สองทาง กินเท่าไรก็ไม่มีความอิ่มพอ
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนผู้มีหน้าที่ตัดสินคดีความต่างๆ จะใช้อุบายวิธีอันมีเล่ห์เหลี่ยม เพื่อเอาเงินจากคู่กรณีทั้งสอง เอาทั้งฝ่ายโจทก์ เอาทั้งฝ่ายจำเลย เพื่อเป็นค่าจ้างรางวัลในการวินิจฉัยคดีความบ้าง เอาค่านั้นบ้าง เอาค่านี้บ้าง ถ้าไม่ได้ตามความเรียกร้อง ก็จะไม่รับเรื่องที่มาร้องเรียน ต้องการเท่าไรก็เรียกร้องตามใจชอบ ถ้าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เรียกร้องเอาน้อย ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็จะเรียกร้องเอาเงินอย่างเต็มที่ แล้วจึงจะมาวินิจฉัยคดี ตัดสินต่อไป เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีภายภาคหน้าทั่วโลก

สุบินนิมิตข้อที่ 6 : พระธรรมคำสอนถูกเหยียบย่ำ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นมีหมู่มนุษย์ ถือถาดทองคำอันมีค่ามหาศาล ไปวางไว้สุนัขจิ้งจอกถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะใส่
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น กลุ่มคนที่โง่เขลาปัญญาทราม จะเอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ไปให้ลัทธิต่างๆ เหยียบย่ำทำลาย แล้วถ่ายทอดลัทธิของเขา เอาคำสอนของเขาที่สกปรกโสโครกด้วยกิเลสตัณหา มากลบเกลื่อนในคำสอนของเรา แล้วดัดแปลงแก้ไขคำสอนของเรา ให้เข้ากันกับลัทธิของเขา แล้วประกาศว่า คำสอนของเราตถาคต เป็นส่วนหนึ่งในลัทธิของเขา ให้คนทั้งหลายมีความเข้าใจผิดว่า คำสอนของเราเข้ากันได้กับของเขา ถือว่าเป็นอันเดียวกัน ลัทธิเหล่านั้นก็จะไม่รู้คุณค่าของคำสอนของเราตถาคตแต่อย่างใด มนุษย์อย่างนี้ก็จะมีในเมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้ว และจะมีลัทธิต่างๆ มาอวดอ้างว่าเป็นศาสนาเป็นจำนวนมาก

สุบินนิมิตข้อที่ 7 : ผู้มีใจต่ำแอบอ้างสถาบันกษัตริย์
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นชายคนหนึ่ง เอาหนังสือมานั่งฟั่นให้เป็นเชือก อยู่บนม้านั่ง แล้วมีสุนัขจิ้งจอกคอยกัดกินอยู่ เมื่อฟั่นเชือกเสร็จ สุนัขจิ้งจอกก็กินหมดทันที
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนผู้มีจิตใจต่ำ ปัญญาทราม จะได้รับสมมุติ ยกย่องขึ้นเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ นั่งทำงานอยู่ในพระราชสำนักระดับสูง อาศัยอำนาจ พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์อยู่เนืองนิตย์ โดยมีความโง่เขลาเบาปัญญา พูดจาขาดความสำรวม กล่าวเปิดเผยความลับต่างๆ ในพระราชสำนัก ให้หมู่ประชาชนได้รู้ คนลัทธิต่างๆ ที่ไม่มีความหวังดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ได้ยินเข้า จึงนำเอาไปตีแผ่ โฆษณาให้คนอื่นคลายศรัทธา หมดความเคารพในวงศ์พระมหากษัตริย์ และหมดความเชื่อถือในพระราชวงศ์ต่อไป เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้นคนที่ไม่มีความหวังดีต่อพระมหากษัตริย์ จะเป็นหนอนบ่อนไส้เสียเอง

สุบินนิมิตข้อที่ 8 : ทำบุญเลือกหน้า
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นโอ่งน้ำใหญ่และโอ่งน้ำเล็กตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน แล้มีทคนทั้งหลาย แย่งกันตักน้ำ เทใส่โอ่งน้ำใหญ่ จนล้นเหลือ ส่วนโอ่งน้ำเล็ก ไม่มีใครตักน้ำใส่เลย
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น จะมีคนทำบุญโดยเลือกหน้า พระองค์ที่มีอายุมาก พรรษามาก มียศถาบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งต่างๆ จะมีคนให้ความสนใจจะพากันถวายเครื่องไทยทานเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่ของที่ดีๆ มีค่า มีราคา ข้าวปลาอาหาร ปิ่นโตเถาขนาดใหญ่ ตั้งต่อหน้า จนเหลือเฟือ ส่วนพระเล็กเณรน้อยนั่งอยู่รอบข้าง ไม่มีใครคิดถวายอะไรเลย มีแต่งนั่งดูตาปริบๆ เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น


สุบินนิมิตข้อที่ 9 : คอรัปชั่นในแผ่นดิน
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นสระน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำรอบนอกใส่สะอาดเยือกเย็น ส่วนน้ำในกลางสระขุ่นข้นเป็นโคลนตม แล้วมีสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย พากันแย่งชิงกินน้ำในสระที่ขุ่นข้นเป็นตมนั้น ส่วนน้ำรอบนอกที่ใสสะอาดเยือกเย็น ไม่มีสัตว์ตัวใดอยากจะกินเลย
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนจะมีความโลภ ความอยาก ไม่อิ่มพอในเงินทองมากขึ้น การงานที่สะอาด บริสุทธิ์ และสุจริต ไม่อยากทำ ถือว่า เงินเดือนน้อย ร่ำรวยช้า ไม่พอกับความโลภความอยากของตัวเอง จึงได้ลงสมัครตัวเข้ามาในสภาสันนิบาต เพื่อจะมีอำนาจในการบริหารงานและบริหารเงินของแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ ใช้อุบายวิธี อันมีเล่ห์เหลี่ยม ทุจริต คิดมิชอบ ในเงินของแผ่นดิน มือใครยาว สาวได้สาวเอา จะได้เงินมาด้วยวิธีสกปรกอย่างไร จะไม่มีความละอายแก่ใจตัวเองเลย ขอให้ได้เงินก้อนโตมา ก็เป็นที่พอใจ ลักษณะนี้จะมีกันทั่วโลก มีทั่วทุกประเทศเขตแดน และจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น จะเกิดความยุ่งเหยิงในสภาสันนิบาตของประเทศนั้นๆ เพราะการแบ่งสันตำแหน่งในการดูดกินเงินภายในประเทศนั้น ไม่ลงตัว ผู้นั้นจะได้กินน้อย ผู้นั้นจะได้กินมาก ผู้นั้นจะไม่ได้กินอะไรเลย สุดท้ายก็เกิดงัดข้อกันเอง เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
สุบินนิมิตข้อที่ 10 : สงสัยในมรรคผลนิพพาน
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นหม้อหุงข้าวหม้อเดียวมีความแตกต่างกัน ข้าวในหม้อซีกหนึ่งสุก ซีกหนึ่งดิบๆ สุกๆ อีกซีกหนึ่งข้าวไม่สุกเลย
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนในโลกนี้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป กลุ่มหนึ่งจะมีความเชื่อว่า เราตถาคตเป็นที่พึ่งที่เคารพจริง พระธรรมคำสอนของเราตถาคตเป็นสวากขาตธรรม เมื่อนำไปปฏิบัติให้ถึงที่สุดแล้วจะพ้นจากทุกข์ได้จริง เชื่อว่ามีมรรคผลนิพพานจริง นรกสวรรค์มีจริง กรรมดีกรรมชั่วให้ผลแก่บุคคลที่กระทำจริง ตายแล้วเมื่อยังมีกิเลสตัณหาอยู่เชื่อว่าได้มาเกิดใหม่ อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่แน่ใจว่า มรรคผลนิพพานในยุคนี้ สมัยนี้ มีจริงหรือไม่ เพราะพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยไปนาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ในยุคนี้มีจริงหรือไม่ มีแต่ความสงสัยลังเล ไม่แน่ใจ อีกกลุ่มหนึ่งปฏิเสธว่า มรรคผลนิพพานไม่มีนรกสวรรค์ไม่มี ทำดี ทำชั่วไม่ให้ผลในภายหน้าชาติหน้า ตายแล้วไม่ได้เกิดใหม่แต่อย่างใด ในช่วงปลายพุทธศาสนาโน้น คนจะเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดมากขึ้นๆ ดังนี้
สุบินนิมิตข้อที่ 11 : นำพระธรรมมาขายกิน
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นคนพวกหนึ่ง เอาแก่นจันทร์แดงที่มีค่าราคาแพง ไปแลกกับนมเปรี้ยวหม้อเดียว ซึ่งไม่สมค่าราคากันเลย
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนพวกหนึ่ง จะเอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา จะเขียนเป็นตำราเพื่อออกจำหน่าย ขายกิน หารายได้เพื่อเลี้ยงชีวิต เอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ทำเป็นการแสดง แต่งกลอน เพื่อผลประโยชน์ในกัณฑ์เทศน์ แสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ค่าจ้างรางวัล อันเป็นอามิส ไม่สมค่าราคากันเลย สิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นในช่วงปลายศาสนาของเราตถาคตโน้น
สุบินนิมิตข้อที่ 12 : คนดีถูกขัดขวางรังแก
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นน้ำเต้าแห้งเปล่ากลวงใน ตามธรรมดาแล้วจะลอยอยู่บนน้ำ แต่น้ำเต้าเปล่านั้น กลับดิ่งจมลงในน้ำนั้นเสีย
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนดี มีความรู้ดี มีสติปัญญาดี มีความรอบรู้ มีความฉลาด มีความสามารถ มีทั้งพระและฆราวาส จะไม่ได้รับความยกย่องเชิดชูในสังคม จะถูกขัดขวางจากกลุ่มคนพาลสันดานชั่วอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นฆราวาส ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานในการบริหารแระเทศชาติบ้านเมือง คนมีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาสันนิบาต หรือได้รับเลือกเข้ามาแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ จะมีกลุ่มทุจริตคิดมิชอบ เพื่อหวังผลประโยชน์ต่างๆ เบียดสีให้ตกเก้าอี้ไป ในสายตาของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ จะมองเห็นคนดีๆ ว่าเป็นตัวกาลกิณีของเขา ไม่ยอมที่จะให้เข้าไปรู้เห็นในความทุจริตคิดมิชอบของตน คนดีๆ จึงไม่มีในสังคมนี้เลย ถ้าเป็นนักบวช ก็เป็นในลักษณะนี้เช่นกันท่านองค์ใดมีใจบริสุทธิ์ผุดผ่องในพระธรรมวินัย มีความรู้ดี ปฏิบัติชอบต่อมรรคผลนิพพาน ท่านเหล่านั้นจะไม่มีใครให้ความสนใจ ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากฟังธรรม จะมองเห็นว่าเป็นพระคร่ำครึล้าสมัยไม่เกิดศรัทธา ไม่อยู่ในสายตาของเขาแต่อย่างใด เพราะใจไม่มีความเคารพเชื่อถือในท่านเหล่านั้น แม้แต่จะแบ่งปันปัจจัยทั้งสี่ ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ ก็ไม่เต็มใจ ถึงจะถวายให้ ก็นิดหน่อยพอเป็นพิธีเท่านั้น ท่านเหล่านี้จึงมีชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก ใครก็ไม่อยากบวชเป็นพระในลักษณะนี้ ในที่สุด พระดีๆ มีคุณธรรม ก็จะค่อยหมดไปๆ ในศาสนาของเราตถาคต เรื่องเหล่านี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
สุบินนิมิตข้อที่ 13 : คนชั่วเรืองอำนาจ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นก้อนศิลาแท่งทึบ ขนาดใหญ่เท่าเรือ ลอยอยู่บนผิวน้ำเหมือนกับเรือสำเภาเปล่า ตามธรรมดาแล้ว ก้อนศิลาย่อมจมอยู่ใต้น้ำ แต่ก้อนศิลานั้นกลับลอยอยู่บนผิวน้ำ
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนพาลสันดานชั่ว คนทุศีล คนทุธรรม คนขี้โกง คนหัวประจบสอพลอ คนทุจริตคิดมิชอบ คนไม่มีความละอาย จะได้เป็นที่ยกย่องเชิดชูในสังคม เป็นผู้มีบทบาท มีอำนาจ มีชื่อเสียงเกียรติยศ มีพวกพ้องบริวารมาก ถ้าเป็นฆราวาสก็จะมีแต่ผู้เชิดหน้าชูตา ไปไหนมาไหนมีแต่คนเคารพยำเกรง มีฝูงชนให้การต้อนรับเอาใจ เรียกว่าเป็นกระจกบานใหญ่ ให้แสงสะท้อนเงาของประเทศนั้นๆ สังคมของประเทศนั้นมีความเจริญหรือเสื่อมลง ก็ให้ดูกระจกบานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในสภา จะเป็นสื่อบอกประตู้หน้าต่างของสังคมได้เป็นอย่างดี ประเทศใดมีตัวแทนในลักษณะใด จะรู้ได้ว่าผู้ที่เลือกเขาเข้ามา ก็เป็นลักษณะอย่างนั้น เขาจะเลือกเอาเกรดเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ถ้าเป็นนักบวช นักพรต ก็เป็นลักษณะนี้ศาสนาจะมีความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ก็ขึ้นอยู่กับบริษัททั้งสี่ ลำพังพระอย่างเดียว จะโดดเด่นขึ้นในท่ามกลางของสังคมนั้นไม่ได้ พระที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็เพราะญาติโยมนำไปออกข่าวโฆษณา ว่าองค์นั้นมีความขลังอย่างนั้น องค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ มีอภินิหาร ไปทางไหนก็นำไปออกข่าว องค์ไหนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ องค์ไหนเป็นพระอริยเจ้า ฆราวาสจะเป็นผู้คาดการณ์ให้เอง ในยุคสมัยนั้น พระอรหันต์จะเกิดจากลูกศิษย์ยกให้เอง ศิษย์แต่ละครู ศิษย์แต่ละสำนัก จะผลิตจะกำหนดรูปแบบอาจารย์ของตัวเอง ให้เป็นพระอรหันต์ขึ้น เรื่องข้อวัตรปฏิบัติของอาจารย์ มีความเคร่งครัดอย่างไร ก็นำไปโฆษณาอย่างหยดย้อย นี่เองก้อนศิลาแท่งทึงจึงได้ลอยอยู่บนผิวน้ำมีความโดดเด่นเห็นได้อย่างชัดเจน จึงเป็นธุรกิจในคราบผ้ากาสาวพัสตร์บังหน้า เอาศาสนามาแอบอ้างหากิน เมื่อช่วงปลายศาสนาโน้น คนจะหมดความเลื่อมใสในศาสนาของเราตถาคต คนที่มีศรัทธาเบาบางก็จะค่อยจืดจางไป เพราะเห็นความชั่วร้ายในพระยุคนั้นๆ ผู้ที่มีปัญญาดี มีความมั่นคง มีเหตุมีผล เขาจะแสวงหาพระที่เป็นพระได้อย่างถูกต้อง เมื่อปลายศาสนาโน้น เรื่องอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน
สุบินนิมิตข้อที่ 14 : นักบวชหลงลาภยศ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นนางเขียดน้อยไล่กินงูเห่าตัวมหึมา เมื่อไล่ทันก็กระโดดคาบกลืนกินทันที
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น นักบวชองค์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคำพูดเป็นวาทศิลป์ เคยแผ่พังพานในการแสดงธรรม มีบทบาทในสังคม มีประชาชนให้ความเคารพเชื่อถือเป็นอย่างมาก ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญจนลืมตัว ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา รักษาใจไม่มีความฉลาด จึงขาดในการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ปล่อยให้ไปสัมผัสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงทำให้ใจเกิดอัฏฐารมณ์ คือ อารมณ์แห่งความรักความใคร่ในกามคุณ มีความกำหนัดย้อมใจ นางเขียดน้อย (สตรี) ได้มองเห็นช่องโหว่ จึงได้วางแผนหว่านล้อมด้วยมารยานานาประการ มีคำหวานอันหยดย้อยเหมือนน้ำอ้อยน้ำตาล ชโลมหัวใจงูเห่าจนหน้ามือตาลาย หายใจไม่เต็มปอดอีนางเขียดน้อยได้จังหวะก็กระโดดคาบกลืนกินทันทีเรียบร้อยไป
สุบินนิมิตข้อที่ 15 : แวดล้อมด้วยพระทุศีล
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นหงส์สีทองทั้งหลาย ไปห้อมล้อมอีกา อีกาไปไหน ฝูงหงส์สีทองทั้งหลาย ก็ห้อมล้อมเป็นบริวาร
พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น พระเณรผู้บวชใหม่ ใจยังมีความบริสุทธิ์อยู่ในศีลในธรรม จะห้อมล้อมพระที่ทุศีลทุธรรม จะยกให้เป็นครูอาจารย์เพื่อเคารพกราบไหว้อย่างเหลือเฟือ อีกาฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมในการหาอาหารฉันใด พระทุศีลทุธรรมเหล่านี้ก็ฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมในการหาลาภสักการะได้ฉันนั้น และแบ่งลาภสักการะให้แก่หงส์เล็กหงส์ใหญ่ได้อย่างทั่วถึง ฝูงหงส์ทั้งหลาย จึงให้ความสำคัญในอีกาเป็นอย่างมาก ในยุคต่อไปช่วงปลายศาสนาโน้น การเปลี่ยนไปในสังคมของสมณะก็จะเป็นอย่างนี้ พระที่ทุศีลทุธรรมจะเพิ่มมากขึ้น พระเณรที่ขาดการศึกษา จะไม่รู้ธรรมวินัย ไม่เข้าใจว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรผิดศีล อะไรผิดธรรม จะไม่รู้หน้าที่ของตน เพียงบวชกันตามประเพณีเท่านั้น เหตุการณ์อย่างนี้ ก็จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
สุบินนิมิตข้อที่ 16 : โค่นล้มราชาธิปไตย
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นฝูงแพะทั้งหลายพากันไล่จับเสือมาเป็นอาหาร พากันเคี้ยวกินอยู่กรอบๆ พระ
พุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น ประชาชนทั้งหลาย ไม่พอใจการปกครองแบบราชาธิปไตย จึงพากันจับกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อต้านการปกครองของพระราชา ให้ได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้พระราชลดบทบาท ลดอำนาจลง อยู่ในการปกครองภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน เมื่อพระราชาไม่ยินยอม ก็พากันปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ถ้าพระราชชาองค์ใดขัดขืน ก็ลบล้างพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นๆ พร้อมด้วยพระราชวงศ์ ให้หมดไปจากประเทศชาตินั้นเสีย มีบางประเทศที่พระราชยินยอมตามคำขอร้องของประชาชน ยอมลงจากอำนาจเดิมคือราชาธิปไตย ประชาราษฎรในบ้านนั้นเมืองนั้น ก็จะพากันให้ความเคารพเชื่อถือในองค์พระมหากษัตริย์ พากันยกย่องเชิดชูในพระราชวงศ์นั้นจนสุดชีวิต เพื่อให้เป็นร่มโพธิร่มไทร เป็นสมมุติเทพ กราบไหว้เทิดทูน ให้เป็นศูนย์รวมน้ำใจของประเทศนั้นๆ ตลอดไปสินกาลนาน เหตุการณ์อย่างนี้ ก็จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น


Sunday 3 June 2012

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ 1.สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง 2.ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม 3.วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร 4.ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ 5.ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ 6.สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ 7.อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง โพชฌงค์ 7 เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37 (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค อันได้แก่ สติปัฏฐาน4 สัมมัปปธาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7 และมรรคมีองค์ 8) โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ หมายถึง ธรรมหรือข้อปฏิบัติเพื่อยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ กล่าวคือ ถึงที่สุดแห่ง การดับทุกข์หรือการตรัสรู้ อันมี ๗ ประการ ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามก็ดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบันธรรม อันเป็นไปดังนี้ ๑. สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆในกิจ(สิ่งที่ควร)ที่ทำมาไว้แล้ว ความไม่เผลอเรอ ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ ดังเช่น การปฏิบัติธรรมวิจัย, การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต ที่หมายถึงจิตตสังขาร เช่นความคิดปรุงแต่งคืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรม อันสติจักเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังเช่น สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นการมีสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอานิสงส์ที่เนื่องสัมพันธ์กับโพชฌงค์ ๗ จึงเป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย)ให้มีสติไปน้อมกระทำการธัมมวิจยะ ๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธรรมวิจยะ) หรือธรรมวิจัย ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือการโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องอย่างแท้จริง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรม(สภาวธรรมชาติ โดยเฉพาะของทุกข์ ก็เพื่อใช้ในการดับทุกข์) กล่าวคือธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติรู้เท่าทัน พร้อมทั้งวิจัยค้นคว้าพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่สติเท่าทันนั้นๆ ย่อมยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงในสภาวธรรมหรือธรรมต่างๆขึ้นเป็นลำดับ จึงไม่ได้เห็นเป็นไปตามความอยาก,ความเชื่อ การอ่าน การฟังแต่อย่างเดียวดังเช่นแต่กาลก่อน, ดังเช่น การเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท พระไตรลักษณ์ อริยสัจ๔ ขันธ์๕ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ. เมื่อเกิดความเข้าใจจากการธัมมวิจยะ ปัญญาย่อมสว่างกระจ่าง จึงย่อมรู้คุณ จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมให้เกิดวิริยะ ๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่น สู้กิจ ไม่ย่อหย่อนท้อแท้ต่อการปฏิบัติและการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) ตลอดจนการเพียรยกจิตไม่ให้หดหู่ ท้อแท้, เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม ย่อมเป็นสุข เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ อุปาทานทุกข์น้อยลงหรือเบาบางลง จึงย่อมทำให้เกิดความเพียรขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อเห็นคุณย่อมปฏิบัติด้วยความเพียร เมื่อปฏิบัติด้วยความเพียร อย่างแน่วแน่ในระยะหนึ่ง ไม่ซัดส่ายสอดแส่ ย่อมเป็นปัจจัยครื่องสนับสนุนให้เกิดปีติ ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติพิจารณาในธรรม ด้วยความเพียรย่อมเกิดความอิ่มเอิบ อิ่มใจ ความดื่มดํ่า ใจฟู ความแช่มชื่น ความปลาบปลื้ม อันปราศจากอามิส(ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นรรมดา (จึงมิได้หมายถึง ปีติ ชนิดมีอามิส ความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่การปฏิบัติฌานสมาธิอันมีองค์ฌาน ชนิดที่เกิดแต่การติดเพลิน,ติดสุข ทั้งโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี อันมักแสดงออกโดยอาการจิตส่งใน เพราะปีติชนิดนี้ยังให้โทษในภายหน้าแต่อย่างเดียว)เมื่อวิริยะ อย่างแน่วแน่ในธรรมที่พิจารณา ไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปปรุงแต่งในสิ่งอื่นๆได้ระยะหนึ่ง ย่อมบังเกิดอาการปีติความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นขึ้นนั้นๆ ซึ่งเมื่อความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นจางคลายไป ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัสสัทธิ ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจ อันเกิดแต่ปีติสุขที่ระงับไป,เมื่อปีติความแช่มชื่น อิ่มเอิบแช่มชื่น อันเกิดแต่ความเข้าใจกระจ่างสว่างในธรรมสงบระงับลงแล้ว ย่อมยังผลให้เกิดการผ่อนคลาย กล่าวคือ เกิดความสงบกายสงบใจตามมา จึงไม่เครียด ไม่กระวนกระวายกายใจโปร่งเบาสบาย กล่าวคือ เมื่อกายสงบระงับย่อมเกิดความสุข จึงเกิดการเสวยสุข เมื่อกายสงบระงับแล้วย่อมเป็นสุข เมื่อเป็นสุขแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมนำให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์จิตตั้งมั่น ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีจิตตั้งมั่น เพราะเมื่อกายสงบ ย่อมพบสุข เมื่อพบสุข จิตย่อมตั้งมั่น เพราะย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่ง จึงมีจิตหรือสติตั้งมั่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทํา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ นั่นเอง เช่น มีสติอย่างต่อเนื่องกับธรรมที่พิจารณา หรือการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวก ดังเช่น มีสติเห็นเวทนา หรือมีสติระลึกรู้เท่าทันอาการของจิต เช่นรู้เท่าทันอาการปรุงแต่งหรือรู้เท่าทันว่าฟุ้งซ่านไปภายนอกอยู่เนืองๆและสมาธินั้นยังเป็นกําลังแห่งจิต ที่ทําให้จิตเข้มแข็งขึ้น ก็เนื่องเพราะความไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ให้เกิดทุกข์ในเรื่องอื่นๆอีกด้วยนั่นเอง จึงย่อมยังให้การปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นเป็นไปอย่างมีกําลัง ดังนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์จึงหมายถึง การมีจิตตั้งมั่น อยู่ได้อย่างต่อเนื่องหรือแนบแน่นในการปฏิบัตนั่นเอง เป็นจิตชนิดที่มีสติปราดเปรียวว่องไว ที่เมื่อระลึกรู้เท่าทันในสิ่งใดแล้ว ก็ปล่อยวางโดยการ อุเบกขาในสัมโพชฌงค์องค์สุดท้าย สมาธิในโพชฌงค์ จึงเป็นสมาธิเพื่อการวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่มีสติแนบแน่นหรือแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยเฉพาะเท่านั้น อย่างไม่ปล่อยวาง ที่เมื่อสติจางคลายหรือขาดไปแล้ว มีองค์ฌานหรือสมาธิเป็นผลให้เกิดความสุขสงบสบายขึ้น แต่ย่อมเป็นไปในขณะหรือระยะหนึ่งๆเท่านั้น จึงยังจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สมถสมาธิหรือฌานที่ปฏิบัติกันทั่วไป อันมีมาแต่โบราณนั้น ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เพื่อเป็นไป เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิในขั้นวิปัสสนาต่อๆไปเท่านั้น กล่าวคือ สมาธิในโพชฌงค์คือสมาธิชนิดสัมมาสมาธิในองค์มรรคที่มีจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย อย่างต่อเนื่อง เมื่อจิตตั้งมั่น แน่วแน่อย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างเนืองๆ ย่อมประกอบด้วยกำลัง และยังประกอบด้วยปัญญาที่เห็นเป็นไปตามจริงตามที่ได้สั่งสมมา จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการน้อมนำไปในการอุเบกขา ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย รู้ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง แล้วละเสียโดยการตั้งมั่นวางเฉย หรือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ,สมาธิและปัญญานั่นเอง วางเฉย ที่หมายถึง รู้สึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดาไม่ต้องฝืน แต่ตั้งใจกระทำหรือปฏิบัติ ด้วยการไม่(คิดนึก)ปรุงแต่ง ไม่สอดแส่ไปในเรื่องหรือกิจนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย) กล่าวคือไม่คิดเอนเอียง ไม่สอดแส่ ไม่ซัดส่าย ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด เช่น ไม่ไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต ในเวทนา(ความรู้สึกรับรู้เมื่อกระทบสัมผัสอันอาจชอบใจหรือไม่ชอบใจ) หรือสังขารขันธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น จิตฟุ้งซ่าน,จิตมีโทสะ ฯ. ถ้อยคิดหรือความคิดนึกที่เกิดขึ้น เช่น การคิดปรุงแต่งหรือการเอนเอียงไปคิดเห็นว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด, ไม่ปรุงแต่งทั้งในบุญหรือบาป,ไม่ปรุงแต่งไปทั้งดีหรือชั่ว, ไม่ปรุงแต่งว่าเราถูกหรือเขาผิด, เกิดความรู้สึกอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องเป็นธรรมดา เพียงวางจิตหรือสติหรือความคิดให้เป็นกลางด้วยการกระทำ วางทีเฉย เพราะการที่ไปปรุงแต่งแม้จะเป็นดีหรือสิ่งที่ถูกก็เป็นทุกข์ (แยกแยะให้เข้าใจความหมายถูกต้องด้วยมิได้หมายถึงไม่ทําความดี ไม่ทําบุญ แต่หมายถึงการไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วยึดว่าถูก ว่าดี อย่างนั้น อย่างนี้ อันล้วนยังให้เกิดเวทนา คือความคิดขึ้นใหม่ๆอันย่อมเกิดเวทนาขึ้นอีกทั้งสิ้น อันล้วนอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน ชาติอันเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด) ดังเช่น เรานั้นเป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือเกื้อหนุนบุคคลคนหนึ่งอย่างมากๆ เป็นความดีชนิดบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วบุคคลคนนั้นกลับกระทำการสิ่งที่ไม่ดีต่างๆนาๆต่อเรา เพียงแต่เราคิดปรุงแต่งหรือกระทำโดยอาการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญในความดีของเราหรือความชั่วของเขาในเรื่องนี้ขึ้นมา ที่แม้เป็นจริงอย่างที่สุดก็ตาม ท่านก็ย่อมต้องเสวยทุกข์ขึ้นทันที ความดีที่เรากระทำอยู่นั้นเราย่อมได้รับอยู่แล้วเพียงแต่อาจโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อใดที่เราไปคิดยึดมั่นในความดีด้วยกิเลส คือไปอยากให้ความดีนั้นตอบแทน ก็เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นทันที ด้วยเหตุฉะนี้ พระอริยเจ้าท่านจึงมีคำกล่าวอยู่เนืองๆว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว เป็นกลางวางทีเฉย อุเบกขา จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาขึ้นเท่านั้น จึงต้องหมั่นสั่งสมอบรมปฏิบัติ ไม่ใช่การวางใจเป็นกลางชนิดที่ต้องทําใจเป็นกลางเฉยๆ ชนิดจะไม่ให้รู้สึกรู้สาต่อทุกขเวทนา,สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ อยากจะไม่ให้มีทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจใดๆมากระทบได้ เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยอวิชชา อันอาจกระทําได้แค่เป็นครั้งคราวด้วยฌาน,สมาธิเท่านั้น อันยังเป็นเพียงโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่) เพราะตามความเป็นจริงแล้วทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่เป็นธรรมดาแม้ในองค์พระอริยเจ้าแต่ท่านเหล่านี้ไม่มีอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕, จึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวางหรือทําใจเป็นอุเบกขา กล่าวคือรู้ตามความเป็นจริงแล้ว รู้สึก(เวทนา)อย่างไร ก็เป็นเยี่ยงนั้นนั่นเอง แต่ต้องเข้มแข็ง ไม่คิดนึกปรุงแต่งด้วยการไม่เอนเอียงหรือแทรกแซงไปด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย), อุเบกขาจึงไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนาหรือที่บางทีเรียกกันว่าอุเบกขาเวทนาอันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไปยึดไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอุเบกขา,อันอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดการรับรู้ขึ้นจากการผัสสะเป็นธรรมดา กล่าวคือเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรม ส่วนการอุเบกขาหรือตัตรมัชฌัตตตาเป็นสังขารขันธ์จึงต้องมีสัญเจตนาหรือเจตนาขึ้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมด้วยความเพียรยิ่ง จนสามารถกระทำอุเบกขานั้นเป็นมหาสติ กล่าวคือ กระทำเองโดยอัติโนมัติ เป็นเฉกเช่นสังขารในปฏิจจสมุปบาท แต่ปราศจากเสียซึ่งอวิชชา
******************************************************************** คาถารักษาไข้ (โพชฌังโค) **************************************************************************** โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา วิริยัม ปิติ ปัสสัทธิ โพชณังคา จะ ตะถา ปะเร สะมาธุ เปกขะ โพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะ ทักขาตา ภาวิตา พะหุ ลีกะตา สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลา นัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสสะวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ เตจะตัง อะภินัน ทิตตะวา โรคา มุจจิงสุข ตังขะเณ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิเตโหตุ สัพพะทา เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคตัญเญ นาภิปิฬิโต จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตตะวานะ สาทะรัง สัมโมทิตตะวา จะ อาพาธา ตัมหาวุฏฐาสิ ฐานะโส เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ปะหีนาเต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติ ธัมมะตัง เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ******************************************************************** ถ้าหากผู้ใดเป็นไข้ ให้ใช้คาถาบทนี้ เสกปัดเป่า หรือจะทำน้ำมนต์ให้ดื่มกินก็ยิ่งจะเป็นการดี จะทำให้ไข้หายเร็ว ********************************************************************

อริยกรธรรม เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ

ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ความที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา เป็นต้น (อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5คือ 1.สีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ 5.วิมุตติญาณทัสสนาขันธ์)
ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่ :- 1.อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์. 2.ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์. 3.อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิงไม่มีอำนาจกำลังอะไรต้องอาศัยพึงพิงสิ่งอื่นๆมากมายจึงมีขึ้นได้. ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดาหรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ" มีการวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้ :- ติ แปลว่า สาม, 3. ลกฺขณ แปลว่า เครื่องทำสัญลักษณ์, เครื่องกำหนด, เครื่องบันทึก, เครื่องทำจุดสังเกต, ตราประทับ เปรียบได้กับภาษาอังกฤษในคำว่า Marker. ติลกฺขณ จึงแปลว่า "เครื่องกำหนด 3 อย่าง" ในแง่ของความหมายแล้ว ตามคัมภีร์จะพบได้ว่า มีธรรมะที่อาจหมายถึงติลกฺขณอย่างน้อย 2 อย่าง คือ สามัญญลักษณะ 3 และ สังขตลักษณะ 3 . ในคัมภีร์ชั้นฏีกา พบว่ามีการอธิบายเพื่อแยก ลักษณะทั้ง 3 แบบนี้ออกจากกันอยู่ด้วยส่วนในที่นี้ก็คงหมายถึงสามัญญลักษณะตามศัพท์ว่า ติลกฺขณ นั่นเอง. อนึ่ง นักอภิธรรมชาวไทยนิยมเรียกคำว่า สังขตลักษณะ โดยใช้คำว่า "อนุขณะ 3" คำนี้มีที่มาไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่พบในอรรถกถาและฏีกาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระธรรมปาลาจารย์, และที่พบใช้ก็เป็นความหมายอื่น[2] อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาก็เป็นได้. อย่างไรก็ตาม โดยความหมายแล้วคำว่าอนุขณะนั้นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์รุ่นเก่าแต่อย่างใด. สามัญญลักษณะ 3 หมายถึง เครื่องกำหนดที่มีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งหมด ได้แก่ อนิจจลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่เที่ยงแท้, ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดความบีบคั้น, อนัตตลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่มีตัวตน. สามัญญลักษณะ ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ธรรมนิยาม คือกฎแห่งธรรม หรือ ข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร และบางอย่าง คือ อนัตตลักษณะยังเป็นข้อกำหนดของวิสังขาร (พระนิพพาน) เป็นต้นอีกด้วย. อนึ่ง ควรทราบว่า อนิจฺจํ กับ อนิจฺจตา เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ใช้คนละความหมายกัน ซึ่งจะได้อธิบายไว้ในตอนท้ายของบทความนี้ด้วย. อนิจจะ กับ อนิจจลักษณะ ไม่เหมือนกัน ตามคัมภีร์ฝ่ายศาสนาท่านให้ความหมายของขันธ์ กับ ไตรลักษณ์ไว้คู่กัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกันดังนี้ :- • อนิจจัง (อนิจฺจํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"อนิจจัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5. • อนิจจลักษณะ (อนิจฺจตา,อนิจฺจลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวอนิจจัง. อนิจจลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ อาการความเปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 เคยเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 เคยมีขึ้นแล้วก็ไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น. ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนิจจลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 25 แบบ เรียกว่า โต 25 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนิจจลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะอาการที่เปลี่ยนไป จะเป็นการกำหนดอนิจจลักษณะ). ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ ไม่เหมือนกัน • ทุกขัง (ทุกฺขํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกขัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5. •ทุกขลักษณะ (ทุกฺขตา,ทุกฺขลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง. ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น. ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 10 แบบ เรียกว่า โต 10 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ). อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ ไม่เหมือนกัน อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่มีตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น. ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนัตตลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ 5 แบบ เรียกว่า โต 5 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนัตตลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไรอำนาจบังคับตัวเองใหไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตขลักษณะ). หลักการกำหนดไตรลักษณ ไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะนี้ ไม่ได้แสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดทุกเวลา เพราะเมื่อใดที่จิตไม่ได้เข้าไปคิดถึงขันธ์ 5 เทียบเคียง สังเกต ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ ตามแบบที่ท่านวางไว้ให้ในพระไตรปิฎก เช่น "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไตรลักษณ์ก็จะไม่ปรากฏตัวขึ้น.โดยเฉพาะอนัตตลักษณะที่ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุไว้ในหลายแห่งว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทำความเข้าใจเองแล้วเอามาบอกสอนให้คนอื่นเข้าใจตามได้. สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาใคร่ครวญตามพระพุทธพจน์ แต่ไตรลักษณ์ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนได้เหมือนกันทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนิวรณ์อกุศลธรรมต่างๆเกิดกลุ้มรุม รุมเร้า, และอาจเป็นเพราะยังพิจารณาไม่มากพอจึงไม่มีความชำนาญ เหมือนเด็กเพิ่งท่องสูตรคูณยังไม่แม่นนั่นเอง. และนอกจากนี้ ในคัมภีร์ท่านยังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้พิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ชัดเจนไว้อีก 3 อย่าง คือ สันตติ อริยาบถ และฆนะ สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที, หรือรูป ๆ หนึ่งดับไป รูปใหม่ ๆ ก็เกิดต่อกันไปในทันที หรือบางทีรูปเก่ายังไม่ดับรูปใหม่ก็เกิดขึ้นมาสำทับกันเข้าไปอีก สันตติเป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิยามห้ามไม่ได้ เว้นแต่จะดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น สันตติจึงจะไม่เป็นไป, แม้ในอสัญญสัตตภพ และผู้เข้านิโรธสมาบัติท่านก็ยังจัดว่ามีสันตติของจิตอยู่นั่นเอง. สันตติที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสายนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่เกิดไม่ดับ ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดดับต่อกันวินาทีละนับครั้งไม่ได้. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า "สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่สืบต่อของขันธ์ 5 ที่มีขอบเขตของเวลาในการดำรงอยู่จำกัดมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับสันตติที่ต่อกันจนดูราวกับว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย. การที่ยังพิจารณาอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนิจจลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่สันตติจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนิจจลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง. สำหรับวิธีการจัดการกับสันตติไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนิจจลักษณะนั้นไม่มีวิธีจัดการกับสันตติโดยตรง เพราะสันตติเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของขันธ์ไปห้ามกันไม่ได้. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนิจจลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนิจจลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และสันตติแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนิจจลักษณะ หรือ ทำให้อนิจจลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป. อนึ่ง สันตติไม่ได้ปิดบังอนิจจัง เพราะอนิจจัง ก็คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้[13]. ดังนั้นแม้เราจะดูทีวีซึ่งมีการขยับเขยื้อน มีสีเปลี่ยนไปมาอยู่มากมายก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น เราก็จะไม่เห็นสามารถอนิจจลักษณะได้เลย และความจริงหากยังดูทีวีอยู่ก็คงจะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ดี หรือไม่ได้เลยด้วย เพราะอกุศลจิตนั่นเองจะเป็นตัวขัดขวางการพิจารณา ใคร่ครวญ ค้นคิดธรรมะ. อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ อิริยาบถ คือ รูปแบบกิริยาการกระทำต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การแล การเหลียว เป็นต้น.การเปลี่ยนอิริยาบถนั้นบางครั้งก็อาจทำเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่โดยมากแล้ว เราเปลี่ยนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่ยังไม่ต้องเกิดความทุกข์ความเจ็บปวดขึ้นมาก่อนก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น อิริยาบถเป็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคล้ายกับวิญญัตติรูป ดังนั้น ท่านจึงระบุไว้ในตอนท้ายของอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรและฏีกาว่า "ไม่พึงพิจารณาตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นกำหนด " ส่วนเหตุผลท่านก็ให้ไว้เหมือนกับอสัมมสนรูป นั่นคือ เพราะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของรูป ไม่ใช่สภาวะธรรมโดยตรงจึงไม่ควรกำหนดนั่นเอง. อิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดทั้งวันนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5ไม่ได้บีบคั้นบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้ว แม้ขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่โดยไม่ได้เป็นเพราะความเจ็บปวด เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น ตอนนั้นขันธ์ 5 ก็ล้วนบีบคั้นบังคับตนเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับเสื่อมสลายไปเป็นปกติทั้งสิ้น. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถปิดบังทุกลักษณะ" เพราะทุกขลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความบีบคั้นให้เปลี่ยนไปของขันธ์ 5 ที่ล้วนบีบคั้นบังคับตัวเองอยู่เป็นนิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับอิริยาบถที่เมื่อเปลี่ยนแล้ว ก็ทำให้สุขต่อกันไปจนไม่รู้ตัวเลยว่า ขันธ์ 5 กำลังบีบคั้นขันธ์เองวินาทีละนับครั้งไม่ได้. การที่ยังพิจารณาทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ ทุกขลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่อิริยาบถจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดทุกขลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง. สำหรับวิธีการจัดการกับอิริยาบถไม่ให้มีผลกับการกำหนดทุกขลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือ อิริยาบถไม่สม่ำเสมอก็อาจป่วยได้ ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำร้ายลงไปอีก ทั้งยังจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ไม่ว่าจะสังคมโยม หรือสังคมพระภิกษุก็อยู่ไม่ได้เหมือนๆกัน. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาทุกขลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า ทุกขลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และอิริยาบถแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดทุกขลักษณะ หรือ ทำให้ทุกขลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป. อนึ่ง อิริยาบถไม่ได้ปิดบังปิดบังทุกขัง เพราะทุกขัง คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้ดังนั้นไม่ว่าเราจะขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถหรือจะไม่กระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถใดๆเลยก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นทุกขลักษณะได้เลย. ฉะนั้นในวิสุทธิมรรคฏีกาท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถเหมือนปิดบังทุกข์"เท่านั้น ไม่กล่าวว่า "อิริยาบถปิดบังทุกข์" เพราะอิริยาบถทำให้สุขเวทนาเกิดต่อเนื่องจึงไม่ได้รับทุกขเวทนาเท่านั้น แต่อิริยาบถไม่ได้ปิดบังทุกข์คือขันธ์ 5 แต่อย่างใด ส่วนสิ่งที่ปิดบังทุกข์ คือ ขันธ์ 5นั้นก็คือ อวิชชานั่นเอง.

อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5

อริยธรรม 5 หรือ ขันธ์ 5 1.สีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ 5วิมุตติญาณทัสสนาขันธ์ -------------------------------------------------------------------------------- คำว่า ธรรมขันธ์ อาจจะแปลว่า หมวดแห่งธรรม หรือกลุ่มแห่งธรรม ซึ่งในบางแห่ง ท่านเรียกอริยธรรม คือธรรมที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเน้นมากก่อนจะปรินิพพาน เป็นการสรุปธรรมะลงในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารธรรม ธรรมะที่เป็นแก่นสารที่แท้จริง การทำจิตของตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นเป้าหมายในการประพฤติปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา แต่กว่าจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ จำเป็นจะต้องประพฤติปฏิบัติไปตามขั้นตอนที่ทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เรื่องของไตรสิกขาซึ่งเป็นตัวเหตุใหญ่ 1.สีลขันธ์ คือหมวดของศีลนั้น ได้แก่การประพฤติปฏิบัติ เช่น การสำรวมในปาฏิโมกข์ คือ บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้ เว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต อินทรีย์สังวร การสังวรระวังในอินทรีย์ของตน เวลาตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง และแม้แต่ใจ จะเหนี่ยวนึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ปล่อยให้ความยินดียินร้ายครอบงำใจจนเกินไป โภชเน มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภคภัตตาหารไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป หรือว่าการเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบไม่หลอกลวงฉ้อโกงเขามาเลี้ยง นี้ก็จัดเข้าในหมวดของสีลขันธ์ หรือพูดโดยนัยหนึ่ง วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ จัดเป็นสีลขันธ์ 2.สมาธิขันธ์ การบำเพ็ญเพียรทางใจ เช่น ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรเป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปจาการเจริญสมถกรรมฐานในชั้นต่าง ๆ ตามที่ทรงแสดงเอาไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติตามหลักของอริยมรรคคือ สัมมาวายามะ ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นในทางที่ชอบ ก็จัดเป็นสมาธิขันธ์ 3.ปัญญาขันธ์ หมายถึงการใช้ปัญญาเพ่งพินิจพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ธัมมวิจยะ การพิจารณาสอดส่องธรรมเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะเหล่านั้นตามความเป็นจริง วิปัสสนา การมองรูปนามให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จนสามารถถ่ายถอนบรรเทาความยึดติดว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเราลงไปได้ หรือแม้แต่ กัมมัสสกตาญาณ คือ ความรู้ถึงการที่สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของ ๆ ตน ต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ก็จัดเข้าในกลุ่มปัญญาขันธ์ อีกนัยหนึ่งคือ ความสมบูรณ์ของสัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เป็นปัญญาขันธ์ 4.วิมุตติขันธ์ เมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือองค์อริยมรรคสมบูรณ์ก็เกิดญาณความรู้ในอริยสัจตามความเป็นจริงขึ้นมา คือรู้ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ซึ่งเรียกว่า สัจจญาณ รู้ว่าทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรเจริญ เรียกว่า กิจจญาณ รู้ว่าทุกข์ที่ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัย ที่ควรละ ได้ละแล้ว นิโรธที่ควรทำให้แจ้ง ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ควรเจริญ ก็ได้เจริญแล้ว เรียกว่า กตญาณ เมื่อญาณทั้ง 3 นี้สมบูรณ์ ก็เรียกว่า สัมมาญาณะ คือความรู้ในทางที่ชอบก็บังเกิดขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติก็จะเป็นสัมมาวิมุตติ คือ หลุดพ้นในทางที่ชอบ อันเป็นวิมุตติขันธ์ 5.วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือความรู้ความเห็นในวิมุตติ ที่ปรากฏเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ ดังที่ท่านแสดงเอาไว้ว่า เมื่อพระอริยบุคคลบำเพ็ญเพียรไปโดยลำดับ ก็จะเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็ก็จะวิมุตติ คือหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่า เราหลุดพ้นแล้วดังนี้ และรู้ต่อไปว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ คือ ความประพฤติปฏิบัติเพื่อละความชั่ว ประพฤติความดีก็สมบูรณ์แล้ว กิจที่จะต้องทำต่อไปก็ไม่มี กิจในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่มีเหมือนกัน ดังนั้นความรู้สึกที่เกิดผุดขึ้นในลักษณะนี้ เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ ธรรมหมวดนี้ บางครั้งก็อาจจะเรียกว่า สารธรรมทั้ง 5 หรือเรียกว่า อริยธรรม 5 ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะพระธรรมที่บุคคลจะต้องประพฤติทั้งหมด สรุปรวมลงที่ ศีล สมาธิ ปัญญา ผลแห่งการทำความดีทั้งหมดรวมลงในกลุ่มของวิมุตติ คือ จิตหลุดพ้นจาก กิเลส ทุกข์ ตามสมควรแก่ฐานะของตน ความรู้เห็นในความหลุดพ้นที่จิตของตนก็จะเกิดขึ้นแก่เขาได้โดยอัตโนมัติตามควรแก่ฐานะเช่นเดียวกัน ธรรมขันธ์ 5 จึงเป็นมรรคสัจกับนิโรธสัจ เมื่อเข้าถึงความสมบูรณ์ก็จะทำหน้าที่ดับ สมุทัยอริยสัจ กับทุกขสัจ เข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือนิพพาน