Monday 30 December 2013

วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น

         วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ดังพุทธภาษิตว่า

    พรหมจรรย์นี้มิได้มีลาภสักการะสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิได้มีกามสุขในสวรรค์เป็นอานิสงส์ มิได้มีการเข้าถึงความเป็นอันเดียวกับพรหมในพรหมโลกเป็นอานิสงส์ แต่ว่ามีวิมุตติเป็นอานิสงส์ ดังนี้
    ตทังควิมุตติ คือ การพ้นไปจากอำนาจของ"ตัวกู-ของกู"ด้วยอำนาจของสิ่งที่บังเอิญประจวบเหมาะ
    วิกขัมภนวิมุตติ คือความดับแห่ง"ตัวกู" ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจของการประพฤติหรือการกระทำทางจิต หมายถึง ขณะนั้นมีการกระทำจิตให้ติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบของการทำสมาธิ
    สมุจเฉทวิมุตติ คือความดับ"ตัวกู" ด้วยการกระทำทางปัญญา คือการทำลายอวิชชาลงอย่างสิ้นเชิง

เปรียบเทียบได้ว่า อย่างแรกนั้นอาศัยอำนาจของการประจวบเหมาะ อย่างที่ 2 หรืออย่างกลางนั้นอาศัยอำนาจของจิตที่ปฏิบัติถูกวิธี ส่วนอย่างที่ 3 หรืออย่างสูงนั้นอาศัยอำนาจของปัญญา

วิมุตติ 2 คือ ความหลุดพ้นด้วยสมาธิและปัญญา ได้แก่
    เจโตวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นแห่งจิต ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ
    ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา ความหลุดพ้นแห่งจิตจากจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง
http://youtu.be/dpDLe7ek5bM

อานิสงส์ แปลว่า คุณเป็นเนื่องไหลไหลออกเนืองๆ แห่งผล คือ ให้ผลที่น่าชื่นใจโดยยิ่ง

อานิสงส์ หมายถึงผลแห่งกุศลกรรม, ผลบุญ, ประโยชน์ที่เกิดจากการทำบุญ ใช้ว่า ผลานิสงส์ หรือผลอานิสงส์ ก็มี
อานิสงส์ เป็นผลผลิตจากการประกอบความดีต่างๆ ตามคติที่ว่า ทำดีได้ดี หมายความว่าเมื่อทำความดี ความดีย่อมให้อานิสงส์เป็นคุณความดีก่อน ลำดับต่อมาคุณงามความดีนั้นจึงให้ผลที่น่าชื่นใจไหลออกมาสนองผู้ทำในรูปแบบต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่ทำ เปรียบเหมือนปลูกต้นมะม่วงย่อมจะได้ผลเป็นลูกมะม่วงก่อน ต่อมาลูกมะม่วงนั้นจึงให้ผลที่น่าชื่นใจต่อไปเมื่อนำไปเป็นอาหาร นำไปแลกเป็นของหรือนำไปขายเป็นเงิน
พิจารณาไตร่ตรองในพฤติกรรมและแนวทางของอนาคตอย่างถ่องแท้แน่แล้วหรือในรูปธรรมที่ชัดเจนโดยธรรม ลองคิดให้ลึกกว่านี้ดีไหมครับ จาก ผู้รักชาติ อีกคนนึงซึ้งเคยพลีชีพในสนามรบตัวจริง ประชาธิปไตยจริง ๆ คืออะไรครับ ในสากลโลกพิจารณาจากไหนครับ ที่กระทำกันทุกวันนี้ทำให้ประเทศเกินไปไหนกันแน่ อำนาจของประชาชนอยู่ที่ใครหรือ อย่านำพระองค์มาชี้วัดความจงรักภักดีเลยครับ
พระองค์ท่านอาจจะทรงเสียพระทัยในการกระทำของพสกนิกรบางส่วนหรือทั้งหมดเหล่านี้ก็ได้นะครับ เหตุใดไม่ตัดสินด้วยเสียงของคน 60 กว่าล้านตนล่ะครับ ว่าควรจะเลือกสิ่งใด ทุกคนก็เป็นคนไทยที่รักชาติเช่นกัน ผมคิดว่าคงไม่มีใครโง่ทั้งประเทศหรอกครับ ขออภัยด้วยครับ ผมยืนอยู่ข้างความเป็นจริง ที่สัมผัสได้ตลอดมาครับ อย่าโกรธกันเลยนะครับ ปัญญาชนควรใช้ปัญญามองให้ไกลกว่าที่คิดบ้างนะครับ http://th.wikipedia.org/.../%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5...
http://youtu.be/vSlGn9L3tc4

สมาธิ คือการฝึกฝนทางจิตหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป้าหมายคือ ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ตนเอง และจิตสำนึกต่อการทำงาน

การทำสมาธิโดยทั่วไปมักเป็นการฝึกหัดส่วนบุคคล ยกเว้นในบางกรณีเช่น การสวดมนต์ ผู้ฝึกสมาธิส่วนใหญ่ มักจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจเป็นลมหายใจ การเพ่งวัตถุต่าง ๆ หรือแม้แต่การจดจ่อกับกิจกรรมที่กระทำ การทำสมาธิ มักเกี่ยวกับการปลูกฝังความรู้สึกหรือความเชื่อมั่นภายใน อาจจะเป็นการตั้งเป้าหมาย หรือ อาจจะหมายถึงการเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงก็ได้
การมีจิตใจที่เข้มแข็ง รู้จักไตร่ตรองความคิดให้ถูกต้อง
รูปแบบการฝึกสมาธินั้นมากมายและมีความหลากหลาย คนทั่วไปอาจจะเข้าใจคำว่า "สมาธิ" ในบริบทที่แตกต่างกัน การทำสมาธินั้นมีมาตั้งแต่โบราณและ การฝึกฝนสืบทอดต่อกันมา จนกลายเป็นองค์ประกอบของประเพณีทางศาสนา ในประเพณีจิตวิญญาณตะวันออก เช่น ศาสนาฮินดู และ พุทธศาสนา แม้ในประเทศแถบตะวันตกบางแห่งก็เช่นกัน
ในปี 2007 การศึกษาของรัฐบาลสหรัฐพบว่าเกือบ 9.4% ของผู้ใหญ่ (มากกว่า 20 ล้านคน) มีการฝึกสมาธิภายใน 12 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจาก 7.6% (มากกว่า 15 ล้านคน) ในปี 2002
ตั้งแต่ปี 1960, การทำสมาธิได้รับการเพิ่มจุดเน้นของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
การทำสมาธิมีปรากฏในหลายศาสนา ซึ่งรวมถึง พุทธศาสนา ฮินดู และเต๋า และยังคงรวมถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น โยคะ
http://youtu.be/YsPXhTdb69k

ราคะ แปลว่า ความกำหนัดยินดี, ความพอใจ, ความติดใจ จริต แปลว่า ความประพฤติ, พฤติกรรมปกติ หมายถึงความประพฤติที่ติดต่อสืบเนื่องมานานจนเป็นเรื่องปกติของผู้นั้น ใช้ว่า จริยา ก็ได้

ราคะ หรือ ราคจริต หมายถึงพฤติกรรมของคนที่มีราคะเป็นปกติ คือรักสวยรักงาม มีกิริยาคือ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นที่เรียบร้อย นิ่มนวล ชอบสะอาด ทำกิจต่างๆ ไม่รีบร้อน ชอบกินของที่บรรจงจัด ชอบของหวาน มีอารมณ์สุนทรีย์ ดูอะไรก็ดูนาน ละเอียดพิเคราะห์ อุปนิสัยเป็นคนเจ้าเล่ห์ ถือตัว แง่งอน ชอบอวด ชอบยอ อยากได้หน้า ราคจิตแก้ได้ด้วยการพิจารณากายคตาสติ หรือ อสุภกรรมฐาน
http://youtu.be/6mDLOEVP_18
อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง คือ ความไม่รู้ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง มิได้หมายถึงความไม่รู้ศิลปะวิชาการต่างๆ หรือไม่รู้ร้อนรู้หนาวเป็นต้น แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่จะนำคำว่า อวิชชา ไปใช้เฉพาะกับวิชาในทางไสยศาสตร์เท่านั้น โดยเข้าใจกันว่า อวิชชาเป็นวิชาที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือหาประโยชน์เข้ามาใส่ตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น
อวิชชา หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ คือ
    ไม่รู้ในทุกข์ ได้แก่ไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวทุกข์ เช่นไม่รู้ความเกิด ความแก่ ความตาย ความผิดหวัง เป็นตัวทุกข์
    ไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ไม่รู้ว่าทุกข์นั้นเกิดมาจากตัณหาในจิตของตนเอง มิใช่เกิดจากผีสาง เทวดา มิใช่เกิดจากการบันดาล
    ไม่รู้ในความดับทุกข์ ได้แก่ความไม่รู้ว่าทุกข์นั้นเมื่อเกิดแล้วสามารถดับได้ โดยการกำจัดตัณหาให้หมดไป
    ไม่รู้ในข้อปฏิบัติสำหรับดับทุกข์ ได้แก่ไม่รู้ว่าทุกข์นั้นจะดับสนิทได้ด้วยมรรค 8 มีสัมมาทิฐิเป็นต้น มิใช่ดับได้ด้วยการวิงวอนขอร้องให้คนอื่นช่วย
ความไม่รู้สึกต้วทั่วพร้อมโดยสมบูรณ์ในความเป็นจริงของสิ่งต่างๆในขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับมัน กล่าวคือไม่รู้กายในกาย ไม่รู้เวทนาในเวทนา ไม่รู้จิตในจิต และไม่รู้ธรรมในธรรม ก็คือไม่มีสติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์นั้นเองคือ อวิชชา
http://youtu.be/9OBKQFherY0

นิโรธแปลว่า ความดับ (ทุกข์) คือความสำรอกออก, สลัดทิ้ง, ปลดปล่อย, ไม่มีเยื่อใยสมุทัยอันเป็นบ่อเกิดทุกข์ได้สิ้นเชิง หมายถึง การทำลายสมุทัยและดับสมุทัยคือตัวตัณหาให้สิ้นไปจนไม่เกิดขึ้นได้อีกเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ ด้วยอำนาจการดำเนินตามมรรคจนได้บรรลุมรรคนั้นๆ

นิโรธ จัดเป็นอริยสัจอันดับที่ 3 ในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธ โดยภาวะคือนิพพานนั่นเอง
นิโรธ 5 หมายถึง ความดับกิเลส ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้นนิโรธเป็นธรรมะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นิโรธ มี 5 ประการ โดยมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น
    ปหาน 5 (การละกิเลส 5 ประการ)
    วิมุตติ 5 (ความหลุดพ้น 5 ประการ)
    วิเวก 5 (ความสงัด ความปลีกออก 5 ประการ)
    วิราคะ 5 (ความคลายกำหนัด ความสำรอกได้ 5 ประการ)
    โวสสัคคะ 5 (ความสละ ความปล่อย 5 ประการ)
นิโรธ 5 ได้แก่
    วิกขัมภนนิโรธ ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌานขึ้นไป ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น
    ตทังคนิโรธ ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกรูปนามออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ
    สมุจเฉทนิโรธ ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อ สมุจเฉทนิโรธ
    ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้น ชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ
    นิสสรณนิโรธ ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน
http://youtu.be/V_fsZd0MItg
ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย
ปัญญา ทำให้เกิดได้ 3 วิธี คือ
    โดยการสดับตรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน (สุตมยปัญญา)
    โดยการคิดค้น การตรึกตรอง (จินตามยปัญญา)
    โดยการอบรมจิต การเจริญภาวนา (ภาวนามยปัญญา)
ปัญญา ที่เป็นระดับ อธิปัญญา คือปัญญาอย่างสูง จัดเป็นสิกขาข้อหนึ่งใน สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา
ปัญญา ๓ : สุตมยปัญญา
        สุตมยปัญญาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ การเริ่มต้นในภาคการศึกษา การอ่านตำรา การฟังเทป การฟังธรรม การซักถามข้อข้องใจ จึงเรียกว่าภาคการศึกษา หรือเห็นสิ่งใด ๆ ในที่ทั่วไป ให้ศึกษาเหตุผลสิ่งนั้น ๆ ความถูกเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ถ้าฝึกในวิธีนี้ได้ เราจะมีธรรมะ ได้ศึกษาในที่ทั่วไป สิ่งใดควรนำมาปฏิบัติได้ก็จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป สิ่งใดไร้เหตุผลอย่างไรก็ศึกษาให้รู้ว่า เราจะไม่ทำไม่พูดในลักษณะอย่างนั้น แม้ในตำราต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาก็อย่าเพิ่งเชื่อทีเดียว ใช้ปัญญาพิจารณาตีความหมาย ใช้เหตุผลมาเป็นตัวตัดสินให้รู้จักความผิดความถูกแล้วจึงตัดสินใจเชื่อในภายหลัง จึงจะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นผลออกมาเป็นปฏิเวธ แนวทางปฏิบัติอย่างไรจะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าทรงวางกฎเกณฑ์ไว้แล้วเป็นอย่างดี ถึงจะผ่านกาลเวลามายาวนานก็เป็นหลักความจริงตลอดมาไม่ล้าสมัย ยังมีประสิทธิภาพให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตลอดมา การปฏิบัติได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสมารถของแต่ละท่าน หากมีความสงสัยในการปฏิบัติอย่างไร ก็ให้ศึกษากับท่านผู้รู้ผู้เข้าใจในธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นไปในความถูกต้องชอบธรรม การปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี
ปัญญา ๓ : จินตามยปัญญา
      จินตามยปัญญา เป็นคู่กับปฏิบัติ การปฏิบัติมี ๒ วิธี
๑. ปฏิบัติที่เป็นไปในขั้น กามาวจร
๒. ปฏิบัติให้เป็นไปใน โยคาวจร
ทั้งสองวิธีนี้มีอุบายในการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไร เราปฏิบัติอยู่ในขณะนี้เป็นระดับขั้นกามาวจรหรือเป็นขั้นโยคาวจร จะรู้วิธีในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
๑. ปฏิบัติในขั้นกามาวจร เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างบารมี ที่เรียกว่า การบำเพ็ญกุศล ไม่หวังมรรคผลนิพพานในชาตินี้แต่อย่างใด ทำไปเพื่อให้เกิดความสุขภายในใจเท่านั้น เช่น การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา การทำสมาธิ การทำสมาธิทุกคนก็พอจะเข้าใจเพราะทำกันอยู่แล้ว ทำเพื่อความสุขสบายในใจไปชั่วคราวเท่านั้น ถึงจะทำสมาธิให้จิตมีความสงบลึกลงไปเป็นฌาน รูปฌาน อรูปฌาน อยู่ก็ตาม ก็จะได้ไปเกิดในภพของรูปพรหม อรูปพรหม เท่านั้น เมื่ออำนาจฌานเสื่อมลองก็จะได้มาเกิดในโลกนี้ต่อไป เว้นพระพรหมในพระอนาคามีเท่านั้น นอกนั้น จะต้องลงมาเกิดภายในภพทั้งสามต่อไป
๒. ปฏิบัติในขั้นโยคาวจร เป็นอุบายการปฏิบัติเพื่อจะพ้นไปจากภพทั้งสามในชาตินี้ให้ได้ จะไปได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความตั้งใจจะให้พ้นไปได้ในชาตินี้จริง ๆ การปฏิบัติในขั้นโยคาวจรใช้สติปัญญาเป็นหลักที่ยืนตัว การทำสมาธิก็เพื่อเป็นอุบายเสริมให้แก่สติปัญญาเท่านั้น การทำสมาธิก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ให้ทำเหมือนที่ได้ทำตามปกติทั่ว ๆ ไป ข้อสำคัญ อย่าให้มีความอยากในสิ่งใด ๆ อย่าหวังผลว่าให้เป็นอย่างนั้น ให้รู้อย่างนี้ การนึกคำบริกรรมก็เอาตามที่เรามีความถนัด หรือกำหนดสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออกก็ได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งใจมั่นได้แล้ว ให้สังเกตดูจิตตัวเองว่าจิตมีความต้องการที่จะสงบต่อไป หรือต้องการพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ ถ้าจิตต้องการความสงบก็ปล่อยให้ลงสู่ความสงบอย่างเต็มที่ ในช่วงจิตมีความสงบอยู่นั้น อย่าไปบังคับให้จิตได้ถอน ปล่อยให้จิตอยู่ในความสงบจนอิ่มตัว เมื่อจิตอิ่มตัวในความสงบแล้วก็จะเริ่มถอนออกมาเอง ในขณะที่จิตถอนอย่าให้ถอนเร็ว ให้มีสติกำหนดรู้เอาไว้ไม่ให้ถอนออกหมด ให้อยู่ในขณิกะ อุปจารสมาธิ ในความตั้งใจมั่น จากนั้น ก็น้อมใจพิจารณาในหมวดธรรมต่าง ๆ ต่อไป เหมือนกับนอนหลับแล้วตื่นขึ้น อย่าให้ตื่นพรวดพราดลืมตาเลยทีเดียว ให้มีสติหลับตาเอาไว้ ถ้าหากมีความฝันอย่างไรจะได้เรียบเรียงดูความฝันนั้นได้ นี้ฉันใด เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิก็ให้เป็นในลักษณะฉันนั้น
ในบางกรณีหรือบางคน เมื่อจิตรวมอยู่ในสมาธิตั้งใจมั่นได้แล้ว จะกำหนดให้จิตลงสู่ความสงบต่อไปอีกไม่ได้ จิตชอบคิดในเรื่องนี้เป็นนิสัย ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ให้หยุดคำบริกรรมเสีย ให้น้อมใจพิจารณาในหมวดธรรมต่าง ๆ ต่อไป การใช้ปัญญาพิจารณาในหมวดสัจธรรมนั้น ให้พิจารณาในสัจธรรมต่าง ๆ ที่เคยคิดพิจารณามาแล้ว เคยฝึกคิดพิจารณาถึงสิ่งที่ไม่เที่ยง เคยฝึกคิดพิจารณาเรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ เคยคิดพิจารณาในเรื่องอนัตตา ว่าธาตุสี่ขันธ์ห้าไม่เป็นอัตตาตัวตน เป็นเพียงจิตได้อาศัยกันอยู่กับธาตุเท่านั้น อีกไม่นานก็จะได้ผุพังเปื่อยเน่าเป็นธาตุดิน ให้คิดพิจารณาในวัตถุสมบัติทั้งหลายว่า เป็นปัจจัยอาศัยประจำชีวิตเท่านั้น อีกไม่กี่วันเดือนปีก็จะได้ตายจากสมบัติไป คิดพิจารณาว่าไม่มีสมบัติอะไรเป็นของของเราที่แน่นอนตายตัว การคิดพิจารณาในสิ่งที่ไม่เที่ยง ให้คิดเรียบเรียงไปตามความเปลี่ยนแปลงในสิ่งนั่น ๆ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ทำความเข้าใจให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในสิ่งนั้นให้ชัดเจน ทั้งสิ่งภายนอกที่มีอยู่เป็นอยู่ในที่ทั่วไป ภายในคือธาตุสี่ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ที่รวมกันอยู่เป็นรูปธาตุ ให้พิจารณาเรียบเรียงไปตามวัย วัยหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกวัยหนึ่ง จนถึงปัจฉิมวัย คือวัยที่แก่หง่อมเต็มที่ มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่บ่อย ๆ จิตก็จะค่อยรู้เห็นในก้อนธาตุที่ไม่เที่ยงนี้ได้อย่างชัดเจน ทั้งเราทั้งเขาและสัตว์ดิรัจฉานทุกชนิด ก็มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปตามวัยเช่นกัน
การพิจารณาความทุกข์ หมายถึงความทุกข์ทางใจ อย่างอื่นเพียงเป็นเหตุปัจจัยให้เป็นทุกข์เท่านั้น ลำพังใจอย่างเดียว จะไม่มีความสุขความทุกข์อะไร ใจที่เป็นทุกข์เป็นสุขไปตามเหตุนั้น ๆ เรียกว่า กิเลสตัณหา กิเลสตัณหา หมายถึงความรักความใคร่ ความกำหนัดย้อมใจอยู่ในกามคุณ ที่ใจหลงว่าเป็นความสุข ที่จริงก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นั้นเอง ความสุขและความทุกข์เป็นผลเกิดขึ้นจากความสมหวังและความผิดหวัง ถ้าได้อะไรมาตามใจชอบก็ถือว่ามีความสุข ถ้าไม่ได้ตามใจก็ถือว่าเป็นทุกข์ ทั้งสุขทั้งทุกข์จึงเป็นกิเลสด้วยกันทั้งสอง ความสุขทุกคนมีความต้องการ ความทุกข์ไม่มีใครต้องการ แต่มีความหมั่นขยันในการสร้างเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา หารู้ตัวเองไม่ว่าเรากำลังสร้างเหตุแห่งทุกข์ให้แก่ตัวเอง ความไม่รู้นี้เองจึงเรียกว่า โมหะ อวิชชา จึงได้เกิดเป็นตัณหาความอยากความต้องการ อยากนั้นบ้างอยากนี้บ้าง จิปาถะจะนับเป็นตัวเลขไม่ได้เลย จึงเป็นความอยากเพื่อเสริมกิเลสให้มีกำลัง ถ้าทำลายหรือตัดความอยากออกจากใจได้แล้ว กิเลสก็จะหมดสภาพไปเอง
อนัตตา หมายถึงสูญสลายไป ไม่ใช่อัตตาตัวตนเราเขา การพิจารณาในอนัตตา ให้รู้จำในคำว่า อัตตา เอาไว้ เพราะอนัตตาเป็นลักษณะที่สูญไปจากอัตตานั้นเอง อัตตามี ๒ อย่าง รูปอัตตา หมายถึงธาตุธุลี คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ที่รวมกันอยู่เรียกว่า นามอัตตา หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า อาการของจิต การพิจารณาในธาตุสี่ ให้แยกพิจารณาดูแต่ละธาตุให้เข้าใจ แล้วใช้ปัญญาพิจารณารวมกัน เรียกว่าเจริญอาการ ๓๒ ให้เป็นธาตุด้วยกันทั้งหมด และให้พิจารณาในอสุภะ ในความสกปรกโสโครกเน่าเฟะในทุกส่วนของธาตุนั้น ๆ คิดพิจารณาสร้างภาพตามความเป็นจริงอยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อยเกิดความรู้เห็นเป็นไปตามความจริงชัดเจน ก็จะรู้เห็นความไม่สวยงามความสกปรกในร่างกายนี้ ให้พิจารณาดูร่างกายของตัวเอง และพิจารณาดูรูปร่างกายของคนอื่น ให้เป็นในลักษณะสกปรกเน่าเฟะเปื่อยผุพังเหมือนกับตัวเรา หรือให้พิจารณาซากศพคนและสัตว์ตายก็ได้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานยืนยันในความเป็นจริง เมื่อทิ้งไว้ก็จะเป็นอาหารของแมลงวันและหนอนไป เมื่อเอาไปเผาก็เหลือเพียงกระดูกออกมาให้เห็น เราก็จะเป็นในลักษณะนี้เช่นกัน หากใจยังครองร่างกายนี้อยู่ ก็เคลื่อนไหวไปมาได้ เมื่อใจออกจากร่างกายนี้ไป รูปกายทุกส่วนก็จะนอนทับถมสลายไปในแผ่นดินนี้ทั้งหมด จึงไม่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแต่อย่างใด จึงเป็นรูปังอนัตตา
อนัตตาในนามที่เป็นอาการของจิต มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อาการของจิตทั้ง ๔ นี้ มีวิญญาณการรับรู้เป็นประธาน วิญญาณการรับรู้นี้เอง จะเชื่อมโยงให้จิตได้รู้อารมณ์ที่เป็นสุข อารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เรียกว่าเวทนา สัญญาความจดจำในสิ่งต่าง ๆ วิญญาณการรับรู้ในความจดจำนั้น ๆ จำในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามคุณห้านี้เอง จึงเป็นอาหารที่เลิศรสให้แก่กิเลสตัณหา มีความต้องการอยากที่จะสัมผัส จึงทำให้เกิดเวทนา ความจำในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จำมาเพื่อให้เกิดความหลงรักหลงชัง จึงเรียกว่า สัญญา เมื่อจำมาได้ก็ปรุงแต่งให้ใจเกิดความรักขึ้นมาอย่างหยดย้อยทีเดียว ใจจึงหลงในความรัก มีความยินดีพอใจในความรัก ความอยากได้ อยากมีอยากสัมผัสในความรักนั้น ๆ อย่างฝังใจทีเดียว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่ชอบใจก็ใช้วิธีคิดปรุงแต่งให้ใจเกิดความโกรธ ไม่พอใจในสิ่งใดจึงได้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ฉะนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นลักษณะอาการของใจ อาศัยการสัมผัสของอายตนะภายในภายนอก จึงเกิดกระแสแห่งความรักความชัง จึงได้เกิดความหลง ความเข้าใจผิดไปว่าเป็นตน กิเลสตัณหาน้อยใหญ่จึงเกิดมีในใจ จึงทำให้เกิดทิฏฐิมานะ จึงเกิดความยึดถือไปว่าเป็นอัตตาตัวตน จึงเกิดมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเราขึ้นมา กิเลสตัณหาน้อยใหญ่จะอาศัยอยู่ในนามจิตอย่างมืดมิดทีเดียว ถ้าสติปัญญาไม่มีความละเอียดแหลมลึกจริง ๆ จะเจาะเข้าไปให้รู้เห็นตามความจริงนี้ไม่ได้เลย ฉะนั้น อัตตาทั้งสองคือ รูปอัตตา นามอัตตา ที่เรียกว่าขันธ์ห้า มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเพียงให้กิเลสตัณหาอาศัยอยู่จึงฝึกสติปัญญาพิจารณาให้รู้เห็น ให้เป็นไปใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้รู้เห็นเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปตามเหตุปัจจัยของขันธ์นั้น ๆ ให้แจ่มแจ้งชัดเจน จะไม่เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดไปว่า ขันธ์ห้าเป็นอัตตาตัวตนแต่อย่างใด
จินตามยปัญญาในภาคปฏิบัตินี้เอง จึงเรียกว่าการเจริญวิปัสสนาในขั้นโยคาวจร เป็นอุบายการฝึกใจให้ปฏิเสธทอดอาลัยในสรรพสังขารทั้งหลาย ว่าไม่มีอะไรเป็นเราและเป็นของของเราโดยประการทั้งปวง การใช้ปัญญาพิจารณาในหมวดธรรมใด มิใช่ว่าจะให้เกิดความรู้เห็นเป็นไปในสัจธรรมเท่านั้น ต้องทำใจให้ปฏิเสธไปพร้อม ๆ กัน ใช้ความจริงจังในขณะพิจารณานั้นอย่างเข้มข้นฮึกเหิม จะใช้ความคิดพิจารณาด้วยปัญญาในเรื่องความจริงอะไร ต้องใช้กำลังภายในเป็นองค์ประกอบทุกครั้งไป เสียงภายในก็ใช้วิธีดุดันอย่างเผ็ดร้อน และปฏิเสธไปพร้อม ๆ กันในขณะนั้น ใช้กำลังปัญญาบวกกับกำลังเสียงกระตุกใจให้ตื่นตัว เหมือนกับไฟกำลังโหมไหม้บ้านตัวเองอยู่ ผู้ที่ยังนอนหลับหลงใหลไม่รู้ตัวก็ต้องตะโกนกระชากให้ตื่นขึ้น เพื่อจะได้หาน้ำมาดับไฟให้หมดไป นี้ฉันใด ไฟของราคะ ไฟของโทสะ ไฟของโมหะ ที่กำลังโหมตัวร้อนใจหลงใหลใฝ่ฝันเมามันอยู่ในกามคุณ จะใช้ปัญญาธรรมดาพรรณนาในเรื่องความจริงอย่างไร ใจก็ยังใฝ่ฝันไปในความรักความใคร่ในกามคุณที่เป็นฝ่ายต่ำหยาบคาย ก็ต้องใช้ปัญญาอย่างหยาบกระทบกระแทกใจให้ได้ตื่นตัว เมื่อใจไม่ยอมรับความจริงก็ต้องใช้วิธีดุด่าขู่เข็ญปัญญาจี้ให้ใจได้รู้เห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยง จี้ให้ใจรู้เห็นในทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ จี้บังคับให้ใจยอมรับความเป็นจริงเหมือนกับงูที่คาบเขียดกำลังจะกลืน จะบอกให้งูคายออกมาด้วยความนุ่มนวลอ่อนหวานด้วยคำพูดอย่างไร งูก็ไม่ยอมปล่อยวาง จึงให้ใช้วิธีตะคอกดุด่าตบตีให้งูเกิดความตกใจกลัว งูจึงจะวางเขียดออกไปได้ นี้ฉันใด กิเลสตัณหากำลังเกาะใจอย่างเหนียวแน่น จะใช้ปัญญาพิจารณาที่ถูกต้องตามหลักความจริง กิเลสตัณหาก็จะเกาะอยู่กับใจ ใจก็เกาะอยู่กับกิเลสตัณหา จึงใช้วิธีตะเพิดดุด่าตะคอกเพื่อให้ใจกับกิเลสตัณหาได้คลายออกจากกันไป ไม่ให้มีความผูกพันต่อกันดังที่เคยเป็นมา
การใช้ปัญญาสอนใจไม่ให้เป็นมิตรต่อกิเลสตัณหา ต้องเอาความความทุกข์ที่เป็นผลงานของกิเลสตัณหามาเป็นพยานหลักฐาน พรรณนาความทุกข์ที่ใจได้รับมาเป็นข้อมูล ให้ใจได้รู้ได้เห็นในทุกข์ โทษภัยในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมานจนถึงปัจจุบัน เป็นผลงานที่ทรมานเดือดร้อนให้แก่ใจมาตลอด ทำให้ใจได้หลงไปในทางที่ต่ำทรามมายาวนาน เป็นปัญหาที่สะสมหมักหมมกันมานับชาติไม่ถ้วน เมื่อมาถึงชาตินี้ ต้องชำระให้ปัญหาหมดไปจากใจเสียที สติปัญญาจะพิพากษาว่าการตัดสินลงโทษให้แก่กิเลสตัณหาให้สะใจ ให้ใจได้มีอิสระไม่มีพันธะผูกพันกับกิเลสตัณหาอีกต่อไป เหมือนกับต้นกำเนิดของไฟเกิดขึ้นในที่ใด จะต้องดับไฟในที่นั้น ไม่ปล่อยให้ไฟได้เกิดไหม้ลุกลามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด นี้ฉันใด ไฟของราคะ ไฟของโทสะ ไฟของโมหะ ที่โหมทับถมใจให้มีความเดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นหน้าที่ของสติปัญญาต้องเข้าไปแก้ไขระงับเหตุให้หมดไป ใจจะได้รู้ตัวว่าถูกกิเลสตัณหาหลอกมายาวนาน มีความทุกข์ทรมานเดือดร้อนที่กิเลสตัณหาให้เป็นไป เมื่อมารู้เห็นทุกข์โทษภัยในกิเลสตัณหานี้แล้ว ใจจะได้รู้ตัว ไม่มั่วสุมลุ่มหลงอยู่กับกิเลสตัณหาอีกต่อไป เหมือนกับผู้เคยได้รับโทษภัยในหมู่คนพาลมาแล้ว จะได้เป็นบทเรียนจดจำในการกระทำของกลุ่มคนพาลเหล่านั้น จะไม่เข้าใกล้มั่วสุมกับกลุ่มคนพาลอีกต่อไป นี้ฉันใด ใจเมื่อถูกฤทธิ์ของกิเลสตัณหาได้พาให้เป็นทุกข์มาแล้ว จะเกิดความตื่นตัว จะไม่เป็นเพื่อนเป็นมิตรกับกิเลสตัณหาอีกต่อไป จึงใช้สติปัญญาระงับเหตุแก้ไขในปัญหาให้แก่ใจให้ได้ อย่าไปกลัวอิทธิพลศักดิ์ศรีของกิเลสตัณหาแต่อย่างใด บัดนี้จึงเป็นทีของสติปัญญาจะขึ้นสู่บัลลังก์ว่าการอย่างเต็มที่ มีทีเด็ดแพรวพราวอย่างไรก็แสดงออกมาด้วยความกล้าหาญ เหมือนเข้าสู่สนามรบ แล้วก็ต้องเตรียมพร้อมในอาวุธนานาประการ ไม่มีในคำว่าถอยหลังให้ข้าศึกตั้งหลักได้ อาวุธน้อยใหญ่มีเท่าไรจะต้องใส่กันอย่างเต็มที่ มีศัตรูน้อยใหญ่ขนาดไหนจะต้องสับฟันห้ำหั่นให้เรียบราบไป จนกว่าจะได้ชนะกลับมาอย่างสง่าผ่าเผย นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติต้องฝึกสติปัญญาศรัทธาความเพียรให้พร้อม ขณะนี้ขึ้นเวทีตัวจริง ไม่มีคำว่าเพื่อนไม่มีคำว่ามิตรอีกต่อไป ไม่มีคำว่าแพ้ ไม่มีคำว่าเสมอ มีแต่ชนะอย่างเดียว กิเลสตัณหาไม่ตาย เรายอมตาย เราไม่ตายให้กิเลสตัณหาได้ตายไป
ในครั้งแรกก็ใช้สติปัญญาพิจารณาในสัจธรรมตามความเป็นจริงอยู่บ่อย ๆ ในเมื่อกิเลสตัณหายังมาทำให้ใจได้เกิดความหลงใหลในกามคุณอยู่ ไม่ยอมรับความจริงที่สติปัญญาได้อบรมสั่งสอน ถ้าอย่างนี้ จะไม่มีในคำว่าอภัยอีกต่อไป จะต้องใช้พระเดชแบ่งเขตที่หวงห้ามในทันที กิเลสตัณหาเข้ามาหลอกใจเมื่อไร ในเมื่อนั้น สติปัญญาก็ฟาดฟันให้แตกหักกันไปในทันที แต่ก่อนมาหลงคิดว่าเป็นมิตร แต่บัดนี้จึงมารู้ว่าเป็นพิษภัยให้แก่ใจ ทำให้เกิดความทุกข์นานาประการ ในชาติที่ผ่านมากิเลสตัณหาได้ทำให้ใจได้รับความทุกข์มาตลอด ในชาตินี้ก็มีวิธีทำให้ใจได้รับความทุกข์อีก และยังวางแผนงานที่จะทำให้ใจได้รับความทุกข์ในชาติหน้าอีกต่อไป กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา นี้เองหรือ เป็นต้นเหตุให้ใจหลงผิดเกิดความลุ่มหลง หลงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงในวัตถุสมบัติ และหลงไปตามกระแสโลก จึงได้เกิดความพอใจยินดีอยู่ในภพทั้งสาม ซึ่งเป็นผลผลิตขึ้นมาจากตัณหานี้ทั้งสิ้น มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ไขให้ได้เกิดความรู้จริงเห็นจริงได้ แต่ก่อนมา กิเลสตัณหาได้อบรมสั่งสอนใจมาตลอด บัดนี้ได้ฝึกสติปัญญามาอบรมสั่งสอนใจบ้าง ให้ใจมีความรู้ความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง จะได้เกิดความสำนึกตื่นตัวขึ้นมาได้ จะไม่หลงใหลจมอยู่ในกิเลสตัณหา ดังที่เคยเป็นมาในชาติ อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัญญา ๓ : ภาวนามยปัญญา
               ภาวนามยปัญญา จะเกิดผลออกมาเป็นปฏิเวธ จะเป็นจุดที่สิ้นสุดของผู้ปฏิบัติธรรมในวาระสุดท้าย ถึงจุดนั้นจะมีอะไรเป็นพิเศษเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างสนิทใจ อุบายการปฏิบัติจะมีความเผ็ดร้อนเข้มข้นอย่างสุดตัวทีเดียว จึงเรียกว่า วิปัสสนาญาณ เป็นวิธีตัดสินชี้ขาดในระหว่างโลกกับวิสุทธิธรรมจะแยกทางกัน ผลที่ออกมาเป็นปฏิเวธนี้จะไม่มีสามภพปะปนกันอยู่เลย จะเป็นความบริสุทธิ์ในธรรมล้วน ๆ คำว่า ภาวนามยปัญญา ก็หมายถึงการเจริญในวิปัสสนาญาณนั้นเอง วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสมาธิความสงบที่หลายคนมีความเข้าใจกัน ฐานของวิปัสสนาญาณจะต้องเริ่มจาก สุตมยปัญญา เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบในภาคการศึกษา จะต้องศึกษาให้รู้หมวดธรรมที่เป็นปริยัติให้เข้าใจ ธรรมหมวดไหนอยู่ในขั้นกามาวจร ธรรมหมวดไหนอยู่ในขั้นโยคาวจร ศึกษาในวิธีการปฏิบัติให้ถูกกับหมวดธรรมนั้น ๆ ให้ถูกต้อง แล้วนำมาปฏิบัติระดับขึ้น จินตามยปัญญา เพื่อเป็นอุบายในการเจริญวิปัสสนาต่อไป เมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในวิปัสสนา เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบ เกิดความรู้เห็นในสัจธรรมความเป็นจริง มีความละเอียดมากขึ้น จะมีความสมบูรณ์ในการเจริญในวิปัสสนาอย่างเต็มที่ จากนั้น ก็จะเชื่อมโยงขึ้นสู่ใน ภาวนามยปัญญา หรือเรียกอีกคำหนึ่งว่า วิปัสสนาญาณ ผลก็จะออกมาเป็นปฏิเวธ เรียกว่า มรรคผลนิพพานนั่นเอง นี้เพียงเรียบเรียงการเกิดขึ้นของปัญญา มิใช่ว่าปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิแต่อย่างใด สมาธิเป็นเพียงอุบายเสริมให้แก่ปัญญา ได้พิจารณาในสัจธรรมนั้น ๆ ให้เกิดความรู้เห็นชัดเจนมากขึ้น จนถึงในระดับขั้นวิปัสสนาญาณ การทำสมาธิก็ทำเพื่อให้เป็นพลังหนุนให้แก่วิปัสสนาญาณ จึงเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงอย่างทั่วถึง ไม่มีสิ่งใดในสามภพจะปิดบังในวิปัสสนาญาณนี้ได้เลย นตถิโลเก รโหนาม ความลับที่ซ่อนเร้นปิดบังให้เกิดความหลงอีกต่อไปไม่มี กิเลสตัณหาน้อยใหญ่ในขั้นละเอียดขนาดไหน วิปัสสนาญาณก็ได้ชำระล้างให้หมดไปจากใจให้หมดสิ้น
             วิปัสสนาญาณ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่มีกาลเวลารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น บารมีที่พร้อมแล้ว และอินทรีย์ที่แก้กล้า สติปัญญามีความสมบูรณ์ ภพชาติจะสิ้นสุดลงเป็นครั้งสุดท้าย วิมุติก็จะได้หลุดพ้นจากภพทั้งสาม มรรคผลนิพพานก็จะเริ่มปรากฏ ความบริสุทธิ์ในธรรมได้รวมเป็น มัคคสมังคี ไม่มีความย่อหย่อนบกพร่องแต่อย่างใด ความพร้อมทุกอย่างนี้เองจึงเป็นกำลังใหญ่ จะทำให้เกิดความสิ้นสุดแห่งทุกข์นี้ไปในขณะนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อท่านทั้งหลายได้เดินทางไปธุดงควิเวกอยู่ในที่ไหนก็ดี เมื่ออารมณ์ของวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นในช่วงนั้น ให้หยุดพักเพื่อการเจริญในวิปัสสนาญาณ เมื่อทำกิจเสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น จะมีเหตุให้เกิดขึ้นต่างกัน บางท่านก็เห็นฟองน้ำ บางท่านก็เห็นพยับแดด บางท่านก็เห็นดอกบัว บางท่านก็เห็นคนแก่ คนเจ็บป่วย หรือคนตาย อุบายที่จะให้เกิดวิปัสสนาญาณนั้นมีมาก เหมือนกันบ้างไม่เหมือนกันบ้าง ขึ้นอยู่กับบารมีที่บำเพ็ญมาไม่เหมือนกัน เมื่อนิสัยใครตรงกับอารมณ์ของวิปัสสนาญาณใด ก็จะเกิดความรู้สึกได้ว่า ปัญญาญาณเราเกิดขึ้นแล้ว จะรู้ชัดว่า ปัญญาเราได้เกิดขึ้นแล้ว จากนี้ไปปัญญาก็จะหมุนตัวเป็นอัตโนมัติ น้อมใจไปพิจารณาในเรื่องขันธ์ห้า ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า รูปไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่รูป รูปไม่มีในตน ตนไม่มีในรูป เวทนาไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่มีในตน ตนไม่มีในเวทนา สัญญาไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สัญญา สัญญาไม่มีในตน ตนไม่มีในสัญญา สังขารไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในตน ตนไม่มีในสังขาร วิญญาณไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่วิญญาณ วิญญาณไม่มีในตน ตนไม่มีในวิญญาณ
              ขันธ์ห้าเป็นเพียงสภาวธรรมที่เป็นกลาง ไม่อยู่ในอำนาจกับสิ่งใด ๆ กิเลสที่มีความเห็นผิดคิดว่าขันธ์ห้าเป็นตนต่างหาก จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงจังตลอดมา กิเลสจึงพาให้ใจเกิดความเห็นผิดจึงได้เกิดความทุกข์ จึงใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้นทั้งหมด เรื่องความเป็นมาในขันธ์ห้าในชาติอดีต ความเป็นอยู่ในขันธ์ห้าชาติปัจจุบัน และความเป็นไปในขันธ์ห้าชาติอนาคต ให้รู้จักเหตุและปัจจัยที่ขันธ์ห้าตัวหมุนเวียนไปมาในภพทั้งสาม นั้นคือ ตัณหา เป็นต้นเหตุ ทำให้กิเลสน้อยใหญ่ได้เป็นไปในความรักความชอบ คำว่าตัณหา ทุกคนได้อ่านรู้ในตำรามาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ทำให้ใจมีความรู้สึกอะไร เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ตัณหา ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นกำลังใหญ่ที่พาให้ใจหมุนตามวัฏสงสาร หมุนไปในอบายภูมิ หมุนมาเป็นมนุษย์ หมุนไปสวรรค์ หมุนไปพรหมโลก หมุนเวียนไปมาตามตัณหาไม่มีที่จบสิ้น ตัวตัณหานี้เอง จึงเป็นเหตุให้ได้ทำกรรมต่าง ๆ กรรมดีบ้างไม่ดีบ้าง บาปบ้างบุญบ้าง เหตุเกิดจากตัณหาทั้งนั้น
              แม้พระบรมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในบุญบารมี ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของตัณหานี้เช่นกัน จะมีบุญมากบุญน้อยบาปมากบาปน้อยไม่สำคัญ ตัณหาจะเป็นกงจักรใหญ่พาให้หมุนไปในภพทั้งสามนี้ทั้งนั้น หรือผู้ทำสมาธิความสงบบำเพ็ญอยู่ในฌาน เมื่อตายก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก หากฌานเสื่อมก็ได้ลงมาเกิดในภพอื่นต่อไป เว้นเสียแต่พรหมของพระอนาคามีเท่านั้น การเจริญในวิปัสสนา เหมือนกับตัดกิ่งก้านสาขาและลำต้นทิ้งไป หรือเหมือนตัดเล่าเครือตูดหมู (ต้นกระพังโหม) ทิ้งไปเท่านั้น การเจริญในวิปัสสนาญาณ เหมือนกับขุดรากถอนโคนเง่าหัวทิ้งไปให้สิ้นซาก เป็นวิธีทำลายเหตุในการเกิดของภพทั้งสามให้หมดสภาพไป วิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อไร ผู้นั้นจะได้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งในไม่ช้านี้ จะได้บรรลุธรรมขั้นไหนจะขึ้นอยู่กับบารมีของท่านผู้นั้นในช่วงวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นนี้ ความรู้เห็นในสัจธรรมใดในสามภพที่จะเกิดความแยบคาย และหายสงสัยไปเสียทั้งหมด ความยึดมั่นถือมั่นเป็นความหลงผิดในสิ่งใด จะหลุดถอนออกจากใจทั้งสิ้น เชื้อของภพชาติใด ๆ ที่จะทำให้เกิดอีกต่อไป วิปัสสนาญาณจะประหารให้หมดไปในขณะนี้ แม้แต่บุญกุศลบารมีที่เป็นกำลังที่สำคัญ เป็นตัวสนับสนุนให้การปฏิบัติมาถึงจุดนี้เพียงเป็นกำลังส่งให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เท่านั้น จะติดตามต่อไปไม่ได้เลย การเป็นไปในลักษณะนี้จึงเรียกว่า นิโรธ ความรู้แจ้งในสามภพไม่มีอะไรปิดบังนั้นเอง
               นิโรธ ความดับทุกข์ ก็คือดับตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ภายในใจ ถ้าดับได้จริงก็ไม่จำเป็นจะไปเล่าให้ใคร ๆ ได้รับรู้ และไม่จำเป็นที่จะไปรับคำพยากรณ์จากใคร ๆ จะเป็นในสมัยครั้งพุทธกาลหรือยุคปัจจุบัน ความเป็นพระอรหันต์ไม่ขึ้นอยู่กับกาลสมัย เหมือนกับน้ำตาลจะมีรสหวานอยู่ในตัวมันเอง ในสมัยครั้งพุทธกาลและยุคปัจจุบัน รสชาติของน้ำตาลก็มีรสหวานเหมือนกันไม่มีการเปลี่ยนแปลง นี้ฉันใด พระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลกับพระอรหันต์ในยุคปัจจุบัน ก็ละกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจได้เท่ากัน นิพพานความดับอันสนิทของเชื้อของกิเลสตัณหาก็ดับได้เหมือนกัน ส่วนพระอรหันต์ในยุคนี้ ไม่มีเปอร์เซ็นต์ที่จะนับได้ เพราะมีน้อยไป อีกประการหนึ่ง สังคมส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธไปแล้วว่า ในยุคนี้หมดยุคสมัยของพระอรหันต์ไปแล้ว ในเมื่อสังคมลงมติกันอย่างนี้ ถึงจะมีพระอรหันต์อยู่ สังคมส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่ามีอยู่นั่นเอง ฉะนั้น นิโรธความดับทุกข์ เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะรู้ตามได้ ถึงจะวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์อย่างไรก็ไม่รู้จริงอยู่นั่นเอง หรือผู้มีนิโรธดับทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ได้เหมือนกัน ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถามกันในเรื่องนี้ เพราะเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตัว จะนำมาบรรยายให้ผู้อื่นรู้ตามไม่ได้เลย ในทางที่ดีให้ปฏิบัติเข้าถึงจุดที่ดับทุกข์ได้ก่อน จึงจะให้คำตอบแก่ตัวเองได้ ไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับสลับซับซ้อนอะไร ธรรมใดที่เหลือวิสัยแก่กุลบุตรปฏิบัติตามและรู้เห็นไม่ได้ ธรรมนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงเอามาตรัสไว้ ธรรมใดที่กุลบุตรปฏิบัติแล้วรู้เห็นตามได้ ธรรมนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้นำมาตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จริงเห็นจริงต่อไป นิโรธความดับทุกข์ จะเริ่มการดับจากวิญญาณการรับรู้เป็นจุดแรก วิญญาณดับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น รูปขันธ์นามขันธ์ก็ดับไปด้วยกัน ไม่มีขันธ์ใดสัมผัสรับรู้ในสิ่งใดได้เลย วิญญาณดับจากการรู้ในเวทนา วิญญาณดับจากการรับรู้ในอารมณ์แห่งความสุข วิญญาณดับจากการรับรู้อารมณ์แห่งความทุกข์ วิญญาณดับจากการรับรู้อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกว่า ดับในเวทนา วิญญาณดับจากสัญญาไม่มีการรับรู้ในความจำ ในรูปขันธ์นามขันธ์แต่อย่างใด แม้แต่อายตนะภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัส ก็ไม่มีวิญญาณการรับรู้ในความจำแต่อย่างใด วิญญาณดับจากสังขาร ไม่มีการรับรู้ในความคิดปรุงแต่งในเรื่องอะไร เพราะวิญญาณได้ดับจากสังขารไปแล้ว จะคิดปรุงแต่งในสมมติอะไรไม่ได้เลย เรียกว่าดับในสังขาร วิญญาณดับจากการรับรู้ในรูปขันธ์ ก็เป็นในลักษณะอย่างเดียวกัน วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางตา ถึงจะมีตาก็ไม่รับรู้ในรูปอะไรได้ วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางหู ถึงจะมีหูก็ไม่รับรู้ในเสียงอะไรได้ วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางจมูก ถึงจะมีจมูกก็ไม่รับรู้ในกลิ่นที่หอมเหม็นอะไรได้ วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางลิ้น ถึงมีลิ้นก็ไม่รับรู้ในรสชาติของอาหารอะไรได้ จะไม่รู้จักรสคาวหวาน ไม่รู้จักรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม แต่อย่างใด วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางกาย ถึงจะมีรูปกายก็ไม่รับรู้ในการสัมผัสในสิ่งที่อ่อนแข็ง ไม่รับรู้ในการสัมผัสร้อนหนาวแต่อย่างไร ร่างกายอยู่ในอิริยาบถใดก็จะอยู่ในอิริยาบถนั้น แม้แต่เปลือกตาก็ไม่รับรู้ที่จะกะพริบอยู่นั่นเอง วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางใจ ถึงจะมีใจก็ไม่มีความรับรู้ในสิ่งใด ๆ รู้ก็สักว่ารู้เท่านั้น รู้ไม่มีความหมายในสิ่งใด ๆ และไม่มีความหมายว่ารู้อะไร จึงเรียกว่าขันธ์ห้าไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในตน ตนไม่มีในขันธ์ห้า ก็เป็นลักษณะอย่างนี้ กายก็สักว่ากายไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จิตก็สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ก็เป็นในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
             เมื่อเกิดในอาการที่ดับไปในลักษณะนี้อยู่ได้ไม่นานนัก ก็จะคอยคลายจากการดับออกมา วิญญาณการรับรู้ก็จะเริ่มรู้ขึ้นมาได้ จากนั้น ก็จะอยู่ในความสงบที่แนบแน่นแน่วแน่อีกต่อไป จะอยู่ในความสงบนี้ไม่นาน ก็จะถอนตัวออกจากความสงบนี้นิดหนึ่ง จากนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างไม่เคยรู้มาก่อน เป็นความรู้ขึ้นมาว่าจะเกิดในโลกนี้ครั้งสุดท้าย นั้นเรียกว่า อาสวักขยญาณ มีญาณรู้ว่า อาสวะจะสิ้นไปในขณะนี้นี่เอง จากนั้น ก็จะเกิดความกล้าหาญขึ้นมา ในความรู้สึกเหมือนจะกระทืบภูเขาให้เรียบราบไปในชั่วพริบตา เหมือนจะทำลายอะไรได้ทุกอย่างในโลกนี้ ในความรู้สึกเหมือนจะนั่งสมาธิในอิริยาบถเดียวนานเป็นชั่วโมงเหมือนจะได้นั่งหนึ่งนาที จะนั่งสมาธินานเป็นปีก็เหมือนจะได้นั่งหนึ่งชั่วโมง ความกล้าหาญนี้จะเกิดขึ้นที่ใจอย่างเต็มที่ ในชั่วจริมกจิตเดียวก็รู้ในลักษณะหลุดพ้น ตั๊บเดียวในชั่วพริบตา ก็รู้ว่า วิมุตตสมํ วิมุตตมิติ ญาณํ โหติ มีความหลุดพ้นแล้วในขณะใด ญาณก็รู้ว่าได้หลุดพ้นแล้วก็มีในขณะนั้น ขีณา ชาติ เป็นพระขีณาสพที่สมบูรณ์อย่างเต็มภูมิ รู้ว่าชาติแห่งความเกิดอีกต่อไปได้สิ้นสุดลงแล้ว วุสิตํ พรหมจริยํ พรหมจรรย์อันความบริสุทธิ์ในวิมุตินิพพานได้อยู่จบแล้ว กตํ กรณียํ กิจอื่นที่จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อีกไม่มี หมายความว่า กิจที่จะหาอุบายธรรมมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความหลุดพ้นอีกไม่มีนั่นเอง ในช่วงอาสวักขยญาณเกิดขึ้น รู้ว่าอาสวะจะสิ้นไป จะไม่มีวิธีในการภาวนาปฏิบัติอะไร ในขณะนั้นจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็จะหลุดพ้นในอิริยาบถนั้น หรือผู้อยู่ในครึ่งนั่งครึ่งนอนเหมือนพระอานนท์ก็หลุดพ้นได้เลย ผู้ได้บรรลุธรรมในระดับนี้ จะรู้วันเดือนปีและเวลาได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าใครจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น ถึงจะมีตำราบอกว่าหมดยุคหมดสมัยของพระอรหันต์แล้วก็ตาม ตำราก็คือตำรา พระอรหันต์ก็คือพระอรหันต์ ความจริงก็คือความจริง ดังคำว่า อรหันต อสุญโลโก ตราบใดยังมีผู้ตั้งใจปฏิบัติให้เป็นไปในพระธรรมวินัยอยู่ ในตราบนั้นพระอรหันต์จะไม่ขาดจากโลกดังนี้
           อาสวักขยญาณ จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้บรรลุเป็นพรอรหัตผลเท่านั้น อาสวักขยญาณที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้กิเลสตัณหาได้หมดไปแต่อย่างใด เพียงเป็นญาณที่รู้ว่าอาสวะจะสิ้นไปเท่านั้น ในตำราบอกว่า อาสวักขยญาณเป็นญาณที่ทำให้อาสวกิเลสได้สิ้นไป ข้าพเจ้าก็จะยืนคำเดิมว่า อาสวักขยญาณ เพียงเป็นญาณรู้ว่าอาสวะจะสิ้นไปเท่านั้น ไม่มีวิธีการทำอะไรและปฏิบัติอะไร เพราะวิธีการปฏิบัตินั้นได้ผ่านขั้นตอนมาจากการเจริญในวิปัสสนาและปฏิบัติในวิปัสสนาญาณมาแล้ว จึงได้เกิดในลักษณะอาการดับดังที่ได้อธิบายมา ก็ยังไม่ใช่เป็นวิธีปฏิบัติแต่อย่างใด เพียงเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเท่านั้น แต่เป็นผลที่ยังไม่เปิดเผยอยู่ในขั้นอริยมรรคที่สมบูรณ์ เหมือนกับแกงอาหารที่สุกแล้ว ในหม้อนั้นมีเครื่องปรุงให้เกิดรสชาติที่อร่อยเป็นที่สุด ไม่มีความบกพร่องขาดเกินในรสชาติอะไร ไม่ต้องเพิ่มไม่ต้องลดในเครื่องปรุงอะไรอีกต่อไป ในขณะนี้อาหารอยู่ในหม้อพร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดฝาหม้อเอาอาหารออกมารับประทานเท่านั้น นี้ฉันใด การรวมศูนย์ใหญ่ในการสรุปผลงานได้ข้อยุติในอริยมรรคนี้แล้ว พร้อมที่จะประกาศผลออกมาเป็นทางการเท่านั้น การเปิดฝาหม้อออกมารู้ว่าอาหารสุกดีแล้ว และพร้อมที่จะรับประทานให้อิ่มได้ในขณะนี้ นี้ฉันใด อาสวักขยญาณเกิดขึ้นมีความรู้ว่า อาสวะจะสิ้นไปในขณะนี้ การรับประทานอิ่มจะรู้ในการอิ่มเพียงแป๊บเดียว เหมือนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะที่หลุดพ้นเพียงตั๊บเดียวเท่านั้น ฉะนั้น อาสวักขยญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องทำอะไรและปฏิบัติอะไรให้อาสวะสิ้นไปแต่อย่างใด ไม่ต้องไปจัดหาทำอาหารใหม่มาเพิ่มเติมอีก เพียงคอยความอิ่มที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ นี้ฉันใด อาสวักขยญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะได้บรรลุอรหัตผลก็เป็นในลักษณะฉันนั้น
                 ผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะประกาศให้คนอื่นได้รับรู้ หรือไม่ประกาศ ก็ไม่ทำให้ภูมิธรรมนั้นเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงแต่อย่างใด จะพูดให้คนอื่นรู้ หรือไม่พูดก็มีความบริสุทธิ์เท่าเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงในภูมิธรรมนั้น ๆ ในสมัยครั้งพุทธกาลก็มีพระปิณโฑลภารทวาชชอบพูดให้พระองค์อื่นได้รู้ในการบรรลุธรรมของตัวเองอยู่เสมอ แม้พระพุทธเจ้าจะประทับในที่แห่งนั้นอยู่ก็ตาม ชอบพูดว่าท่านผู้ใดมีความสงสัยในหมวดธรรมอะไรให้ถามข้าพเจ้าได้ แต่ไม่ได้ประกาศให้ฆราวาสได้รู้ จนได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในการบรรลือสีหนาทนั้นเอง ถ้าผู้เกิดความเข้าใจผิดว่าตัวเองได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่ถือว่าพูดอวดอุตริแต่อย่างใด ถ้าพูดไปด้วยความเจตนา ทั้งที่รู้ตัวว่าไม่มีคุณธรรมอะไร นั้นเป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเห็นพระในขณะนั้นทันที การดูพระผู้เป็นพระอรหันต์ และการดูพระผู้ยังเป็นปุถุชนนั้นดูได้ยาก มีการเปรียบเทียบดังนี้ น้ำลึกเงาลึก และน้ำลึกเงาตื้น น้ำตื้นเงาลึก และน้ำตื้นเงาตื้น ดังที่จะอธิบายต่อไป
๑. น้ำลึก หมายถึง ใจที่มีคุณธรรม เงาลึก หมายถึงกิริยามรรยาทดี มีความสำรวมกายวาจาที่เรียบร้อยเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็น เกิดความเคารพ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา
๒. น้ำลึก หมายถึง ใจที่มีคุณธรรม เงาตื้น หมายถึงกิริยามรรยาทการแสดงออกไม่ดี ไม่มีการสำรวมกายวาจา จะทำ จะพูดอะไร ก็ทำก็พูดตามใจตัวเอง จึงทำให้ผู้อื่นขาดความเคารพเชื่อถือ
๓. น้ำตื้น หมายถึง ใจยังไม่เกิดคุณธรรม เงาลึก หมายถึงผู้มีความสำรวมดี มีกิริยามรรยาทที่น่าเคารพเลื่อมใส ทำให้ผู้ได้พบเห็นเกิดความศรัทธา ความเชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม
๔. น้ำตื้น หมายถึง ใจไม่มีคุณธรรม เงาตื้น หมายถึง กิริยามรรยาทการแสดงออกไม่มีความสำรวม พูดทำในสิ่งใดไม่มีความระวัง แสดงความคะนองทางกายทางวาจาเป็นนิสัย
ถ้าเห็นพระน้ำลึกเงาลึก และเห็นพระน้ำตื้นเงาลึกอยู่ในแห่งเดียวกัน ความประพฤติ กิริยามรรยาท การสำรวมกายวาจาเรียบร้อยดีด้วยกัน ก็ยากที่จะรู้ว่าองค์ใดเป็นปุถุชน และเป็นพระอรหันต์ จึงยากที่จะเดาถูก ถ้าเห็นพระองค์ที่น้ำลึกเงาตื้น และพระน้ำตื้นเงาตื้นอยู่ด้วยกัน การสำรวมกายวาจาไม่เรียบร้อย ก็ไม่รู้ว่าองค์ไหนเป็นพระอริยเจ้าและพระปุถุชนเช่นกัน แม้แต่พระอรหันต์ด้วยกัน ก็ยากที่จะรู้กันได้ พระอรหันต์จะรู้กันได้มี ๒ อย่าง
๑. มีญาณหยั่งรู้ได้
๒. สนทนาธรรมกันจะมีจุดสำคัญที่จะรู้
จัก ถ้าปุถุชนสนทนาธรรมกับพระอรหันต์ จะเอาจุดสำคัญอะไรมาเป็นตัววัดไม่ได้เลย เป็นเพียงคาดการณ์สุ่มเดาเอาตามความเข้าใจไปเท่านั้น ในยุคนี้จึงมีพระอรหันต์ที่เกิดจากลูกศิษย์พยากรณ์ให้มากมาย
http://youtu.be/hXC8_KuXpFs
กาลามสูตร -   
 มา อนุสฺสวเนน - อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
    มา ปรมฺปราย - อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
    มา อิติกิราย - อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
    มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
    มา ตกฺกเหตุ - อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
    มา นยเหตุ - อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
    มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
    มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
    มา ภพฺพรูปตา - อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
    มา สมโณ โน ครูติ - อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
http://youtu.be/azwNInNFCTc